ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 36
อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก
สโมธานกถา

หน้าต่างที่ ๗ / ๗.

               เมื่อมหาบุรุษนั้นตั้งใจเพื่อบริจาคโดยชอบอย่างนี้ วัตถุที่หวงแหนอันเป็นวัตถุที่ไม่มีวิญญาณหรือวัตถุที่มีวิญญาณอันใดเกิดขึ้น. การผูกใจในทาน ๔ คือ การไม่สะสมทานในกาลก่อน ๑ ความที่วัตถุหวงแหนมีน้อย ๑ ความพอใจยิ่ง ๑ ความคิดถึงความหมดสิ้น ๑ ในวัตถุนั้น. ในการติดตามทานเหล่านั้น ในกาลใด เมื่อไทยธรรมมีอยู่แก่พระมหาโพธิสัตว์ และเมื่อยาจกปรากฏ จิตในการให้ไม่แล่นไปไม่ก้าวไป. ด้วยเหตุนั้นควรแน่ใจในข้อนั้นได้ว่า เมื่อก่อนเรามิได้สะสมในการให้เป็นแน่ ดังนั้นในบัดนี้ ความใคร่ที่จะให้ของเราจึงไม่ตั้งอยู่ในใจ.
               พระมหาโพธิสัตว์นั้นบริจาค มีมือสะอาด ยินดีในการเสียสละมีผู้ขอ ยินดีในการแจกทาน ย่อมให้ทานด้วยคิดว่า ต่อแต่นี้ไป เราจักมีใจยินดีในทานเป็นอย่างยิ่ง. เอาเถิด เราจักให้ทานตั้งแต่วันนี้ไป.
               การผูกใจในทานข้อที่หนึ่ง เป็นอันถูกขจัดไป ตัดขาดไปด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง พระมหาสัตว์ เมื่อไทยธรรมมีน้อยและบกพร่อง ย่อมสำเหนียกว่า เมื่อก่อนเพราะเราไม่ชอบให้ บัดนี้เราจึงขาดแคลนปัจจัยอย่างนี้ เพราะฉะนั้น บัดนี้แม้เราจะเบียดเบียนตนด้วยไทยธรรมตามที่ได้นิดหน่อยก็ตาม เลวก็ตาม จะต้องให้ทานจนได้. เราจักบรรลุทานบารมีแม้ต่อไปจนถึงที่สุด. พระมหาสัตว์นั้นบริจาค มีฝ่ามือสะอาด ยินดีในการเสียสละ มีผู้ขอ ยินดีในการแจกจ่ายทาน ให้ทานตามมีตามได้.
               การผูกใจในทานข้อที่ ๒ เป็นอันถูกขจัดไป ตัดขาดไปด้วยอาการอย่างนี้.
               อนึ่ง พระมหาสัตว์ เมื่อจิตใคร่จะไม่ให้เกิดขึ้นเพราะเสียดายไทยธรรม ย่อมสำเหนียกว่า ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านปรารถนาสัมมาสัมโพธิญาณอย่างสูงสุด ประเสริฐกว่าสิ่งทั้งปวงมิใช่หรือ. เพราะฉะนั้นท่านควรให้ไทยธรรมที่พอใจอย่างยิ่ง เพื่อสัมมาสัมโพธิญาณนั้นเท่านั้น. พระมหาสัตว์นั้นบริจาค มีมือสะอาด ยินดีในการเสียสละ มีผู้ขอ ยินดีในการแจกจ่ายทาน.
               การผูกใจในทานข้อที่ ๓ ของพระมหาสัตว์เป็นอันถูกขจัดไป ตัดขาดไปด้วยอาการอย่างนี้.
               อนึ่ง พระมหาสัตว์เมื่อให้ทาน ย่อมเห็นความสิ้นเปลืองของไทยธรรมในกาลใด. ย่อมสำเหนียกว่า สภาพของโภคะทั้งหลายเป็นอย่างนี้ คือมีความสิ้นไป เสื่อมไปเป็นธรรมดา. อีกอย่างหนึ่ง เพราะเราไม่ทำทานเช่นนั้นมาก่อน. โภคะทั้งหลายจึงปรากฏความสิ้นไปอย่างนี้. เอาเถิด เราจะพึงให้ทานด้วยไทยธรรมตามที่ได้น้อยก็ตาม ไพบูลย์ก็ตาม. เราจักบรรลุถึงที่สุดแห่งทานบารมีต่อไป. พระมหาสัตว์นั้นบริจาค มีมือสะอาด ยินดีในการเสียสละ มีผู้ขอ ยินดีในการแจกจ่ายทาน ให้ทานด้วยของตามที่ได้.
               การผูกใจในทานข้อที่ ๔ ของพระมหาสัตว์เป็นอันถูกขจัดไป ตัดขาดไปด้วยอาการอย่างนี้.
               การพิจารณาตามสมควรแล้วปัดเป่าไป เป็นอุบายของความไม่มีประโยชน์ อันเป็นการผูกใจในทานบารมี ด้วยอาการอย่างนี้.
               พึงเห็นแม้ในศีลบารมีเป็นต้น อย่างเดียวกับทานบารมี.
               อีกอย่างหนึ่ง การมอบตนแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ของพระมหาสัตว์นั้นเป็นอุบายให้บารมีทั้งปวงสำเหนียกโดยชอบ.
               จริงอยู่ พระมหาบุรุษมอบตนแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วดำรงอยู่ เพียรพยายามเพื่อความบริบูรณ์แห่งโพธิสมภารในบารมีนั้นๆ เมื่อตัดอุปกรณ์อันทำให้ร่างกายเป็นสุข ทนได้ยากบ้าง ลำบากมีความยินดีได้ยากบ้าง ความพินาศร้ายแรงอันคร่าชีวิตไป น้อมนำเข้าไปในสัตว์และสังขารตั้งความปรารถนาว่า เราบริจาคอัตภาพนี้แด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอการบริจาคนั้นจงเป็นผลในโลกนี้เถิด. นิมิตนั้นไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความเป็นอย่างอื่นแม้แต่น้อย เป็นผู้มีอธิษฐานมั่นคงในการทำกุศลโดยแท้. แม้การมอบตนอย่างนี้ก็เป็นอุบายให้บารมีเหล่านั้นสำเร็จได้.
               อีกอย่างหนึ่งว่า โดยย่อ ผู้สะสมบุญญาภินิหารมีความเยื่อใยในตนจืดจาง มีความเยื่อใยในผู้อื่นเจริญ เป็นอุบายให้บารมีเหล่านั้นสำเร็จได้.
               จริงอยู่ เพราะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ความเยื่อใยในตนของพระมหาสัตว์ผู้กระทำมหาปณิธานไว้ ผู้ไม่ติดในธรรมทั้งปวงด้วยกำหนดรู้โดยความเป็นจริงย่อมถึงความสิ้นไป ความเหนื่อยหน่าย. ความเยื่อใยด้วยเมตตาและกรุณาในสัตว์เหล่านั้น ย่อมเจริญแก่พระมหาบุรุษผู้เห็นสรรพสัตว์ดุจบุตรที่น่ารักเปี่ยมด้วยมหากรุณา.
               แต่นั้น พระมหาบุรุษได้ทำสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโพธิสมภารมีมัจฉริยะเป็นต้น ให้ไกลแสนไกลกระทำการหยั่งลงในยาน ๓ เบื้องบน และความเจริญงอกงาม ด้วยการทำความสงเคราะห์แก่ชนโดยส่วนเดียวด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ ทาน ปิยวาจา อตฺถจริยา คือการประพฤติประโยชน์ และสมานัตตตาคือความมีตนเสมอต้นเสมอปลาย ตามไปด้วยอธิษฐานธรรม ๔.
               จริงอยู่ มหากรุณาและมหาปัญญาของพระมหาสัตว์ทั้งหลายประดับด้วยทาน. ทานประดับด้วยปิยวาจา. ปิยวาจาประดับด้วยอัตถจริยา. อัตถจริยาประดับและสงเคราะห์เพราะเป็นผู้มีตนเสมอคือไม่ถือตัว.
               เมื่อพระมหาสัตว์เหล่านั้นทำสัตว์แม้ทั้งปวง ไม่ให้มีเศษด้วยตนปฏิบัติในโพธิสมภาร ความสำเร็จย่อมมี เพราะความมีตนเสมอกัน เพราะมีสุขทุกข์เสมอในที่ทั้งปวง. การปฏิบัติด้วยการทำความสงเคราะห์ส่วนเดียวแก่ชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ เหล่านั้น อันเป็นการทำอธิษฐานธรรม ๔ ให้บริบูรณ์และเจริญยิ่งย่อมสำเร็จแก่พระมหาสัตว์ทั้งหลาย แม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว. เพราะทานเป็นความบริบูรณ์และเจริญยิ่ง ด้วยจาคาธิษฐานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย. ปิยวาจาเป็นความบริบูรณ์และเจริญยิ่งด้วยสัจจาธิษฐาน. อัตถจริยาเป็นความบริบูรณ์และเจริญยิ่งด้วยปัญญาธิษฐาน. สมานัตตตาเป็นความบริบูรณ์และเจริญยิ่งด้วยอุปสมาธิษฐาน.
               จริงอยู่ พระตถาคตเป็นผู้เสมอด้วยพระสาวก และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงในการปรินิพพาน. ในการปรินิพพานนั้น ท่านเหล่านั้นเป็นอย่างเดียวกันโดยไม่ต่างกันเลย.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ความต่างกันแห่งวิมุติย่อมไม่มี.
               อนึ่ง ในข้อนี้มีคาถาดังต่อไปนี้ :-
                                   พระศาสดาผู้มีสัจจะ มีจาคะ มีความสงบ
                         มีปัญญา ผู้อนุเคราะห์ ผู้สะสมบุญบารมีทั้งปวง
                         ไม่พึงยังประโยชน์ชื่อไรให้สำเร็จบ้าง.
                                   พระศาสดาผู้มีพระมหากรุณา แสวงหาคุณ
                         อันเป็นประโยชน์ ผู้วางเฉยและไม่คำนึงในสิ่ง
                         ทั้งปวง โอ พระชินเจ้า น่าอัศจรรย์.
                                   พระศาสดาผู้ทรงหน่ายในสรรพธรรม ทรง
                         วางเฉยในสัตว์ทั้งหลาย ทรงขวนขวายประโยชน์
                         แก่สัตว์ทุกเมื่อ โอ พระชินเจ้า น่าอัศจรรย์.
                                   พระศาสดาทรงขวนขวายไม่เกียจคร้าน
                         เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่สรรพสัตว์ ในกาล
                         ทั้งปวง โอ พระชินเจ้า น่าอัศจรรย์.

               ให้สำเร็จประโยชน์โดยกาลไหน?
               ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า โดยกำหนดอย่างต่ำสี่อสงไขยแสนมหากัป. โดยกำหนดอย่างกลาง แปดอสงไขยแสนมหากัป. ส่วนโดยกำหนดอย่างสูง สิบหกอสงไขยแสนมหากัป. ความต่างกันเหล่านี้พึงทราบด้วยอำนาจแห่งปัญญาธิกะ ศรัทธาธิกะและวิริยาธิกะตามลำดับ.
               จริงอยู่ ศรัทธาอ่อน ปัญญากล้าย่อมมีแก่ผู้เป็นปัญญาธิกะทั้งหลาย ปัญญาปานกลางมีแก่ผู้เป็นศรัทธาธิกะทั้งหลาย, ปัญญาอ่อนย่อมมีแก่ผู้เป็นวีริยาธิกะทั้งหลาย.
               อนึ่ง พึงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณด้วยอานุภาพแห่งปัญญา.
               ฝ่ายอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า นี้เป็นการแบ่งกาลของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายด้วยความแก่กล้า ปานกลางและอ่อนแห่งความเพียร. แต่โดยความไม่ต่างกัน โพธิสมภารทั้งหลายย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งบารมีเหล่านั้น โดยความต่างแห่งกาลตามที่กล่าวแล้ว โดยความแก่กล้าปานกลางและอ่อนแห่งธรรมทั้งหลายอันบ่มบารมีให้แก่กล้าด้วยวิมุติ. เพราะเหตุนั้น ความต่างแห่งกาล ๓ เหล่านี้จึงควรแล้ว.
               ด้วยอาการอย่างพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมมี ๓ ส่วนในขณะแห่งอภินิหารโดยความต่างกันแห่งอุคฆฏิตัญญู วิปัญจิตัญญูและเนยยะ.
               ใน ๓ อย่างนั้น ผู้ที่ฟังคาถา ๔ บทต่อพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อยังไม่จบคาถาบทที่ ๓ เป็นผู้มีอุปนิสัยสามารถบรรลุพระอรหัตด้วยอภิญญา ๖ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา เป็นอุคฆฏิตัญญู. หากพึงน้อมไปในสาวกโพธิญาณ.
               บุคคลประเภทที่สองฟังคาถา ๔ บทต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อยังไม่จบคาถาบทที่ ๔ เป็นผู้มีอุปนิสัยสามารถบรรลุพระอรหัตด้วยอภิญญา ๖ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา. หากพึงน้อมไปในสาวกโพธิญาณ.
               ส่วนบุคคลประเภทที่สามฟังคาถา ๔ บทต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจบคาถาแล้วเป็นผู้มีอุปนิสัยสามารถบรรลุพระอรหัตด้วยอภิญญา ๖.
               พระโพธิสัตว์ ๓ จำพวกเหล่านี้เว้นความต่างแห่งกาละสะสมบุญญาภินิหาร และได้พยากรณ์ในสำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลายบำเพ็ญบารมีมาโดยลำดับ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตามกาลมีประเภทตามที่กล่าวแล้ว.
               เมื่อประเภทแห่งกาลเหล่านั้นๆ ยังไม่บริบูรณ์ พระมหาสัตว์เหล่านั้นๆ แม้ให้มหาทานเช่นกับทานของพระเวสสันดรทุกๆ วัน แม้สะสมบารมีธรรมทั้งปวงมีศีลเป็นต้นตามสมควร แม้สละมหาบริจาค ๕ แม้ยังญาตัตถจริยา โลกัตถจริยา พุทธธัตถจริยา ให้ถึงที่สุดอย่างยิ่ง ก็จักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในระหว่าง. ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้.
               เพราะเหตุไร. เพราะญาณยังไม่แก่กล้า เพราะพุทธการกธรรมยังไม่สำเร็จ.
               จริงอยู่ แม้พยายามด้วยอุตสาหะทั้งหมดในระหว่างนั้นก็ไม่สามารถบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณอันสำเร็จด้วยกำหนดกาลตามที่กล่าวแล้วได้ ดุจข้าวกล้าสำเร็จตามที่กำหนดไว้เท่านั้น เพราะเหตุนั้นพึงทราบว่า ความบริบูรณ์แห่งบารมีย่อมสำเร็จด้วยกาลวิเศษตามที่กล่าวแล้ว.
               อะไรเป็นอานิสงส์.
               ท่านพรรณนาอานิสงส์ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้สะสมบุญญาภินิหารไว้อย่างนี้ว่า :-
                                   นรชนทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยอวัยวะทั้งปวง
                         ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน นับได้ร้อยโกฏิกัป
                         เป็นผู้เที่ยงต่อโพธิญาณ. ย่อมไม่เกิดในอเวจี และ
                         ในโลกันตรนรก. ไม่เกิดเป็นนิชฌามตัณหิกเปรต
                         ขุปปิปาสิกเปรตและกาลกัญชิกาเปรต. สัตว์เล็กๆ
                         แม้เข้าถึงทุคติก็ไม่มี.
                                   สัตว์เหล่านั้นเมื่อเกิดในมนุษยโลก ก็ไม่เกิด
                         เป็นคนตาบอด หูหนวกและเป็นใบ้. ไม่เป็นอุภโต-
                         พยัญชนกและบัณเฑาะก์ และก็ไม่ถึงความเป็นสตรี.
                         นรชนทั้งหลายยังไม่สำเร็จก็จะพ้นจากนรก มีโคจร
                         บริสุทธิ์ในที่ทั้งปวงเที่ยงต่อโพธิญาณ. เชื่อกรรม ผล
                         ของกรรม ไม่เสพมิจฉาทิฏฐิ.
                                   แม้อยู่ในสวรรค์ ก็ไม่เข้าถึงความเป็นผู้ไม่มี
                         ความรู้สึก ย่อมไม่มีเหตุในเทวโลกชั้นสุทธาวาส.
                         สัตบุรุษทั้งหลายน้อมไปในเนกขัมมะไม่เกี่ยวข้อง
                         ในภพน้อยภพใหญ่. ย่อมประพฤติโลกัตถจริยา.
                         บำเพ็ญบารมีทั้งปวง.

               อนึ่ง ชนิดธรรมน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี ๑๖ อย่าง โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนอานนท์ พระโพธิสัตว์มีสติสัมชัญญะจุติจากเทพชั้นดุสิตแล้วหยั่งลงสู่ครรภ์มารดา.
               อนึ่ง มีชนิดแห่งบุรพนิมิต ๓๒ อย่าง โดยนัยมีอาทิว่า ความหนาวปราศไป และความร้อนสงบ.
               และโดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนสารีบุตร เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติ หมื่นโลกธาตุนี้ย่อมหวั่นไหว สั่นสะเทือน.
               หรือว่า อานิสงส์แม้อื่นใดมีอาการที่ได้แสดงไว้ในชาดกและพุทธวงศ์เป็นต้นนั้นๆ มีอาทิอย่างนี้ว่า ความเป็นผู้ชำนาญในกรรมเป็นต้น เป็นความสำเร็จความประสงค์ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย. ทั้งหมดนั้นเป็นอานิสงส์แห่งบารมีเหล่านั้น.
               อนึ่ง พึงทราบว่าอานิสงส์มีคู่แห่งคุณธรรมมีอโลภะและอโทสะเป็นต้น มีประเภทตามที่ได้แสดงไว้แล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะพระโพธิสัตว์เป็นเสมอบิดาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่สะสมอภินิหารเพื่อแสวงหาประโยชน์ เป็นผู้ควรทักษิณา น่าเคารพน่ายกย่องและเป็นบุญเขตอย่างยิ่งด้วยประกอบคุณวิเศษ. และโดยมาก พระโพธิสัตว์เป็นที่รักของมนุษย์ของอมนุษย์ ทวยเทพคุ้มครอง สัตว์ร้ายเป็นต้นครอบงำไม่ได้ เพราะมีสันดานอบรมด้วยเมตตากรุณา.
               อนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดในหมู่สัตว์ใดๆ ย่อมครอบงำสัตว์อื่นในหมู่สัตว์นั้นๆ ด้วย วรรณ ยศ สุข พละ อธิปไตยอันยอดยิ่ง เพราะประกอบด้วยบุญวิเศษ.
               เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย. ศรัทธาของพระโพธิสัตว์นั้นบริสุทธิ์ด้วยดี. ความเพียรบริสุทธิ์ด้วยดี. สติ สมาธิ ปัญญา บริสุทธิ์ด้วยดี. มีกิเลสเบาบาง มีความกระวนกระวายน้อย มีความเร่าร้อนน้อย. เป็นผู้ว่าง่ายเพราะมีกิเลสเบาบาง. เป็นผู้มีความเคารพ. อดทนสงบเสงี่ยม. อ่อนโยน ฉลาดในปฏิสันถาร. ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ. ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่. ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา. ไม่กระด้าง ไม่ถือตัว. ไม่รุนแรง ไม่ประมาท. อดทนต่อความเดือดร้อนจากผู้อื่น ไม่ทำผู้อื่นให้เดือนร้อน. อันตรายมีภัยเป็นต้นที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดในตำบลที่ตนอาศัยอยู่ และที่เกิดแล้วย่อมสงบไป. ทุกข์มีประมาณยิ่งย่อมไม่เบียดเบียนดุจชนเป็นอันมากในอบายที่ทุกข์เกิด. ย่อมถึงความสังเวชโดยประมาณยิ่ง.
               เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า คุณวิเศษเหล่านั้นมีความเป็นทักขิไณยบุคคลเสมอด้วยบิดาเป็นต้นของสัตว์ทั้งหลาย เป็นอานิสงส์ที่พระมหาบุรุษได้ในภพนั้นๆ ตามสมควร.
               อนึ่ง แม้คุณสมบัติเหล่านี้คือ อายุสัมปทา รูปสัมปทา กุสลสัมปทา อิสริยสัมปทา อาเทยฺยวจนตา คือพูดเชื่อได้ มหานุภาวตา พึงทราบว่า เป็นอานิสงส์แห่งบารมีทั้งหลายของมหาบุรุษ.
               ในคุณวิเศษเหล่านั้น ชื่อว่า อายุสัมปทา ได้แก่ความมีอายุยืน ความตั้งอยู่นานในการเกิดนั้นๆ ยังกุสลสมาทานตามที่เริ่มไว้ในอายุสัมปทานั้นให้ถึงที่สุด และสะสมกุสลไว้มาก.
               ชื่อว่า รูปสัมปทา ได้แก่ความมีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส เป็นผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใส น่ายกย่องของสัตว์ทั้งหลายที่ถือรูปเป็นประมาณด้วยรูปสัมปทานั้น.
               ชื่อว่า กุสลสัมปทา ได้แก่การเกิดในกุสลอันยิ่ง ควรเข้าไปหา ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ผู้มัวเมามีมัวเมาด้วยชาติเป็นต้น ด้วยกุสลสัมปทา ทำชนเหล่านั้นให้หมดพยศด้วยเหตุนั้น.
               ชื่อว่า อิสริยสัมปทา ได้แก่ความเป็นผู้มีสมบัติมาก มีศักดิ์ใหญ่ และมีบริวารมาก เป็นผู้สามารถสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ และข่มผู้ที่ควรข่มโดยธรรม ด้วยอิสริยสัมปทานั้น.
               ชื่อว่า อาเทยฺยวจนตา ได้แก่ความเป็นผู้เชื่อได้ เชื่อถือได้ เป็นประมาณของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยความเชื่อถือนั้น คำสั่งของพระโพธิสัตว์นั้นกลับกลอกไม่ได้.
               ชื่อว่า มหานุภาวตา ได้แก่เพราะมีอานุภาพมาก คนอื่นครอบงำไม่ได้. แต่ตนเองครอบงำคนอื่นได้โดยแท้ โดยธรรม โดยเสมอและโดยคุณตามเป็นจริงด้วยความเป็นผู้มีอานุภาพใหญ่นั้น.
               พึงทราบว่า คุณวิเศษมีอายุสัมปทาเป็นต้นเหล่านี้ เป็นอานิสงส์แห่งบารมีทั้งหลายของพระมหาบุรุษ. และเป็นเหตุแห่งความเจริญของบุญสมภารหาประมาณมิได้ และเป็นเหตุแห่งการหยั่งลงและความเจริญงอกงามของสัตว์ทั้งหลายในญาณ ๓.
               อะไรเป็นผล.
               กล่าวโดยย่อ ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผลของบารมีเหล่านั้น.
               กล่าวโดยพิสดาร สิริธรรมกายอันงดงามทั่วไปตั้งขึ้นด้วยคุณหาประมาณมิได้ ไม่มีสิ้นสุดตั้งแต่สมบัติของรูปกายอันรุ่งเรืองด้วยหมู่คุณไม่น้อยมีอาทิ มหาปุริสลักษณะ ๓๒ อนุพยัญชนะ ๘๐ พระรัศมีวาหนึ่งเป็นต้น อธิษฐานธรรม ทศพลพลญาณ เวสารัชชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ พุทธธรรม ๑๘ หมวด.
               อนึ่ง แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถจะสรรเสริญพระพุทธคุณทั้งหลายให้สิ้นสุดลงได้ด้วยกัปไม่น้อย. นี้เป็นผลของบารมีเหล่านั้น.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า :-
                                   แม้พระพุทธเจ้าก็พึงสรรเสริญคุณของ
                         พระพุทธเจ้า หากกล่าวกะผู้อื่นแม้ตลอดกัป
                         กัปสิ้นไปในระหว่างเป็นเวลายาวนาน แต่
                         พระคุณของพระตถาคตยังไม่สิ้นไป.

               พึงทราบปกิณณกกถาในบารมีทั้งหลายในที่นี้ ด้วยประการฉะนี้.
               แต่บทใดในบาลี ท่านแสดงบารมีแม้ทั้งหมดรวมกันโดยนัยมีอาทิว่า ทตฺวา ทาตพฺพกํ ทานํ ให้ทานที่ควรให้ดังนี้แล้วกล่าวคาถาสองคาถาสุดท้าย โดยนัยมีอาทิว่า โกสชฺชํ ภยโต ทิสฺวา เห็นความเกียจคร้านโดยความเป็นภัยดังนี้ข้างหน้า.
               บทนั้น ท่านกล่าวเพื่อให้โอวาทแก่เวไนยสัตว์เพื่อบ่มวิมุติให้แก่กล้า ด้วยธรรมที่เป็นเมตตาภาวนาปรารภความเพียร ตามที่กล่าวแล้วด้วยอัปปมาทวิหารธรรม พุทธการกธรรมถึงความบริสุทธิ์ และการบ่มวิมุติของตนกล่าวคือสัมมาสัมโพธิญาณให้แก่กล้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอานิสงส์ในการปรารภความเพียรด้วยหัวข้อแสดงถึงโทษในฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ ด้วยบทนี้ว่า โกสชฺชํ ภยโต ทิสฺวา, วีริยารมฺภญฺจ เขมโต เห็นความเกียจคร้านโดยความเป็นภัย และเห็นการปรารภความเพียรโดยเป็นธรรมเกษม ดังนี้. ทรงชักชวนในการปรารภความเพียรด้วยบทนี้ว่า อารทฺธวีริยา โหถ ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ปรารภความเพียรเถิด.
               อนึ่ง เพราะทรงประกาศไว้โดยสังเขปว่า :-
                                   การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑ การเข้าถึงกุศล ๑
                         การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ ทั้ง ๓ นี้เป็นคำสอน
                         ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

               แต่โดยพิสดารทรงประกาศความสมบูรณ์ แม้ทุกอย่างอาศัยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเพียรชอบ โดยส่วนเดียวเท่านั้น ด้วยพุทธพจน์ทั้งสิ้น. ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงชักชวนในการปรารภความเพียรแล้ว จึงตรัสว่า เอสา พุทฺธานุสาสนี นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               ในบทนั้น มีความสังเขปดังต่อไปนี้.
               การปรารภความเพียรประกอบด้วยสัมมัปปธาน ด้วยยังอธิศีลสิกขาเป็นต้นให้สมบูรณ์ เพราะเห็นความเกียจคร้านโดยความเป็นภัยว่า ความเกียจคร้านเป็นตัวสร้างความพินาศทั้งปวง โดยเป็นรากแห่งความเศร้าหมองทั้งปวง และการปรารภความเพียรโดยความเป็นปฏิปักษ์ต่อความเกียจคร้านนั้น โดยให้ปลอดจากโยคะ ๔ โดยความเป็นธรรมเกษม. การชักชวนชอบในการปรารภความเพียรนั้นว่า ท่านทั้งหลายจงปรารภความเพียรกันเถิด ดังนี้. นี้เป็นคำสอน คำพร่ำสอน โอวาทของพระพุทธเจ้าผู้มีพระภาคทั้งหลาย.
               แม้ในคาถาที่เหลือก็พึงทราบความโดยนัยนี้แล.
               แต่ความต่างกันมีดังนี้.
               บทว่า วิวาทํ คือ พูดด้วยความโกรธ. อธิบายว่า เถียงกันด้วยวิวาทวัตถุ คือเหตุแห่งความวิวาท ๖ ประการ.
               บทว่า อวิวาทํ คือ เมตตาวจีกรรม หรือเมตตาภาวนา อันเป็นปฏิปักษ์ต่อความวิวาทกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อวิวาทํ คือ สาราณิยธรรม ๖ อย่างอันเป็นเหตุไม่วิวาทกัน.
               บทว่า สมคฺคา คือ ไม่แบ่งพวก. อธิบายว่า ร่วมกันทางกายและใจ ไม่เว้นไม่แยกกัน.
               บทว่า สขิลา คือ น่ารักอ่อนโยน. อธิบายว่า มีใจอ่อนโยนในกันและกัน.
               ในบทว่า เอสา พุทฺธานุสาสนี นี้คือไม่อาศัยการวิวาทกันโดยประการทั้งปวง แล้วชักชวนให้อยู่ร่วมสามัคคีกันโดยบำเพ็ญสาราณิยธรรม ๖.
               พึงประกอบบทว่า เอสา พุทฺธานํ อนุสิฏฺฐิ นี้เป็นคำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               จริงอยู่ ชนทั้งหลายอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี มีศีลและทิฏฐิเสมอกัน ไม่วิวาทกัน จักยังไตรสิกขาให้บริบูรณ์ได้โดยง่ายทีเดียว เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงทรงแสดงว่า การชักชวนให้อยู่ร่วมสามัคคีกันเป็นคำสอนของพระองค์ ดังนี้.
               บทว่า ปมาทํ คือ ความประมาท ได้แก่การหลงลืมกุศลธรรมและการปล่อยจิตให้ตกอยู่ในอกุศลธรรม.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ความประมาทเป็นไฉน. การปล่อย เพิ่มการปล่อยจิตลงในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕ ไม่ทำความเคารพ ไม่ทำความเพียรติดต่อ ไม่ทำความมั่นคง ประพฤติย่อหย่อน ทอดฉันทะ ทอดธุระ ไม่เสพ ไม่อบรม ไม่ทำให้มาก เพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย. ความประมาท ความมัวเมา ความเป็นผู้มัวเมาเห็นปานนี้เรียกว่า ปมาโท.
               บทว่า อปฺปมาทํ คือ ความไม่ประมาท.
               พึงทราบความไม่ประมาทนั้น โดยเป็นปฏิปักษ์ของความประมาท. เพราะโดยอรรถความไม่อยู่ปราศสติ ชื่อว่าความไม่ประมาท.
               บทว่า สติยา อวิปฺปวาโส ความไม่อยู่ปราศจากสตินี้เป็นชื่อของสติที่เข้าไปตั้งมั่นแล้วเป็นนิจ.
               แต่อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า อรูปขันธ์ ๔ เป็นไปโดยตั้งสติสัมปชัญญะไว้ ชื่อว่าความไม่ประมาท.
               ก็ชื่อว่าอัปปมาทภาวนา ไม่มีการภาวนาแยกออกจากกันเป็นหนึ่ง บุญกิริยา กุศลกิริยาทั้งหมด พึงทราบว่าเป็นอัปมาทภาวนาทั้งนั้น.
               แต่โดยความต่างกัน ศีลภาวนา สมาธิภาวนา ปัญญาภาวนา กุศลภาวนา อนวัชชภาวนาคือภาวนาอันไม่มีโทษ อัปมาทภาวนาทั้งหมด ประสงค์เอาสรณคมน์และการสำรวมกายวาจาอันเข้าไปอาศัยวิวัฏฏะคือนิพพาน.
               จริงอยู่ บทว่า อปฺปมาโท นี้แสดงถึงอรรถใหญ่. กำหนดอรรถใหญ่ตั้งอยู่.
               พระธรรมกถึกนำพระพุทธพจน์อันเป็นไตรปิฎก แม้ทั้งสิ้นมากล่าวขยายอรรถแห่งบท อปฺปมาท ไม่ควรพูดว่า ออกนอกลู่นอกทาง.
               เพราะเหตุไร? เพราะบทแห่ง อปฺปมาท กว้างขวางมาก.
               เป็นความจริงดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรทมในคราวปรินิพพาน ในระหว่างต้นสาละคู่ ณ กรุงกุสินารา ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ตรัสมา ๔๕ ปี ตั้งแต่อภิสัมโพธิกาล สงเคราะห์ด้วยบทเดียวเท่านั้น ได้ทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายที่เที่ยวไปเหล่าใดเหล่าหนึ่ง. รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมรวมลงในเท้าช้าง. เท้าช้าง ท่านกล่าวว่าเลิศกว่าเท้าสัตว์ทั้งหลายเพราะเป็นเท้าใหญ่ฉันใด.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทั้งหมดนั้นมีความไม่ประมาทเป็นมูล หยั่งลงสู่ความไม่ ประมาท. ความไม่ประมาท ท่านกล่าวว่าเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น.
               พระศาสดา เมื่อทรงแสดงถึงอัปปมาทภาวนาถึงความเป็นยอด จึงตรัสว่า ภาเวถฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ พวกเธอจงเจริญมรรคมีองค์ ๘ เถิด.
               บทนั้นมีความดังนี้.
               พวกเธอจงเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ สงเคราะห์เข้าในขันธ์ ๓ มีศีลขันธ์เป็นต้น มีสัมมาทิฏฐิเป็นบทนำ ด้วยสามารถแห่งองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นนั่นแล. จงยังมรรคนั้นให้เกิดในสันดานของตน. พวกเธอไม่ตั้งอยู่เพียงมรรคที่เห็น จงเจริญโดยให้มรรค ๓ ข้างบนเกิดขึ้นด้วย. อัปปมาทภาวนาของพวกเธอจักถึงยอดด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เอสา พุทฺธานุสาสนี นี้ คือความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย.
               อนึ่ง การขวนขวายความไม่ประมาทนั้นแล้วอบรมอริยมรรค นี้เป็นคำสอนเป็นพระโอวาทของพระพุทธเจ้าผู้มีพระภาคทั้งหลาย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาจริยาปิฎก ด้วยธรรมเป็นยอดแห่งพระอรหัตด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อิตฺถํ ในบทมีอาทิว่า อิตฺถํ สุทํ ได้แก่ โดยประการมีอาทิว่า กปฺเป จ สตสหสฺเส คือในแสนกัป.
               บทว่า สุ ทํ เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า ภควา ชื่อว่าภควา ด้วยเหตุมีความเป็นผู้มีโชคเป็นต้น.
               บทว่า อตฺตโน ปุพฺพจริยํ บุรพจริยาของพระองค์ คือการบำเพ็ญทุกรกิริยาอันเป็นข้อปฏิบัติของพระองค์ ในชาติเป็นอกิตติบัณฑิตเป็นต้น ในกาลก่อน.
               บทว่า สมฺภาวยมาโน คือ ทรงประกาศโดยชอบดุจชี้มะขามป้อมบนฝ่ามือฉะนั้น.
               บทว่า พุทฺธาปทานิยํ นาม ชื่อว่าพุทธาปทาน เพราะแสดงถึงกรรมเก่าอันเป็นอธิกิจที่ทำได้ยากแต่ก่อนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               บทว่า ธมฺมปริยายํ คือ การแสดงธรรมหรือเหตุที่เป็นธรรม.
               บทว่า อภาสิตฺถ คือ ได้กล่าวแล้ว.
               อนึ่ง บทใดที่มิได้กล่าวไว้ในที่นี้ พึงทราบว่า บทนั้นไม่ได้กล่าวไว้ เพราะมีนัยดังกล่าวไว้แล้วในหนหลังและเพราะมีความง่ายแล้ว.

               จบปกิณณกกถา               
               -----------------------------------------------------               

               บทสรุป               
                                   พระศาสดามีพระจริตบริสุทธิ์ ทรงถึงฝั่ง
                         แห่งพุทธิจริยา ทรงฉลาดในสรรพจริยาทั้งหลาย
                         ทรงเป็นอาจารย์ของโลกอย่างยอดเยี่ยม ทรงบรรลุ
                         ความอัศจรรย์ทั้งปวงแห่งอัจฉริยธรรมทั้งหลาย
                         ทรงประกาศอานุภาพแห่งบุรพจริยาของพระองค์.
                                   พระศาสดาผู้เป็นที่พึ่ง ทรงแสดงจริยาปิฎก
                         และพระเถระผู้สังคายนาพระธรรม ได้สังคายนา
                         จริยาปิฎกเหมือนอย่างนั้น.
                                    เพื่อประกาศความแห่งจริยาปิฎกนั้น
                         ข้าพเจ้าจึงเริ่มพรรณนาความ อาศัยนัยแห่งอรรถ-
                         กถาเก่า. เลือกประกาศความอันยิ่งในจริยาปิฎก
                         นั้นตามสมควร โดยชื่อว่าปรมัตถทีปนี.
                                   การวินิจฉัยไม่ยุ่งยาก ถึงความสำเร็จโดย
                         ภาณวารแห่งบาลี ๒๘ บริบูรณ์.
                                   ขอให้ข้าพเจ้าผู้ปรับปรุงปรมัตถทีปนีนั้น
                         ได้บรรลุถึงบุญอันเป็นคำสอนของพระโลกนาถ
                         ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น ขอสัตวโลกแม้ทั้งปวง
                         จงหยั่งลงเพื่อปฏิบัติศีลเป็นต้นอันบริสุทธิ์แล้ว
                         จงมีส่วนแห่งวิมุตติรสเถิด.
                                   ขอศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จง
                         ประดิษฐานอยู่ในโลกตลอดกาลนาน. ขอสัตว์
                         แม้ทั้งปวง จงมีความเคารพในศาสนาของพระ
                         สัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นนิจเถิด.
                                   แม้เทพผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขอจงให้
                         ฝนตกตามฤดูกาลโดยชอบ. เป็นผู้ยินดีในพระ
                         สัทธรรม จงปกครองโลกโดยธรรมเถิด ด้วย
                         ประการฉะนี้แล.
               นิคมนกถาคือบทสรุปนี้ พระอาจารย์ธรรมปาละผู้อยู่ในพัทรดิตถวิหารได้แต่งไว้.
               จบอรรถกถาจริยาปิฏก               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก สโมธานกถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 36
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=9478&Z=9526
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=52&A=7027
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=52&A=7027
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :