ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑. กามสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๔ / ๖.

               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า :-
                         บุคคลย่อมเห็นสิ่งใด สิ่งนั้นชื่อว่าเห็นแล้ว ก็หาไม่
               สิ่งใดอันเขาเห็นแล้ว บุคคลชื่อว่าย่อมไม่เห็นสิ่งนั้น
               เมื่อไม่เห็นอยู่ ย่อมติด เมื่อติดก็หลงอยู่ ย่อมพ้นไปไม่ได้.

               ก็เนื้อความแม้นี้ในที่นี้ พึงทราบด้วยอาทิศัพท์ที่กล่าวไว้ว่า เพื่อแสดงการแยกหมู่เป็นอาทิดังนี้. และการพิจารณากายในกายนี้นั้นแล ไม่ใช่การพิจารณาธรรมอื่น.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร?
               ท่านอธิบายไว้ว่า :-
               การพิจารณาน้ำในพยับแดดแม้ไม่มีน้ำฉันใด การพิจารณาว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาและงาม ในกายนี้ซึ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาและไม่งามนั่นแล ฉันนั้นหามิได้. ที่แท้การพิจารณากาย ก็คือการพิจารณาหมู่แห่งอาการที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาและไม่งามนั่นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง กายนี้ใดเกิดแต่สิ่งละเอียด มีลมหายใจออกลมหายใจเข้าเป็นต้น มีกระดูกเป็นที่สุด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานโดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ป่าก็ตาม ฯลฯ เธอเป็นผู้มีสติหายใจออกอยู่ ดังนี้.
               และกายใดที่พระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ในสติปัฏฐานกถา ในปฏิสัมภิทามรรค ขุททกนิกายว่า บุคคลบางคนในโลกนี้พิจารณากายคือดิน กายคือน้ำ กายคือไฟ กายคือลม กายคือผม กายคือขน กายคือผิว กายคือหนัง กายคือเนื้อ กายคือเลือด กายคือเอ็น กายคือกระดูก กายคือเยื่อในกระดูก โดยความเป็นของไม่เที่ยงดังนี้ พึงทราบเนื้อความของกายนั้นทั้งหมดแม้อย่างนี้ว่า เป็นการพิจารณากาย โดยการพิจารณาในกายนี้เท่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า การพิจารณากายกล่าวคือหมู่แห่งผมเป็นต้นในกาย โดยการพิจารณาหมู่แห่งธรรมต่างๆ มีผมและขนเป็นต้นนั้นๆ แหละ ไม่พิจารณาอะไรๆ ที่จะพึงยึดถือในกายอย่างนี้ว่าเรา หรือว่าของเรา.
               อนึ่ง พึงทราบเนื้อความแม้อย่างนี้ว่า การพิจารณากายในกาย แม้โดยการพิจารณากายกล่าวคือหมู่แห่งอาการมีอนิจจลักษณะเป็นต้นทั้งหมดทีเดียว ซึ่งมีนัยอันมาแล้วในปฏิสัมภิทามรรคตามลำดับเป็นต้นว่า ย่อมพิจารณาในกายนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่พิจารณาโดยความเป็นของเที่ยง ดังนี้.
               ก็เนื้อความนี้ทั่วไปแก่สติปัฏฐานทั้ง ๔.
               บทว่า สติปฏฺฐานํ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๓ อย่าง คือ สติโคจร ๑. ความที่พระศาสดาเป็นผู้ประพฤติล่วง ความยินดียินร้ายในหมู่พระสาวกผู้ปฏิบัติสามอย่าง ๑. ตัวสติ ๑.
               ก็อารมณ์ของสติ เรียกสติปัฏฐาน ในข้อความเป็นต้นว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดและความดับแห่งสติปัฏฐาน ๔ พวกเธอจงฟังข้อนั้น จงใส่ใจให้ดี ฯลฯ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายเกิดอย่างไร, กายเกิดเพราะอาหารเกิด ดังนี้.
               แม้ในข้อความเป็นต้นว่า การตั้งขึ้น คือกาย ไม่ใช่สติ, สติเป็นทั้งการตั้งขึ้น เป็นทั้งสติ ดังนี้ก็เหมือนกัน. ข้อนั้นมีเนื้อความดังนี้ ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง. อะไรตั้ง? สติตั้ง. ที่ตั้งแห่งสติ ชื่อว่าสติปัฏฐาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ตั้งคือเริ่มตั้ง. ที่ตั้งแห่งสติ ชื่อว่าสติปัฏฐาน ดุจที่ตั้งแห่งช้างที่ตั้งแห่งม้าเป็นต้น. เพราะความที่แห่งพระศาสดาเป็นผู้ประพฤติล่วงความยินดียินร้ายในหมู่พระสาวกผู้ปฏิบัติ ๓ อย่าง ท่านจึงกล่าวว่าสติปัฏฐาน ในที่นี้ว่า พระศาสดาผู้อริยะเสพธรรมใด ธรรมนั้นคือสติปัฏฐาน ๓ ก็เมื่อเสพธรรมนั้นอยู่จึงควรเพื่อจะตามสอนหมู่ศิษย์ดังนี้.
               ข้อนั้นมีเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะพึงให้ตั้ง. ความว่า พึงให้เป็นไป.
               อะไรตั้ง? สติตั้ง, ที่ตั้งแห่งสติชื่อว่า สติปัฏฐาน.
               ก็และสตินั่นแลท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน.
               ในข้อความเป็นต้นว่า สติปัฏฐาน ๔ ที่บุคคลเจริญแล้วทำให้มากแล้วย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ดังนี้.
               ข้อนั้นมีเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะอรรถว่าตั้งอยู่. ความว่า ตั้งมั่น คือแล่นติดต่อกันเป็นไป. สตินั่นแหละชื่อว่าสติปัฏฐาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสติ ด้วยอรรถว่าระลึกได้, ชื่อว่าปัฏฐาน ด้วยอรรถว่าตั้งไว้มั่น, สตินั้นด้วย ตั้งไว้มั่นด้วย เหตุนั้นจึงชื่อว่าสติปัฏฐาน ด้วยประการฉะนี้.
               ในที่นี้ ท่านประสงค์ความข้อนี้คือสติปัฏฐานนั้น.
               บทว่า ภาเวนฺโต ได้แก่ เจริญอยู่.
               ก็ในที่นี้คำใดอันท่านกล่าวแล้วว่า สติปัฐาน เพราะความที่พระศาสดาประพฤติล่วงความยินดียินร้ายในเหล่าสาวกผู้ปฏิบัติโดยส่วนสาม คำนั้นพึงถือเอาตามสูตรนี้.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               พระศาสดาผู้อริยะเสพธรรมใด ธรรมนั้นคือสติปัฏฐาน ๓ ก็เมื่อเสพธรรมนั้นอยู่จึงควรเพื่อจะตามสอนหมู่ศิษย์ดังนี้.
               ก็คำนี้ท่านได้กล่าวไว้แล้วด้วยประการฉะนี้และก็ท่านกล่าวคำนี้ เพราะอาศัยอะไร? เพราะอาศัยคำนี้ว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศาสดาในศาสนานี้แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์แสวงประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความอนุเคราะห์แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลของพวกเธอ นี้เพื่อความสุขของพวกเธอดังนี้. เหล่าสาวกของศาสดานั้น ไม่ปรารถนาฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งใจจะรู้ และหลีกไปเสียจากคำสอนของศาสดา.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนั้น ตถาคตจะยินร้ายก็หามิได้ จะเสวยความยินร้ายก็หามิได้ ไม่ซูบซีด มีสติสัมปชัญญะอยู่
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๑.
               ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระศาสดา ฯลฯ นี้เพื่อความสุขของพวกเธอดังนี้. สาวกบางพวกของศาสดานั้น ไม่ปรารถนาฟัง ฯลฯ สาวกบางพวกปรารถนาฟัง ฯลฯ และไม่หลีกไปเสียจากคำสอนของศาสดา.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนั้น ตถาคตจะยินร้ายก็หามิได้, จะเสวยความยินร้ายก็หามิได้, จะยินดีก็หามิได้. จะเสวยความยินดีก็หามิได้, สละวางเสียซึ่งความยินร้ายและความยินดีทั้งสองอย่าง. เป็นผู้วางเฉยมีสติสัมปชัญญะอยู่.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๒.
               ฯลฯ ข้ออื่นยังมีอีก ฯลฯ นี้เพื่อความสุขของพวกเธอดังนี้. สาวกทั้งหลายของศาสดานั้น ปรารถนาจะฟัง ฯลฯ ไม่หลีกไปเสียจากคำสอนของศาสดา.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนั้น ตถาคตย่อมยินดี, และเสวยความยินดี ทั้งไม่ซูบซีดมีสติสัมปชัญญะอยู่.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๓.
____________________________
๑- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๓๓-๖๓๖ สฬายตนวิภังคสูตร

               ความไม่ซูบซีด เพราะความยินร้ายและความยินดีทั้งหลาย และความล่วงพ้นความยินร้ายและความยินดีทั้งสองนั้น เพราะมีสติตั้งมั่นเป็นนิจอย่างนี้ ท่านกล่าวว่าสติปัฏฐาน ด้วยประการฉะนี้.
               ได้ยินว่า ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่นเป็นนิจมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น มิได้มีแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นต้นแล.
               ก็ในการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลายเป็นต้น พึงทราบว่า ต้องประกอบคำว่า เวทนา เป็นต้นเข้ากับคำว่า อนุปัสสนา ตามที่ควรประกอบโดยนัยที่กล่าวแล้วในกายานุปัสสนานั่นแล.
               เนื้อความแม้นี้ก็เป็นเนื้อความทั่วๆ ไป คือ การพิจารณาเวทนาอย่างหนึ่งๆ ในเวทนาหลายประเภทมีสุขเวทนาเป็นต้น โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นเป็นอย่างๆ.
               การพิจารณาจิตอย่างหนึ่งๆ ในจิต ๑๖ ประเภทมีสราคจิตเป็นต้น โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นเป็นอย่างๆ.
               การพิจารณาธรรมอย่างหนึ่งๆ ในธรรมที่เป็นไปในภูมิสามที่เหลือ นอกจากกายเวทนาและจิต โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นเป็นอย่างๆ.

               การพิจารณาธรรมมีนิวรณ์เป็นต้น โดยนัยที่กล่าวแล้วในสติปัฏฐานสูตร.
               และในที่นี้:-
               เอกวจนะในบทว่า กาเย เพราะสรีระเป็นหนึ่ง.
               เอกวจนะในบทว่า จิตเต เพราะจิตเป็นหนึ่ง.
               พึงทราบว่า ท่านทำด้วยชาติศัพท์ เพราะมีสภาวะไม่แตกต่างกัน.
               อนึ่ง พึงทราบการพิจารณาเหมือนอย่างเวทนาเป็นต้นที่พึงพิจารณาว่า การพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย. การพิจารณาจิตในจิต, การพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย.
               ก็เวทนาพึงพิจารณาอย่างไร?
                         พึงพิจารณาสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์ก่อน.
                         พึงพิจารณาทุกขเวทนาโดยความเป็นดังลูกศร.
                         พึงพิจารณาอทุกขมสุขเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยง.
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า๒- :-
                         ภิกษุใดได้เห็นสุขโดยความเป็นทุกข์ ได้เห็นทุกข์
               โดยความเป็นดังลูกศร. ได้เห็นอทุกขมสุขซึ่งมีอยู่นั้นโดย
               ความเป็นของไม่เที่ยง. ภิกษุนั้นแลเป็นผู้เห็นชอบย่อม
               กำหนดรู้เวทนาทั้งหลายได้.

____________________________
๒- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๓๖๘

               อนึ่ง เวทนาเหล่านั้นทั้งหมดนั่นเทียว พึงพิจารณาแม้โดยความเป็นทุกข์.
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า๓- :-
               เรากล่าวเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดนั้นว่าเป็นทุกข์ พึงพิจารณาสุขเวทนา แม้โดยความเป็นทุกข์. เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า๔- สุขเวทนาเป็นสุขเพราะดำรงอยู่ เป็นทุกข์เพราะแปรปรวนไป. ทุกขเวทนาเป็นทุกข์เพราะดำรงอยู่ เป็นสุขเพราะแปรปรวนไป. อทุกขมสุขเวทนาเป็นสุขเพราะรู้ เป็นทุกข์เพราะไม่รู้.
____________________________
๓- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๓๙๑
๔- ม .มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๑๑

               อีกอย่างหนึ่ง พึงพิจารณาด้วยสามารถแห่งการพิจารณาสัตว์โดยความเป็นอนิจจังเป็นต้น. แม้ในจิตและธรรมทั้งหลาย พึงพิจารณาจิตก่อน ด้วยสามารถแห่งการพิจารณาสัตว์โดยความเป็นอนิจจังเป็นต้น ซึ่งมีความแตกต่างกันโดยอารมณ์, อธิบดี, สหชาตะ, ภูมิ, กรรมและกิริยาเป็นต้นแห่งจิต ๑๖ ประเภทมีสราคจิตเป็นต้น.
               พึงพิจารณาธรรมทั้งหลายด้วยสามารถแห่งสุญญตธรรมของผู้ที่เป็นไปกับด้วยลักษณะและมีสามัญญลักษณะ และแห่งการพิจารณาสัตว์โดยความเป็นอนิจจังเป็นต้นที่มีอยู่และไม่มีอยู่เป็นต้น.
               สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ย่อมได้ในจิตต่างๆ ในส่วนเบื้องต้น ด้วยว่าบุคคลย่อมกำหนดกายด้วยจิตดวงหนึ่ง กำหนดเวทนาทั้งหลายด้วยจิตอีกดวงหนึ่ง กำหนดจิตด้วยจิตอีกดวงหนึ่ง กำหนดธรรมทั้งหลายด้วยจิตอีกดวงหนึ่ง. แต่ในขณะแห่งโลกุตตรมรรค ย่อมได้ในจิตดวงเดียวเท่านั้น.
               ดังนั้น สติที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนาของผู้ที่กำหนดกายมาแต่ต้น จึงชื่อว่ากายานุปัสสนา, บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินั้น ชื่อว่ากายานุปัสสี.
               สติที่สัมปยุตด้วยมรรคในขณะแห่งมรรคของผู้ที่ขวนขวายเจริญวิปัสสนาบรรลุอริยมรรคแล้ว ชื่อว่ากายานุปัสนา, บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินั้น ชื่อว่ากายานุปัสสี.
               สติที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนาของผู้ที่กำหนดเวทนา... กำหนดจิต... กำหนดธรรมทั้งหลายมาแล้ว ชื่อว่าธรรมานุปัสนา, บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินั้น ชื่อว่าธรรมานุปัสสี.
               สติที่สัมปยุตด้วยมรรคในมรรคขณะ ของผู้ที่ขวนขวายเจริญวิปัสสนาบรรลุอริยมรรคแล้ว ชื่อว่าธรรมานุปัสนา, บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินั้น ชื่อว่าธรรมานุปัสสี. เทศนาเป็นบุคคลาธิษฐานเท่านี้ก่อน.
               สติกำหนดกาย ละสุภสัญญาวิปลาส ย่อมสำเร็จได้ด้วยมรรค ดังนั้นจึงชื่อว่ากายานุปัสสนา.
               สติกำหนดเวทนา ละสุขสัญญาวิปลาส ย่อมสำเร็จได้ด้วยมรรค ดังนั้นจึงชื่อว่าเวทนานุปัสสนา.
               สติกำหนดจิต ละนิจจสัญญาวิปลาส ย่อมสำเร็จได้ด้วยมรรค ดังนั้นจึงชื่อว่าจิตตานุปัสสนา.
               สติกำหนดธรรม ละอัตตสัญญาวิปลาส ย่อมสำเร็จได้ด้วยมรรค ดังนั้นจึงชื่อว่าธรรมมานุปัสสนา.
               สติที่สัมปยุตด้วยมรรคอย่างเดียวนั่นแล ย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง ด้วยอรรถว่ายังกิจ ๔ ให้สำเร็จ. เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ในขณะแห่งโลกุตตรมรรค สติปัฏฐาน ๔ ย่อมได้ในจิตดวงเดียวนั่นเอง. ท่านกล่าวจตุกกะ ๓ อื่นๆ ด้วยสามารถอุปการะ ไม่เสื่อม และคุณอีก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสติปริวชฺชนาย ความว่า ไม่มีสติ ชื่อว่าอสติ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อสติ เพราะอรรถว่าสติไม่มีในผู้นี้. คำว่า อสติ นี้เป็นชื่อของสติที่ลืมแล้ว.
               บทว่า ปริวชฺชนาย ได้แก่ เพราะการเว้นโดยรอบ.
               สติย่อมเกิดขึ้น เพราะการเว้นบุคคลผู้มีสติอันลืมแล้วเช่นกาวางก้อนข้าว เพราะคบบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น และเพราะความเป็นผู้มีจิตน้อมไป โน้มไป เงื้อมไปเพื่อให้สติตั้งขึ้นพร้อมในการยืนและการนั่งเป็นต้น.
               บทว่า สติกรณียานํ ธมฺมานํ ได้แก่ ธรรมทั้งหลายที่ควรทำด้วยสติ.
               บทว่า กตตฺตา ได้แก่ เพราะความเป็นผู้กระทำ. อธิบายว่า เพราะความเป็นผู้กระทำ คือเจริญมรรค ๔.
               บทว่า สติปฏิปกฺขานํ ธมฺมานํ หตตฺตา ได้แก่ เพราะความเป็นผู้ทำให้กามฉันทะเป็นต้นพินาศ.
               บทว่า สตินิมิตฺตานํ ธมฺมานํ อปมุฏฺฐตฺตา ได้แก่ เพราะความเป็นผู้ไม่เสียอารมณ์ทางกายเป็นต้นที่เป็นเหตุแห่งสติ.
               บทว่า สติยา สมนฺนาคตตฺตา ได้แก่ เพราะความเป็นผู้มา คือไม่เสื่อมจากธรรมทั้งหลายด้วยสติ.
               บทว่า วสิตตฺตา ได้แก่ ถึงความชำนาญ.
               บทว่า ปาคุญฺญตาย ได้แก่ เพราะความคล่องแคล่ว.
               บทว่า อปจฺโจโรหณตาย ได้แก่ เพราะความไม่หวนกลับ คือเพราะความไม่ถอยหลังกลับ.
               บทว่า สตตฺตา ได้แก่ เพราะมีอยู่โดยสภาวะ
               บทว่า สนฺตตฺตา ได้แก่ เพราะมีสภาวะดับ.
               บทว่า สมิตตฺตา ได้แก่ เพราะความเป็นผู้ระงับกิเลสทั้งหลายได้.
               บทว่า สนฺตธมฺมสมนฺนาคตตฺตา ได้แก่ เพราะเป็นผู้ไม่เสื่อมจากธรรมของสัตบุรุษ.
               พุทธานุสสติเป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               ชื่อว่า สติ ด้วยสามารถระลึกได้. นี้เป็นบทแสดงสภาวะของสติ.
               ชื่อว่า อนุสสติ ด้วยสามารถระลึกถึง โดยระลึกบ่อยๆ.
               ชื่อว่า ปฏิสฺสติ ด้วยสามารถระลึกเฉพาะ โดยระลึกราวกะมุ่งหน้าไป หรือบทนี้เป็นเพียงท่านขยายด้วยอุปสรรค.
               อาการที่ระลึก ชื่อว่า สรณตา.
               ก็เพราะบทว่า สรณตา เป็นชื่อของแม้สรณะ ๓ ฉะนั้น ท่านจึงใช้ศัพท์สติอีก เพื่อกันสรณะ ๓ นั้น.
               ก็เนื้อความในบทนี้มีดังนี้ว่า ความระลึกได้ กล่าวคือสติ.
               ชื่อว่า ธารณตา เพราะความทรงจำการเล่าเรียนพระสูตร.
               ความไม่เลื่อนลอยชื่อว่า อปิลาปนตา โดยอรรถว่าหยั่งลง กล่าวคือเข้าไปโดยลำดับ เหมือนอย่างว่า กะโหลกน้ำเต้าเป็นต้นย่อมลอยไป ไม่เข้าไปโดยลำดับฉันใด, สตินี้ไม่เหมือนฉันนั้น เมื่ออารมณ์มีอยู่ ย่อมเข้าสู่อารมณ์โดยลำดับ, ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ความไม่เลื่อนลอย.
               ชื่อว่า อปมุสฺสนตา เพราะความไม่ลืมเรื่องที่ทำไว้นานและคำที่พูดไว้นาน.
               ชื่อว่า อินทริยะ เพราะอรรถว่าให้กระทำ อรรถว่าเป็นใหญ่ในลักษณะที่บำรุง. อินทรีย์กล่าวคือสติ ชื่อว่าสตินทรีย์.
               ชื่อว่า สติพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวในความประมาท.
               ชื่อว่า สัมมาสติ เพราะอรรถว่าสติแน่นอน, สตินำให้พ้นทุกข์ สติเป็นกุศล.
               ชื่อว่า โพชฌังคะ เพราะอรรถว่าเป็นองค์แห่งการตรัสรู้. โพชฌงค์ที่เขาสรรเสริญและดี ชื่อว่าสัมโพชฌงค์. สัมโพชฌงค์คือสติ ชื่อว่าสติสัมโพชฌงค์.
               บทว่า เอกายนมคฺโค ได้แก่ ทางเอก. พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ทางนี้ไม่ใช่ทางสองแพร่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เอกายนะ เพราะอรรถว่าพึงไปคนเดียว.
               บทว่า เอเกน ความว่า พึงละความคลุกคลีด้วยหมู่ ไปคือดำเนินไปด้วยความสงัดซึ่งมีอรรถว่าวิเวก.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อยนะ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องไปของเหล่าสัตว์. อธิบายว่า เหล่าสัตว์จากสังสารวัฏไปสู่พระนิพพาน.
               ทางไปของบุคคลเอก ชื่อว่า เอกายนะ.
               บทว่า เอกสฺส ของบุคคลเอก ได้แก่ คนประเสริฐที่สุด.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดของสัตว์ทั้งปวง ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ความจริง แม้สัตว์อื่นๆ ก็ไปโดยทางนั้นโดยแท้, ถึงอย่างนั้น ทางนั้นก็เป็นของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่นั่นเอง เพราะพระองค์ทรงให้เกิดขึ้น.
               เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงยังทางที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ดังนี้เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อยนะ เพราะอรรถว่าไป. อธิบายว่าไปคือเป็นไป.
               ทางไปในที่เดียว ชื่อว่าเอกายนะ. ท่านอธิบายไว้ว่า เป็นไปในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มิใช่ที่อื่น.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนสุภัททะ ทางที่ประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ ย่อมได้ในธรรมวินัยนี้แล ดังนี้.
               นี้เป็นความต่างกันแห่งเทศนาเท่านั้น แต่เนื้อความก็อย่างเดียวกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เอกายนะ เพราะอรรถว่าไปสู่ที่เดียว.
               ท่านอธิบายไว้ว่า ในเบื้องแรกแม้เป็นไปโดยนัยภาวนาหัวข้อต่างๆ ในภายหลังก็ไปสู่พระนิพพานแห่งเดียวทั้งนั้น ดังนี้.
               เหมือนอย่างที่ท่านท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลแด่พระพุทธเจ้าไว้ว่า :-
                                   พระพุทธเจ้า พระผู้ทรงเห็นพระนิพพาน ที่สุดแห่ง
                         ความเกิดและความดับจึงตรัสรู้ (สติปัฏฐาน) มรรคคือทาง
                         ดำเนินทางเดียว ทรงอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล.
                                   พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย
                         ก็ดี และพระอรหันต์ทั้งหลายก็ดี ในกาลก่อนทุกพระองค์
                         ท่านได้ปฏิบัติทางสติปัฏฐานนี้ แล้วเป็นผู้บริสุทธิ์และบรรลุ
                         พระนิพพาน ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง.
                                   ในกาลอนาคตก็เช่นกัน มหาบุรุษทั้งหลายทุกท่าน
                         จักดำเนินตามทางสติปัฏฐานนี้ แล้วจักข้ามโอฆสงสารบรรลุ
                         พระนิพพาน.
                                   ในโลกปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน พระโคดมพุทธเจ้าและ
                         พระสาวกทั้งหลายของพระองค์ ก็ทำตนเองให้บริสุทธิ์จาก
                         กิเลสทั้งหลาย และข้ามโอฆสงสารบรรลุพระนิพพานโดย
                         ดำเนินทางสติปัฏฐานนี้.

               บทว่า มคฺโค ได้แก่ ชื่อว่ามรรค ด้วยอรรถว่าอย่างไร? ด้วยอรรถว่าไปสู่พระนิพพาน และด้วยอรรถว่าอันผู้ต้องการพระนิพพานพึงแสวงหา.
               บทว่า อุเปโต ความว่า ไปใกล้. บทว่า สมุเปโต ความว่า ไปใกล้กว่านั้น.
               อธิบายว่า ไม่เสื่อมจากสติทั้งสองบท.
               บทว่า อุปคโต ความว่า เข้าไปตั้งอยู่,
               บทว่า สมุปคโต ความว่า ประกอบพร้อมตั้งอยู่.
               บาลีว่า อุปาคโต สมุปาคโต ดังนี้ก็มี ความว่า มาใกล้สติทั้งสองบท.
               บทว่า อุปปนฺโน ได้แก่ เข้าถึงแล้ว.
               บทว่า สมุปปนฺโน ได้แก่ สมบูรณ์แล้ว.
               บทว่า สมนฺนาคโต ได้แก่ ไม่ขาดตกบกพร่อง.
               ท่านกล่าวถึงความเป็นไปด้วยบท ๒ บทว่า อุเปโต สมุเปโต. กล่าวถึงปฏิเวธด้วยบท ๒ บทว่า อุปคโต สมุปคโต. กล่าวถึงการได้เฉพาะ ด้วยบท ๓ บทว่า อุปปนฺโน สมุปปนฺโน สมนฺนาคโต อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า โลเก เวสา วิสตฺติกา ความว่า ตัณหานี้ใดที่ได้กล่าวแล้วโดยประการไม่น้อย ตัณหานั้นชื่อว่าวิสัตติกา ย่อมเป็นไปในขันธโลกนั่นแล ไม่เว้นจากขันธ์ทั้งหลาย.
               บทว่า โลเก เวตํ วิสตฺติกํ ความว่า ตัณหากล่าวคือที่ชื่อว่าวิสัตติกานั่น ซึ่งเป็นไปในขันธโลกนั่นแล.
               ผู้มีสติ เว้นขาดกามทั้งหลายได้ ชื่อว่าข้าม. ละกิเลสทั้งหลายได้ ตัดเหตุที่ตั้งของกิเลสเหล่านั้นได้ ชื่อว่าข้ามพ้น. ก้าวล่วงสังสารวัฏได้ ชื่อว่าก้าวล่วง, ทำปฏิสนธิให้ไม่สมควรจะเกิดขึ้น ชื่อว่าล่วงเลย.
               อีกอย่างหนึ่ง ข้าม ข้ามขึ้นด้วยกายานุปัสสนา. ข้ามพ้นด้วยเวทนานุปัสสนา. ก้าวล่วงด้วยจิตตานุปัสสนา. ล่วงเลยจากทุกอย่าง ด้วยธรรมานุปัสสนา.
               อีกอย่างหนึ่ง ข้ามด้วยศีล. ข้ามขึ้นด้วยสมาธิ. ข้ามพ้นด้วยวิปัสสนา ก้าวล่วงด้วยมรรค. ล่วงเลยด้วยผล.
               พึงประกอบความโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               คาถาที่ ๔ มีเนื้อความย่อดังต่อไปนี้ :-
               ผู้ใดย่อมปรารถนาไร่นาข้าวสาลีเป็นต้นก็ตาม ที่ดินที่มีเรือนเป็นต้นก็ตาม เงินกล่าวคือกหาปณะก็ตาม โคและม้าชนิดต่างๆ ก็ตาม ทาสที่เกิดภายในเป็นต้นก็ตาม กรรมกรรับจ้างเป็นต้นก็ตาม เหล่าหญิงที่ร้องเรียกกันว่าหญิงก็ตาม พวกพ้องโดยเป็นญาติเป็นต้นก็ตาม หรือกามอื่นๆ เป็นอันมากมีรูปที่น่าชอบใจเป็นต้น.
               บทว่า สาลิเขตฺตํ ได้แก่ ที่เป็นที่งอกงามแห่งข้าวสาลี แม้ในนาข้าวจ้าวเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า วีหิ ได้แก่ ข้าวจ้าวที่เหลือลง
               ชื่อว่า มุคคะ - ถั่วราชมาส เพราะอรรถว่าระคนกัน.
               บทว่า ฆรวตฺถํ ได้แก่ ภูมิภาคที่จัดทำไว้สำหรับสร้างเรือน.
               แม้ในที่ฉางเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า โกฏฺฐโก ได้แก่ ซุ้มประตูเป็นต้น.
               บทว่า ปุเร ได้แก่ หน้าเรือน.
               บทว่า ปจฺฉา ได้แก่ หลังเรือน.
               ชื่อว่า อาราม เพราะอรรถว่าเป็นที่มายินดี คือทำใจให้ยินดีได้. ความว่า ยินดีด้วยดอกบ้าง ด้วยผลบ้าง ด้วยร่มเงาบ้าง ด้วยทัศนะบ้าง.
               บทว่า ปสุกาทโย ได้แก่ แกะเป็นต้น.
               บทว่า อนฺโตชาตโก ได้แก่ เกิดในท้องของทาสีภายในเรือน.
               บทว่า ธนกฺกีโต ได้แก่ ซื้อด้วยทรัพย์เปลี่ยนเจ้าของยึดถือไว้.
               บทว่า สามํ วา ได้แก่ เองก็ตาม
               บทว่า ทาสวิยํ ได้แก่ ความเป็นแห่งทาส ชื่อว่าทาสัพยะ ความเป็นแห่งทาสนั้น.
               บทว่า อุเปติ ได้แก่ เข้าถึง.
               บทว่า อกามโก วา ได้แก่ ผู้ถูกนำมาเป็นเชลยด้วยความไม่ชอบใจของตนเพื่อจะแสดงทาสทั้ง ๔ เหล่านั้นอีก.
               ท่านจึงกล่าวว่า อามาย ทาสาปิ ภวนฺติ เหเก คนบางพวกเป็นทาสโดยกำเนิดบ้าง ดังนี้.
               บทว่า อามาย ทาสา ได้แก่ ทาสที่เกิดภายใน.
               ทาสเหล่านั้นแหละท่านกล่าวไว้แม้ในที่นี้ว่า ทาสในที่อื่นเกิดแต่หญิงรับใช้ย่างเนื้ออ้วนทั้งหลาย ดังนี้.
               บทว่า ธเนน กีตา ได้แก่ ทาสที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์.
               บทว่า สามญฺจ เอเก ได้แก่ เป็นทาสเอง.
               บทว่า ภยาปนุณฺณา ได้แก่ ทอดตัวยอมเป็นทาสเพราะกลัว.
               บทว่า ภตกา ได้แก่ พวกเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้าง.
               ชื่อว่า กรรมกร เพราะอรรถว่าทำงานมีกสิกรรมเป็นต้น.
               บทว่า อุปชีวิโน ได้แก่ ชื่อว่าพวกอยู่อาศัย เพราะอรรถว่า เข้าไปหาด้วยกิจมีการปรึกษาหารือเป็นต้นแล้วขออยู่อาศัย.
               บทว่า อิตฺถี ได้แก่ ชื่อว่าหญิง. เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งครรภ์.
               บทว่า ปริคฺคโห ได้แก่ มีสามี.
               พวกพ้องทางมารดาบิดา ชื่อว่าพวกพ้องโดยเป็นญาติ. พวกพ้องร่วมโคตร ชื่อว่าพวกพ้องโดยโคตร. ผู้เรียนมนต์ในสำนักอาจารย์เดียวกัน หรือมนต์อย่างเดียวกัน ชื่อว่าพวกพ้องโดยการเรียนมนต์. ผู้เรียนศิลปะธนูเป็นต้นร่วมกัน ชื่อว่าพวกพ้องโดยการเรียนศิลปะ. ปาฐะในบางคัมภีร์ปรากฏว่า แม้พวกพ้องโดยความเป็นมิตร ก็ชื่อว่าพวกพ้อง.
               บทว่า คิชฺฌติ ได้แก่ ปรารถนาด้วยกิเลสกาม.
               บทว่า อนุคิชฺฌติ ได้แก่ ปรารถนาเนืองๆ คือปรารถนาบ่อยๆ
               บทว่า ปลิคิชฺฌติ ได้แก่ ปรารถนาโดยรอบ.
               บทว่า ปลิพชฺฌติ ได้แก่ ปรารถนาโดยพิเศษ.
               อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาไว้อย่างนี้ว่า ปรารถนา ตามปรารถนาด้วยสามารถการถือโดยนิมิต ด้วยความเป็นของโอฬาร. ปรารถนาทั่วไป ติดพันด้วยสามารถการถือโดยอนุพยัญชนะ.
               คาถาที่ ๕ มีเนื้อความย่อดังต่อไปนี้ :-
               กิเลสทั้งหลายย่อมครอบงำ บังคับ ย่ำยีซึ่งบุคคลนั้น เพราะไม่มีกำลัง. หรือกิเลสที่ไม่มีกำลังย่อมครอบงำบุคคลนั้นผู้ไม่มีกำลัง เพราะเว้นจากกำลังคือศรัทธาเป็นต้น.
               อธิบายว่า ย่อมครอบงำได้ เพราะไม่มีกำลัง ครั้งนั้นอันตรายที่ปรากฏมีราชสีห์เป็นต้น. และอันตรายที่ไม่ปรากฏมีกายทุจริตเป็นต้น ย่อมครอบงำบุคคลนั้นผู้ปรารถนากาม รักษากาม และแสวงหากาม.
               แต่นั้น ทุกข์มีความเกิดเป็นต้นย่อมไปตามบุคคลนั้นผู้ที่อันตรายไม่ปรากฏครอบงำแล้ว ดุจน้ำไหลเข้าเรือรั่วฉะนั้น.
               บทว่า อพลา ความว่า กำลังของกิเลสเหล่านั้นไม่มี เหตุนั้น กิเลสเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่มีกำลัง, คือเว้นจากกำลัง,
               บทว่า ทุพฺพลา ได้แก่ ประกอบด้วยความเฉื่อยชา คือเว้นกิจที่จะพึงทำด้วยกำลัง.
               บทว่า อปฺปพลา ความว่ากำลังของกิเลสเหล่านั้นน้อย คือนิดหน่อย เหตุนั้น กิเลสเหล่านั้นจึงชื่อว่ามีกำลังน้อย คือไม่สามารถจะประกอบกรรมได้.
               บทว่า อปฺปถามกา ความว่า เรี่ยวแรง, ความพยายาม. ความอุตสาหะของกิเลสเหล่านั้นน้อย คือนิดหน่อย เหตุนั้น กิเลสเหล่านั้นจึงชื่อว่ามีเรี่ยวแรงน้อย.
               กิเลสเหล่านั้น ชื่อว่าเลว, ทราม, เสื่อม เพราะมีความเพียรเลว. ชื่อว่าตกต่ำ เพราะมีเรี่ยวแรงเลว. ชื่อว่าลามก เพราะมีปัจจัยเลว. ชื่อว่าเป็นดังค้างคาว เพราะมีอัธยาศัยเลว. ชื่อว่าเล็กน้อย เพราะมีสติเลว.
               บทว่า สหนฺติ ได้แก่ ย่ำยี คือยังการกระทบให้เกิดขึ้น.
               บทว่า ปริสหนฺติ ได้แก่ ย่ำยีโดยประการทั้งปวง.
               บทว่า อภิภวนฺติ ได้แก่ด้วยสามารถแห่งการเกิดขึ้นไปๆ มาๆ .
               บทว่า อชฺโฌตฺถรนฺติ ได้แก่ ด้วยสามารถแห่งการเกิดขึ้นบ่อยๆ.
               บทว่า ปริยาทิยนฺติ ได้แก่ ด้วยการให้ซูบซีดตั้งอยู่.
               บทว่า มทฺทนฺติ ได้แก่ ด้วยการห้ามไม่ให้กุศลเกิดขึ้น.
               บทว่า สทฺธาพลํ ความว่า ชื่อว่าศรัทธา เพราะอรรถว่าเป็นเหตุเชื่อของเหล่าสัตว์ หรือเชื่อเอง, หรือเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น.
               ศรัทธานั้นมีความเชื่อเป็นลักษณะ หรือมีความไว้ใจเป็นลักษณะ. มีความผ่องใสเป็นรส เหมือนแก้วมณีมีน้ำใส, หรือมีความแล่นไปเป็นรส เหมือนเรือแล่นข้ามห้วงน้ำ. มีความลุกขึ้นใช่กาลเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีความพอใจเป็นปัจจุปัฏฐาน. มีวัตถุเครื่องให้ด้วยศรัทธาเป็นปทัฏฐาน หรือมีองค์แห่งการแรกถึงกระแสธรรมเป็นปทัฏฐาน พึงเห็นเหมือนพืชที่ปลื้มใจในมือ.
               ชื่อว่า สัทธาพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวในความไม่เชื่อ.
               บทว่า วิริยพลํ ได้แก่ ภาวะของคนกล้า ชื่อว่าวิริยะ หรือกรรมของคนกล้า ชื่อว่าวิริยะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วิริยะ เพราะอรรถว่าพึงให้เคลื่อน คือให้เป็นไปด้วยวิธี ด้วยนัย ด้วยอุบาย.
               วิริยะนั่นนั้นมีความค้ำจุนเป็นลักษณะ หรือมีความประคองเป็นลักษณะ. มีความค้ำจุนสหชาตธรรมเป็นรส. มีการไม่จมเป็นปัจจุปัฏฐาน. มีความสังเวชหรือเรื่องปรารภความเพียรเป็นปทัฏฐาน.
               โดยพระบาลีว่า ผู้สังเวชย่อมเริ่มตั้งโดยแยบคาย.
               พึงเห็นว่า ความเพียรที่เริ่มแล้วเป็นมูลแห่งสมบัติทุกอย่าง.
               ชื่อว่า วีริยพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวในความเกียจคร้าน.
               ลักษณะเป็นต้นของสติ ได้กล่าวไว้แล้วเทียว.
               ชื่อว่า สติพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวในความลืมสติ.
               ชื่อว่า สมาธิ เพราะอรรถว่าให้ยึดมั่น คือตั้งไว้ซึ่งสหชาตปัจจัยทั้งหลายโดยชอบ.
               สมาธินั้นมีความเป็นหัวหน้าเป็นลักษณะ หรือมีความไม่ซัดส่ายเป็นลักษณะ หรือความไม่ฟุ้งซ่านไปเป็นลักษณะ. มีการประมวลสหชาตธรรมทั้งหลายไว้ในอารมณ์เป็นรส ดุจน้ำประมวลจุรณสำหรับอาบไว้. มีความสงบหรือญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ ย่อมเห็นตามเป็นจริง.
               โดยพิเศษมีความสุขเป็นปทัฏฐาน พึงเห็นว่า ความตั้งมั่นแห่งใจเหมือนความหยุดนิ่งของเปลวประทีปในที่สงัดลม.
               ชื่อว่า สมาธิพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวในความฟุ้งซ่าน.
               ชื่อว่า ปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด, รู้ชัดอะไร? รู้ชัดอริยสัจทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า นี้ทุกข์ ดังนี้.
               ปัญญานั้นมีการแทงตลอดตามสภาวะเป็นลักษณะ หรือมีการแทงตลอดไม่พลาดเป็นลักษณะ เหมือนการแทงตลอดของลูกธนูที่ยิงไปด้วยธนูของผู้มีฝีมือ. มีการส่องสว่างซึ่งอารมณ์เป็นรส เหมือนดวงประทีป. มีความไม่ลุ่มหลงเป็นปัจจุปัฏฐาน เหมือนผู้ชี้แจงอย่างดีแก่ผู้ไปป่า.
               ชื่อว่า ปัญญาพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวในอวิชชา.
               บทว่า หิริพลํ โอตฺตปฺปพลํ ความว่า ชื่อว่าหิริพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวในคนไม่มีหิริ. ชื่อว่าโอตตัปปพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวในคนไม่มีโอตตัปปะ.
               พรรณนาเนื้อความของบททั้งสองมีดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่า หิริ เพราะ อรรถว่าละอายต่อกายทุจริตเป็นต้น.
               คำว่า หิริ นี้เป็นชื่อของความละอาย.
               ชื่อว่า โอตตัปปะ เพราะอรรถว่า เกรงกลัวต่อกายทุจริตเป็นต้นเหล่านั้นแล.
               คำว่า โอตตัปปะ นี้เป็นชื่อของความหวาดสะดุ้งต่อบาป.
               เพื่อแสดงการกระทำต่างๆ ของหิริและโอตตัปปะเหล่านั้น ท่านเว้นมาติกานี้ สมุฏฐานที่สำคัญมีความละอายเป็นต้นเป็นลักษณะดังนี้เสีย กล่าวกถาพิสดารต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่าหิริ มีสมุฏฐานภายใน. ชื่อว่าโอตตัปปะ มีสมุฏฐานภายนอก.
               ชื่อว่าหิริ มีตนเป็นใหญ่. ชื่อว่าโอตตัปปะ มีโลกเป็นใหญ่.
               ชื่อว่าหิริ ตั้งอยู่ด้วยสภาวะละอาย, ชื่อว่าโอตตัปปะ ตั้งอยู่ด้วยสภาวะกลัว.
               ชื่อว่าหิริ มีความตกลงเป็นลักษณะ ชื่อว่าโอตตัปปะ มีความเป็นผู้เห็นภัยของผู้กลัวความผิดเป็นลักษณะ.
               บรรดาหิริและโอตตัปปะ ๒ นั้น บุคคลยังหิริมีสมุฏฐานภายในให้ตั้งขึ้นด้วยเหตุ ๔ อย่างคือ พิจารณาชาติ พิจารณาวัย พิจารณาความเป็นผู้กล้า พิจารณาความเป็นพหูสูต.
               อย่างไร?
               บุคคลพิจารณาชาติอย่างนี้ก่อนว่า ชื่อว่าการกระทำบาป ไม่ใช่การกระทำของผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ. การกระทำบาปนี้เป็นการกระทำของพวกมีชาติต่ำมีพวกประมงเป็นต้น. การกระทำกรรมนี้ไม่สมควรแก่ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติเช่นท่าน ดังนี้. ไม่กระทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น ยังหิริให้ตั้งขึ้น.
               บุคคลพิจารณาวัยอย่างนี้ว่า ชื่อว่าการกระทำบาปอย่างนั้นๆ เป็นกรรมที่พวกคนหนุ่มพึงกระทำ การกระทำกรรมนี้ไม่สมควรแก่ผู้ที่ตั้งอยู่ในวัยเช่นท่าน ดังนี้. ไม่กระทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น ยังหิริให้ตั้งขึ้น.
               บุคคลพิจารณาความเป็นผู้กล้าอย่างนี้ว่า ชื่อว่าการกระทำบาปอย่างนั้นๆ เป็นการกระทำของพวกมีชาติทุรพล. การกระทำกรรม นี้ไม่สมควรแก่ผู้สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้กล้าเช่นท่าน ดังนี้. ไม่กระทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น ยังหิริให้ตั้งขึ้น.
               บุคคลพิจารณาความเป็นพหูสูตอย่างนี้ว่า ชื่อว่าการกระทำบาปอย่างนั้นๆ เป็นการกระทำของพวกอันธพาล ไม่ใช่ของพวกบัณฑิต. การกระทำกรรมนี้ไม่สมควรแก่บัณฑิตผู้เป็นพหูสูตเช่นท่าน ดังนี้. ไม่กระทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น ยังหิริให้ตั้งขึ้น.
               บุคคลยังหิริให้ตั้งขึ้น ด้วยเหตุ ๔ อย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               ก็และครั้นให้หิริตั้งขึ้นแล้วยังหิริให้เข้าไปในจิตของตน จึงไม่กระทำบาป ชื่อว่าหิริมีสมุฏฐานภายใน ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่าโอตตัปปะมีสมุฏฐานภายนอก อย่างไร?
               บุคคลพิจารณาอย่างนี้ว่า ถ้าท่านจักกระทำกรรมลามก ท่านก็จักถูกติเตียนในบริษัท ๔
                         วิญญูชนทั้งหลายจักติเตียนท่าน เหมือนชาววังติเตียน
                         คนไม่สะอาด ท่านถูกผู้มีศีลทั้งหลายสละแล้ว ท่านเป็น
                         ภิกษุจักกระทำอย่างไร ดังนี้.
               ย่อมไม่กระทำกรรมลามก เพราะโอตตัปปะอันมีสมุฏฐานนอก ชื่อว่าโอตตัปปะมีสมุฏฐานภายนอก อย่างนี้.
               ชื่อว่าหิริ มีตนเป็นใหญ่ อย่างไร?
               กุลบุตรบางคนในโลกนี้ กระทำตนให้เป็นใหญ่ คือเจริญที่สุด ย่อมไม่กระทำบาปด้วยพิจารณาว่า การกระทำกรรมลามก ไม่สมควรแก่ผู้บวชด้วยศรัทธาเช่นท่านผู้เป็นพหูสูต ทรงธุดงค์ ชื่อว่าหิริมีตนเป็นใหญ่ อย่างนี้.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กุลบุตรนั้นกระทำตนนั่นแลให้เป็นใหญ่ ละอกุศลเจริญกุศล ละกรรมมีโทษเจริญ กรรมไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์.
               ชื่อว่าโอตตัปปะ มีโลกเป็นใหญ่ อย่างไร?
               กุลบุตรบางคนในโลกนี้ กระทำโลกให้เป็นใหญ่คือเจริญที่สุด ย่อมไม่กระทำกรรมลามก.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
               ก็โลกสันนิวาสนี้ใหญ่แล ในโลกสันนิวาสนี้มีสมณพราหมณ์เป็นผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้แจ้งจิตของผู้อื่น. สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมเห็นแม้แต่ที่ไกล คนทั้งหลายไม่เห็นท่านแม้ในที่ใกล้ ย่อมรู้ชัดซึ่งจิตแม้ด้วยจิต. สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้นจักรู้ซึ่งเราอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดูกุลบุตรนี้เขามีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือน ยังเต็มด้วยบาปอกุศลธรรมทั้งหลายอยู่.
               มีเทวดาเป็นผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้แจ้งจิตของผู้อื่น. เทวดาเหล่านั้นย่อมเห็นแม้แต่ที่ไกล คนทั้งหลายไม่เห็นท่านแม้ในที่ใกล้ ย่อมรู้ชัดซึ่งจิตแม้ด้วยจิต.
               เทวดาแม้เหล่านั้นจักรู้ซึ่งเราว่า
               ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดูกุลบุตรนี้ เขามีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือน ยังเต็มด้วยบาปอกุศลธรรมทั้งหลายอยู่. กุลบุตรนั้นกระทำโลกนั่นแลให้เป็นใหญ่ ละอกุศลเจริญกุศล ละกรรมมีโทษเจริญกรรมไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดังนี้.
               ชื่อว่าโอตตัปปะ มีโลกเป็นใหญ่อย่างนี้.
               ก็ในสองบทว่า หิริ ตั้งอยู่ด้วยสภาวะละอาย. โอตตัปปะ ตั้งอยู่ด้วยสภาวะกลัว นี้.
               บทว่า ลชฺชา ได้แก่ อาการที่ละอาย หิริตั้งอยู่ด้วยสภาวะนั้น.
               บทว่า ภยํ ได้แก่ ภัยในอบาย โอตตัปปะตั้งอยู่ในสภาวะนั้น.
               หิริและโอตตัปปะทั้งสองนั้น ย่อมปรากฏในการเว้นขาดจากบาป เหมือนอย่างบุคคลบางคนก้าวลงสู่ลัชชีธรรมแล้ว ย่อมไม่ทำบาป เหมือนบุรุษคนหนึ่งกำลังถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่ เห็นคนคนหนึ่งซึ่งควรจะละอาย พึงถึงอาการละอายเป็นผู้กระดากอาย ฉะนั้น บุคคลบางคนเป็นผู้กลัวแต่ภัยในอบาย ย่อมไม่ทำบาป.
               ในข้อนั้นมีอุปมาดังนี้ :-
               เหมือนอย่างว่า มีก้อนเหล็กสองก้อน ก้อนหนึ่งเย็น เปื้อนคูถ, ก้อนหนึ่งร้อน ไฟลุกแดง. ในก้อนเหล็กสองก้อนนั้น คนฉลาดย่อมรังเกียจไม่จับก้อนเย็นเพราะเปื้อนคูถ. ไม่จับก้อนร้อนเพราะกลัวร้อน.
               ในข้อนั้นพึงทราบว่า การก้าวลงสู่ลัชชีธรรมภายในไม่ทำบาป เหมือนการไม่จับเหล็กก้อนเย็นเพราะรังเกียจที่เปื้อนคูถ. การไม่ทำบาปเพราะกลัวภัยในอบาย เหมือนการไม่จับเหล็กก้อนร้อนเพราะกลัวร้อน.
               หิริมีความตกลงเป็นลักษณะ โอตตัปปะมีความเป็นผู้เห็นภัยของผู้กลัวความผิดเป็นลักษณะ แม้ทั้งสองนี้ย่อมปรากฏในการเว้นขาดจากบาปนั่นแล.
               ก็บุคคลบางคนยังหิริซึ่งมีความตกลงเป็นลักษณะ ให้ตั้งขึ้นแล้วไม่ทำบาปด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ พิจารณาความยิ่งใหญ่ของชาติ พิจารณาความยิ่งใหญ่ของศาสดา พิจารณาความยิ่งใหญ่ของมรดก พิจารณาความยิ่งใหญ่ของเพื่อนพรหมจารี.
               บุคคลบางคนยังโอตตัปปะซึ่งมีความเป็นผู้เห็นภัยของผู้กลัวความผิดเป็นลักษณะ ให้ตั้งขึ้นแล้วไม่ทำบาปด้วยอาการ ๔ อย่าง คือกลัวติเตียนตนเอง กลัวผู้อื่นติเตียน กลัวอาชญา กลัวทุคติ.
               การพิจารณาความยิ่งใหญ่ของชาติเป็นต้น และความกลัวติเตียนตนเองเป็นต้น พึงกล่าวให้พิศดารในเรื่องนั้น.
               พละ ๗ อย่างที่กล่าวแล้วอย่างนี้ ไม่มีแก่บุคคลใด กิเลสทั้งหลายเหล่านั้นย่อมครอบงำ ฯลฯ กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้นแล.
               บทว่า เทฺว ปริสฺสยา ความว่า อันตรายมี ๒ อย่าง คือที่ปรากฏและไม่ปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ ๑ ไม่ใช่ ๓ เพื่อจะแสดงอันตรายเหล่านั้นเป็นส่วนๆ พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า กตเม ปากฏปริสฺสยา ดังนี้
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกกา ได้แก่ สุนัขป่ามีเสียงเหมือนเสียงร้องของนกยูง.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะก็อย่างนี้แหละ.
               บทว่า มาณวา ได้แก่ ผู้ประกอบการงานผลุนผลัน.
               บทว่า กตกมฺมา ได้แก่ ผู้ทำโจรกรรมมีตัดที่ต่อเป็นต้น.
               บทว่า อกตกมฺมา ได้แก่ ผู้ออกเพื่อจะทำโจรกรรม.
               บทว่า อสฺส ในที่นี้ แปลว่า พึงเป็น.
               บทว่า จกฺขุโรโค ได้แก่ โรคที่เกิดในจักษุ. ชื่อว่าโรค ด้วยอรรถว่าเสียดแทง.
               บทว่า จกฺขุโรโค เป็นต้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งวัตถุ. ก็ธรรมดาโรคย่อมไม่มีแก่คนประสาทดี.
               บทว่า กณฺณโรโค ได้แก่ โรคหูข้างนอก.
               บทว่า มุขโรโค ได้แก่ โรคที่เกิดในปาก.
               บทว่า ทนฺตโรโค ได้แก่ โรคปวดฟัน.
               บทว่า กาโส ได้แก่ โรคไอ.
               บทว่า สาโส ได้แก่ โรคอาเจียนที่เป็นมาก.
               บทว่า ปินาโส ได้แก่ โรคนาสิกข้างนอก.
               บทว่า ฑโห ได้แก่ ความร้อนที่เกิดภายใน.
               บทว่า มุจฺฉา ได้แก่ โรคขาดสติ.
               บทว่า ปกฺขนฺทิกา ได้แก่ โรคท้องร่วงเป็นโลหิต โรคลงแดง.
               บทว่า สุลาได้แก่ โรคเสียดท้อง.
               บทว่า วิสูจิกา ได้แก่ โรคท้องร่วงอย่างแรง.
               บทว่า กิลาโส ได้แก่ โรคกลาก.
               บทว่า โสโส ได้แก่ โรคมองคร่อ ทำให้ผอมแห้ง.
               บทว่า อปมาโร ได้แก่ โรคผีสิง เป็นโรคที่เกิดแต่ผู้มีเวร หรือยักษ์เบียดเบียน.
               บทว่า ททฺทุ ได้แก่ โรคหิดเปื่อย.
               บทว่า กณฺฑุ ได้แก่ โรคหิดด้าน.
               บทว่า กจฺฉุ ได้แก่ โรคคุดทะราด หูด.
               บทว่า รขสา ได้แก่ โรคเป็นตรงที่เล็บข่วน. บาลีว่า นขสา ก็มี.
               บทว่า โลหิตปิตฺตํ ได้แก่ โรคดีกำเริบ. ท่านอธิบายว่า โรคดีแดง.
               บทว่า มธุเมโห ได้แก่ โรคร้ายภายในร่างกาย.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า อีกอย่างหนึ่ง โรคเบาหวานเป็นโรคร้ายแรง.
               บทว่า อํสา ได้แก่ โรคริดสีดวงงอก.
               บทว่า ปิฬกา ได้แก่ โรคพุพอง.
               บทว่า ภคนฺทลา ได้แก่ โรคริดสีดวงทวาร เพราะอรรถว่าทำลายอวัยวะ. อธิบายว่า ผ่าวัจจมรรค.
               บทว่า ปิตฺตสมุฏฺฐานา ความว่า มีดีเป็นสมุฏฐาน คือเป็นที่เกิดขึ้นของอาพาธเหล่านั้น.
               ได้ยินว่า อาพาธเหล่านั้นมี ๓๒ ชนิด แม้ในอาพาธที่มีเสมหะเป็นสมุฏฐานเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า สนฺนิปาติกา ได้แก่อาพาธที่เกิดขึ้นด้วยลม ดีและเสมหะประชุมกัน คือรวมกัน.
               ชื่อว่า อาพาธ ด้วยอรรถว่าเบียดเบียน.
               บทว่า อุตุปริณามชา ได้แก่ โรคที่เกิดขึ้นเพราะฤดูแปรปรวน คือร้อนเกินไปหนาวเกินไป.
               บทว่า วิสมปริหารชา ได้แก่ เกิดด้วยการบริหารไม่สม่ำเสมอ มียืนและนั่งเกินไปเป็นต้น.
               บทว่า โอปกฺกมิกา ได้แก่ ที่เกิดด้วยความพยายามมีการฆ่าและจองจำเป็นต้น.
               บทว่า กมฺมวิปากชา ได้แก่ เกิดแต่วิบากแห่งกรรมที่มีกำลัง.
               อาพาธในบทว่า สีตํ อุณฺหํ ฯเปฯ สมฺผสฺสา เหล่านี้ปรากฏแล้วทั้งนั้น.
               บทว่า กตเม ปฏิจฺฉนฺนปริสฺสยา ความว่า พระสารีบุตรเถระถามว่า อันตรายปกปิดที่ไม่ปรากฏ เป็นไฉน?
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กายทุจฺจริตํ พึงทราบว่า เจตนาในปาณาติบาต อทินนาทานและกาเมสุมิจฉาจาร.
               บทว่า วจีทุจฺจริตํ พึงทราบว่า เจตนาในการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบและพูดเพ้อเจ้อ.
               บทว่า มโนทุจฺจริตํ พึงทราบว่า อภิชฌา พยาบาทและมิจฉาทิฏฐิ.
               ชื่อว่า กายทุจริต เพราะอรรถว่าความประพฤติชั่วที่เป็นไปทางกาย หรือความประพฤติชั่วเพราะความเป็นผู้ประทุษร้ายด้วยกิเลส แม้ในวจีทุจริตเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑. กามสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=1&Z=486
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :