ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 801อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 835อ่านอรรถกถา 35 / 849อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ญาณวิภังค์ ฉักกนิเทศ-ทสกนิเทศ

               อธิบายญาณวัตถุหมวด ๖               
               คำว่า อิทฺธิวิเธ ญาณํ (แปลว่า อิทธิวิธญาณ) บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่าญาณในการแสดงฤทธิ์อันเป็นไปโดยนัยว่า บุคคลแม้คนเดียวทำให้เป็นบุคคลมากได้ ดังนี้เป็นต้น. รูปาวจรทั้งหลายอันสหรคตด้วยอุเบกขา อันไม่มีวิตกและวิจารเป็นปัญญาในอัปปนาซึ่งมีขณะแห่งจิตดวงหนึ่งอันสำเร็จซึ่งความเป็นบุคคลมากนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยคำว่า อิทฺธิวิเธ ญาณํ นี้.
               คำว่า โสตธาตุวิสุทฺธิยา ญาณํ (แปลว่า โสตธาตุวิสุทธิญาณ) ได้แก่ ญาณในทิพโสตธาตุ อันมีเสียงไกลและใกล้เป็นอารมณ์. อธิบายว่า รูปาวจรอันสหรคตด้วยอุเบกขา ไม่มีวิตกและวิจาร จัดเป็นปัญญาเทียว ซึ่งมีขณะแห่งจิตดวงหนึ่งอันมีเสียงล่วงวิสัยแห่งโสตธาตุธรรมดาเป็นอารมณ์แม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยคำว่า โสตธาตุวิสุทฺธิยา ญาณํ ดังนี้.
               คำว่า ปรจิตตฺเต ญาณํ (แปลว่า ปรจิตตญาณ) ได้แก่ ญาณในการกำหนดจิตของสัตว์อื่น. อธิบายว่า ปัญญาในอัปปนาเทียวอันเป็นขณะแห่งจิตดวงหนึ่ง มีจิตมีราคะเป็นต้นของสัตว์อื่นเป็นอารมณ์ มีประการตามที่กล่าวแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยคำว่า ปรจิตฺเต ญาณํ แม้นี้.
               คำว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติญาณํ ได้แก่ ญาณอันสัมปยุตด้วยการตามระลึกถึงขันธ์อันเคยอาศัยในกาลก่อน. อธิบายว่า ปัญญาในอัปปนาเทียวซึ่งเป็นขณะแห่งจิตดวงหนึ่ง สัมปยุตด้วยสติเป็นเครื่องตามระลึกถึงขันธ์อันเคยอาศัยแล้วในกาลก่อน มีประการตามที่กล่าวแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยคำว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติญาณํ แม้นี้.
               คำว่า สตฺตานํ จุตูปปาเต ญาณํ ได้แก่ ญาณในการจุติและในการอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย. อธิบายว่า ปัญญาในอัปปนาเทียวอันเป็นขณะแห่งจิตดวงหนึ่งซึ่งมีวรรณธาตุของสัตว์ทั้งหลายผู้ตายและเกิดเป็นอารมณ์มีประการตามที่กล่าวแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยคำว่า สตฺตานํ จุตูปปาเต ญาณํ แม้นี้.
               คำว่า อาสวานํ ขเย ญาณํ (แปลว่า อาสวักขยญาณ) ได้แก่ ญาณเป็นเครื่องกำหนดรู้สัจจะ ก็ญาณนี้เท่านั้นเป็นโลกุตระ ญาณที่เหลือ ๕ เป็นโลกีย์ ดังนี้แล.
               ญาณวัตถุหมวด ๖ จบ.               

               อรรถกถาสัตตกนิทเทส               
               อธิบายญาณวัตถุหมวด ๗               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสซึ่งปัจจเวกขณญาณอันต่างโดยกาล ๓ ในองค์แห่งปฏิจจสมุปบาท ๑๑ ไว้แต่ละองค์ ด้วยสามารถแห่งความเป็นไปและไม่เป็นไป โดยนัยว่า ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เป็นต้น แล้วก็ตรัสญาณอันใดนั้นโดยสังเขปอย่างนี้ว่า ความรู้ว่า ธัมมฐิติญาณของบุคคลนั้น ดังนี้อีก โดยประการทั้งหลาย มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาเป็นต้น.
               บรรดาญาณเหล่านั้น ญาณ ๒ หมวด คือ ชรามรณะเกิดเพราะชาติปัจจัย เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะก็ไม่มี ดังนี้ ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งปัจจุบันกาลอันยาวนาน.๑- ญาณ ๖ เหล่านี้คือ ญาณ ๒ หมวดในอดีตและญาณ ๒ หมวดในอนาคต อย่างนี้ว่า อดีตกาลอันยาวนานก็ดี อนาคตอันยาวนานก็ดี (รวมปัจจุบันอีก ๒) เป็น ๗ กับด้วยธัมมฐิติญาณ.
____________________________
๑- ปัจจุบัน ๔ คือ ปัจจุบันขณะ ปัจจุบันสันตติ ปัจจุบันสมัย และปัจจุบันอัทธา อดีตและอนาคต ก็มีอย่างละ ๔ เช่นเดียวกัน (จากสัมโมหวิโนทนี อรรถกถาหน้า ๙.)

               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ธมฺมฐิติญาณํ (แปลว่าปัญญาในการกำหนดปัจจัย) ได้แก่ ญาณในปัจจยาการ.
               จริงอยู่ ปัจจยาการ (คือธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น) พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมเรียกว่า ธรรมฐิติ ดังนี้ เพราะความที่ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเป็นเหตุ (การณะ) แห่งการเป็นไปและตั้งอยู่.
               ธัมมฐิติญาณนี้ เป็นชื่อของญาณ ๖ อย่างนั้น นั่นแหละ. เพราะทำญาณเหล่านี้ในองค์หนึ่งๆ ให้เป็นหมวดละ ๗ ละ ๗ ในองค์ ๑๑ (ปัจจยาการ ๑๑) จึงรวมเป็น ๗๗ ญาณ ด้วยประการฉะนี้.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ขยธมฺมํ (แปลว่า มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา) ได้แก่ สภาวะอันถึงซึ่งความสิ้นไป.
               คำว่า วยธมฺมํ (แปลว่า มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา) ได้แก่ สภาวะอันถึงซึ่งความเสื่อมไป.
               คำว่า วิราคธมฺมํ (แปลว่า มีความคลายไปเป็นธรรมดา) ได้แก่ สภาวะอันไม่น่ายินดี.
               คำว่า นิโรธธมฺมํ (แปลว่า มีความดับไปเป็นธรรมดา) ได้แก่ สภาวะอันหมดไป.
               ถามว่า มีประโยชน์อะไร ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยคำกล่าวมานี้.
               ตอบว่า เพื่อวิปัสสนาในเวลาอื่นอีก (คือในอนาคตกาล) พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสให้พิจารณาด้วยวิปัสสนาในธรรมอันมีมาก่อน.
               ถามว่า ด้วยคำนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสซึ่งวิปัสสนาอย่างไร?
               ตอบว่า ตรัสวิปัสสนาและปฏิวิปัสสนา สิ้น ๗ ครั้ง.
               จริงอยู่ ญาณ (วิปัสสนา) นั้น ย่อมควรเพื่ออันเห็นด้วยญาณ (วิปัสสนาญาณ) ที่ ๒ เพราะเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในสังขารทั้งปวงด้วยญาณ (วิปัสสนา) ที่ ๑. ญาณ (วิปัสสนาญาณ) ที่ ๒ ย่อมควรเพื่ออันเห็นสภาพเหล่านั้นด้วยญาณ (วิปัสสนาญาณ) ที่ ๓. ญาณ (วิปัสสนาญาณ) ที่ ๓ ย่อมควรเพื่อการเห็นสภาพเหล่านั้นด้วยญาณ (วิปัสสนาญาณ) ที่ ๔. ญาณ (วิปัสสนาญาณ) ที่ ๔ ย่อมควรเพื่ออันเห็นสภาพเหล่านั้นด้วยญาณ (วิปัสสนาญาณ) ที่ ๕. ญาณ (วิปัสสนาญาณ) ที่ ๕ ย่อมควรเพื่ออันเห็นสภาพเหล่านั้นด้วยญาณ (วิปัสสนาญาณ) ที่ ๖. ญาณ (วิปัสสนาญาณ) ที่ ๖ ย่อมควรเพื่ออันเห็นสภาพเหล่านั้นด้วยญาณ (วิปัสสนาญาณ) ที่ ๗ อีก. ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสวิปัสสนา และปฏิวิปัสสนาไว้สิ้น ๗ ครั้ง ฉะนี้แล.
               ญาณวัตถุหมวด ๗ จบ.               

               อรรถกถาอัฏฐกนิทเทส               
               อธิบายญาณวัตถุหมวด ๘               
               คำว่า โสตาปตฺติมคฺเคปญฺญา ได้แก่ ปัญญาในโสดาปัตติมรรค.
               อธิบายว่า ปัญญาอันสัมปยุตด้วยโสดาปัตติมรรคนี้นั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยคำว่า โสตาปตฺติมคฺเคปญฺญา นี้.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้แล.

               อธิบายญาณวัตถุหมวด ๙               
               คำว่า อนุปุพฺพวิหารสมาปตฺตีสุ ได้แก่ สมาบัติทั้งหลาย กล่าวคือธรรมเป็นเครื่องอยู่โดยลำดับ (อนุปุพพวิหาร). ความที่ปัญญาเหล่านั้น ชื่อว่าอนุปุพพวิหาร เพราะอรรถว่าอันพระโยคาวจรพึงเข้าอยู่ในกระบวนโดยลำดับ. พึงทราบความที่ปัญญาเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นสมาบัติ (การเข้าฌาน) เพราะอรรถว่าเป็นธรรมอันพระโยคาวจรพึงถึงพร้อม. ในปัญญาเหล่านั้น พึงทราบสัมปยุตตปัญญา ๘ อย่าง มีคำว่า ปัญญาในปฐมฌานสมาบัติเป็นต้นอย่างนี้. ปัญญาในปัจจเวกขณะ (การพิจารณา) เป็นปัญญาข้อที่ ๙.
               จริงอยู่ ปัญญาในปัจจเวกขณะนั้น ย่อมเป็นไปแก่พระโยคาวจรผู้พิจารณาอยู่โดยสงบ โดยประณีต. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปัจจเวกขณญาณของพระโยคาวจรบุคคลผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ดังนี้.

               ญาณวัตถุหมวด ๙ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ญาณวิภังค์ ฉักกนิเทศ-ทสกนิเทศ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 801อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 835อ่านอรรถกถา 35 / 849อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=11353&Z=11721
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=10653
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=10653
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :