ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ัญ ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  80  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 80
กตัญญุตา ความเป็นคนกตัญญู, ความเป็นผู้รู้คุณท่าน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 80
กตัญญูกตเวทิตา ความเป็นคนกตัญญูกตเวที

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 80
กตัญญูกตเวที ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน แยกออกเป็น ๒ คือ
           กตัญญู รู้คุณท่าน
           กตเวที ตอบแทนหรือสนองคุณท่าน;
       ความกตัญญูกตเวทีว่าโดยขอบเขต แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ
           กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มีคุณความดีหรืออุปการะต่อตนเป็นส่วนตัว อย่างหนึ่ง
           กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์หรือมีคุณความดีเกื้อกูลแก่ส่วนรวม เช่นที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้าโดยฐานที่ได้ทรงประกาศธรรมยังหมู่ชนให้ตั้งอยู่ในกุศลกัลยาณธรรม เป็นต้น อย่างหนึ่ง
       (ข้อ ๒ ในบุคคลหาได้ยาก ๒)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 80
กัญจนา เจ้าหญิงแห่งเทวทหนครเป็นมเหสีของพระเจ้าสีหนุ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เป็นพระชนนีของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระอัยยิกาของเจ้าชายสิทธัตถะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 80
กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน, ภาวะที่ใช้การได้ หรือเหมาะแก่การใช้งาน, ความเหมาะงาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 80
กายกัมมัญญตา ความควรแก่การงานแห่งนามกาย,
       ธรรมชาติที่ทำนามกาย คือ เจตสิกทั้งหลายให้อยู่ในภาวะที่จะทำงานได้ดี
       (ข้อ ๑๔ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 80
กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา อันสมควรในการประกอบกิจนั้นๆ เช่น รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร เป็นต้น
       (ข้อ ๕ ในสัปปุริสธรรม ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 80
โกณฑัญญะ พราหมณ์หนุ่มที่สุดในบรรดาพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทำนายลักษณะของพระสิทธัตถกุมาร
       ต่อมาออกบวชตามปฏิบัติพระสิทธัตถะ ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นหัวหน้าพระปัญจวัคคีย์
       ฟังพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม ขอบรรพชาอุปสมบท เป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า
       มีชื่อเรียกกันภายหลังว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 80
ขันธปัญจก หมวด ๕ แห่งขันธ์ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
       (นิยมเรียก ขันธปัญจก)
       ดู ขันธ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 80
ฆนสัญญา ความสำคัญว่าเป็นก้อน, ความสำคัญเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งบังปัญญาไม่ให้เห็นภาวะที่เป็นอนัตตา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 80
จัญไร ชั่วร้าย, เลวทราม, เสีย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 80
จิตตกัมมัญญตา ความควรแก่การงานแห่งจิต, ธรรมชาติทำจิตให้เหมาะแก่การใช้งาน
       (ข้อ ๑๕ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 80
ตจปัญจกกัมมัฏฐาน กรรมฐานมีหนังเป็นที่คำรบห้า,
       กรรมฐานอันบัณฑิตกำหนดด้วยอาการมีหนังเป็นที่ ๕ เป็นอารมณ์
       คือ กรรมฐานที่ท่านสอนให้พิจารณาส่วนของร่างกาย ๕ อย่าง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นของปฏิกูล หรือโดยความเป็นสภาวะอย่างหนึ่งๆ ตามที่มันเป็นของมัน ไม่เอาใจเข้าไปผูกพันแล้วคิดวาดภาพใฝ่ฝันตามอำนาจกิเลส
       พจนานุกรมเขียน ตจปัญจกกรรมฐาน
       เรียกอีกอย่างว่า มูลกัมมัฏฐาน (กรรมฐานเบื้องต้น)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 80
ทิฏฐิสามัญญตา ความเป็นผู้มีความเสมอกันโดยทิฐิ, มีความเห็นร่วมกัน, มีความคิดเห็นลงกันได้
       (ข้อ ๖ ในสารณียธรรม ๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 80
ทุกขสัญญา ความหมายรู้ว่าเป็นทุกข์, การกำหนดหมายให้มองเห็นสังขารว่าเป็นทุกข์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 80
ธัญชาติ ข้าวชนิดต่างๆ, พืชจำพวกข้าว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 80
ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์;
       ตามอธิบายในบาลี หมายถึง รู้หลักหรือรู้หลักการ เช่น ภิกษุเป็นธัมมัญญู คือ รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จัดเป็นนวังคสัตถุศาสน์;
       ดู สัปปุริสธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 80
นิโรธสัญญา ความสำคัญหมายในนิโรธ คือ กำหนดหมายการดับตัณหาอันเป็นอริยผลว่า เป็นธรรมละเอียด ประณีต;
       ดู สัญญา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 80
เนรัญชรา ชื่อแม่น้ำสำคัญ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ภายใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสายนี้ และก่อนหน้านั้นในวันตรัสรู้ ทรงลอยถาดข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายในแม่น้ำสายนี้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 80
เนวสัญญานาสัญญายตนะ ภาวะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
       เป็นชื่ออรูปฌาน หรืออรูปภพที่ ๔

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 80
เนวสัญญีนาสัญญี มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 80
บัญญัติ การตั้งขึ้น, ข้อที่ตั้งขึ้น, การกำหนดเรียก, การเรียกชื่อ, การวางเป็นกฎไว้, ข้อบังคับ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 80
บูชายัญ การเซ่นสรวงเทพเจ้าของพราหมณ์ ด้วยวิธีฆ่าคนหรือสัตว์เป็นเครื่องบูชา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 80
ปปัญจะ กิเลสเครื่องเนิ่นช้า,
       กิเลสที่ทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร หมายถึง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 80
ปปัญจสูทนี ชื่อคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายความในมัชฌิมนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก
       พระพุทธโฆษาจารย์เรียบเรียงจากอรรถกถาภาษาสิงหฬ เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 80
ปรมัตถมัญชุสา ชื่อคัมภีร์ฎีกาที่พระธรรมบาลรจนาขึ้น เพื่ออธิบายความในคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์;
       นิยมเรียกว่า มหาฎีกา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 80
ประเทศบัญญัติ บัญญัติจำเพาะถิ่น,
       สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ เฉพาะสำหรับมัธยมประเทศ คือ จังหวัดกลางแห่งชมพูทวีป
       เช่น สิกขาบทที่ ๗ แห่งสุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ ไม่ให้ภิกษุอาบน้ำในเวลาห่างกันหย่อนกว่ากึ่งเดือน เว้นแต่สมัย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 80
ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน และกิริยาที่จะต้องปฏิบัติต่อประชุมชนนั้นๆ
       เช่นรู้จักว่า ประชุมชนนี้ เมื่อเข้าไป จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น
       (ข้อ ๖ ในสัปปุริสธรรม ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 80
ปหานสัญญา กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตก และบาปธรรมทั้งปวง
       (ข้อ ๕ ในสัญญา ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 80
ปัญจกะ หมวด ๕

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 80
ปัญจกัชฌาน ฌานหมวด ๕ หมายถึงรูปฌานที่ตามปกติอย่างในพระสูตรแบ่งเป็น ๔ ขั้น
       แต่ในพระอภิธรรมนิยมแบ่งซอยละเอียดออกไปเป็น ๕ ชั้น
       (ท่านว่าที่แบ่ง ๕ นี้ เป็นการแบ่งในกรณีที่ผู้เจริญฌานมีญาณไม่แก่กล้า จึงละวิตกและวิจารได้ทีละองค์);
       ดู ฌาน ๕

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 80
ปัญจขันธ์ ขันธ์ห้า คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 80
ปัญจพิธกามคุณ กามคุณ ๕ อย่าง คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่น่าชอบใจ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 80
ปัญจพิธพันธนะ เครื่องตรึง ๕ อย่าง คือ
       ตรึงเหล็กอันร้อนที่มือทั้ง ๒
       ข้างที่เท้าทั้ง ๒ ข้าง และ
       ที่กลางอก
       ซึ่งเป็นการลงโทษที่นายนิรยบาลกระทำต่อสัตว์นรก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 80
ปัญจเภสัช เภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 80
ปัญจมฌาน ฌานที่ ๕ ตามแบบที่นิยมในอภิธรรม
       ตรงกับฌานที่ ๔ แบบทั่วไป หรือแบบพระสูตร มีองค์ ๒ คือ อุเบกขาและเอกัคคตา;
       ดู ฌาน ๕

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 80
ปัญจมหาปริจาค ดู มหาบริจาค

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 80
ปัญจมหาวิโลกนะ ดู มหาวิโลกนะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 80
ปัญจมหาสุบิน ดู มหาสุบิน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 80
ปัญจวรรค สงฆ์พวกที่กำหนดจำนวน ๕ รูป จึงจะถือว่าครบองค์
       เช่นที่ใช้ในการกรานกฐิน
       และการอุปสมบทในปัจจันตชนบท เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 80
ปัญจวัคคีย์ พระพวก ๕
       คือ อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานาม อัสสชิ
       เป็นพระอรหันตสาวกรุ่นแรกของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 80
ปัญจสติกขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๑๑ แห่งจุลวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องการสังคายนาครั้งที่ ๑

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 80
ปัญจังคะ เก้าอี้มีพนักด้านเดียว, เก้าอี้ไม่มีแขน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 80
ปัญจาละ ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของแคว้นกุรุ มีแม่น้ำภาคีรถีซึ่งเป็นแควหนึ่งของแม่น้ำคงคาตอนบนไหลผ่าน นครหลวงชื่อกัมปิลละ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 80
ปัญญา ความรู้ทั่ว,
       ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล,
       ความรู้เข้าใจชัดเจน,
       ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ,
       ความรอบรู้ในกองสังขาร มองเห็นตามความเป็นจริง;
       (ข้อ ๓ ในไตรสิกขา, ข้อ ๔ ในบารมี ๑๐, ข้อ ๕ ในพละ ๕, ข้อ ๗ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๕ ในเวสารัชชกรณธรรม, ข้อ ๑ ในอธิษฐานธรรม ๔, ข้อ ๗ ในอริยทรัพย์ ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 80
ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา (ข้อ ๘ ในกถาวัตถุ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 80
ปัญญาขันธ์ กองปัญญา, หมวดธรรมว่าด้วยปัญญา เช่น
       ธรรมวิจยะ การเลือกเฟ้นธรรม กัมมัสสกตาญาณ ความรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัวเป็นต้น
       (ข้อ ๓ ในธรรมขันธ์ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 80
ปัญญาจักขุ, ปัญญาจักขุ จักษุคือปัญญา, ตาปัญญา;
       เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยปัญญาจักขุ
       (ข้อ ๓ ในจักขุ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 80
ปัญญาภาวนา ดู ภาวนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 80
ปัญญาวิมุต “ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา”
       หมายถึง พระอรหันต์ผู้สำเร็จด้วยบำเพ็ญวิปัสสนาโดยมิได้อรูปสมาบัติมาก่อน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  51 / 80
ปัญญาวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยปัญญา,
       ความหลุดพ้นที่บรรลุด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ทำให้สำเร็จอรหัตตผล
       และทำให้เจโตวิมุตติ เป็นเจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อไป;
       เทียบ เจโตวิมุตติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  52 / 80
ปัญญาสมวาร วันที่ ๕๐, วันที่ครบ ๕๐

แสดงผลการค้น ลำดับที่  53 / 80
ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา
       คือ รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ และเข้าใจชีวิตนี้ตามความเป็นจริง ที่จะไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมา
       (ข้อ ๔ ในธรรมที่เป็นไปเพื่อสัมปรายิกัตถะ ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  54 / 80
ปัญญาสิกขา สิกขา คือ ปัญญา,
       ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้เข้าใจเหตุผล รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ ตลอดจนรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
       ที่ถูกต้องเขียน อธิปัญญาสิกขา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  55 / 80
ปัญหา คำถาม, ข้อสงสัย, ข้อติดขัดอัดอั้น, ข้อที่ต้องคิดแก้ไข

แสดงผลการค้น ลำดับที่  56 / 80
ปุคคลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือ รู้ความแตกต่างแห่งบุคคล ว่าโดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น เป็นอย่างไร ควรคบควรใช้ควรสอนอย่างไร
       (ข้อ ๗ ในสัปปุริสธรรม ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  57 / 80
พยัญชนะ
       1. อักษร, ตัวหนังสือที่มิใช่สระ;
       2. กับข้าวนอกจากแกง คู่กับสูปะ;
       3. ลักษณะของร่างกาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  58 / 80
พุทธบัญญัติ ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้, วินัยสำหรับพระ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  59 / 80
โภชเนมัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร,
       รู้จักประมาณในการกิน คือ กินเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ผาสุก มิใช่เพื่อสนุกสนานมัวเมา
       (ข้อ ๒ ในอปัณณกปฏิปทา ๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  60 / 80
มโนสัญเจตนาหาร ความจงใจเป็นอาหาร เพราะปัจจัยให้เกิดกรรม คือ ทำให้พูดให้คิด ให้ทำการต่างๆ
       (ข้อ ๓ ในอาหาร ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  61 / 80
มหาวิโลกนะ “การตรวจดูอันยิ่งใหญ่”,
       ข้อตรวจสอบพิจารณาที่สำคัญ หมายถึง สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาตรวจดู ก่อนจะตัดสินพระทัยประทานปฏิญาณรับอาราธนาของเทพยดาทั้งหลาย ว่าจะจุติจากดุสิตเทวโลกไปบังเกิดในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มี ๕ อย่าง (นิยมเรียกว่า ปัญจมหาวิโลกนะ) คือ
       ๑. กาล คืออายุกาลของมนุษย์จะต้องอยู่ระหว่าง ๑๐๐ ถึง ๑ แสนปี (ไม่สั้นกว่าร้อยปี ไม่ยาวเกินแสนปี)
       ๒. ทีปะ คือทวีป จะอุบัติแต่ในชมพูทวีป
       ๓. เทสะ คือประเทศ หมายถึงถิ่นแดน จะอุบัติในมัธยมประเทศ และทรงกำหนดเมืองกบิลพัสดุ์เป็นที่พึงบังเกิด
       ๔. กุละ คือตระกูล จะอุบัติเฉพาะในขัตติยสกุลหรือในพราหมณสกุล และทรงกำหนดว่า เวลานั้นโลกสมมติว่า ตระกูลกษัตริย์ประเสริฐกว่าตระกูลพราหมณ์ จึงจะอุบัติในตระกูลกษัตริย์ โดยทรงเลือกพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพุทธบิดา
       ๕. ชเนตติอายุปริจเฉท คือมารดา และกำหนดอายุของมารดา มารดาจะต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ไม่โลเลในบุรุษ ไม่เป็นนักดื่มสุรา ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัลป์ ทรงกำหนดได้พระนางมหามายา และทรงทราบว่าพระนางจะมีพระชนม์อยู่เกิน ๑๐ เดือนไปได้ ๗ วัน
       (สรุปตามแนวอรรถกถาชาดก)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  62 / 80
มหาสุบิน ความฝันอันยิ่งใหญ่,
       ความฝันครั้งสำคัญ หมายถึงความฝัน ๕ เรื่อง (ปัญจมหาสุบิน) ของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
       (พระอรรถกถาจารย์ระบุว่าทรงพระสุบินในคืนก่อนตรัสรู้ คือ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖)
       ดังตรัสไว้ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระสุตตันตปิฎก ใจความว่า
       ๑. เสด็จบรรทมโดยมีมหาปฐพีนี้เป็นพระแท่นไสยาสน์ ขุนเขาหิมวันต์เป็นเขนย พระหัตถ์ซ้ายเหยียดหลั่งลงในมหาสมุทรด้านบูรพทิศ พระหัตถ์ขวาเหยียดหยั่งลงในมหาสมุทรด้านปัจฉิมทิศ พระบาททั้งสองเหยียดหยั่งลงในมหาสมุทรด้านทักษิณ
           (ข้อนี้เป็นบุพนิมิต หมายถึง การได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่กว่า)
       ๒. มีหญ้าคางอกขึ้นจากนาภีของพระองค์ สูงขึ้นจดท้องฟ้า
           (หมายถึงการที่ได้ตรัสรู้อารยอัษฎางคิกมรรคแล้ว ทรงประกาศออกไปถึงมวลมนุษย์และหมู่เทพ)
       ๓. หมู่หนอนตัวขาวศีรษะดำ พากันไต่ขึ้นมาจากพระบาทคลุมเต็มถึงชานุมณฑล
           (หมายถึง การที่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์มากมายพากันถึงตถาคตเป็นสรณะตลอดชีวิต)
       ๔. นกทั้งหลาย ๔ จำพวกมีสีต่างๆ กัน บินมาแต่ทิศทั้งสี่ แล้วมาหมอบจับที่เบื้องพระบาท กลับกลายเป็นสีขาวไปหมดสิ้น
           (หมายถึงการที่ชนทั้งสี่วรรณะมาออกบวชรวมกันในพระธรรมวินัย และได้ประจักษ์แจ้งวิมุตติธรรม)
       ๕. เสด็จดำเนินไปมาบนภูเขา คูถลูกใหญ่ แต่ไม่ทรงแปดเปื้อนด้วยคูถ
           (หมายถึงการทรงเจริญลาภในปัจจัยสี่พรั่งพร้อม แต่ไม่ทรงลุ่มหลงติดพัน ทรงบริโภคด้วยพระปัญญาที่ดำรงจิตปลอดโปร่งเป็นอิสระ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  63 / 80
มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือความพอเหมาะพอดี
       เช่น รู้จักประมาณในการแสวงหา รู้จักประมาณในการใช้จ่ายพอเหมาะพอควร เป็นต้น;
       ดู สัปปุริสธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  64 / 80
มิลินทปัญหา คัมภีร์สำคัญ บันทึกคำสนทนาตอบปัญหาธรรมระหว่างพระนาคเสนกับพระยามิลินท์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  65 / 80
มูลบัญญัติ ข้อบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้เดิม, บัญญัติเดิม;
       คู่กับ อนุบัญญัติ
       (ตามปกติใช้เพียงว่า บัญญัติกับอนุบัญญัติ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  66 / 80
มูลแห่งพระบัญญัติ ต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  67 / 80
ยัญ การเซ่น, การบูชา, การบวงสรวงชนิดหนึ่งของพราหมณ์ เช่น ฆ่าสัตว์บูชาเทพเจ้าเพื่อให้ตนพ้นเคราะห์ร้าย เป็นต้น

ยัญพิธี พิธีบูชายัญ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  68 / 80
รัตตัญญู ผู้รู้ราตรี คือผู้เก่าแก่ รู้กาลนานมีประสบการณ์มาก รู้เหตุการณ์มาแต่ต้น
       เช่น พระอัญญาโกณฑัญญะได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู

แสดงผลการค้น ลำดับที่  69 / 80
รากขวัญ ส่วนของร่างกายที่เรียกว่าไหปลาร้า;
       ตำนานกล่าวว่า ในบรรดาพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายนั้น
           พระรากขวัญเบื้องขวาขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในจุฬามณีเจดีย์ ณ ดาวดึงสเทวโลก
           พระรากขวัญเบื้องซ้าย ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ (เจดีย์ที่ฆฏิการพรหมสร้างขึ้นไว้ก่อนแล้ว ให้เป็นที่บรรจุพระภูษาเครื่องทรงในฆราวาสที่พระโพธิสัตว์สละในคราวเสด็จออกบรรพชา) ณ พรหมโลก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  70 / 80
รามัญนิกาย นิกายมอญ หมายถึงพระสงฆ์ผู้สืบเชื้อสายมาจากรามัญประเทศ ส่วนมากเป็นมอญเองด้วยโดยสัญชาติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  71 / 80
รามัญวงศ์ ชื่อนิกายพระสงฆ์ลังกาที่บวชจากพระสงฆ์มอญ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  72 / 80
รูปสัญเจตนา ความคิดอ่านในรูป เกิดต่อจากรูปสัญญา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  73 / 80
รูปสัญญา ความหมายรู้ในรูป เกิดต่อจากจักขุสัมผัสสชาเวทนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  74 / 80
แรกนาขวัญ พิธีเริ่มไถนาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  75 / 80
โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่สัมปยุตด้วยโลกุตตรมรรค, ความรู้ที่พ้นวิสัยของโลก, ความรู้ที่ช่วยคนให้พ้นโลก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  76 / 80
วทัญญู “ผู้รู้ถ้อยคำ” คือ ใจดี เอื้ออารี ยอมรับฟังความทุกข์ยากเดือนร้อนและความต้องการของผู้อื่น เข้าใจคำพูดของเขาได้ดี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  77 / 80
วิญญาณัญจายตนะ ฌานอันกำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้
       (ข้อ ๒ ในอรูป ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  78 / 80
วิธัญญา ชื่อนครหรือถิ่นหนึ่งในสักกชนบท ปกครองโดยกษัตริย์วงศ์ศากยะ;
       เวธัญญะ ก็เรียก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  79 / 80
วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น, รู้ต่อเมื่อขยายความ
       (ข้อ ๒ ในบุคคล ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  80 / 80
วิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่ถึงขั้นเป็นวิปัสสนา, ปัญญาที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา คือ ปัญญาที่พิจารณาเข้าใจสังขารตามความเป็นจริง


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ัญ
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%D1%AD


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]