ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ัท ”             ผลการค้นหาพบ  50  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 50
กัมมสัทธา ดู สัทธา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 50
กัมมัสสกตาสัทธา ความเชื่อว่า สัตว์มีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว;
       ดู สัทธา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 50
กายปัสสัทธิ ความสงบรำงับแห่งนามกาย,
       ธรรมชาติทำนามกาย คือ เจตสิกทั้งหลายให้สงบเย็น
       (ข้อ ๘ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 50
จตุบริษัท บริษัท ๔ เหล่า คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 50
ตถาคตโพธิสัทธา ดู สัทธา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 50
นิพัทธทุกข์ ทุกข์เนืองนิตย์, ทุกข์ประจำ, ทุกข์เป็นเจ้าเรือน
       ได้แก่ หนาวร้อน หิวกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 50
บริษัท หมู่เหล่า, ที่ประชุม, คนรวมกัน, กลุ่มชน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 50
บริษัท ๔ ชุมชนชาวพุทธ ๔ พวก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 50
ปฏิบัติสัทธรรม ดู สัทธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 50
ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยสงบระงับ ได้แก่
       การหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอริยผล
       เป็นการหลุดพ้นที่ยั่งยืน ไม่ต้องขวนขวายเพื่อละอีก เพราะกิเลสนั้นสงบไปแล้ว
       เป็นโลกุตตรวิมุตติ
       (ข้อ ๔ ในวิมุตติ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 50
ปฏิพัทธ์ เนื่องกัน, ผูกพัน, รักใคร่

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 50
ปฏิเวธสัทธรรม ดู สัทธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 50
ปริยัติสัทธรรม ดู สัทธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 50
ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ, ความสงบใจและอารมณ์, ความสงบเย็น, ความผ่อนคลายกายใจ
       (ข้อ ๕ ในโพชฌงค์ ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 50
พัทธสีมา “แดนผูก” ได้แก่ เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นมาเอง โดยจัดตั้งนิมิตคือสิ่งที่เป็นเครื่องหมายกำหนดเอาไว้;
       ดู สีมา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 50
พาหิรลัทธิ ลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 50
พุทธบริษัท หมู่ชนที่นับถือพระพุทธศาสนามี ๔ จำพวก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 50
ภัททกาปิลานี พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาพราหมณ์โกสิยโคตรในสาคลนครแห่งมัททรัฐ
       (คัมภีร์อปทานว่าไว้ชัดดังนี้ แต่อรรถกถาอังคุตตรนิกายคลาดเคลื่อนเป็นแคว้นมคธ)
       พออายุ ๑๖ ปี ได้สมรสกับปิปผลิมาณพ (พระมหากัสสปะ)
       ต่อมามีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงออกบวชเป็นปริพาชิกา
       เมื่อพระมหาปชาบดีผนวชเป็นภิกษุณีแล้ว นางได้มาบวชอยู่ในสำนักของพระมหาปชาบดี เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยความไม่ประมาท ได้บรรลุพระอรหัต
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางปุพเพนิวาสานุสสติ
       เรียกภัททากาปิลานี บ้าง ภัททากปิลานีบ้าง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 50
ภัททปทมาส เดือน ๑๐ เรียกง่ายว่า ภัทรบท

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 50
ภัททวัคคีย์ พวกเจริญ,
       เป็นชื่อคณะสหาย ๓๐ คนที่พากันเข้ามาในไร่ฝ้ายแห่งหนึ่ง เพื่อเที่ยวตามหาหญิงแพศยาผู้ลักห่อเครื่องประดับหนีไป และได้พบพระพุทธเจ้าซึ่งพอดีเสด็จแวะเข้าไปประทับพักอยู่ที่ไร่ฝ้ายนั้น
       ได้ฟังเทศนาอนุบุพพิกถา และอริยสัจจ์ ๔ ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขออุปสมบท

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 50
ภัททากัจจานา พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะแห่งโกสิยวงศ์
       พระนามเดิมว่า ยโสธรา หรือ พิมพา เป็นพระมารดาของพระราหุลพุทธชิโนรส ได้นามว่า ภัททากัจจานา เพราะทรงมีฉวีวรรณดุจทองคำเนื้อเกลี้ยง บวชเป็นภิกษุณี ในพระพุทธศาสนาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัต
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางบรรลุมหาภิญญา
       เรียก ภัททกัจจานา ก็มี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 50
ภัททากุณฑลเกสา พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาของเศรษฐีในพระนครราชคฤห์
       เคยเป็นภรรยาโจรผู้เป็นนักโทษประหารชีวิต โจรคิดจะฆ่านางเพื่อเอาทรัพย์สมบัติ แต่นางใช้ปัญญาคิดแก้ไขกำจัดโจรได้ แล้วบวชในสำนักนิครนถ์
       ต่อมาได้พบกับพระสารีบุตร ได้ถามปัญหากันและกัน จนนางมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงได้สำเร็จพระอรหัต แล้วบวชในสำนักนางภิกษุณี
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้ฉับพลัน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 50
ภัททิยะ
       1. ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรก
       2. กษัตริย์ศากยวงศ์ โอรสของนางกาฬิโคธา สละราชสมบัติที่มาถึงตามวาระแล้วออกบวชพร้อมกับพระอนุรุทธะ สำเร็จอรหัตตผล ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้มาจากตระกูลสูง และจัดเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในจำนวน ๘๐

ภัททิยศากยะ ดู ภัททิยะ 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 50
ภัทเทกรัตตสูตร ชื่อสูตรหนึ่งในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ แห่งพระสุตตันตปิฎก
       แสดงเรื่องบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ คือ คนที่เวลาวันคืนหนึ่งๆ มีแต่ความดีงามความเจริญก้าวหน้า ได้แก่ ผู้ที่ไม่มัวครุ่นคำนึงอดีต ไม่เพ้อหวังอนาคต ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ทำความดีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยไป มีความเพียรพยายาม ทำกิจที่ควรทำเสียแต่วันนี้ ไม่รอวันพรุ่ง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 50
ภัทราวุธมาณพ ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 50
ภิกษุบริษัท ชุมนุมภิกษุ, ชุมชนชาวพุทธฝ่ายภิกษุ
       (ข้อ ๑ ในบริษัท ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 50
มัททกุจฉิมิคทายวัน ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ ชื่อมัททกุจฉิ อยู่ที่พระนครราชคฤห์ เป็นแห่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 50
มัททวะ ความอ่อนโยน, ความนุ่มนวล, ความละมุนละไม
       (ข้อ ๕ ในราชธรรม ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 50
ลกุณฏกภัททิยะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรในตระกูลมั่งคั่ง ชาวพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาที่พระเชตวัน มีความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา
       ท่านมีรูปร่างเตี้ยค่อมจนบางคนเห็นท่านแล้วหัวเราะจนเห็นฟัน ท่านกำหนดฟันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้สำเร็จอนาคามิผล
       ต่อมาท่านได้บรรลุพระอรหัตในสำนักพระสารีบุตร แต่เพราะความที่มีรูปร่างเล็กเตี้ยค่อม ท่านมักถูกเข้าใจผิดเป็นสามเณรบ้าง ถูกพระหนุ่มเณรน้อยล้อเลียนบ้าง ถูกเพื่อนพระดูแคลนบ้าง
       แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสยกย่องว่า ถึงท่านจะร่างเล็ก แต่มีคุณธรรมฤทธานุภาพมาก
       ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีเสียงไพเราะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 50
ลัทธิ ความเชื่อถือ, ความรู้และประเพณีที่ได้รับและปฏิบัติสืบต่อกันมา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 50
ลัทธิสมัย สมัยคือลัทธิ หมายถึงลัทธินั่นเอง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 50
วิปากสัทธา ดู สัทธา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 50
ศรัทธา ความเชื่อ, ความเชื่อถือ; ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม;
       ดู สัทธา (ข้อ ๑ ในพละ ๕, ข้อ ๑ ในเวสารัชชกรณธรรม, ข้อ ๑ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๑ ในอริยทรัพย์ ๗, ข้อ ๑ ในอริยวัฑฒิ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 50
ศรัทธาไทย (สทฺธาเทยฺย) ของที่เขาถวายด้วยศรัทธา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 50
สัทธรรม ธรรมที่ดี, ธรรมที่แท้, ธรรมของคนดี,
       ธรรมของสัตบุรุษมี สัทธรรม ๓ อย่าง คือ
           ๑. ปริยัติสัทธรรม สัทธรรมคือสิ่งที่พึงเล่าเรียน ได้แก่ พุทธพจน์
           ๒. ปฏิบัติสัทธรรม สัทธรรมคือสิ่งพึงปฏิบัติ ได้แก่ไตรสิกขา
           ๓. ปฏิเวธสัทธรรม สัทธรรมคือผลที่พึงบรรลุ ได้แก่ มรรคผล และนิพพาน;
       สัทธรรม ๗ คือ
           ๑. ศรัทธา ๒. หิริ ๓. โอตตัปปะ ๔. พาหุสัจจะ ๕. วิริยารัมภะ ๖. สติ ๗. ปัญญา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 50
สัทธรรมปฏิรูป สัทธรรมปลอม, สัทธรรมเทียม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 50
สัทธัมมปกาสินี ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในปฏิสัมภิทามรรค แห่งพระสุตตันตปิฎก
       พระมหานามะรจนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 50
สัทธัมมัสสวนะ ฟังสัทธรรม, ฟังคำสั่งสอนของสัตบุรุษ, ฟังคำสั่งสอนของท่านที่ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ, สดับเล่าเรียนอ่านคำสอนเรื่องราวที่แสดงหลักความจริงความดีงาม
       (ข้อ ๒ ในวุฑฒิ ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 50
สัทธา ความเชื่อ;
       ในทางธรรม หมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล, ความมั่นใจในความจริงความดีสิ่งดีงามและในการทำความดีไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก
       ท่านแสดงสืบๆ กันมาว่า ๔ อย่างคือ
           ๑. กัมมสัทธา เชื่อกรรม
           ๒. วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม
           ๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
           ๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต;
       เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ศรัทธา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 50
สัทธาจริต พื้นนิสัยหนักในสัทธา เชื่อง่าย พึงแก้ด้วยปสาทนียกถา คือถ้อยคำที่นำให้เกิดความเลื่อมใสในทางที่ถูกที่ควร และด้วยความเชื่อที่มีเหตุผล
       (ข้อ ๔ ในจริต ๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 50
สัทธานุสารี “ผู้แล่นไปตามศรัทธา”, “ผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา”,
       พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ที่มีสัทธินทรีย์แรงกล้า
       (ถ้าบรรลุผล จะกลายเป็น สัทธาวิมุต);
       ดู อริยบุคคล ๗

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 50
สัทธาวิมุต “ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา”,
       พระอริยบุคคล ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จนถึงผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรคที่มีสัทธินทรีย์แรงกล้า
       (ถ้าบรรลุอรหัตตผล จะกลายเป็น ปัญญาวิมุต);
       ดู อริยบุคคล ๗

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 50
สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
       (ข้อ ๑ ในสัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 50
สัทธิวิหาริก, สัทธิงวิหาริก ศิษย์, ผู้อยู่ด้วย เป็นคำเรียกผู้ที่ได้รับอุปสมบท ถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌายะองค์ใด ก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌายะองค์นั้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 50
สัทธิวิหาริกวัตร ข้อควรปฏิบัติต่อสัทธิวิหาริก, หน้าที่อันอุปัชฌาย์จะพึงกระทำแก่สัทธิวิหาริก คือ
       ๑. เอาธุระในการศึกษา
       ๒. สงเคราะห์ด้วยบาตรจีวร และบริขารอื่นๆ
       ๓. ขวนขวายป้องกัน หรือระงับความเสื่อมเสีย
           เช่น ระงับความคิดจะสึก เปลื้องความเห็นผิด ฯลฯ
       ๔. พยาบาลเมื่ออาพาธ
           เทียบ อุปัชฌายวัตร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 50
สัทธิวิหารินี สัทธิวิหาริกผู้หญิง คือสัทธิวิหาริกในฝ่ายภิกษุณี แต่ตามปกติไม่เรียกอย่างนี้ เพราะมีคำเฉพาะเรียกว่า สหชีวินี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 50
สุภัททะ ปัจฉิมสิกขิสาวก (สาวกผู้ทันเห็นองค์สุดท้าย) ของพระพุทธเจ้า เรียกสั้นๆ ว่า ปัจฉิมสาวก
       เดิมเป็นพราหมณ์ตระกูลใหญ่ ต่อมาออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในเมืองกุสินารา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททปริพาชกได้ยินข่าวแล้ว คิดว่าตนมีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง อยากจะขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อแก้ข้อสงสัยนั้นเสียก่อนที่จะปรินิพพาน จึงเดินทางไปยังสาลวัน ตรงไปหาพระอานนท์ แจ้งความประสงค์ขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระอานนท์ได้ห้ามไว้ เพราะเกรงว่าพระองค์เหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว จะเป็นการรบกวนให้ทรงลำบาก สุภัททปริพาชกก็คะยั้นคะยอจะขอเข้าเฝ้าให้ได้
       พระอานนท์ก็ยืนกรานห้ามอยู่ถึง ๓ วาระ จนพระผู้มีพระภาคทรงได้ยินเสียงโต้ตอบกันนั้น จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่า สุภัททะมุ่งหาความรู้ มิใช่ประสงค์จะเบียดเบียนพระองค์ ขอให้ปล่อยให้เขาเข้าเฝ้าเถิด สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าแล้ว ทูลถามว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย คือ เหล่าครูทั้ง ๖ นั้น ล้วนได้ตรัสรู้จริงทั้งหมดตามที่ตนปฏิญญา หรือได้ตรัสรู้เพียงบางท่านหรือไม่มีใครตรัสรู้จริงเลย
       พระพุทธเจ้าทรงห้ามเสียและตรัสว่าจะทรงแสดงธรรม คือ หลักการหรือหลักความจริงให้ฟัง แล้วตรัสว่า
           อริยมรรคมีองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใด สมณะ (คืออริยบุคคลทั้ง ๔) ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น
           อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด สมณะก็หาได้ในธรรมวินัยนั้น
           อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะทั้ง ๔ จึงมีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะ
       และตรัสสรุปว่า
           ถ้าภิกษุทั้งหลายเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย
       เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททปริพาชกเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท
       พระพุทธเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ให้บวชสุภัททะในสำนักของพระองค์ โดยประทานพุทธานุญาตพิเศษให้ยกเว้นไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส
       ท่านสุภัททะบวชแล้วไม่นาน (อรรถกถาว่าในวันนั้นเอง) ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
       นับเป็นพุทธปัจฉิมสักขิสาวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 50
สุภัททะ วุฒบรรพชิต “พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่” ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการปรารภที่จะทำสังคายนาครั้งที่ ๑
       ก่อนบวช เป็นช่างตัดผมในเมืองอาตุมา มีบุตรชาย ๒ คน เมื่อบวชแล้ว คราวหนึ่งได้ข่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่จะเสด็จมายังเมืองอาตุมา จึงให้บุตรทั้ง ๒ เอาเครื่องมือตัดผมออกไปเที่ยวขอตัดผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเอาเครื่องปรุงยาคูมาได้มากมาย แล้วบัญชาการให้ผู้คนจัดเตรียมข้าวยาคูไว้เป็นอันมาก
       เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ก็นำเอาข้าวยาคูนั้นเข้าไปถวาย
       พระพุทธเจ้าตรัสถาม ทรงทราบความว่า พระสุภัททะได้ข้าวนั้นมาอย่างไรแล้ว ไม่ทรงรับและทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ๒ ข้อ คือ
           บรรพชิตไม่พึงชักชวนคนทำในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ และ
           ภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผมไว้ประจำตัว
       จากการที่ได้ถูกติเตียนและเสียของเสียหน้าเสียใจ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น พระสุภัททะก็ได้ผูกอาฆาตไว้
       ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน พระสุภัททะร่วมอยู่ในคณะของพระมหากัสสปเถระ ซึ่งกำลังเดินทางจากเมืองปาวาสู่เมืองกุสินารา ระหว่างทางนั้น คณะได้ทราบข่าวพุทธปรินิพพานจากอาชีวกผู้หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นราคะ (คือพระปุถชน โสดาบัน และสกทาคามี) พากันร้องไห้คร่ำครวญเป็นอันมาก
       ในขณะนั้นเอง พระสุภัททะวุฒบรรพชิต ก็ร้องห้ามขึ้นว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไห้ไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว พระมหาสมณะนั้นคอยเบียดเบียนพวกเราว่า สิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ บัดนี้พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น”
       พระมหากัสสปเถระได้ฟังแล้วเกิดธรรมสังเวช ดำริว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน ก็ยังเกิดเสี้ยนหนามขึ้นแล้วในพระศาสนา หากต่อไปคนชั่วได้พวกพ้องมีกำลังเติบกล้าขึ้น ก็จะทำพระศาสนาให้เสื่อมถอย ดังนั้น หลังจากเสร็จงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว ท่านจึงได้ยกถ้อยคำของสุภัททะวุฒบรรพชิต
       นี้ขึ้นเป็นข้อปรารภ ชักชวนพระเถระทั้งหลายร่วมกันทำสังคายนาครั้งแรก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 50
อพัทธสีมา “แดนที่ไม่ได้ผูก”
       หมายถึง เขตชุมนุมสงฆ์ที่สงฆ์ไม่ได้กำหนดขึ้นเอง แต่ถือเอาตามเขตที่เขาได้กำหนดไว้ตามปรกติของบ้านเมือง หรือมีบัญญัติอย่างอื่นเป็นเครื่องกำหนด
       แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
       ๑. คามสีมา หรือ นิคมสีมา
       ๒. สัตตัพภันตรสีมา
       ๓. อุทกุกเขป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 50
อสัทธรรม ธรรมของอสัตบุรุษ มีหลายหมวด
       เช่น อสัทธรรม ๗ คือที่ตรงข้ามกับ สัทธรรม ๗ มีปราศจากศรัทธา ปราศจากหิริ เป็นต้น;
       ในคำว่า “ทอดกายเพื่อเสพอสัทธรรมก็ดี” หมายถึง เมถุนธรรม คือการร่วมประเวณี


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ัท
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%D1%B7


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]