ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส

               อรรถกถาคุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒               
               ในคุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สตฺโต ได้แก่ ผู้ข้อง.
               บทว่า คุหายํ ได้แก่ ในกาย.
               ก็กายท่านเรียกว่า ถ้ำ เพราะเป็นห้องที่อยู่ของกิเลสร้ายๆ มีราคะเป็นต้น.
               บทว่า พหุนาภิฉนฺโน ได้แก่ อันกิเลสมีราคะเป็นต้นมากปิดบังไว้ด้วยบทว่า พหุนาภิฉนฺโน นี้ ท่านกล่าวถึงเครื่องผูกภายใน.
               บทว่า ติฏฐํ ได้แก่ เมื่อตั้งอยู่ด้วยอำนาจราคะเป็นต้น.
               กามคุณ ท่านกล่าวว่าโมหนะ ในบทว่า โมหนสฺมึ ปคาฬฺโห. ด้วยว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมหลงในกามคุณนี้ เป็นผู้หยั่งลงในกามคุณเหล่านั้น ด้วยบทว่า โมหนสฺมึ ปคาฬฺโห นี้ ท่านกล่าวถึงเครื่องผูกภายนอก.
               บทว่า ทูเร วิเวกา หิ ตถาวิโธ โส ความว่า นรชนผู้มีอย่างนั้นเป็นรูปนั้นอยู่ไกล คือไม่ใกล้ จากวิเวกทั้ง ๓ อย่างมีกายวิเวกเป็นต้น. เพราะเหตุไร? เพราะกามทั้งหลายในโลก ไม่เป็นของอันนรชนละได้โดยง่าย.
               ท่านอธิบายว่า เพราะกามทั้งหลายในโลก ย่อมไม่เป็นของที่นรชนจะละได้โดยง่าย.
               บทว่า สตฺโตติ หิ โข วุตฺตํ ท่านกล่าวว่าโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า สัตว์ นรชน มาณพ.
               พระพุทธพจน์ว่า คุหายํ ที่พระสารีบุตรเถระอธิบายว่า คุหา ตาว วตฺตพฺพา ความว่า ถ้ำควรกล่าวก่อน. ในบทว่า กาโยติ วา เป็นต้น ประกอบบทดังนี้ก่อนว่า กายก็ดี ถ้ำก็ดี ฯลฯ หม้อก็ดี.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาโย ได้กล่าวไว้แล้วในสติปัฏฐานกถาในหนหลังโดยนัยเป็นต้นว่า ชื่อว่า กาย เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่ของสิ่งน่าเกลียดทั้งหลาย.
               ชื่อว่า ถ้ำ เพราะอรรถว่าเป็นห้องที่อยู่ของกิเลสร้ายๆ มีราคะเป็นต้น. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า เพราะอรรถว่าปกปิด ก็มี, ดุจในประโยคมีอาทิว่า ไปรับอารมณ์ได้ไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่างมีหทัยรูปเป็นถ้ำที่อาศัย ดังนี้.
               ชื่อว่า ร่างกาย เพราะอรรถว่าถูกกิเลสมีราคะเป็นต้นเผา ดุจในประโยคมีอาทิว่า เขาเหล่านั้นละร่างมนุษย์แล้ว ดังนี้.
               ชื่อว่า ร่างกายของตน เพราะอรรถว่ากระทำให้มัวเมา ดุจในประโยคมีอาทิว่า ร่างกายของตนเป็นของเปื่อยเน่าทำลายไป เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ดังนี้.
               ชื่อว่า เรือ เพราะอรรถว่าสัญจรไปในสังสารวัฏ ดุจในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้เถิด เรือที่เธอวิดแล้วจักถึงเร็ว ดังนี้.
               ชื่อว่า รถ เพราะอรรถว่ามีอิริยาบถดุจในประโยคมีอาทิว่า รถคือร่างกาย มีศีลเป็นเครื่องประดับ มีฌานเป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อดังนี้.
               ชื่อว่า ธง เพราะอรรถว่าลอยเด่น ดุจในประโยคมีอาทิว่า ธงเป็นเครื่องปรากฏของรถ ดังนี้.
               ชื่อว่า จอมปลวก เพราะเป็นที่อยู่ของเหล่ากิมิชาติทั้งหลาย ดุจในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่าจอมปลวกนี้แล เป็นชื่อของกายซึ่งประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้. เหมือนอย่างว่า จอมปลวกภายนอก ท่านเรียกว่า จอมปลวก ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือคายออก ผู้คายออก คายความริษยาออก คายน้ำมันสำหรับเชื่อมออก. ด้วยว่าจอมปลวกนั้น ชื่อว่าจอมปลวก เพราะอรรถว่าคายสัตว์ต่างๆ มีงู พังพอน หนูและตุ๊กแกเป็นต้น.
               ชื่อว่า จอมปลวก เพราะอรรถว่าตัวปลวกทั้งหลายใช้จะงอยปากคาบดินก้อนเล็กๆ มาคายออกก่อขึ้นสูงประมาณสะเอวบ้าง ประมาณชั่วบุรุษบ้าง แม้ฝนตกถึง ๗ สัปดาห์ก็ไม่พังทลาย เพราะน้ำมันคือน้ำลายที่ตัวปลวกทั้งหลายคายออกเชื่อมยึดไว้. แม้ในฤดูร้อน เมื่อเอาดินกำมือหนึ่งแต่จอมปลวกนั้นมาบีบด้วยกำมือที่จอมปลวกนั้น น้ำมันก็ไหลออก.
               ชื่อว่า จอมปลวก เพราะอรรถว่าคายน้ำมันสำหรับเชื่อมออก ด้วยประการฉะนี้. แม้กายนี้ก็ฉันนั้น ชื่อว่า จอมปลวก เพราะอรรถว่า คายออกซึ่งของไม่สะอาดมีประการต่างๆ โดยนัยเป็นต้นว่า คายขี้ตาจากนัยน์ตา.
               พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระขีณาสพทั้งหลายทิ้งอัตภาพด้วยสละความใคร่ในอัตภาพนี้ ดังนั้นจึงชื่อว่าจอมปลวก เพราะอรรถว่าอันพระอริยะทั้งหลายคายแล้ว ก็มี.
               อนึ่ง กายนี้อันกระดูกสามร้อยท่อนตั้งไว้ มีเอ็นเป็นเครื่องผูก มีเนื้อเป็นเครื่องฉาบทา หุ้มห่อไว้ด้วยหนังสด ย้อมไว้ด้วยผิว ล่อลวงเหล่าสัตว์. ทั้งหมดนั้นอันพระอริยะทั้งหลายคายแล้วทีเดียว ดังนั้นจึงชื่อว่าจอมปลวก เพราะอรรถว่าคายความริษยาออก ก็มี.
               กายนี้เชื่อมไว้ด้วยน้ำมันคือตัณหา ที่พระอริยะทั้งหลายคายแล้วนั่นแลเพราะตัณหาให้เกิดแล้วอย่างนี้ว่า ตัณหาให้บุรุษเกิด แล่นไปสู่จิตของบุรุษนั้น ดังนั้นจึงชื่อว่าจอมปลวก เพราะอรรถว่าคายน้ำมันสำหรับเชื่อมออก ก็มี.
               เหล่าสัตว์ต่างๆ ภายในจอมปลวก ย่อมเกิด ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ นอนเจ็บไข้ ตายตกไปในจอมปลวกนั้นเอง. จอมปลวกนั้นเป็นเรือนคลอด เป็นส้วม เป็นโรงพยาบาล และเป็นสุสานของสัตว์เหล่านั้นด้วยประการฉะนี้ฉันใด
               แม้ร่างกายของกษัตริย์มหาศาลเป็นต้นก็ฉันนั้น มีกิมิชาติประมาณแปดหมื่นเหล่า โดยการนับเหล่า อย่างนี้คือ เหล่าสัตว์ที่อาศัยผิว เหล่าสัตว์ที่อาศัยหนัง เหล่าสัตว์ที่อาศัยเนื้อ เหล่าสัตว์ที่อาศัยเอ็น เหล่าสัตว์ที่อาศัยกระดูก เหล่าสัตว์ที่อาศัยเยื่อในกระดูก ย่อมเกิดถ่ายอุจจาระปัสสาวะ นอนกระสับกระส่ายด้วยความไข้ตายตกไปภายในกายนั่นแหละ โดยไม่คิดนึกว่า นี้เป็นกายของผู้มีอานุภาพมาก ที่คุ้มครองรักษาแล้ว ประดับตกแต่งแล้ว กายแม้นี้ย่อมเป็นเรือนคลอด เป็นส้วม เป็นโรงพยาบาล และเป็นสุสานของสัตว์เหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้ ดังนั้นจึงนับว่าจอมปลวก.
               ชื่อว่า รัง เพราะเป็นที่เก็บ คือเป็นรังแห่งโรคเป็นต้น ดุจในประโยคว่า รูปนี้เป็นรังแห่งโรคผุพัง ดังนี้.
               ชื่อว่า นคร เพราะอรรถว่าเป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งของชอบใจและของไม่ชอบใจ ดุจในประโยคว่า นครคือกายของตน เป็นต้น.
               ชื่อว่า กระท่อม เพราะอรรถว่า เป็นเรือนที่อยู่อาศัยแห่งปฏิสนธิ ดุจในประโยคว่า พิจารณาในกระท่อมซึ่งมี ๕ ประตู เป็นต้น.
               ชื่อว่า ฝี เพราะเป็นของเปื่อยเน่า ดุจในประโยคว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า โรค ว่าฝี ว่าลูกศร นี้เป็นชื่อของกาย เป็นต้น.
               ชื่อว่า หม้อ เพราะอรรถว่า แตก ดุจในประโยคว่า รู้แจ้งกายนี้อันเปรียบได้กับหม้อ เป็นต้น.
               บทว่า กายสฺเสตํ อธิวจนํ ความว่า การกล่าวนี้ คือมีประการดังกล่าวแล้ว เป็นชื่อของที่อยู่ของสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลายซึ่งสำเร็จแต่มหาภูตรูป ๔
               บทว่า คุหายํ ได้แก่ ในสรีระ.
               บทว่า สตฺโต ได้แก่ ติดแน่น.
               บทว่า วิสตฺโต ได้แก่ ติดแน่นด้วยอาการต่างๆ มีความกำหนัดในวรรณะเป็นต้น.
               ชื่อว่า ข้องทั่วไป ด้วยสามารถแห่งความกำหนัดในสัณฐาน.
               ชื่อว่า ติดอยู่ ด้วยสามารถแห่งการยึดถือในถ้ำนั้นว่างาม เป็นสุข.
               ชื่อว่า พันอยู่ ด้วยสามารถแห่งการยึดถือว่าเป็นตน.
               บทว่า ปลิพุทฺโธ ได้แก่ ไม่ปล่อยด้วยสามารถแห่งความกำหนัดในผัสสะตั้งอยู่.
               บทว่า ภิตฺติขีเล ได้แก่ ลิ่มซึ่งตอกไว้ที่ฝา.
               บทว่า นาคทนฺเต ได้แก่ ที่ไม้งอเช่นกับงาช้าง.
               บทว่า สตฺตํ ได้แก่ ติดอยู่ที่ลิ่มซึ่งตอกติดไว้ที่ฝา.
               บทว่า วิสตฺตํ ได้แก่ ติดอยู่ที่ไม้ขอ.
               บทว่า อาสตฺตํ ได้แก่ ติดอยู่ที่ราวจีวร.
               บทว่า ลคฺคํ ได้แก่ ติดอยู่ที่สายระเดียงตากจีวร.
               บทว่า ลคฺคิตํ ได้แก่ ติดอยู่ที่เท้าตั่ง.
               บทว่า ปลิพุทฺธํ ได้แก่ติดอยู่ที่เท้าเตียง พึงประกอบความโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ลคฺคนาธิวจนํ ได้แก่ การกล่าวถึงการติดแน่นเป็นพิเศษ.
               บทว่า ฉนฺโน ได้แก่ อันกิเลสทั้งหลายมีประการดังกล่าวปิดบังไว้ ชื่อว่าคลุมไว้ เพราะปิดบังไว้เหนือๆ ขึ้นไป โดยเกิดขึ้นบ่อยๆ.
               บทว่า อาวุโฏ ได้แก่ หุ้มห่อไว้.
               บทว่า นิวุโต ได้แก่ กั้นไว้.
               บทว่า โอผุโฏ ได้แก่ ปิดคลุมไว้.
               บทว่า ปิหิโต ได้แก่ ครอบไว้ ดุจครอบปากหม้อข้าวด้วยภาชนะ
               บทว่า ปฏิจฺฉนฺโน ได้แก่ ปกคลุมไว้.
               บทว่า ปฏิกุชฺชิโต ได้แก่ ให้ตั้งคว่ำหน้า.
               บรรดาบทเหล่านั้น บังไว้ ดุจหญ้าและใบไม้เป็นต้นบังไว้. คลุมไว้ ดุจสะพานคลุมแม่น้ำ. หุ้มห่อไว้ ดุจกั้นทางสัญจรของประชาชน.
               บทว่า วินิพนฺโธ มานวเสน ความว่า เป็นผู้ผูกพันในอารมณ์ต่างๆ ตั้งอยู่ด้วยมานะและอติมานะมีอย่างต่างๆ.
               บทว่า ปรามฏฺโฐ ทิฏฺฐิวเสน ความว่า เป็นผู้ยึดถือ คือลูบคลำถือเอาด้วยทิฏฐิ ๖๒.
               บทว่า วิกฺเขปคโต อุทฺธจฺจวเสน ความว่า เป็นผู้ถึง คือเข้าถึงความฟุ้งซ่านแห่งจิต ด้วยไม่ตั้งมั่นในอารมณ์.
               บทว่า อนิฏฺฐงฺคโต วิจิกิจฺฉาวเสน ความว่า เป็นผู้ไม่ถึงความตกลงด้วยวิจิกิจฉากล่าวคือ ความสงสัยในพระรัตนตรัยเป็นต้น.
               บทว่า ถามคโต อนุสยวเสน ความว่า เป็นผู้ถึงคือเข้าถึงภาวะมั่นคง ย่อมตั้งอยู่ด้วยกิเลสที่นอนเนื่องซึ่งละไม่ได้เพราะนำออกได้ยาก.
               บทว่า รูปูปายํ ความว่า เข้าถึงรูปทำให้เป็นอารมณ์ ด้วยสามารถเข้าถึงตัณหาและทิฏฐิ.
               บทว่า วิญฺญาณํ ติฏฺฐมานํ ความว่า วิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในอารมณ์นั้น.
               บทว่า รูปารมฺมณํ รูปปฺปติฏฺฐํ ความว่า หน่วงเหนี่ยวรูปนั่นแหละเป็นอารมณ์ กระทำรูปนั่นแหละเป็นที่ตั้ง.
               บทว่า นนฺทูปเสวนํ ได้แก่ วิญญาณที่รดด้วยน้ำคือตัณหาของผู้ที่มีปีติ.
               บทว่า วุฑฺฒึ ได้แก่ ความเจริญ.
               บทว่า วิรูฬฺหึ ได้แก่ ความงอกงามด้วยอำนาจแห่งชวนะดวงต่อไป.
               บทว่า เวปุลฺลํ ได้แก่ ความไพบูลย์ด้วยอำนาจตทารัมมณะ.
               บทว่า อตฺถิ ราโค เป็นต้น เป็นชื่อของความโลภนั่นเอง ด้วยว่า ความโลภนั้น ท่านเรียกว่าราคะ ด้วยสามารถแห่งความยินดี. เรียกว่านันทิ ด้วยสามารถแห่งความเพลิดเพลิน. เรียกว่าตัณหา ด้วยสามารถแห่งความเป็นไปด้วยความอยาก.
               บทว่า ปติฏฺฐิตํ ตตฺถ วิญฺญาณํ วิรูฬฺหํ ความว่า ตั้งอยู่และงอกงาม ด้วยความเป็นธรรมชาติสามารถยังกรรมให้แล่นไปแล้วคร่าไปด้วยปฏิสนธิ.
               บทว่า ยตฺถ เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถว่าวัฏฏะเป็นไปในภูมิ ๓.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยตฺถ นี้ ในบทแรกๆ ทุกบท เป็นสัตตมีวิภัตติ.
               บทว่า อตฺถิ ตตฺถ สงฺขารานํ วุฑฺฒิ นี้ ท่านกล่าวหมายเอาสังสารทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งวัฏฏะต่อไปแห่งนามรูปที่ตั้งอยู่ในวิปากวัฏนี้.
               บทว่า ยตฺถิ อตฺถ อายตึ ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ ความว่า ความเกิดในภพใหม่ต่อไปมีอยู่ในที่ใด.
               บรรดาสูตรเหล่านั้น สูตรแรกกล่าวด้วยสามารถการได้อารมณ์มีรูปเป็นต้น. สูตรที่ ๒ กล่าวด้วยสามารถความเพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นแล. สูตรที่ ๓ กล่าวด้วยสามารถเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ. สูตรที่ ๔ กล่าวด้วยสามารถอาหาร ๔ อย่าง และด้วยสามารถเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณที่เป็นกุศลและอกุศล พึงทราบดังนี้.
               บทว่า เยภุยฺเยน ได้แก่ มากมาย.
               บทว่า มุยฺหนฺติ ได้แก่ ย่อมถึงความหลง.
               บทว่า สมฺมุยฺหนฺติ ได้แก่ ย่อมหลงโดยวิเศษ.
               บทว่า สมฺปมุยฺหนฺติ ได้แก่ ย่อมหลงโดยอาการทั้งปวง.
               อีกอย่างหนึ่ง ย่อมหลงเพราะอาศัยรูปารมณ์ ย่อมหลงพร้อมเพราะอาศัยสัททารมณ์ ย่อมหลงเสมอเพราะอาศัยมุตารมณ์ คืออารมณ์ที่ทราบแล้ว.
               บทว่า อวิชฺชาย อนฺธิกตา ความว่า อันอวิชชาคือความไม่รู้ในฐานะ ๘ ทำให้ตาบอด.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า คตา ความว่า เข้าถึงความบอด.
               บทว่า ปคาฬฺโห ได้แก่เข้าไปแล้ว.
               บทว่า โอคาฬฺโห ได้แก่ เข้าไปแล้วสู่ส่วนเบื้องต่ำ.
               บทว่า อชฺโฌคาฬฺโห ได้แก่ เข้าไปสำเหนียกคือครอบงำเป็นพิเศษ.
               บทว่า นิมุคฺโค ได้แก่ ก้มหน้าเข้าไป.
               อีกอย่างหนึ่ง ก้าวลงด้วยความเกี่ยวข้องด้วยการเห็น หมกมุ่น ด้วยความเกี่ยวข้องด้วยการฟังจมลง ด้วยความเกี่ยวข้องด้วยการกล่าวเว้นความเกี่ยวข้องกับสัตบุรุษ ชื่อว่าก้าวลง เว้นการฟังพระสัทธรรม ชื่อว่าหมกมุ่น หรือเว้นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ชื่อว่าจมลง.
               บทว่า วิเวกา ได้แก่ เงียบ คือว่าง.
               บทว่า ตโย ได้แก่ การกำหนดจำนวน.
               บทว่า กายวิเวโก ได้แก่ ความสงัด คือเว้น คือไม่ขวนขวายทางกาย.
               แม้ใน จิตฺตวิเวก เป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า อิธ ภิกฺขุ ความว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเห็นภัยในสังสารวัฏ ในศาสนานี้.
               บทว่า วิวิตฺตํ ได้แก่ ว่าง คือปราศจากเสียง. ความว่า มีเสียงกึกก้องน้อย.
               ในคัมภีร์วิภังค์ ท่านก็หมายเอาความสงัดนี้นี่แหละ กล่าวว่า บทว่า วิวิตฺตํ ความว่า แม้ถ้าในที่อยู่มีเสนาสนะและเสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนไปด้วยคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย เสนาสนะนั้น ชื่อว่าสงัด.
               ชื่อว่า เสนาสนะ เพราะอรรถว่า เป็นที่นอนและที่นั่ง คำว่า เสนาสนะ นี้เป็นชื่อของเตียงและตั่งเป็นต้น.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า เสนาสนํ ความว่า แม้เตียง ก็ชื่อว่าเสนาสนะ, ฟูกหมอนก็ดี วิหารก็ดี เพิงก็ดี ปราสาทก็ดี ทิมคดก็ดี ถ้ำก็ดี ป้อมก็ดี เรือนยอดเดียวก็ดี ที่เร้นก็ดี กอไผ่ก็ดี โคนไม้ก็ดี มณฑปก็ดี ชื่อว่าเสนาสนะ. ก็หรือว่าภิกษุทั้งหลายกลับเข้าไปในที่ใด ที่นั้นทั้งหมด ชื่อว่าเสนาสนะ.
               อีกอย่างหนึ่ง สถานที่นี้คือ วิหาร เพิง ปราสาท ทิมคด ถ้ำ ชื่อว่าเสนาสนะคือวิหาร ของใช้นี้คือ เตียง ตั่ง ฟูก หมอน ชื่อว่าเสนาสนะคือเตียงตั่ง ของใช้นี้ คือปลอกหมอน ชิ้นหนังใช้ปู เครื่องปูลาดหญ้า เครื่องปูลาดใบไม้ ชื่อว่าเสนาสนะคือสันถัต. ก็หรือว่า ภิกษุทั้งหลายกลับเข้าไปในที่ใด ที่นี้ชื่อว่าเสนาสนะคือโอกาส.
               เสนาสนะมี ๔ อย่าง ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.
               เสนาสนะแม้ทั้งหมดนั้น ท่านถือเอาด้วยศัพท์ว่าเสนาสนะทั้งนั้น. ก็พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงเสนาสนะที่สมควรแก่ภิกษุผู้มาแต่ทิศทั้ง ๔ ผู้เช่นกับนกนี้ จึงกล่าวคำว่า อรญฺญํ รุกฺขมูลํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อรญฺญํ ความว่า ป่าที่มาด้วยสามารถแห่งภิกษุณีทั้งหลายนี้ว่า ที่นอกเสาเขื่อนออกไปทั้งหมดนั้น ชื่อว่าป่า, เสนาสนะด้านหลังชั่ว ๕๐๐ คันธนู ชื่อว่าเสนาสนะป่า, ก็เสนาสนะป่า ก็เสนาสนะนี้ ย่อมสมควรแก่ภิกษุนี้ ด้วยประการฉะนี้. ลักษณะแห่งเสนาสนะป่านั้น ได้กล่าวไว้แล้วในธุดงคนิเทศ ในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า รุกฺขมูลํ ความว่า ที่สงัดมีร่มเงาหนาทึบแห่งใดแห่งหนึ่ง ชื่อว่าโคนไม้.
               บทว่า ปพฺพตํ ได้แก่ เขาศิลา, ก็ที่เขาศิลานั้น ภิกษุนั่งอยู่ที่ร่มเงาของรุกขชาติที่เย็นเพราะน้ำในตระพังหิน ซึ่งเต็มด้วยน้ำให้ความเย็น มีลมเย็นซึ่งพัดมาแต่ทิศต่างๆ รำเพยพัดอยู่ จิตย่อมแน่วแน่. น้ำท่านเรียกว่า ก ในบทว่า กนฺทรํ ประเทศภูเขาที่น้ำนั้นเซาะแล้ว คืออันน้ำทำลายแล้ว ท่านเรียกซอกเขานั้นว่าเทือกเขาบ้าง ว่าหุบเขาบ้าง ก็ที่ซอกเขานั้น มีทรายเช่นกับแผ่นเงิน ข้างบนมีไพรสณฑ์เสมือนเพดานแก้วมณี มีน้ำหลั่งไหลคล้ายท่อนแก้วมณี เมื่อภิกษุขึ้นสู่ซอกเขาเห็นปานนี้ ดื่มน้ำ ชำระร่างกาย พูนทรายลาดบังสุกุลจีวรนั่งกระทำสมณธรรมอยู่ จิตย่อมแน่วแน่.
               บทว่า คิริคุหํ ได้แก่ ระหว่างภูเขาสองลูก หรือช่องใหญ่คล้ายอุโมงค์ในที่แห่งหนึ่งนั่นแล. ลักษณะของป่าช้า ได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า วนปตฺถํ ได้แก่ ที่ซึ่งเลยแดนบ้านออกไป ไม่เป็นที่เข้าไปเที่ยวของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่ไถไม่ได้หว่านไม่ได้. เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า คำว่า วนปตฺถํ นี้เป็นชื่อของเสนาสนะทั้งหลายที่ไกล.
               บทว่า อพฺโภกาสํ ได้แก่ ไม่มีอะไรมุงบัง เมื่อภิกษุต้องการก็ปักกลดอยู่ในที่นี้ได้.
               บทว่า ปลาลปุญชํ ได้แก่ กองฟาง. ก็ภิกษุดึงเอาฟางออกจากลอมฟางใหญ่ทำที่อยู่คล้ายที่เร้นที่เงื้อมเขา แม้เอาฟางใส่ข้างบนกอไม้พุ่มไม้เป็นต้น นั่งกระทำสมณธรรมอยู่ภายใต้. คำเป็นต้นว่า และเป็นผู้สงัดด้วยกายอยู่ดังนี้ ท่านกล่าวหมายเอาเสนาสนะนั้นทั้งหมด. มีอธิบายว่า ภิกษุรูปหนึ่งอธิษฐานจงกรมให้เป็นไป.
               บทว่า อิริยติ ได้แก่ ให้อิริยาบถเป็นไป.
               บทว่า วตฺตติ ได้แก่ ยังความเป็นไปแห่งอิริยาบถให้เกิดขึ้น.
               บทว่า ปาเลติ ได้แก่ รักษาอิริยาบถ.
               บทว่า ยเปติ ได้แก่ เป็นไป.
               บทว่า ยาเปติ ได้แก่ ให้เป็นไป.
               บทว่า ปฐมชฺฌานํ สมาปนฺนสฺส ได้แก่ ผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยฌานกุศล.
               บทว่า นีวรเณหิ จิตฺตํ วิวิตฺตํ ความว่า ท่านกล่าวว่า ภิกษุผู้บรรลุปฐมฌานมีจิตสงัดจากนิวรณ์ ดังนี้ เพื่อแสดงว่า จิตแม้สงัดจากนิวรณ์ด้วยอุปจาระ ก็ชื่อว่าสงัดด้วยดีภายในอัปปนา.
               บทว่า ภิกษุผู้บรรลุทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มีจิตสงัดจากวิตก วิจาร ปีติ สุขและทุกข์ มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า รูปสญฺญาย ได้แก่ สัญญาในรูปฌาน ๑๕ ด้วยสามารถกุศลวิบากและกิริยา.
               บทว่า ปฏิฆสญฺญาย ได้แก่ ปฏิฆสัญญา กล่าวคือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ด้วยสามารถกุศลวิบากและอกุศลวิบาก ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุกับรูปเป็นต้นกระทบกัน.
               บทว่า นานตฺตสญฺญาย ความว่า จิตย่อมสงัด คือว่างจากกามาวจรสัญญา ๔๔ ที่เป็นไปในอารมณ์ต่างๆ.
               ในบทว่า อากาสานญฺจายตนํ สมาปนฺนสฺส นี้ชื่อว่าอนันตะ หาที่สุดมิได้ เพราะอรรถว่าอากาศนั้นไม่มีที่สุด อากาศหาที่สุดมิได้ ชื่อว่าอากาสานันตะ. อากาสานันตะนั่นแหละ เป็นอากาสานัญจะ, อากาสานัญจะนั้นด้วย เป็นอายตนะแห่งฌานพร้อมด้วยสัมปยุตธรรมนั้นด้วย ด้วยอรรถว่าตั้งมั่น ดุจที่อยู่แห่งเทวดาทั้งหลาย ชื่อว่าเทวายตนะ เหตุนั้นจึงชื่อว่า อากาสานัญจายตนะ. คำนี้เป็นชื่อของฌานที่มีกสิณุคฆาฏิมากาส เป็นอารมณ์ ภิกษุผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌานนั้น คือผู้บรรลุอรูปฌานกุศลและอรูปฌานกิริยา.
               บทว่า รูปสญฺญาย ได้แก่ จากรูปาวจรฌานและจากอารมณ์แห่งรูปาวจรฌานนั้น ด้วยหัวข้อคือสัญญา. ด้วยว่า แม้รูปาวจรฌาน ท่านก็เรียกว่า รูป ดุจในประโยคว่า ผู้ได้รูปาวจรแห่งฌานย่อมเห็นรูปเป็นต้น, แม้อารมณ์แห่งรูปาวจรฌานนั้น ท่านก็เรียกว่า รูป ดุจในประโยคว่า เห็นอารมณ์ภายนอก ซึ่งมีวรรณะดีและมีวรรณะทรามเป็นต้น. เพราะฉะนั้น คำนี้จึงเป็นชื่อของรูปาวจรฌาน ด้วยหัวข้อคือสัญญาอย่างนี้ว่า สัญญาในรูป ชื่อว่ารูปสัญญาในที่นี้, ชื่อว่ารูปสัญญา เพราะอรรถว่าฌานนั้นมีสัญญาในรูป. อธิบายว่า รูปเป็นชื่อของฌานนั้น.
               อนึ่ง คำนี้พึงทราบว่าเป็นชื่อของอารมณ์แห่งฌานนั้นซึ่งต่างด้วยปฐวีกสิณเป็นต้น, จากสัญญากล่าวคือฌาน ๑๕ อย่างด้วยสามารถกุศลวิบากกิริยานี้ และจากรูปสัญญากล่าวคืออารมณ์ ๘ อย่างด้วยสามารถปฐวีกสิณเป็นต้นนี้.
               บทว่า ปฏิฆสญฺญาย ได้แก่ สัญญาที่เกิดขึ้นด้วยการกระทบกันของวัตถุมีจักขุวัตถุเป็นต้น และอารมณ์มีรูปเป็นต้น ชื่อปฏิฆสัญญา. คำนี้เป็นชื่อของรูปสัญญาเป็นต้น. เหมือนอย่างที่ตรัสว่า บรรดาสัญญาเหล่านั้น ปฏิฆสัญญา เป็นไฉน? คือรูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา สัญญาเหล่านี้เรียกว่า ปฏิฆสัญญา. สัญญาเหล่านั้นเป็นกุศลวิบาก ๕ เป็นอกุศลวิบาก ๕ แล. จากปฏิฆสัญญานั้น.
               บทว่า นานตฺตสญฺญาย ได้แก่ จากสัญญาที่เป็นไปในอารมณ์ต่างๆ หรือจากสัญญาที่มีอารมณ์ต่างๆ. เหมือนอย่างที่ตรัสว่า บรรดาสัญญาเหล่านั้น นานัตตสัญญาเป็นไฉน? ความรู้พร้อม กิริยาที่รู้พร้อม ภาวะแห่งผู้ที่มีความรู้พร้อม กิริยาที่รู้พร้อม ภาวะแห่งผู้ที่มีความรู้พร้อมของภิกษุผู้ยังมิได้บรรลุ ผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยมโนธาตุ หรือผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยมโนวิญญาณธาตุ เหล่านี้เรียกว่า นานัตตสัญญา. ท่านกล่าวจำแนกไว้ในคัมภีร์วิภังค์ด้วยประการฉะนี้. สัญญาเหล่านั้นท่านประสงค์เอาไว้ในที่นี้. สัญญาที่สงเคราะห์ด้วยมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุของภิกษุผู้ยังมิได้บรรลุ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ที่มีความต่างกัน คือมีสภาวะต่างกัน ต่างโดยรูปและเสียงเป็นต้น.
               ก็เพราะกามาวจรกุศลสัญญา ๘ อกุศลสัญญา ๑๒ กามาวจรกุศลวิปากสัญญา ๑๑ อกุศลวิปากสัญญา ๒ กามาวจรกิริยาสัญญา ๑๑ เหล่านี้ รวมเป็นสัญญา ๔๔ ดังพรรณนามาฉะนี้ มีความต่างกัน มีสภาวะต่างกัน ไม่เหมือนกัน ฉะนี้ท่านจึงเรียกว่า นานัตตสัญญา. จากนานัตตสัญญานั้น.
               บทว่า จิตฺตํ วิวิตฺตํ โหติ ความว่า ภิกษุผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน จิตในฌานย่อมสงัด คือเว้น คือปราศจากความขวนขวายจากสัญญาทั้งหลาย กล่าวคือรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา และนานัตตสัญญา.
               บทว่า วิญฺญาณญฺจายตนํ ความว่า ฌานชื่อว่า วิญญาณัญจายตนะ เพราะอรรถว่ามีวิญญาณนั่นแหละเป็นอารมณ์ ด้วยอรรถว่า เป็นอารมณ์ที่ตั้งมั่น. คำนี้เป็นชื่อของฌานที่มีวิญญาณซึ่งเป็นไปในอากาศเป็นอารมณ์.
               ภิกษุผู้บรรลุฌานนั้น มีจิตสงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญาซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว.
               ก็ในบทว่า อากิญฺจญฺญายตนํ นี้ ฌานชื่อว่าอกิญจนะ เพราะอรรถว่าไม่มีความกังวล. มีอธิบายว่า ฌานนั้นไม่มีอะไรๆ ที่เหลือ โดยที่สุดแม้เพียงภังคขณะ. ภาวะแห่งฌานที่ไม่มีความกังวล ชื่ออากิญจัญญะ คำนี้เป็นชื่อของอากาสานัญจายตนฌานที่ปราศจากวิญญาณ. ฌานชื่อว่าอากิญจัญญายตนะ เพราะอรรถว่ามีอากิญจัญญะนั้นเป็นอารมณ์ ด้วยอรรถว่าเป็นอารมณ์ที่ตั้งมั่น. คำนี้เป็นชื่อของฌานซึ่งมีความปราศจากวิญญาณที่เป็นไปในอากาศเป็นอารมณ์. ภิกษุบรรลุอากิญจัญญายตนฌานนั้น มีจิตสงัดจากวิญญาณัญจายตนสัญญานั้น.
               ก็ในบทว่า เนวสญฺญานาสญฺญายตนํ นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ฌานนั้น ท่านเรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะไม่มีสัญญาใด สัญญานั้นย่อมมีแก่ภิกษุผู้ปฏิบัติแล้วอย่างไร เพื่อจะแสดงสัญญานั้นก่อน ท่านตั้งหัวข้อไว้ว่า เนวสญฺญี มีสัญญาก็ไม่ใช่ นาสญฺญี ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ กล่าวในคัมภีร์วิภังค์ว่า ภิกษุมนสิการถึงอากิญจัญญายตนะนั้นแลโดยความเป็นของมีอยู่ เจริญสมาบัติที่เหลือลงจากสังขาร เหตุนั้นท่านจึงเรียกว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตโต มนสิกโรติ ความว่า ภิกษุมนสิการแม้ความไม่มีว่าสมาบัตินี้มีอยู่หรือไม่หนอเป็นอารมณ์อยู่ ย่อมชื่อว่ามนสิการสมาบัตินั้นว่ามีอยู่ เพราะมีสิ่งที่มีอยู่เป็นอารมณ์ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้. ภิกษุนั่งบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ฌานจิตย่อมว่างจากอากิญจัญญายตนสัญญานั้น.
               บทว่า โสตาปนฺนสฺส ได้แก่ บรรลุโสดาปัตติผล.
               บทว่า สกฺกายทิฏฺฐิยา ได้แก่ จากสักกายทิฏฐิซึ่งมีวัตถุ ๒๐.
               บทว่า วิจิกิจฺฉาย ได้แก่ จากความสงสัยในฐานะ ๘.
               บทว่า สีลพฺพตปรามาสา ได้แก่ ทิฏฐิที่เกิดขึ้นลูบคลำว่าบริสุทธิ์โดยศีล บริสุทธิ์โดยพรต.
               บทว่า ทิฏฺฐานุสยา ได้แก่ ทิฏฐานุสัยซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดาน เพราะอรรถว่ายังละไม่ได้. วิจิกิจฉานุสัยก็เหมือนกัน.
               บทว่า ตเทกฏฺเฐหิ จ ได้แก่ และที่ตั้งอยู่โดยความเป็นอันเดียวกันกับด้วยสักกายทิฏฐิเป็นต้นเหล่านั้น. ชื่อว่ากิเลส เพราะอรรถว่าให้เดือดร้อน และให้ลำบาก, จิตสงัด คือว่างจากกิเลสมีสักกายทิฏฐิเป็นต้นเหล่านั้น.
               บทว่า ตเทกฏฺฐํ ในที่นี้ ความว่า เอกัฏฐะตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกัน มี ๒ คือตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันโดยการละและตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกัน โดยเกิดร่วมกัน.
               ก็กิเลสทั้งหลายที่ให้ถึงอบายชื่อว่า ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกัน โดยการละ เพราะอรรถว่าตั้งอยู่ในบุคคลเดียวกันกับด้วยทิฏฐิและวิจิกิจฉาตราบที่ยังละไม่ได้ด้วยโสดาปัตติมรรค.
               ก็บรรดากิเลส ๑๐ อย่าง ทิฏฐิและวิจิกิจฉาเท่านั้นมาในที่นี้ ส่วนกิเลสที่ให้ถึงอบายที่เหลือ ๘ อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ เป็นกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับทิฏฐิและวิจิกิจฉาย่อมละได้พร้อมกับอนุสัยทั้ง ๒ ด้วยโสดาปัตติมรรค.
               อีกอย่างหนึ่ง บรรดากิเลสพันห้าที่มีราคะโทสะโมหะเป็นหัวหน้า เมื่อละทิฏฐิได้ด้วยโสดาปัตติมรรค ก็เป็นอันละวิจิกิจฉาได้พร้อมกับทิฏฐิ กิเลสทั้งปวงที่ให้ถึงอบาย ย่อมละได้พร้อมทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย ด้วยสามารถตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันโดยการละ.
               ส่วนที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกัน โดยเกิดร่วมกัน ได้แก่กิเลสที่เหลือลงที่ตั้งอยู่ในจิตแต่ละดวงพร้อมด้วยทิฏฐิ และพร้อมด้วยวิจิกิจฉา ก็เมื่อจิตที่เป็นทิฏฐิสัมปยุตและเป็นอสังขาริก ทั้ง ๒ ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค กิเลสเหล่านี้คือ โลภะ โทสะ โมหะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะที่เกิดร่วมกับจิตเหล่านั้นย่อมละได้ด้วยสามารถตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันโดยเกิดร่วมกัน.
               เมื่อละจิตที่เป็นทิฏฐิสัมปยุตและเป็นสสังขาริกทั้ง ๒ กิเลสเหล่านี้คือ โลภะ โมหะ ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ที่เกิดร่วมกับจิตเหล่านั้น ย่อมละได้ด้วยสามารถตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันโดยเกิดร่วมกัน. เมื่อละจิตที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉาได้ กิเลสเหล่านี้คือโมหะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ที่เกิดร่วมกับจิตนั้น ย่อมละได้ด้วยสามารถตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันโดยเกิดร่วมกัน. จิตย่อมสงัด
               จากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกัน ๒ อย่างเหล่านั้น. อธิบายว่า มรรคจิตย่อมสงัด ผลจิตย่อมสงัด คือไม่ประกอบ ไม่ขวนขวาย คือว่าง ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สกทาคามิสฺส โอฬาริกา กามราคสญฺโญชนา ความว่า สังโยชน์ กล่าวคือความกำหนัดในเมถุน เป็นกิเลสหยาบ คือเป็นกิเลสหยาบเพราะเป็นปัจจัยแห่งการก้าวล่วงในกายทวารก็กามราคะนั้น ท่านเรียกว่า สังโยชน์ เพราะอรรถว่าประกอบเหล่าสัตว์ไว้ในกามภพ.
               บทว่า ปฏิฆสญฺโญชนา ได้แก่ สังโยชน์คือพยาบาท.
               ก็พยาบาทนั้น ท่านเรียกว่า ปฏิฆะ เพราะอรรถว่ากระทบอารมณ์. กิเลสเหล่านั้นแลชื่อว่าอนุสัย เพราะอรรถว่านอนเนื่องอยู่ในสันดาน ด้วยอรรถว่ามีกำลัง.
               บทว่า อณุสหคตา ได้แก่ ละเอียดคือสุขุม. กามราคสังโยชน์อย่างละเอียด.
               บทว่า กามราคานุสยา ปฏิฆานุสยา ได้แก่ กามราคานุสัยและปฏิฆานุสัย อย่างละเอียด ด้วยสามารถนอนเนื่องอยู่ในสันดาน โดยอรรถว่ายังละไม่ได้.
               บทว่า ตเทกฏฺเฐหิ จ ความว่า จิตย่อมสงัด คือว่างจากกิเลสทั้งหลาย ที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกัน ๒ อย่าง ซึ่งมีเนื้อความดังกล่าวแล้ว
               บทว่า อรหโต ได้แก่ ผู้ได้นามว่า พระอรหันต์ เพราะกำจัดข้าศึกคือกิเลสทั้งหลายได้.
               บทว่า รูปราคา ได้แก่ ฉันทราคะในรูปภพ.
               บทว่า อรูปราคา ได้แก่ ฉันทราคะในอรูปภพ.
               บทว่า มานา ได้แก่ มานะ ที่ฆ่าได้ด้วยอรหัตมรรคนั่นแล,
               อุทธัจจะ อวิชชาและมานานุสัยเป็นต้น ก็ฆ่าได้ด้วยอรหัตมรรคเหมือนกัน.
               บรรดากิเลสเหล่านั้นมานะมีลักษณะพอง อุทธัจจะมีลักษณะไม่สงบ อวิชชามีลักษณะมืด ภวราคานุสัยเป็นไปด้วยสามารถรูปราคะและอรูปราคะ.
               บทว่า ตเทกฏฺเฐหิ จ ได้แก่ และจากกิเลสทั้งหลายที่ตั้งอยู่ร่วมกันเหล่านั้น.
               บทว่า พหิทฺธา จ สพฺพนิมิตฺเตหิ ความว่า มรรคจิตย่อมสงัดคือเว้น ไม่ขวนขวาย ผลจิตไม่ประกอบ คือไม่ขวนขวายจากสังขารนิมิตทั้งปวง ที่ถึงการนับว่า ภายนอก คือพ้นภายในเป็นไปภายนอก เพราะอาศัยอกุศลขันธ์ภายในจิตสันดาน.
               ในอนุสัยเหล่านั้น พึงทราบความไม่มีแห่งอนุสัยโดยลำดับ ๒ อย่าง คือลำดับกิเลสและลำดับมรรค ก็โดยลำดับกิเลส กามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยด้วยมรรคที่ ๓, มานานุสัยไม่มีด้วยมรรคที่ ๔, ทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัยไม่มีด้วยมรรคที่ ๑, ภวราคานุสัยและอวิชชานุสัยไม่มีด้วยมรรคที่ ๔ นั่นแล.
               ส่วนโดยลำดับมรรคทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัยไม่มีด้วยมรรคที่ ๑, กามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยเบาบางด้วยมรรคที่ ๒, ไม่มีโดยประการทั้งปวงด้วยมรรคที่ ๓, มานานุสัย ภวราคานุสัย และอวิชชานุสัยไม่มีด้วยมรรคที่ ๔.
               บทว่า จิตฺตวิเวโก ความว่า ความที่มหัคคตจิตแลโลกุตตรจิตว่าง คือเปล่าจากกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า อุปธิวิเวโก ได้แก่ ความว่างเปล่าแห่งอุปธิกล่าวคือกิเลส ขันธ์และอภิสังขาร.
               เพื่อจะแสดงอุปธิก่อน พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อุปธิ วุจฺจนฺติ กิเลสา จ ดังนี้.
               กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น เกิดขึ้นแก่ผู้ใดย่อมทำผู้นั้นให้เดือดร้อนให้ลำบากด้วย เบญจขันธ์มีรูปเป็นต้น เป็นอารมณ์ของอุปาทานด้วยปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขารและอเนญชาภิสังขารด้วย ชื่ออุปธิ.
               บทว่า อมตํ ความว่า นิพพานชื่อว่า อมตะ เพราะอรรถว่าไม่มีมตะกล่าวคือความตาย.
               ชื่อว่าอมตะ เพราะอรรถว่าเป็นยา เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อพิษคือกิเลส ก็มี.
               ตัณหา ท่านเรียกว่าวานะ เพราะอรรถว่าเย็บ คือร้อยรัดเหล่าสัตว์ไว้ในสงสาร กำเนิด คติ อุปบัติ วิญญาณฐีติและสัตตาวาสทั้งหลาย.
               ชื่อว่านิพพาน เพราะอรรถว่าไม่มีกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดในนิพพานนั้น.
               บทว่า วูปกฏฺฐกายานํ ได้แก่ ผู้มีสรีระปราศจากการคลุกคลีในหมู่.
               บทว่า เนกฺขมฺมาภิรตานํ ได้แก่ ผู้ยินดียิ่งในเนกขัมมะคือปฐมฌานเป็นต้นที่ออกจากกามเป็นต้น คือ ผู้น้อมไปในเนกขัมมะนั้น.
               บทว่า ปรมโวทานปฺปตฺตานํ ได้แก่ ผู้บรรลุผลคือความเป็นผู้บริสุทธิ์สูงสุดตั้งอยู่.
               อาจารย์บางพวกพรรณนาอย่างนี้ว่า ผู้มีจิตบริสุทธิ์ เพราะไม่มีอุปกิเลส ผู้ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง เพราะความเป็นผู้พ้นจากกิเลสทั้งหลาย ผู้มีจิตบริสุทธิ์ด้วยวิกขัมภนปหานละด้วยการข่มไว้ ผู้ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง ด้วยสมุจเฉทปหานละด้วยตัดขาด.
               บทว่า นิรูปธีนํ ได้แก่ ผู้มีอุปธิไปปราศแล้ว.
               บทว่า วิสงฺขารคตานํ ได้แก่ ผู้เข้าถึงนิพพานซึ่งปราศจากสังขาร เพราะตัดอารมณ์คือสังขาร ด้วยสามารถเป็นอารมณ์. แม้ในบทว่า วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ นี้ ท่านก็กล่าวว่า วิสังขารคือนิพพาน.
               บทว่า วิทูเร ได้แก่ ไกลโดยประการต่างๆ.
               บทว่า สุวิทูเร ได้แก่ ไกลด้วยดี.
               บทว่า น สนฺติเก ได้แก่ ไม่ใกล้.
               บทว่า น สามนฺตา ได้แก่ ไม่ใช่ข้างเคียง.
               บทว่า อนาสนฺเน ได้แก่ ไม่ใกล้เกินไป.
               บทว่า วูปกฏฺเฐ ได้แก่ ไม่ใกล้. ความว่า ไปปราศ.
               บทว่า ตาทิโส ได้แก่ ผู้เช่นนั้น.
               บทว่า ตสฺสณฺฐิโต ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ด้วยอาการนั้น.
               บทว่า ตปฺปกาโร ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ด้วยประการนั้น.
               บทว่า ตปฺปฏิภาโค ได้แก่ ผู้มีส่วนดังนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาอย่างนี้ว่า ชื่อว่าผู้เช่นนั้น เพราะข้องอยู่ในถ้ำคืออัตภาพ, ชื่อว่าผู้ดำรงอยู่ดังนั้น เพราะกิเลสทั้งหลายปกปิดไว้, ชื่อว่าแบบนั้น เพราะหยั่งลงในที่หลง, ชื่อว่าเหมือนเช่นนั้น เพราะไกลจากวิเวก ๓,
               บทว่า ทุปฺปหาย ได้แก่ ไม่เป็นของอันนรขนพึงละได้โดยง่าย.
               บทว่า ทุจฺจชา ได้แก่ ไม่อาจเพื่อจะละได้โดยง่าย.
               บทว่า ทุปฺปริจฺจชา ได้แก่ ไม่อาจเพื่อจะละได้โดยอาการทั้งปวง
               บทว่า ทุนฺนิมฺมทยา ได้แก่ ไม่อาจเพื่อจะกระทำให้ไม่มัวเมา คือให้มีความมัวเมาออกแล้ว.
               บทว่า ทุพฺพินิเวธยา ได้แก่ ไม่อาจเพื่อจะกระทำการแทงตลอด คือความพ้นได้.
               บทว่า ทุตฺตรา ได้แก่ ไม่อาจเพื่อจะข้ามขึ้นก้าวล่วงไปได้.
               บทว่า ทุปฺปตรา ได้แก่ ไม่อาจเพื่อจะข้ามโดยพิเศษได้.
               บทว่า ทุสฺสมติกฺกมา ได้แก่ พึงก้าวล่วงได้โดยยาก.
               บทว่า ทุพฺพีติวตฺตา ได้แก่ ยากที่จะให้เป็นไป.
               อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์บางพวกพรรณนาอย่างนี้ว่า สลัดได้โดยยากด้วยสามารถแห่งปกติ ย่ำยีได้โดยยาก ดุจอสรพิษที่มีพิษร้าย แหวกออกได้โดยยาก ดุจนาคบาศ ข้ามได้โดยยาก พ้นได้โดยยาก ดุจทางกันดาร ทะเลทรายในฤดูร้อนก้าวล่วงได้โดยยาก ดุจดงที่เสือโคร่งหวงแหนข้ามพ้นได้โดยยาก ดุจคลื่นในมหาสมุทร.
               พระสารีบุตรเถระให้สำเร็จความว่า นรชนเช่นนั้นย่อมอยู่ไกลจากวิเวก ด้วยคาถาที่ ๑ อย่างนี้แล้วเมื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมดาของเหล่าสัตว์อย่างนั้นอีก จึงกล่าวคาถาว่า อิจฺฉานิทานา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิจฺฉานิทานา ได้แก่ มีตัณหาเป็นเหตุ.
               บทว่า ภวสาตพนฺธา ได้แก่ ผู้ติดพันด้วยความแช่มชื่นในภพ มีสุขเวทนาเป็นต้น.
               บทว่า เต ทุปฺปมุญฺจา ได้แก่ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความแช่มชื่น ในภพเหล่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง สัตว์เหล่านั้นคือผู้ติดพันในความแช่มชื่นในภพนั้น เป็นผู้หลุดพ้นได้โดยยาก เพราะเหตุแห่งความปรารถนา.
               บทว่า น หิ อญฺญโมกฺขา ความว่า ไม่อาจที่จะยังบุคคลอื่นให้หลุดพ้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทนั้นเป็นตติยาวิภัตติ สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้หลุดพ้นได้โดยยาก.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเป็นผู้อันบุคคลอื่นให้หลุดพ้นไม่ได้ ถ้าสัตว์ทั้งหลายจะพึงหลุดพ้น ก็พึงหลุดพ้นได้ด้วยกำลังของตน
               เนื้อความของบทนั้นมีดังพรรณนามาฉะนี้.
               บทว่า ปจฺฉา ปุเร วาปิ อเปกฺขมานา ความว่า มุ่งหวังกามทั้งหลายในอนาคตบ้าง ในอดีตบ้าง.
               บทว่า อิเมว กาเม ปุริเมว ชปฺปํ ความว่า ปรารถนาอยู่ซึ่งกามเหล่านี้ คือที่เป็นปัจจุบัน หรือกามที่มีในก่อนทั้งสองอย่าง คือที่เป็นอดีตและอนาคต เพราะตัณหามีกำลัง.
               อนึ่ง พึงทราบก่อนว่าบททั้ง ๒ เหล่านี้ เชื่อมกับบทนี้ว่า เต ทุปฺปมุญฺจา น หิ อญฺญโมกฺขา นั่นแล.
               นอกนี้ สัตว์เหล่านั้นแม้มุ่งหวังอยู่ ก็ไม่ปรากฏว่า เมื่อปรารถนา กระทำอะไรอยู่ หรือได้กระทำอะไรแล้ว.
               บทว่า ภวสาตพนฺธา ความว่า ความแช่มชื่นในภพ ชื่อว่าภวสาตะ สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้ติดพันด้วยความแช่มชื่นในภพนั้น คือด้วยความชื่นชมความสุขตั้งอยู่. เพื่อแสดงจำแนกความแช่มชื่นนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า เอกํ ภวสาตํ สุขาเวทนา เป็นต้น.
               ความเป็นแห่งความหนุ่มสาว ชื่อว่าความเป็นหนุ่มสาว. ความไม่มีแห่งโรค ชื่อว่าความไม่มีโรค. ความเป็นไปแห่งชีวิตินทรีย์ ชื่อว่าชีวิต.
               บทว่า ลาโภ ได้แก่ การได้ปัจจัย ๔.
               บทว่า ยโส ได้แก่ บริวาร.
               บทว่า ปสํสา ได้แก่ ชื่อเสียง.
               บทว่า สุขํ ได้แก่ สุขทางกายและทางใจ.
               บทว่า มนาปิกา รูปา ได้แก่ รูปที่เจริญใจ.
               แม้ในบทที่เหลือทั้งหลายก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า จกฺขุสมฺปทา ได้แก่ ความถึงพร้อมแห่งจักษุ.
               บทว่า จกฺขุสมฺปทา ท่านกล่าวหมายถึงความชื่นชมความสุขที่เกิด ขึ้นว่าจักษุของเราสมบูรณ์ ปรากฏดุจสีหบัญชรที่ติดตั้งไว้ที่วิมานแก้วมณี.
               แม้ในบทว่า โสตสมฺปทา เป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า สุขาย เวทนาย (สตฺตา) พนฺธา ฯเปฯ พนฺธ เป็นบทเดิม.
               บทว่า วินิพนฺธา ได้แก่ ติดพันด้วยอาการมีอย่างต่างๆ.
               บทว่า อาพนฺธา ได้แก่ ติดพันแต่ต้นโดยวิเศษ.
               บทว่า ลคฺคา ได้แก่ แนบกับอารมณ์.
               บทว่า ลคฺคิตา ได้แก่ คล้องไว้ดุจกระบอกน้ำอ้อยแขวนไว้ที่ไม้นาคทันต์.
               บทใดไม่ได้กล่าวไว้ในที่นี้ บทนั้น พึงถือเอาโดยนัยที่กล่าวไว้ในบทว่า สตฺโต วิสตฺโต เป็นต้น.
               บทว่า น หิ อญฺญโมกฺขา ความว่า ไม่ยังบุคคลเหล่าอื่นให้หลุดพ้น.
               บทว่า เต วา ภวสาตวตฺถู ทุปฺปมุญฺจา ความว่า ธรรมที่เป็นวัตถุแห่งความชื่นชมความสุขในภพ ยากที่จะพ้นได้.
               บทว่า สตฺตา วา เอตฺโต ทุมฺโมจยา ความว่า หรือเหล่าสัตว์นั่นแล ยากที่จะหลุดพ้นจากวัตถุแห่งความแช่มชื่นในภพนี้.
               บทว่า ทุรุทฺธรา ความว่า ยากที่จะยกขึ้น.
               บทว่า ทุสฺสมุทฺธรา ความว่า ยากที่จะยกขึ้นไว้ข้างบน เหมือนตกเงื้อมผานรกที่มีเงื้อมผาขาดแล้ว.
               บทว่า ทุพฺพุฏฺฐาปนา ความว่า ยากที่จะให้ตั้งขึ้น.
               บทว่า ทุสฺสมุฏฺฐาปนา ความว่า ยากเหลือเกินที่จะยกขึ้นดุจการประดิษฐานอัตภาพที่ละเอียดบนแผ่นดิน.
               บทว่า เต อตฺตนา ปลิปปลิปนฺนา ความว่า จมลงในเปือกตมที่ลึกแค่ศีรษะ.
               บทว่า น สกฺโกนฺติ ปรํ ปลิปปลิปนฺนํ อุทฺธริตุํ ความว่า ไม่อาจที่จะจับมือหรือศีรษะยกผู้อื่นที่จมลงอย่างนั้นแล ขึ้นตั้งไว้บนบก.
               บทว่า โส ในบทว่า โส วต จุนฺท เป็นปุคคลนิทเทสโดยอาการที่จะพึงกล่าว.
               นิทเทสนั้นพึงทราบว่า นำคำอุทเทสว่า โย นี้มาเชื่อมในบทที่เหลือทั้งหลายอย่างนี้ว่า บุคคลใดจมอยู่ด้วยตน ดูก่อนจุนทะ บุคคลนั้นหนอจักฉุดผู้อื่นที่จมอยู่ขึ้นได้ ดังนี้.
               บทว่า ปลิปปลิปนฺโน ท่านกล่าวบุคคลที่จมลงในเปือกตมที่ลึก.
               ความว่า ดูก่อนจุนทะ เหมือนบุรุษบางคนจมลงในเปือกตมที่ลึกแค่ศีรษะ จักจับมือหรือศีรษะ ฉุดแม้คนอื่นที่จมลงอย่างนั้นเหมือนกันขึ้น.
               บทว่า เนตํ ฐานํ วิชฺชติ ความว่า ก็ข้อที่บุคคลนั้นพึงฉุดผู้นั้นขึ้นให้ตั้งอยู่บนบกนั้นมิใช่ฐานะที่จะมีได้.
               ก็ในบทว่า อทนฺโต อวินีโต อปรินิพฺพุโต นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้:-
               บุคคลนั้นชื่อว่าไม่ฝึกฝน เพราะยังมีการเสพผิด ชื่อว่าไม่อบรม เพราะไม่ศึกษาวินัย ชื่อว่าไม่ดับกิเลส เพราะยังดับกิเลสไม่ได้. บุคคลนั้นคือเช่นนั้นจักฝึกฝนผู้อื่น จักกระทำให้มีการเสพผิดออกแล้ว จักแนะนำ จักให้ศึกษาสิกขา ๓ จักให้ดับรอบ คือจักให้กิเลสทั้งหลายของผู้นั้นดับ.
               บทว่า นตฺถญฺโญ โกจิ ความว่า บุคคลอื่นใครๆ ที่ชื่อว่าสามารถจะให้พ้นได้ ย่อมไม่มี.
               บทว่า สเกน ถาเมน ได้แก่ ด้วยเรี่ยวแรงแห่งญาณของตน.
               บทว่า พเลน ได้แก่ ด้วยกำลังแห่งญาณ.
               บทว่า วิริเยน ได้แก่ ด้วยความเพียรทางใจอันสัมปยุตด้วยญาณ.
               บทว่า ปุริสปรกฺกเมน ได้แก่ ด้วยความเพียรใหญ่ ซึ่งไม่เหยียบย่ำฐานะอื่นๆ.
               บทว่า นาหํ สหิสฺสามิ มีอธิบายว่า เราจักไม่อาจ คือไม่อาจ คือจักไม่พยายาม
               บทว่า ปโมจนาย ได้แก่ เพื่อให้หลุดพ้น.
               บทว่า กถํกถึ ได้แก่ ผู้มีความสงสัย.
               บทว่า โธตก เป็นอาลปนะ.
               บทว่า ตเรสิ ความว่า พึงข้ามได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า :-
                                   ความชั่วอันบุคคลกระทำด้วยตน บุคคลนั้นจัก
                         เศร้าหมองด้วยตนเอง ความชั่วอันบุคคลไม่กระทำด้วยตน
                         บุคคลนั้นจะบริสุทธิ์ด้วยตนเอง ความบริสุทธิ์และความไม่
                         บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน ผู้อื่นไม่พึงให้ผู้อื่นบริสุทธิ์ได้.

               ในพระพุทธพจน์นี้มีเนื้อความดังนี้ :-
               อกุศลกรรมอันบุคคลใดกระทำด้วยตนเอง บุคคลนั้นจักเสวยทุกข์ในอบาย ๔ เศร้าหมองด้วยตนเอง แต่ความชั่วอันบุคคลใดไม่กระทำด้วยตน บุคคลนั้นย่อมไปสู่สวรรค์และนิพพาน บริสุทธิ์ได้ด้วยตนเอง ความบริสุทธิ์กล่าวคือกุศลกรรม ความไม่บริสุทธิ์กล่าวคืออกุศลกรรม เป็นของเฉพาะตน คือย่อมให้ผลในตนนั่นแหละแก่เหล่าสัตว์ผู้กระทำ บุคคลอื่นไม่พึงยังบุคคลอื่นให้บริสุทธิ์ คือให้บริสุทธิ์ไม่ได้ มีอธิบายว่าให้เศร้าหมองไม่ได้ ให้บริสุทธิ์ไม่ได้.
               บทว่า ติฏฺฐเตว นิพฺพานํ ความว่า อมตมหานิพพานก็ตั้งอยู่นั่นแหละ.
               บทว่า นิพฺพานคามิมคฺโค ได้แก่ อริยมรรคเริ่มแต่วิปัสสนาอันเป็นส่วนเบื้องต้น.
               บทว่า ติฏฺฐามหํ สมาทเปตา ความว่า เราผู้ให้ถือ ให้ตั้งอยู่เฉพาะ ก็ตั้งอยู่เฉพาะ.
               บทว่า เอวํ โอวทิยมานา เอวํ อนุสาสิยมานา ได้แก่ อันเรากล่าวสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้.
               ใน ๒ บทนี้ กล่าวในเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่ากล่าวสอน, พร่ำสอนในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น แสดงอนาคตเป็นต้นว่า แม้ความเสื่อมยศก็จักมีแก่ท่าน ดังนี้ชื่อว่าพร่ำสอน, แม้ผู้กล่าวต่อหน้า ก็ชื่อว่ากล่าวสอน ผู้ส่งทูตหรือคำสอนไปลับหลัง ชื่อว่าพร่ำสอน. ผู้กล่าวครั้งเดียว ชื่อว่ากล่าวสอน, ผู้กล่าวบ่อยๆ ชื่อว่าพร่ำสอน, อีกอย่างหนึ่ง ผู้กล่าวสอนนั่นแหละ ชื่อว่าพร่ำสอน.
               บทว่า อปฺเปกจฺเจ ได้แก่ บางพวก. ความว่า พวกหนึ่ง.
               บทว่า อจฺจนฺตนิฏฺฐํ นิพฺพานํ อาราเธนฺติ ความว่า ชื่อว่าอัจจันตะ เพราะอรรถว่าส่วนสุดกล่าวคือความสิ้นไปและความเสื่อมไป ล่วงไปแล้ว ส่วนสุดล่วงไปแล้วนั้นด้วย จบสิ้นแล้วเพราะไม่เป็นที่เป็นไปแห่งสังขารทั้งปวงด้วย เหตุนั้นจึงชื่อว่า มีส่วนสุดล่วงไปแล้วจบสิ้นแล้ว,
               ความว่า จบสิ้นโดยส่วนเดียว. สาวกบางพวกบรรลุคือถึงซึ่งนิพพานอันจบสิ้นโดยส่วนเดียวนั้น.
               บทว่า นาราเธนฺติ ได้แก่ ไม่ถึงพร้อม, ความว่า ไม่ได้เฉพาะ.
               บทว่า เอตฺถ กฺยาหํ ความว่า ในเรื่องเหล่านี้เราจะทำอะไร อย่างไรได้.
               บทว่า มคฺคกฺขายี ได้แก่ ผู้บอกทางปฏิบัติ.
               บทว่า อาจิกฺขติ แปลว่า บอก.
               บทว่า อตฺตนา ปฏิปชฺชมานา มุญฺเจยฺยุํ ความว่า ผู้ปฏิบัติอยู่พึงหลุดพ้นเอง.
               บทว่า อตีตํ อุปาทาย ได้แก่ อาศัยอดีต.
               บทว่า กถํ ปุเร อเปกฺขํ กโรติ ความว่า กระทำการเห็นคือการแลดู ด้วยประการไร.
               บทว่า เอวรูโป อโหสึ ความว่า เราได้มีชาติอย่างนี้ มีรูปอย่างนี้ คือ สูง ต่ำ ผอม อ้วนเป็นต้น.
               บทว่า ตตฺถ นนฺทึ สมนฺนาเนติ ความว่า นำมา คือนำเข้ามาโดยชอบซึ่งตัณหาในรูปารมณ์นั้น.
               แม้ในบทเวทนาเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=487&Z=1310
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=2055
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=2055
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :