ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑. กามสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๕ / ๖.

               ชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าอันบุคคลใคร่ ได้แก่ กามคุณ ๕. ความพอใจในกามทั้งหลาย ชื่อว่ากามฉันทะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าใคร่. ความพอใจคือความใคร่ ชื่อว่ากามฉันทะ.
               ความว่า ไม่ใช่ความพอใจใคร่จะทำงาน.
               กามตัณหานั่นแหละมีชื่ออย่างนี้ ชื่อว่านิวรณ์ เพราะอรรถว่ากั้นกุศลธรรมทั้งหลาย. นิวรณ์คือกามฉันทะ ชื่อว่ากามฉันทนิวรณ์.
               แม้ในบทที่เหลือทั้งหลายก็มีนัยอย่างนี้.
               ชื่อว่าพยาบาท เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องถึงความพินาศ คือจิตเข้าถึงความเสีย หรือให้ถึงความพินาศ คือยังสมบัติคือวินัยและอาจารหรือประโยชน์เกื้อกูลและความสุขเป็นต้น ให้พินาศ.
               ความหดหู่ ชื่อว่าถีนะ ความเคลิบเคลิ้ม ชื่อว่ามิทธะ.
               อธิบายว่า ความไม่ขะมักเขม้น และความทำลายสมบัติ. ถีนะด้วย มิทธะด้วย ชื่อว่าถีนมิทธะ.
               ใน ๒ อย่างนั้น ถีนะมีความไม่ขะมักเขม้นเป็นลักษณะ. มีการบรรเทาความเพียรเป็นรส, มีความจมลงเป็นปัจจุปัฏฐาน. มิทธะ มีความไม่ควรแก่การงานเป็นลักษณะ , มีความตกต่ำเป็นรส, มีความเหี่ยวแห้งหรือความเคลิ้มหลับเป็นปัจจุปัฏฐาน. ทั้งถีนะและมิทธะ มีอโยนิโสมนสิการในความริษยา ความเฉื่อยชาและหาวนอนเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน.
               ความเป็นแห่งคนฟุ้งซ่าน ชื่อว่าอุทธัจจะ. อุทธัจจะนั้นมีความไม่สงบเป็นลักษณะ, มีความไม่ตั้งมั่นเหมือนน้ำกระเพื่อมเพราะถูกลมพัดเป็นรส, มีจิตกวัดแกว่งเหมือนธงปฏากสะบัดเพราะถูกลมพัดเป็นปัจจุปัฏฐาน, มีอโยนิโสมนสิการในความไม่สงบใจเหมือนเถ้าฟุ้งขึ้นเพราะถูกแผ่นหินทุ่มเป็นปทัฏฐาน. พึงเห็นว่าความฟุ้งซ่านแห่งจิตนั่นเอง.
               ความน่าเกลียดที่บุคคลกระทำแล้ว ชื่อว่ากุกกตะ. ความเป็นแห่งกุกกตะนั้น ชื่อว่ากุกกุจจะ ความรำคาญ. กุกกุจจะนั้นมีความตามเดือดร้อนภายหลังเป็นลักษณะ, มีความเศร้าโศกถึงสิ่งที่ทำแล้วยังไม่ได้ทำเป็นรส, มีความร้อนใจเป็นปัจจุปัฏฐาน, มีสิ่งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำเป็นปทัฏฐาน. พึงเห็นอุทธัจจะและกุกกุจจะเหมือนความเป็นทาส.
               ชื่อว่าวิจิกิจฉา เพราะอรรถว่าปราศจากการเยียวยา.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิจิกิจฉา เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องค้นคว้าสภาวะฝืดเคืองลำบาก.
               วิจิกิจฉานั้นมีความสงสัยเป็นลักษณะ มีการเสือกสนเป็นรส มีความไม่ตกลงหรือความยึดถือหลายส่วนเป็นปัจจุปัฏฐาน วิจิกิจฉามีอโยนิโสมนสิการเป็นปทัฏฐาน.
               พึงเห็นว่า กระทำอันตรายแก่การปฏิบัติ.
               ราคะ มีความกำหนัดเป็นลักษณะ.
               โทสะ มีความประทุษร้ายเป็นลักษณะ.
               โมหะ มีความหลงเป็นลักษณะ.
               โกธะ มีความโกรธหรือความดุร้ายเป็นลักษณะ. มีการกระทำความอาฆาตเป็นรส, มีความประทุษร้ายเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               อุปนาหะ มีความผูกใจเจ็บเป็นลักษณะ, มีความจองเวรเป็นรส, มีความเข้าไปผูกโกรธเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ความโกรธมีก่อน ความผูกโกรธมีภายหลัง เป็นต้น.
               มักขะ มีความลบหลู่คุณท่านเป็นลักษณะ. มีการทำให้ท่านเหล่านั้นเสียหายเป็นรส, มีการปกปิดคุณความดีของท่านเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               ปลาสะ มีการเทียบคู่เป็นลักษณะ, มีการกระทำคุณของตนให้เสมอกับคุณของผู้อื่นเป็นรส มีการยกขึ้นเทียบคุณของผู้อื่นเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               อิสสา มีการทำสมบัติของผู้อื่นให้สิ้นไป หรือทนไม่ได้ต่อสมบัตินั้นเป็นลักษณะ. มีความไม่ยินดียิ่งในสมบัตินั้นเป็นรส, มีความเบือนหน้าจากสมบัตินั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               มัจเฉระ มีการซ่อนสมบัติของตนเป็นลักษณะ, มีความทนไม่ได้ที่สมบัติของตนจะสาธารณ์ไปถึงผู้อื่นเป็นรส มีความสยิ้วหน้าเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               มายา มีการปกปิดความชั่วที่ตัวทำเป็นลักษณะ. มีการอำพรางความชั่วที่ตัวทำนั้นเป็นรส, มีการกำบังความชั่วที่ตัวทำนั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               สาไถย มีการประกาศคุณของตนซึ่งไม่มีเป็นลักษณะ, มีการเปล่งถึงคุณเหล่านั้นเป็นรส, มีการทำคุณเหล่านั้นปรากฏด้วยกิริยาท่าทางเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               ถัมภะ มีความลำพองแห่งจิตเป็นลักษณะ. มีความประพฤติไม่เชื่อฟังเป็นรส, มีความไม่อ่อนโยนเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               สารัมภะ มีกระทำยิ่งๆ ขึ้นไปเป็นลักษณะ, มีความเป็นข้าศึกเป็นรส, มีความไม่เคารพเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               มานะ มีความหยิ่งเป็นลักษณะ. มีความทะนงตัวเป็นรส. มีความลำพองเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               อติมานะ มีความหยิ่งอย่างยิ่งเป็นลักษณะ, มีความทะนงตัวเหลือเกินเป็นรส, มีความลำพองยิ่งเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               มทะ มีความเมาเป็นลักษณะ, มีการนำไปซึ่งความมัวเมาเป็นรส, มีความมัวเมาเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               ปมาทะ มีความปล่อยจิตไปในกามคุณ ๕ เป็นลักษณะ, มีการเพิ่มความปล่อยจิตเป็นรส, มีความขาดสติเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               ลักษณะ๑- เป็นต้นของธรรมเหล่านี้ พึงทราบด้วยประการฉะนี้ นี้เป็นความย่อในเรื่องนี้.
____________________________
๑- ลักขณาทิจตุกกะ

               ส่วนความพิสดาร พึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้ในคัมภีร์วิภังค์มีอาทิว่า บรรดาบทเหล่านั้น ความโกรธเป็นไฉน ดังนี้.
               แต่ในที่นี้ พึงทราบเป็นพิเศษดังต่อไปนี้ :-
               คนปรารถนาอามิส เมื่อตนเองไม่ได้ ย่อมโกรธคนอื่นที่ได้. ความโกรธของเขาที่เกิดครั้งเดียวเป็นความโกรธนั่นเอง. ที่เกิดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นเป็นความผูกโกรธไว้.
               ผู้นั้นโกรธอย่างนี้และผูกโกรธไว้ ย่อมลบหลู่คุณแม้ที่มีอยู่ของผู้อื่นที่ได้ลาภ และตีเสมอว่าแม้เราก็เป็นเช่นนั้น. นี้เป็นความลบหลู่คุณท่านและตีเสมอของเขา.
               คนที่มีความลบหลู่คุณท่าน มีความตีเสมอนั้น ย่อมริษยา ย่อมประทุษร้ายในลาภสักการะเป็นต้นของคนอื่นว่า สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์อะไรแก่ผู้นี้. นี้เป็นความริษยาของเขา.
               ก็ถ้าเขามีสมบัติอะไรๆ เขาไม่อาจจะใช้จ่ายสมบัติของเขาเป็นสาธารณะได้. นี้เป็นความตระหนี่ของเขา.
               เขาปกปิดโทษทั้งหลายแม้ที่มีอยู่ของตน เพราะเหตุแห่งลาภ. นี้เป็นมายาของเขา.
               เขาประกาศคุณทั้งหลายซึ่งไม่มีอยู่เลย นี้เป็นสาไถยของเขา.
               เขาปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าได้ลาภตามประสงค์ เป็นผู้กระด้าง มีจิตไม่อ่อนโยน ด้วยเหตุนั้นไม่อาจที่จะกล่าวสอนว่า เรื่องนี้ไม่ควรทำอย่างนี้. นี้เป็นความหัวดื้อของเขา.
               ก็ถ้าใครๆ พูดอะไรๆ ว่า เรื่องนี้ ท่านไม่ควรทำอย่างนี้. ย่อมมีใจปั่นป่วนเพราะเหตุนั้น จึงมีหน้าสยิ้วกล่าวข่มขู่ว่า แกเป็นอะไรของข้า นี้เป็นความแข่งดีของเขา.
               แต่นั้น เขามีความหัวดื้อสำคัญตนว่า เราเท่านั้นประเสริฐกว่า เป็นผู้มีความถือตัว ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความแข่งดีว่า คนเหล่านี้เป็นอะไร เป็นผู้ดูหมิ่นท่าน. นี้เป็นความถือตัวและดูหมิ่นท่านของเขา.
               เขายังความมัวเมาหลายอย่างมีความมัวเมาชาติเป็นต้น ให้เกิดด้วยความถือตัวและดูหมิ่นท่านเหล่านั้น. เป็นผู้มัวเมาย่อมประมาทในวัตถุทั้งหลายต่างโดยกามคุณเป็นต้น. นี้เป็นความมัวเมาและความประมาทของเขา ดังนี้.
               บทว่า สพฺเพ กิเลสา ความว่า อกุศลธรรมแม้ทั้งปวง ชื่อว่ากิเลส ด้วยอรรถว่าแผดเผา และด้วยอรรถว่าเบียดเบียน.
               ชื่อว่าทุจริต เพราะถูกกิเลสประทุษร้าย. ชื่อว่าความกระวนกระวาย ด้วยอรรถว่าทำความกระวนกระวาย. ชื่อว่าความเร่าร้อน ด้วยอรรถว่าทำการเผาภายในเป็นต้น. ชื่อว่าความเดือดร้อน ด้วยอรรถว่าเผาไหม้ทุกเมื่อ. ชื่อว่าอกุศลธรรมทั้งปวง ด้วยอรรถว่าเกิดแต่ภาวะแห่งอกุศล และด้วยอรรถว่าปรุงแต่ง.
               บทว่า เกนตฺเถน ได้แก่ ด้วยอรรถอะไร? เพื่อจะแสดงเนื้อความสามอย่าง มีครอบงำเป็นต้น. พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ปริสหนฺตีติ ปริสฺสยา ดังนี้.
               บทว่า ปริสหนฺติ ความว่า ย่อมยังทุกข์ให้เกิดขึ้น, ย่อมครอบงำ.
               บทว่า ปริหานาย สํวตฺตนฺติ ความว่า ย่อมเป็นไปเพื่อสละกุศลธรรมทั้งหลาย.
               บทว่า ตตฺราสยา ความว่า อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมอาศัย คือย่อมอยู่ในสรีระนั้น. อธิบายว่า ย่อมเกิดขึ้น.
               บทว่า เต ปริสฺสยา ได้แก่ อันตรายมีกายทุจริตเป็นต้น.
               บทว่า กุสลานํ ธมฺมานํ อนฺตรายาย ความว่า ย่อมเป็นไปเพื่ออันตรธานไปคือเห็นไม่ได้ แห่งธรรมทั้งหลายที่เกิดแต่ภาวะที่เป็นกุศลมีสัมมาปฏิปทาเป็นต้น ที่พึงกล่าวในเบื้องบน.
               บทว่า สมฺมาปฏิปทาย ได้แก่ ปฏิปทาที่ดีงามอันบัณฑิตสรรเสริญ ไม่ใช่มิจฉาปฏิปทา.
               บทว่า อนุโลมปฏิปทาย ได้แก่ ปฏิปทาที่ไม่ขัดขวาง ไม่ใช่ปฏิปทาที่ทวนกลับ.
               บทว่า อปจฺจนิกปฏิปทาย ได้แก่ ไม่ใช่ปฏิปทาเป็นข้าศึก คือไม่ใช่ปฏิปทาที่ขัดแย้ง
               บทว่า อนฺวตฺถปฏิปทาย ได้แก่ ปฏิปทาที่คล้อยตามประโยชน์ คือปฏิปทาที่ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น. ท่านอธิบายไว้ว่า ปฏิปทาที่พึงปฏิบัติอย่างที่จะเกิดประโยชน์.
               บาลีว่า อตฺตตฺถปฏิปทาย ดังนี้ก็มี. ข้อนั้นไม่ดี.
               บทว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปทาย ความว่า โลกุตตรธรรม ๙ ชื่อว่าธรรม.
               วิปัสสนาเป็นต้น ชื่อว่าธรรมอันสมควร. ปฏิปทาอันสมควรแก่ธรรมนั้น ชื่อว่าอนุธรรมปฏิปทาแห่งความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้น.
               บทว่า สีเลสุ ปริปูริการิตาย ได้แก่ ความเป็นผู้ตั้งอยู่ในศีล คือพระปาฏิโมกข์ กระทำให้บริบูรณ์.
               บทว่า อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวารตาย ได้แก่ ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองดีแล้วในอินทรีย์มีใจเป็นที่ ๖ ที่ตรัสไว้โดยนัยว่า เห็นรูปด้วยจักษุ เป็นต้น.
               บทว่า โภชเน มตฺตญฺญุตาย ได้แก่ ความเป็นผู้มีโภชนะอันนับแล้วด้วยความเป็นผู้ประกอบด้วยประมาณในการรับเป็นต้น ละผ้าสาฎกที่ประดับเป็นต้นเสีย.
               บทว่า ชาคริยานุโยคสฺส ได้แก่ ประกอบเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นเครื่องตื่น ๕ ประการ โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้นทั้งหลาย ดังนี้. ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน.
               บทว่า สติสมฺปชญฺญสฺส ได้แก่ สติและสัมปชัญญะซึ่งเป็นอุปการะทุกเมื่อ แก่พระโยคาวจรทุกท่านผู้ประกอบการเจริญกรรมฐานทั้งปวง
               บทว่า สติปฏฺฐานนํ ความว่า ชื่อว่าการตั้ง เพราะคร่ำครวญ เรียกร้องเข้าไปตั้งไว้ในอารมณ์ทั้งหลาย. การตั้งสตินั่นแล ชื่อว่าสติปัฏฐาน.
               ก็สติปัฏฐานนั้นมี ๔ ประเภท คือ กาย, เวทนา, จิต, ธรรม. ให้เป็นไปด้วยสามารถแห่งการละโดยเป็นอาการที่ไม่งาม, เป็นทุกข์, ไม่เที่ยง, ไม่ใช่ตัวตน. และด้วยสามารถแห่งการให้สำเร็จกิจการละความสำคัญว่า งาม, เป็นสุข, เที่ยง, เป็นตัวตน. สติปัฏฐาน ๔ เหล่านั้น.
               บทว่า จตุนฺนํ สมฺมปฺปธานานํ ความว่า ชื่อว่าปธาน เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องเริ่มตั้ง. ชื่อว่าสัมมัปปธาน เพราะอรรถว่าความเริ่มตั้งงาม. หรือเป็นเครื่องเริ่มตั้งโดยชอบ.
               อีกอย่างหนึ่ง ความเริ่มตั้งนั้นชื่อว่างาม เพราะเว้นจากกิเลสชนิดต่างๆ และชื่อว่าปธาน เพราะนำมาซึ่งภาวะประเสริฐที่สุด ด้วยความเป็นคุณธรรมให้สำเร็จประโยชน์ เกื้อกูลและความสุข และเพราะการกระทำความเป็นปธาน ดังนั้นจึงชื่อว่าสัมมัปปธาน.
               คำว่า สมฺมปฺปธานํ นี้เป็นชื่อของความเพียร.
               การแบ่งสัมมัปปธานเป็น ๔ ย่อมเป็นไปโดยให้สำเร็จกิจคือ ละ, ไม่เกิด, เกิดขึ้น และตั้งอยู่แห่งอกุศลและกุศลทั้งหลายที่เกิดและไม่เกิดด้วย, ที่ไม่เกิดและเกิดด้วยสัมมัปปธาน ๔ เหล่านั้น.
               ในบทว่า จตุนฺนํ อิทฺธิปาทานํ นี้มีวินิจฉัยว่า บรรดา ฉันทะ วิริยะ จิตตะและวิมังสาทั้งหลาย แต่ละอย่างชื่อว่าอิทธิ เพราะอรรถว่าสำเร็จ. อธิบายว่า ย่อมรุ่งเรือง คือย่อมผลิต.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอิทธิ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องสำเร็จ คือมั่งคั่ง, เจริญ, ถึงความดีเลิศของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยอรรถที่หนึ่ง เครื่องบรรลุคือความสำเร็จ ชื่ออิทธิบาท. อธิบายว่า ส่วนคือความสำเร็จ. ด้วยอรรถที่สอง ชื่อว่าอิทธิบาท เพราะเป็นเครื่องถึงซึ่งความสำเร็จ.
               บทว่า ปาโท ได้แก่ ที่ตั้ง. อธิบายว่า อุบายเป็นเครื่องบรรลุ.
               ด้วยว่าธรรมทั้งหลายย่อมยังความสำเร็จกล่าวคือความวิเศษยิ่งๆ ขึ้นไปให้เกิดขึ้น คือย่อมบรรลุด้วยอิทธิบาทนั้น. ฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า เป็นเครื่องบรรลุอิทธิบาท ๔ เหล่านั้น.
               บทว่า สตฺตนฺนํ โพชฺฌงฺคานํ ความว่า ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะอรรถว่าองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ หรือแห่งความตรัสรู้.
               ท่านอธิบายไว้ว่า ธรรมสามัคคีนี้ ท่านเรียกว่าโพธิ เพราะทำวิเคราะห์ว่า พระอริยสาวกย่อมตรัสรู้ด้วยธรรมสามัคคี กล่าวคือ สติ ธรรมวิจยะ วีริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขา ซึ่งเกิดขึ้นในขณะแห่งโลกุตตรมรรค. เป็นปฏิปักษ์ต่ออันตรายิกธรรมทั้งหลายมิใช่น้อย มีความหดหู่, ความฟุ้งซ่าน การแต่งตั้ง การประมวลมา, กามสุขอัตตกิลมถานุโยค, อุจเฉททิฏฐิ. สัสสตทิฏฐิและความยึดมั่นเป็นต้น.
               บทว่า พุชฺฌติ ความว่า ลุกขึ้นจากความหลับอันสืบต่อกิเลส คือแทงตลอดอริยสัจ ๔ หรือทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานทีเดียว.
               ชื่อว่าโพชฌงค์ แม้เพราะเป็นองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ กล่าวคือ ธรรมสามัคคีนั้นเหมือนองค์แห่งฌานและองค์แห่งมรรคเป็นต้น เพราะอริยสาวกแม้นี้ใด ท่านเรียกว่าตรัสรู้ เพราะทำวิเคราะห์ว่า ตรัสรู้ด้วยธรรมสามัคคีนั่นซึ่งมีประการตามที่กล่าวแล้ว ชื่อว่าโพชฌงค์. แม้เพราะเป็นองค์แห่งพระอริยสาวกผู้ตรัสรู้นั้น เหมือนองค์แห่งเสนาเป็นต้น เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งบุคคลผู้ตรัสรู้ดังนี้. โพชฌงค์ ๗ เหล่านั้น.
               บทว่า อริยสฺส อฏฺฐงฺคิกสฺส มคฺคสฺส ความว่า เรียกว่าอริยะ ในบทว่า อริโย นั้น เพราะไกลจากกิเลสที่พึงฆ่าด้วยมรรคนั้นๆ เพราะกระทำความเป็นอริยะ และเพราะเป็นผู้ได้เฉพาะซึ่งอริยผล. ทางชื่อว่าอัฏฐังคิกะ เพราะอรรถว่ามีองค์ ๘. ทางนี้นั้นชื่อว่ามรรค เพราะอรรถว่าแสวงหา คือฆ่ากิเลสทั้งหมดไปสู่พระนิพพาน เหมือนเสนามีองค์ ๔ ดนตรีมีองค์ ๕ ซึ่งเป็นเพียงองค์เท่านั้น ผู้ปลดเปลื้ององค์ไม่มี. ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘.
               บทว่า อิเมสํ กุสลานํ ธมฺมานํ ได้แก่ กุศลธรรมอันเป็นโลกุตตระซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า อนฺตรายาย ได้แก่ เพื่อเป็นอันตราย คือเพื่ออันตรธานแห่งโลกุตตรธรรมทั้งหลาย คือเพื่อสละ กุศลธรรมที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระในกุศลธรรมเหล่านั้น.
               ชื่อว่าเป็นอันตราย เพราะอรรถว่าไม่ให้โลกุตตรธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น. อันตรายเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่นำความเสียหายมาให้.
               บทว่า ตตฺเถเต ได้แก่ อกุศลธรรมเหล่านั้นในอัตภาพนั้น.
               บทว่า ปาปกา แปลว่า ลามก.
               บทว่า อตฺตภาวสนฺนิสฺสยา ความว่า อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นธรรมอยู่อาศัยในอันตราย เพราะอรรถว่าเข้าไปอาศัยอัตภาพเกิดขึ้นเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่าอันตราย.
               บทว่า ทเก แปลว่า ในน้ำ.
               บทว่า วุตฺตญฺเหตํ ความว่า สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้.
               บทว่า สานฺเตวาสิโก ความว่า ชื่อว่าสานเตวาสิกะ เพราะอรรถว่าอยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน. ชื่อว่าสาจริยกะ เพราะอรรถว่าอยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน.
               บทว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา ได้แก่ เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ.
               แม้ในบทว่า โสเตน สทฺทํ สุตฺวา เป็นต้นข้างหน้าก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า อุปฺปชฺชนฺติ ได้แก่ ย่อมปรากฏขึ้น.
               บทว่า สรสงฺกปฺปา ได้แก่ มีความดำริเกิดขึ้นซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ.
               บทว่า สญฺโญชนียา ได้แก่ เกื้อกูลแก่สัญโญชน์ทั้งหลาย ด้วยความเจริญแห่งสัญโญชน์เข้าถึงความเป็นอารมณ์
               บทว่า ตยสฺส ความว่า อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ... แห่งภิกษุนั้น.
               บทว่า อนฺโต วสนฺติ ความว่า ย่อมอยู่อาศัยในภายในคือในจิต.
               บทว่า อนฺวาสฺสวนฺติ ความว่า ย่อมซ่าน คือติดตามไป ตกแต่งไปตามความสืบเนื่องของกิเลส.
               บทว่า เต นํ ความว่า อกุศลธรรมเหล่านั้น ... บุคคลนั้น.
               บทว่า สมุทาจรนฺติ ได้แก่ ย่อมประพฤติเอื้อเฟื้อคือย่อมเป็นไปโดยชอบ.
               ชื่อว่าเป็นมลทิน เพราะอรรถว่าเศร้าหมอง.
               ชื่อว่าเป็นอมิตร เพราะอรรถว่าเป็นศัตรู.
               ชื่อว่าเป็นข้าศึก เพราะอรรถว่าเป็นผู้จองเวร.
               ชื่อว่าเป็นเพชฌฆาต เพราะอรรถว่าฆ่า
               ชื่อว่าเป็นศัตรู เพราะอรรถว่าเป็นปัจจามิตร.
               อีกอย่างหนึ่ง เป็นมลทิน เหมือนพลาหกเป็นเครื่องเศร้าหมองของดวงอาทิตย์. เป็นอมิตร เหมือนควันของดวงอาทิตย์. เป็นข้าศึกเหมือนหิมะของดวงอาทิตย์. เป็นเพชฌฆาต เหมือนธุลีของดวงอาทิตย์. เป็นศัตรู เหมือนราหูของดวงอาทิตย์.
               เป็นมลทิน เหมือนมลทินของทองคำทำรัศมีอันวิจิตรให้พินาศ. เป็นอมิตร เหมือนมลทินของโลหะดำ ทำความน่ารักในความวิจิตรให้พินาศ. เป็นข้าศึก เหมือนข้าศึกรบกันเป็นคู่ กำจัดธรรมที่ตั้งอยู่ในใจ. เป็นเพชฌฆาต เหมือนคนฆ่ามนุษย์ ย่อมฆ่าธรรมเสีย. เป็นศัตรูเหมือนความพินาศของผู้ที่พระราชาประหารห้ามทางพระนิพพาน. อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อนตฺถชนโน ความว่า ชื่อว่ายังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด เพราะอรรถว่ายังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์นั้นให้เกิดขึ้น.
               ธรรมที่ยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้นนั้น คืออะไร? คือโลภะ
               บทว่า จิตฺตปฺปโกปโน ความว่า ทำจิตให้กำเริบ คือกำจัด. อธิบายว่า กั้นจิตไว้ไม่ให้บรรลุความดี.
               บทว่า ภยมนฺตรโต ชาตํ ความว่า ภัยหลายอย่างเกิดในภายใน คือในจิตของตนนั่นเอง คือเป็นเหตุแห่งภัยมีการยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิดเป็นต้น.
               บทว่า ตํ ชโน นาวพุชฺฌติ ความว่า มหาชนที่เป็นพาล ย่อมไม่หยั่งรู้ซึ้งถึงภัยนั้น.
               บทว่า อตฺถํ ความว่า บุคคลผู้โลภย่อมไม่รู้ประโยชน์ที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ.
               บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ เหตุแห่งประโยชน์นั้น.
               บทว่า อนฺธตมํ ได้แก่ ความมืดตื้อ.
               บทว่า ยํ แปลว่า เพราะเหตุใด หรือคนใด.
               บทว่า สหเต แปลว่า ย่อมครอบงำ.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ ได้แก่ ในสันดานของตน.
               บทว่า อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชนฺติ ความว่า พอเกิดขึ้นทีแรกก็เกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์.
               ด้วยบททั้งสองนั้น หมายถึง เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก.
               บทว่า อหิตาย ได้แก่ ทุกข์ทางใจ.
               บทว่า ทุกฺขาย ได้แก่ ทุกข์ทางกาย.
               บทว่า อผาสุวิหาราย ความว่า ด้วยบททั้งสองนั้นไม่ใช่เพื่อความอยู่เป็นสุข.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชนฺติ ความว่า ตั้งแต่ภวังคจลนจิต๒-จนถึงโวฏฐัพพนจิต ชื่อว่าเมื่อเกิดขึ้น. เมื่อถึงโวฏฐัพพนจิตแล้วไม่กลับ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น. อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๒- ภวังคจลนะ, ภวังคุปัจเฉทะ, ปัญจทวาราวัชชนะ ปัญจวิญญาณ, สัมปฏิจฉันนะ, สันตีรณะ, โวฏฐัพพนะ... (ในปัญจทวารวิถี)
               
               บทว่า ตจสารํว สมฺผลํ ความว่า เหมือนไม้ไผ่ซึ่งเป็นไม้มีเปลือกแข็งต้องพินาศไปด้วยขุยของตนฉะนั้น.
               บทว่า อรตี ได้แก่ ไม่พอใจในกุศลธรรมทั้งหลาย.
               บทว่า รติ ได้แก่ ความยินดียิ่งในกามคุณ ๕.
               บทว่า โลมหํโส ได้แก่ มีขนมีปลายชูขึ้นเช่นกับหนาม.
               บทว่า อิโตนิทานา ความว่า ชื่อว่ามีอัตภาพนี้เป็นเหตุ เพราะอรรถว่ามีอัตภาพนี้เป็นเหตุ คือเป็นปัจจัย.
               บทว่า อิโต ชาตา ความว่า เกิดแต่อัตภาพนี้.
               บทว่า อิโต สมุฏฺฐาย มโนวิตกฺกา ความว่า อกุศลวิตกตั้งขึ้นแต่อัตภาพนี้แล้ว ย่อมปล่อยจิตเหมือนพวกเด็กเอาด้ายยาวผูกตีนกา เอาปลายด้ายนั้นพันนิ้วมือไว้แล้วปล่อยกาไป กานั้นแม้บินไปไกล ก็กลับมาตกแทบเท้าของพวกเด็กเหล่านั้น ฉะนั้น.
               พระสูตรแรกที่นำมาอ้างว่า สานฺเตวาสิโก ท่านกล่าวหมายเอาการอยู่ร่วมด้วยกิเลส.
               พระสูตรที่ ๒ ที่นำมาอ้างว่า ตโยเม ภิกฺขเว อนฺตรามลา ท่านกล่าวด้วยสามารถกระทำกุศลธรรมให้เศร้าหมอง และด้วยสามารถแห่งการไม่รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์.
               พระสูตรที่ ๓ ที่นำมาอ้างว่า ตโย โข มหาราช ปุริสสฺส ธมฺมา อชฺฌตฺตํ อุปฺปชฺชมานา ท่านกล่าวด้วยสามารถกำจัดนิสัยของตน.
               พระสูตรที่ ๔ ที่นำมาอ้างว่า ราโค จ โทโส จ อิโตนิทานา ท่านกล่าวด้วยสามารถแสดงที่ตั้งของกิเลสทั้งหลาย พึงทราบดังนี้.
               บทว่า ตโต ตโต ปริสฺสยโต ได้แก่ แต่อันตรายนั้นๆ.
               บทว่า ตํ ปุคฺคลํ ได้แก่ บุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยกิเลสมีประการดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า ทุกฺขํ อนฺเวติ ความว่า ทุกข์ย่อมติดตามเหมือนลูกโคที่ยังไม่หย่านม ตามหลังแม่โคไป ฉะนั้น.
               บทว่า อนุคจฺฉติ ความว่า ย่อมไปใกล้ ๆ เหมือนคนฆ่าโจรตามโจรที่ถูกสั่งประหารไปฉะนั้น.
               บทว่า อนฺวายิกํ โหติ ความว่า ย่อมถึงพร้อม เหมือนการกำหนดข้อธรรมชี้แจงเนื้อความเป็นอันมากของชาติศัพท์ ในบทว่า ชาติทุกฺขํ ก่อนเหมือนอย่างที่กล่าวไว้ว่า :-
                         เนื้อความของชาติศัพท์ ท่านประกาศไว้ว่า ภพ สกุล
                         นิกาย ศีล บัญญัติ ลักษณะ ประสูตร และปฏิสนธิ.

               จริงอย่างนั้น ศัพท์ว่า ชาติ มีเนื้อความว่า ภพ ในข้อความเป็นต้นว่า เอกมฺปิ ชาตึ เทฺวปิ ชาติโย ภพหนึ่งบ้าง สองภพบ้าง.
               มีเนื้อความว่า สกุล ในข้อความนี้ว่า อกฺขิตฺโต อนูปกฏฺโฐ ชาติวาเทน ซัดไป ไม่เข้าไปใกล้ ด้วยวาทะว่าสกุล.
               มีเนื้อความว่า นิกาย ในข้อความนี้ว่า อตฺถิ วิสาเข นิคคณฺฐา นาม สมณชาติ ดูก่อนวิสาขา ชื่อว่านิครนถ์ทั้งหลายเป็นนิกายสมณะมีอยู่.
               มีเนื้อความว่า อริยศีล ในข้อความนี้ว่า ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้ว โดยอริยชาติ จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์เสียจากชีวิตหามิได้.๓-
____________________________
๓- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๕๓๑

               มีเนื้อความว่า บัญญัติ ในข้อความนี้ว่า ติริยา นาม ติณชาติ นาภิยา อุคฺคนฺวา นภํ อาหจฺจ ฐิตา อโหสิ บัญญัติว่าหญ้า ถึงมีศูนย์กลางสูงขึ้นไปตั้งอยู่จดท้องฟ้า ก็ชื่อว่าต่ำต้อย.
               มีเนื้อความว่า สังขตลักษณะ ในข้อความนี้ว่า ชาติ ทฺวีหิ ขนฺเธหิ สงฺคหิตา สังขตลักษณะ สงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๒.
               มีเนื้อความว่า ประสูติ ในข้อความนี้ว่า สมฺปติชาโต อานนฺท โพธิสตฺโต ดูก่อนอานนท์ พระโพธิสัตว์ประสูติบัดเดี๋ยวนี้.
               เนื้อความว่า ปฏิสนธิขณะ โดยอ้อม ในข้อความนี้ว่า ภวปจฺจยา ชาติ ปฏิสนธิขณะมีเพราะภพเป็นปัจจัย. และว่า ชาติปิ ทุกฺขา แม้ปฏิสนธิขณะก็เป็นทุกข์ แต่โดยตรงมีเนื้อความว่า ความปรากฏครั้งแรกแห่งขันธ์นั้นๆ ที่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้บังเกิดอยู่ในภพนั้นๆ.
               หากจะถามว่า ก็เพราะเหตุไร ชาตินี้จึงเป็นทุกข์?
               พึงตอบว่า เพราะเป็นที่ตั้งของทุกข์มิใช่น้อย ก็ทุกข์มิใช่น้อย ได้แก่ ทุกขทุกข์ วิปริณามทุกข์ สังขารทุกข์ ปฏิจฉันนทุกข์ อัปปฏิจฉันนทุกข์ ปริยายทุกข์ นิปปริยายทุกข์.
               บรรดาทุกข์เหล่านี้ ทุกขเวทนาทางกาย ทางใจ ท่านเรียกว่าทุกขทุกข์ เพราะเป็นทุกข์โดยสภาวะด้วย โดยชื่อด้วย.
               สุขเวทนา ท่านเรียกว่าวิปริณามทุกข์ เพราะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในเมื่อแปรปรวนไป.
               อุเบกขาเวทนาด้วย สังขารที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือลงด้วย ท่านเรียกว่าสังขารทุกข์ เพราะถูกความเจริญและความเสื่อมบีบคั้น.
               อาพาธทางกายทางใจ คือ ปวดหู ปวดฟัน ความเร่าร้อนเกิดเพราะโทสะโมหะ ท่านเรียกว่าปฏิจฉันนทุกข์ เพราะถามจึงรู้ และเพราะมีความพยายามไม่ปรากฏ.
               อาพาธที่มีการลงโทษ ๓๒ อย่างเป็นต้นเป็นสมุฏฐาน ท่านเรียกว่าอัปปฏิจฉันทุกข์ เพราะไม่ต้องถามก็รู้ และเพราะมีความพยายามปรากฏ.
               ทุกข์ที่เหลือ นอกจากทุกขทุกข์ มาแล้วในคัมภีร์สัจจวิภังค์.
               ทุกข์แม้ทั้งหมดมีชาติเป็นต้น ท่านเรียกว่าปริยายทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งของทุกข์นั้นๆ ส่วนทุกขทุกข์ ท่านเรียกว่าทุกข์โดยตรง
               บรรดาทุกข์เหล่านั้น ชาติทุกข์นี้ ได้แก่ทุกข์ที่เป็นไปในอบาย แม้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นอุปมาไว้ในพาลปัณฑิตสูตรเป็นต้น และทุกข์ประเภทที่มีความเกิดในครรภ์เป็นมูลเป็นต้นที่เกิดในมนุษยโลก แม้ในสุคติ ชาติเป็นทุกข์เพราะความเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์นั้น.
               ในทุกข์เหล่านั้น ทุกข์ประเภทที่มีความเกิดในครรภ์เป็นมูลเป็นต้น ดังต่อไปนี้.
               ความจริง สัตว์นี้เมื่อบังเกิดในครรภ์ของมารดา มิใช่บังเกิดในดอกอุบล ดอกปทุมและดอกบุณฑริกเป็นต้น ที่แท้บังเกิดในส่วนของร่างกายที่เป็นท้อง ตรงกลางระหว่างแผ่นท้องและกระดูกสันหลัง อยู่ใต้กระเพาะอาหารใหม่ เหนือกระเพาะอาหารเก่า เป็นที่คับแคบอย่างยิ่งมืดตื้อ อบไปด้วยกลิ่นซากศพต่างๆ และมีกลิ่นเหม็นอย่างยิ่งอัดแน่น น่ารังเกียจอย่างยิ่ง เหมือนหนอนในปลาเน่า ขนมสดบูดเน่าและส้วมซึมเป็นต้น สัตว์ที่เกิดในครรภ์นั้นต้องอยู่ในครรภ์มารดาถึง ๑๐ เดือน จึงร้อนเหมือนอาหารที่สุกแต่ความร้อน, จมอยู่เหมือนก้อนแป้ง เว้นจากการคู้เข้าและการเหยียดออกเป็นต้น ย่อมเสวยทุกข์มีประมาณยิ่งแล ทุกข์มีความเกิดในครรภ์เป็นมูล เท่านี้ก่อน.
               สัตว์นั้น เวลาที่มารดาลื่นพลาด เดินนั่งลุกและพลิกตัวโดยพลันเป็นต้น เป็นเหมือนลูกแกะอยู่ในมือของนักเลงสุรา และเหมือนลูกงูอยู่ในมือของคนเล่นงู ย่อมเสวยทุกข์มีประมาณยิ่ง ด้วยความพยายามมีฉุดกระชากลากถูเป็นต้น.
               สัตว์นั้น เวลาที่มารดาดื่มน้ำเย็น ก็เป็นเหมือนตกสีตนรก เวลามารดากลืนกินข้าวยาคูและภัตตาหารที่ร้อน ก็เหมือนถูกโปรยด้วยเม็ดฝนถ่านเพลิง เวลาที่มารดากลืนกินของเค็มของเปรี้ยวเป็นต้น ก็เหมือนถูกลงโทษมีราดด้วยน้ำด่างเป็นต้น ย่อมเสวยทุกข์หนัก นี้เป็นทุกข์ซึ่งมีการบริหารครรภ์เป็นมูล.
               อนึ่ง ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์นั้น ด้วยการตัดและการผ่าเป็นต้น ในที่เกิดทุกข์ ซึ่งแม้มิตรอำมาตย์และเพื่อนเป็นต้นของมารดาผู้หลงครรภ์ ก็ไม่ควรเห็น นี้เป็นทุกข์ซึ่งมีความวิบัติแห่งครรภ์เป็นมูล.
               เมื่อมารดาคลอด ทุกข์ย่อมเกิดแก่สัตว์นั้นผู้ถูกลมกัมมชวาตพัดให้ตกลงตรงทางกำเนิดซึ่งน่ากลัวยิ่งเหมือนตกนรก ถูกคร่าออกทางปากช่องกำเนิดที่คับแคบอย่างยิ่งเหมือนช่องกุญแจ เหมือนสัตว์นรกมหานาคที่ถูกภูเขาบดแหลกละเอียด นี้เป็นทุกข์ซึ่งมีการคลอดเป็นมูล.
               อนึ่ง ในเวลาที่เขาจับมือให้อาบน้ำทำความสะอาดและเช็ดถูด้วยผ้า ซึ่งสรีระของเด็กอ่อนอันเช่นกับแผลอ่อนเป็นต้น ทุกข์เช่นกับการเจาะและการผ่าด้วยคมมีดโกนซึ่งคมเหมือนปากยุง ย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้เกิดแล้ว นี้เป็นทุกข์ซึ่งมีการออกภายนอกครรภ์มารดาเป็นมูล.
               ในความเป็นไปต่อแต่นั้น ทุกข์ย่อมมีแก่สัตว์ผู้ฆ่าตนด้วยตนนั่นแหละ ผู้ประกอบความเพียรด้วยการทรมานตนและการเผากิเลสด้วยการประพฤติวัตรของอเจลกเป็นต้น ผู้ไม่บริโภคอาหารและหงุดหงิดเพราะโกรธ นี้เป็นทุกข์ซึ่งมีความขวนขวายของตนเป็นมูล.
               อนึ่ง ทุกข์ย่อมเกิดแก่สัตว์ผู้เสวยกรรมมีการฆ่าและการจองจำเป็นต้นแต่ผู้อื่น นี้เป็นทุกข์ซึ่งมีความขวนขวายของผู้อื่นเป็นมูล.
               ทุกข์แม้ทั้งหมดนี้ล้วนมีชาติเป็นที่ตั้งทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้. ชาติทุกข์นี้ย่อมติดตามไป.
               บทว่า ชราทุกฺขํ ได้แก่ ชรา ๒ อย่าง คือ ลักษณะที่ปรุงแต่ง ๑ ความเก่าแห่งขันธ์ที่เนื่องด้วยเอกภพในสันตติ ที่รู้กันว่าฟันหักเป็นต้น ๑. ชรานั้นท่านประสงค์เอาในที่นี้,
               ก็ชรานี้นั้นเป็นทุกข์ เพราะความเป็นทุกข์ในสังสารวัฏ และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ทุกข์ทางกายและทางใจซึ่งมีปัจจัยไม่น้อยเป็นต้นว่า ความหย่อนยานแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ ความมีรูปเปลี่ยนไปเพราะความวิการแห่งอินทรีย์ ความเป็นหนุ่มสาวสิ้นไป ความเพียรอ่อนลง ความปราศจากสติและมติ และความดูแคลนแต่ผู้อื่นนี้ย่อมเกิดขึ้น.
               ชราเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์นั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า :-
                                   สัตว์ย่อมถึงทุกข์ทางกายทุกข์ทางใจ เพราะ
                         อวัยวะหย่อนยาน อินทรีย์ทั้งหลายพิการ ความเป็น
                         หนุ่มสาวสิ้นไป ความบั่นทอนกำลัง ปราศจากสติเป็น
                         ต้น บุตรและทาระของตนไม่เลื่อมใส, ถึงความอ่อน
                         ยิ่งๆ ขึ้น เพราะทุกข์ทั้งหมดนั้นมีชราเป็นเหตุ ฉะนั้น
                         ชราจึงเป็นทุกข์.

               เชื่อมความว่า ชราทุกข์นี้ย่อมติดตาม.
               บทว่า พฺยาธิ ความว่า ชื่อว่าพยาธิ เพราะนำทุกข์ ๒ อย่างมา.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าพยาธิ เพราะอรรถว่าให้ลำบาก ให้เดือดร้อน ให้หวั่นไหว.
               แม้ในบทว่า มรณทุกฺขํ นี้ก็มีความตาย ๒ อย่าง คือลักษณะที่ปรุงแต่ง ๑ ซึ่งท่านกล่าวหมายเอาว่า ชราและมรณะ สงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๒ ดังนี้ และความตัดขาดแห่งการเกี่ยวเนื่องกันของชีวิตินทรีย์ที่เนื่องด้วยเอกภพ ๑ ซึ่งท่านกล่าวหมายเอาว่า ความกลัวแต่ความตายเป็นนิจ ดังนี้.
               ในที่นี้ ประสงค์เอามรณะนั้น แม้คำว่า มรณะเพราะชาติเป็นปัจจัย คือมรณะเพราะความขวนขวายของผู้อื่น มรณะเพราะสิ้นอายุ มรณะเพราะสิ้นบุญ ก็เป็นชื่อของมรณะนั้นแหละ พึงทราบประเภทแม้นี้อีกว่า ขณิกมรณะ สมมติมรณะ สมุจเฉทมรณะ.
               เมื่อชีวิตยังเป็นไป ความแตกแห่งรูปธรรมและนามธรรม ชื่อว่าขณิกมรณะ. คำนี้ว่า ติสสะตาย ปุสสะตาย ดังนี้ ชื่อว่าสมมติมรณะ โดยปรมัตถ์ เพราะไม่มีสัตว์. แม้คำนี้ว่า ข้าวกล้าตาย ต้นไม้ตาย ดังนี้ ก็ชื่อว่าสมมติมรณะ เพราะไม่มีชีวิตินทรีย์. กาลกิริยาอันไม่มีปฏิสนธิของพระขีณาสพ ชื่อว่าสมุจเฉทมรณะ.
               สมมติมรณะนอกนี้ เว้นสมมติมรณะภายนอกเสีย ท่านสงเคราะห์ในที่นี้ด้วยความตัดขาดแห่งการเกี่ยวเนื่องกันตามที่กล่าวแล้ว ชื่อว่าเป็นทุกข์ก็เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า :-
                                   คนชั่วพิจารณานิมิต มีกรรมชั่วเป็นต้น. คนดี
                         อดกลั้นความวิโยคซึ่งมีของรักเป็นที่ตั้ง. ทั้งคนชั่วคนดี
                         เมื่อตายย่อมมีทุกข์ใจไม่ต่างกัน.
                                   อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหมดเมื่อถูกแทงจุดสำคัญ
                         ของร่างกาย ย่อมมีทุกข์ที่เกิดแต่ร่างกาย มีการตัดที่ต่อ
                         ที่ผูกพันเป็นต้นซึ่งเป็นที่รัก เพราะการไม่แก้ไขทุกข์นี้
                         เป็นเรื่องทนไม่ได้ ฉะนั้นมรณะซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์นี้
                         ท่านจึงกล่าวว่าเป็นทุกข์เหมือนกัน.

               ในบทว่า โลกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสทุกฺขํ นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บรรดาความโศกเป็นต้น ความเดือดร้อนใจของผู้ที่ถูกความฉิบหายแห่งญาติเป็นต้นถูกต้อง โดยลักษณะเพ่งภายใน ชื่อว่าความโศก ก็ความโศกมีความทุกข์เป็นอรรถ เพราะความโศกนั้นเป็นทุกขทุกข์ และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า :-
                                   ความโศกย่อมแทงหทัยของสัตว์ทั้งหลาย ดุจ
                         ลูกศรอาบยาพิษ ย่อมเผาสัตว์อีก เหมือนกรงเหล็กที่
                         ไฟติดแดงเผาแกลบ ฉะนั้น ความโศกย่อมนำมาซึ่ง
                         ความทำลาย กล่าวคือพยาธิ ชรา และมรณะ และนำ
                         มาซึ่งทุกข์มีอย่างต่างๆ ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าทุกข์.

               การพร่ำรำพันของผู้ที่ถูกความฉิบหายแห่งญาติเป็นต้นถูกต้อง ชื่อว่าปริเทวะ ก็ปริเทวะนั้นมีความทุกข์เป็นอรรถ เพราะเป็นทุกข์ในสังสารวัฏ และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า :-
                                   เพราะบุคคลถูกลูกศรคือความโศกแทงแล้วคร่ำ
                         ครวญอยู่ย่อมถึงทุกข์ เกิดแต่โรคคอ ริมฝีปาก เพดาน
                         ลำคอและโรคผอมแห้ง มีประมาณอย่างยิ่งจนทนไม่ได้
                         ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสปริเทวะว่า เป็นทุกข์.

               ความทุกข์ทางกายมีลักษณะบีบคั้นกาย ชื่อว่าทุกข์.
               ก็ทุกข์นั้นมีความทุกข์เป็นอรรถ เพราะทุกข์นั้นเป็นทุกขทุกข์๔- คือเพราะนำมาซึ่งทุกข์ทางกายด้วย เพราะนำมาซึ่งทุกข์ทางใจด้วย.
____________________________
๔- ทุกขทุกข์ หมายเอา ทุกขเวทนา ในที่ทุกแห่ง.

               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า :-
                         เพราะทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจนี้ ย่อมบีบคั้นยิ่ง
                         ทั้งให้เกิดทุกข์ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทุกข์เป็นพิเศษ.

               ความทุกข์ทางใจมีลักษณะบีบคั้นใจ ชื่อว่าโทมนัส. ก็โทมมัสนั้นมีความทุกข์เป็นอรรถ เพราะโทมนัสนั้นเป็นทุกขทุกข์ และเพราะนำมาซึ่งทุกข์ทางกาย.
               จริงอยู่ ผู้ที่เพียบพร้อมด้วยทุกข์ทางใจ ย่อมสยายผม ทุบอก หมุนไปหมุนมาตกหลุมที่เขาขุดไว้ นำศัสตรามา ดื่มยาพิษ ผูกคอตาย เข้ากองไฟ ย่อมเสวยทุกข์มีประการต่างๆ.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         เพราะโทมนัสย่อมบีบคั้นใจ และนำมาซึ่ง
                         ความบีบคั้นกาย ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทุกข์.

               ความคับแค้นที่เกิดแต่ความทุกข์ทางใจ ซึ่งมีประมาณยิ่งของผู้ที่ถูกความฉิบหายแห่งญาติเป็นต้นถูกต้องนั่นแล ชื่อว่าอุปายาส. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเนื่องด้วยสังขารขันธ์ อุปายาสนั้นมีความทุกข์เป็นอรรถ เพราะอุปายาสนั้นเป็นทุกข์เพราะเป็นสังขารธรรม คือเพราะเผาใจ และเพราะทำกายให้ตกต่ำ.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า :-
                         เพราะอุปายาสให้เกิดทุกข์ มีประมาณยิ่ง คือเผาใจ
                         และทำกายให้ตกต่ำ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทุกข์.

               อนึ่ง ในบทนี้ ความโศก พึงเห็นเหมือนการหุงต้มภายในภาชนะด้วยไฟอ่อนๆ. ปริเทวะ พึงเห็นเหมือนการล้นออกนอกภาชนะของอาหารที่หุงต้มด้วยไฟแรง. อุปายาส พึงเห็นเหมือนการเคี่ยวอาหารที่เหลือจากล้นออกภายนอก ล้นออกไม่ได้อีก เคี่ยวภายในภาชนะนั่นแหละจนกว่าจะหมด.
               บทว่า เนรยิกทุกฺขํ ความว่า ทุกข์มีการจองจำ ๕ ประการเป็นต้นในนรก ย่อมติดตาม ทุกข์นั้นพึงแสดงด้วยเทวทูตสูตร.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า :-
                                   ถ้าสัตว์ไม่พึงเกิดในนรกทั้งหลาย พึงได้ทุกข์มีถูก
                         ไฟไหม้เป็นต้น ซึ่งทนไม่ได้ในที่นั้นๆ อันจะเป็นเครื่อง
                         ค้ำจุนที่ไหนได้ ฉะนั้น พระมหามุนีจึงตรัสการเกิดในโลก
                         นี้ว่า ทุกข์ดังนี้.

               บทว่า ติรจฺฉานโยนิกทุกฺขํ ความว่า ทุกข์หลายอย่างมีหวดด้วยแส้ และแทงด้วยประตักเป็นต้นในหมู่เดรัจฉาน ย่อมติดตาม. ทุกข์นั้นพึงถือเอาแต่พาลปัณฑิตสูตร.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า :-
                                   ทุกข์ในเดรัจฉานทั้งหลาย เกิดแต่ถูกพิฆาตด้วยแส้
                         ประตักและท่อนไม้เป็นต้น ไม่น้อยนั้น พึงมีในชาตินั้น
                         อย่างไร นอกจากการเกิดในเดรัจฉาน การเกิดในที่นั้นๆ
                         ก็เป็นทุกข์ แม้เพราะเหตุนั้น.

               บทว่า ปิตฺติวิสยิกทุกฺขํ ความว่า ทุกข์ที่บังเกิดแต่ความหิวกระหายและลมแดดเป็นต้นในเปรตทั้งหลายด้วย ทุกข์ที่เกิดแต่หนาวจนทนไม่ได้เป็นต้นในโลกันต์ซึ่งมืดตื้อด้วย ย่อมติดตาม.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า :-
                                   ก็ทุกข์ในเปรตทั้งหลาย เกิดแต่ความหิวกระหาย
                         และลมแดดเป็นต้น วิจิตร เพราะไม่มีแก่ผู้ที่ไม่เกิดในเปรต
                         นั่น ฉะนั้น พระมหามุนีจึงตรัสว่า ชาติเป็นทุกข์.
                                   ทุกข์ในอสูรทั้งหลายในโลกันต์ ซึ่งมืดตื้อและหนาว
                         จนทนไม่ได้นั้น ไม่พึงมีแก่ผู้ไม่เกิดในที่นั้น ฉะนั้น ชาติ
                         การเกิดนี้จึงเป็นทุกข์.

               บทว่า มานุสกทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์มีการฆ่าและการจองจำเป็นต้นในมนุษย์ทั้งหลาย.
               บทว่า คพฺโภกฺกนฺติมูลกทุกฺขํ ได้แก่ ชาติทุกข์ที่กล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า ความจริง สัตว์นี้เมื่อบังเกิดในครรภ์ของมารดา มิใช่บังเกิดในดอกอุบล ดอกปทุมและดอกบุณฑริกเป็นต้น ดังนี้ ในเบื้องแรก ทุกข์มีความเกิดในครรภ์เป็นมูลนี้ก็ย่อมติดตามไป.
               บทว่า คพฺเภ ฐิติมูลกทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์กล้าที่กล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า สัตว์นั้น เวลาที่มารดาลื่นพลาด เดิน นั่ง ลุกและพลิกตัวโดยพลันเป็นต้น นี้คือทุกข์มีความตั้งอยู่ในครรภ์เป็นมูล ย่อมติดตามไป.
               บทว่า คพฺภวุฏฺฐานมูลกทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์ที่กล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า ในที่เป็นที่เกิดแห่งทุกข์ ซึ่งแม้มิตรอำมาตย์และเพื่อนของมารดาผู้หลงครรภ์เป็นต้น ก็ไม่ควรเห็น นี้คือ ทุกข์มีการออกนอกครรภ์มารดาเป็นมูล ย่อมติดตามไป.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า :-
                                   อนึ่ง สัตว์อยู่ในครรภ์มารดาซึ่งเหมือนนรกคูถ
                         ครบกำหนดก็คลอดออกภายนอก ซึ่งทุกข์ที่น่ากลัวยิ่ง
                         แม้นี้ เว้นชาติการเกิดเสีย ย่อมไม่มี พูดไปมากก็ไม่ได้
                         ประโยชน์อะไร ในที่ไหนๆ มิใช่หรือ แม้ทุกข์อะไรๆ
                         นี้จะมีอยู่ในโลกนี้ในบางคราว เมื่อเว้นชาติเสียได้ ก็จะ
                         ไม่มีเลย ฉะนั้น พระผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่จึงตรัสชาตินี้
                         ว่า ทุกข์ก่อนอะไรทั้งหมด.

               บทว่า ชาตสฺสุปนิพนฺธิกทุกฺขํ ความว่า ทุกข์คือการบำรุงเลี้ยงมีการอาบ ไล้ ทา กิน ดื่มเป็นต้น ซึ่งติดตามสัตว์ที่เกิดแล้ว ย่อมติดตามไป.
               บทว่า ชาตสฺส ปราเธยฺยกทุกฺขํ ความว่า ทุกข์ที่ไม่มีอิสระต้องอาศัยผู้อื่นคือบุคคลอื่น ย่อมติดตามไป. มีอธิบายว่า ตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นทุกอย่าง เป็นทุกข์.
               บทว่า อตฺตูปกฺกมทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์ที่มีแก่สัตว์ผู้ฆ่าตนด้วยตนนั่นแหละ ผู้ประกอบความเพียรด้วยการทรมานตนและการเผากิเลส ด้วยการประพฤติวัตรของอเจลกเป็นต้น ผู้ไม่บริโภคอาหารและหงุดหงิดเพราะความโกรธ. นี้คือทุกข์อันเกิดแต่ความขวนขวายของตน ย่อมติดตามไป.
               บทว่า ปรูปกฺกมทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้เสวยกรรมมีการฆ่าและการจองจำเป็นต้นแต่ผู้อื่น นี้คือทุกข์อันเกิดแต่ความขวนขวายของผู้อื่น ย่อมติดตามไป.
               บทว่า ทุกฺขทุกฺขํ ความว่า ทุกขเวทนาทางกายและทางใจ ท่านเรียกว่าทุกขทุกข์ เพราะเป็นทุกข์โดยสภาวะและโดยชื่อ ทุกขทุกข์นี้ย่อมติดตามไป.
               บทว่า สงฺขารทุกฺขํ ได้แก่ อุเบกขาเวทนาและสังขารธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือ ชื่อว่าสังขารทุกข์ เพราะถูกความเจริญและความเสื่อมบีบคั้น. สังขารทุกข์นี้ ย่อมติดตามไป.
               บทว่า วิปริณามทุกฺขํ ได้แก่ สุขเวทนา ชื่อว่าวิปริณามทุกข์ เพราะเป็นเหตุแห่งทุกข์ในเมื่อแปรปรวน ก็วิปริณามทุกข์นี้ ย่อมติดตามไป.
               บทว่า มาตุมรณํ ได้แก่ ความตายของมารดา.
               บทว่า ปิตุมรณํ ได้แก่ ความตายของบิดา.
               บทว่า ภาตุมรณํ ได้แก่ ความตายของพี่ชายน้องชาย.
               บทว่า ภคินีมรณํ ได้แก่ ความตายของพี่สาวน้องสาว.
               บทว่า ปุตฺตมรณํ ได้แก่ ความตายของบุตรทั้งหลาย.
               บทว่า ธีตุมรณํ ได้แก่ ความตายของธิดาทั้งหลาย.
               บทว่า ญาติพฺยสนทุกฺขํ ความว่า ความฉิบหายแห่งญาติทั้งหลาย ชื่อว่าญาติพยสนะ.
               อธิบายว่า ความสิ้นไปแห่งญาติ ด้วยโจรภัยและโรคภัยเป็นต้น เป็นความฉิบหายแห่งญาติ ทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้ถูกความฉิบหายแห่งญาตินั้นถูกต้อง คือท่วมทับ ครอบงำ ชื่อว่าทุกข์ เพราะความฉิบหายแห่งญาติ ทุกข์คือความฉิบหายแห่งญาตินั้น ย่อมติดตามไป.
               แม้ในบทที่เหลือทั้งหลายก็นัยนี้แหละ
               ส่วนความต่างกันมีดังนี้ :-
               ความฉิบหายแห่งโภคะทั้งหลาย ชื่อว่าโภคพยสนะ. อธิบายว่า ความสิ้นไปแห่งโภคะเพราะราชภัยและโจรภัยเป็นต้น เป็นความฉิบหายแห่งโภคะ ทุกข์คือความฉิบหายแห่งโภคะนั้น ย่อมติดตามไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า โรคพฺยสนํ ความว่า ความฉิบหายคือโรค ชื่อว่าโรคพยสนะ.
               ก็โรคชื่อว่าความฉิบหาย เพราะอรรถว่ายังความไม่มีโรคให้ฉิบหายคือให้พินาศ ทุกข์คือความฉิบหายเพราะโรคนั้น ย่อมติดตามไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า สีลพฺยสนทุกฺขํ ความว่า ความฉิบหายแห่งศีล ชื่อว่าสีลพยสนะ. บทนี้เป็นชื่อของความเป็นผู้ทุศีล ทุกข์คือความฉิบหายแห่งศีลนั้น ย่อมติดตามไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               ความฉิบหายคือทิฏฐิที่เกิดขึ้นยังสัมมาทิฏฐิให้พินาศ ชื่อว่าทิฏฐิพยสนะ. ทุกข์คือความฉิบหายแห่งทิฏฐินั้น ย่อมติดตามไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว
               และบรรดาบทเหล่านี้ ๒ บทแรกไม่สำเร็จประโยชน์ ๓ บทหลังสำเร็จประโยชน์ กำจัดลักษณะ ๓.
               อนึ่ง ๓ บทแรก เป็นกุศลก็ไม่ใช่ เป็นอกุศลก็ไม่ใช่. ความฉิบหายแห่งศีลและทิฏฐิทั้งสองเป็นอกุศล
               บทว่า ยถา ลงในอรรถแห่งอุปมา.
               บทว่า ภินฺนํ นาวํ ได้แก่ เรือที่มีเครื่องผูกหย่อน เป็นเรือคร่ำคร่าหรือมีแผ่นกระดานหลุดถอน.
               บทว่า ทีเปสึ ได้แก่ น้ำไหล คือน้ำเข้าไป.
               บทว่า ตโต ตโต อุทกํ อนฺเวติ ความว่า น้ำย่อมเข้าไปตรงที่แตกนั้นๆ.
               บทว่า ปุรโตปิ ได้แก่ ทางส่วนข้างหน้าของเรือบ้าง.
               บทว่า ปจฺฉโตปิ ได้แก่ ทางส่วนข้างหลังของเรือนั้นบ้าง
               บทว่า เหฏฺฐโตปิ ได้แก่ ทางส่วนท้องเรือบ้าง.
               บทว่า ปสสฺสโตปิ ได้แก่ ทางข้างทั้งสองบ้าง บทใดที่มิได้กล่าวไว้ในระหว่างๆ บทนั้นพึงทราบโดยแนวแห่งพระบาลี.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑. กามสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=1&Z=486
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :