ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
ทุกขอริยสัจ
[๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์ ความประจวบ กับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน? ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลง เกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่า ชาติ ก็ชราเป็นไฉน? ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้ เรียกว่า ชรา ก็มรณะเป็นไฉน? ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความ หายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่า มรณะ ก็โสกะเป็นไฉน? ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะของบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรม คือ ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่า โสกะ ก็ปริเทวะเป็นไฉน? ความคร่ำครวญ ความร่ำไร รำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของ บุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่า ปริเทวะ ก็ทุกข์เป็นไฉน? ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์ ซึ่งเกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่า ทุกข์ ก็โทมนัสเป็นไฉน? ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดี ที่เป็นทุกข์ ซึ่งเกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่า โทมนัส ก็อุปายาสเป็นไฉน? ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความ พิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรม คือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่า อุปายาส ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน? ความประสบ ความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน? ความไม่ประสบ ความไม่ พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความ ผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อำมาตย์ หรือญาติสาโลหิต อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ก็ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน? ความปรารถนา ย่อมบังเกิด แก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความ เกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้น สัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา ... ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึง มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นธรรมดา ขอโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้น สัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน? อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียก ทุกขอริยสัจ.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๑๙๙๘-๒๐๔๐ หน้าที่ ๘๒-๘๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=1998&Z=2040&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=146&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=146&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=12&item=146&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=12&item=146&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=146              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 https://84000.org/tipitaka/english/?index_12

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]