ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑. กามสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๖ / ๖.

               เพราะฉะนั้น สัตว์เป็นผู้มีสติทุกเมื่อ ด้วยการเจริญกายคตาสติเป็นต้น เมื่อเว้นกิเลสกามแม้มีประการทั้งปวงในวัตถุกามทั้งหลายมีรูปเป็นต้น พึงเว้นกามทั้งหลายด้วยข่มไว้และตัดขาด ละกามทั้งหลายเหล่านั้นด้วยอาการอย่างนี้แล้ว พึงข้าม พึงอาจเพื่อจะข้ามโอฆะแม้ทั้ง ๔ อย่างด้วยมรรคเครื่องกระทำการละกามนั้นนั่นแล.
               ต่อนั้น พึงวิดเรือคืออัตภาพซึ่งหนักด้วยน้ำคือกิเลส พึงเป็นผู้ถึงฝั่งด้วยอัตภาพเบาเหมือนบุรุษวิดเรือหนัก พึงเป็นผู้ถึงฝั่ง พึงถึงซึ่งฝั่งด้วยเรือเบา โดยลำบากน้อยนั่นเทียว ฉะนั้น เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งพระสัทธรรมคือพระนิพพาน พึงถึงด้วยการบรรลุพระอรหัตต์ คือด้วยการปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
               พระสารีบุตรเถระจบเทศนาด้วยยอดคือพระอรหัตต์ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะทุกข์มีชาติเป็นต้นย่อมติดตามบุคคลนั้น ฉะนั้นคือเหตุนั้น แม้ในบทว่า ตํเหตุ เป็นต้นก็นัยนี้แหละ เพราะทุกข์มีประการดังกล่าวแล้วย่อมติดตามบุคคลนั้น เพราะเหตุนั้น เพราะทุกข์ย่อมติดตาม เพราะปัจจัยนั้น เพราะทุกข์ย่อมติดตาม เพราะนิทานนั้น พึงประกอบบทอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เหตุ เป็นต้นเป็นไวพจน์ของบทว่า การณะ ก็การณะชื่อว่าเหตุ เพราะอรรถว่ามีผลเกิดขึ้น คือเป็นไปด้วยเหตุนั้น
               ชื่อว่า ปัจจัย เพราะอรรถว่าผลย่อมอาศัยธรรมนั้นเกิดและเป็นไป
               ชื่อว่า นิทาน เพราะอรรถว่า ย่อมมอบให้ซึ่งผลของตน ดุจแสดงว่า เชิญท่านทั้งหลายถือเอาสิ่งนั้นเถิด.
               บทว่า ตํการณา ห้ามธรรมที่ไม่เป็นเหตุและไม่มีเหตุ
               บทว่า ตํเหตุ ปฏิเสธสิ่งที่ไม่ใช่เหตุและเหตุแห่งมหาภูต
               บทว่า ตปฺปจฺจยา ปฏิเสธปัจจัยที่ไม่ทั่วไปกับธรรมที่ไม่ใช่ปัจจัย.
               บทว่า ตํนิทานา หมายเหตุในอาคมและนิคมกับทั้งธรรมที่ไม่ใช่เหตุ.
               อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาไว้อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เอตํ อาทีนวํ สมฺปสฺสมาโน ความว่า ดูอยู่ คือเห็นอยู่โดยชอบซึ่งอันตรายนั้นคือมีประการดังกล่าวแล้ว ด้วยวิปัสสนาญาณ.
               บทว่า สทา เป็นบทตั้ง.
               บทว่า ปุน สทา เป็นบทขยายความ.
               บทว่า สทา ได้แก่ ทุกวัน.
               บทว่า สพฺพทา ได้แก่ ทุกเวลา.
               บทว่า สพฺพกาลํ ได้แก่ ตลอดกาลทั้งปวงมีเวลาเช้าเป็นต้น.
               บทว่า นิจฺจกาลํ ได้แก่ ทุกวันๆ.
               บทว่า ธุวกาลํ ได้แก่ ตลอดกาลไม่ขาด.
               บทว่า สตตํ ได้แก่ ไม่มีระหว่าง.
               บทว่า สมิตํ ได้แก่ เป็นอันเดียวกัน.
               บทว่า อพฺโพกิณฺณํ ได้แก่ ไม่เจือปนอย่างอื่น.
               บทว่า โปกฺขานุโปกฺขํ๑- ความว่าสืบต่อโดยลำดับ ดุจในประโยคเป็นต้นว่า ย่อมปรากฏติดตามกันไปไม่ผิดพลาด.
____________________________
๑- ฉบับเทวนาครีเป็น โปงฺขานุโปงฺขํ

               บทว่า อุทกุมฺมิกชาตํ ได้แก่ เหมือนลูกคลื่นในน้ำที่บังเกิดขึ้น.
               บทว่า อวีจิ ได้แก่ ไม่เบาบาง.
               บทว่า สนฺตติ ได้แก่ ไม่ขาดระยะ.
               บทว่า สหิตํ ได้แก่ สืบต่อเป็นอันเดียวกัน ดุจในประโยคเป็นต้นว่า ของข้าพเจ้าสืบต่อกัน ของท่านไม่สืบต่อกัน.
               บทว่า ผุสิตํ ได้แก่ ถูกต้องในที่ลมผ่านไม่ได้ ดุจในประโยคเป็นต้นว่า ขัดกลอน ดังนี้.
               สองบทว่า ปุเรภตฺตํ ปจฺฉาภตฺตํ กล่าวแบ่งเวลาในกลางวันสาม.
               บทว่า ปุริมยามํ มชฺฌิมยามํ ปจฺฉิมยามํ กล่าวแบ่งเวลาในกลางคืน.
               สองบทว่า กาเฬ ชุณฺเห กล่าวถึงกึ่งเดือน.
               สามบทว่า วสฺเส เหมนฺเต คิมฺเห กล่าวถึงฤดู.
               สามบทว่า ปุริเม วโยขนฺเธ มชฺฌิเม วโยขนฺเธ ปจฺฉิเม วโยขนฺเธ กล่าวแบ่งวัย พึงทราบดังนี้ บทเริ่มต้นว่า สโตติ กาเย กายานุปสฺสนาสติปฏฺฐานํ ภาเวนฺโต สโต จนถึงบทสุดท้ายว่า เอวํ สมุจฺเฉทโต กาเม ปริวชฺเชยฺย ดังนี้ มีเนื้อความตามที่ได้กล่าวแล้วนั่นแล.
               อนึ่ง บทว่า สตตฺตา สโต ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะความเป็นผู้มีสติ ด้วยความเป็นผู้ข้องอยู่ในวัตถุ ๓ หรือด้วยความเป็นผู้สามารถเพื่อจะก้าวล่วงกิเลส ๓.
               บทว่า สนฺตตฺตา ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้มีสติด้วยการยังกิเลสและอุปกิเลสให้หนีไปดำรงอยู่ และเพราะเปลื้องจากอารมณ์แล้วสงบ.
               บทว่า สมิตตฺตา ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้สงบด้วยบุญที่ให้ผลอันน่าปรารถนา และจากบาปที่ให้ผลอันไม่น่าปรารถนา.
               บทว่า สนฺตธมฺมสมนฺนาคตตฺตา ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ โดยเสพสัปปุริสธรรม และเสวนากับพระอริยบุคคลมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               บทว่า วตฺถุกาเม ปริชานิตฺวา ความว่า รู้วัตถุกามที่เป็นไปในภูมิ ๓ ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วเหล่านั้น ด้วยตีรณปริญญา.
               บทว่า ปหาย ได้แก่ ละขาดกิเลสกามด้วยปหานปริญญา.
               บทว่า ปชหิตฺวา ได้แก่ ทิ้งแล้ว.
               ท่านอธิบายไว้ว่า
               บรรเทากิเลสกาม เหมือนทิ้งหยากเยื่อด้วยตะกร้าหรือ หามิได้เลย ที่แท้บรรเทากิเลสกามนั้นคือข้าม นำออก ทำกิเลสกามให้สูญสิ้นเหมือนแทงโคงานที่โกงด้วยประตักหรือ? หามิได้เลย ที่แท้ทำให้สูญสิ้นซึ่งกิเลสกามนั้น คือกระทำให้มีที่สุดไปปราศแล้ว คือกระทำกิเลสกามนั้นโดยประการที่แม้ที่สุดก็จักไม่เหลือ แม้เพียงการทำลายโดยกำหนดมีในที่สุด ให้ถึงความไม่มีว่า อย่างไรจึงจะทำกิเลสกามนั้นด้วยประการนั้น คือกระทำโดยประการที่ตัดขาดกิเลสกามด้วยสมุจเฉทปหานดังนี้.
               แม้ในกามฉันทนิวรณ์เป็นต้นก็นัยนี้.
               ในบทว่า กาโมฆํ เป็นต้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :
               ความกำหนัดที่เป็นไปในกามคุณ ๕ ท่านเรียกว่ากาโมฆะ เพราะอรรถว่าจมลง.
               บทว่า ภโวโฆ ได้แก่ ฉันทราคะในรูปภพและอรูปภพ และความยินดีในฌาน
               บทว่า ทิฏฺโฐโฆ ได้แก่ ความปรารถนาในภพที่ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิเป็นต้นนั่นแล ทิฏโฐฆะย่อมถึงการรวมลงในภโวฆะนั่นเอง อวิชโชฆะได้แก่ความไม่รู้ในอริยสัจ ๔.
               ในโอฆะเหล่านั้น เมื่อบุคคลยินดีใส่ใจกามคุณทั้งหลาย กาโมฆะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น และที่เกิดแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น. เมื่อบุคคลยินดีใส่ใจมหัคคตธรรมทั้งหลาย ภโวฆะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น และที่เกิดแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น อวิชโชฆะ (อาศัยกามโอฆะ๒-) ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น และที่เกิดแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น ด้วยความเป็นปทัฏฐานแห่งวิปัลลาส ๔ ในธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ พึงทราบดังนี้.
____________________________
๒- ฉบับสิงหฬและพม่าไม่มี

               ธรรมฝ่ายขาวพึงให้พิสดารโดยตรงกันข้ามกับนัยที่กล่าวแล้ว.
               ผู้ปฏิบัติอัปปณิหิตวิโมกข์ พึงข้ามกาโมฆะได้ ผู้ปฏิบัติอนิมิตตวิโมกข์ พึงข้ามภโวฆะได้ ผู้ปฏิบัติสุญญตวิโมกข์ พึงข้ามอวิชโชฆะได้ พึงข้ามด้วยปฐมมรรค พึงข้ามขึ้นด้วยทุติยมรรค พึงข้ามพ้นด้วยตติยมรรค พึงก้าวล่วงด้วยจตุตถมรรค พึงเป็นไปล่วงด้วยผล ดังนี้แล.
               อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาอย่างนี้ว่า พึงข้ามด้วยกามโอฆะ พึงข้ามด้วยภโวฆะ พึงข้ามขึ้นด้วยภโวฆะ พึงข้ามพ้นด้วยทิฏโฐฆะ พึงกล่าวล่วงด้วยอวิชโชฆะ พึงเป็นไปล่วงด้วยโอฆะทั้งปวง.
               บทว่า ครุกํ ได้แก่ ไม่เบา
               บทว่า ภาริกํ ความว่า ชื่อว่าภาริกะ บรรทุกหนัก เพราะอรรถว่ามีภัณฑะที่หนักในเรือนี้.
               บทว่า อุทกํ สิญฺจิตฺวา ได้แก่ วิดน้ำ.
               บทว่า อุสฺสิญฺจิตฺวา ได้แก่ วิดยิ่งเกิน
               บทว่า ฉฑฺเฑตฺวา ได้แก่ ให้ตกไป
               บทว่า ลหุกาย ได้แก่ เบาพร้อม
               บทว่า ขิปฺปํ แปลว่า พลัน
               บทว่า ลหุํ ได้แก่ ขณะนั้น.
               บทว่า อปฺปกสิเรเนว ได้แก่ โดยไม่ลำบากเลย.
               อมตนิพพาน ท่านกล่าวว่าฝั่ง ดังนั้น นิพพานซึ่งออกจากเครื่องร้อยรัดคือตัณหา ท่านกล่าวว่าฝั่ง ซึ่งเป็นฝั่งนอกจากฝั่งในแห่งสักกายทิฏฐิ.
               บทว่า โยโส ได้แก่ นี้ใด.
               บททั้งปวงมีบทว่า สพฺพสงฺขาร สมโถ เป็นต้น หมายความถึงพระนิพพานทั้งนั้น ก็เพราะความสะเทือนแห่งสังขารทั้งปวง ความหวั่นไหวแห่งสังขารทั้งปวง ความดิ้นรนแห่งสังขารทั้งปวง ย่อมสงบ ย่อมระงับ เพราะอาศัยนิพพานนั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวนิพพานว่า เป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง.
               อนึ่ง เพราะอุปธิทั้งปวงย่อมเป็นอันสละคืนได้ ตัณหาทั้งปวงย่อมสิ้นไป ความกำหนัดคือกิเลสทั้งปวงย่อมคลายไป ทุกข์ทั้งปวงย่อมดับไป เพราะอาศัยนิพพานนั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวนิพพานว่า เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับ.
               ก็ตัณหานี้ ท่านเรียกว่า วานะ เพราะวิเคราะห์ว่า ย่อมร้อยรัด ย่อมเย็บภพกับภพ กรรมกับผล. ชื่อว่านิพพาน เพราะออกจากวานะนั้น พึงถึงฝั่ง คือพึงถึง พึงบรรลุฝั่งคือนิพพาน ด้วยโคตรภูญาณที่ออกโดยส่วนเดียว ด้วยสามารถแห่งนิมิต พึงถึงฝั่งคือนิพพาน ด้วยมรรคญาณที่ออกโดยส่วน ๒ เป็นพิเศษ ด้วยความเป็นไปแห่งนิมิต พึงถูกต้องคือพึงสัมผัส ฝั่งคือนิพพาน ด้วยผลจิตซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์
               บทว่า สจฺฉิกเรยฺย ความว่า พึงถูกต้องด้วยสามารถแห่งคุณแล้วกระทำฝั่งคือนิพพานให้ประจักษ์ ด้วยปัจจเวกขณญาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาว่า พึงถึงฝั่งด้วยโสดาปัตติมรรค พึงบรรลุด้วยสกทาคามิมรรค พึงถูกต้องด้วยอนาคามิมรรค พึงทำให้แจ้งด้วยอรหัตมรรคดังนี้
               บทว่า โยปิ ปารํ คนฺตุกาโม ความว่า บุคคลคนใดคนหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในวิปัสสนาญาณ เป็นผู้ใคร่จะถึงฝั่งคือนิพพาน บุคคลแม้นั้นจักไปในนิพพานนั้นแน่แท้ ฉะนั้น จึงชื่อว่าปารคู ผู้ถึงฝั่ง. สมจริงดังที่ตรัสไว้เป็นต้นว่า เราเป็นผู้ข้ามพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ดังนี้ บุคคลแม้นั้นชื่อว่าผู้ถึงฝั่ง ด้วยสามารถแห่งอัธยาศัยในส่วนเบื้องต้นและด้วยประกอบวิปัสสนา.
               บทว่า โยปิ ปารํ คจฺฉติ ความว่า บุคคลแม้ใด มีความพร้อมเพรียงด้วยมรรค ย่อมถึงฝั่งคือนิพพาน บุคคลแม้นั้นก็ชื่อว่าผู้ถึงฝั่ง.
               บทว่า โยปิ ปารํ คโต ความว่า บุคคลใดให้สำเร็จกิจด้วยมรรค ตั้งอยู่ในผล ถึงแล้วซึ่งฝั่งคือนิพพาน บุคคลแม้นั้นก็ชื่อว่าผู้ถึงฝั่ง.
               เพื่อจะแสดงความข้อนั้นด้วยพระดำรัสของพระชินเจ้า พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุคคลผู้ข้ามพ้นแล้ว ถึงฝั่งแล้ว ดำรงอยู่บนบก ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ดังนี้.
               บทว่า อภิญฺญาปารคู ความว่า ชื่อว่าถึงฝั่ง เพราะอรรถว่าใคร่จะถึงฝั่งคือนิพพานด้วยญาตปริญญา ถึงด้วยญาณที่บรรลุแล้ว คือถึงแล้ว.
               บทว่า ปริญฺญาปารคู ความว่า ชื่อว่าผู้ถึงฝั่งโดยนัยที่กล่าวแล้ว เพราะก้าวล่วงธรรมทั้งปวงด้วยตีรณปริญญา.
               บทว่า ปหานปารคู ความว่า ชื่อว่าผู้ถึงฝั่งโดยนัยที่กล่าวแล้ว เพราะก้าวล่วงกิเลสทั้งหลายที่เป็นฝ่ายสมุทัยด้วยปหานปริญญา.
               จริงอยู่ บุคคลใดกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง บุคคลนั้นย่อมกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ คือญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา.
               บรรดาปริญญา ๓ เหล่านั้น ญาตปริญญาเป็นไฉน? บุคคลรู้ธรรมทั้งปวงว่า ธรรมเหล่านี้มีในภายใน เหล่านี้มีภายนอก นี้เป็นลักษณะของธรรมนี้ เหล่านี้เป็นรส เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นปทัฏฐาน ดังนี้ นี้ชื่อว่าญาตปริญญา.
               ตีรณปริญญาเป็นไฉน? บุคคลพิจารณาธรรมทั้งปวงด้วยสามารถได้เพราะรู้อย่างนี้โดยนัยเป็นต้นว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้ นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา
               ปหานปริญญาเป็นไฉน? บุคคลพิจารณาอย่างนี้แล้ว ละฉันทราคะในธรรมทั้งปวง ด้วยมรรคอันเลิศ นี้ชื่อว่าปหานปริญญาแล.
               พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า พระอรหันต์นั้นถึงฝั่งด้วยการรู้ยิ่ง ถึงฝั่งด้วยการกำหนดรู้ ถึงฝั่งด้วยการละดังนี้ หมายเอาปริญญาเหล่านี้.
               บทว่า ภาวนาปารคู ความว่า ภาวนาถึงที่สุดแล้ว ถึงฝั่งคือนิพพานด้วยมรรค.
               บทว่า สจฺฉิกิริยาปารคู ความว่า ถึงฝั่งคือผลและนิพพานที่ทำให้แจ้ง ด้วยสามารถแห่งผลและนิพพาน.
               บทว่า สมาปตฺติปารคู ความว่า ถึงฝั่งแห่งสมาบัติ ๘.
               บทว่า สพฺพธมฺมานํ ได้แก่ ธรรมทั้งปวงมีขันธ์ ๕ เป็นต้น.
               บทว่า สพฺพทุกฺขานํ ได้แก่ ทุกข์ทั้งปวงมีชาติทุกข์เป็นต้น.
               บทว่า สพฺพกิเลสานํ ได้แก่ กิเลสทั้งปวงมีกายทุกจริตเป็นต้น.
               บทว่า อริยมคฺคานํ ได้แก่ อริยมรรค ๔ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น.
               บทว่า นิโรธสฺส ได้แก่ นิพพาน.
               บทว่า สพฺพสมาปตฺตีนํ ได้แก่ รูปสมาบัติและอรูปสมาบัติ ๘ ทั้งหมด
               บทว่า โส ได้แก่ พระอริยะนั้น.
               บทว่า วสิปฺปตฺโต ได้แก่ ถึงความเป็นผู้ชำนาญ.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ถึงความเป็นผู้มีอิสระ คือความเป็นผู้สำเร็จ
               บทว่า ปารมิปฺปตฺโต ได้แก่ ถึงที่สุด คือความสำเร็จ คือความสูงสุด ที่เรียกว่าบารมี เพื่อจะแก้คำถามว่า ถึงในอะไร? พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ในอริยศีล ดังนี้
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อริยสฺมํ สีลสฺมึ ได้แก่ ในศีลที่ปราศจากโทษ.
               บทว่า อริยสฺมึ สมาธิสฺมึ ได้ว่า ในสมาธิที่ปราศจากโทษ.
               บทว่า อริยาย ปญฺญาย ได้แก่ ในปัญญาที่ปราศจากโทษ
               บทว่า อริยาย วิมุตฺติยา ได้แก่ ในผลวิมุติที่ปราศจากโทษ.
               สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ท่านถือเอาด้วยบทแรก
               สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ท่านถือเอาด้วยบทที่ ๒.
               สัมมาสังกัปปะและสัมมาทิฏฐิ ท่านถือเอาด้วยบทที่ ๓.
               ธรรมอันเหลือที่สัมปยุตด้วยอริยมรรคนั้น ท่านถือเอาด้วยบทที่ ๔. พึงทราบดังนี้.
               บทว่า อนฺตคโต ความว่า ไปสู่ส่วนสุดแห่งสังขารโลกด้วยมรรค.
               บทว่า อนฺตปฺปตฺโต ความว่า ถึงส่วนสุดแห่งโลกนั้นแหละด้วยผล.
               บทว่า โกฏิคโต ความว่า ไปสู่ที่สุดแห่งสังขารโลกด้วยมรรค.
               บทว่า โกฏิปฺปตฺโต ความว่า ถึงที่สุดนั้นแหละด้วยผล.
               บทว่า ปริยนฺตคโต ความว่า ไปสู่การกำหนดที่สุดของโลก มีขันธโลกและอายตนโลกเป็นต้น ทำให้เป็นทางได้ด้วยมรรค.
               บทว่า ปริยนฺตปฺปตฺโต ความว่า ถึงโลกนั้นแหละ ทำให้เป็นที่สุดรอบได้ด้วยผล.
               บทว่า โวสานคโต ความว่า ไปสู่ที่สุดด้วยมรรค.
               บทว่า โวสานปฺปตฺโต ความว่า ถึงที่สุดด้วยผล.
               บทว่า ตาณคโต ความว่า ไปสู่ที่ต้านทานได้ด้วยมรรค.
               บทว่า ตาณปฺปตฺโต ความว่า ถึงที่ต้านทานได้ด้วยผล.
               บทว่า เลณคโต ความว่า ไปสู่ที่เร้นลับได้ด้วยมรรค.
               บทว่า เลณปฺปตฺโต ความว่า ถึงที่เร้นลับได้ด้วยผล.
               บทว่า สรณคโต ความว่า ไปสู่ที่พึ่งได้ด้วยมรรค.
               บทว่า สรณปฺปตฺโต ความว่า ถึงที่พึ่งได้ด้วยผล.
               บทว่า อภยคโต ความว่า ไปสู่ที่ไม่มีภัยได้ด้วยมรรค.
               บทว่า อภยปฺปตฺโต ความว่า ถึงที่ไม่มีภัยคือนิพพานได้ด้วยผล.
               บทว่า อจฺจุติคโต ความว่า ไปสู่ที่ไม่ตาย คือนิพพานได้ด้วยมรรค.
               บทว่า อจฺจุติปฺปตฺโต ความว่า ถึงที่ไม่ตายนั้นได้ด้วยผล.
               บทว่า อมตคโต ความว่า ไปสู่แดนอมตะ คือนิพพานได้ด้วยมรรค.
               บทว่า อมตปฺปตฺโต ความว่า ถึงแดนอมตะนั้นได้ด้วยผล.
               บทว่า นิพฺพานคโต ความว่า ไปสู่นิพพานซึ่งออกจากเครื่องร้อยรัดคือตัณหาได้ด้วยมรรค.
               บทว่า นิพฺพานปฺปตฺโต ความว่า ถึงนิพพานนั้นแหละได้ด้วยผล.
               บทว่า โส วุฏฺฐวาโส ความว่า พระอรหันต์นั้นชื่อว่าอยู่จบแล้ว เพราะอรรถว่าอยู่แล้ว อยู่รอบแล้ว อยู่จบแล้วในอริยวาสธรรม ๑๐.
               บทว่า จิณฺณจรโณ ความว่า ชื่อว่าประพฤติจรณะแล้ว เพราะอรรถว่ามีความชำนาญประพฤติแล้วในสมาบัติ ๘ กับศีล.
               บทว่า คตทฺโธ ความว่า ก้าวล่วงทางไกลคือสังสารวัฏ.
               บทว่า คตทิโส ความว่า ถึงทิศคือนิพพานซึ่งไม่เคยไปแม้ในความฝัน.
               บทว่า คตโกฏิโก ความว่า เป็นผู้ถึงที่สุดคืออนุปาทิเสสนิพพานดำรงอยู่.
               บทว่า ปาลิตพฺรหฺมจริโย ความว่า มีพรหมจรรย์อันรักษาแล้ว.
               บทว่า อุตฺตมทิฏฺฐิปฺปตฺโต ความว่า ถึงสัมมาทิฏฐิอันอุดม.
               บทว่า ปฏิวิทฺธากุปฺโป ความว่า แทงตลอดอรหัตผล ไม่กำเริบคือไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่แล้ว.
               บทว่า สจฺฉิกตนิโรโธ ความว่า กระทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ คือนิพพานดำรงอยู่แล้ว.
               บทว่า ทุกฺขํ ตสฺส ปริญฺญาตํ ความว่า ทุกข์ ๓ อย่างอันพระอรหันต์นั้นก้าวล่วงตัดขาดเสียแล้ว.
               บทว่า อภิญฺเญยฺยํ ความว่า พึงรู้ด้วยอาการอันงาม ด้วยสามารถแห่งการหยั่งรู้สภาวลักษณะ.
               บทว่า อภิญฺญาตํ ความว่า รู้แล้วด้วยญาณอันยิ่ง.
               บทว่า ปริญฺเญยฺยํ ความว่า พึงกำหนดรู้ทราบซึ่งด้วยสามารถแห่งการหยั่งรู้สามัญลักษณะ และด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้มีกิจถึงพร้อมแล้ว.
               บทว่า ปริญฺญาตํ ความว่า รู้แล้วโดยรอบ.
               บทว่า ภาเวตพฺพํ ได้แก่ พึงให้เจริญ.
               บทว่า สจฺฉิกาตพฺพํ ได้แก่ พึงกระทำให้ประจักษ์ ก็การกระทำให้แจ้งมี ๒ อย่างคือ การกระทำให้แจ้งการได้เฉพาะ และการกระทำให้แจ้งอารมณ์.
               ในบทว่า อุกฺขิตฺตปลิโฆ นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปลิโฆ ได้แก่ อวิชชาซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งวัฏฏะ.
               ก็อวิชชานี้ ท่านเรียกว่าลิ่ม ด้วยอรรถว่าถอนได้ยาก ท่านเรียกพระอรหันต์ว่า เป็นผู้มีอวิชชาเป็นลิ่มสลักอันถอนเสียแล้ว เพราะอวิชชานั้นอันพระอรหันต์นั้นถอนได้แล้ว.
               ที่เรียกว่า คู ในบทว่า สงฺกิณฺณปริโข ได้แก่ อภิสังขารคือกรรมที่ให้ภพใหม่ คือเป็นปัจจัยแห่งขันธ์ทั้งหลายในภพใหม่ ซึ่งได้นามว่า ชาติสงสาร ด้วยสามารถให้เกิดในภพทั้งหลาย และด้วยสามารถแห่งการท่องเที่ยวไป.
               ก็อภิสังขารคือกรรมนั้น ท่านเรียกว่าคู เพราะตั้งแวดล้อมด้วยสามารถกระทำความเกิดขึ้นบ่อยๆ ท่านเรียกพระอรหันต์ว่าเป็นผู้มีกรรมเป็นคูอันกำจัดเสียแล้ว เพราะกรรมอันเป็นคูนั้นอันพระอรหันต์กำจัดเสียแล้ว คือถมเสียแล้ว.
               บทว่า เอสิกา ในบทว่า อพฺพุฬฺเหสิโก ได้แก่ ตัณหาซึ่งเป็นมูลแห่งวัฏฏะ. ก็ตัณหานี้ลึกซึ้ง ท่านเรียกว่าเสาระเนียด เพราะอรรถว่าข้ามไปได้ยาก ท่านเรียกพระอรหันต์ว่าเป็นผู้มีตัณหาเป็นเสาระเนียดอันถอนเสียแล้ว เพราะตัณหานั้นอันพระอรหันต์นั้นถอนได้แล้ว คือถอนทิ้งไปแล้ว.
               ที่เรียกว่า อัคคฬะ ในบทว่า นิรคฺคโฬ ได้แก่ สังโยชน์ที่ใช้เกิดกิเลสอย่างหยาบ คือโอรัมภาคิสังโยชน์ ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดในกามภพ.
               ก็สังโยชน์เหล่านี้ท่านเรียกว่าอัคคฬะ เพราะตั้งปิดกั้นจิตไว้ เหมือนบานประตูใหญ่ที่ใช้เป็นประตูพระนครฉะนั้น ท่านเรียกพระอรหันต์ว่าเป็นผู้ไม่มีสังโยชน์เป็นบานประตู เพราะไม่มีสังโยชน์เป็นบานประตู คือสังโยชน์เหล่านั้นอันพระอรหันต์ทำลายได้แล้ว.
               บทว่า อริโย ได้แก่ ไม่มีกิเลส คือบริสุทธิ์
               บทว่า ปนฺนทฺธโช ได้แก่ มีธง คือมานะให้ตกไปแล้ว.
               บทว่า ปนฺนภาโร ได้แก่ ชื่อว่ามีภาระอันปลงเสียแล้ว เพราะภาระคือขันธ์ ภาระคือกิเลส ภาระคืออภิสังขาร ภาระคือกามคุณ ๕ อันพระอรหันต์นั้นปลงแล้ว คือวางลงแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ในที่นี้ ท่านประสงค์ว่ามีมานะอันปลงแล้ว เพราะภาระคือมานะนั่นแหละ พระอรหันต์วางลงแล้ว.
               บทว่า วิสํยุตฺโต ความว่า ไม่เกี่ยวข้องด้วยโยคะ ๔ และกิเลสทั้งปวง.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์ว่า ชื่อว่าไม่เกี่ยวข้อง เพราะไม่เกี่ยวข้องด้วยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องคือมานะนั่นเอง
               ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ พระสารีบุตรเถระแสดงกาลที่ให้กิเลสทั้งหลายสิ้นไปด้วยมรรคแล้วบรรลุผลสมาบัติซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ ของพระขีณาสพผู้บรรลุนิโรธซึ่งเป็นธรรมเครื่องอยู่อันประเสริฐ.
               เหมือนอย่างว่า มีนคร ๒ นคร คือ โจรนคร ๑ เขมนคร ๑.
               ครั้งนั้น นายทหารใหญ่คนหนึ่งเกิดความปรารถนาขึ้นว่า โจรนครนี้ยังตั้งอยู่ตราบใด เขมนครย่อมไม่พ้นภยันตรายนั้น เราจักทำโจรนครให้ไม่เป็นนคร. เขาสวมเกราะถือพระขรรค์เข้าไปยังโจรนคร เอาพระขรรค์ฟันเสาระเนียดซึ่งเขายกขึ้นไว้ที่ประตูนคร ทำลายที่ต่อบานประตูและหน้าต่างถอนลิ่มสลัก ทำลายกำแพง ถมคู เอาธงที่ยกขึ้นเพื่อความสง่างามของนครลง เอาไฟเผานคร แล้วเข้าเขมนคร ขึ้นบนปราสาท แวดล้อมไปด้วยหมู่ญาติ บริโภคโภชนาหารที่มีรสอร่อยฉันใด
               ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น สักกายทิฏฐิดุจโจรนคร นิพพานดุจเขมนคร พระโยคาวจรดุจนายทหารใหญ่ พระโยคาวจรนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า เครื่องผูกคือสักกายทิฏฐิยังผูกพันอยู่ตราบใด ความหลุดพ้นจากกรรมกรณ์ ๓๒ จากโรค ๙๘ และจากภัยใหญ่ ๒๕ ย่อมไม่มี.
               พระโยคาวจรนั้นเป็นดุจนายทหารใหญ่ สวมเกราะคือศีล ถือพระขรรค์คือปัญญา ฟันเสาระเนียดคือตัณหา ด้วยอรหัตมรรคดุจฟันเสาระเนียดด้วยพระขรรค์ ฉุดลูกดาลคือสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ประการ ดุจนายทหารนั้นทำลายหน้าต่างนครพร้อมทั้งบานประตูถอนลิ่มสลักคืออวิชชา ดุจนายทหารนั้นถอนลิ่มสลักทำลายกรรมาภิสังขารถมคูคือชาติสงสาร ดุจนายทหารทำลายกำแพงถมคู เอาธงคือมานะลงแล้วเผานครคือสักกายทิฏฐิ ดุจนายทหารนั้นเอาธงที่ยกขึ้นเพื่อความสง่างามของนครลง เข้าสู่นครนิพพาน เสวยสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติซึ่งมีนิโรธ๑- อันเป็นอมตะเป็นอารมณ์ ยังกาลให้ล่วงไป ดุจนายทหารนั้นเข้าสู่เขมนคร บริโภคโภชนาหารมีรสอร่อยบนปราสาท ฉะนั้น.
____________________________
๑- นิโรธ หมายถึง นิพพาน

               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีอวิชชาเป็นลิ่มสลักอันถอนเสียแล้ว อย่างไร
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอวิชชาแล้ว ถอนรากแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีอวิชชาเป็นลิ่มสลักอันถอนเสียแล้วอย่างนี้แล.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีกรรมเป็นคูอันกำจัดเสียแล้วอย่างไร.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละชาติสงสารอันให้เกิดในภพใหม่แล้ว ฯลฯ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีกรรมเป็นคูอันกำจัดเสียแล้วอย่างนี้แล.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีตัณหาเป็นเสาระเนียดอันถอนเสียแล้ว อย่างไร.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละตัณหาแล้ว ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีตัณหาเป็นเสาระเนียดอันถอนเสียแล้วอย่างนี้แล
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ไม่มีสังโยชน์เป็นบานประตู อย่างไร.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ประการแล้ว ฯลฯ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ไม่มีสังโยชน์เป็นบานประตูอย่างนี้แล.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ไกลจากกิเลสอันเป็นข้าศึก มีมานะเป็นธงอันให้ตกไปแล้ว มีภาระอันปลงเสียแล้ว มีโยคกิเลสมิได้เกี่ยวข้อง อย่างไร.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอัสมิมานะแล้วถอนรากแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ไกลจากกิเลสอันเป็นข้าศึก มีมานะเป็นธงอันให้ตกไปแล้ว มีภาระอันปลงเสียแล้ว มีโยคกิเลสมิได้เกี่ยวข้องอย่างนี้แล.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายพร้อมด้วยพระอินทร์ พระพรหม พระประชาบดี ติดตามภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แลย่อมไม่พบนิสิต นี้เป็นวิญญาณของตถาคต ดังนี้.
               บทว่า ปญฺจงฺควิปฺปหีโน ความว่า ละองค์ ๕ มีกามฉันท์เป็นต้นด้วยอุบายมีอย่างต่างๆ ตั้งอยู่
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า :
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ละขาดองค์ ๕ อย่างไร?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละกามฉันทะ ละพยาบาท ละถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ละขาดองค์ ๕ อย่างนี้แล ดังนี้.
               บทว่า ฉฬงฺคสมนฺนาคโต ความว่า ละอนุสัยคือปฏิฆะในอารมณ์มีรูปเป็นต้นในทวาร ๖ เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะด้วยสามารถแห่งอุเบกขา ท่านกล่าวว่า ประกอบด้วยองค์ ๖ เพราะยังองค์ ๖ ให้เต็มตั้งอยู่แล้วด้วยสามารถแห่งการอยู่.
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า :-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ อย่างไร?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ เป็นผู้ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ สูดกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้แจ้งธรรมด้วยใจแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ เป็นผู้ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ อย่างนี้แล ดังนี้
               บทว่า เอการกฺโข ความว่า ชื่อว่าเอการักขะ เพราะอรรถว่ามีการรักษาอย่างเอก คืออุดม ด้วยธรรมเครื่องรักษาคือสติ.
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า :-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีสติเป็นธรรมเครื่องรักษาอย่างเอก อย่างไร? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีใจมีสติเป็นธรรมเครื่องรักษาอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีสติ เป็นธรรมเครื่องรักษาอย่างเอกนี้แล ดังนี้
               บทว่า จตุราปสฺเสโน ความว่า เป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องอาศัย ๔ ด้วยสามารถแห่งธรรมเป็นเครื่องอาศัย ๔ อย่าง คือ การเสพเฉพาะ. การเว้น, การบรรเทา, และการละ ด้วยปัญญา ที่ไม่เป็นไปข้างโน้น ข้างนี้คือบรรลุธรรมเหล่านั้นตั้งอยู่
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ :-
               พึงให้พิสดารโดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่อง.
               อาศัย ๔ อย่างไร?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องอาศัย ๔ อย่างไร?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาแล้วเสพเฉพาะอย่าง ๑ พิจารณาแล้วเว้นอย่าง ๑ พิจารณาแล้วบรรเทาอย่าง ๑ พิจารณาแล้วละอย่าง ๑ ดังนี้
               บทว่า ปนุณฺณปจฺเจกสจฺโจ ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้มีทิฏฐิสัจจะเฉพาะอย่างอันบรรเทาเสียแล้ว เพราะอรรถว่าทิฏฐิสัจจะกล่าวคือเฉพาะ อย่าง เพราะถือเอาเฉพาะอย่างเดียวอย่างนี้ว่า ทัศนะนี้เท่านั้นจริง ทัศนะนี้เท่านั้นจริง ดังนี้ อันพระอรหันต์นั้นบรรเทาแล้ว คือนำออกแล้ว ละแล้ว.
               บทว่า อวย ในบทว่า สมวยสฏฺเฐสโน นี้ได้แก่ ไม่หย่อน.
               บทว่า สฏฺฐ ได้แก่ ประเสริฐ.
               ชื่อว่าสมวยสัฏเฐสนะ เพราะอรรถว่ามีการแสวงหาอันชอบ ไม่หย่อน ประเสริฐ. อธิบายว่า มีการแสวงหาทั้งปวงประเสริฐโดยชอบ.
               บทว่า เกวลี ได้แก่ เป็นผู้บริบูรณ์.
               บทว่า วุสิตวา ได้แก่ เป็นผู้มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว คือเป็นผู้อยู่จบในอริยมรรคซึ่งเป็นเครื่องอยู่อันสมควรแก่โยคะบ้าง ในอริยวาสธรรม ๑๐ บ้าง.
               บทว่า อุตฺตมปุริโส ได้แก่ เป็นบุรุษวิเศษ คือเป็นบุรุษอาชาไนย เพราะมีกิเลสสิ้นแล้ว.
               บทว่า ปรมปุริโส ได้แก่เป็นบุรุษสูงสุด คือเป็นผู้ถึงความบรรลุปรมัตถะ เพราะถึงการได้เฉพาะซึ่งประโยชน์อย่างยิ่ง คือถึงการได้เฉพาะซึ่งพระอรหัตต์อันอุดมที่พึงถึง เป็นบุญเขตที่ยอดเยี่ยม จึงชื่อว่าเป็นบุรุษสูงสุด เป็นบรมบุรุษด้วยอรรถนั้นแหละ คือเป็นผู้ถึงความบรรลุปรมัตถะ เพราะเป็นผู้ถึงการได้เฉพาะซึ่งอมตะ เพื่อเข้าสมาบัติอันยอดเยี่ยม.
               อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาอย่างนี้ว่า เป็นอุดมบุรุษด้วยสามารถรู้ดีถึงโทษในการครองเรือนแล้วจึงเข้าศาสนา เป็นบรมบุรุษด้วยสามารถรู้ดีถึงโทษในอัตภาพแล้วจึงเข้าวิปัสสนา คือรู้ดีถึงโทษในกิเลสจึงเข้าสู่อริยภูมิ เป็นผู้ถึงความบรรลุปรมัตถะ.
               บทว่า เนว อาจินาติ ความว่า ไม่เพิ่มวิบากแห่งกุศลและอกุศลเหล่านั้น เพราะละกุศลและอกุศลได้แล้ว.
               บทว่า น อปจินาติ ความว่า มิได้กำจัด เพราะตั้งอยู่ในผลแล้ว.
               บทว่า อปจินิตฺวา ฐิโต ความว่า ยังหยาดแห่งกิเลสทั้งหลายให้แห้งตั้งอยู่แล้ว เพราะตั้งอยู่ในการละด้วยสงบระงับ.
               บทว่า เนว ปชหติ ความว่า มิได้ละกิเลสทั้งหลาย เพราะไม่มีกิเลสที่จะต้องละ.
               บทว่า น อุปาทิยติ ความว่า มิได้ถือเอาด้วยตัณหามานะทิฏฐิเหล่านั้น เพราะไม่มีสิ่งที่จะพึงถือเอาด้วยตัณหามานะทิฏฐิ.
               บทว่า ปชหิตฺวา ฐิโต ความว่า ละแล้วจึงตั้งอยู่.
               บทว่า เนว วิสิเนติ ความว่า มิได้เย็บด้วยสามารถแห่งตัณหา.
               บทว่า น อุสฺสิเนติ ความว่า มิได้ยกขึ้นด้วยสามารถแห่งมานะ.
               บทว่า วิสิเนตฺวา ฐิโต ความว่า มิได้กระทำการเย็บด้วยตัณหาตั้งอยู่.
               อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เนว วิธุเปติ ความว่า มิได้ให้ไฟคือกิเลสดับ.
               บทว่า น สนฺธุเปติ ความว่า มิได้ให้ไฟคือกิเลสลุก.
               บทว่า วิธุเปตฺวา ฐิโต ความว่า ให้ดับแล้วตั้งอยู่
               บทว่า อเสกฺเขน สีลกฺขนฺเธน ความว่า ดำรงอยู่ คือดำรงอยู่โดยความเป็นผู้ไม่เสื่อม เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ คือด้วยกองแห่งศีล ซึ่งเป็นอเสขะ เพราะไม่มีข้อที่จะต้องศึกษา.
               บทว่า สมาธิกฺขนฺเธน ได้แก่ ด้วยสมาธิอันสัมปยุตด้วยสัมมาวายามะและสัมมาสติ.
               บทว่า วิมุตติกฺขนฺเธน ได้แก่ ด้วยขันธ์อันสัมปยุตด้วยผลวิมุตติ.
               บทว่า วิมุตฺติญาณทสฺสนกฺขนฺเธน ได้แก่ ด้วยปัจจเวกขณญาณ.
               บทว่า สจฺจํ ปฏิปาทยิตฺวา ความว่า ยังอริยสัจ ๔ ให้ถึงพร้อมในสันดานของตนด้วยสามารถแห่งสภาวะ คือแทงตลอดแล้วตั้งอยู่.
               บทว่า เอวํ สมติกฺกมิตฺวา ได้แก่ ก้าวล่วงตัณหาเครื่องหวั่นไหว.
               บทว่า กิเลสคฺคึ ได้แก่ ไฟคือกิเลสมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า ปริยาทยิตฺวา ได้แก่ ให้สิ้นแล้ว คือให้ดับแล้ว.
               บทว่า อปริคมนตาย ได้แก่ ด้วยการไม่ไปในสังสารวัฏ ความว่า ไม่มีการกลับมาอีก.
               บทว่า กูฏํ สมาทาย ได้แก่ ถือเอาความชนะ.
               บทว่า มุตฺติปฏิเสวนตาย ได้แก่ ด้วยภาวะพ้นจากกิเลสทั้งปวง เสพอารมณ์มีรูปเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง ด้วยสามารถเสพผลสมาบัติ ซึ่งพ้นจากกิเลสทั้งปวง.
               บทว่า เมตฺตาย ปาริสุทฺธิยา ได้แก่ ดำรงอยู่ด้วยเมตตาที่ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ เพราะพ้นจากอุปกิเลส แม้ในกรุณาเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า อจฺจนฺตปาริสุทฺธิยา ได้แก่ ดำรงอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ ก้าวล่วงถึงที่สุดของความบริสุทธิ์.
               บทว่า อกมฺมยตา ความว่า ตัณหาทิฏฐิมานะ ท่านเรียกว่า กมฺมยา ความแข็งกระด้าง ความไม่มีแห่งตัณหาทิฏฐิมานะเหล่านั้น ชื่อว่า อกมฺมยตา ความเป็นผู้ไม่แข็งกระด้าง ดำรงอยู่ในความเป็นผู้เว้นจากตัณหามานะทิฏฐินั้น.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า :
                         คนเช่นท่านนั้น เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นผู้มีปัญญาดี
                         เป็นมุนีที่ไม่แข็งกระด้างในธรรมทั้งปวง ดังนี้.

               แม้ในที่นี้ ความก็ว่า เป็นผู้เว้นจากตัณหามานะทิฏฐิ นั่นเอง
               บทว่า วิมุตฺตตฺตา ได้แก่ ด้วยความเป็นผู้พ้นจากกิเลสทั้งปวง
               บทว่า สนฺตุสิตตฺตา ความว่า ตั้งอยู่เพราะความเป็นผู้สันโดษ ด้วยยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ ยถาสารุปปสันโดษ
               บทว่า ขนฺธปรยนฺเต ความว่า เผาขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ และขันธ์ ๕ ด้วยไฟคือปริญญา ๓ แล้วตั้งอยู่ในส่วนสุด คือที่สุด แม้ในส่วนสุดรอบแห่งธาตุเป็นต้น ก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า ธาตุปริยนฺเต ได้แก่ในส่วนสุดรอบแห่งธาตุ ๑๘.
               บทว่า อายตนปริยนฺเต ได้แก่ อายตนะ ๑๒.
               บทว่า คติปริยนฺเต ได้แก่ คติ ๕ มีนรกเป็นต้น.
               บทว่า อุปปตฺติปริยนฺเต ได้แก่ ในการบังเกิดในสุคติและทุคติ.
               บทว่า ปฏิสนฺธิปริยนฺเต ได้แก่ ในปฏิสนธิในกามภพ ที่รูปภพและอรูปภพ.
               บทว่า ภวปริยนฺเต ได้แก่ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ สัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ กามภพ รูปภพและอรูปภพ.
               บทว่า สํสารปริยนฺเต ได้แก่ ในความเป็นไปไม่ขาดแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ.
               บทว่า วฏฺฏปริยนฺเต ได้แก่ ในส่วนสุดรอบแห่งกรรมวัฏ วิปากวัฏและกิเลสวัฏ.
               บทว่า อนติมภเว ได้แก่ ในอุปบัติภพอันเป็นที่สุด.
               บทว่า อนฺติมสมุสฺสเย ฐิโต ได้แก่ ตั้งอยู่ในร่างกาย คือในสรีระอันเป็นที่สุด.
               บทว่า อนฺติมเทหธโร ความว่า ชื่อว่าทรงไว้ซึ่งร่างกายที่สุด เพราะอรรถว่าทรงไว้ซึ่งร่างกายคือสรีระ อันมีในที่สุดคือเป็นที่สุด.
               บทว่า อรหา ความว่า ชื่อว่าพระอรหันต์ เพราะไกลข้าศึก เพราะกำจัดข้าศึก เพราะควรแก่ปัจจัยเป็นต้นและเพราะไม่มีที่ลับในการทำชั่ว.
               บทว่า ตสฺสายํ ปจฺฉิมโก ความว่า ร่างกายคืออัตภาพนี้ เป็นที่สุดของพระขีณาสพนั้น.
               บทว่า จริโม ได้แก่ น้อย เฉื่อยชา ดุจคำข้าวน้อย.
               พระสารีบุตรเถระกล่าวว่าพระขีณาสพนั้นมิได้มีชาติมรณะสังสาระ และภพใหม่ดังนี้ หมายเอาความที่ปฏิสนธิไม่มีอีก.
               ความเกิดชื่อว่าชาติ. ชื่อว่ามรณะ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องตายของสัตว์ทั้งหลาย เมื่อทรงสรุปภาวะที่ตรัสไว้ว่า ความเป็นไปในสังสารวัฏไม่ขาดแห่งขันธ์เป็นต้น ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพนั้นอีกดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพราะฉะนั้นสัตว์ ฯลฯ วิดเรือแล้วเป็นผู้ถึงฝั่ง ดังนี้.
               ในพระสูตรนี้ บทใดมิได้กล่าวไว้ในระหว่างๆ บทนั้นพึงถือตามแนวพระบาลี.


               สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส               
               อรรถกถากามสุตตนิทเทส               
               จบสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑. กามสุตตนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=1&Z=486
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :