ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 801อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 835อ่านอรรถกถา 35 / 849อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ญาณวิภังค์ ฉักกนิเทศ-ทสกนิเทศ

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               อธิบายกำลังที่ ๒ ของพระตถาคต               
               ว่าด้วยกรรมสมาทานอันเป็นบาป               
               คำว่า คติสมฺปตฺติปฏิพาฬฺหานิ (แปลว่า อันคติสมบัติห้ามไว้) อธิบายว่า กัมมสมาทานอันเป็นบาป อันคติสมบัติห้ามไว ป้องกันไว้และปฏิเสธแล้ว. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้.
               อนึ่ง ในคำว่า คติสมบัติ๑- นี้ ได้แก่ คติที่สมบูรณ์ คือเทวโลกและมนุษยโลก.
               คำว่า คติวิบัติ ได้แก่ คติชั่ว คืออบายภูมิ ๔.
               ความสำเร็จด้วยดีในอัตภาพ ชื่อว่าอุปธิสมบัติ.
               ความมีอัตภาพเลว ชื่อว่าอุปธิวิบัติ.
               กาลอันสมบูรณ์ กล่าวคือเป็นกาลอันเจริญของพระราชาผู้ทรงธรรมและชนผู้มีใจดี ชื่อว่ากาลสมบัติ.
               กาลอันพิบัติ กล่าวคือกาลที่มีพระราชาชั่วและบุคคลผู้มีใจทราม ชื่อว่ากาลวิบัติ.
               การประกอบโดยชอบ ชื่อว่าปโยคสมบัติ.
               การประกอบในทางที่ผิด ชื่อว่าปโยควิบัติ.
____________________________
๑- สมบัติ ๔ คือคติสมบัติ อุปธิสมบัติ กาลสมบัติ ปโยคสมบัติ. วิบัติ ๔ คือคติวิบัติ อุปธิวิบัติ กาลวิบัติ ปโยควิบัติ.

               ในบรรดาคำเหล่านั้น บาปกรรมมีจำนวนมาก ย่อมมีแก่บุคคลบางคน. บาปกรรมนั้น พึงให้ผลแก่ผู้ดำรงอยู่ในคติวิบัติ. แต่บุคคลเกิดขึ้นในคติสมบัติ คือในเทพทั้งหลายหรือมนุษย์ด้วยกัลยาณกรรมอย่างหนึ่ง วาระของอกุศลย่อมไม่เกิดในฐานะเช่นนั้น วาระของกุศลโดยส่วนเดียวเท่านั้นย่อมเกิดขึ้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า กรรมเหล่านั้น (บาปกรรม) อันคติสมบัติห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลแก่บุคคนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               บุคคลอื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมเหล่านั้นก็พึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอุปธิวิบัติ.
               อนึ่ง บุคคลนั้นตั้งอยู่ในอุปธิสมบัติ ซึ่งมีสัณฐานและอวัยวะน้อยใหญ่ตั้งอยู่ดีแล้ว มีรูปงามน่าชมเช่นกับบุตรของพรหม ด้วยกัลยาณกรรมอย่างหนึ่ง แม้แต่เกิดเป็นทาสในท้องของนางทาสี อัตภาพอันมีอย่างนี้ เป็นสภาพไม่สมควรแก่การงานอันเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น กัลยาณกรรมนั้นย่อมไม่ยังบุคคลนั้นให้ทำการงานต่ำ มีการผูกเท้าช้าง แพะ ม้าและเลี้ยงโคเป็นต้น ย่อมให้นุ่งห่มผ้าเนื้อละเอียด ย่อมตั้งไว้ในตำแหน่งผู้รักษาพระคลัง (ภัณฑาคาริก) เป็นต้น ถ้าเป็นหญิง กัลยาณกรรมนั้นย่อมไม่ให้กระทำการงานต่ำ มีการให้อาหารช้างเป็นต้น แต่จะให้ผ้าและเครื่องประดับ หรือทำหญิงนั้นให้นอนในที่นอนอันสวยงาม ย่อมตั้งไว้ในตำแหน่งราชวัลลภ (ตำแหน่งคนสนิท) ราวกะพระโสมเทวี.
               ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระเจ้าภาติกราช พวกอำมาตย์ทั้งหลายจับชนทั้งหลายจำนวนมากผู้อาศัยเนื้อโคเป็นอยู่ แสดงต่อพระราชา ถูกพระราชาตรัสถามว่า พวกท่านย่อมสามารถเพื่อให้ค่าปรับหรือ กราบทูลว่า พวกข้าพระองค์ไม่อาจ ดังนี้. ลำดับนั้นจึงให้ชนเหล่านั้นทำความสะอาดที่พระลานหลวง.
               ธิดาคนหนึ่งของพวกต้องหาเหล่านั้นมีรูปงาม น่าดูน่าชม. พระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นธิดานั้น จึงทรงให้นำมาตั้งไว้ในตำแหน่งราชวัลลภภายในพระราชมณเฑียร. แม้ญาติทั้งหลายที่เหลือก็มีชีวิตอยู่เป็นสุข ด้วยอานุภาพของหญิงนั้น.
               จริงอยู่ ในอัตภาพเห็นปานนั้น แม้บาปกรรมทั้งหลายก็ย่อมไม่อาจเพื่อให้ผล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมทั้งหลายอันอุปธิสมบัติห้ามไว้ จึงไม่ให้ผล ด้วยประการฉะนี้.
               บาปกรรมทั้งหลายจำนวนมาก ย่อมให้ผลแก่บุคคลบางคน บาปกรรมเหล่านั้นพึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในกาลวิบัติ.
               อนึ่ง บุคคลนั้นเกิดขึ้นแล้วด้วยกัลยาณกรรมอย่างหนึ่ง ในกาลแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม และมนุษย์ผู้ใจดี เช่นในสมัยเป็นที่บังเกิดขึ้นแห่งชนผู้เกิดอยู่ในปฐมกัป หรือพระเจ้าจักรพรรดิ หรือว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วในกาลเช่นนั้น โอกาสเพื่อให้วิบากของอกุศลย่อมไม่มี โอกาสของกุศลอย่างเดียวเท่านั้น มีอยู่.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมทั้งหลายอันกาลสมบัติห้ามไว้ จึงไม่ให้ผล ด้วยประการฉะนี้.
               บุคคลอื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมเหล่านั้นพึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในปโยควิบัติ. แต่ว่า บุคคลนั้นดำรงอยู่ในปโยคสมบัติด้วยกัลยาณกรรมอย่างหนึ่ง คือเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น แล้วย่อมยังกายสุจริต วจีสุจริตและมโนสุจริตทั้งหลายให้เต็ม. ในฐานะเช่นนั้น โอกาสแห่งการให้ผลของอกุศลย่อมไม่มี มีแต่โอกาสของกุศลอย่างเดียวเท่านั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมเหล่านั้นอันปโยคสมบัติห้ามไว้ จึงไม่ให้ผล ด้วยประการฉะนี้.
               บุคคลแม้อื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมเหล่านั้นไม่พึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในคติสมบัติ. แต่บุคคลนั้นเกิดในคติวิบัติ ด้วยบาปกรรมอย่างหนึ่งนั่นแหละ บาปกรรมเหล่านั้นพึงเข้าถึงบุคคลนั้นในที่นั้นแล้วก็ย่อมให้ผลทุกๆ ครั้ง ย่อมให้เกิดในนรกตามกาลอันควร เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน... ในปิตติวิสัย... ในอสุรกายตามกาลอันควร ย่อมไม่ให้เพื่ออันยกศีรษะขึ้นจากอบายแม้สิ้นกาลนาน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมทั้งหลายย่อมไม่อาจเพื่อให้ผล เพราะความที่บาปกรรมเหล่านั้นอันคติสมบัติห้ามไว้ แต่ย่อมให้ผลเพราะอาศัยคติวิบัติ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บุคคลแม้อื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมเหล่านั้นไม่พึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอุปธิสมบัติ. แต่ว่า บุคคลนั้นตั้งอยู่ในอุปธิวิบัติด้วยกรรมหนึ่งนั่นแหละ ให้เป็นผู้มีผิวพรรณทราม มีรูปชั่ว มีสัณฐานไม่ดี น่าเกลียดเช่นกับปีศาจ. ถ้าว่าเขาเกิดเป็นทาสในท้องของนางทาสี บาปกรรมเหล่านี้ย่อมสมควรแก่บุคคลนั้น เพราะฉะนั้น บาปกรรมทั้งปวงย่อมยังบุคคลนั้นให้กระทำการงานอันเศร้าหมอง โดยที่สุด ย่อมให้เข้าไปอาศัยการงานของคนเทดอกไม้. ถ้าเขาเกิดเป็นหญิง บาปกรรมเหล่านี้สมควรแก่ความเป็นหญิง คือย่อมให้หญิงนั้นทำการงานอันเศร้าหมองมีการให้อาหารช้างเป็นต้น. หญิงนั้นแม้เกิดในบ้านมีตระกูลก็จะเหมือนหญิงเจ้าเรือนของมหากุฎุมพีในบ้านโกตลวาปี ที่ถูกราชบุรุษจับไปด้วยสำคัญว่าเป็นนางทาสี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมทั้งหลายย่อมไม่อาจเพื่อให้ผล เพราะความที่บาปกรรมนั้นอันอุปธิสมบัติห้ามไว้ แต่ย่อมให้ผลเพราะอาศัยอุปธิวิบัติ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บุคคลแม้อื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมเหล่านั้นไม่พึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในกาลสมบัติ. แต่ว่า บุคคลนั้นเกิดในกาลวิบัติด้วยบาปกรรมหนึ่ง คือในกาลที่มีพระราชาไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม มนุษย์ชั่วหรือในกาลแห่งสัตว์มีอายุขัย ๑๐ ปี ซึ่งเป็นกาลลามก ไร้ค่า. ในกาลเช่นนั้น แม้เบญจโครสย่อมเสื่อมไปเป็นจำนวนมาก หญ้ากับแก้นับว่าเป็นอาหารอันเลิศ. แม้บุคคลนั้นเกิดในมนุษยโลกก็จริง ถึงอย่างนั้น เขาก็มีการเป็นอยู่คล้ายกับเนื้อ หรือสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นอาหาร ในกาลเห็นปานนี้ โอกาสของการให้ผลของกุศลย่อมไม่มี มีแต่โอกาสของอกุศลโดยส่วนเดียวเท่านั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมจำนวนมากย่อมไม่อาจให้ผล เพราะกาลสมบัติห้ามไว้ แต่ย่อมให้ผลได้ เพราะอาศัยกาลวิบัติ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บุคคลแม้อื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมนั้นไม่พึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในปโยคสมบัติ แต่ว่า บุคคลนั้นตั้งอยู่ในกาลวิบัติแล้ว ย่อมกระทำอกุศลกรรม ๑๐ มีปาณาติบาตเป็นต้น. ราชบุรุษทั้งหลายจับผู้ทำกรรมอันหยาบช้านั้นนั่นแหละแสดงต่อพระราชา พระราชาทรงให้กรรมกรณ์ (การทรมานทางกาย) เป็นอันมากแล้วก็ให้ฆ่าเสีย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมทั้งหลายมากย่อมไม่อาจให้ผล เพราะความที่ปโยคสมบัติห้ามไว้ แต่ก็ย่อมให้ผลได้เพราะอาศัยปโยควิบัติ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บาปกรรมอันสมบัติทั้ง ๔ (คือคติสมบัติ อุปธิสมบัติ กาลสมบัติ ปโยคสมบัติ) ห้ามไว้จึงไม่ให้ผล แต่ย่อมให้ผลเพราะอาศัยวิบัติ ๔ (มีคติวิบัติเป็นต้น) ด้วยประการฉะนี้.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษบางคนนั่นแหละพึงให้พระราชาชอบพระทัยด้วยการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ทีนั้น พระราชาพึงให้ฐานันดร แล้วก็ให้ชนบทแก่เขา (บ้านส่วย). บุรุษนั้นไม่อาจเพื่อใช้สอยชนบทนั้นโดยชอบ พึงทำให้พินาศไป เหมือนภาชนะใส่ภัตที่วานรวิ่งถือไปแล้ว. บุรุษนั้นเห็นสิ่งที่ชอบใจอันใด คือยานหรือพาหนะ ทาสหรือทาสี ที่สวนหรือที่นาของบุคคลใด ก็พึงถือเอาสิ่งทั้งปวงนั้นโดยพลการ พวกมนุษย์ไม่อาจเพื่อจะว่ากล่าวอะไรๆ ด้วยสำคัญว่า ผู้นี้เป็นราชวัลลภ ดังนี้ ทั้งเขาผู้นั้นก็พึงทำร้ายบุคคลผู้สนิทสนมกับพระราชา หรือทำร้ายมหาอำมาตย์ของพระราชามหาอำมาตย์นั้น จับบุรุษนั้นให้โบยแล้วๆ ก็จับมัดมือให้ลากไปเฝ้าพระราชา กราบทูลให้ทรงทราบว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ บุรุษชื่อโน้นทำลายชนบทของพระองค์ดังนี้.
               พระราชารับสั่งให้จองจำในตะรางแล้ว ก็ให้ราชบุรุษตีกลองประกาศในพระนครว่า บุรุษชื่อโน้น ลักของอะไรของใคร ดังนี้. พวกมนุษย์มาแล้วก็พึงยังเสียงตะโกนตั้งพันว่า วัตถุนี้ของเราอันบุรุษนั้นถือเอาแล้ว วัตถุนี้ของเราอันบุรุษนี้ถือเอาแล้ว ดังนี้. พระราชาทรงกริ้วด้วยเหตุเพียงด้วยคำนั้น จึงทำบุรุษนั้นให้ลำบากในเรือนจำโดยประการต่างๆ แล้วก็ให้ประหารเสีย แล้วตรัสว่า พวกท่านจงไป จงลากบุรุษนั้นไปทิ้งในป่าช้า ให้สมกับความผิด ดังนี้.
               คำอุปมาเป็นเครื่องยังอุปไมยให้ถึงพร้อมนี้ บัณฑิตพึงทราบอย่างนี้.
               ก็ในกาลแห่งปุถุชนแม้เกิดในสวรรค์ด้วยบุญกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งนั่นแหละ เปรียบเหมือนกาลที่บุรุษนั้นทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้พระราชาชอบพระทัย แล้วจึงได้ฐานันดร. กาลที่อกุศลกรรมไม่ได้โอกาสให้ผล ก็เพราะบุคคลนั้นเกิดในสวรรค์แม้นี้ เปรียบเหมือนกาลที่ใครๆ ไม่อาจว่ากล่าวคำอะไรๆ ในเมื่อบุรุษนั้นทำลายชนบทนั้นและถือเอาสิ่งของๆ มนุษย์ทั้งหลาย.
               กาลที่บุรุษนี้เคลื่อนจากสวรรค์แล้วเกิดในนรก เปรียบเหมือนกาลที่บุรุษนั้นทำร้ายราชวัลลภคนหนึ่งในวันหนึ่ง แล้วถูกราชบุรุษทุบตี แล้วกราบทูลแด่พระราชา เพราะทรงกริ้วจึงให้จองจำในเรือนจำ. กาลที่บุรุษนั้นเกิดในนรกแล้วรับอกุศลกรรมทั้งปวงที่มาประชุมกันนั้น เปรียบเหมือนกาลตะโกนของมนุษย์ทั้งหลายว่า วัตถุนี้ของเราอันบุรุษนี้ถือเอาแล้ว วัตถุนี้ของเราอันบุรุษนี้ถือเอาแล้ว ดังนี้. กาลที่เขาถูกเผาในนรกตลอดกัปทั้งสิ้น ไม่อาจยกศีรษะขึ้นจากนรกได้ ด้วยวิบากของกรรมนี้ๆ จนกว่ากรรมหนึ่งๆ จะสิ้นไป เปรียบเหมือนกาลนำบุรุษนั้นมาทิ้งไว้ในป่าช้า อันเหมาะแก่กรรมของตน.
               จริงอยู่ สัตว์ที่ถูกไหม้ในนรกสิ้นกัปหนึ่ง เพราะทำกรรมอันให้ตั้งอยู่ตลอดกัป มิใช่คนเดียว มิใช่สองคน มิใช่ร้อยคน มิใช่พันคน. ได้ยินว่า สัตว์ทั้งหลายที่ถูกไหม้ด้วยอาการอย่างนี้ เหลือประมาณที่จะนับ.

               ว่าด้วยกรรมสมาทานอันเป็นกุศล               
               แม้ในคำทั้งหลายมีคำว่า กรรมสมาทานอันเป็นกุศลบางอย่างมีอยู่ กรรมสมาทานนั้นอันคติวิบัติห้ามไว้ ย่อมไม่ให้ผล ดังนี้เป็นต้น บัณฑิตพึงประกอบเนื้อความอย่างนี้.
               กัลยาณกรรมจำนวนมากมีอยู่แก่บุคคลบางคนในโลกนี้ กรรมนั้นพึงให้ผลแก่ผู้ตั้งอยู่ในคติสมบัติ. แต่ว่า เขาผู้นั้นไปเกิดในคติวิบัติ คือในนรกหรือในอสุรกาย ด้วยบาปกรรมอย่างหนึ่ง. ในฐานะเช่นนี้ กุศลย่อมไม่อาจเพื่อให้ผล อกุศลเท่านั้นย่อมให้ผลโดยส่วนเดียว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า กุศลกรรมเหล่านั้นของบุคคลนั้นอันคติวิบัติห้ามไว้ จึงไม่ให้ผล ดังนี้ด้วยประการฉะนี้.
               กัลยาณกรรมจำนวนมากมีอยู่แม้แก่บุคคลอื่นอีก กรรมนั้นพึงให้ผลแก่ผู้ตั้งอยู่ในอุปธิสมบัติ. แต่ว่าเขาตั้งอยู่ในอุปธิวิบัติ ด้วยบาปกรรมหนึ่ง คือเป็นผู้มีผิวพรรณทรามเช่นกับปีศาจ แม้ว่าเขาเกิดในราชตระกูล โดยกาลอันล่วงไปแห่งพระบิดาย่อมไม่ได้ราชสมบัติ เพราะว่า อะไรๆ ด้วยราชสมบัติของผู้นี้หาสิริมิได้. แม้เกิดในบ้านของเสนาบดีเป็นต้น ก็ย่อมไม่ได้ตำแหน่งเสนาบดีหรือตำแหน่งเศรษฐี.
               ก็เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งเนื้อความนี้ พึงทราบเรื่องพระเจ้าทีปราช.

               เรื่องพระเจ้าทีปราช               
               ได้ยินว่า พระราชา เมื่อพระราชบุตรประสูติแล้ว ทรงเลื่อมใสในพระเทวี จึงได้ทรงประทานพร พระเทวีนั้นรับพรแล้ว ทรงยับยั้งอยู่. ต่อมาพระกุมารมีชันษา ๗ พรรษา ได้ให้ราชบุรุษนำไก่มาชนกันที่พระลานหลวง ไก่ตัวหนึ่งบินขึ้นไปแล้วทำลายพระเนตรของพระกุมาร. พระเทวีผู้เป็นพระมารดาทรงดำริว่า เราจักทูลขอราชสมบัติในเวลาที่โอรสมีชันษา ๑๕ หรือ ๑๖ ดังนี้ จึงเสด็จไปเฝ้าพระราชา ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ในเวลาที่พระกุมารประสูติแล้ว พระองค์ทรงประทานพรแก่หม่อมฉัน หม่อมฉันรับพรนั้นแล้วรอเวลาอยู่ บัดนี้ หม่อมฉันจักถือเอาพรนั้น ดังนี้. พระราชาตรัสว่า ดีแล้ว เทวี เธอจงถือเอา ดังนี้. พระเทวีทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ สิ่งอะไรๆ ชื่อว่าหม่อมฉันไม่ได้แล้วจากสำนักของพระองค์ มิได้มี แต่บัดนี้ หม่อมฉันขอทูลขอราชสมบัติเพื่อพระโอรสของหม่อมฉัน ดังนี้.
               พระราชาตรัสว่า ดูก่อนเทวี บุตรของเธอมีอวัยวะไม่สมประกอบ เราไม่อาจเพื่อจะให้ราชสมบัติแก่บุตรของเธอได้ ดังนี้. พระเทวีทูลว่า พระองค์ เมื่อไม่อาจเพื่อประทานพรอันพอพระทัยแก่หม่อมฉัน เพราะเหตุไร จึงได้ประทานพรแก่หม่อมฉันในครั้งนั้นเล่า ดังนี้. พระราชา เมื่อถูกบีบคั้นอยู่อย่างยิ่ง ก็ไม่อาจเพื่อให้ราชสมบัติในลังกาทวีปทั้งสิ้นแก่โอรสของพระองค์ จึงทรงส่งไปสู่นาคทีปะ (เกาะเล็ก) ด้วยพระดำรัสว่า จงให้ราชบุรุษยกฉัตรขึ้นที่นาคทีปะแล้วอยู่เถิดดังนี้ พระราชบุตรนั้นจึงได้ทรงพระนามว่าพระเจ้าทีปราช. ถ้าว่า ความพิการแห่งจักษุจักไม่ได้มีแล้วไซร้ ก็จักได้ราชสมบัติอันแวดล้อมด้วยสมบัติทั้งปวงในตัมพปัณณิทวีปทั้งสิ้นซึ่งมี ๑๕๐ โยชน์เป็นประมาณ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า กัลยาณกรรมทั้งหลายอันอุปธิวิบัติห้ามไว้ จึงไม่ให้ผล ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               กัลยาณกรรมจำนวนมากมีอยู่แก่บุคคลอื่นอีก กรรมนั้นพึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในกาลสมบัติ. แต่ว่าบุคคลนั้นเกิดในกาลวิบัติ คือในกาลแห่งพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรมและมนุษย์ชั่ว เป็นกาลลามก ไร้ค่า มีอายุน้อยที่สุดแห่งการดำเนินไป. ก็ในกาลเช่นนั้น กัลยาณกรรมย่อมไม่อาจเพื่อให้ผล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า กัลยาณกรรมทั้งหลายอันกาลวิบัติห้ามไว้ ย่อมไม่ให้ผล ดังนี้ด้วยประการฉะนี้.
               กัลยาณกรรมทั้งหลายมากมีอยู่แก่บุคคลแม้บางคน กรรมเหล่านั้นพึงให้ผลแก่ผู้ตั้งอยู่ในปโยคสมบัติ. แต่ว่า บุคคลนี้ตั้งอยู่ในปโยควิบัติ คือย่อมฆ่าสัตว์ ฯลฯ ย่อมยังความเป็นผู้ทุศีลทั้งปวงให้เต็ม. โดยทำนองนั้น ตระกูลทั้งหลายแม้มีชาติเสมอกัน ก็ย่อมไม่ทำอาวาหะและวิวาหมงคลกับตระกูลผู้ทุศีลนั้น บุรุษเช่นนี้เป็นผู้ลามก คือเป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา นักเลงการพนัน ฉะนั้น ผู้หวังประโยชน์ต้องเว้นให้ไกล. เพราะกัลยาณกรรมทั้งหลายย่อมไม่อาจเพื่อให้ผล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า กัลยาณกรรมเหล่านี้อันปโยควิบัติห้ามไว้ จึงไม่ให้ผล ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               กัลยาณกรรมอันจะให้ซึ่งผลเพราะอาศัยสมบัติ ๔ แต่ย่อมไม่ให้ผล เพราะกัลยาณกรรมนั้น อันวิบัติ ๔ ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลด้วยประการฉะนี้.
               กัลยาณกรรมจำนวนมากมีอยู่แก่บุคคลแม้อื่นอีก กรรมนั้นไม่พึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในคติวิบัติ. แต่ว่าบุคคลนั้นเกิดในคติสมบัติด้วยกัลยาณกรรมหนึ่งนั่นแหละ กรรมเหล่านั้นเข้าถึงผู้นั้นแล้ว จึงให้ผลในที่นั้นๆ คือให้เกิดในมนุษยโลกตามกาลอันควร ให้เกิดในเทวโลกตามกาลอันควร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า กัลยาณกรรมเหล่านี้ไม่อาจเพื่อให้ผล เพราะคติวิบัติห้ามไว้ แต่ย่อมให้ผล เพราะอาศัยคติสมบัติ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               กัลยาณกรรมจำนวนมากมีอยู่แก่บุคคลแม้อื่นอีก กรรมเหล่านั้นไม่พึงให้ผลแก่ผู้ตั้งอยู่ในอุปธิวิบัติ. แต่ว่า บุคคลนั้นตั้งอยู่ในอุปธิสมบัติด้วยกัลยาณกรรมอย่างหนึ่ง คือมีรูปงาม น่าดูเช่นกับรูปพรหม กัลยาณกรรมเหล่านั้นชื่อว่าย่อมให้ผล เพราะความที่บุคคลนั้นตั้งอยู่ในอุปธิสมบัติ. ถ้ากรรมนั้นให้เกิดในราชสำนัก ทั้งที่พระเชษฐาทั้งหลายแม้มีอยู่ อัตภาพของผู้อันกรรมให้เกิดขึ้นแล้วนี้ ย่อมเป็นของสำเร็จแล้วด้วยดี ราชบุรุษทั้งหลายย่อมอภิเษกผู้นั้นนั่นแหละในราชสมบัติโดยความหวังว่า เมื่อเรายกเศวตฉัตรขึ้นแก่ผู้นี้แล้ว ความผาสุกจักมีแก่ชาวโลก ดังนี้. ผู้เกิดในบ้านของอุปราชเป็นต้น ย่อมได้ความเป็นอุปราช โดยกาลอันล่วงไปแห่งบิดา ซึ่งเป็นตำแหน่งเสนาบดี ตำแหน่งขุนคลังหรือตำแหน่งเศรษฐี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า กัลยาณกรรมเหล่านี้ไม่อาจให้ผล เพราะอุปธิวิบัติห้ามไว้ แต่ย่อมให้ผล เพราะอาศัยอุปธิสมบัติ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               กัลยาณกรรมจำนวนมากมีอยู่แก่บุคคลแม้อื่นอีก กรรมเหล่านั้นไม่พึงให้ผลแก่ผู้ตั้งอยู่ในกาลวิบัติ. แต่ว่า บุคคลนั้นเกิดในกาลสมบัติด้วยกัลยาณกรรมอย่างหนึ่ง คือในกาลแห่งพระราชาทรงธรรมและมนุษย์ผู้ใจดี. กัลยาณกรรมย่อมให้ผลแก่บุคคลผู้เกิดนั้น เพราะการสำเร็จแห่งกาลเช่นนั้น ในข้อนี้ พึงทราบเรื่องของพระเถระชื่อว่ามหาโสณะ เป็นอุทาหรณ์.

               เรื่องพระเถระชื่อว่ามหาโสณะ               
               ได้ยินว่า ภิกษุมีจำนวนหนึ่งหมื่นสองพันรูป อาศัยอยู่ที่จิตตลบรรพต ซึ่งมีภัยแต่พราหมณ์ (ผู้เป็นโจร) ชื่อว่าติสสะ. ในติสสะมหาวิหาร ก็เหมือนกัน. ในมหาวิหารแม้ทั้งสอง พวกหนูใหญ่ทั้งหลายพากันมากัดผ้าในเวลาราตรีสิ้นเวลาสามปี แล้วนำไปไว้ที่สักว่ากองแกลบ. ภิกษุสงฆ์ที่จิตตลบรรพต คิดว่า เราจักอาศัยผ้าในติสสมหาวิหาร จึงออกจากวิหารด้วยประสงค์ว่า เราไปแล้วจักอาศัยอยู่ในที่นั้น ดังนี้.
               ฝ่ายภิกษุสงฆ์แม้ในติสสมหาวิหาร ก็คิดว่า เราจักอาศัยผ้าในจิตตลบรรพต ออกจากวิหารด้วยประสงค์ว่า เราไปแล้วจักอาศัยอยู่ในที่นั้น ดังนี้. ภิกษุแม้ทั้งสองพวกก็มาพบกันที่ฝั่งแห่งซอกเขาลึกแห่งหนึ่ง จึงถามกันและกันแล้ว ทราบแล้วซึ่งความที่ผ้าเป็นของหมดสิ้นไปแล้ว ภิกษุทั้งหมด ๒๔,๐๐๐ ได้ปรึกษากันว่า พวกเราจักทำอย่างไร ดังนี้. หมู่แห่งภิกษุ (บางพวก) ก็เข้าไปสู่ป่าอันเป็นซอกเขาลึก นั่งแล้วก็ปรินิพพานด้วยนิพพานธาตุอันเป็นอนุปาทิเสสะ โดยกิริยาที่นั่งแล้วนั่นแหละ.
               ภายหลัง ครั้นเมื่อภัยสงบแล้ว ภิกษุสงฆ์อาศัยท้าวสักกเทวราช แล้วรวบรวมพระธาตุทั้งหลายทำเป็นเจดีย์. แม้โจรแต่พราหมณ์ชื่อว่าติสสะ ก็ทำลายชนบทแล้ว. สงฆ์ประชุมกันปรึกษาแล้ว จึงส่งพระเถระ ๘ รูปไปสู่สำนักของท้าวสักกะว่า ขอพระองค์จงห้ามโจร ดังนี้. ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ โจรเกิดขึ้นแล้ว โยมไม่อาจเพื่อจะห้าม ขอสงฆ์จงไปสู่ทางทะเลข้างหน้า โยมจักกระทำอารักขาสมุทร (ทะเล). สงฆ์ไปสู่นาคทีปะแต่ทิศทั้งปวง ให้ผูกแพใหญ่ ๓ ชั้นที่เมืองท่าชื่อชัมพุโกละ.
               แพชั้นหนึ่งจมลงในน้ำ ภิกษุสงฆ์นั่งอีกชั้นหนึ่ง ตั้งบาตรและจีวรไว้อีกชั้นหนึ่ง. พระเถระทั้ง ๓ รูปผู้เป็นประธานบริษัทเหล่านั้น คือพระจูฬสิวเถระผู้ชำนาญสังยุตตนิกาย อิสิทัตตเถระและมหาโสณเถระ.
               บรรดาพระเถระเหล่านั้น พระเถระสองรูปกล่าวเชิญพระมหาโสณเถระว่า ข้าแต่ท่านมหาโสณะผู้มีอายุ ท่านจงก้าวขึ้นแพใหญ่เถิด ดังนี้. พระมหาโสณเถระกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ท่านเล่า. พระเถระทั้งสองกล่าวว่า ผู้มีอายุ ความตายในน้ำก็ดี ความตายบนบกก็ดี ก็เท่ากันนั่นแหละ พวกเราจักไม่ไป แต่ท่านอาศัยแพนั้นแล้วจักดำรงสืบต่อพระศาสนาในอนาคต ผู้มีอายุ ท่านจงไปเถิด ดังนี้. พระมหาโสณเถระแม้กล่าวถึง ๓ ครั้งว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อท่านทั้งสองไม่ไป กระผมจักไม่ไป เมื่อพระเถระทั้งสอง ไม่อาจยังพระเถระให้ขึ้นแพ จึงพากันกลับแล้ว.
               ลำดับนั้น พระจูฬสิวเถระกล่าวกะพระอิสิทัตตเถระว่า ผู้มีอายุ อิสิทัตตะ ท่านอาศัยพระมหาโสณะแล้ว การสืบต่อแห่งพระศาสนาจักตั้งอยู่ในอนาคต ท่านจงอย่าปล่อยมือจากพระโสณเถระ (หมายความว่า ให้แนะนำสั่งสอน) พระอิสิทัตตเถระกล่าวกะพระจูฬสิวเถระว่า ก็ท่านเล่าขอรับ ดังนี้ พระจูฬสิวเถระกล่าวว่า ผมจักไปไหว้มหาเจดีย์ ดังนี้. พระจูฬสิวเถระกล่าวสอนพระเถระทั้งสองแล้ว ก็เที่ยวจาริกไปโดยลำดับจนถึงมหาวิหาร. ในสมัยนั้น มหาวิหารว่างเปล่าจากภิกษุสงฆ์. ต้นไม้ละหุ่งเกิดขึ้นที่ลานของพระเจดีย์. พระเจดีย์มีพุ่มไม้ทั้งหลายแวดล้อมแล้ว มีสาหร่ายเกี่ยวพันแล้ว. พระเถระไหว้มหาเจดีย์ราวกะแสดงความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ยังทรงพระชนม์อยู่ แล้วเข้าไปสู่ศาลาทางทิศปัจฉิม (ตะวันตก) เมื่อแลดู นั่งตรึกอยู่ว่า ที่บรรจุพระสรีรธาตุของพระศาสดาผู้ถึงแล้วซึ่งความยิ่งใหญ่ด้วยลาภสักการะด้วยยศอันยิ่งใหญ่ชื่อเห็นปานนี้ ไม่มีที่พึงแล้วหนอ ดังนี้.
               ลำดับนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้อันไม่ไกลจากที่นั้น ถือเอาทะนานข้าวสารและงบน้ำอ้อย ไปสู่สำนักของพระเถระ ด้วยรูปของมนุษย์ด้วยฤทธิ์ แล้วเรียนถามพระเถระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านจะไปที่ไหน ดังนี้.
               พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนอุบาสก อาตมาจักไปสู่ทิศทักษิณ (ใต้) ดังนี้.
               เทวดากล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แม้กระผมก็ประสงค์จะไปในที่นั้นนั่นแหละ เราจักไปพร้อมกัน ดังนี้.
               พระเถระกล่าวว่า อาตมามีกำลังทราม จักไม่อาจเพื่อจะไปตามอัชฌาสัยของท่านได้ ท่านจงไปก่อนเถิด อุบาสก ดังนี้.
               เทวดากล่าวว่า แม้กระผมก็จักไปตามอัชฌาสัยของพระคุณเจ้า ดังนี้แล้วได้รับเอาบาตรและจีวรของพระเถระมาถือไว้.
               ก็ในกาลเป็นที่ขึ้นไปสู่สะพานอ่างเก็บน้ำชื่อว่าติสสะ พระเถระให้นำบาตรมาแล้วทำน้ำดื่ม เทวดาก็ได้ทำน้ำดื่มถวายแล้ว พอพระเถระมีกำลังตั้งอยู่ในเหตุสักว่า การดื่มแล้วนั่นแหละ เทวดาย่นแผ่นดินให้ถึงวิหารร้างหลังหนึ่ง ในที่ใกล้เวณุนที แล้วปัดกวาดสถานที่ถวายแด่พระเถระ.
               วันรุ่งขึ้น พอพระเถระล้างหน้าเสร็จ เทวดาก็หุงข้าวยาคูถวาย เมื่อพระเถระดื่มยาคูแล้ว เทวดาก็หุงภัตน้อมเข้าไป. พระเถระกล่าวว่า อุบาสก ท่านจงตั้งไว้เพื่อท่านเถิด แล้วเอามือปิดบาตร. เทวดากล่าวว่า กระผมจักไม่ไปไกล แล้วจึงเอาภัตใส่ในบาตรของพระเถระนั่นแหละ เมื่อพระเถระทำภัตกิจเสร็จแล้ว เทวดาก็ถือเอาบาตรและจีวรเพื่อดำเนินไปสู่ทางที่จะไป ย่นแผ่นดินนำไปสู่สำนักแห่งชัชชรนที แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นั่นเป็นที่สำหรับอยู่ของพวกมนุษย์ผู้อาศัยใบไม้เป็นอยู่ ต้นไม้ย่อมปรากฏ กระผมจักไปข้างหน้า ดังนี้ ไหว้พระเถระแล้ว ไปสู่ภพของตน. พระเถระอาศัยพวกมนุษย์ผู้อาศัยใบไม้เป็นอยู่ อยู่แล้วตลอดกาลแห่งภัยแม้ทั้งปวง
               แม้พระอิสิทัตตเถระ เมื่อจาริกไปโดยลำดับก็บรรลุถึงอฬชนบท. พวกมนุษย์ในชนบทนั้นผ่าผลมะซางซึ่งยังไม่สุกนัก ถือเอาเมล็ดในผลแล้วทิ้งเปลือกได้ไปแล้ว. พระเถระกล่าวกะพระมหาโสณะว่า ดูก่อนท่านมหาโสณะ ภิกษาหารย่อมปรากฏแก่เรา ดังนี้ แล้วให้พระมหาโสณะนำบาตรและจีวรมา ห่มจีวรแล้ว ได้นำบาตรออกยืนอยู่แล้ว. หญิงรุ่นสาวคนหนึ่งเห็นพระเถระผู้ยืนอยู่ จึงคิดว่า ประโยชน์อะไรๆ จักมีด้วยผลมะซางนี้ จึงนำผลมะซางและเปลือกมะซางมาใส่ในบาตร แล้วได้ถวายแล้ว. พระเถระทั้งสองฉันแล้ว อาหารนั้นนั่นแหละได้เป็นไปตลอด ๗ วัน.
               ลำดับนั้น ชนทั้งหลายส่งข่าวเรื่องโจรมาโดยลำดับ. มนุษย์ผู้กลัวภัย ถือเอาดอกโกมุททั้งหลาย (ดอกบัวขาว) ได้ทิ้งดอกโกมุททั้งหลายแล้วหนีไป. พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนท่านมหาโสณะ ภิกษาหารย่อมปรากฏแก่เรา ดังนี้ แล้วให้นำบาตรและจีวรมา ห่มจีวรแล้วก็นำบาตรออกมายืนอยู่. ทาริกา (หญิงสาว) ในบ้านคนหนึ่งทำความสะอาดก้านโกมุทแล้วใส่ในบาตรถวาย. พระเถระทั้งสองฉันก้านโกมุทแล้ว. อาหารนั้นได้พอยังอัตภาพให้เป็นไป ๗ วัน. พระเถระเมื่อเที่ยวไปโดยลำดับได้บรรลุถึงประตูบ้านหลังหนึ่งในที่อยู่แห่งมนุษย์ผู้อาศัยใบไม้เป็นอยู่.
               มารดาและบิดาของทาริกาคนหนึ่งในบ้านนั้น เมื่อจะไปป่าได้สั่งว่า แน่ะแม่ ถ้าพระผู้เป็นเจ้าไรๆ ย่อมมาในที่นี้ เจ้าจงอย่าให้ท่านไปในที่ไหนๆ จงบอกที่เป็นที่อยู่แก่พระผู้เป็นเจ้า ดังนี้. ทาริกานั้นเห็นพระเถระทั้งสองแล้ว จึงรับบาตรและนิมนต์ให้นั่ง. ขึ้นชื่อว่าธัญชาติในบ้านไม่มีอยู่ ทาริกานั้นจึงถือเอามีดไปทุบเปลือกต้นมะกล่ำและต้นกล้วยป่าพร้อมกับเครือเถาและใบผัก มารวมกันทำให้เป็นก้อน ๓ ก้อน วางก้อนหนึ่งลงในบาตรของพระอิสิทัตตเถระ วางก้อนหนึ่งลงในบาตรของพระมหาโสณเถระ เหยียดมือออกไปด้วยประสงค์ว่า เราจักวางก้อนที่เกินลงในบาตรของพระอิสิทัตตเถระ แต่มือหมุนกลับไปใส่ลงในบาตรของพระมหาโสณเถระ. พระอิสิทัตตเถระกล่าวว่า กรรมอันให้ซึ่งผล ในเพราะก้อนมะกล่ำและกล้วยป่า ในสมัยมีภัยแต่พราหมณ์ ชื่อว่าติสสะ จักปรากฏผลมีประมาณเพียงไร เพราะการถึงพร้อมแห่งเทศกาล ดังนี้ แล้วพระเถระทั้งสองก็ฉันก้อนเหล่านั้นด้วยกัน ได้ไปสู่ที่อยู่แล้ว. แม้ทาริกานั้นก็บอกมารดาและบิดาผู้มาจากป่าว่า พระเถระทั้งสองมาแล้วและที่เป็นที่อยู่เพื่อพระเถระทั้งสองนั้น ฉันก็บอกแล้ว ดังนี้. มารดาและบิดาแม้ทั้งสองนั้นไปสู่สำนักของพระเถระทั้งสอง ไหว้แล้วรับปฏิญาณ (ให้สัญญา) ด้วยคำว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกโยมย่อมได้ซึ่งสิ่งใดมา โยมก็จักบำรุงพระคุณเจ้าทั้งสองด้วยสิ่งนั้น ดังนี้.
               แม้พระเถระทั้งหลายก็อาศัยชนเหล่านั้นอยู่แล้วตลอดกาลมีภัยทั้งปวง.
               ครั้นเมื่อโจรชื่อติสสะผู้เป็นพราหมณ์ตายแล้ว ปิตุมหาราชก็ยังราชบุรุษให้ยกฉัตรขึ้น. ภิกษุสงฆ์จากฝั่งสมุทรโน้นฟังว่า ภัยสงบแล้ว ชนบทสมบูรณ์แล้ว ดังนี้ ก็ข้ามมาด้วยเรือที่ท่าเรือชื่อว่ามหาติตถะ และได้ถามหาพระมหาโสณเถระว่า พระมหาโสณเถระอยู่ที่ไหน ดังนี้แล้วได้ไปสู่สำนักของพระเถระ. พระเถระ (มหาโสณเถระ) มีภิกษุสงฆ์ห้าร้อยเป็นบริวาร บรรลุถึงวิหารชื่อมัณฑลาราม ในบ้านกาลกะ.
               ในสมัยนั้น มีตระกูลอาศัยอยู่ในบ้านกาลกะ ๗๐๐ ตระกูล ในเวลากลางคืนเทวดาทั้งหลายเที่ยวไปบอกแก่พวกมนุษย์ทั้งหลายว่า พระมหาโสณเถระผู้มีภิกษุเป็นบริวารห้าร้อยมาถึงมัณฑลารามวิหารแล้ว ขอชนบ้านหนึ่งๆ จงถวายอาหารบิณฑบาตอันเป็นของมีค่าควรแก่กหาปณะหนึ่งๆ กับด้วยผ้าสาฎกใหม่ ดังนี้. ก็ในวันรุ่งขึ้น พระเถระทั้งหลายเข้าไปสู่บ้านกาลกะ เพื่อบิณฑบาต. มนุษย์ทั้งหลายนิมนต์ให้นั่งแล้ว ได้ถวายยาคู. พระเถระชื่อว่าติสสภูตะ ผู้อยู่ในมัณฑลารามเป็นสังฆเถระนั่งอยู่.
               มหาอุบาสกคนหนึ่งไหว้พระสังฆเถระแล้วเรียนถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญองค์ไหน ชื่อว่ามหาโสณะ ดังนี้. สมัยนั้น พระมหาโสณะเถระเป็นภิกษุใหม่กว่าจึงนั่ง ณ ที่สุด พระสังฆเถระจึงชี้มือไปแล้วกล่าวว่า ดูก่อนอุบาสก นั่นชื่อว่ามหาโสณะ ดังนี้ อุบาสกไหว้พระมหาโสณเถระนั้นแล้วขอรับบาตรจากท่าน พระมหาโสณะไม่ให้. พระติสสภูตเถระกล่าวว่า ดูก่อนท่านโสณะ เธอย่อมไม่ทราบโดยอาการอย่างไร แม้เราก็ไม่ทราบโดยอาการอย่างนั้นนั่นแหละ เทวดาทั้งหลายย่อมให้หุงภัตเพื่อผู้มีบุญทั้งหลาย เธอจงปล่อย (ให้) บาตร จงทำการสงเคราะห์เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ดังนี้. พระโสณะเถระได้ให้บาตรแล้ว. มหาอุบาสกถือเอาบาตรไปแล้วให้เต็มด้วยอาหารบิณฑบาตอันมีราคาควรแก่หนึ่งกหาปณะ และทำผ้าสาฎกใหม่รองบาตรแล้วนำมาวางไว้ที่มือของพระเถระ. อุบาสกแม้อื่นอีกก็ตั้งอาหารบิณฑบาตและผ้าสาฎก รวมอาหารบิณฑบาตและผ้าสาฎกอย่างละ ๗๐๐ แก่พระมหาโสณะเถระเท่านั้นได้ถวายแล้ว.
               พระมหาโสณเถระกระทำการจัดแบ่งสิ่งเหล่านั้นแก่ภิกษุสงฆ์เรียบร้อยแล้ว ก็ไปสู่มหาวิหารโดยลำดับ ครั้นบ้วนปากล้างหน้าแล้วก็ไหว้พระมหาโพธิ์ ไหว้พระมหาเจดีย์ยืนอยู่ที่ถูปาราม ห่มจีวรแล้วพาภิกษุผู้เป็นบริวาร เข้าไปสู่พระนครโดยประตูด้านทักษิณ (ใต้) ได้อาหารบิณฑบาตอันมีราคาควรแก่ ๖๐ กหาปณะในระหว่างนั้นจนถึงทางไปสู่ศาลา. จำเดิมแต่กาลนั้นมาประมาณแห่งเครื่องสักการะนับไม่ได้.
               ก็ในกาลวิบัติ ซึ่งมีภิกษาอันหาได้โดยยาก แม้ผลและเปลือกมะซาง แม้ก้านดอกโกมุทก็หาได้โดยยาก แต่ในกาลสมบัติ มีลาภมากมายเห็นปานนี้เกิดขึ้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

               เรื่องวัตตัพพกนิโครธเถระ๑-               
____________________________
๑- ชนทั้งหลายเรียกท่านว่าผู้มั่นคงดังต้นนิโครธ.

               ก็ภัยแต่โจรชื่อว่าติสสะ ผู้เป็นพราหมณ์เกิดขึ้นในกาลแม้แห่งวัตตัพพกนิโครธเถระยังเป็นสามเณร. สามเณรและอุปัชฌาย์ของสามเณรไม่ได้ไปสู่สมุทรฝั่งโน้นแต่ได้มุ่งหน้าไปประเทศชายแดน ด้วยคิดว่า พวกเราจักเข้าไปอาศัยมนุษย์ ผู้มีใบไม้เป็นอยู่ ดังนี้ สามเณรเป็นผู้ไม่มีอาหารประมาณ ๗ วัน เห็นลูกตาลที่ต้นตาลในที่ใกล้บ้านแห่งหนึ่ง จึงกราบเรียนกะพระเถระว่า ขอท่านจงรอสักครู่ ผมจักให้ผลตาลตกลงมา ดังนี้. พระอุปัชฌาย์ (พระเถระ) กล่าวว่า สามเณร เธอเป็นผู้มีกำลังทราม อย่าขึ้นเลย ดังนี้. สามเณรกราบเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมจักขึ้น ดังนี้ แล้วถือมีดเล็กปีนขึ้นต้นตาล เริ่มเพื่อจะตัดพวงแห่งลูกตาล ใบมีดหลุดตกลงมาที่พื้นดิน.
               พระเถระคิดว่า สามเณรนี้ลำบากอยู่ ขึ้นต้นตาลแล้ว ใบมีดหลุดตกลงมา บัดนี้เขาจักทำอย่างไร ดังนี้. สามเณรฉีกใบตาล ฉีกแล้วๆ ผูกด้ามมีดหย่อนลงมาๆ ให้ตกลงที่พื้นดิน แล้วเรียนพระเถระว่า ท่านขอรับ เป็นการดีหนอ ถ้าว่าท่านพึงส่งใบมีดให้กระผมในที่นี้ ดังนี้.
               พระเถระคิดว่า สามเณรเป็นผู้ฉลาดในอุบาย ได้ส่งใบมีดให้แล้ว. สามเณรนั้นก็ใช้มีดตัดลูกตาลทั้งหลายให้ตกลง. สามเณรโยนมีดและลูกตาลลงมา กำลังจะเฉาะผลตาล. พระเถระกล่าวว่า สามเณร เธอมีกำลังทราม จงเคี้ยวกินผลตาลนี้ก่อน ดังนี้. สามเณรเรียนว่า ท่านขอรับ เมื่อท่านยังไม่ฉันลูกตาลนี้ กระผมก็จักไม่ฉัน ดังนี้แล้วจับมีดเฉาะผลตาล แล้วนำบาตรออกมาใส่จาวตาลถวายแก่พระเถระแล้ว ตัวเองจึงเคี้ยวกิน. ผลแห่งตาลยังมี ทั้งสองนั้นก็ยังอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ เมื่อผลตาลสิ้นแล้ว จึงไปสู่วิหารร้างหลังหนึ่ง ในที่เป็นที่อยู่ของพวกมนุษย์ผู้อาศัยใบไม้เป็นอยู่.
               สามเณรปัดกวาดที่สำหรับเป็นที่อยู่เพื่อพระเถระ. พระเถระได้ให้โอวาทแก่สามเณร แล้วก็เข้าไปสู่วิหาร. สามเณรคิดว่า กำหนดประมาณอัตภาพทั้งหลายอันฉิบหายแล้ว ในเพราะสิ่งอันไม่ควร (ความอดอยาก) นับไม่ได้ เราจักกระทำการบำรุงพระพุทธเจ้า จึงไปสู่ลานพระเจดีย์แล้วกระทำการถอนหญ้าออกแล้วๆ สามเณรนั้นหวั่นไหวอยู่ เพราะความที่ตนไม่มีอาหารมา ๗ วัน จึงล้มลงไป นอนอยู่นั่นแหละก็ยังถอนหญ้า.
               ก็มนุษย์พวกหนึ่งเที่ยวไปอยู่ในป่า ได้รวงผึ้งแล้วก็ถือเอาไม้ฟืนทั้งหลายด้วยใบผักทั้งหลายด้วย ไปในที่ใกล้แห่งสามเณร ด้วยความสำคัญว่า เอ! นั่นเนื้อหรือหนอ ดังนี้ ครั้นเห็นแล้ว จึงถามว่า ดูก่อนสามเณร ท่านทำอะไร ดังนี้. สามเณรตอบว่า ดูก่อนอุบาสก อาตมาถอนหญ้า ดังนี้. พวกมนุษย์กล่าวว่า สามเณร ใครๆ แม้อื่นมีอยู่ในที่นี้หรือ ดังนี้. สามเณรกล่าวว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย มีพระอุปัชฌาย์ของเราอยู่ในห้อง ดังนี้. อุบาสกกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงถวายสิ่งนี้แก่พระมหาเถระแล้วพึงเคี้ยวกินเถิด ดังนี้. ครั้นแล้วก็ถวายรวงผึ้งแก่สามเณรและบอกซึ่งที่เป็นที่อยู่ของพวกตน แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พวกเราเมื่อทำการหักกิ่งไม้ เสร็จแล้วก็จักกลับไป ขอสามเณรจงพาพระเถระมาด้วยเครื่องหมายนั้น ดังนี้แล้วพากันกลับไป.
               สามเณรรับรวงผึ้งแล้วไปสู่ที่อยู่ของพระเถระ ยืนอยู่ในภายนอก กราบเรียนว่า ท่านขอรับ กระผมขอนมัสการ ดังนี้. พระเถระได้เป็นผู้นิ่งด้วยคิดว่า สามเณรจักเป็นผู้อันความหิวเผาผลาญแล้วจึงมา. สามเณรจึงกราบเรียนอีกว่า ท่านขอรับ กระผมขอนมัสการ ดังนี้. พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนสามเณร เธอไม่ให้ภิกษุแก่นอนตามสบาย เพราะเหตุไร ดังนี้. สามเณรกล่าวว่า ท่านควรเปิดประตูขอรับ ดังนี้. พระเถระจึงลุกขึ้นเปิดประตู แล้วถามว่า สามเณร เธอได้อะไรมา ดังนี้. สามเณรกล่าวว่า รวงผึ้ง ท่านควรเคี้ยวกินรวงผึ้งอันมนุษย์ทั้งหลายถวายมา. พระเถระกล่าวว่า สามเณร เราจักลำบากเพื่อจะเคี้ยวกินอย่างนี้ จักทำให้เป็นของควรดื่มแล้วจักดื่ม สามเณรกระทำให้เป็นของควรดื่ม แล้วถวายแก่พระเถระ.
               ลำดับนั้น พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนสามเณร เธอถามถึงที่อยู่ของมนุษย์หรือ. สามเณรกราบเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกมนุษย์บอกเอง ขอรับ. พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนสามเณร เมื่อเราไปตอนเช้า จักลำบาก เราจักไปวันนี้ทีเดียว แล้วให้สามเณรถือบาตรและจีวรออกไป. ทั้งสองนั้นไปแล้ว อาศัยอยู่ในที่อันไม่ไกลจากที่เป็นที่อยู่ของพวกมนุษย์. ในเวลาแห่งราตรี สามเณรคิดว่า จำเดิมแต่เราบวชแล้ว ชื่อว่าอรุณภายในบ้าน (ในที่แห่งเดียวกับพระเถระ) เราไม่เคยให้ขึ้นไปแล้ว จึงถือเอาบาตรออกไปสู่ป่า.
               พระมหาเถระ เมื่อไม่เห็นสามเณรในที่เป็นที่นอน จึงคิดว่า สามเณรจักเป็นผู้อันมนุษย์ผู้กินคนจับไปแล้ว ดังนี้. สามเณรยังอรุณให้ตั้งขึ้นในป่าแล้ว ถือเอาน้ำและไม้สีฟันกลับมา. พระเถระถามว่า สามเณร เธอไปไหน ทำให้เกิดวิตกแก่ภิกษุผู้แก่ เธอจงนำมาซึ่งทัณฑกรรม (จงรับทัณฑกรรม). สามเณรตอบว่า กระผมจะนำทัณฑกรรมมา (หมายถึงจะประพฤติการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการลงโทษตัวเอง). พระเถระล้างหน้าแล้ว ห่มจีวรแล้ว. แม้ท่านทั้งสองได้พากันไปสู่ที่เป็นที่อยู่แห่งมนุษย์ทั้งหลาย. แม้มนุษย์ทั้งหลายก็ได้ถวายอาหารมีเผือก ผลไม้ ใบไม้อันเป็นเครื่องบริโภคของตน.
               พระเถระฉันเสร็จแล้วไปสู่วิหาร. สามเณรนำน้ำมาแล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมจักล้างเท้าของท่าน (เป็นการทำทัณฑกรรม) ดังนี้ พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนสามเณร เธอไปไหนในเวลากลางคืน ทำให้เรามีวิตกเกิดขึ้น ดังนี้. สามเณรกราบเรียนว่า ท่านขอรับ กระผมไม่เคยให้อรุณตั้งขึ้นในบ้านเดียวกันกับท่าน ด้วยเหตุนี้ จึงได้ไปสู่ป่า เพื่อต้องการให้อรุณตั้งขึ้น ดังนี้. พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนสามเณร ทัณฑกรรมไม่สมควรแก่เธอ สมควรแก่เรา ดังนี้แล้วอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ.
               อนึ่ง พระเถระได้ให้ซึ่งความหมายรู้แก่สามเณรไว้ว่า เราเป็นคนแก่ ชื่อว่าสิ่งนี้ (ความตาย) จักมีก่อน เพราะฉะนั้น ความตายนั้นใครๆ ไม่ไม่อาจเพื่อจะรู้ เธอจงรักษาตน ดังนี้ ได้ยินว่า พระเถระเป็นพระอนาคามี. ในกาลอื่นอีก พวกมนุษย์กินคนจับพระเถระกินเป็นอาหารแล้ว.
               สามเณรรักษาตนได้ ครั้นเมื่อภัยสงบแล้ว ก็ถือเอาพระอุปัชฌาย์ ในที่เช่นนั้นอุปสมบทแล้วเรียนพระพุทธพจน์ เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก มหาชนจึงเรียกว่าวัตตัพพกนิโครธเถระ (แปลว่า พระเถระผู้มั่นคงดังต้นนิโครธ) เกิดขึ้นแล้ว. ปิตุมหาราชทรงครองราชสมบัติแล้ว. ภิกษุทั้งหลายผู้มาแล้วๆ จากฝั่งสมุทรโน้น ถามว่า พระเถระชื่อว่าวัตตัพพกะนิโครธไปไหน ดังนี้ แล้วก็ไปสู่สำนักของวัตตัพพกนิโครธนั้น หมู่แห่งภิกษุใหญ่แวดล้อมท่านแล้ว พระเถระนั้นผู้อันภิกษุหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้วไปสู่มหาวิหาร ไหว้มหาโพธิ์ไหว้ มหาเจดีย์และถูปารามโดยลำดับ แล้วเข้าไปสู่พระนคร. ไตรจีวรในที่ทั้งสามเกิดขึ้นแก่พระเถระผู้กำลังเดินไปนั่นแหละ ตั้งแต่ประตูด้านทิศทักษิณ.
               ในกาลวิบัติ มีภิกษาหาได้โดยยาก แม้แต่ผลตาล เผือกมันและใบไม้ แต่ในกาลสมบัติ มหาลาภเห็นปานนี้เกิดขึ้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า กัลยาณกรรมทั้งหลายไม่อาจเพื่อให้ผล เพราะกาลวิบัติห้ามไว้อย่างนี้ แต่ย่อมให้ผลในกาลสมบัติ ดังนี้.
               กัลยาณกรรมจำนวนมากมีอยู่แก่บุคคลแม้อื่นอีก กรรมนั้นไม่พึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในปโยควิบัติ. แต่บุคคลนั้นตั้งอยู่เฉพาะในสัมมาปโยคะ (ความเพียรโดยชอบ) ด้วยกัลยาณกรรมอย่างหนึ่ง คือย่อมบำเพ็ญสุจริต ๓ ย่อมรักษาศีล ๕ ศีล ๑๐. เมื่อบุคคลเกิดในกาลสมบัติ เป็นพระราชาทั้งหลายผู้ประกอบด้วยเครื่องประดับทั้งปวง กรรมนั้นย่อมส่งราชกัญญาทั้งหลายอันสมควรแก่พระราชานั้น ย่อมส่งซึ่งบรรณาการนั้นๆ อันต่างด้วยสิ่งมีค่า มียานพาหนะ แก้วมณี ทองคำและเงินเป็นต้นให้. แม้เขาถึงการบรรพชา ย่อมมียศใหญ่ มีอานุภาพใหญ่.
               ในข้อนั้นมีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์

               เรื่องพระเจ้ากูฏกัณณราช               
               ได้ยินว่า พระเจ้ากูฏกัณณราชทรงรักใคร่พระจูฬสุธัมมเถระ ผู้อาศัยอยู่ในกัณณคาม ใกล้ภูเขา. พระราชานั้น เมื่อประทับอยู่ใกล้หนองน้ำมีดอกอุบล (ในอุปปลวาปี) รับสั่งให้นิมนต์พระเถระมา. พระเถระมาแล้วอาศัยอยู่ในวิหารชื่อว่ามาลาราม. พระราชาตรัสถามมารดาของพระเถระว่า พระเถระย่อมพอใจในอาหารประเภทไหน ดังนี้. มารดาของพระเถระทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระเถระพอใจในเผือก ดังนี้. พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษถือเผือกไปสู่วิหาร เมื่อถวาย ไม่อาจเพื่อจะทอดพระเนตรดูหน้าของพระเถระ ครั้นเสด็จออกจากวิหารแล้ว ตรัสถามพระเทวี ณ ภายนอกบริเวณวิหารว่า พระเถระเป็นเช่นไร ดังนี้.
               พระเทวีทูลว่า พระองค์เป็นชายไม่อาจเพื่อจะทอดพระเนตร หม่อมฉันจักอาจอย่างไร ทั้งหม่อมฉันก็ไม่ทราบว่าท่านเป็นเช่นไร ดังนี้ พระราชาไม่อาจเพื่อทอดพระเนตรแม้แต่บุตรของคหบดีผู้ถวายเครื่องสังเวยในแว่นแคว้นของพระองค์ การนับถือศาสนาของพระองค์ เป็นเพียงดีดพระหัตถ์ ตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชื่อว่าพระศาสนาเป็นของใหญ่หนอ ดังนี้. พระราชาย่อมทรงพอพระทัยแม้พระเถระ ชื่อว่าจูฬนาคผู้ทรงพระไตรปิฎก.
               ครั้งหนึ่งต่อมา ฝีตั้งขึ้นที่นิ้วของพระเถระนั้น พระราชาเสด็จไปสู่วิหาร ด้วยตั้งพระทัยว่า เราจักเยี่ยมพระเถระ ดังนี้. ด้วยความรักที่มีกำลังจึงใช้พระโอษฐ์ดูดหัวฝีที่นิ้วของพระเถระ ฝีแตกแล้วในพระโอษฐ์นั่นแหละ ไม่ทรงบ้วนบุพโพโลหิต (น้ำเลือดน้ำหนอง) ออก ได้ทรงกลืนเข้าไปแล้ว ราวกะว่าน้ำอมฤต ด้วยความรักในพระเถระ. ในกาลอื่นอีก พระเถระนั้นนั่นแหละ อาพาธหนักนอนบนเตียงมรณะ พระราชาเสด็จไปแล้วทรงเอาศีรษะ ซบลงที่เตียงมรณะอันไม่สะอาด ทรงร้องคร่ำครวญอยู่ว่า เพลาเกวียนคือพระธรรม ย่อมแตก ดังนี้แล้วเสด็จไป.
               ชื่อว่าการยกศีรษะซบลงที่เตียงอันไม่สะอาด แล้วร้องคร่ำครวญ เที่ยวไปตามทาง ทางนั้นจะเป็นทางไปของใคร. ตอบว่า เป็นทางไปของผู้ประกอบโดยชอบ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า กัลยาณกรรมไม่อาจเพื่อให้ผลด้วยอาการอย่างนี้ เพราะปโยควิบัติห้ามไว้ แต่ย่อมให้ผลเพราะอาศัยปโยคสมบัติ ดังนี้.
               กัลยาณกรรมอันวิบัติ ๔ ห้ามไว้ไม่ให้ผล แต่ย่อมให้ผล เพราะอาศัยสมบัติ ๔ ประการฉะนี้.
               ในข้อนี้ บัณฑิตพึงทำอุปมาให้แจ่มแจ้งในเรื่องต่อไปนี้.

               อุปมาด้วยอำมาตย์               
               ได้ยินว่า มหาราชาพระองค์หนึ่งทรงกริ้วอำมาตย์คนหนึ่ง ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งมีประมาณเล็กน้อย จึงให้จองจำอำมาตย์นั้นในเรือนจำ ญาติทั้งหลายของอำมาตย์นั้นทราบความที่พระราชาทรงพิโรธแล้ว พวกเขาไม่กล่าวคำอะไรๆ ครั้นพระราชาทรงปราศจากความพิโรธแล้ว จึงขอให้พระราชาทรงทราบซึ่งความที่อำมาตย์นั้นไม่มีความผิด พระราชาทรงให้ปล่อยแล้ว ทั้งให้พระราชทานตำแหน่งแก่อำมาตย์นั้นให้กลับเป็นปกติ. ทีนั้น ประมาณแห่งเครื่องบรรณาการทั้งหลายก็มาสู่อำมาตย์นั้นนับไม่ได้ จนไม่อาจเพื่อจะรับ.
               ในข้อนั้น กาลที่ปุถุชนเกิดในนรก พึงทราบว่า เปรียบเหมือนกาลที่อำมาตย์นั้นถูกพระราชาทรงกริ้วด้วยเหตุสักว่าเล็กน้อยแล้วให้จองจำในเรือนจำ. ต่อมา กาลที่ปุถุชนนั้นเกิดในสวรรค์ พึงทราบว่า เปรียบเหมือนกาลที่ญาติทั้งหลายของอำมาตย์นั้นให้พระราชาทรงทราบความที่อำมาตย์นั้นไม่ผิด ให้ปล่อยจากเรือนจำและกระทำฐานันดรให้กลับเป็นปกติ.
               การที่กัลยาณกรรมทั้งหลายอาศัยสมบัติทั้ง ๔ แล้วให้ผลอันเป็นสุข แม้ตั้งแสนแห่งกัป อันนำไปสู่ที่อันเป็นสุขแต่ที่นี้ไปสู่ที่โน้น คือนำมาสู่มนุษยโลกจากเทวโลก นำไปสู่เทวโลกจากมนุษยโลก แล้วให้ถึงพระนิพพาน. บัณฑิตพึงทราบว่า เปรียบเหมือนกาลที่อำมาตย์นั้นไม่สามารถเพื่อจะรับเครื่องบรรณาการอันมากมาย.

               กรรมในปฏิสัมภิทามรรค               
               บัณฑิต ครั้งแสดงกำลังข้อที่ ๒ ด้วยสามารถแห่งพระบาลีด้วยอาการอย่างนี้ก่อนแล้ว พึงแสดงโดยนัยแห่งปฏิสัมภิทามรรคนี้ว่า อโหสิ กมฺมํ อโหสิ กมฺมวิปาโก ดังนี้.
               บรรดาคำเหล่านั้น อโหสิ กมฺมํ (แปลว่า กรรมได้มีแล้ว) ได้แก่ กรรมอันสั่งสมแล้วในอดีต ก็ได้มีแล้วในอดีตนั่นแหละ. และคำว่า อโหสิ กมฺมวิปาโก (แปลว่า กัมมวิบากคือผลของกรรมได้มีแล้ว) นี้ ท่านกล่าวไว้หมายเอาวิบากอันให้ผลแล้วในอดีตนั้น. ก็บรรดากรรมทั้งหลายแม้มากมีทิฏฐธัมมเวทนียกรรมเป็นต้น (กรรมให้ผลในภพปัจจุบัน) กรรมอย่างหนึ่งให้ผลในภพปัจจุบันแล้ว กรรมที่เหลือย่อมไม่ให้ผล. กรรมอย่างหนึ่งให้ผลเป็นอุปปัชชเวทนียะให้ปฏิสนธิแล้ว กรรมที่เหลือทั้งหลายย่อมไม่ให้ผล. กรรมอย่างหนึ่งให้เกิดในนรกด้วยอนันริกรรมหนึ่งแล้ว กรรมทั้งหลายที่เหลือย่อมไม่ให้ผล. บรรดาสมาบัติ ๘ สมาบัติหนึ่งให้ผลเกิดในพรหมโลก กรรมที่เหลือย่อมไม่ให้ผล. ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวว่า กัมมวิบากไม่ได้มีแล้ว ซึ่งหมายเอาคำดังกล่าวนี้.
               อนึ่ง บุคคลใดทำกรรมอันเป็นกุศลและอกุศลแม้มาก อาศัยกัลยาณมิตรแล้วย่อมบรรลุพระอรหัตได้ ดังนั้น กัมมวิบากนั้นจึงชื่อว่าไม่ได้มีแล้วแก่พระอรหันต์นั้น. กรรมใดอันสั่งสมแล้วในอดีต ย่อมให้ผลในภพนี้ กรรมนั้นชื่อว่าได้มีแล้ว แต่ชื่อว่ากัมมวิบากยังมีอยู่. กรรมใดย่อมถึงซึ่งความเป็นอวิบาก (คือไม่ให้ผล) โดยนัยก่อนนั่นแหละ กรรมนั้นได้มีแล้ว ชื่อว่ากัมมวิบากย่อมไม่มี. กรรมใดอันสั่งสมแล้วในอดีตจักให้ผลในอนาคต กรรมนั้นได้มีแล้ว ชื่อว่ากัมมวิบากจักมี. กรรมใดจักปรากฏเป็นอวิบากโดยนัยก่อนนั่นแหละ กรรมนั้นได้มีแล้ว ชื่อว่ากัมมวิบากจักไม่มี. กรรมใดอันสั่งสมในภพนี้ จะให้ผลในภพนี้นั่นแหละ กรรมนั้นย่อมมีอยู่ ชื่อว่ากัมมวิบากก็มีอยู่ กรรมใดย่อมปรากฏเป็นอวิบากโดยนัยก่อนนั่นแหละ กรรมนั้นมีอยู่ ชื่อว่ากัมมวิบากย่อมไม่มี. กรรมใดอันสั่งสมแล้วในภพนี้จักให้ผลในอนาคต กรรมนั้นมีอยู่ ชื่อว่ากัมมวิบากจักมี. กรรมใดจักถึงความเป็นอวิบากโดยนัยก่อนนั่นแหละ กรรมนั้นมีอยู่ ชื่อว่ากัมมวิบากจักไม่มี. กรรมใดแม้ตัวเองเป็นอนาคต แม้วิบากของกรรมนั้นก็เป็นอนาคต กรรมนั้นจักมี ชื่อว่ากัมมวิบากก็จักมี. กรรมใดตัวเองจักมี จักถึงความเป็นอวิบาก (ไม่ให้ผล) โดยนัยก่อนนั่นแหละ กรรมนั้นจักมีชื่อว่ากัมมวิบากจักไม่มี.
               คำว่า อิทํ ตถาคตสฺส (แปลว่า นี้เป็นกำลังของพระตถาคต) นี้ บัณฑิตพึงทราบญาณเครื่องกำหนดรู้ความแตกต่างแห่งกรรมและวิบากของพระตถาคต โดยอาการแม้ทั้งปวงเหล่านี้ชื่อว่าเป็นกำลังข้อที่ ๒ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว ดังนี้.
               นิทเทสแห่งกำลังที่สอง จบ.               

               อธิบายญาณอันเป็นกำลังข้อที่ ๓               
               คำว่า ทาง (มรรค) หรือว่า ปฏิปทา นี้เป็นชื่อของกรรมนั่นแหละ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า นิรยคามินี (แปลว่า ไปสู่นรก) เป็นต้น ชื่อว่านรก เพราะอรรถว่าที่เป็นที่ไม่ชอบใจ และเพราะอรรถว่าที่เป็นที่อันหาความยินดีมิได้. ชื่อว่าเดรัจฉาน เพราะอรรถว่าเคลื่อนไหวอัตภาพไปตามขวาง ไม่เหยียดตรงขึ้นไป. เดรัจฉานนั่นแหละ ชื่อว่ากำเนิดสัตว์เดรัจฉาน. ชื่อว่าเปรต (ปิตติ) เพราะความเป็นผู้ละไปแล้ว. อธิบายว่า เพราะความที่ตนละโลกนี้ไปแล้ว. เปรตนั่นแหละ ชื่อว่าปิตติวิสัย.
               ชื่อว่ามนุษย์ เพราะความเป็นผู้มีใจสูง. มนุษย์นั่นแหละ ชื่อว่ามนุษยโลก ชื่อว่าเทวะ (เทพ) เพราะอรรถว่าย่อมรื่นเริงมีประมาณมากมายด้วยเบญจกามคุณ หรือว่าด้วยสมบัติเป็นเหตุ. เทวะ (เทพ) นั่นแหละ ชื่อว่าเทวโลก. ตัณหา พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสเรียกว่า วานะ (เครื่องร้อยรัด). วานะนั้นย่อมไม่มีในที่นั้น เพราะเหตุนั้น ที่นั้นจึงชื่อว่านิพพาน. ชื่อว่า (ทาง) ไปสู่นรก เพราะอรรถว่าย่อมเคลื่อนไปสู่นรก. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาทางนี้. แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้.
               พระตถาคตย่อมทรงทราบปฏิปทาแม้ทั้งปวงนี้ อย่างไร?
               ก็เมื่อชนทั้งหลายแม้อยู่ในบ้านทั้งสิ้น ร่วมกันปลงสุกรตัวหนึ่งหรือเนื้อตัวหนึ่งลงจากชีวิต (ฆ่า) เจตนาแม้ของชนทั้งหมดย่อมมีชีวิตนทรีย์ของสัตว์อื่นเป็นอารมณ์ทุกคน แต่ว่ากรรมนั้นของบุคคลเหล่านั้นย่อมแตกต่างกัน ในเพราะความพยายามนั่นแหละ. เพราะว่า ในชนเหล่านั้น คนหนึ่งมีความพอใจเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำการฆ่าด้วยความเอาใจใส่. คนหนึ่งย่อมกระทำ เพราะถูกผู้อื่นบีบคั้นด้วยคำว่า เธอจงมา เธอจงทำการฆ่า ดังนี้. คนหนึ่งไม่ขัดขวางการฆ่าอยู่ เที่ยวไปเป็นราวกะว่า มีความพอใจด้วย (เสมอกัน). ในชนเหล่านั้น คนหนึ่งย่อมเกิดในนรกด้วยกรรมนั้นนั่นแหละ. คนหนึ่งย่อมเกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน. คนหนึ่งย่อมเกิดในปิตติวิสัย (กำเนิดเปรต).
               พระตถาคตย่อมทรงทราบว่า ผู้นี้จักเกิดในนรก ผู้นี้จักเกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ผู้นี้จักเกิดในปิตติวิสัย เพราะความที่บุคคลนั้นพยายามแล้วด้วยกิริยาอาการนี้ ในขณะแห่งความเพียรนั่นแหละดังนี้.
               ย่อมทรงทราบว่า บรรดาบุคคลทั้งหลายแม้เมื่อจะเกิดในนรก ผู้นี้จักเกิดในมหานรก ๘ ขุม ผู้นี้จักเกิดในอุสสัททะ (นรกที่เบียดเสียดยัดเยียด) ๑๖ ขุม ดังนี้ ย่อมทรงทราบว่า แม้บรรดาผู้จะไปเกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ผู้นี้จักเป็นสัตว์ไม่มีเท้า ผู้นี้จักเป็นสัตว์ ๒ เท้า ผู้นี้จักเป็นสัตว์ ๔ เท้า ผู้นี้จักเป็นสัตว์มีเท้ามาก ดังนี้ ย่อมทรงทราบว่า แม้ผู้จะไปเกิดในปิตติวิสัย ผู้นี้จักเป็นนิชฌามตัณหิกเปรต (เปรตผู้ถูกความอยากเผาผลาญ) ผู้นี้จักเป็นขุปปิปาสิกเปรต (เปรตผู้หิวกระหาย) ผู้นี้จักเป็นปรทัตตูปชีวีเปรต (เปรตผู้อาศัยทานของผู้อื่นเลี้ยงชีวิต) ดังนี้.
               ย่อมทรงทราบว่า ในบรรดากรรมเหล่านั้น กรรมนี้จักไม่อาจคร่ามาซึ่งปฏิสนธิ (คือให้ปฏิสนธิ) กรรมนี้มีกำลังทราม จักมีผลผูกพัน เพราะปฏิสนธิอันกรรมอื่นให้แล้ว ดังนี้.
               อนึ่ง บรรดาชนทั้งหลายผู้อยู่ในบ้านทั้งสิ้น ร่วมกันถวายอาหารบิณฑบาตก็เหมือนกัน คือว่าเจตนาของชนแม้ทั้งหมดเหล่านั้น ย่อมมีอาหารบิณฑบาตเป็นอารมณ์ทั้งนั้น. แต่ว่า กรรมนั้นของบุคคลเหล่านั้น ย่อมแตกต่างกันโดยนัยก่อนนั่นแหละ ในขณะแห่งความพยายาม. ในชนเหล่านั้น บางคน (บางพวก) ย่อมเกิดในเทวโลก บางคนย่อมเกิดในมนุษยโลก.
               พระตถาคตย่อมทรงทราบว่า บุคคลผู้นี้จักเกิดในมนุษยโลก ผู้นี้จักเกิดในเทวโลก เพราะความที่ผู้นั้นพยายามแล้ว ด้วยกิริยาอาการนี้ ในขณะแห่งความเพียรนั่นแหละ ดังนี้.
               ย่อมทรงทราบว่า แม้บรรดาผู้ที่จะเกิดในเทวโลก ผู้นี้จักเกิดในปรนิมมิตวสวัตดีทั้งหลาย (ชั้น ๖) ผู้นี้จักเกิดในนิมมานรดีทั้งหลาย (ชั้น ๕) ผู้นี้จักเกิดในดุสิตทั้งหลาย (ชั้น ๔) ผู้นี้จักเกิดในยามาทั้งหลาย (ชั้น ๓) ผู้นี้จักเกิดในดาวดึงส์ทั้งหลาย (ชั้น ๒) ผู้นี้จักเกิดในจาตุมหาราชิกาทั้งหลาย (ชั้น ๑) ผู้นี้จักเกิดในกุมมเทพทั้งหลาย ย่อมทรงทราบว่า ผู้นี้จักเกิดเป็นเทวราชผู้ประเสริฐสุด ผู้นี้จักเกิดเป็นผู้รับใช้มีตำแหน่งที่ ๒ ที่ ๓ ของเทวราชนั้น.
               ย่อมทรงทราบว่า แม้บรรดาผู้ที่จะเกิดในมนุษย์ทั้งหลาย ผู้นี้จักเกิดในขัตติยตระกูล ผู้นี้จักเกิดในตระกูลพราหมณ์ ... ในตระกูลพ่อค้า (แพศย์) ... ในตระกูลศูทร.
               ย่อมทรงทราบว่า ก็บรรดามนุษย์ทั้งหลาย ผู้นี้จักเกิดเป็นพระราชา ผู้นี้จักเกิดเป็นผู้รับใช้พระราชาซึ่งมีตำแหน่งที่ ๒ หรือ ๓ ดังนี้.
               ย่อมทรงทราบว่า บรรดากรรมเหล่านั้น กรรมนี้จักไม่อาจเพื่อคร่ามาซึ่งปฏิสนธิ (ให้กำเนิด) กรรมนี้มีกำลังทราม จักให้ผลผูกพัน เพราะปฏิสนธิอันกรรมอื่นให้แล้ว ดังนี้.
               อนึ่ง เมื่อบุคคลเหล่านั้นเริ่มตั้งวิปัสสนาอยู่นั่นแหละ และมีวิปัสสนาอันปรารภแล้วโดยกิริยาอาการอันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า ผู้นี้จักบรรลุพระอรหัต ผู้นี้จักไม่อาจเพื่อบรรลุพระอรหัต ผู้นี้จักเป็นพระอนาคามีเท่านั้น ผู้นี้จักเป็นพระสกทาคามีเท่านั้น ผู้นี้จักเป็นพระโสดาบันเท่านั้น แต่บุคคลนี้จักไม่อาจเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผล ผู้นี้จักตั้งอยู่ในวิปัสสนาอันมีเพียงลักษณะเป็นอารมณ์ ผู้นี้จักตั้งอยู่ในปัจจยปริคคหญาณ (ญาณที่กำหนดรู้ซึ่งปัจจัยเท่านั้น) ผู้นี้จักตั้งอยู่ในนามรูปปริคคหญาณ (ญาณที่กำหนดรู้นามและรูป) เท่านั้น ผู้นี้จักตั้งอยู่ในอรูปปริคคหญาณเท่านั้น ผู้นี้จักตั้งอยู่ในรูปปริคคหญาณเท่านั้น ผู้นี้จักกำหนดได้เพียงมหาภูตะเท่านั้น ผู้นี้ไม่อาจเพื่อกำหนดอะไรๆ ได้เลย ดังนี้.
               แม้เมื่อพระโยคาวจรทั้งหลายกระทำกสิณบริกรรมอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า กสิณบริกรรมของผู้นี้ จักเป็นไปเพียงบริกรรมเท่านั้น จักไม่อาจเพื่อให้นิมิตเกิดขึ้น ผู้นี้จักอาจเพื่อให้นิมิตเกิดขึ้น แต่จักไม่อาจเพื่อให้อัปปนาเกิดขึ้น ผู้นี้จักบรรลุอัปปนาแล้วกระทำฌานให้เป็นบาท เริ่มตั้งวิปัสนา แล้วจักถือเอาพระอรหัต ดังนี้ แล.
               นิทเทสแห่งกำลังที่ ๓ จบ.               

               อธิบายกำลังข้อที่ ๔               
               คำว่า ขนฺธนานตฺตํ (แปลว่า ความเป็นต่างๆ แห่งขันธ์) อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบเหตุต่างๆ แห่งขันธ์ ๕ อย่างนี้ว่า นี้ชื่อว่ารูปขันธ์ ฯลฯ นี้ชื่อว่าวิญญาณขันธ์ ดังนี้.
               ในบรรดาขันธ์แม้เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบความที่ขันธ์หนึ่งๆ แตกต่างกันอย่างนี้ คือรูปขันธ์มีอย่างเดียว ฯลฯ รูปขันธ์มี ๑๑ อย่าง, เวทนาขันธ์มีอย่างเดียว ฯลฯ เวทนาขันธ์มีมากอย่าง, สัญญาขันธ์มีอย่างเดียว ฯลฯ สัญญาขันธ์มีมากอย่าง, สังขารขันธ์มีอย่างเดียว ฯลฯ สังขารขันธ์มีมากอย่าง วิญญาณขันธ์มีอย่างเดียว ฯลฯ วิญญาณขันธ์มีมากอย่าง ดังนี้.
               คำว่า อายตนนานตฺตํ (แปลว่า ความเป็นต่างๆ แห่งอายตนะ) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบความแตกต่างกันแห่งอายตนะ อย่างนี้ว่า นี้ชื่อว่าจักขวายตนะ ฯลฯ นี้ชื่อว่าธัมมายตนะ ในอายตนะเหล่านั้น กามาวจรมี ๑๐ อายตนะ อายตนะอันเป็นไปในภูมิ ๔ มี ๒ อายตนะ ดังนี้.
               คำว่า ธาตุนานตฺตํ (แปลว่า ความเป็นต่างกันแห่งธาตุ) อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบความต่างกันแห่งธาตุ อย่างนี้ว่า นี้ชื่อว่าจักขุธาตุ ฯลฯ นี้ชื่อว่ามโนวิญญาณธาตุ. ในธาตุเหล่านั้นกามาวจรธาตุมี ๑๖. ธาตุอันเป็นไปในภูมิ ๔ มี ๒ ธาตุ ดังนี้.
               คำว่า อเนกธาตุํ นานาธาตุํ โลกํ (แปลว่า โลกธาตุเป็นอเนกธาตุเป็นนานาธาตุ) อีกนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาเพื่อแสดงว่า พระตถาคตย่อมทรงทราบความเป็นต่างกันแห่งโลก คืออุปาทินนกสังขารนี้เพียงอย่างเดียว เท่านั้นก็หาไม่ ย่อมทรงทราบแม้ความต่างกันแห่งโลก คืออนุปาทินนกสังขารด้วยนั่นแหละ ดังนี้.
               ก็พระปัจเจกพุทธะทั้งหลายและพระอัครสาวกทั้งสองย่อมทรงทราบความเป็นต่างกันแม้แห่งโลก คืออุปาทินนกสังขารโดยเอกเทศ (โดยส่วนหนึ่ง) เท่านั้น ย่อมไม่ทราบโดยพิศดาร (คือโดยไม่เหลือ) และไม่ทราบความต่างกันแห่งอนุปาทินนกสังขาร. ส่วนพระสัพพัญญูพุทธะย่อมทรงทราบความเป็นต่างกันแห่งโลก คืออนุปาทินนกสังขาร อย่างนี้ว่า ลำต้นแห่งต้นไม้นี้ย่อมมีสีขาว เพราะมีธาตุชื่อนี้มาก ลำต้นแห่งต้นไม้นี้มีสีดำ... ลำต้นแห่งต้นไม้นี้มีเปลือกเกลี้ยง... ลำต้นของต้นไม้นี้มีเปลือกหนา... ลำต้นของต้นไม้นี้มีเปลือกบาง เพราะมีธาตุชื่อนี้มาก ใบของต้นไม้นี้ มีรูปอย่างนี้ ด้วยสามารถแห่งสีและสัณฐานเป็นต้น เพราะมีธาตุชื่อนี้มาก ผลของต้นไม้นี้มีสีเขียว เพราะมีธาตุชื่อนี้มาก มีสีเหลือง... มีสีแดง... มีสีขาว... มีกลิ่นหอม... มีกลิ่นเหม็น... มีผลเล็ก... มีผลใหญ่... มีผลยาว... มีผลสั้น... มีผลกลม... มีสัณฐานดี... มีสัณฐานทราม... มีผลเกลี้ยง... มีผลหยาบ... มีกลิ่นหอม... มีกลิ่นเหม็น... มีรสหวาน... มีรสขม... มีรสเปรี้ยว... มีรสเผ็ด... มีรสฝาด เพราะมีธาตุชื่อนี้มาก และหนามของต้นไม้นี้แหลม มีหนามไม่แหลม มีหนามตรง มีหนามคด มีสีแดง มีสีดำ มีสีเขียว มีสีขาว เพราะมีธาตุชื่อนี้มาก ดังนี้ เพราะว่า ญาณข้อนี้เป็นกำลังแห่งพระสัพพัญญูพุทธะเท่านั้น ไม่เป็นกำลังของชนทั้งหลายเหล่าอื่นดังนี้แล.
               อธิบายกำลังข้อที่ ๔ จบ.               

               อธิบายกำลังข้อที่ ๕               
               คำว่า หีนาธิมุตฺติกา ได้แก่ อัธยาศัยอันเลวทราม.
               คำว่า ปณีตาธิมุตฺติกา ได้แก่ มีอัธยาศัยอันดี.
               คำว่า เสวนฺติ ได้แก่ (ย่อมคบหาสมาคม) ย่อมอาศัย ย่อมติตใจ.
               คำว่า ภชนฺติ ได้แก่ การเข้าไปใกล้.
               คำว่า ปยิรุปาสนฺติ ได้แก่ การเข้าไปหาบ่อยๆ.
               จริงอยู่ ถ้าว่าพระอาจารย์และอุปัชฌาย์ไม่มีศีล สัทธิวิหาริก (ผู้อยู่ร่วม) มีศีล สัทธิวิหาริกเหล่านั้นย่อมไม่เข้าไปใกล้แม้ในอาจารย์และอุปัชฌาย์ของตน ย่อมเข้าไปใกล้ในภิกษุผู้สมควรเช่นกับตนเท่านั้น. ถ้าว่าอาจารย์และอุปัชฌาย์คนใดเป็นผู้มีศีล สัทธิวิหาริกไม่มีศีล ก็ย่อมไม่เข้าไปใกล้อาจารย์และอุปัชฌาย์ ย่อมเข้าไปใกล้ภิกษุผู้มีอัธยาศัยเลวเช่นกับตนเท่านั้น. ก็การเข้าไปคบหาสมาคมด้วยอาการอย่างนี้ ไม่มีในกาลบัดนี้เท่านั้น เพื่อแสดงว่า มีแล้วแม้แต่ในอดีตกาลและจักมีในอนาคตกาลดังนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อตีตมฺปิ อทฺธานํ เป็นต้น คำนั้นมีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.
               ถามว่า บุคคลผู้ทุศีลคบหาสมาคมกับผู้ทุศีลด้วยกัน บุคคลผู้มีศีลคบหาสมาคมกับผู้มีศีลด้วยกัน ผู้มีปัญญาทรามคบหาสมาคมกับผู้มีปัญญาทรามด้วยกัน บุคคลผู้มีปัญญาดีคบหาสมาคมกับผู้มีปัญญาดีด้วยกันเท่านั้น. อะไรย่อมกำหนด?
               ตอบว่า อัชฌาสยธาตุ (ความพอใจอันเป็นมูลเดิม) ย่อมกำหนด.
               ได้ยินว่า ภิกษุทั้งหลายมีจำนวนมากย่อมเที่ยวไปสู่บ้านหนึ่ง เป็นการไปเพื่อภิกษาเป็นคณะ. พวกมนุษย์นำอาหารจำนวนมากใส่บาตรให้เต็มถวายแล้ว ก็ส่งไปด้วยคำว่า ขอท่านทั้งหลายจงฉันอาหารตามส่วนของท่านทั้งหลาย ดังนี้. แม้ภิกษุทั้งหลายก็กล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ พวกมนุษย์ย่อมประกอบการงานอันประกอบพร้อมด้วยธาตุ (ความพอใจ) ดังนี้.
               แม้พระเถระชื่อว่าจูฬาภัยผู้ทรงพระไตรปิฎก เมื่อไปพร้อมกับภิกษุห้าร้อย เพื่อไหว้พระเจดีย์ในนาคทีปะ ผู้อันมนุษย์ทั้งหลายในบ้านหนึ่งนิมนต์แล้ว ก็ในภิกษุเหล่านั้น รูปหนึ่งเป็นผู้ไม่เหมาะสมไปกับพระเถระมีอยู่ และในวิหารใกล้เคียงก็มีภิกษุผู้ไม่เหมาะสมรูปหนึ่ง ครั้นเมื่อภิกษุทั้งสองเข้ามาสู่บ้าน ชนเหล่านั้นแม้ทั้งสอง คือภิกษุผู้อาศัยอยู่ก่อนกับอาคันตุกภิกษุ ซึ่งไม่เคยเห็นอาคันตุกภิกษุมาก่อน ทั้งอาคันตุกภิกษุก็ไม่เคยเห็นภิกษุผู้มาก่อน ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้นแม้มีอยู่ ภิกษุทั้งสองนั้นก็เข้ากันได้ ต่างคนก็หัวเราะแล้ว หัวเราะแล้ว ได้ยืนคุยกันอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. พระเถระเห็นแล้วจึงกล่าวว่า ธาตุสังยุต (หมายถึงการประกอบพร้อมด้วยความพอใจอันเป็นมูลเดิม) อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงทราบ ตรัสไว้แล้ว ดังนี้.
               ครั้นกล่าวว่า ธาตุ คืออัธยาศัย (ความพอใจ) ย่อมกำหนดอย่างนี้แล้ว พึงแสดงเนื้อความนี้นั่นแหละด้วยธาตุสังยุตต่อไปว่า
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรทมบนที่นอนสำหรับผู้ป่วย ณ ที่ใกล้ภูเขาคิชฌกูฏ ทอดพระเนตรเห็นภิกษุผู้เป็นหัวหน้าแต่ละรูปที่เดินจงกรมกับด้วยบริษัทของตนๆ ในภิกษุทั้งหลายมีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นต้นผู้แวดล้อมอยู่เพื่อประโยชน์แก่การรักษาพระองค์ จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูสารีบุตรของเราผู้กำลังเดินจงกรมกับพวกภิกษุจำนวนมาก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
               บัณฑิตพึงยังคำทั้งปวงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งปวงเหล่านี้แลมีปัญญามาก เป็นต้นให้พิสดาร.
               อธิบายกำลังข้อที่ ๕ จบ.               

               อธิบายกำลังข้อที่ ๖               
               สัตว์ทั้งหลายย่อมปรารถนา ย่อมอาศัยในสภาวะใด สภาวะนั้นเป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย คือเป็นทิฏฐิคตะ (ความเห็นผิด) ก็ตาม เป็นยถาภูตญาณ (ญาณรู้ความตามเป็นจริง) ก็ตาม ชื่อว่าอาสยะ. กิเลสอันนอนเนื่องในขันธสันดานที่ยังละไม่ได้ ชื่อว่าอนุสัย. กุศลและอกุศลอันมีสังขารทั้งหลายมีกายเป็นต้นปรุงแต่งแล้ว ชื่อว่าจริต. อัธยาศัยชื่อว่าอธิมุตติ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อปฺปรชกฺเข เป็นต้น (แปลว่า มีธุลีคือกิเลสน้อย) ชื่อว่ามีธุลีคือกิเลสน้อย เพราะว่า ธุลีคือราคะโทสะโมหะในนัยน์ตา คือปัญญาของสัตว์เหล่านั้นมีน้อยคือมีนิดหน่อย. ชื่อว่าธุลีคือกิเลสมีมาก เพราะความที่บุคคลนั้นนั่นแหละมีกิเลสหนาแน่น. พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงซึ่งความที่สัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสน้อยและมีกิเลสมาก ด้วยบทแม้ทั้งสองนี้.
               อินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นของบุคคลใดแก่กล้า บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่ามีอินทรีย์แก่กล้า. อินทรีย์เหล่านั้นของบุคคลใดอ่อน บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่ามีอินทรีย์อ่อน. โกฏฐาส (หมวดธรรมเหล่านั้น) มีอาสยะเป็นต้นของบุคคลใดดี บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่ามีอาการดี. โกฏฐาสเหล่านั้นของบุคคลใดวิปริต (ผิดไปจากความดี) บุคคลนั้น ชื่อว่ามีอาการชั่ว. บุคคลเหล่าใดย่อมกำหนดเหตุ (การณะ) อันเขากล่าวแนะนำแล้ว สามารถเพื่อรู้ได้โดยง่าย บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่าแนะนำให้รู้ได้โดยง่าย. วิปริต (ผิดไปจากนี้) ชื่อว่าแนะนำให้รู้ได้โดยยาก. บุคคลใด เป็นผู้สมควรคือเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมอันเป็นอุปนิสสัย เพื่อแทงตลอดมรรคผล บุคคลนั้น ชื่อว่าผู้สมควรแก่การตรัสรู้. วิปริตไปจากนี้ ชื่อว่าผู้อภัพพะ คือผู้ไม่ควรเพื่อตรัสรู้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงตั้งมาติกา (แม่บท) แห่งญาณเป็นกำลังที่ ๖ ด้วยอาการอย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะจำแนกเนื้อความตามลำดับ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า กตโม จ สตฺตานํ อาสโย (แปลว่า ก็อาสยะของสัตว์ทั้งหลาย) เป็นไฉน.
               ก็เนื้อความแห่งคำว่า สสฺสโต โลโก (แปลว่า โลกเที่ยง) เป็นต้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในนิกเขปกัณฑ์วรรณนาในหนหลังนั่นแหละ. อีกอย่างหนึ่ง คำว่า อิติภวทิฏฺฐิสนฺนิสฺสิตา วา (แปลว่า อาศัยภวทิฏฐิ) ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยสัสสตทิฏฐิ ด้วยอาการอย่างนี้.
               จริงอยู่ สัสสตทิฏฐิ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภวทิฏฐิ ในที่นี้. อุจเฉททิฏฐิ ตรัสเรียกว่า วิภวทิฏฐิ. ด้วยว่า สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเห็นผิดทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมอาศัยทิฏฐิทั้งสองเหล่านี้เท่านั้น เพราะว่าทิฏฐิทั้งหมด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ.
               แม้คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนกัจจายนะ ก็แลสัตวโลกอาศัยทิฏฐิทั้งสองนี้โดยมาก คือเห็นว่า (สิ่งทั้งปวง) มีอยู่ (อตฺถิตํ) และ (สิ่งทั้งปวง) ไม่มีอยู่ (นตฺถิตํ) ดังนี้. ก็ในทิฏฐิทั้งสองนั้น ความเห็นว่าเที่ยง ชื่อว่าอัตถิตา (ความมีอยู่) ความเห็นว่าขาดสูญ ชื่อว่านัตถิตา (ความไม่มี). นี้เป็นอาสยะของสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นปุถุชน ซึ่งอาศัยวัฏฏะก่อน.

               ว่าด้วยอาสยะของสัตว์ผู้ไม่อาศัยวัฏฏะ               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อแสดงอาสยะของสัตว์ผู้บริสุทธิ์ผู้ไม่อาศัยวัฏฏะ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นต้นว่า เอเต วา ปน อุโภ อนฺเต อนุปคมฺม (แปลว่า ก็หรือว่า สัตว์ทั้งหลายไม่เข้าไปอาศัยส่วนสุดทั้ง ๒ นี้)
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เอเต วา ปน ได้แก่ ก็หรือว่า สัตว์เหล่านั้นนั่นแหละ.
               คำว่า อุโภ อนฺเต ได้แก่ ส่วนสุด ๒ อย่าง กล่าวคือสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ.
               คำว่า อนุปคมฺม ได้แก่ ไม่ยึดถือแล้ว.
               คำว่า อิทปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ (แปลว่า ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยของกันและกันและอาศัยกันและกันเกิดขึ้น) ได้แก่ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยของกันและกัน และธรรมทั้งหลายอันอาศัยกันและกันเกิดขึ้น.
               คำว่า อนุโลมิกา ขนฺติ ได้แก่ วิปัสสนาญาณ.
               คำว่า ยถาภูตํ วา ญาณํ ได้แก่ มรรคญาณ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายไว้ว่า วิปัสสนาอันพระโยคาวจรไม่อาศัยซึ่งส่วนสุด ๒ คือ สัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิเหล่านี้ ในปฏิจจสมุปบาท (คือในการเกิดขึ้นแห่งอวิชชาเป็นต้น) และในธรรมอันอาศัยกันและกันเกิดขึ้น อันใด และมรรคญาณอันยิ่งกว่าวิปัสสนาญาณนั้น อันใด นี้เรียกว่า อาสยะของสัตว์ทั้งหลาย และข้อนี้แหละเป็นอาสยะของสัตว์ทั้งหลายแม้ทั้งหมดผู้อาศัยวัฏฏะและไม่อาศัยวัฏฏะ จึงชื่อว่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย.

               ถ้อยคำของอาจารย์ทั้งหลาย               
               ก็อาจารย์วิตัณฑวาที (ผู้มีปกติกล่าวเคาะ) กล่าวว่า ธรรมดาว่า มรรคทำลายที่อยู่ ย่อมไป มิใช่หรือ เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวว่า มรรค คือที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้. พึงโต้อาจารย์นั้นว่า ท่านมีสูตรอันว่าด้วยที่เป็นที่อยู่อันเป็นของพระอริยะหรือไม่ ก็ถ้าว่า อาจารย์วิตัณทวาทีกล่าวว่า มีอยู่ ก็พึงกล่าวกะอาจารย์วิตัณฑวาทีนั้นว่า ท่านไม่รู้ เพราะสูตรนั้นท่านไม่ท่องไว้ ถ้าอาจารย์วิตัณฑวาทีกล่าวว่า กระผมสวดอยู่ดังนี้ พึงกล่าวว่า ขอท่านจงนำสูตรมา ดังนี้ ถ้าว่าอาจารย์วิตัณฑวาทีนำมา นั่นเป็นการดี ถ้าไม่นำมา ก็พึงนำมาเองว่า ทสยิเม ภิกฺขเว อริยวาสา ยทิริยา อาวสึสุ วา อาวสนฺติ วา อาวสิสฺสนฺติ วา เป็นต้น (แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่อยู่อันประเสริฐ ๑๐ เหล่านี้ คือพระอริยะทั้งหลายอาศัยแล้วหรือย่อมอาศัย หรือว่า จักอาศัย... ใด ดังนี้. จริงอยู่ สูตรนี้ย่อมส่องซึ่งความที่มรรคเป็นที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้น คำนั้นจึงเป็นคำอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนั่นแหละ.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า ธรรมนี้เป็นอาสยะของสัตว์ทั้งหลาย และย่อมทรงทราบแม้ในขณะแห่งบุคคลผู้มีความเห็นผิดเหล่านี้ว่า ไม่สามารถเพื่อยังวิปัสสนาญาณและมรรคญาณให้เป็นไปด้วย. แม้คำนี้ก็ทรงอธิบายไว้ว่า เมื่อบุคคลเสพอยู่ซึ่งกามนั่นแหละ ก็ย่อมทราบว่า บุคคลนี้ชื่อว่ามีกามเป็นใหญ่ มีกามเป็นอัธยาศัย มีการน้อมไปในกาม ดังนี้ เมื่อเสพอยู่ซึ่งเนกขัมมะนั่นแหละ ก็ทราบว่า บุคคลนี้มีเนกขัมมะเป็นใหญ่ มีเนกขัมมะเป็นอัธยาศัย มีการน้อมไปในเนกขัมมะ ดังนี้ เมื่อเสพพยาบาท ฯลฯ ความไม่พยาบาท ฯลฯ ถีนมิทธะ ฯลฯ เมื่อเสพอยู่ซึ่งอาโลกสัญญานั่นแหละ ย่อมทราบว่า บุคคลนี้มีอาโลกสัญญาเป็นใหญ่ มีอาโลกสัญญาเป็นอัธยาศัยมีการน้อมไปในอาโลกสัญญา ดังนี้.

               ว่าด้วยนิทเทสแห่งอนุสัย               
               พึงทราบในนิทเทสแห่งอนุสัย ดังนี้.
               ก็ชื่อว่ากามราคานุสัย เพราะกามราคะนั้นด้วย เป็นธรรมนอนเนื่องเพราะอรรถว่ายังละไม่ได้ด้วย. แม้ในบทที่เหลือทั้งหลายก็นัยนี้.
               คำว่า ยํ โลเก ปิยรูปํ ได้แก่ รูปใดอันให้ความรักเกิดขึ้นในโลกนี้.
               คำว่า สาตรูปํ ได้แก่ รูปที่ยังความพอใจให้เกิดขึ้นเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา มีความพอใจเป็นปทัฏฐาน. ราคานุสัยของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องในปิยรูปและสาตรูปนี้ เพราะเหตุนั้น ราคานุสัยจึงชื่อว่าย่อมนอนเนื่องในสัตว์ทั้งหลายในอารมณ์ที่น่าปรารถนานี้เพราะอรรถว่ายังละไม่ได้. เปรียบเหมือน เมื่อสัตว์จมลงในน้ำแล้ว น้ำเท่านั้นย่อมมีข้างล่าง ข้างบนและโดยรอบ ชื่อฉันใด ชื่อว่าความเกิดขึ้นแห่งราคะในอารมณ์ที่น่าปรารถนาก็ฉันนั้นนั่นแหละ ย่อมมีแก่สัตว์ทั้งหลาย เพราะเป็นผู้เคยสั่งสมมาแล้วเป็นนิตย์. ความเกิดขึ้นแห่งปฏิฆะในเพราะอารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ก็เหมือนกัน.
               คำว่า อิติ อิเมสุ ทฺวีสุ ธมฺเมสุ (แปลว่า ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ด้วยอาการอย่างนี้) ได้แก่ บุคคลมีกามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยเหล่านั้น มีอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ด้วยอาการอย่างนี้.
               คำว่า อวิชชา อนุปติตา (แปลว่า อวิชชาตกไปแล้ว) ได้แก่ อวิชชาเป็นธรรมสัมปยุตด้วยกามราคะและปฏิฆะ จึงชื่อว่าเป็นธรรมตกไปแล้ว ด้วยสามารถแห่งการกระทำซึ่งอารมณ์.
               คำว่า ตเทกฏฺโฐ (แปลว่า ตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน) ได้แก่ ชื่อว่าตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกันกับอวิชชานั้น ด้วยสามารถแห่งการตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน โดยความเป็นธรรมที่ประกอบด้วยอวิชชา.
               คำว่า มาโน จทิฏฺฐิ จ วิจิกิจฺฉา จ ได้แก่ มานะ ๙ อย่าง ทิฏฐิ ๖๒ อย่างและวิจิกิจฉามีวัตถุ ๘. ก็ในคำว่า ภวราคานุสัย นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยกามราคานุสัยนั่นแหละ.

               ว่าด้วยนิทเทสแห่งจริตเป็นต้น               
               ในนิทเทสแห่งจริต ได้แก่เจตนาอันเป็นปุญญาภิสังขาร ๑๓ อปุญญาภิสังขาร ๑๒ อเนญชาภิสังขาร ๔. ในเจตนาเหล่านั้น กามาวจรเป็นปริตตภูมิ (มีอารมณ์น้อย) นอกนี้เป็นมหาภูมิ (มีอารมณ์ใหญ่).
               อีกอย่างหนึ่ง ในสังขารแม้ทั้ง ๓ เหล่านั้น สังขารไรๆ มีวิบากเล็กน้อย พึงทราบว่าเป็นปริตตภูมิ มีวิบากมากพึงทราบว่าเป็นมหาภูมิ ดังนี้.
               ในนิทเทสแห่งอธิมุตติ (อัธยาศัย) ข้าพเจ้าได้ประกาศไว้แล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               ถามว่า ก็อธิมุตติ (อัธยาศัย) นี้ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในหนหลังแล้ว เพราะเหตุไร จึงทรงถือเอาอีกเล่า.
               ตอบว่า เพราะอธิมุตติ (อัธยาศัย) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาโดยแยกออกจากหนหลัง ด้วยสามารถแห่งการแสดงญาณอันเป็นกำลัง. อัธยาศัยในที่นี้ ทรงถือเอาเพื่อแสดงความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้าและอินทรีย์อ่อน.
               ในนิทเทสแห่งสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลี คือกิเลสมากนั้น คำว่า อุสฺสทคตานิ (แปลว่า เพิ่มพูนให้มากแล้ว) ได้แก่ ถึงความไพบูลย์. เมื่อว่าด้วยสามารถแห่งลำดับการประหาณแล้ว ในนิทเทสนี้ มิได้ทรงอธิบายไปตามลำดับ. คำว่า อนุสฺสทคตานิ ได้แก่ ไม่ไพบูลย์.
               ชื่อว่าอินทรีย์ คือธรรมอันเป็นอุปนิสสัย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในนิทเทสแห่งสัตว์ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าและมีอินทรีย์อ่อน. ก็การประกอบคำในคำว่า ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าและอินทรีย์อ่อน ในที่นี้บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว ในนิทเทสแห่งข้อความอันมิได้เป็นไปตามลำดับนั่นแหละ.
               ในนิทเทสแห่งอาการชั่วเป็นต้น ก็เหมือนกัน.
               คำว่า ปาปาสยา (แปลว่า อาสยะชั่ว) ได้แก่ อาสยะ คืออกุศล.
               คำว่า ปาปจริตา (แปลว่า มีจริตชั่ว) ได้แก่ บริบูรณ์ด้วยอปุญญาภิสังขาร.
               คำว่า ปาปาธิมุตฺติกา (แปลว่า มีอัธยาศัยชั่ว) ได้แก่ มีอัธยาศัยในวัฏฏะ ยินดียิ่งในสักกายะ (คืออุปาทานขันธ์ ๕).
               ในนิทเทสแห่งอาการดี อนุสัย ชื่อว่าเป็นความดี ย่อมไม่มี เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสว่า อนุสัยดี ดังนี้ คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม.

               ว่าด้วยนิทเทสแห่งภัพพบุคคลและอภัพพบุคคล               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งสัตว์ผู้ควรแก่การตรัสรู้ และไม่ควรแก่การตรัสรู้ ต่อไป.
               คำว่า กมฺมาวรเณน (แปลว่า ด้วยเครื่องกั้นคือกรรม) ได้แก่ ด้วยอนันตริยกรรม ๕ อย่าง.
               คำว่า กิเลสา วรเณน (แปลว่า ด้วยเครื่องกั้นคือกิเลส) ได้แก่ ด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐิ.
               คำว่า วิปากาวรเณน (แปลว่า ด้วยเครื่องกั้นคือวิบาก) ได้แก่ ปฏิสนธิด้วยอเหตุกจิต. ก็เพราะความแทงตลอดอริยมรรค ย่อมไม่มีแก่บุคคลแม้ผู้เป็นทุเหตุกบุคคล๑- ฉะนั้น พึงทราบว่า แม้ทุเหตุกปฏิสนธิ๒- ก็ชื่อว่าเป็นเครื่องกั้นคือวิบากเหมือนกัน.
____________________________
๑- บุคคลผู้เกิดด้วยเหตุสอง คืออโลภเหตุและอโทสเหตุ.
๒- ปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒.

               คำว่า อสทฺธา (แปลว่า ไม่มีศรัทธา) ได้แก่ เว้นจากศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               คำว่า อจฺฉนฺทิกา (แปลว่า ไม่มีฉันทะ)ได้แก่ เว้นจากฉันทะในกุศลของบุคคลผู้ใคร่เพื่อกระทำ. มนุษย์ทั้งหลายชาวอุตตรกุรุทวีป เข้าไปสู่ฐานะของผู้ไม่มีฉันทะ.
               คำว่า ทุปฺปญฺญา (แปลว่า มีปัญญาทราม) ได้แก่ เป็นผู้เสื่อมจากภวังคปัญญา. ก็เมื่อภวังคปัญญาแม้บริบูรณ์ ภวังค์ของบุคคลใดย่อมไม่เป็นบาทแก่โลกุตตระ บุคคลนั้นก็ชื่อว่ามีปัญญาทรามนั่นแหละ.
               คำว่า อภพฺพา นิยามํโอกฺกมิตุํ กุสเลสุ ธมฺเมสุ สมฺมตฺตํ (แปลว่า ไม่ควรเพื่อหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้) ได้แก่ ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่มรรค กล่าวคือสัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย.
               คำว่า น กมฺมาวรเณน เป็นต้น (แปลว่า ไม่ประกอบด้วยเครื่องกั้น คือกรรม)
               บัณฑิตพึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว. ข้อนี้ บัณฑิตพึงแยกออกเป็นสองญาณ คืออินทริยปโรปริยัตติญาณและอาสยานุสญาณ.
               จริงอยู่ ในข้อนี้ แม้อินทริยปโรปริยัตติญาณ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแจกไว้ด้วยอาสยานุสญาณ เพราะเหตุนั้น ญาณทั้งสองเหล่านี้จึงจัดเป็นญาณเดียวกัน ชื่อว่าญาณเป็นกำลังอย่างหนึ่งเกิดแล้ว ดังนี้.
               นิทเทสแห่งญาณเป็นกำลังข้อที่ ๖ จบ.               

               อธิบายญาณเป็นกำลังข้อที่ ๗               
               บุคคลใดย่อมเพ่ง (เข้าฌาน) เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่าฌายี (ผู้เข้าฌาน). ชน ๔ จำพวกผู้เข้าฌาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ผู้เจริญฌาน ๔ จำพวก.
               ในชนเหล่านั้น ในบุคคล ๔ จำพวกแรก บุคคลที่หนึ่งก่อน ได้สมาบัติอยู่นั่นแหละ ย่อมสำคัญว่าเราไม่ได้ฌาน คือสำคัญกรรมฐานที่มีอยู่ว่าไม่ใช่กรรมฐาน ดังนี้. บุคคลนี้ พึงทราบว่า เป็นผู้ได้ฌานมีคุณน้อย ดังนี้.
               บุคคลที่ ๒ ไม่ได้สมาบัติเทียว ย่อมสำคัญว่า เราได้สมาบัติ คือไม่ใช่กรรมฐานที่มีอยู่ สำคัญว่าเป็นกรรมฐาน ดังนี้. บุคคลนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าผู้เข้าฌานหลับ (นิทฺทาฌายี) ครั้นหลับแล้วตื่นขึ้นมา ก็สำคัญอย่างนั้น.
               บุคคลที่ ๓ ได้สมาบัติ ย่อมสำคัญว่า เราได้สมาบัติ คือสำคัญกรรมฐานนั่นแหละว่าเป็นกรรมฐานมีอยู่ ดังนี้ บุคคลนี้ พึงทราบว่าได้ฌานอันคล่องแคล่วแล้ว.
               บุคคลที่ ๔ ไม่ได้ฌานเลย สำคัญว่า เราได้กรรมฐาน คือสำคัญสิ่งที่มิใช่กรรมฐานนั่นแหละว่าเป็นกรรมฐาน ดังนี้.
               ในที่นี้ ชนสองจำพวกไม่ได้ฌานอย่างนี้นั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ฌายี (ผู้เข้าฌาน) เพราะความที่ชนเหล่านั้นเข้าไปเพ่งภายในเช่นกับผู้ได้ฌานทั้งหลาย.
               ในบุคคล ๔ จำพวกที่ ๒ บุคคลเมื่อข่มอยู่ซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึกต่อสมาธิ ด้วยความพากเพียรอันเป็นไปกับด้วยสังขาร ชื่อว่าการเข้าฌานช้า. ผู้นั้นตั้งอยู่ในฌานสิ้นวาระแห่งจิตหนึ่งหรือสองแล้วก็ออกโดยเร็ว ชื่อว่าย่อมออกเร็ว. ก็บุคคลชำระธรรมอันเป็นข้าศึกต่อสมาธิได้โดยง่ายเทียว ชื่อว่าเข้าฌานเร็ว. บุคคลไม่ออกจากฌานตามที่กำหนด ให้เวลาผ่านไปนานแล้วจึงออกจากฌาน ชื่อว่าย่อมออกช้า. แม้ชน ๒ จำพวกนอกนี้ ก็พึงทราบโดยนัยนี้แหละ. ชนทั้งหลายแม้ ๔ จำพวกเหล่านี้ เป็นผู้ได้สมาบัติเทียว.
               ตติยจตุกฺเก อิทํ ฌานํ ปญฺจงฺคิกํ อิทํ จตุรงฺคิกนฺติ
เอวํ องฺคววตฺถานปริจฺเฉเท เฉโก สมาธิสฺมึ สมาธิกุสโล นาม
นีวรณานิ ปน วิกฺขมฺเภตฺวา จิตฺตมญฺชุสาย จิตฺตํ ฐเปตุํ อเฉโก
โน สมาธิสฺมึ สมาปตฺติกุสโล นาม ฯ อิตเรปิ ตโย อิมินาว
นเยน เวทิตพฺพา ฯ อิเมปิ จตฺตาโร สมาปตฺติลาภิโนเยว ฯ

               ในบุคคล ๔ จำพวกที่ ๓ บุคคลผู้ฉลาดในการกำหนดแยกองค์ฌานอย่างนี้ว่า ฌานนี้มีองค์ ๕ ฌานนี้มีองค์ ๔ ดังนี้ ชื่อว่าผู้ฉลาดกำหนดสมาธิในสมาธิ. บุคคลผู้ไม่ฉลาดเพื่อจะข่มนิวรณ์ทั้งหลายแล้วให้จิตตั้งอยู่ในธรรมเครื่องรักษาจิต (ไม่)ชื่อว่าผู้ฉลาดกำหนดสมาบัติในสมาธิ. ชนสามจำพวกแม้นอกนี้ พึงทราบโดยนัยนี้แหละ บุคคล ๔ จำพวกแม้เหล่านี้ เป็นผู้ได้สมาบัติทั้งนั้น.
               บัดนี้ ชื่อว่าบุคคลผู้เข้าฌานเหล่านี้ อาศัยฌานเหล่าใด เพื่อแสดงฌานเหล่านั้นอันเกิดขึ้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า จตฺตาริ ฌานานิ (แปลว่า ฌาน ๔) เป็นต้น บรรดาคำเหล่านั้น ฌาน ๔ วิโมกข์ ๓ ว่าโดยอรรถ ข้าพเจ้าอธิบายไว้แล้วในอรรถกถาแห่งธรรมสังคหะในหนหลังนั่นแหละ. อรรถแห่งวิโมกข์แม้แห่งบทที่เหลือก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในที่นั้นเหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ในที่นี้ ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะหลุดพ้นวิเศษจากธรรมอันเป็นข้าศึก ในขณะที่จิตแน่วแน่แล้วๆ ทั้ง ๗ ขณะโดยลำดับ และการน้อมไปในอารมณ์. ก็วิโมกข์ที่ ๘ ชื่อว่าอปคตวิโมกข์ เพราะหลุดพ้นวิเศษแล้ว ด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธ โดยประการทั้งปวง.

               ว่าด้วยสมาธิ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในสมาธิทั้งหลายอันเป็นจตุกกนัยและปัญจกนัยต่อไป.
               ในจตุกกนัย สมาธิในปฐมฌาน ชื่อว่าเป็นไปกับด้วยวิตกและวิจาร. ในปัญจกนัย สมาธิในทุติยฌาน ชื่อว่าเป็นสมาธิสักว่าไม่มีวิตกมีแต่วิจาร. ในจตุกกนัยก็ดี ในปัญจกนัยก็ดี. สมาธิในฌาน ๓ เบื้องบน ชื่อว่า สมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจาร. จริงอยู่ ในสมาบัติทั้งหลาย มีชื่อว่าสมาธิของผู้เข้าสมาบัติ ๘ โดยลำดับ ดังนี้บ้าง มีชื่อว่าสมาบัติ ดังนี้บ้าง.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะความพร้อมของเอกัคคตาแห่งจิต.
               ความพร้อมของเอกัคคตาแห่งจิตเช่นนั้น ชื่อว่าสมาธิของนิโรธสมาบัติ ก็หามิได้.
               คำว่า หานภาคิโย ธมฺโม (แปลว่า เป็นธรรมฝ่ายเสื่อม) อธิบายว่า เมื่อออกจากปฐมฌานเป็นต้นซึ่งมีคุณอันน้อยแล้วก็แล่นไปตามกามเป็นต้นของผู้มนสิการด้วยสัญญา.
               คำว่า วิเสสภาคิโย ธมฺโม (แปลว่า ธรรมฝ่ายดี ธรรมวิเศษ) อธิบายว่า เมื่อออกจากปฐมฌานเป็นต้น. ความผ่องแผ้วของฌานที่คล่องแคล่วแล้ว ชื่อว่าการออกอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยคำว่า แม้ความผ่องแผ้ว ก็ชื่อว่าการออก นี้.
               จริงอยู่ ฌานอันคล่องแคล่วซึ่งเป็นชั้นต่ำๆ ย่อมเป็นปทัฏฐานแก่ฌานในเบื้องบนๆ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า แม้ความผ่องแผ้ว ก็ชื่อว่าการออก ดังนี้. ชื่อว่าการออกจากภวังค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยบทว่า แม้การออกจากสมาธินั้นๆ ก็ชื่อว่าการออก.
               จริงอยู่ การออกจากฌานทั้งหมด ย่อมมีด้วยภวังค์. แต่การออกจากนิโรธ ย่อมมีด้วยผลสมาบัติอย่างเดียว. ข้อนี้ ชื่อว่าการออก อันเป็นปาลีมุตตกะ (คือนอกจากบาลี) ดังนี้ แล.
               อธิบายญาณเป็นกำลังข้อที่ ๗ จบ.               

               อธิบายญาณเป็นกำลังข้อที่ ๘               
               ในนิทเทสญาณเป็นกำลังข้อที่ ๘ คำว่า ปุพฺเพนิวาสํ (ระลึกชาติหนหลัง) เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้เป็นอเนก ข้าพเจ้าให้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแหละ.
               อธิบายญาณเป็นกำลังข้อที่ ๘ จบ.               

               อธิบายญาณเป็นกำลังข้อที่ ๙               
               แม้ในนิทเทสแห่งญาณเป็นกำลังข้อที่ ๙ คำทั้งปวงว่า ทิพฺเพน จกฺขุนา เป็นต้น พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแหละ.
               อธิบายญาณเป็นกำลังข้อที่ ๙ จบ.               

               อธิบายญาณเป็นกำลังข้อที่ ๑๐               
               คำว่า เจโตวิมุตฺตึ ได้แก่ ผลสมาธิ. คำว่า ปญฺญาวิมุตฺตึ ได้แก่ผลญาณ.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวงมีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.
               นี้เป็นกถาที่เสมอกันของอาจารย์ทั้งหลายในที่นี้ก่อน.
               ก็ปรวาทีกล่าวว่า ชื่อว่าทศพลญาณ แยกออกเป็นส่วนหนึ่งไม่มี นี้เป็นประเภทของสัพพัญญุตญาณ ข้อนั้นมิพึงเห็นอย่างนั้น เพราะว่า ทศพลญาณเป็นอย่างหนึ่ง สัพพัญญุตญาณก็เป็นอย่างหนึ่ง. ก็ทศพลญาณย่อมรู้ซึ่งกิจ (หน้าที่) ของตนๆ เท่านั้น ส่วนสัพพัญญุตญาณย่อมรู้แม้ซึ่งกิจอันทศพลญาณรู้แล้วนั้น และย่อมรู้ซึ่งกิจแม้อันเหลือจากทศพลญาณรู้แล้วนั้นด้วย.
               จริงอยู่ ในบรรดาทศพลญาณเหล่านั้น
               ญาณที่หนึ่งย่อมรู้ซึ่งธรรมอันเป็นเหตุและมิใช่เหตุเท่านั้น.
               ญาณที่ ๒ ย่อมรู้ซึ่งความแตกต่างกันแห่งกรรมและวิบากเท่านั้น.
               ญาณที่ ๓ ย่อมรู้การกำหนดความเป็นไปแห่งกรรมเท่านั้น.
               ญาณที่ ๔ ย่อมรู้เหตุแห่งความเป็นต่างๆ กันแห่งธาตุเท่านั้น.
               ญาณที่ ๕ ย่อมรู้ซึ่งอัธยาศัยและความน้อมไปแห่งจิตเท่านั้น.
               ญาณที่ ๖ ย่อมรู้ซึ่งความที่อินทรีย์ทั้งหลายเป็นธรรมแก่กล้าและอ่อนเท่านั้น.
               ญาณที่ ๗ ย่อมรู้ซึ่งความที่แห่งสัตว์ทั้งหลายมีความเศร้าหมองเป็นต้น ด้วยฌานเป็นต้นเท่านั้น.
               ญาณที่ ๘ ย่อมรู้ซึ่งความสืบต่อแห่งขันธ์อันเคยอาศัยมาแล้วในกาลก่อนเท่านั้น.
               ญาณที่ ๙ ย่อมรู้ซึ่งจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายเท่านั้น.
               ญาณที่ ๑๐ ย่อมรู้ซึ่งการกำหนดสัจจะเท่านั้น.
               ส่วนสัพพัญญุตญาณย่อมรู้ทั่วซึ่งธรรมอันทศพลญาณเหล่านั้นพึงรู้ด้วย ซึ่งธรรมอันยิ่งกว่าทศพลญาณนั้นด้วย. ก็แต่ว่า สัพพัญญุตญาณนั้นย่อมไม่ทำกิจทั้งปวงของทศพลญาณเหล่านั้นได้ ด้วยว่า สัพพัญญุตญาณนั้น เป็นฌานแต่ไม่อาจเพื่อแน่วแน่ (แนบแน่น) เป็นอิทธิ แต่ไม่อาจเพื่อแสดงฤทธิ์ เป็นมรรคแต่ไม่อาจเพื่อยังกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไป ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ปรวาทีพึงถามอย่างนี้ว่า ชื่อว่าทศพลญาณนี้เป็นไปกับด้วยวิตกและวิจาร ไม่มีวิตกมีแต่เพียงวิจาร ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เป็นกามาวจร เป็นอรูปาวจร เป็นโลกิยะหรือเป็นโลกุตตระ ดังนี้.
               ตอบว่า ผู้รู้ก็จักกล่าวว่า ญาณทั้ง ๗ ตามลำดับ (คือตั้งแต่ฐานาฐานญาณเป็นต้น) เป็นไปกับด้วยวิตกและวิจาร ดังนี้ ต่อจากนั้น จักกล่าวว่า ญาณทั้ง ๒ ข้างหน้า (คือบุพเพนิวาสานุสสติญาณและจุตูปปาตญาณ) ไม่มีวิตกและวิจาร ดังนี้ ต่อจากนั้น ก็จักกล่าวว่า อาสวักขยญาณพึงเป็นไปกับด้วยวิตกและวิจารก็มี ไม่มีวิตกมีแต่วิจารก็มี เป็นอวิตักกะและอวิจาระก็มี ดังนี้ โดยทำนองเดียวกัน ญาณ ๗ โดยลำดับตั้งแต่ฐานาฐานญาณเป็นต้น เป็นกามาวจร ญาณ ๒ จากนั้นเป็นรูปาวจร ญาณสุดท้ายเป็นโลกุตระ ดังนี้. แต่สัพพัญญุตญาณจักกล่าวว่า เป็นไปกับด้วยวิตกและวิจารเท่านั้น เป็นกามาวจรเท่านั้น๑- เป็นโลกิยะเท่านั้น ดังนี้.
               ด้วยประการฉะนี้ ทศพลญาณจึงเป็นอย่างหนึ่ง สัพพัญญุตญาณก็เป็นอย่างหนึ่ง ดังพรรณนามาฉะนี้แล.
____________________________
๑- มหากิริยาญาณสัมปยุต.

               อรรถกถาญาณวิภังคนิทเทส จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ญาณวิภังค์ ฉักกนิเทศ-ทสกนิเทศ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 801อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 835อ่านอรรถกถา 35 / 849อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=11353&Z=11721
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=10653
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=10653
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :