ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ วก ”             ผลการค้นหาพบ  29  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 29
ชีวก ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ ของพระพุทธเจ้าด้วย, เรียกชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์
       หมอชีวกเกิดที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิงงามเมือง) ชื่อว่าสาลวดี แต่ไม่รู้จักมารดาบิดาของตน เพราะเมื่อนางสาลวดีมีครรภ์ เกรงค่าตัวจะตกจึงเก็บตัวอยู่ ครั้นคลอดแล้วก็ให้คนรับใช้เอาทารกไปทิ้งที่กองขยะ
       แต่พอดีเมื่อถึงเวลาเช้าตรู่ เจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร จะไปเข้าเฝ้า เสด็จผ่านไป เห็นการุมล้อมทารกอยู่ เมื่อทรงทราบว่าเป็นทารกและยังมีชีวิตอยู่ จึงได้โปรดให้นำไปให้นางสนมเลี้ยงไว้ในวัง ในขณะที่ทรงทราบว่าเป็นทารกเจ้าชายอภัยได้ตรัสถามว่าเด็กยังมีชิวิตอยู่ (หรือยังเป็นอยู่) หรือไม่ และทรงได้รับคำตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวติ = ยังเป็นอยู่ หรือยังมีชีวิตอยู่) ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า ชีวก (ผู้ยังเป็น) และเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยงจึงได้มีสร้อยนามว่า โกมารภัจจ์ (ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง)
       ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้น พอจะทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตน จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักสิลา ศึกษาอยู่ ๗ ปี อยากทราบว่าเมื่อใดจะเรียนจบ อาจารย์ให้ถือเสียมไปตรวจดูทั่วบริเวณ ๑ โยชน์รอบเมืองตักสิลา เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่ยา ชีวกไม่พบ กลับมาบอกอาจารย์ๆ ว่าสำเร็จการศึกษามีวิชาพอเลี้ยงชีพแล้ว และมอบเสบียงเดินทางให้เล็กน้อย ชีวกเดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์
       เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง ได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต โดยไปอาสารักษาภรรยาเศรษฐีเมืองนั้นซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ไม่มีใครรักษาหาย ภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ให้รางวัลมากมาย หมอชีวกได้เงินมา ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ พร้อมด้วยทาสทาสีและรถม้า เดินทางกลับถึงพระนครราชคฤห์ นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการะคุณที่ได้ทรงเลี้ยงตนมา เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง ไม่ทรงรับเอา และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์
       ต่อมาไม่นาน เจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมชนแห่งมคธทรงหายประชวรแล้ว จะพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง ๕๐๐ นางให้เป็นรางวัล หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
       หมอชีวกได้รักษาโรครายสำคัญหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ
       หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวันของหมอชีวก)
       เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
       ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติ ข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรคบางชนิด
       นอกจากนั้น หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 29
ชีวกโกมารภัจจ์ “ผู้ที่พระราชกุมารเลี้ยง ชื่อชีวก”;
       ดู ชีวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 29
นวกะ
       1. หมวด ๙
       2. ภิกษุใหม่, ภิกษุมีพรรษายังไม่ครบ ๕;
           เทียบ เถระ, มัชฌิมะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 29
นวกภูมิ ขั้น ชั้น หรือระดับพระนวกะ, ระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ ที่นับว่ายังเป็นผู้ใหม่
       คือ มีพรรษาต่ำกว่า ๕ ยังต้องถือนิสัย เป็นต้น;
       เทียบ เถรภูมิ, มัชฌิมภูมิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 29
นวกรรม การก่อสร้าง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 29
นวกัมมาธิฏฐายี ผู้อำนวยการก่อสร้าง เช่น ที่พระโมคคัลลานะได้รับมอบหมายจากพระบรมศาสดาให้เป็นผู้อำนวยการสร้างบุพพารามที่นางวิสาขาบริจาคทุนสร้างที่กรุงสาวัตถี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 29
นวกัมมิกะ ผู้ดูแลนวกรรม, ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือแต่งตั้งจากสงฆ์ ให้ทำหน้าที่ดูแลการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ในอาราม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 29
บุคคล ๔ 1- บุคคล ๔ จำพวก คือ
       ๑. อุคฆฏิตัญญู ผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลัน แต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
       ๒. วิปจิตัญญู ผู้รู้เข้าใจต่อเมื่อท่านขยายความ
       ๓. เนยยะ ผู้ที่พอจะแนะนำต่อไปได้
       ๔. ปทปรมะ ผู้ได้แค่ตัวบทคือถ้อยคำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจเข้าใจความหมาย
       พระอรรถกถาจารย์เปรียบบุคคล ๔ จำพวกนี้กับบัว ๔ เหล่าตามลำดับ คือ
           ๑. ดอกบัวที่ตั้งขึ้นพ้นน้ำ รอสัมผัสแสงอาทิตย์ก็จะบานในวันนี้
           ๒. ดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้
           ๓. ดอกบัวที่ยังอยู่ในน้ำ ยังไม่โผล่พ้นน้ำจักบานในวันต่อๆ ไป
           ๔. ดอกบัวจมอยู่ในน้ำที่กลายเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า
       (ในพระบาลี ตรัสถึงแต่บัว ๓ เหล่าต้นเท่านั้น)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 29
บุคคล ๔ 2- บุคคล ๔ จำพวกที่แบ่งตามประมาณ ได้แก่
       ๑. รูปัปปมาณิกา
       ๒. โฆสัปปมาณิกา
       ๓. ลูขัปปมาณิกา และ
       ๔. ธัมมัปปมาณิกา;
       ดู ประมาณ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 29
ปฐมสาวก สาวกองค์แรก คือพระอัญญาโกณฑัญญะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 29
ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สงัดกาย สงัดใจ
       (ข้อ ๓ ในกถาวัตถุ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 29
ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่พิจารณาทบทวน,
       ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวนตรวจตรามรรคผล กิเลสที่ยังเหลืออยู่ และนิพพาน (เว้นพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่);
       ญาณนี้เกิดแก่ผู้บรรลุมรรคผลแล้ว คือ ภายหลังจากผลญาณ;
       ดู ญาณ ๑๖

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 29
ปัจจัยปัจจเวกขณะ การพิจารณาปัจจัย,
       พิจารณาก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช
       ไม่บริโภคด้วยตัณหา
       (ข้อ ๔ ในปาริสุทธิศีล ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 29
ปัจฉิมสักขิสาวก สาวกผู้เป็นพยานการตรัสรู้องค์สุดท้าย,
       สาวกที่ทันเห็นองค์สุดท้าย ได้แก่ พระสุภัททะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 29
พระสาวก ผู้ฟังคำสอน, ศิษย์ของพระพุทธเจ้า;
       ดู สาวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 29
พุทธสาวก สาวกของพระพุทธเจ้า, ศิษย์ของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 29
มหาสาวก สาวกผู้ใหญ่, สาวกชั้นหัวหน้า เรียนกันมาว่ามี ๘๐ องค์;
       ดู อสีติมหาสาวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 29
ยาวกาลิก ของที่อนุญาตให้ฉันได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน;
       ดู กาลิก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 29
วิเวก ความสงัด มี ๓ คือ
       อยู่ในที่สงัดเป็น กายวิเวก
       จิตสงบเป็น จิตวิเวก
       หมดกิเลสเป็น อุปธิวิเวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 29
สักขิสาวก สาวกที่ทันเห็นองค์พระพุทธเจ้า,
       พระสุภัททะผู้เคยเป็นปริพาชก เป็นสักขิสาวกองค์สุดท้ายของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 29
สังฆนวกะ ภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์ คือบวชภายหลังภิกษุทั้งหมดในชุมนุมสงฆ์นั้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 29
สาวก ผู้ฟัง, ผู้ฟังคำสอน, ศิษย์;
       คู่กับ สาวิกา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 29
อภิณหปัจจเวกขณ์ ข้อที่ควรพิจารณาเนืองๆ,
       เรื่องที่ควรพิจารณาทุกๆ วัน มี ๕ อย่าง คือ
           ๑. ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
           ๒. ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
           ๓. ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
           ๔. ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
           ๕. ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว;
       อีกหมวดหนึ่ง สำหรับบรรพชิต แปลว่า “ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ” มี ๑๐ อย่าง
       (ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์) คือ
           ๑. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า บัดนี้ เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว
           ๒. ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
           ๓. ว่า เรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ
           ๔. ว่า ตัวเราเองยังติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่
           ๕. ว่า เพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญู ใคร่ครวญแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่
           ๖. ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
           ๗. ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว
           ๘. ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
           ๙. ว่า เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่
           ๑๐. ว่า คุณวิเศษที่เราบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ ที่จะทำให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง
       (ข้อ ๑. ท่านเติมท้ายว่า อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ ข้อ ๒. เติมว่า เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ข้อ ๓. ท่านเขียนว่า อาการกายวาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 29
อรรคสาวก สาวกผู้เลิศ, สาวกผู้ยอดเยี่ยม,
       ศิษย์ผู้เลิศกว่าศิษย์อื่นของพระพุทธเจ้า หมายถึง พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ;
       ดู อัครสาวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 29
อริยสาวก
       1. สาวกผู้เป็นพระอริยะ, สาวกผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น
       2. สาวกของพระอริยะ (คือของพระพุทธเจ้าผู้เป็นอริยะ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 29
อสีติมหาสาวก พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ องค์ บางทีเรียกอนุพุทธ ๘๐ องค์
       มีรายนามตามลำดับอักษร ดังนี้ (ที่พิมพ์ตัวเอน คือท่านที่เป็นเอตทัคคะ ด้วย):
       กังขาเรวต, กัปป, กาฬุทายี, กิมพิละ, กุมารกัสสปะ, กุณฑธาน,
       คยากัสสปะ, ควัมปติ,
       จุนทะ, จูฬปันถก,
       ชตุกัณณิ,
       ติสสเมตเตยยะ, โตเทยยะ,
       ทัพพมัลลบุตร,
       โธตกะ,
       นทีกัสสปะ, นันทะ, นันทกะ, นันทกะ, นาคิตะ, นาลกะ,
       ปิงคิยะ, ปิณโฑลภารทวาช, ปิลินทวัจฉะ, ปุณณกะ, ปุณณชิ, ปุณณมันตานีบุตร, ปุณณสุนาปรันตะ, โปสาละ,
       พาลุกะ (พักกุละ ก็เรียก), พาหิยทารุจีริยะ,
       ภคุ, ภัททิยะ (ศากยะ), ภัททิยะ, ภัทราวุธ,
       มหากัจจายนะ, มหากัปปินะ, มหากัสสปะ, มหาโกฏฐิตะ, มหานามะ, มหาปันถก, มหาโมคคัลลานะ, เมฆิยะ, เมตตคู, โมฆราช,
       ยสะ, ยโสชะ,
       รัฏฐปาละ, ราธะ, ราหุล, เรวตะ ขทิรวนิยะ,
       ลกุณฏกภัททิยะ,
       วักกลิ, วังคีสะ
, วัปปะ, วิมละ,
       สภิยะ, สาคตะ, สารีบุตร, สีวลี, สุพาหุ, สุภูติ, เสละ, โสณกุฏิกัณณะ, โสณโกฬิวิสะ, โสภิตะ,
       เหมกะ,
       องคุลิมาล, อชิตะ, อนุรุทธะ, อัญญาโกณทัญญะ, อัสสชิ, อานนท์, อุทยะ, อุทายี, อุบาลี, อุปวาณะ, อุปสีวะ, อุปเสนวังคันตบุตร, อุรุเวลกัสสปะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 29
อัคคสาวก ดู อัครสาวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 29
อัครสาวก สาวกผู้เลิศ, สาวกผู้ยอดเยี่ยม
       หมายถึงพระสารีบุตร (เป็นอัครสาวกเบื้องขวา) และพระมหาโมคคัลลานะ (เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 29
อาชีวก นักบวชชีเปลือยพวกหนึ่งในครั้งพุทธกาล เป็นสาวกของมักขลิโคสาล


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=วก
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C7%A1


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]