ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑. กามสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๓ / ๖.

               ในคาถาที่ ๓ มีความย่อดังต่อไปนี้:-
               ก็ผู้ใดเว้นขาดกามเหล่านี้โดยการข่มฉันทราคะในกามนั้น หรือโดยการตัดขาด เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้าของตน. ผู้นั้นเป็นผู้เห็นภัย เป็นผู้มีสติย่อมล่วงพ้นตัณหา กล่าวคือวิสัตติกาซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก เพราะซ่านไปทั่วโลกตั้งอยู่.
               บทว่า โย เป็นบทที่พึงจำแนก.
               บทว่า โย ยาทิโส เป็นต้นเป็นบทจำแนกบทนั้น.
               ก็ในคาถานี้ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงบทที่มีเนื้อความว่า โย และบุคคลนั้นโดยไม่กำหนด ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความของบทนั้น พระองค์จึงตรัสศัพท์ว่า โย เท่านั้นซึ่งแสดงบุคคลโดยไม่กำหนด. เพราะฉะนั้น ในคาถานี้พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า
               บทว่า โย ได้แก่ คนใดคนหนึ่ง. เพราะบุคคลนั้น คือบุคคลผู้ชื่อว่าคนใดคนหนึ่งนั้น ย่อมปรากฏโดยอาการนั้น ด้วยสามารถแห่งเพศ การประกอบ มีชนิดอย่างไร, มีประการอย่างไร, ถึงฐานะใด, ประกอบด้วยธรรมใด เป็นแน่. ฉะนั้น พระสารีบุตรเถระ เมื่อจะประกาศประเภทนั้น เพื่อให้รู้บุคคลนั้น ในที่นั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยาทิโส ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาทิโส ความว่า เป็นผู้เช่นใดหรือเช่นนั้นก็ตาม ด้วยสามารถแห่งเพศ คือ สูง, ต่ำ, ดำ,ขาว, ผิวตกกระ, ผอมหรืออ้วนก็ตาม.
               บทว่า ยถายุตฺโต ความว่า เป็นผู้ประกอบด้วยการใดหรือการนั้นก็ตาม ด้วยสามารถแห่งการประกอบ คือ ประกอบงานก่อสร้างก็ตาม, ประกอบการเรียนการสอนก็ตาม, ประกอบธุระเครื่องนุ่งห่มก็ตาม.
               บทว่า ยถาวิหิโต ความว่า เป็นผู้ได้รับแต่งตั้งอย่างใด ด้วยสามารถเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างเป็นต้น.
               บทว่า ยถาปกาโร ความว่า เป็นผู้ดำรงอยู่ด้วยประการใด ด้วยสามารถเป็นผู้นำบริษัทเป็นต้น.
               บทว่า ยํ ฐานปฺปตฺโต ความว่า เป็นผู้ถึงตำแหน่งใด ด้วยสามารถตำแหน่งเสนาบดีและตำแหน่งเศรษฐีเป็นต้น.
               บทว่า ยํ ธมฺมสมนฺนาคโต ความว่า เป็นผู้เข้าถึงด้วยธรรมใด ด้วยสามารถธุดงค์เป็นต้น.
               บทว่า วิกฺขมฺภนโต วา ความว่า โดยกระทำให้ไกลจากกิเลสทั้งหลาย ด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ดุจใช้หม้อน้ำแหวกสาหร่าย.
               บทว่า สมุจฺเฉทโต วา ความว่า หรือโดยการตัดขาด ด้วยสามารถแห่งการละโดยถอนรากกิเลสทั้งหลายอย่างเด็ดขาด ทำให้เป็นไปไม่ได้อีก ด้วยมรรค.
               บท ๑๑ บท มีบทว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยโครงกระดูก เป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งวิปัสสนา.
               บทว่า แม้ผู้เจริญพุทธานุสสติ เป็นต้น และบทว่า แม้ผู้เจริญมรณานุสสติ แม้ผู้เจริญอุปสมานุสสติ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งอุปจารฌาน.
               บทว่า แม้ผู้เจริญอานาปานสติ แม้ผู้เจริญกายคตาสติ แม้ผู้เจริญปฐมฌานเป็นต้น. แม้ผู้เจริญเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เป็นที่สุด ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งอัปปนาฌาน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏฺฐิกงฺกลูปมา กามา ความว่า กามทั้งหลาย ชื่อว่าเปรียบด้วยโครงกระดูก เพราะอรรถว่ากามเหล่านั้นมีโครงกระดูกซึ่งไม่น่ายินดี ไม่มีเนื้อและเลือดติดเป็นเครื่องเปรียบ.
               บทว่า อปฺปสาทฏฺเฐน ความว่า เพราะอรรถว่า เห็นว่าในกามนี้มีความยินดีความสุขน้อย คือนิดหน่อย มีโทษมากมาย.
               บทว่า ปสฺสนฺโต ความว่า เห็นอยู่ด้วยจักษุคือญาณว่า ก็และสุนัขนั้นยังคงมีส่วนแห่งความลำบากความคับแค้นอยู่อย่างนั้นนั่นเอง.
               บทว่า ปริวชฺเชติ ได้แก่ ไปไกล.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนคฤหบดี เหมือนอย่างว่า สุนัขที่ถูกความทุรพลเพราะความหิวครอบงำเข้าไปร้องขอต่อนายโคฆาต นายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ขยันพึงเอาโครงกระดูกซึ่งไม่น่ายินดี ไม่มีเนื้อและเลือดติดเลี้ยงดูสุนัขนั้น สุนัขนั้นแทะโครงกระดูกนั้นซึ่งไม่น่ายินดี ไม่มีเนื้อและเลือดติด พึงบรรเทาความทุรพลเพราะความหิวได้บ้างหรือหนอ? นั้นเป็นไปไม่ได้เลย พระเจ้าข้า.
               ข้อนั้นเพราะเหตุไร
               เพราะโครงกระดูกนั้นไม่น่ายินดี ไม่มีเนื้อและเลือดติด พระเจ้าข้า.
               ก็และสุนัขนั้นยังคงมีส่วนแห่งความลำบาก ความคับแค้นอยู่อย่างนั้นนั่นเองแม้ฉันใด ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นเหมือนกันแล สำเหนียกด้วยประการฉะนี้ เห็นข้อนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยโครงกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษมากมายดังนี้แล้ววางอุเบกขาที่มีความต่างกัน อาศัยความต่างกันนั้นเสีย เจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอย่างเดียว อาศัยความเป็นอย่างเดียว ซึ่งเป็นที่ดับความยึดมั่นโลกามิสไม่เหลือโดยประการทั้งปวง นั้นนั่นเทียว.
               กามทั้งหลายชื่อว่าเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ เพราะอรรถว่ามีชิ้นเนื้อซึ่งเป็นของสาธารณ์แก่แร้งเป็นต้น เป็นเครื่องเปรียบ, ชื่อว่าสาธารณ์แก่ชนหมู่มาก เพราะอรรถว่าเป็นของสาธารณ์แก่ชนทั้งหลายเป็นอันมาก. ชื่อว่าเปรียบด้วยคบเพลิงหญ้า เพราะอรรถว่ามีคบเพลิงหญ้าซึ่งไฟติดทั่วแล้ว เป็นเครื่องเปรียบ.
               บทว่า อนุทหนฏฺเฐน ได้แก่ เพราะอรรถว่าเผามือเป็นต้น. ชื่อว่าเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง เพราะอรรถว่ามีหลุมถ่านเพลิงลึกกว่าชั่วบุรุษ เต็มด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว ปราศจากควัน เป็นเครื่องเปรียบ.
               บทว่า มหาปริฬาหฏฺเฐน ได้แก่ เพราะอรรถว่าทำให้เร่าร้อนมาก. ชื่อว่าเปรียบด้วยความฝัน เพราะอรรถว่ามีความฝันว่าอารามที่น่ารื่นรมย์เป็นต้น เป็นเครื่องเปรียบ.
               บทว่า อิตฺตร ปจฺจุปฏฺฐานฏฺเฐน ได้แก่ เพราะอรรถว่าเข้าไปตั้งไว้ไม่ถึง. ชื่อว่าเปรียบด้วยของขอยืม เพราะอรรถว่ามีภัณฑะมียานเป็นต้นที่ได้มาด้วยการขอยืม เป็นเครื่องเปรียบ.
               บทว่า ตาวกาลิกฏฺเฐน ได้แก่ เพราะอรรถว่าไม่เนืองนิจ. ชื่อว่าเปรียบด้วยต้นไม้มีผลดก เพราะอรรถว่ามีต้นไม้มีผลสมบูรณ์เป็นเครื่องเปรียบ
               บทว่า สมฺภญฺชนปริภญฺชนฏฺเฐน ได้แก่ เพราะอรรถว่าทำให้กิ่งหัก และเพราะอรรถว่าทำให้หักโดยรอบแล้วให้ต้นล้ม. ชื่อว่าเปรียบด้วยดาบและมีด เพราะอรรถว่ามีดาบและมีด เป็นเครื่องเปรียบ.
               บทว่า อธิกุฏฺฏนฏฺเฐน ได้แก่ เพราะอรรถว่าตัด. ชื่อว่าเปรียบด้วยหอกหลาว เพราะอรรถว่ามีหอกหลาว เป็นเครื่องเปรียบ.
               บทว่า วินิวิชฺฌนฏฺเฐน ได้แก่ เพราะอรรถว่าให้ล้มลงไป. เพราะอรรถว่าให้เกิดภัย. ชื่อว่าเปรียบด้วยหัวงู เพราะอรรถว่ามีหัวงู เป็นเครื่องเปรียบ.
               บทว่า สปฺปฎิภยฏฺเฐน ได้แก่ เพราะอรรถว่า มีภัยเฉพาะหน้า. ชื่อว่าเปรียบด้วยกองไฟ เพราะอรรถว่ามีกองไฟที่ให้เกิดทุกข์เป็นเครื่องเปรียบ.
               บทว่า มหคฺคิตาปนฏฺเฐน ได้แก่ เพราะอรรถว่าให้เกิดความเร่าร้อน เพราะความเป็นดังไฟกองใหญ่ให้เร่าร้อน ดังนั้นจึงเว้นขาดกามแล.
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนคฤหบดีเหมือนอย่างว่า แร้ง, นกกระสา หรือเหยี่ยวก็ตาม กัดคาบเอาชิ้นเนื้อนั้น แม้แร้งทั้งหลาย แม้นกกระสาทั้งหลาย แม้เหยี่ยวทั้งหลาย ก็พากันบินติดตามยื้อแย่งเอาชิ้นเนื้อนั่นนั้น.
               ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?
               ถ้าแร้ง นกกระสาหรือเหยี่ยวนั้น ไม่สละชิ้นเนื้อนั้นทันทีทีเดียว มันต้องตาย หรือต้องถึงทุกข์ปางตาย เพราะเหตุที่ไม่สละชิ้นเนื้อนั้น? อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
               ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นเหมือนกันแล สำเหนียกด้วยประการฉะนี้ เห็นข้อนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ ฯลฯ เจริญอุเบกขานั้นนั่นเทียว.
               ดูก่อนคฤหบดี เหมือนอย่างว่า บุรุษถือคบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วแล้วเดินทวนลม.
               ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?
               ถ้าบุรุษนั้นไม่สละคบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วแล้วนั้นทันทีทีเดียว คบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วแล้วนั้นพึงไหม้มือไหม้แขนหรือพึงไหม้อวัยวะอื่นๆ ของเขา เขาต้องตายหรือต้องถึงทุกข์ปางตาย เพราะเหตุที่ไม่สละคบเพลิงหญ้านั้น. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
               ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นเหมือนกันแล สำเหนียกด้วยประการฉะนี้ เห็นข้อนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบด้วยคบเพลิงหญ้า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ฯลฯ เจริญอุเบกขานั้นนั่นเทียว.
               ดูก่อนคฤหบดี เหมือนอย่างว่า หลุมถ่านเพลิงลึกกว่าชั่วบุรุษ เต็มด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว ปราศจากควัน. ครั้งนั้น บุรุษอยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงเดินมา บุรุษผู้มีกำลังสองคนจับแขนทั้งสองของบุรุษนั้น ลากไปสู่หลุมถ่านเพลิง.
               ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?
               บุรุษนั้นจะพึงยังกายนั้นนั่นแลให้เร่าร้อนแม้ด้วยประการฉะนี้บ้างหรือหนอ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
               ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะบุรุษนั้นรู้ว่า ถ้าเราจักตกหลุมถ่านเพลิง เราย่อมตายหรือย่อมถึงทุกข์ปางตาย เพราะเหตุที่ตกหลุมถ่านเพลิงนั้น.
               ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นเหมือนกันแล สำเหนียกด้วยประการฉะนี้ เห็นข้อนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง ฯลฯ เจริญอุเบกขานั้นนั่นเทียว.
               ดูก่อนคฤหบดี เหมือนอย่างว่า บุรุษฝันเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์ ภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ เขาตื่นขึ้นไม่เห็นอะไรๆ เลย.
               ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นเหมือนกันแล สำเหนียกด้วยประการฉะนี้ เห็นข้อนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบด้วยความฝัน ฯลฯ เจริญอุเบกขานั้นนั่นเทียว
               ดูก่อนคฤหบดี เหมือนอย่างว่า บุรุษขอยืมกุณฑลแก้วมณีอันประเสริฐซึ่งเป็นของขอยืม ยกขึ้นสู่ยาน เขาเอากุณฑลแก้วมณีอันประเสริฐวางไว้ข้างหน้า แวดล้อมด้วยของขอยืมทั้งหลายเดินทางไปร้านตลาด ชนเห็นเขานั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ คนมีโภคะหนอ ได้ยินว่าคนมีโภคะทั้งหลายย่อมบริโภคโภคะทั้งหลายอย่างนี้ พวกเจ้าของเห็นของของตนตรงที่ใดๆ พึงนำของของตนไปจากบุรุษนั้นตรงที่นั้นๆ เอง.
               ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?
               บุรุษนั้นจะไม่เป็นอย่างอื่นไปหรือหนอ ไม่อย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า
               ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร
               เพราะเจ้าของทั้งหลายนำของของเขาไปเสีย พระเจ้าข้า
               ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นเหมือนกันแล สำเหนียกด้วยประการฉะนี้ เห็นข้อนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบด้วยของขอยืม ฯลฯ เจริญอุเบกขานั้นนั่นเทียว.
               ดูก่อนคฤหบดี เหมือนอย่างว่า ไพรสณฑ์ใหญ่ใกล้บ้านหรือนิคม.
               ในไพรสณฑ์นั้นมีต้นไม้มีผลดกและกำลังออกผล และไม่มีผลไรๆ ของต้นไม้นั้นหล่นลงบนพื้นดิน ครั้งนั้นบุรุษผู้มีความต้องการผลไม้ แสวงหาผลไม้ เที่ยวแสวงหาผลไม้อยู่พึงมา เขาหยั่งลงสู่ไพรสณฑ์นั้น พึงเห็นต้นไม้นั้นมีผลดกและกำลังออกผล เขาคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้ใหญ่และมีผลดกและกำลังออกผล ไม่มีผลไรๆ หล่นลงบนพื้นดิน ก็เราขึ้นต้นไม้เป็น อย่ากระนั้นเลย เราพึงขึ้นต้นไม้นี้ เคี้ยวกินให้อิ่ม. และใส่ให้เต็มพกดังนี้ เขาขึ้นต้นไม้นั้น เคี้ยวกินจนอิ่มและใส่เต็มพก.
               ครั้งนั้น บุรุษคนที่สองผู้มีความต้องการผลไม้ แสวงหาผลไม้ เที่ยวแสวงหาผลไม้อยู่ พึงถือเอาจอบอันคมมา บุรุษนั้นหยั่งลงสู่ไพรสณฑ์นั้น พึงเห็นต้นไม้นั้นมีผลดกและกำลังออกผล เขาคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้แลมีผลดกและกำลังออกผล และไม่มีผลไรๆ หล่นลงบนพื้นดิน ก็เราขึ้นต้นไม้ไม่เป็น แต่ตัดต้นไม้เป็น อย่ากระนั้นเลย เราพึงตัดโคนต้นไม้นี้ เคี้ยวกินให้อิ่มและใส่ให้เต็มพกดังนี้ เขาตัดโคนต้นไม้นั้น.
               ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?
               บุรุษคนที่ขึ้นต้นไม้นั้นก่อน ถ้าเขาไม่รีบลงทันที ต้นไม้นั้นพึงล้มลงทำลายมือเท้าหรืออวัยวะอื่นๆ ของเขาเสีย เขาต้องตาย หรือต้องทุกข์ปางตาย เพราะเหตุที่ถูกต้นไม้ทำลายนั้น. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
               ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นเหมือนกันแล สำเหนียกด้วยประการฉะนี้ เห็นข้อนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบด้วยต้นไม้มีผลดก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษมากมาย ดังนี้แล้ว วางอุเบกขาที่มีความต่างกัน อาศัยความต่างกันนั้นเสีย เจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอย่างเดียว อาศัยความเป็นอย่างเดียว ซึ่งเป็นที่ดับความยึดมั่นโลกามิสไม่เหลือ โดยประการทั้งปวงนั้นนั่นเทียว.
               พระสารีบุตรเถระแสดงวิปัสสนาโดยเปรียบด้วยโครงกระดูกเป็นต้น และเปรียบด้วยกองไฟเป็นที่สุดอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงอุปจารสมาธิ จึงกล่าวคำว่า พุทฺธานุสฺสตึ ภาเวนฺโต เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น สตินั่นแหละ ชื่อว่าอนุสสติ เพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ.
               อนึ่ง ชื่อว่าอนุสสติ เพราะอรรถว่าสติที่สมควรแก่กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา เพราะเป็นไปในฐานะที่ควรให้เป็นไปนั่นเอง ดังนี้ก็มี.
               อนุสสติที่เกิดขึ้นปรารภพระพุทธเจ้า ชื่อว่าพุทธานุสสติ. คำว่า พุทธานุสสติ นี้เป็นชื่อของสติที่มีพระพุทธคุณ, มีความเป็นพระอรหันต์เป็นต้นเป็นอารมณ์ซึ่งพุทธานุสสตินั้น.
               บทว่า ภาเวนฺโต ได้แก่ เจริญอยู่คือเพิ่มพูนอยู่.
               อนุสสติที่เกิดขึ้นปรารภพระธรรม ชื่อว่าธรรมานุสสติ, คำว่า ธรรมานุสสติ นี้เป็นชื่อของสติที่มีพระธรรมคุณ, มีความเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วเป็นต้นเป็นอารมณ์.
               อนุสสติที่เกิดขึ้นปรารภพระสงฆ์ ชื่อว่าสังฆนุสสติ. คำว่า สังฆานุสสติ นี้เป็นชื่อของสติที่มีพระสังฆคุณ, มีความเป็นผู้ปฏิบัติดีเป็นต้นเป็นอารมณ์.
               อนุสสติที่เกิดขึ้นปรารภศีล ชื่อว่าสีลานุสสติ. คำว่า สีลานุสสติ นี้เป็นชื่อของสติที่มีศีลคุณ, มีความไม่ขาดเป็นต้นของตนเป็นอารมณ์.
               อนุสสติที่เกิดขึ้นปรารภจาคะ ชื่อว่าจาคานุสสติ. คำว่า จาคานุสสติ นี้เป็นชื่อของสติที่มีจาคคุณ, มีความเป็นผู้มีจาคะอันสละแล้วของตนเป็นต้น เป็นอารมณ์.
               อนุสสติที่เกิดขึ้นปรารภเทวดา ชื่อว่าเทวตานุสสติ. คำว่า เทวตานุสสติ นี้เป็นชื่อของสติที่มีคุณมีศรัทธาของตนเป็นต้น ตั้งเทวดาทั้งหลายไว้ในฐานะพยานเป็นอารมณ์.
               อนุสสติที่เกิดขึ้นปรารภลมหายใจเข้าออก ชื่อว่าอานาปานัสสติ. คำว่า อานาปานัสสติ นี้เป็นชื่อของสติที่มีนิมิตแห่งลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์.
               อนุสสติที่เกิดขึ้นปรารภความตาย ชื่อว่ามรณานุสสติ. คำว่า มรณานุสสติ นี้เป็นชื่อของสติที่มีความตายกล่าวคือความแตกแห่งชีวิตินทรีย์ที่นับเนื่องในภพหนึ่งเป็นอารมณ์.
               สติที่ไป, คือเป็นไปในสรีระที่นับว่ากาย เพราะเป็นความเจริญ คือเป็นบ่อเกิดของสิ่งปฏิกูลทั้งหลายมีผมเป็นต้นที่น่าเกลียด ชื่อว่า กายคตาสติ.
               เมื่อควรจะกล่าวว่า กายคตสติ ท่านกล่าวว่า กายคตาสติ เพราะไม่รัสสะ แม้ในที่นี้ท่านก็กล่าวคำนี้เป็นกายคตาสติ เหมือนกัน. คำว่า กายคตาสติ นี้เป็นชื่อของสติที่มีนิมิตปฏิกูลในส่วนของร่างกายมีผมเป็นต้นเป็นอารมณ์.
               อนุสสติที่เกิดขึ้นปรารภความสงบ ชื่อว่าอุปสมานุสสติ คำว่า อุปสมานุสสติ นี้เป็นชื่อของสติที่มีพระนิพพานอันเป็นที่เข้าไปสงบทุกข์ทั้งปวงเป็นอารมณ์.
               ผู้เจริญปฐมฌานอันประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุขและจิตเตกัคคตา. ผู้เจริญทุติยฌานอันประกอบด้วยปิติ สุขและจิตเตกัคคตา. ผู้เจริญตติยฌานอันประกอบด้วยสุขและจิตเตกัคคตา. ผู้เจริญจตุตถฌานอันประกอบด้วยอุเบกขาและจิตเตกัคคตา ฯลฯ แม้ผู้เจริญเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย.
               พระสารีบุตรเถระแสดงการละกามโดยการข่มไว้ด้วยประการฉะนี้.
               บัดนี้เพื่อจะแสดงการละกามทั้งหลายโดยการตัดขาด จึงกล่าวคำว่า โสตาปตฺติมคฺคํ ภาเวนฺโตปิ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น การถึงซึ่งกระแสแห่งมรรค ชื่อว่าโสดาปัตติ. มรรคแห่งการถึงกระแสพระนิพพาน ชื่อว่าโสดาปัตติมรรค.
               บทว่า อปายคมนีเย กาเม ความว่า เมื่อเจริญโสดาปัตติมรรค ย่อมเว้นขาดจากกามอันให้ไปสู่อบาย ซึ่งเป็นเครื่องให้เหล่าสัตว์ไปสู่อบายเหล่านั้นโดยการตัดขาด.
               ชื่อว่าสกทาคามี เพราะอรรถว่ามาปฏิสนธิยังโลกนี้คราวเดียวเท่านั้น มรรคแห่งพระสกทาคามีนั้น ชื่อว่าสกทาคามิมรรค เมื่อเจริญมรรคนั้น
               บทว่า โอฬาริเก ได้แก่ ถึงความเร่าร้อน.
               ชื่อว่าอนาคามี เพราะอรรถว่าไม่มาปฏิสนธิยังกามภพเลย. มรรคแห่งพระอนาคามีนั้น ชื่อว่าอนาคามิมรรค เมื่อเจริญมรรคนั้น.
               บทว่า อณุสหคเต ได้แก่ ถึงความละเอียด.
               ชื่อว่าพระอรหันต์ เพราะไกลจากกิเลสทั้งหลาย เพราะกำจัดข้าศึกคือกิเลส เพราะหักซี่ล้อแห่งสังสารวัฏ เพราะไม่มีความลับในการทำบาป และเพราะเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น.
               ความเป็นแห่งพระอรหันต์ ชื่อว่าอรหัตต์. อรหัตต์นั้นคืออะไร, คือ อรหัตตผล. มรรคแห่งอรหัตต์ ชื่ออรหัตตมรรค เมื่อเจริญอรหัตตมรรคนั้น.
               บทว่า สพฺเพน สพฺพํ ได้แก่ ทั้งปวงโดยอาการทั้งปวง.
               บทว่า สพฺพถา สพฺพํ ได้แก่ ทั้งปวงโดยประการทั้งปวง.
               บทว่า อเสสํ นิสฺเสสํ ได้แก่ มิได้มีส่วนเหลือ คือไม่เหลือแม้เพียงขันธ์.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สพฺเพน สพฺพํ กล่าวถึงมูลราก.
               บทว่า สพฺพถา สพฺพํ กล่าวชี้ถึงอาการ.
               บทว่า อเสสํ นิสฺเสสํ กล่าวชี้ถึงการบำเพ็ญ.
               อนึ่ง ด้วยบทแรกกล่าวเพราะไม่มีทุจริต. ด้วยบทที่สองกล่าวเพราะไม่มีการครอบงำ. ด้วยบทที่สามกล่าวเพราะไม่มีอนุสัย อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาไว้อย่างนี้.
               บทว่า สปฺโป วุจฺจติ อหิ ความว่า งูตัวใดตัวหนึ่งเลื้อยไป.
               บทว่า เกนตฺเถน ได้แก่ เพราะอรรถว่าอะไร.
               บทว่า สํสปฺปนฺโต คจฺฉติ ความว่า เพราะเสือกไป ฉะนั้นจึงเรียกว่า สัปปะ.
               บทว่า ภุชนฺโต ความว่า ขนดไป.
               บทว่า ปนฺนสิโร ได้แก่ เป็นสัตว์มีหัวตก.
               บทว่า สิเรน สุปติ ความว่า ชื่อว่าสิริสปะ เพราะอรรถว่านอนด้วยหัวโดยความเป็นโพรง เอาหัวไว้ภายในขนด. ชื่อว่าวิลาสยะ เพราะอรรถว่านอนในรู. บาลีว่า พิลสโย ก็มี. พึงเว้นหัวงูนั้นให้ดี. ชื่อว่าคุหาสยะ เพราะอรรถว่านอนในถ้ำ.
               บทว่า ทาฒา ตสฺส อาวุโธ ความว่า เขี้ยวทั้งสองเป็นอาวุธ กล่าวคือศัสตราเครื่องประหารของงูนั้น.
               บทว่า วิสํ ตสฺส โฆรํ ความว่า พิษกล่าวคือน้ำที่เป็นพิษของงูนั้นร้ายแรง.
               บทว่า ชิวฺหา ตสฺส ทุวิธา ความว่า งูนั้นมีลิ้นสองแฉก.
               บทว่า ทฺวีหิ ชีวฺหาหิ รสํ สายติ ความว่า ย่อมรู้รส คือย่อมประสบความยินดี, คือย่อมยินดีด้วยลิ้นสองแฉก.
               ชื่อว่า ผู้ใคร่ต่อชีวิต เพราะอรรถว่าใคร่เพื่อจะเป็นอยู่.
               ชื่อว่า ไม่อยากตาย เพราะอรรถว่ายังไม่อยากตาย.
               ชื่อว่า อยากได้สุข เพราะอรรถว่าใคร่ซึ่งความสุข.
               บทว่า ทุกฺขปฏิกูโล ได้แก่ ไม่ปรารถนาความทุกข์.
               บทว่า ปาเทน ได้แก่ ด้วยเท้าของตน.
               บทว่า สปฺปสิรํ ได้แก่ หัวของงู
               บทว่า วชฺเชยฺย ได้แก่ พึงเว้นข้างหน้า.
               บทว่า วิวชฺเชยฺย ได้แก่ พึงเว้นโดยประมาณของงูนั้น.
               บทว่า ปริวชฺเชยฺย ได้แก่ พึงเว้นโดยรอบ.
               บทว่า อภินิวชฺเชยฺย ได้แก่ พึงเว้นประมาณ ๔ ศอก.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบทแรก พึงเว้นแต่หัว. ด้วยบทที่ ๒ และที่ ๓ พึงเว้นข้างทั้งสอง. ด้วยบทที่ ๔ พึงเว้นข้างหลัง.
               อนึ่ง พึงเว้น เพราะความเป็นวัตถุแห่งทุกข์ ซึ่งมีการแสวงหาเป็นมูลของผู้ที่ยังไม่ถึงกามทั้งหลาย. พึงหลีก เพราะความเป็นวัตถุแห่งทุกข์ ซึ่งมีการรักษาเป็นมูลของผู้ที่ถึงกามแล้ว. พึงเลี่ยง เพราะความเป็นวัตถุแห่งทุกข์ที่เร่าร้อนเพราะความไม่รู้. พึงอ้อมหนี เพราะความเป็นวัตถุแห่งทุกข์ที่เกิดจากความพลัดพรากจากของรักในปากแห่งความพินาศ. อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาไว้อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่า ความกำหนัด ด้วยสามารถความยินดี.
               ชื่อว่า ความพอใจ เพราะความเป็นเพื่อนของเหล่าสัตว์ในอารมณ์ทั้งหลาย.
               ชื่อว่า ความชอบใจ เพราะอรรถว่ายินดี.
               อธิบายว่า ปรารถนา ชื่อว่าความเพลิดเพลิน เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องเพลิดเพลิน ในภพใดภพหนึ่งของเหล่าสัตว์ หรือเพลิดเพลิน เอง.
               ตัณหาชื่อว่านันทิราคะ เพราะเป็นความเพลิดเพลินด้วย เป็นความกำหนัดด้วย อรรถว่ายินดีด้วย. ใน
               บทว่า นนฺทิราโค นั้น ตัณหาที่เกิดขึ้นคราวเดียวในอารมณ์เดียวเรียกว่านันทิ, ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เรียกว่า นันทิราคะ.
               บทว่า จิตฺตสฺส สาราโค ความว่า ความกำหนัดใด ท่านเรียกว่าความกำหนัดกล้า เพราะอรรถว่าความยินดีมีกำลังเบื้องต่ำ ความกำหนัดนั้นมิใช่ของสัตว์ เป็นความกำหนัดกล้าแห่งจิตเท่านั้น.
               ชื่อว่า ความปรารถนา เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องปรารถนาอารมณ์ทั้งหลาย.
               ชื่อว่า ความหลง เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องหลงของเหล่าสัตว์ เพราะความเป็นกิเลสหนา.
               ชื่อว่า ความติดใจ เพราะกลืนให้สำเร็จแล้วยึดไว้.
               ชื่อว่า ความยินดี เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องต้องการ คือถึงความยินดีของเหล่าสัตว์.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ความยินดี เพราะอรรถว่าหนาแน่น. ก็ความยินดีนั่นแล ท่านกล่าวว่า ชัฎแห่งป่าใหญ่ เพราะอรรถว่าหนาแน่นเหมือนกัน ขยายบทที่ติดกันด้วยอุปสัค.
               ชื่อว่า ความยินดีทั่วไป เพราะอรรถว่ายินดีทุกอย่างหรือตามส่วน.
               ชื่อว่า ความข้อง เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องข้องอยู่ของเหล่าสัตว์.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ความข้อง เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องข้อง.
               ชื่อว่า ความติดพัน เพราะอรรถว่าจมลง.
               ชื่อว่า ความแสวงหา เพราะฉุดคร่า.
               สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า ตัณหาชื่อว่าเอชาย่อมฉุดคร่าบุรุษนี้ เพื่อบังเกิดในภพนั้นๆ นั่นแล.
               ชื่อว่า มายา เพราะอรรถว่าลวง.
               ชื่อว่า ชนิกา เพราะอรรถว่า ยังสัตว์ทั้งหลายให้เกิดในวัฏฏะ.
               สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า ตัณหาย่อมยังบุรุษให้เกิด ย่อมวิ่งเข้าสู่จิตของบุรุษนั้น.
               ชื่อว่า สัญชนนี เพราะอรรถว่ายังสัตว์ให้เกิดประกอบไว้ด้วยทุกข์.
               ชื่อว่า สิพฺพินี เพราะอรรถว่าติดแน่น. เพราะตัณหานี้เย็บคือติดแน่นเหล่าสัตว์ไว้ในวัฏฏะ ด้วยสามารถแห่งจุติและปฏิสนธิ ดุจช่างเย็บเย็บผ้าเก่าด้วยผ้าเก่า ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชื่อว่าความเย็บไว้ เพราะอรรถว่าติดแน่น.
               ชื่อว่า ชาลินี เพราะอรรถว่ามีข่ายคืออารมณ์มีประการไม่น้อย. หรือข่ายกล่าวคือความยึดมั่นด้วยการดิ้นรนแห่งตัณหา.
               ชื่อว่า สริตา เพราะอรรถว่าเป็นดังกระแสน้ำที่ไหลเร็ว เพราะอรรถว่าฉุดคร่า.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สริตา เพราะอรรถว่าเปียกชุ่ม.
               สมจริงดังคำที่กล่าวไว้ว่า โสมนัสทั้งหลายที่ชุ่มชื่นและประกอบด้วยความรักย่อมมีแก่สัตว์เกิด.
               ก็ในข้อนี้มีเนื้อความดังนี้ว่า ทั้งชุ่มชื่น ทั้งน่ารัก.
               ชื่อว่า สุตตะ เพราะอรรถว่าเป็นดังเส้นด้ายผูกเต่า เพราะอรรถว่าให้ถึงความฉิบหายมิใช่ความเจริญ.
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า สุตฺตํ นี้แลเป็นชื่อของนันทิราคะ.
               ชื่อว่า วิสฏา เพราะอรรถว่า แผ่ไปในรูปเป็นต้น.
               ชื่อว่า อายุหนี เพราะอรรถว่าสัตว์ย่อมยังอายุให้เสื่อมไปเพื่อต้องการได้เฉพาะอารมณ์นั้นๆ
               ชื่อว่า ทุติยา เพราะอรรถว่าเป็นสหาย เพราะไม่ให้กระวนกระวาย.
               ก็ตัณหานี้ย่อมไม่ให้สัตว์ทั้งหลายกระวนกระวายในวัฏฏะ ย่อมให้รื่นรมย์ยิ่ง ดังสหายรักในที่ที่ไปแล้วๆ.
               เพราะเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวว่า :-
                         บุรุษมีตัณหาเป็นสหาย ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
                         ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏอันเป็นอย่างนี้ไม่มีอย่างอื่น.

               ชื่อว่า ปณิธิ ด้วยสามารถแห่งความตั้งมั่น.
               บทว่า ภวเนตฺติ ได้แก่ เชือกเครื่องนำไปสู่ภพ. จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายอันตัณหานี้นำไป เหมือนโคทั้งหลายถูกเชือกผูกคอนำไปยังที่ที่ปรารถนาแล้วๆ ฉะนั้น
               ชื่อว่า วนะ เพราะอรรถว่าติด คือคบ คือชุ่มอารมณ์นั้นๆ ขยายบทด้วยพยัญชนะเป็น วนถะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วนะ เพราะอรรถว่าเป็นราวกะป่า, ด้วยอรรถว่ายังทุกข์อันหาประโยชน์มิได้ให้ตั้งขึ้น. และด้วยอรรถว่ารกชัฏ คำนี้เป็นชื่อของตัณหาที่มีกำลัง. แต่ตัณหาที่มีกำลังเท่านั้นชื่อว่าวนถะ ด้วยอรรถว่ารกชัฏกว่า.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า :-
                                   เธอทั้งหลายจงตัดป่า อย่าตัดต้นไม้ ภัยย่อมเกิด
                         แต่ป่า พวกเธอตัดป่าน้อยและป่าใหญ่แล้ว จงเป็นผู้หมด
                         ป่าเถิด ภิกษุทั้งหลาย.

               ชื่อว่า สันถวะ ด้วยความสามารถแห่งความเชยชิด. อธิบายว่า เกี่ยวข้อง.
               สันถวะนั้นมี ๒ อย่าง คือ ตัณหาสันถวะ ความเชยชิดด้วยตัณหาหนึ่ง มิตตสันวะ ความเชยชิดด้วยไมตรีหนึ่ง.
               ใน ๒ อย่างนั้น ในที่นี้ประสงค์เอาตัณหาสันถวะ.
               ชื่อว่า เสน่หา ด้วยสามารถแห่งความรัก.
               ชื่อว่า อเปกขา ความเพ่งเล็ง เพราะอรรถว่าเพ่งเล็งด้วยสามารถกระทำความอาลัย.
               สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระนครแปดหมื่นสี่พันของพระองค์เหล่านี้ มีกุสาวดีราชธานีเป็นประมุข ขอพระองค์จงยังความพอพระราชหฤทัยให้เกิดในพระนครนี้เถิด พระเจ้าข้า. ขอพระองค์โปรดกระทำความเพ่งเล็งในชีวิตเถิด.
               ก็ในข้อนี้มีเนื้อความดังนี้ว่า จงกระทำความอาลัย.
               ชื่อว่า ปฏิพันธา เพราะอรรถว่าผูกพันในอารมณ์เฉพาะอย่างๆ หรือผู้มีอารมณ์เฉพาะอย่างผูกพัน ด้วยอรรถว่าเป็นญาติ. ชื่อว่าพวกพ้องที่เสมอด้วยตัณหาของสัตว์ทั้งหลาย แม้ด้วยอรรถว่าอาศัยเป็นนิจ ย่อมไม่มี.
               ชื่อว่า อาสา เพราะเป็นอาหารของอารมณ์ทั้งหลาย. อธิบายว่า เพราะท่วมทับด้วย เพราะความพอใจไปบริโภคด้วย.
               ชื่อว่า อาสิงสนา ด้วยสามารถแห่งความจำนง, ภาวะความจำนง ชื่ออาสิงสิตัตตะ. บัดนี้เพื่อจะแสดงฐานะที่เป็นไปของตัณหานั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า รูปาสา ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น พึงถือเอาเนื้อความของอาสาว่า ความหวัง. แล้วทราบบททั้ง ๙ อย่างนี้ว่า ความหวังในรูป ชื่อว่า รูปาสา. และในบทนี้.
               ๕ บทแรกท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งกามคุณ ๕. บทที่ ๖ กล่าวด้วยสามารถแห่งความโลภในบริขาร. บทที่ ๖ นั้นกล่าวสำหรับบรรพชิตเป็นพิเศษ. ๓ บทนอกนั้นกล่าวสำหรับคฤหัสถ์ ด้วยสามารถวัตถุอันไม่เป็นที่พอใจ เพราะคฤหัสถ์ทั้งหลาย สิ่งซึ่งเป็นที่รักกว่าทรัพย์ บุตร และชีวิตย่อมไม่มี.
               ชื่อว่า ชัปปา เพราะอรรถว่ายังสัตว์ทั้งหลายให้ปรารถนาอย่างนี้ว่า นี้ของเราๆ หรือว่าคนโน้นให้สิ่งนี้ๆ แก่เรา. ๒ บทต่อไป ท่านขยายด้วยอุปสรรค. ต่อนั้นท่านกล่าวบท ชปฺปา อีกเพราะปรารภจะจำแนกความโดยอาการอย่างอื่น. อาการที่ปรารถนา ความเป็นไปแห่งความปรารถนา, ภาวะที่จิตปรารถนา ชื่อว่าชัปปิตัตตะ.
               ชื่อว่า โลลุปปะ เพราะอรรถว่าหวั่นไหว คือฉุดคร่าไว้ในอารมณ์บ่อยๆ. ความเป็นแห่งความหวั่นไหว ชื่อว่าโลลุปปิตัตตะ.
               อาการที่หวั่นไหว ความเป็นไปแห่งความหวั่นไหว ความเป็นแห่งผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยความหวั่นไหว ชื่อว่าโลลุปปายิตัตตะ.
               บทว่า ปุจฺฉญฺจิกตา ได้แก่ ตัณหาที่เป็นเครื่องให้สัตว์ทั้งหลายหวั่นไหว คือหวั่นไหวเที่ยวไปในที่มีลาภ ดุจสุนัข. บทนี้เป็นชื่อแห่งตัณหา เครื่องหวั่นไหวนั้น.
               บทว่า สาธุกมฺยตา ได้แก่ ความใคร่ดี เพราะอรรถว่ายังเหล่าสัตว์ให้ใคร่ในอารมณ์ที่น่าชอบใจๆ ดี. ความเป็นแห่งความใคร่ดีนั้น ชื่อว่าสาธุกัมยตา.
               ชื่อว่า อธรรมราคะ เพราะอรรถว่า ความกำหนัดในฐานะไม่สมควร มีมารดาและป้าน้าเป็นต้น. ความโลภที่เกิดขึ้นมีกำลังแม้ในฐานะที่สมควร ชื่อว่า วิสมโลภ. ฉันทราคะที่เกิดขึ้นในฐานะที่สมควรก็ตามในฐานะที่ไม่สมควรก็ตาม พึงทราบว่า อธรรมราคะ เพราะอรรถว่าผิดธรรม และว่า วิสมโลภะ เพราะอรรถว่าไม่สม่ำเสมอ.
               ชื่อว่าความใคร่ ด้วยสามารถแห่งความใคร่ในอารมณ์ทั้งหลาย.
               อาการแห่งความใคร่ ชื่อว่า นิกามนา.
               ชื่อว่าความมุ่งหมาย ด้วยสามารถแห่งความมุ่งหมายวัตถุ.
               ชื่อว่าความปอง ด้วยสามารถแห่งความต้องการ.
               ความปรารถนาด้วยดี ชื่อว่าความปรารถนาดี.
               ตัณหาในกามคุณ ๕ ชื่อว่ากามตัณหา. ตัณหาในรูปภพและอรูปภพ ชื่อว่าภวตัณหา. ตัณหาในความไม่มี กล่าวคือขาดสูญ ชื่อว่าวิภวตัณหา. ตัณหาในรูปภพที่บริสุทธิ์นั่นแลชื่อว่ารูปตัณหา. ตัณหาในอรูปภพ ชื่อว่าอรูปตัณหา ได้แก่ความกำหนัดที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ. ตัณหาในนิโรธ ชื่อว่านิโรธตัณหา. ตัณหาในเสียง ชื่อว่าสัททตัณหา. แม้ในคันธตัณหาเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               โอฆะเป็นต้น มีเนื้อความได้กล่าวไว้แล้วแล.
               ชื่อว่า อาวรณะ เพราะอรรถว่ากั้นกุศลธรรมทั้งหลาย.
               ชื่อว่า ฉทนะ ด้วยสามารถเป็นเครื่องปิด.
               ชื่อว่า พันธนะ เพราะอรรถว่าผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ในวัฏฏะ.
               ชื่อว่า อุปกิเลส เพราะอรรถว่าเบียดเบียนจิต เศร้าหมองคือทำให้เศร้าหมอง.
               ชื่อว่า อนุสยะ เพราะอรรถว่านอนเนื่อง ด้วยอรรถว่ามีกำลัง.
               ชื่อว่า ปริยุฏฐานะ เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นครอบงำจิต. ความว่า ยึดอาจาระที่เป็นกุศลไม่ให้เกิดขึ้น.
               อธิบายว่า ยึดมรรคา. ในข้อความเป็นต้นว่า พวกโจรครอบงำในมรรคา พวกนักเลงครอบงำในมรรคา. แม้ในที่นี้ก็พึงทราบการครอบงำ ด้วยอรรถว่ายึดด้วยอาการอย่างนี้.
               ชื่อว่า ลตา เพราะอรรถว่าเป็นดังเถาวัลย์ ด้วยอรรถว่าพัวพัน แม้ในอาคตสถานว่า ตัณหาก่อความยุ่งยากตั้งอยู่ดังนี้ ตัณหานี้ท่านก็กล่าวว่า ลตา เหมือนกัน.
               ชื่อว่า เววิจฉะ เพราะอรรถว่าปรารถนาวัตถุต่างๆ.
               ชื่อว่า ทุกขมูล เพราะอรรถว่าเป็นมูลแห่งทุกข์ในวัฏฏะ.
               ชื่อว่า ทุกขนิทาน เพราะอรรถว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้นแล.
               ชื่อว่า ทุกขปภวะ แดนเกิดแห่งทุกข์ เพราะอรรถว่าทุกข์นั้นเกิดแต่ตัณหานี้.
               ชื่อว่า ปาสะ เพราะอรรถว่าเป็นดุจบ่วง ด้วยอรรถว่าผูกไว้, บ่วงแห่งมาร ชื่อว่ามารปาสะ.
               ชื่อว่า พฬิสะ เพราะอรรถว่าเหมือนเบ็ด ด้วยอรรถว่ากลืนยาก, เบ็ดแห่งมาร ชื่อว่ามารพฬิสะ.
               ชื่อว่า มารวิสัย เพราะอรรถว่าเป็นวิสัยแห่งมาร โดยปริยายนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายที่ถูกตัณหาครอบงำแล้ว ย่อมไม่ล่วงพ้นวิสัยของมารไปได้ มารย่อมใช้อำนาจเหนือสัตว์เหล่านั้น.
               แม่น้ำคือตัณหา ชื่อว่า ตัณหานที ด้วยอรรถว่าไหลไป.
               ข่ายคือตัณหา ชื่อว่า ตัณหาชาละ ด้วยอรรถว่าท่วมทับ.
               สุนัขทั้งหลายที่ผูกไว้แน่น คนนำไปตามปรารถนาได้ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่ตัณหาผูกไว้ก็ฉันนั้น
               ชื่อว่า คัททละ เพราะอรรถว่าเป็นเหมือนโซ่ผูกสุนัข ด้วยอรรถว่าผูกไว้แน่น. โซ่ผูกสุนัขคือตัณหา ชื่อว่าตัณหาคัททละ.
               ทะเลคือตัณหา ชื่อว่า ตัณหาสมุทร ด้วยอรรถว่าให้เต็มได้ยาก.
               ชื่อว่า อภิชฌา ด้วยอรรถว่าเพ่งเล็ง.
               ชื่อว่า โลภะ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องได้ หรือได้เอง หรือสักว่าได้เท่านั้น.
               ชื่อว่า มูละ ด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งอกุศลทั้งหลายที่ประกอบกัน.
               บทว่า วิสตฺติกา ได้แก่ ชื่อว่าซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ.
               บทว่า เกนตฺเถน ได้แก่ ด้วยสภาวะอะไร.
               บทว่า วิสตา ได้แก่ แผ่ไปแล้ว.
               ชื่อว่า วิสาล เพราะอรรถว่าแผ่ไปในอารมณ์มีรูปเป็นต้น.
               ชื่อว่า วิสฏา เพราะอรรถว่าแล่นไป ด้วยสามารถซ่านไปทุกแห่งในภูมิ ๓.
               ก็คำแรกนี้ ท่านกล่าวจำแนกพยัญชนะ แปลง อักษรเป็น อักษร.
               บทว่า วิสกฺกติ ได้แก่ ปกครอง คืออดทน. ก็คนที่กำหนัด แม้ถูกกระทบด้วยเท้าอันเป็นวัตถุแห่งราคะ ย่อมอดทนได้
               ท่านกล่าวความชักช้า หรือความดิ้นรน ว่า วิสกฺกนํ ก็มี.
               อาจารย์บางพวกพรรณนาว่า เป็นใหญ่ของกุศลและอกุศลทั้งหลาย.
               บทว่า วิสํหรติ ความว่าเห็นอานิสงส์ในกามทั้งหลายอย่างนั้นๆ รวบรวม คือเปลี่ยนจิตจากที่เป็นไปมุ่งเนกขัมมะ ด้วยอาการหลายอย่าง.
               อีกอย่างหนึ่ง ความว่า นำความทุกข์ที่มีพิษไปเสีย.
               บทว่า วิสํวาทิกา ความว่า เป็นเหตุให้พูดผิดว่าท่านจงยึดถือของที่ไม่เที่ยงเป็นต้น ว่าเป็นของเที่ยง.
               ชื่อว่า วิสมูลา มีมูลรากเป็นพิษ เพราะความเป็นเหตุแห่งกรรมที่ให้เกิดทุกข์.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วิสมูลา เพราะอรรถว่ามีทุกข์ที่มีพิษ คือเวทนาที่เป็นทุกข์เป็นต้น เป็นมูลราก.
               ชื่อว่า วิสผลา มีผลเป็นพิษ เพราะอรรถว่ามีผลเป็นพิษ เพราะเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์.
               การบริโภคสิ่งที่เป็นทุกข์มีรูปเป็นต้นซึ่งไม่ใช่อมตะ ย่อมมีด้วยตัณหาใด เหตุนั้น ตัณหานั้นท่านจึงกล่าวว่า วิสปริโภคา.
               บทที่สำเร็จรูปในที่ทั้งปวง พึงทราบตามหลักภาษา.
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงวิสัยแห่งตัณหานั้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อีกอย่างหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไปในรูป ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิสาลา วา ปน ได้แก่ ชื่อว่าตัณหา ด้วยอรรถว่าเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่นั่นเอง, รูปเป็นต้นท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งความกำหนัดที่เป็นไปในกามคุณ ๕ บท.
               ๑๑ บทมีบทว่า กุเล คเณ เป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งความเกิดขึ้นแห่งความโลภ.
               ติกะแห่งกามธาตุ ท่านจำแนกด้วยสามารถแห่งกรรมวัฏฏ์.
               ติกะแห่งกามภพ จำแนกด้วยสามารถแห่งวิปากวัฏฏ์
               ติกะแห่งสัญญาภพ จำแนกด้วยสามารถแห่งสัญญา.
               ติกะแห่งเอกโวการภพ จำแนกด้วยสามารถแห่งขันธ์.
               ติกะแห่งอดีต จำแนกด้วยสามารถแห่งกาล.
               จตุกะแห่งทิฏฐธรรม จำแนกด้วยสามารถแห่งอารมณ์
               ติกะแห่งอบาย จำแนกด้วยสามารถแห่งโอกาส
               ติกะแห่งขันธ์ จำแนกด้วยสามารถแห่งนิสสัตตะนิชชีวะ พึงทราบดังนี้
               ในบทเหล่านั้น มีการแสดงเนื้อความและการขยายเนื้อความโดยสังเขป ดังต่อไปนี้
               บรรดาบทเหล่านั้น กามธาตุเป็นไฉน? การที่ท่องเที่ยวไปในระหว่างนี้ คือเบื้องต่ำมีนรกอเวจีเป็นที่สุด เบื้องบนมีสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเป็นที่สุด ขันธ์ ธาตุ อายตนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่นับเนื่องในกามาพจรนี้ นี้เรียกว่ากามธาตุ.
               บรรดาบทเหล่านั้น รูปธาตุเป็นไฉน?
               รูปธาตุที่ท่องเที่ยวไปในระหว่างนี้คือ เบื้องต่ำมีพรหมโลกเป็นที่สุด เบื้องบนมีสวรรค์ชั้นอกนิษฐ์เป็นที่สุด ธรรมคือจิตและเจตสิกของผู้เข้าฌานก็ดี ของผู้สำเร็จแล้วก็ดี ของผู้มีสุขวิหารธรรมในปัจจุบันก็ดี ที่นับเนื่องในรูปาพจรนี้ นี้เรียกว่ารูปธาตุ
               บรรดาบทเหล่านั้น อรูปธาตุเป็นไฉน?
               อรูปธาตุที่ท่องเที่ยวไปในระหว่างนี้คือเบื้องต่ำมีสวรรค์ชั้นอากาสานัญจายตนะเป็นที่สุด เบื้องบนมีสวรรค์ชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะเป็นที่สุด ธรรมคือจิตและเจตสิกของผู้เข้าฌานก็ดี ของผู้สำเร็จแล้วก็ดี ของผู้อยู่เป็นสุขในปัจจุบันก็ดี ที่นับเนื่องในอรูปาพจรนี้ นี้เรียกว่าอรูปธาตุ ดังนี้
               แต่ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า บทว่า กามธาตุ ได้แก่ ขันธ์ ๕ ในกามภพ
               บทว่า รูปธาตุ ได้แก่ ขันธ์ ๕ ในรูปภพ.
               บทว่า อรูปธาตุ ได้แก่ขันธ์ ๔ ในอรูปภพ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธาตุที่ประกอบด้วยกามกล่าวคือกามภพ ชื่อว่ากามธาตุ, หรือธาตุกล่าวคือกาม ชื่อว่ากามธาตุ. ธาตุที่ละกาม ประกอบด้วยรูป ชื่อว่ารูปธาตุ, หรือธาตุกล่าวคือรูป ชื่อว่ารูปธาตุ. ธาตุที่ละทั้งกามและรูปประกอบด้วยอรูป ชื่อว่าอรูปธาตุ หรือธาตุกล่าวคืออรูป ชื่อว่าอรูปธาตุ.
               ธาตุเหล่านั้นแหละ ท่านกล่าวไว้โดยปริยายแห่งภพอีก ก็ท่านเรียกว่าภพ เพราะอรรถว่าเป็นอยู่ ภพที่ประกอบด้วยสัญญา ชื่อว่าสัญญาภพ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสัญญาภพ เพราะอรรถว่าภพของผู้มีสัญญา หรือสัญญามีอยู่ในภพนี้ สัญญาภพนั้นเป็นกามภพด้วย เป็นรูปภพที่พ้นจากอสัญญาภพด้วย เป็นอรูปภพที่พ้นจากเนวสัญญานาสัญญาภพด้วย.
               ภพที่ไม่ใช่สัญญาภพ ชื่อว่าอสัญญาภพ. อสัญญาภพนั้นเป็นเอกเทศแห่งรูปภพ.
               ชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญา เพราะอรรถว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะไม่มีความเป็นแห่งโอฬาร, ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะมีสภาวะเป็นของละเอียด ภพที่ประกอบด้วยเนวสัญญานาสัญญานั้น ชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญาภพ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เนวสัญญาสัญญาภพ เพราะอรรถว่าในภพนี้มีเนวสัญญานาสัญญา เพราะไม่มีสัญญาอันโอฬาร และเพราะมีสัญญาอันละเอียด เนวสัญญานาสัญญาภพนั้น เป็นเอกเทศแห่งอรูปภพ
               ชื่อว่า เอกโวการภพ เพราะอรรถว่าภพที่เกลื่อนไปด้วยรูปขันธ์หนึ่ง หรือภพนั้นมีโวการหนึ่ง, เอกโวการภพนั้น ก็คืออสัญญาภพนั่นเอง
               ชื่อว่า จตุโวการภพ เพราะอรรถว่าภพที่เกลื่อนไปด้วยอรูปขันธ์ ๔ หรือภพนั้นมีโวการ ๔, จตุโวการภพนั้นก็คืออรูปภพนั่นเอง
               ชื่อว่า ปัญจโวการภพ เพราะอรรถว่าภพที่เกลื่อนไปด้วยขันธ์ ๕ หรือภพนั้นมีโวการ ๕, ปัญจโวการภพนั้นเป็นกามภพด้วย เป็นเอกเทศแห่งรูปภพด้วย.
               ติกะแห่งอดีตมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า ทิฏฺฐํ ได้แก่ รูปารมณ์ที่มีสมุฏฐาน ๔.
               บทว่า สุตํ ได้แก่ สัททารมณ์ที่มีสมุฏฐาน ๒.
               บทว่า มุตํ ได้แก่ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ที่มีสมุฏฐาน ๔ ซึ่งบุคคลรู้แล้วพึงถือเอา.
               ธรรมารมณ์ที่พึงรู้ด้วยใจ ชื่อว่า วิญญาตัพพะ ในธรรมทั้งหลายที่เห็นแล้ว ฟังแล้ว ทราบแล้ว และพึงรู้แจ้งเหล่านั้น.
               บทว่า วิสฏา วิตฺถตา ความว่า แผ่ไปมาก.
               บทว่า อปายโลเก ได้แก่ ชื่อว่าอบาย เพราะไม่มีความรุ่งเรืองกล่าวคือความเจริญในอบายโลกนั้น.
               บทว่า ขนฺธโลเก ได้แก่ ขันธ์ ๕ มีรูปเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่าโลก ด้วยอรรถว่าเป็นกอง.
               บทว่า ธาตุโลเก ได้แก่ ธาตุ ๑๘ มีจักขุธาตุเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่าโลก ด้วยอรรถว่า ว่างเปล่า.
               บทว่า อายตนโลเก ได้แก่ อายตนะ ๑๒ นั่นแล ชื่อว่าโลก ด้วยเหตุมีอายตนะเป็นต้น ทั้งหมดชื่อว่าโลก ด้วยอรรถว่าสลาย.
               ตัณหาชื่อว่า วิสัตติกา เพราะอรรถว่าแล่นไป ซ่านไปในโลกมีประการดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า สโต ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอรรถว่าระลึกได้.
               ท่านกล่าวสติโดยเป็นบุคคล สติในบทนั้น มีความระลึกได้เป็นลักษณะ.
               ชื่อว่าสติ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องระลึกได้ของเหล่าสัตว์ หรือระลึกได้เอง หรือเพียงระลึกเท่านั้น.
               ก็สตินี้นั้นมีการทำซ้ำๆ เป็นลักษณะ มีความไม่ลืมเป็นรส มีการรักษาเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีภาวะมุ่งอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน มีความจำมั่นเป็นปทัฏฐาน หรือมีสติปัฏฐานมีกายเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน พึงเห็นว่าเหมือนเสาระเนียด เพราะตั้งมั่นในอารมณ์. และเหมือนนายประตู เพราะรักษาจักขุทวารเป็นต้น
               พระสารีบุตรเถระเมื่อแสดงฐานะความเป็นไปของสตินั้น กล่าวสติปัฏฐาน ๔ อย่าง โดยนัยเป็นต้นว่า เมื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ดังนี้
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเย ได้แก่ ในรูปกาย.
               จริงอยู่ รูปกายท่านประสงค์เอาว่า กาย ด้วยอรรถว่าหมู่แห่งอวัยวะน้อยใหญ่มีผมเป็นต้น และแห่งธรรมทั้งหลาย ดุจหมู่ช้างหมู่รถเป็นต้น ด้วยอรรถว่าหมู่ฉันใด, ด้วยอรรถว่าประชุมแห่งสิ่งน่าเกลียดก็ฉันนั้น. ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นที่ประชุมแห่งสิ่งน่าเกลียดซึ่งน่ารังเกียจอย่างยิ่ง ดังนี้ก็มี
               ประเทศเป็นที่เกิดขึ้น ชื่อว่า อายะ.
               ในบทนั้นมีเนื้อความของคำดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่า อายะ เพราะอรรถว่าประชุมกันในที่นั้น.
               อะไรประชุมกัน? สิ่งน่าเกลียดมีผมเป็นต้นประชุมกัน.
               ชื่อว่า กาย เพราะอรรถว่าเป็นที่ประชุมแห่งสิ่งน่าเกลียดด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า กายานุปสฺสนา ได้แก่ การพิจารณากาย.
               พึงทราบว่า แม้ท่านกล่าวว่า กาเย ได้แล้วก็ยังกระทำศัพท์ว่า กาย ที่สอง ในบทว่า กายานุปสฺสนา ไว้อีกเพื่อแสดงการแยกฆนสัญญาด้วยการกำหนดโดยไม่ระคนกัน.
               เหตุนั้น ท่านจึงไม่แสดงว่า กาเย เวทนานุปสฺสนา การพิจารณาเวทนาในกาย, หรือว่า กาเย จิตฺตธมฺมานุปสฺสนา การพิจารณาจิตและธรรมในกาย. ที่แท้ท่านแสดงการกำหนดโดยไม่ระคนกันด้วยการแสดงอาการพิจารณากาย ในวัตถุกล่าวคือกายว่า กายานุปัสสนา เท่านั้น.
               อนึ่ง ไม่ใช่เป็นการพิจารณาธรรมอย่างหนึ่งที่พ้นจากอวัยวะน้อยใหญ่ในกาย. ทั้งไม่ใช่เป็นการพิจารณาสตรีและบุรุษที่พ้นจากอวัยวะมีผมและขนเป็นต้น.
               ก็กายแม้ใดกล่าวคือหมู่แห่งมหาภูตรูปและอุปาทายรูปมีผมและขนเป็นต้นในที่นี้ ในกายแม้นั้น พระสารีบุตรเถระเมื่อแสดงโดยประการต่างๆ ของวัตถุกล่าวคือกาย, เป็นอันท่านแสดงการแยกฆนสัญญาด้วยสามารถแห่งหมู่นั่นแลว่า ไม่ใช่เป็นการพิจารณาธรรมอย่างหนึ่ง ที่พ้นจากมหาภูตรูปและอุปาทายรูป ที่แท้เป็นการพิจารณาหมู่อวัยวะน้อยใหญ่ ดุจการพิจารณาของผู้พิจารณาเครื่องรถ เป็นการพิจารณาหมู่แห่งผมและขนเป็นต้น ดุจการพิจารณาของผู้พิจารณาเครื่องปรุงแต่งพระนคร เป็นการพิจารณาหมู่แห่งมหาภูตรูปและอุปาทายรูปทีเดียว ดุจการพิจารณาของผู้แยกลำต้น ใบและกาบของต้นกล้วย และดุจของผู้แทงตลอดกำมือที่ว่างเปล่า.
               ก็ธรรมอะไรๆ เป็นกายก็ตาม สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม หรืออย่างอื่นก็ตามที่พ้นจากหมู่ตามที่กล่าวแล้ว ย่อมไม่ปรากฏในที่นี้. แต่สัตว์ทั้งหลายย่อมกระทำซึ่งการยึดผิดอย่างนั้นๆ ในสิ่งสักว่าหมู่แห่งธรรมตามที่กล่าวแล้วนั่นแล.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑. กามสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=1&Z=486
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :