ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท นิทานวัตถุ

๑. จีวรวรรค
๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท
ว่าด้วยการรับจีวร
เรื่องภิกษุณีอุบลวรรณา
[๕๐๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุณีอุบลวรรณาพักอยู่ ณ กรุงสาวัตถี เวลาเช้า ภิกษุณีอุบลวรรณาครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร๑- เข้าไปบิณฑบาต ในกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันเสร็จแล้ว เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อ พักผ่อนกลางวัน นั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง สมัยนั้น พวกโจรขโมยแม่โคมาฆ่าแล้วถือเอาเนื้อเข้าป่าอันธวัน หัวหน้าโจร มองเห็นภิกษุณีอุบลวรรณานั่งพักกลางวัน ครั้นเห็นแล้วจึงคิดว่า “หากพวกลูกน้อง เราพบเข้า จะประทุษร้ายนาง” จึงเลี่ยงเดินไปทางอื่น เมื่อปิ้งเนื้อสุก หัวหน้าโจร เลือกเนื้อดีๆ เอาใบไม้ห่อแขวนไว้ที่ต้นไม้ใกล้ภิกษุณีแล้วกล่าวว่า “เนื้อห่อนี้เรา ให้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เห็นแล้วจงถือเอาไปเถิด” ภิกษุณีออกจากสมาธิ ได้ยินคำที่หัวหน้าโจรพูด จึงถือเอาเนื้อไปที่พัก ครั้น ราตรีผ่านไป นางจัดเนื้อชิ้นนั้นให้เรียบร้อยแล้วใช้อุตตราสงค์ห่อเหาะไปยังพระเวฬุวัน วิหาร @เชิงอรรถ : @ คำว่า “ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร” นี้ มิใช่ว่า ก่อนหน้านี้ภิกษุณีมิได้นุ่งอันตรวาสก มิใช่ว่า ท่าน @ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยกายส่วนบน คำว่า “ครองอันตรวาสก” หมายถึงท่านผลัดเปลี่ยนสบง @หรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ คำว่า “ถือบาตรและจีวร” คือ ถือบาตรด้วยมือ ถือจีวรด้วยกาย หมาย @ความว่า “ห่มจีวรอุ้มบาตร” นั่นเอง (นิวาเสตฺวาติ ปริทหิตฺวา, วิหารนิวาสนปริวตฺตนวเสเนตํ เวทิตพฺพํ. @น หิ เต ตโต ปุพฺเพ อนิวตฺถา อเหสุํ. ปตฺตจีวรมาทายาติ ปตฺตํ หตฺเถหิ, จีวรํ กาเยน อาทิยิตฺวา, @สมฺปฏิจฺฉาเทตฺวา ธาเรตฺวาติ อตฺโถ- วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, วิหารนิวาสนปริวตฺตนวเสน นิวาสนํ ทฬฺหํ @นิวาเสตฺวา. ... จีวรํ ปารุปิตฺวา ปตฺตํ หตฺเถน คเหตฺวา - อุทาน.อ. ๖๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท นิทานวัตถุ

เช้าวันนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน เหลือท่านพระอุทายี อยู่เฝ้าพระวิหาร ภิกษุณีอุบลวรรณาเข้าไปหาแล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ พระผู้มี พระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน” ท่านพระอุทายีตอบว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน” ภิกษุณีกล่าวว่า “โปรดถวายเนื้อชิ้นนี้แด่พระผู้มีพระภาค” ท่านพระอุทายีกล่าวว่า “น้องหญิง พระผู้มีพระภาคจะทรงอิ่มหนำด้วยเนื้อที่ ถวาย ถ้าเธอถวายอันตรวาสกแก่อาตมา อาตมาก็จะอิ่มหนำด้วยอันตรวาสกเช่นกัน” ภิกษุณีกล่าวว่า “พระคุณเจ้า ความจริง ดิฉันเป็นมาตุคามหาลาภได้ยาก ทั้งผ้าผืนนี้ก็เป็นจีวรผืนสุดท้ายที่จะครบ ๕ ผืน๑- ดิฉันถวายไม่ได้” ท่านพระอุทายีกล่าวว่า “น้องหญิง เปรียบเหมือนบุรุษให้ช้างแล้วก็ควรสละ สัปคับสำหรับช้างด้วย เธอก็เหมือนกัน ถวายชิ้นเนื้อแด่พระผู้มีพระภาคแล้วก็จงสละ อันตรวาสกแก่อาตมาเถิด” ครั้นถูกท่านพระอุทายีพูดรบเร้า นางจึงถวายอันตรวาสกแล้วกลับที่พัก พวกภิกษุณีผู้คอยรับบาตรและจีวรถามนางว่า “อันตรวาสกของคุณแม่อยู่ที่ ไหน” นางจึงบอกเรื่องนั้นให้ทราบ ภิกษุณีทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุทายีจึงรับ จีวรจากมือภิกษุณีเล่า มาตุคามมีลาภน้อย” แล้วบอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน ท่านพระอุทายีจึงรับจีวรจากมือภิกษุณีเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุทายี โดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ @เชิงอรรถ : @ ภิกษุณีใช้ผ้ากาสายะ ๕ ผืน คือ (๑) สังฆาฏิ ผ้าห่มซ้อนนอก (๒) อุตตราสงค์ ผ้าห่ม (๓) อันตรวาสก ผ้านุ่ง @(๔) อุทกสาฏิกา ผ้าอาบน้ำ (๕) สังกัจจิกา ผ้ารัดถัน (กงฺขา.อ. ๓๗๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท พระบัญญัติ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอรับจีวรจากมือภิกษุณี จริงหรือ” ท่านพระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้า” พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “อุทายี นางเป็นญาติของเธอหรือไม่ใช่ญาติ” พระอุทายีทูลรับว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า” พระพุทธองค์ตรัสว่า “โมฆบุรุษ บุรุษผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความเหมาะสมหรือไม่ เหมาะสม ของที่มีอยู่หรือไม่มีของสตรีผู้ไม่ใช่ญาติ เธอนั้นรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้ ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ คนที่เลื่อมใส อยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๕๐๙] ก็ ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีอุบลวรรณา จบ
เรื่องแลกเปลี่ยนจีวร
[๕๑๐] สมัยนั้น พวกภิกษุรังเกียจไม่ยอมรับจีวรแลกเปลี่ยนของพวกภิกษุณี พวกภิกษุณีตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระคุณเจ้าจึงไม่ยอมรับจีวร แลกเปลี่ยนของพวกเราเล่า” พวกภิกษุได้ยินคำตำหนิประณามโพนทะนาของพวก ภิกษุณีจึงนำความนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ทรงอนุญาตให้รับจีวรแลกเปลี่ยนได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สหธรรมิก ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร และสามเณรี แลกเปลี่ยนจีวรกันได้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้รับสิ่งของแลกเปลี่ยนของสหธรรมิก ๕ เหล่านี้ได้” แล้วรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๕๑๑] อนึ่ง ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ ต้องอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน
เรื่องแลกเปลี่ยนจีวร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๕๑๒] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา ตลอดเจ็ดชั่วคน ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ มาตุคามที่อุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีขนาดพอที่จะทำ วิกัปได้เป็นอย่างต่ำ คำว่า เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน คือ ยกเว้นแลกเปลี่ยนกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ภิกษุรับ ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะพยายาม๑- จีวรเป็นนิสสัคคีย์ เพราะได้มา คือ เป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้ แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้กระผมรับ มาจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ โดยมิได้แลกเปลี่ยนกัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวร ผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวร ผืนนี้กระผมรับมาจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ โดยมิได้แลกเปลี่ยนกัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่าน ทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” @เชิงอรรถ : @ เพราะเหยียดมือรับเป็นต้น (คหณตฺถาย หตฺถปฺปสารณาทีสุ ทุกฺกฏํ - วิ.อ. ๒/๕๑๒/๑๗๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท บทภาชนีย์

สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ จีวรผืนนี้กระผมรับมาจากมือ ภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ โดยมิได้แลกเปลี่ยนกัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้ แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผมคืน จีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๕๑๓] ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ รับจีวรจากมือ ต้อง อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ รับจีวรจากมือ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ รับจีวรจากมือ ต้องอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน
ติกทุกกฏ
ภิกษุณีผู้อุปสมบทในสงฆ์ฝ่ายเดียว ภิกษุรับจีวรจากมือ ต้องอาบัติทุกกฏ เว้น ไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน ภิกษุณีที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ รับจีวรจากมือ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีที่เป็นญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ รับจีวรจากมือ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ รับจีวรจากมือ ไม่ต้องอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท นิทานวัตถุ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๕๑๔] ๑. ภิกษุรับจีวรของภิกษุณีผู้เป็นญาติ ๒. ภิกษุแลกเปลี่ยน คือ เอาของที่มีค่าน้อยแลกกับของมีค่ามาก หรือเอาของที่มีค่ามากแลกกับของมีค่าน้อย ๓. ภิกษุถือวิสาสะเอามา ๔. ภิกษุขอยืมจีวร ๕. ภิกษุรับบริขารอื่นนอกจากจีวร ๖. ภิกษุรับจีวรของสิกขมานา ๗. ภิกษุรับจีวรของสามเณรี ๘. ภิกษุวิกลจริต ๙. ภิกษุต้นบัญญัติ
จีวรปฏิคคหณสิกขาบทที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๓๒-๓๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=5              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=752&Z=910                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=46              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=46&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=3991              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=46&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=3991                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np5/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :