ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ 1 ”             ผลการค้นหาพบ  10  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 10
ทุกข์
       1. สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก, สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลาย เนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่ขึ้นต่อตัวมันเอง
           (ข้อ ๒ ในไตรลักษณ์)
       2. อาการแห่งทุกข์ที่ปรากฎขึ้นหรืออาจปรากฎขึ้นได้แก่คน
           (ได้ในคำว่า ทุกขสัจจะ หรือ ทุกขอริยสัจจ์ ซึ่งเป็นข้อที่ ๑ ในอริยสัจจ์ ๔)
       3. สภาพที่ทนได้ยาก, ความรู้สึกไม่สบาย ได้แก่ ทุกขเวทนา,
           ถ้ามาคู่กับโทมนัส (ในเวทนา ๕) ทุกข์ หมายถึงความไม่สบายกาย คือทุกข์กาย (โทมนัสคือไม่สบายใจ)
           แต่ถ้ามาลำพัง (ในเวทนา ๓) ทุกข์ หมายถึงความไม่สบายกายไม่สบายใจ คือทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 10
บาลี
       1. “ภาษาอันรักษาไว้ซึ่งพุทธพจน์”, ภาษาที่ใช้ทรงจำและจารึกรักษาพุทธพจน์แต่เดิมมา อันเป็นหลักในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือกันว่าได้แก่ภาษามคธ
       2. คัมภีร์พระพุทธศาสนาต้นเดิมที่เป็นพระพุทธวจนะ อันพระสังคีติกาจารย์รวบรวมได้ คือ คัมภีร์พระไตรปิฎกที่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ประชุมกันรวบรวมจัดสรรให้เป็นหมวดหมู่ในคราวปฐมสังคายนา, พระพุทธพจน์, ข้อความที่มาในพระไตรปิฎก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 10
บุคคล ๔ 1- บุคคล ๔ จำพวก คือ
       ๑. อุคฆฏิตัญญู ผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลัน แต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
       ๒. วิปจิตัญญู ผู้รู้เข้าใจต่อเมื่อท่านขยายความ
       ๓. เนยยะ ผู้ที่พอจะแนะนำต่อไปได้
       ๔. ปทปรมะ ผู้ได้แค่ตัวบทคือถ้อยคำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจเข้าใจความหมาย
       พระอรรถกถาจารย์เปรียบบุคคล ๔ จำพวกนี้กับบัว ๔ เหล่าตามลำดับ คือ
           ๑. ดอกบัวที่ตั้งขึ้นพ้นน้ำ รอสัมผัสแสงอาทิตย์ก็จะบานในวันนี้
           ๒. ดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้
           ๓. ดอกบัวที่ยังอยู่ในน้ำ ยังไม่โผล่พ้นน้ำจักบานในวันต่อๆ ไป
           ๔. ดอกบัวจมอยู่ในน้ำที่กลายเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า
       (ในพระบาลี ตรัสถึงแต่บัว ๓ เหล่าต้นเท่านั้น)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 10
ปฏิโลม
       1. ทวนลำดับ, ย้อนจากปลายมาหาต้น เช่นว่า
           ตจปัญจกกัมมัฏฐาน
               จากคำท้ายมาหาคำต้นว่า “ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา”;
           ตรงข้ามกับ อนุโลม 1.
       2. สาวเรื่องทวนจากผลเข้าไปหาเหตุ เช่น
               วิญญาณมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย,
               สังขารมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นต้น;
           ตรงข้ามกับ อนุโลม 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 10
ภัททิยะ
       1. ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรก
       2. กษัตริย์ศากยวงศ์ โอรสของนางกาฬิโคธา สละราชสมบัติที่มาถึงตามวาระแล้วออกบวชพร้อมกับพระอนุรุทธะ สำเร็จอรหัตตผล ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้มาจากตระกูลสูง และจัดเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในจำนวน ๘๐

ภัททิยศากยะ ดู ภัททิยะ 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 10
มรรค ทาง, หนทาง
       1. มรรค ว่าโดยองค์ประกอบ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่าทางมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ เรียกสามัญว่า มรรคมีองค์ ๘ คือ
           ๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ
           ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
           ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
           ๔. สัมมากัมมันตะ ทำการชอบ
           ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
           ๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ
           ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
           ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ;
           ดู โพธิปักขิยธรรม
       2. มรรค ว่าโดยระดับการให้สำเร็จกิจ คือ ทางอันให้ถึงความเป็นอริยบุคคลแต่ละขั้น, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด เป็นชื่อแห่งโลกุตตรธรรม คู่กับผล มี ๔ ชั้นคือ
           โสดาปัตติมรรค ๑
           สกทาคามิมรรค ๑
           อนาคามิมรรค ๑
           อรหัตตมรรค ๑

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 10
รูป
       1. สิ่งที่จะต้องสลายไปเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน, ส่วนร่างกาย
           จำแนกเป็น ๒๘ คือมหาภูต หรือธาตุ ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ (=รูปขันธ์ในขันธ์ ๕)
       2. อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยจักษุ, สิ่งที่ปรากฏแก่ตา (ข้อ ๑ ในอารมณ์ ๖ หรือในอายตนะภายนอก ๖)
       3. ลักษณนาม ใช้เรียกพระภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุรูปหนึ่ง สามเณร ๕ รูป;
           ในภาษาพูดบางแห่งนิยมใช้ องค์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 10
สามัญลักษณะ
       1. ลักษณะที่เป็นสามัญ คือร่วมกันหรือเสมอกัน; คู่กับ ปัจจัตตลักษณะ
       2. ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง; ในความหมายนี้ ดู ไตรลักษณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 10
องค์
       1. ส่วน, ภาค, ตัว, อวัยวะ, ลักษณะ, คุณสมบัติ, ส่วนประกอบ
       2. ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณร นักบวชอื่นจากพวก และสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา
           เช่น พระพุทธรูป ๒ องค์ พระเจดีย์ ๔ องค์,
           สำหรับภิกษุสามเณร ในภาษาเขียนท่านให้ใช้ รูป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 10
อนุโลม
       1. เป็นไปตาม, คล้อยตาม, ตามลำดับ
           เช่น ว่าตจปัญจกรรมฐานไปตามลำดับอย่างนี้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
           ตรงข้ามกับ ปฏิโลม 1.
       2. สาวออกไปตามลำดับจากเหตุไปหาผลข้างหน้า
           เช่น อวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี, สังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เป็นต้น
           ตรงข้ามกับ ปฏิโลม 2.
       3. จัดเข้าได้, นับได้ว่าเป็นอย่างนั้น เช่น อนุโลมมุสา


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=_1
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=_1


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]