ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑. กามสุตตนิทเทส

               สัทธัมมปัชโชติกา               
               อรรถกถาขุททกนิกาย มหานิทเทส               
               ภาคที่ ๑               
               อารัมภกถา               
                                   พระชินเจ้าพระองค์ใด ทรงกำจัดเสียซึ่งลิ่ม คือ
                         อวิชชา และความกำหนัดด้วยสามารถแห่งความยินดี
                         อย่างถอนราก ทรงเจริญอัฏฐังคิกมรรค ถูกต้องอมตบท.
                         ทรงบรรลุพระโพธิญาณ เสด็จหยั่งลงสู่อิสิปตนมฤคทาย
                         วัน ประกาศธรรมจักรยังเวไนยสัตว์ ๑๘ โกฏิ มีพระ
                         โกณฑัญญเถระเป็นต้นให้บรรลุธรรมในวันนั้น ในที่
                         นั้น.
                                   ข้าพเจ้าขอนมัสการด้วยเศียรเกล้า ซึ่งพระชินเจ้า
                         พระองค์นั้นผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง และพระธรรมอันสูง
                         สุด ทั้งพระสงฆ์ผู้ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่า.
                                   ก็ธรรมจักรใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยย่อ
                         พระสารีบุตรผู้มีปัญญามากเกือบเท่าพระศาสดา ผู้เกิด
                         แต่องค์พระชินเจ้า จำแนกธรรมจักรนั้นเป็นส่วนๆ กล่าว
                         มหานิทเทสซึ่งชื่อว่าเป็นปาฐะประเสริฐและวิเศษ.
                                   อนึ่ง ข้าพเจ้าขอนมัสการพระสารีบุตรพุทธชิโนรส
                         องค์นั้น ผู้เป็นพระเถระที่มีเถรคุณมิใช่น้อยเป็นที่ยินดียิ่ง
                         ผู้มีเกียรติคุณสูงสุดเพราะสภาพปัญญา และผู้มีความ
                         ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอันดี
                                   ข้าพเจ้าอันพระเทวเถระผู้พหูสูต ผู้ประกอบด้วยคุณ
                         มีความอดทนเป็นต้น มีปกติกล่าวคำที่สมควร และพอดี
                         เป็นต้น อาราธนาแล้วจักดำรงอยู่ในแนวสาธยายของพระ
                         เถระ ชาวมหาวิหารถือเอาข้อวินิจฉัยเก่าๆ ที่ควรถือเอา ไม่
                         ทอดทิ้งลัทธิของตนและไม่ทำลัทธิผู้อื่นให้เสียหาย ทั้งรวบ
                         รวมนัยแห่งอรรถกถาทั้งเบื้องต้นเบื้องปลายได้ตามสมควร
                         พรรณนาตามเนื้อความที่ยังไม่เคยพรรณนาของนัยนั้น
                         อันนำมาซึ่งประเภทแห่งญาณที่พระโยคาวจรทั้งหลายมิใช่
                         น้อย เสพอาศัยแล้ว ไม่ทอดทิ้งพระสูตรและข้อยุติ จักเริ่ม
                         พรรณนามหานิทเทสโดยย่อ ด้วยความนับถือมากในพระ
                         สัทธรรม มิใช่ประสงค์จะยกตน ข้าพเจ้าจักกล่าวอรรถกถา
                         เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนและเพื่อความดำรงอยู่นาน
                         แห่งพระสัทธรรม ขอท่านสัตบุรุษทั้งหลายจงฟังสัทธัมมปัช
                         โชติกา โดยเคารพและจงทรงจำไว้ด้วยดีเถิด.

               เพราะได้กล่าวไว้แล้วในอารัมภกถานั้นว่า ซึ่งมหานิทเทสนั้น โดยชื่ออันวิเศษว่า ปาฐะวิสิฏฐนิทเทส,
               ปาฐะมี ๒ อย่างคือ พยัญชนปาฐะ ๑ อรรถปาฐะ ๑. ในปาฐะทั้ง ๒ นั้น พยัญชนปาฐะมี ๖ อย่างคือ อักขระ ๑, บท ๑, พยัญชนะ ๑, อาการะ ๑, นิรุตติ ๑, นิทเทส ๑.
               อรรถปาฐะก็มี ๖ อย่างคือ สังกาสนะ ๑, ปกาสนะ ๑, วิวรณะ ๑, วิภชนะ ๑, อุตตานีกรณะ ๑, บัญญัตติ ๑.

               ว่าด้วยอักขระ               
               ในพยัญชนะปาฐะนั้น เทสนาที่เป็นไปด้วยจิตที่คิดถึงเหตุอันหมดจดด้วยสามารถแห่งปโยคะอันบริสุทธิ์ในไตรทวาร บัณฑิตรู้ได้ว่าอักขระ เพราะมิได้แสดงคือไม่ได้เสวนาด้วยวาจา.
               อักขระนั้นพึงถือเอาว่า ชื่อว่าอักขระ ด้วยสามารถแห่งปัญหาที่บรรดาพราหมณ์ผู้มีจุดหมายปลายทางถามด้วยใจ และด้วยสามารถแห่งปัฏฐานมหาปกรณ์อันพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งพิจารณาแล้วที่รตนฆรเจดีย์.
               อีกอย่างหนึ่ง บทที่ไม่บริบูรณ์ก็พึงรับรู้ว่าอักขระ ดุจในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า สฏฺฐีวสฺสหสฺสานิ หกหมื่นปี ดังนี้. ในคำนี้อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า อักษรและ ทุอักษร ก็ชื่อว่าอักขระ, หรือบทที่มีอักขระเดียว ก็ชื่อว่าอักขระ.

               ว่าด้วยบท               
               อักขรสันนิบาตอันส่องความที่จำแนกไว้ในคำเป็นต้นว่า ยายํ ตณฺหา โปโนพฺภวิกา ตัณหานี้ใดเป็นปัจจัยให้เกิดอีก ดังนี้ ชื่อว่าบท.
               คำที่ประกอบด้วยอักขระมากมาย ได้ในคำเป็นต้นว่า นามญฺจ รูปญฺจ - นามด้วยรูปด้วย ก็ชื่อว่าบท - อักขรสันนิบาต.

               ว่าด้วยพยัญชนะ               
               ชื่อว่าพยัญชนะ เพราะอรรถว่ายังเนื้อความอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลให้ชัดเจน คือทำให้รู้ ทำให้ปรากฏด้วยบทว่า๑- พึงทำบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยย่อให้แจ่มแจ้งดังนี้ ได้แก่คำพูดนั่นเอง.
               เนื้อความที่ตรัสโดยย่อว่า จตฺตาโร อิทฺธิปาทา - อิทธิบาท ๔ ก็ชื่อว่าพยัญชนะ - ทำเนื้อความให้ชัดเจน เพราะทำเนื้อความให้ปรากฏ ได้ในคำว่า กตเม จตฺตาโร ๔ เป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญอิทธิบาทประกอบด้วย ฉันทะ, สมาธิปธานสังขาร คือ เจริญอิทธิบาทประกอบด้วย วิริยะ, จิตตะ, วิมังสา, สมาธิปธานสังขาร.
____________________________
๑- ฉบับพม่าว่า สเรน - ด้วยสระ, หรือด้วยเสียง.

               ว่าด้วยอาการะ               
               การประกาศวิภาคแห่งพยัญชนะ ชื่อว่าอาการะ.
               การกระทำวิภาคหลายอย่างซึ่งพยัญนะที่ตรัสไว้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า อิทธิบาท ๔ นั้น ฉันทะเป็นไฉน? ฉันทะ คือความพอใจ ความเป็นผู้พอใจ ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ ดังนี้ ชื่อว่าอาการะ - ประกาศวิภาคแห่งพยัญชนะ.

               ว่าด้วยนิรุตติ               
               คำขยายเนื้อความอันประกอบด้วยอาการ ชื่อว่านิรุตติ.
               ที่นำมากล่าวว่า ชื่อว่าผัสสะ เพราะอรรถว่ากระทบอารมณ์, ชื่อว่าเวทนา เพราะอรรถว่าเสวยอารมณ์ ซึ่งตรัสไว้แล้วโดยอาการ มาในคำเป็นต้นว่า ผสฺโส เวทนา ดังนี้ ก็ชื่อว่านิรุตติ - แสดงสภาวะ.

               ว่าด้วยนิทเทส               
               ความพิสดารแห่งคำขยาย ชื่อว่านิทเทส เพราะอรรถว่าแสดงเนื้อความโดยไม่เหลือ.
               บทที่ได้คำขยายว่า เวทยตีติ เวทนา ชื่อว่าเวทนา เพราะอรรถว่าเสวยอารมณ์ ดังนี้ ก็ชื่อว่านิทเทส - แสดงขยายความ เพราะท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถความพิสดารแห่งเนื้อความเป็นต้นว่า สุขะ ทุกขะ อทุกขมสุขะ, ชื่อว่าสุขะ เพราะอรรถว่าเป็นไปสบาย, ชื่อว่าทุกขะ เพราะอรรถว่าเป็นไปลำบาก, ชื่อว่าอทุกขมสุขะ เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปลำบาก ไม่เป็นไปสบาย.

               ว่าด้วยสังกาสนะ               
               การรู้บทแห่งพยัญชนปาฐะ ๖ อย่างด้วยประการฉะนี้แล้ว ประกาศแสดงในบทแห่งอรรถปาฐะ ๖ อย่างโดยย่อ ชื่อว่าสังกาสนา - ประกาศให้รู้ชัด.
               การแสดงข้อความโดยสังเขปได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า
               ภิกษุเมื่อสำคัญอยู่แล ย่อมถูกมารผูกมัด, เมื่อไม่สำคัญอยู่ ย่อมพ้นจากมารผู้มีบาป ดังนี้ ก็ชื่อว่าสังกาสนา - ให้รู้ชัด.
               ก็พระเถระนี้เป็นผู้สามารถเพื่อจะกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ได้รู้ทั่วแล้ว ข้าแต่พระสุคตเจ้า ข้าพระองค์ได้รู้ทั่วแล้ว ดังนี้ ชื่อว่าแทงตลอดแล้วซึ่งเนื้อความที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วโดยสังเขปด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยปกาสนะ               
               การประกาศการแสดงแต่เบื้องต้น ซึ่งเนื้อความที่ควรกล่าวในเบื้องต้น ชื่อว่าปกาสนะ.
               การแสดงการประกาศซึ่งเนื้อความที่ควรกล่าวในภายหลังด้วยคำแรก ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า สพฺพํ ภิกฺขเว อาทิตฺตํ สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อนดังนี้ ก็ชื่อว่าปกาสนะ - ประกาศ.
               ด้วยการแสดงข้อความที่แสดงแล้วในครั้งแรกทำให้ปรากฏอีกอย่างนี้ เป็นอันตรัสบทแห่งอรรถทั้งสองในข้อความที่ตรัสไว้มีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรคือสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน, รูปเป็นของร้อน, ดังนี้ เพื่ออุปการะแก่ภิกษุผู้มีอินทรีย์แก่กล้า เพราะตรัสไว้ว่า ภิกษุผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ย่อมแทงตลอดเนื้อความที่ตรัสไว้โดยสังเขปได้ดังนี้.

               ว่าด้วยวิวรณะ               
               การทรงไว้โดยพิสดารซึ่งเนื้อความที่กล่าวแล้วโดยสังเขป และการทรงไว้ได้อีกซึ่งเนื้อความที่กล่าวแล้วเพียงครั้งเดียว ชื่อว่าวิวรณะ.
               การขยายเนื้อความที่ตั้งไว้โดยสังเขปว่า กุสลา ธมฺมา สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลดังนี้ ให้พิสดารด้วยสามารถแห่งนิทเทสว่า สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลเป็นไฉน? สมัยใด กามาวจรกุศลจิตเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้เป็นต้นก็ชื่อว่าวิวรณะ - เปิดเผย.

               ว่าด้วยวิภชนะ               
               การทำเนื้อความนั้นเป็นส่วนๆ ชื่อว่าวิภชนะ.
               การทำกุศลธรรมทั้งหลายที่เปิดเผยแล้วว่า ยสฺมึ สมเย ในสมัยใด ดังนี้ เป็นส่วนๆ ว่า ในสมัยนั้น ผัสสะก็เกิด เวทนาก็เกิด ดังนี้ก็ชื่อว่าวิภชนะ - จำแนก.

               ว่าด้วยอุตตานีกรณะ               
               การทำเนื้อความให้ถึงพร้อม ด้วยการทรงไว้โดยพิสดารซึ่งเนื้อความที่จำแนกแล้ว และด้วยการตั้งไว้ซึ่งเนื้อความที่จำแนกแล้วด้วยอุปมา ชื่อว่าอุตตานีกรณะ.
               เนื้อความที่เปิดเผยแล้วโดยการเปิดเผย กล่าวคือ เปิดเผยอย่างยิ่งว่า ผัสสะมีในสมัยนั้นเป็นไฉน? คือ ในสมัยนั้น ผัสสะ-กระทบอารมณ์, ผุสนา-ถูกต้องอารมณ์, สัมผุสนา-สัมผัสอารมณ์ ดังนี้.
               และเนื้อความที่จำแนกแล้วโดยการจำแนกกล่าวอุปมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ผัสสาหารพึงเห็นได้ ดุจดังแม่โคที่ปราศจากหนังฉะนั้น ดังนี้
               ก็ชื่อว่าอุตตานีกรณะ - ทำให้ง่าย.

               ว่าด้วยปัญญัตติ               
               การยังโสมนัสให้เกิดขึ้นแก่จิตด้วยอเนกวิธี คือด้วยการแสดงธรรมแก่สาธุชนผู้สดับธรรมอยู่ และการกระทำความคมกล้าของญาณด้วยอเนกวิธีให้แก่สาธุชนที่ยังมีปัญญายังไม่คมกล้า ชื่อว่าปัญญัตติ.
               เพราะอรรถว่าย่อมปรากฏแก่สาธุชนผู้สดับอยู่เหล่านั้น ด้วยความยินดีของจิตที่ประกอบด้วยโสมนัสนั้น และด้วยความใคร่ครวญของจิตที่ประกอบด้วยโสมนัสนั้น จึงชื่อว่าปัญญัตติ.
               ในปาฐะทั้ง ๒ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้รู้ชัดด้วยอักขระ ทรงประกาศด้วยบท ทรงเปิดเผยด้วยพยัญชนะ ทรงจำแนกด้วยอาการะ ทรงทำให้ง่ายด้วยนิรุตติ ทรงทำให้ปรากฏด้วยนิทเทส.
               คำนี้มีอธิบายไว้อย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงกระทำเวไนยสัตว์บางพวกให้รู้ชัดเนื้อความด้วยอักขระ ในการแสดงธรรมครั้งหนึ่ง ฯลฯ ทรงทำเนื้อความให้ปรากฏด้วยนิทเทส นี้เป็นอธิบายในปาฐะทั้ง ๒ นั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เวไนยสัตว์รู้ชัดด้วยอักขระทั้งหลาย แล้วทรงประกาศด้วยบททั้งหลาย ทรงเปิดเผยด้วยพยัญชนะทั้งหลาย แล้วทรงจำแนกด้วยอาการทั้งหลาย ทรงทำให้ง่ายด้วยนิรุตติทั้งหลาย แล้วทรงบัญญัติด้วยนิทเทสทั้งหลาย
               มีอธิบายไว้อย่างไร?
               มีอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำเวไนยสัตว์บางพวกในฐานะบางอย่างด้วยพระธรรมเทศนาเห็นปานนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงให้เหล่าเวไนยรู้ชัดด้วยอักขระทั้งหลาย แล้วทรงประกาศด้วยบททั้งหลาย ย่อมทรงแนะนำพวกอุคฆติตัญญู. เมื่อทรงเปิดเผยด้วยพยัญชนะทั้งหลาย แล้วทรงจำแนกด้วยอาการทั้งหลาย ย่อมทรงแนะนำพวกวิปจิตัญญู. เมื่อทรงทำให้ง่ายด้วยนิรุตติทั้งหลาย แล้วทรงบัญญัติด้วยนิทเทสทั้งหลาย ย่อมทรงแนะนำพวกเนยยะ แม้ด้วยสามารถแห่งเวไนยสัตว์ก็พึงประกอบด้วยประการฉะนี้แล.
               แต่โดยใจความในที่นี้ พระสุรเสียงที่เป็นไปกับด้วยวิญญัติซึ่งรู้เนื้อความของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ทรงแสดงพระธรรมว่า พยัญชนปาฐะเป็นไฉน? อรรถปาฐะเป็นไฉน? ดังนี้นั้น ชื่อพยัญชนปาฐะ.
               พระธรรมที่ประกอบด้วยลักษณะและรสเป็นต้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงบรรลุ นั้นพึงทราบว่าอรรถปาฐะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะมี ๖ อย่างคือ สันธายภาสิตปาฐะ พยัญชนภาสิตปาฐะ สาวเสสปาฐะ อนวเสสปาฐะ นีตปาฐะและเนยยปาฐะ.
               ในปาฐะเหล่านั้น ปาฐะที่กล่าวข้อความไม่น้อยมีอาทิอย่างนี้ว่า ฆ่ามารดาบิดา และกษัตริยราชทั้งสอง ดังนี้ ชื่อสันธายภาสิตปาฐะ.
               ปาฐะที่กล่าวข้อความอย่างเดียวมีอาทิอย่างนี้ว่า ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน ดังนี้ ชื่อพยัญชนภาสิตปาฐะ.
               ปาฐะมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ดังนี้ ชื่อสาวเสสปาฐะ.
               ปาฐะที่ตรงกันข้ามมีอาทิอย่างนี้ว่า ธรรมทั้งปวงย่อมมาสู่คลองในญาณมุขของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าโดยอาการทั้งปวง ดังนี้ ชื่ออนวเสสปาฐะ.
               ปาฐะที่พึงรู้อย่างที่กล่าวมีอาทิอย่างนี้ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้ ชื่อนีตปาฐะ.
               ปาฐะที่พึงระลึกถึงโดยความถูกต้องมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเอก ดังนี้ ชื่อเนยยปาฐะ.
               อนึ่ง อรรถมีประการไม่น้อย มีอาทิคือ ปาฐัตถะ, สภาวัตถะ, ญายัตถะ, ปาฐานุรูป, นปาฐานุรูป, สาวเสสัตถะ, นิรวเสสัตถะ, นีตัตถะและเนยยัตถะ ในอรรถเหล่านั้น:-
               ปาฐะใดพ้นข้อความที่ให้รู้ซึ่งข้อความที่ยังไม่รู้ไม่เห็น ปาฐะนั้นชื่อปาฐัตถะ ดุจในประโยคมีอาทิว่า พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ ดังนี้ .
               ลักษณะและรสเป็นต้นของรูปธรรมและอรูปธรรมทั้งหลาย ชื่อสภาวัตถะ ดุจในประโยคมีอาทิว่า เจริญสัมมาทิฏฐิดังนี้.
               อรรถใดอันบุคคลรู้อยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล ย่อมควรเพื่อให้รู้พร้อมดังนี้ อรรถนั้นชื่อญายัตถะ ดุจในประโยคมีอาทิว่า ผู้มีปกติกล่าวอรรถ ผู้มีปกติกล่าวธรรม ดังนี้.
               อรรถที่สมควรตามปาฐะ ชื่อปาฐานุรูป อรรถที่บุคคลผู้ปฏิเสธข้อความด้วยพยัญชนฉายาว่า เพราะฉะนั้น แม้จักษุก็เป็นกรรม ดังนี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นกรรมเก่า ดังนี้กล่าวแล้ว ชื่อนปาฐานุรูป.
               อรรถนั้นโดยปาฐะมิได้ทรงอนุญาตไว้ มิได้ทรงปฏิเสธ มิได้ทรงประกอบไว้.
               ก็อรรถนั้น แม้ที่ควรสงเคราะห์ก็มิได้ทรงสงเคราะห์ หรือแม้ที่ควรเว้นก็มิได้ทรงเว้นอะไรๆ เลย มิได้ทรงปฏิเสธตรัสไว้ ชื่อสาวเสสัตถะ ดุจในประโยคมีอาทิว่า อาศัยจักขุประสาทและรูปารมณ์ จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้น, สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งต่ออาชญา สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อมัจจุ ดังนี้.
               อรรถที่ตรงกันข้าม ชื่อนิรวเสสัตถะ ดุจในประโยคมีอาทิว่า ทั้งเราทั้งท่านแล่นไปพร้อมแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น นอกจากบทที่เห็นแล้ว ใครรู้ใครทรงจำไว้ได้ ดังนี้.
               อรรถที่พึงทราบด้วยสามารถแห่งเสียงนั่นแล ชื่อนีตัตถะ ดุจในประโยคมีอาทิว่า รูป เสียง รส๑- กลิ่นและโผฏฐัพพะ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ดังนี้.
____________________________
๑- น่าจะอยู่หลังกลิ่น ตามลำดับในวิสยรูป.

               อรรถที่พึงทราบด้วยสามารถแห่งสมมติ ชื่อเนยยัตถะ ดุจในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบด้วยพลาหก ๔ เหล่านี้ดังนี้.
               บุคคลรู้แจ้งทั้งปาฐะและอรรถะดำรงอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ง่อนแง่นจากพวกกล่าวตรงกันข้ามทั้งหลาย ด้วยดำรงอยู่สิ้นกาลนาน. บุคคลผู้สามารถเข้าใจด้วยเหตุและอุทาหรณ์เป็นต้น ทั้งโดยสังเขปนัยและวิตถารนัย ย่อมอาจที่จะกล่าวจนถึงความถึงพร้อมแห่งอาคมและอธิคมอย่างไม่ง่อนแง่น ด้วยประการฉะนี้.
               ครั้นรู้แจ้งอย่างนี้แล้วย่อมเป็นผู้สะอาด เพราะเว้นจากมลทินคือศีลและทิฏฐิชั่ว ด้วยความเป็นผู้สามารถที่จะชำระตนและผู้อื่นให้บริสุทธิ์ได้.
               ด้วยว่า คนทุศีลย่อมเบียดเบียนตน เป็นผู้มีวาจาไม่น่าเชื่อถือ เพราะความทุศีลนั้นไม่สามารถจะนำอาหารมาได้ เดือดร้อนอยู่เป็นนิตย์ในโลกนี้ดุจลูกโค คนมีทิฏฐิชั่วย่อมเบียดเบียนผู้อื่น และเป็นที่พึ่งอาศัยไม่ได้ เพียงดังกอบัวที่อากูลอยู่ในถ้ำของสัตว์ร้าย,
               ก็ผู้วิบัติทั้งสองอย่างเป็นผู้ไม่ควรนั่งใกล้ เหมือนหีบศพที่อยู่ในคูถ และเหมือนงูเห่าที่อยู่ในคูถ. ส่วนผู้สมบูรณ์ทั้งสองอย่าง เป็นผู้สะอาดควรนั่งใกล้และควรคบหาแม้ด้วยประการทั้งปวง เหมือนบ่อรัตนะปราศจากอันตรายจากวิญญูชนทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นอย่างนี้ ไม่ตระหนี่อย่างนี้ ไม่ลืมอาจารย์ ไม่สละ ๔ อย่าง คือ สุตตะ, สุตตานุโลม, อาจริยวาทและอัตตโนมติ กล่าวข้อความได้ต่างๆ ด้วยสามารถแห่งสิ่งสำคัญ ๔ อย่างนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เป็นผู้ไม่สละสิ่งสำคัญ ๔ อย่างเหล่านี้คือ :-
                         การกล่าวโดยส่วนเดียวเป็นสุตตะที่ ๑ การกล่าว
               จำแนกเป็นบทสุตตานุโลมเป็นที่ ๒ ไต่ถามเป็นอาจริย
               วาทที่ ๓ ดำรงไว้เป็นอัตตโนมติที่ ๔ เพราะประกอบผู้
               ฟังเข้าไว้ในประโยชน์เกื้อกูล แต่สิ่งสำคัญ ๔ อย่างนั้น
               แหละ ความเข้าใจสิ่งสำคัญ ๔ อย่างเหล่านั้น ย่อมกลับ
               เป็นไม่เกียจคร้าน ดังนี้แล.

               ในข้อนี้ ท่านกล่าวไว้ว่า :-
                         บุคคลผู้กล่าว ผู้ไม่ง่อนแง่นเพราะรู้อรรถแห่งปาฐะ
               เป็นผู้สะอาด ไม่ตระหนี่ ไม่สละสิ่งสำคัญ ๔ อย่าง เป็นผู้
               แสดงไปตามประโยชน์เกื้อกูล.

               บทว่า เทสกสฺส ในคาถานี้ ความว่า พึงเป็นผู้แสดง.
               บทว่า หิตนฺวิโต ความว่า ผู้ไปตามด้วยประโยชน์เกื้อกูล คือผู้มีจิตประกอบด้วยประโยชน์เกื้อกูล.
               ก็บุคคลนี้นั้นเป็นที่รักเพราะเป็นผู้สะอาด เป็นที่เคารพเพราะเป็นผู้ไม่สละสิ่งสำคัญ ๔ อย่าง น่าสรรเสริญเพราะเป็นผู้ไม่ง่อนแง่น เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำเพราะเป็นผู้ไปตามประโยชน์เกื้อกูล เป็นผู้กล่าวชี้แจงเรื่องที่ลึกซึ้งได้ เพราะเป็นผู้รู้อรรถแห่งปาฐะ เป็นผู้ชักจูงในฐานะอันควร เพราะเป็นผู้ไม่ตระหนี่ ดังนี้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสัตตกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า :-
                         เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ น่าสรรเสริญ รู้จักกล่าวชี้แจง
               ให้เข้าใจ เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ กล่าวชี้แจงเรื่องที่ลึกซึ้ง
               ได้ไม่ชักจูงในเรื่องเหลวไหลไร้สาระดังนี้.

               ผู้แสดงเป็นผู้เกื้อกูลยิ่ง ผู้แสดงนั้นจะตั้งไว้เฉพาะในบัดนี้ก่อน ผู้แสดงย่อมไม่ดูหมิ่นถ้อยคำเพราะเคารพธรรม ๔ ประการ ย่อมไม่ดูหมิ่นถ้อยคำที่กล่าวแล้ว เพราะเคารพอาจารย์ ย่อมไม่ดูหมิ่นตน เพราะเป็นผู้ประดับด้วยคุณมีศรัทธาและปัญญาเป็นต้น เป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน เพราะเป็นผู้ไม่โอ้อวดและไม่มีมายา และเพราะเป็นผู้มุ่งพระนิพพาน ย่อมมนสิการโดยแยบคาย เพราะเป็นผู้มีปัญญาดี.
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า:-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ฟังพระสัทธรรม เป็นผู้ควรที่จะก้าวลงสู่ความแน่นอนอันเป็นความชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย
               ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน?
               คือ ไม่ดูหมิ่นถ้อยคำ ๑ ไม่ดูหมิ่นถ้อยคำที่กล่าวแล้ว ๑ ไม่ดูหมิ่นตน ๑ มีจิตไม่ฟุ้งซ่านฟังธรรม ๑ มีจิตแน่วแน่มนสิการโดยแยบคาย ๑ ภาชนะย่อมมีเพราะถึงลักษณะนั้นแล
               ก็ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                         ผู้เคารพธรรมาจารย์ ผู้ประดับด้วยคุณมีศรัทธาและ
               ปัญญาเป็นต้น ผู้ไม่โอ้อวดและไม่มีมายา มีปัญญาดี มุ่ง
               พระนิพพาน เป็นผู้กล่าวและเป็นผู้ฟัง ด้วยประการฉะนี้.
๒-
____________________________
๒- คาถานี้ไม่เต็มคงขาดหายไป.

               ครั้นแสดงพยัญชนะและอรรถะซึ่งมีประการดังกล่าวอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ข้าพเจ้าจักพรรณนามหานิทเทสนั้น ซึ่งท่านเรียกว่ามหานิทเทส เพราะอรรถว่าเป็นนิทเทสใหญ่ราวกะมหาสมุทรและมหาปฐพี เพราะท่านกล่าวทำให้ยอดเยี่ยม.
               ท่านพระอานนท์สดับมหานิทเทสเช่นนั้นอันสมบูรณ์ด้วยอรรถะ สมบูรณ์ด้วยพยัญชนะ ลึกซึ้ง มีอรรถลึกซึ้ง ประกาศโลกุตตระ ปฏิสังยุตด้วยสุญญตา ให้สำเร็จการปฏิบัติและคุณวิเสสคือมรรคผล ปฏิเสธธรรมที่เป็นข้าศึก เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะคือญาณของพระโยคาวจรทั้งหลาย เป็นเหตุพิเศษที่ให้เกิดความงามแห่งธรรมกถาของพระธรรมกถึกทั้งหลาย เป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ของผู้ที่ขลาดกลัวสังสารวัฏ มีข้อความให้เกิดความโปร่งใจ
               ด้วยการแสดงอุบายแห่งการออกไปจากทุกข์นั้น มีข้อความกำจัดธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการออกไปจากทุกข์นั้น และมีข้อความให้เกิดความยินดีแห่งหทัยของสาธุชน
               ด้วยการเปิดเผยอรรถแห่งสุตตบททั้งหลายมิใช่น้อยที่มีอรรถลึกซึ้ง อันท่านพระสารีบุตรเถระผู้เป็นธรรมเสนาบดีของพระธรรมราชา ผู้มีสิเนหะคือมหากรุณาแผ่ไปในชนทั้งสิ้น ด้วยแสงสว่างแห่งมหาประทีป คือพระสัพพัญญุตญาณของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อันอะไรๆ กำจัดไม่ได้ในที่ทั้งปวง ผู้ปรารถนาให้มหาประทีปคือพระสัทธรรมที่รุ่งเรืองอยู่แล้วเพื่อกำจัดความมืดคือกิเลสที่ฝั่งอยู่ในหทัยของเวไนยชน ได้รุ่งเรืองอยู่นานยิ่งตลอด ๕,๐๐๐ ปี ด้วยการหลั่งสิเนหะ ขยายคำอธิบายพระสัทธรรมนั้น ผู้อนุเคราะห์โลกเกือบเท่าพระศาสดาภาษิตไว้ ได้ยกขึ้นสู่สังคีติตามที่ได้สดับมานั่นแหละ ในคราวปฐมมหาสังคายนา.
               ก็บรรดาปิฏก ๓ คือ วินัยปิฏก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฏก. มหานิทเทสนี้นั้นนับเนื่องในสุตตันตปิฎก.
               บรรดามหานิกาย ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตนิกาย ขุททกนิกาย. มหานิทเทสนับเนื่องในขุททกมหานิกาย.
               บรรดาองค์แห่งคำสอน ๙ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ. ท่านสงเคราะห์มหานิทเทสด้วยองค์ ๒ คือ คาถาและเวยยากรณะ.
               พระธรรมที่รู้กันว่ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระอานนทเถระผู้ธรรมภัณฑาคาริก ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ๕ ตำแหน่ง เรียนแต่ภิกษุ ๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ดังเถรภาษิตว่า :-
                         ธรรมทั้งหลายที่เป็นไปเหล่านี้มี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
               ข้าพเจ้าเรียนแต่พระพุทธเจ้า ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เรียนแต่
               ภิกษุ ๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.

               ท่านสงเคราะห์มหานิทเทสนี้หลายร้อยพระธรรมขันธ์.
               มหานิทเทสมี ๒ วรรค คือ อัฏฐกวรรค ปารายนิกวรรค กับทั้งขัคควิสาสูตร.
               มหานิทเทสมี ๓๓ สูตร มีกามสูตรเป็นต้น มีขัคควิสาณสูตรเป็นปริโยสาน แบ่งวรรคละ ๑๖ สูตร และขัคควิสาณสูตร ข้าพเจ้าจักพรรณนาเนื้อความตามลำดับบทของมหานิทเทสนี้ที่ท่านกำหนดไว้หลายประการอย่างนี้.
               ก็มหานิทเทสนี้ผู้อุทเทสและผู้นิทเทส ทั้งโดยปาฐะและโดยอรรถะ พึงอุทเทสและพึงนิทเทสโดยเคารพ แม้เพราะเหตุนั้น จึงควรเรียนและทรงจำไว้โดยเคารพ
               ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
               เพราะมหานิทเทสนี้เป็นคัมภีร์ลึกซึ้ง เพื่อให้คัมภีร์มหานิทเทสนี้ดำรงอยู่ในโลกสิ้นกาลนาน เพื่อเกื้อกูลแก่ชาวโลก ในมหานิทเทสนั้น กามสูตรเป็นสูตรแรก.
               แม้ในกามสูตรนั้น คาถาว่า กามํ กามยมานสฺส ดังนี้ เป็นคาถาแรก.
               การพรรณนานั้นตั้งไว้ตามส่วน คือ อุทเทส นิทเทส ปฏินิทเทส.

               มหานิทเทส               
               อรรถกถาอัฏฐกวรรค กามสุตตนิทเทส               
               บทมีอาทิอย่างนี้ว่า กามํ กามยมานสฺส ดังนี้ ชื่อว่าอุทเทส.
               บทว่า กาม โดยหัวข้อได้แก่กาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑ ดังนี้ ชื่อว่านิทเทส.
               บทมีอาทิอย่างนี้ว่า วัตถุกามเป็นไฉน? รูปอันเป็นที่ชอบใจ ดังนี้ ชื่อว่าปฏินิทเทส.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามํ ได้แก่ วัตถุกาม กล่าวคือธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ มีรูปอันเป็นที่ชอบใจเป็นต้น.
               บทว่า กามยมานสฺส แปลว่า ปรารถนาอยู่.
               บทว่า ตสฺส เจ ตํ สมิชฺฌติ ความว่า ถ้าวัตถุกล่าวคือกามนั้นย่อมสำเร็จแก่สัตว์ผู้ปรารถนาอยู่นั้น. ท่านอธิบายไว้ว่า ถ้าสัตว์นั้นได้วัตถุกามนั้น.
               บทว่า อทฺธา ปีติมโน โหติ ความว่า ย่อมเป็นผู้มีจิตยินดีโดยส่วนเดียว.
               บทว่า ลทฺธา แปลว่า ได้แล้ว.
               บทว่า มจฺโจ ได้แก่สัตว์.
               บทว่า ยทิจฺฉติ ความว่า ปรารถนากามใด.
               แต่บทนี้เป็นเพียงเชื่อมเนื้อความของบทโดยสังเขปเท่านั้น. ส่วนความพิสดาร พึงทราบโดยนัยที่มาในบาลีข้างบนนั่นแล. แม้ในบททั้งปวงต่อแต่นี้ก็เหมือนในบทนี้แล.
               บทว่า กามา เป็นอุททิสิตัพพบท คือบทที่ยกขึ้นตั้งเพื่อจะแสดง.
               บทว่า อุทฺทานโต ก็เป็นนิททิสิตัพพบท.
               บทว่า อุทฺทานโต ท่านกล่าวเป็นหมู่ ดุจในประโยคมีอาทิว่า พึงซึ่งเครื่องผูกปลา ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอุททานะ เพราะให้สูงๆ ขึ้นไป คือเพราะชำระให้สะอาดเบื้องบนดุจชื่อว่าผ่องแผ้ว เพราะอรรถว่าขาวเป็นพิเศษ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า กามา พึงกล่าวทำเป็นปาฐเสสะ ด้วยการกระทำให้พิสดาร.
               บทว่า เทฺว เป็นการกำหนดจำนวน ๑ ก็ไม่ใช่ ๓ ก็ไม่ใช่.
               บทว่า วตฺถุกามา จ ได้แก่ วัตถุกามมีรูปอันเป็นที่ชอบใจเป็นต้น และกิเลสกาม ด้วยอรรถว่าให้เร่าร้อน และด้วยอรรถว่าเบียดเบียน.
               ในกาม ๒ นั้น วัตถุกามควรกำหนดรู้ กิเลสกามควรละ.
               ในกามทั้ง ๒ นั้น บุคคลปรารถนาวัตถุกาม. เพราะกิเลสกาม ชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าอันบุคคลใคร่. กิเลสกาม ชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้บุคคลใคร่ด้วยความเป็นเหตุให้หวังวัตถุกาม.
               ในกาม ๒ นั้น วัตถุกาม ท่านสงเคราะห์เข้าในขันธ์มีรูปเป็นต้น กิเลสกามท่านสงเคราะห์เข้าในสังขารขันธ์.
               วัตถุกามรู้แจ้งได้ด้วยวิญญาณทั้ง ๖. กิเลสกามรู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ.
               ชื่อว่าวัตถุกาม เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสทั้งหลาย เพราะอรรถว่าเป็นเหตุแห่งกิเลสทั้งหลาย และเพราะอรรถว่าเป็นอารมณ์ แห่งกิเลสทั้งหลาย.
               สิ่งสวยงามทั้งหลายในโลกเหล่านั้น มิใช่เป็นกามไปทั้งหมด ความกำหนัดด้วยสามารถแห่งความดำริ เป็นกามของบุรุษ. สิ่งสวยงามทั้งหลายย่อมดำรงอยู่ในโลกอย่างนั้นแล เมื่อเป็นเช่นนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายก็กำจัดความพอใจในสิ่งสวยงามเหล่านี้เสีย.
               ในข้อนี้มีเรื่องนันทมาณพและบุตรของโสเรยยเศรษฐี เป็นต้นเป็นตัวอย่าง.
               กิเลสกามชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าให้ใคร่เอง ด้วยอรรถคือให้เร่าร้อน ด้วยอรรถคือเบียดเบียน.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลผู้กำหนัดแล้วแล ถูกราคะครอบงำแล้ว มีจิตถูกราคะครอบงำ ย่อมจงใจเบียดเบียนตนบ้าง ย่อมจงใจเบียดเบียนคนอื่นบ้าง ย่อมจงใจเบียดเบียนทั้งตนและคนอื่นบ้าง ดังนี้,
               และว่า ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลผู้กำหนัดแล้วแล ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ย่อมลักทรัพย์บ้าง ย่อมถึงทาระของผู้อื่นบ้าง ย่อมกล่าวมุสาบ้าง ดังนี้
               ตัวอย่างมีอย่างนี้เป็นต้น.
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะกล่าวมหานิทเทสนั้นแลให้พิสดารด้วยปฏินิทเทส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กตเม วตฺถุกามา วัตถุกามเป็นไฉน ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตเม เป็นกเถตุกัมยตาปุจฉา.
               ความจริง ปุจฉามี ๕ อย่าง วิภาคแห่งปุจฉาเหล่านั้น จักมีแจ้งในบาลีข้างหน้านั่นแล.
               บรรดาปุจฉา ๕ อย่างนั้น นี้เป็นกเถตุกัมยตาปุจฉา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนาปิกา ความว่า ชื่อว่ามนาปา เพราะอรรถว่ายังใจให้เอิบอาบคือให้เจริญ มนาปานั่นแหละเป็นมนาปิกา.
               บทว่า รูปา ได้แก่ รูปารมณ์ ซึ่งมีสมุฏฐาน ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร,
               ชื่อว่ารูป เพราะอรรถว่าแตกดับไป.
               อธิบายว่า เมื่อสีเปลี่ยนไป ย่อมประกาศภาวะที่ถึงหทัย.
               บรรดาวัตถุกามเหล่านั้น ชื่อว่า รูป เพราะอรรถว่าอะไร? เพราะอรรถว่าแตกดับไป.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าที่พวกเธอเรียกว่า รูป
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอรรถว่าย่อมแตกดับไปแล ฉะนั้นจึงเรียกว่า รูป, รูปนั้นย่อมแตกดับไป ด้วยอะไร ย่อมแตกดับไปด้วยหนาวบ้าง ร้อนบ้าง หิวบ้าง ระหายบ้าง ย่อมแตกดับไปด้วยสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เลื้อยคลาน
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอรรถว่าย่อมแตกดับแล ฉะนั้นจึงเรียกว่ารูป ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รุปฺปติ ความว่าย่อมกำเริบ คือสั่นรัว ถูกบีบคั้น แตก ความแตกดับด้วยความหนาว ปรากฏในโลกันตนรก ความหนาวปรากฏในประเทศที่หนาวจนหิมะตกมีมหิสรัฐเป็นต้น ก็ในมหิสรัฐเป็นต้นนั้น สัตว์ทั้งหลายมีสรีระแตก เพราะความหนาว ถึงตายก็มี.
               ความสลายด้วยความร้อน ปรากฏในอวีจิมหานรก.
               ก็ในอวีจิมหานรกนั้นสัตว์ทั้งหลายเสวยทุกข์ใหญ่ ในเวลาที่ถูกให้นอนบนปฐพีที่ร้อนแรง ถูกจองจำ ๕ ประการเป็นต้น.
               ความแตกดับด้วยความหิว ปรากฏในภูมิแห่งเปรต และในคราวเกิดทุพภิกขภัย ก็เหล่าสัตว์ในภูมิแห่งเปรตจะใช้มือหยิบอามิสอะไรๆ ใส่ปากไม่ได้ ตลอด ๒-๓ พุทธันดร ภายในท้องเป็นเหมือนโพรงต้นไม้อันไฟติดทั่วอยู่ ในคราวเกิดทุพภิกขภัย เหล่าสัตว์ที่ไม่ได้แม้เพียงน้ำข้าว ถึงความตายประมาณไม่ได้ ความแตกดับด้วยความกระหายปรากฏในแดนกาลกัญชิกาสูรเป็นต้น.
               ก็ในแดนนั้นเหล่าสัตว์ไม่อาจที่จะได้หยาดน้ำเพียงชุ่มหทัยหรือเพียงชุ่มลิ้น, ตลอด ๒-๓ พุทธันดร เมื่อเหล่าสัตว์ไปแม่น้ำด้วยคิดว่าจักดื่มน้ำ น้ำก็กลายเป็นหาดทราย แม้เมื่อแล่นไปมหาสมุทร สมุทรก็เป็นแผ่นหินดาด สัตว์เหล่านั้นซูบซีดถูกความทุกข์หนักบีบคั้น ร้องครวญครางอยู่.
               ความสลายด้วยเหลือบเป็นต้น ปรากฏในประเทศที่มากไปด้วยเหลือบและแมลงวันเป็นต้น.
               ก็รูปนั้นให้พิสดารไว้แล้วในอภิธรรม โดยนัยมีอาทิว่า รูปนั้นเป็นไฉน คือสนิทัสสนรูป๑- สัปปฏิฆรูป๒- ดังนี้
____________________________
๑- สนิทัสสนรูป - รูปที่เห็นได้ ได้แก่รูปารมณ์
๒- สัปปฏิฆรูป - รูปที่กระทบได้ ได้แก่สปาทรูป ๕ กับวิสยรูป ๗.

               ชื่อว่าสัทท เพราะอรรถว่าทำเสียง. อธิบายว่า เปล่งออก. เสียงมีสมุฏฐาน ๒ คือ อุตุและจิต.
               ชื่อว่ากลิ่น เพราะอรรถว่าฟุ้งไป. ความว่า ประกาศที่อยู่ของตน.
               ชื่อว่ารส เพราะอรรถว่าเหล่าสัตว์เยื่อใย. ความว่า ยินดี.
               ชื่อว่าโผฏฐัพพะ เพราะอรรถว่าถูกต้อง.
               กลิ่นเป็นต้นเหล่านี้มีสมุฏฐาน๔ วิภาคแห่งเสียงเป็นต้นเหล่านั้น ให้พิสดารไว้แล้วในอภิธรรมนั่นแล.
               พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงความนั้นนั่นแลโดยพิสดาร จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อตฺถรณา ปาปุรณา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น ที่ชื่อว่า อตฺถรณา เครื่องลาด เพราะอรรถว่าลาดแล้วนอน. ชื่อว่า ปารุปณา เครื่องนุ่งห่ม เพราะอรรถว่าห่มพันสรีระ,
               ทาสีด้วย ทาสด้วย ชื่อว่า ทาสีและทาส ๔ มีทาสในเรือนเบี้ยเป็นต้น.
               ที่เป็นที่งอกขึ้นแห่งปุพพัณชาติ ชื่อว่านา, ที่เป็นที่งอกขึ้นแห่งอปรัณชาติ ชื่อว่าที่ดิน.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นที่งอกขึ้นแห่งปุพพัณชาติและอปรัณชาติ แม้ทั้งสอง ชื่อว่านา. พื้นที่ที่ไม่ได้ทำประโยชน์อย่างนั้น ชื่อว่าที่ดิน.
               อนึ่ง ในที่นี้แม้บึงและสระน้ำเป็นต้น ท่านก็สงเคราะห์ด้วยหัวข้อ คือ เขตตะและวัตถุ.
               บทว่า หิรญฺญํ ได้แก่ กหาปณะ.
               บทว่า สุวณฺณํ ได้แก่ ทอง.
               มาสกแม้ทุกอย่าง คือมาสกโลหะ มาสกครั่ง มาสกไม้ ก็สงเคราะห์เข้าด้วยศัพท์ หิรญฺญ และ สุวณฺณ เหล่านั้น.
               บทว่า คามนิคมราชธานิโย ความว่า กระท่อมหลังเดียวเป็นต้น ชื่อว่าคาม. คามที่มีตลาด ชื่อว่านิคม. สถานที่อันเป็นอาณาเขตของพระราชาพระองค์หนึ่ง ชื่อว่าราชธานี. ชนบทเอกเทศหนึ่ง ชื่อว่ารัฐ. ชนบทกาสีและชนบทโกศลเป็นต้น ชื่อว่าชนบท.
               บทว่า โกโส ได้แก่ กองพลรบ ๔ เหล่า คือเหล่าช้าง เหล่าม้า เหล่ารถ เหล่าราบ.
               บทว่า โกฏฺฐาคารํ ได้แก่ เรือนคลัง ๓ อย่าง คือเรือนคลังทรัพย์เรือนคลังข้าวเปลือก เรือนคลังผ้า.
               บทว่า ยงฺกิญฺจิ เป็นคำกำหนดว่าไม่มีอะไรเหลือ.
               บทว่า รชนียํ ได้แก่ ด้วยอรรถว่าควรยินดี.
               ต่อแต่นี้ พระสารีบุตรเถระเพื่อจะแสดงเป็นติกะ จึงได้กล่าวติกะ ๖ คือ อตีตติกะ อัชฌัตตติกะ หีนติกะ โอกาสติกะ ปโยคติกะและกามาวจรติกะ.
               บรรดาติกะเหล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยในอตีตติกะก่อน
               ชื่อว่าอดีต เพราะอรรถว่าก้าวล่วงซึ่งสภาวะของตน หรือถึงแล้วซึ่งขณะมีอุปปาทะเป็นต้น. ชื่อว่าอนาคต เพราะอรรถว่ายังไม่มาถึงทั้งสองอย่างนั้น. ชื่อว่าปัจจุบัน เพราะอรรถว่าอาศัยเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น.
               บทนี้ท่านกำหนดด้วยภพ ด้วยว่า จำเดิมปฏิสนธิ เหล่าสัตว์ที่บังเกิดในภพอดีตก็ตาม ในภพติดต่อกันก็ตาม หรือในที่สุดแสนโกฏิกัปก็ตาม ทั้งหมดชื่อว่าอดีตทั้งนั้น.
               จำเดิมแต่จุติ กามที่เกิดในภพอนาคต กำลังเกิดอยู่ในภพติดต่อกันก็ตาม ในที่สุดแสนโกฏิกัปก็ตาม ทั้งหมดชื่อว่าอนาคตทั้งนั้น.
               กามที่เป็นไปต่อจากจุติปฏิสนธิ ชื่อว่าปัจจุบัน.
               ในอัชฌัตตติกะมีวินิจฉัยว่า
               กามเฉพาะบุคคลที่เป็นไปอย่างนี้ คือเป็นไปกระทำตนเป็นใหญ่ ได้แก่เป็นไปในสันดานของตน ด้วยความประสงค์เหมือนประสงค์ว่า พวกเราจักยึดถือว่าตน ดังนี้ ชื่อว่าอัชฌัตตติกะ.
               ส่วนที่เป็นภายนอกจากนั้น เนื่องด้วยอินทรีย์ก็ตาม ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ก็ตาม ชื่อว่าภายนอก [พหิทฺธา นาม].
               ตติยบท ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งบททั้งสองนั้น.
               ในหีนติกะมีวินิจฉัยว่า
               บทว่า หีนา ได้แก่ ลามก.
               บทว่า มชฺฌิมา ความว่า ชื่อว่ามัชฌิมา ปานกลาง เพราะอรรถว่าเป็นระหว่างกลางของกามชนิดเลวและกามชนิดประณีต ที่เหลือลงชื่อว่าประณีต เพราะอรรถว่าสูงสุด.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่าเป็นชนิดเลว ชนิดปานกลาง ชนิดประณีต โดยเปรียบเทียบกัน.
               จริงอยู่ กามของเหล่าสัตว์นรก ชื่อว่าเลวที่สุด เมื่อเปรียบเทียบสัตว์นรกเหล่านั้น.
               บรรดาดิรัจฉานทั้งหลาย กามของนาคและครุฑทั้งหลาย ชื่อว่าประณีต. กามของเหล่าสัตว์ดิรัจฉานที่เหลือ ชื่อว่าปานกลาง กามแม้ของดิรัจฉานเหล่านั้นก็ชื่อว่าเลว เมื่อเปรียบเทียบดิรัจฉานเหล่านั้น.
               กามของเหล่าเปรตผู้มเหศักดิ์ ชื่อว่าประณีต กามของเหล่าเปรตที่เหลือลง ชื่อว่าปานกลาง กามแม้ของเปรตเหล่านั้นก็ชื่อว่าเลว เมื่อเปรียบเทียบเปรตเหล่านั้น.
               กามของชาวชนบท ชื่อว่าประณีต. กามของชาวชายแดน ชื่อว่าปานกลาง. กามแม้ของเขาทั้งหลายเหล่านั้นก็ชื่อว่าเลว เมื่อเปรียบเทียบ พวกเขาเหล่านั้น. กามของพวกนายบ้าน ชื่อว่าประณีต. กามของพวกคนรับใช้ของนายบ้านเหล่านั้น ชื่อว่าปานกลาง. กามของพวกเขาเหล่านั้น ก็ชื่อว่าเลว เมื่อเปรียบเทียบพวกเขาเหล่านั้น. กามของพวกปกครองชนบท ชื่อว่าประณีต กามของพวกคนรับใช้ของผู้ปกครองชนบทเหล่านั้น ชื่อว่าปานกลาง กามแม้ของพวกเขาเหล่านั้น ก็ชื่อว่าเลว เมื่อเปรียบเทียบพวกเขาเหล่านั้น. กามของพวกเจ้าประเทศราช ชื่อว่าประณีต กามของพวกอำมาตย์ ชื่อว่าปานกลาง กามแม้ของพวกเขาเหล่านั้น ก็ชื่อว่าเลว เมื่อเปรียบเทียบพวกเขาเหล่านั้น.
               กามของพระเจ้าจักรพรรดิ ชื่อว่าประณีต. กามของพวกอำมาตย์ ชื่อว่าปานกลาง กามแม้ของพระเจ้าจักรพรรดิก็ชื่อว่าเลว เมื่อเปรียบเทียบพวกเขาเหล่านั้น.
                         เต อุปาทาย จกฺกวตฺติรญฺโญ กามา ปณีตา นาม ฯ
                         ตสฺส อมจฺจานํ กามา มชฺฌิมา นาม ฯ ตสฺสปิ หีนา ฯ

               กามของเหล่าภุมมเทวดา ชื่อว่าประณีต. กามของเหล่าเทวดารับใช้ของภุมมเทวดาเหล่านั้น ชื่อว่าปานกลาง กามแม้ของภุมมเทวดาเหล่านั้นก็ชื่อว่าเลว เมื่อเปรียบเทียบภุมมเทวดาเหล่านั้น.
                         เต อุปาทาย ภุมฺมเทวานํ กามา ปณีตา นาม ฯ
                         เตสํ ปริจาริกานํ เทวานํ กามา มชฺฌิมา นาม ฯ เตสมฺปิ หีนา ฯ

               กามของเหล่าเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ชื่อว่าประณีต จนถึงกามของเหล่าเทวดาชั้นอกนิฏฐ์ ชื่อว่าประณีตที่สุด
               โดยนัยมีอาทิดังนี้ พึงทราบกามชนิดเลว ชนิดปานกลาง และชนิดประณีต โดยเปรียบเทียบด้วยประการฉะนี้.
               ในโอกาสติกะมีวินิจฉัยว่า
               บทว่า อาปายิกา กามา ความว่า กามของสัตว์ผู้เกิดในอบาย ๔ ที่ปราศจากความเจริญ กล่าวคือไม่เจริญ ชื่อว่ากามของสัตว์ผู้เกิดในอบาย. กามของสัตว์ผู้เกิดในหมู่มนุษย์ ชื่อว่าเป็นของมนุษย์. กามของสัตว์ผู้เกิดในหมู่เทวดา ชื่อว่าเป็นทิพย์.
               ในปโยคติกะมีวินิจฉัยว่า
               กามของเหล่าสัตว์ในอบายที่เหลือ นอกจากพวกสัตว์นรก ของเหล่ามนุษย์และของเหล่าเทวดาตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกาจนถึงเหล่าเทวดาชั้นดุสิต ชื่อว่ากามที่ปรากฏเฉพาะหน้า เพราะบริโภคกามทั้งหลายที่ปรากฏเฉพาะหน้า.
               เทวดาทั้งหลายในเวลาที่ต้องการจะรื่นรมย์ด้วยอารมณ์ที่เกินกว่าอารมณ์ที่ตกแต่งไว้ตามปกติ ย่อมเนรมิตอารมณ์ตามที่ชอบใจรื่นรมย์ดังนั้น กามของเหล่าเทวดาชั้นนิมมานรดีจึงชื่อว่ากามที่เนรมิตเอง.
               เทวดาทั้งหลายย่อมเสพอารมณ์ที่เทวดาเหล่าอื่นรู้อัธยาศัยของตน เนรมิตให้ ดังนั้นกามของเหล่าเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีจึงชื่อว่ากามที่ผู้อื่นเนรมิต.
               บทว่า ปริคฺคหิตา ได้แก่ กามที่หวงแหนว่านั่นของเรา.
               บทว่า อปริคฺคหิตา ได้แก่ กามของชาวอุตตรกุรุทวีป ซึ่งมิได้หวงแหนอย่างนั้น.
               บทว่า มมายิตา ได้แก่ ที่ยึดถือว่านั่นของเรา ด้วยอำนาจตัณหา.
               บทว่า อมมายิตา ได้แก่ ที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า สพฺเพปิ กามาวจรา ธมฺมา ความว่า ธรรมที่นับเนื่องในกามาวจรธรรม ที่กล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า โดยเบื้องต่ำทำนรกอเวจีให้เป็นที่สุดรอบ.
               ในข้อนั้นมีเนื้อความแห่งคำดังนี้
               กามโดยหัวข้อมี ๒ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑.
               ใน ๒ อย่างนั้น กิเลสกาม โดยอรรถ ได้แก่ฉันทราคะความกำหนัดด้วยสามารถแห่งความพอใจ วัตถุกาม ได้แก่วัฏฏะที่เป็นไปในภูมิ ๓.
               อนึ่ง กิเลสกาม ชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าเป็นที่ใคร่. วัตถุกามนอกนี้ ชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าอันสัตว์ย่อมใคร่. เป็นภูมิที่ท่องเที่ยว เป็นไปแห่งกามทั้ง ๒ นั้น มี ๑๑ ภูมิ คืออบายภูมิ ๔ มนุษย์ภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖.
               ชื่อว่ากามาวจร เพราะอรรถว่าเป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งกาม.
               ท่านกล่าวว่า สพฺเพปิ กามาวจรา ธมฺมา ในที่นั้น หมายเอาธรรมที่นับเนื่องกัน.
               ชื่อว่าธรรม เพราะอรรถว่าทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน.
               บทว่า รูปาวจรา ธมฺมา ความว่า ธรรมทั้งหมดเป็นรูปาวจรธรรม ด้วยสามารถแห่งรูปาวจรธรรมที่กล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่าแต่เบื้องต่ำขึ้นไปจนถึงพรหมโลกเป็นที่สุด.
               บทว่า อรูปาวจรา ธมฺมา ความว่า ธรรมทั้งหมดที่กล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า เบื้องต่ำเริ่มแต่เหล่าเทพผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะดังนี้ เป็นอรูปาวจรธรรม.
               บรรดาธรรม ๒ อย่างนั้น ชื่อว่ารูปาวจรธรรม เพราะอรรถว่าท่องเที่ยวไปในรูปภพ. ชื่อว่าอรูปาวจรธรรม เพราะอรรถว่าท่องเที่ยวไปในอรูปภพ.
               บทว่า ตณฺหาวตฺถุกา ความว่า เป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง และเพราะอรรถว่าเป็นเหตุ.
               บทว่า ตณฺหารมฺมณา ความว่า เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ด้วยสามารถความเป็นไปแห่งตัณหายึดหน่วงธรรมเหล่านั้นทีเดียว.
               บทว่า กามนียฏฺเฐน ได้แก่ เพราะอรรถว่าพึงหวังเฉพาะ.
               บทว่า รชนียฏฺเฐน ได้แก่ เพราะอรรถว่าควรยินดี.
               บทว่า มทนียฏฺเฐน ได้แก่ เพราะอรรถว่าเป็นที่เกิดขึ้นแห่งความมัวเมามีความมัวเมาตระกูลเป็นต้น.
               ในนิทเทสนั้น พระสารีบุตรเถระกล่าวคำเบื้องต้นว่า กตเม วตฺถุกามา มนาปิกา รูปา แล้วกล่าวคำสุดท้ายว่า ยํกิญฺจิ รชนียํ วตฺถุ ดังนี้ กล่าวถึงทั้งสิ่งที่มีวิญญาณและหาวิญญาณมิได้
               คำที่เหลือพึงทราบว่า ติกะ ๖ ที่เกินเป็นเอกะและจตุกกะ.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑. กามสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=1&Z=486
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :