ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
รัตนะจงกรมกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๑๐ / ๑๒.

               ครั้งนั้น สุเมธบัณฑิตเป็นผู้เห็นโทษของบรรณศาลา ได้อานิสงส์ในเสนาสนะคือโคนไม้อยู่ จึงคิดยิ่งขึ้นไปว่า การที่เราเข้าไปยังหมู่บ้านเพื่อแสวงหาอาหาร เป็นทุกข์ในการแสวงหาอาหาร เรามิใช่เพราะสิ้นไร้อย่างไรจึงออกบวชด้วยความต้องการเพื่ออาหาร แต่ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลไม่มีประมาณ ถ้ากระไรเราจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ.
               แต่เมื่อจะทรงแสดงความที่วิเศษของประโยชน์นี้จึงตรัสคาถาเป็นต้นว่า
                         เราสละธัญชาติที่หว่านแล้ว ที่ปลูกแล้วโดยไม่
                         เหลือเลย บริโภคแต่ผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
                         อันพรั่งพร้อมด้วยคุณเป็นอันมาก.


               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาปิตํ ได้แก่ ที่หว่านเสร็จแล้ว.
               บทว่า โรปิตํ ได้แก่ ที่ปลูกเสร็จแล้ว.
               ข้าวกล้าจะสำเร็จผลมี ๒ วิธี คือด้วยการหว่านและการปลูก. เราก็ละเสียทั้ง ๒ วิธี ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เพราะตัวเรามักน้อย.
               บทว่า ปวตฺตผลํ ได้แก่ ผลไม้ที่หล่นเอง.
               บทว่า อาทิยึ ได้แก่ บริโภค.
                                   บุคคลผู้สันโดษด้วยผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
                         เลี้ยงชีพไม่เนื่องด้วยผู้อื่น ละความละโมบในอาหารเสีย
                         ย่อมเป็นมุนีใน ๔ ทิศ.
                                   มุนีย่อมละความอยากในรส การเลี้ยงชีพของ
                         ท่านจึงบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นแล จึงไม่ควรดูหมิ่นการ
                         บริโภคผลที่ไม้มีอยู่ตามธรรมชาติ.

               สุเมธบัณฑิต เมื่อประพฤติอยู่อย่างนี้ไม่นานนักก็บรรลุสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ภายใน ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงประกาศความข้อนี้ จึงตรัสว่า ตตฺถปฺปธานํ ปทหึ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในอาศรมนั้น.
               บทว่า ปธานํ ได้แก่ความเพียร.
               จริงอยู่ ความเพียร ท่านเรียกว่าปธานะ เพราะเป็นคุณควรตั้งไว้ หรือเพราะทำภาวะคือการตั้งไว้.
               บทว่า ปทหึ ได้แก่ เริ่มความเพียร.
               บทว่า นิสชฺชฏฺฐานจงฺกเม แปลว่า ด้วยการนั่ง การยืนและการเดิน.
               แต่สุเมธบัณฑิตปฏิเสธการนอน ยังคืนและวันให้ล่วงไปด้วยการนั่งยืนและเดินเท่านั้น จึงบรรลุกำลังแห่งอภิญญาได้ภายใน ๗ วันเท่านั้น.
               ก็แล เมื่อสุเมธดาบสครั้นบรรลุกำลังแห่งอภิญญาอย่างนี้แล้ว ก็ยับยั้งอยู่ด้วยสุขในสมาบัติ. ครั้งนั้น พระศาสดาพระนามว่าทีปังกรผู้ทรงทำการสงเคราะห์ชนทั้งปวงผู้ทรงทำภัยแก่พลแห่งมาร ทรงทำประทีปคือพระญาณเสด็จอุบัติในโลก.
               เมื่อว่าโดยสังเขปเท่านั้น.
               การกล่าวลำดับเรื่องพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีดังนี้
               ได้ยินว่า พระมหาสัตว์พระนามว่าทีปังกรพระองค์นี้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๓๐ ทัศ ทรงดำรงอยู่ในอัตภาพเสมือนอัตภาพของพระเวสสันดร ทรงให้มหาทาน เป็นเหตุให้แผ่นดินไหวเป็นต้น เมื่อสุดสิ้นพระชนมายุก็บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงดำรงอยู่ ณ ที่นั้นจนตลอดพระชนมายุ เมื่อเทวดาในหมื่นจักวาลประชุมกันทูลว่า
                         กาโลยํ๑- เต มหาวีร     อุปฺปชฺช มาตุกุจฺฉิยํ
                         สเทวกํ ตารยนฺโต   พุชฺฌสฺสุ อมตํ ปทํ.
                         ข้าแต่พระมหาวีระ นี้เป็นกาลอันสมควรสำหรับ
                         พระองค์ โปรดเสด็จอุบัติในครรภ์พระมารดาเถิด
                         พระองค์เมื่อทรงยังโลกพร้อมทั้งเทวโลก ให้ข้าม
                         โอฆสงสาร ก็โปรดตรัสรู้อมตบทเถิด.
____________________________
๑- ในที่บางแห่งเป็น กาโล โข

               ดังนี้แล้ว แต่นั้นทรงสดับคำของเทวดาทั้งหลายแล้วทรงพิจารณามหาวิโลกนะ ๕ ทรงจุติจากดุสิตสวรรค์นั้นแล้วทรงถือปฏิสนธิ โดยดาวนักษัตรในเดือนอาสาฬหะหลัง เพ็ญเดือนอาสาหะ ในพระครรภ์ของพระนางสุเมธาเทวี ในสกุลของพระราชาพระนามว่าสุเทวะ ผู้เป็นเทพแห่งนรชน ดังท้าววาสุเทพผู้พิชิตด้วยความเจริญแห่งพระยศของพระองค์ ณ กรุงรัมมวดี มีราชบริพารหมู่ใหญ่คอยบริหาร ไม่ทรงแปดเปื้อนด้วยของไม่สะอาดไรๆ ในพระครรภ์ของพระมหาเทวี เหมือนก้อนแก้วมณี อยู่ตลอดทศมาส ก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระนาง เหมือนดวงจันทร์ในฤดูสารทโคจรไปในหลืบเมฆ.

               บุพนิมิต ๓๒               
               ก็บุพนิมิต ๓๒ ประการปรากฏเป็นปาฏิหาริย์ของพระทีปังกรราชกุมารพระองค์นั้น ทั้งขณะปฏิสนธิ ทั้งขณะประสูติ. ปาฏิหาริย์ ๓๒ ประการเป็นไปในฐานะ ๔ เหล่านี้คือ เมื่อพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทุกพระองค์เสด็จสู่พระครรภ์ของพระมารดา ๑ ประสูติ ๑ ตรัสรู้ ๑ ประกาศพระธรรมจักร ๑ เพราะฉะนั้น เราจึงแสดงบุพนิมิต ๓๒ ในการประสูติของพระทีปังกรราชกุมาร เพราะเป็นของปรากฏแล้ว ดังนี้ว่า
                                   เมื่อพระทีปังกรราชกุมาร ผู้ทำความงาม ผู้ทำ
                         ความเจริญ ผู้ทำความสงบ ประสูติแล้ว ในครั้งนั้น
                         หมื่นโลกธาตุก็สะเทือนสะท้านหวั่นไหวโดยรอบ.
                                   ครั้งนั้น เทวดาในหมื่นจักรวาล ก็พากันประชุม
                         ในจักรวาลหนึ่ง.
                                   พอพระมหาสัตว์ ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ประสูติ
                         เทวดาทั้งหลายก็รับก่อน ภายหลัง พวกมนุษย์จึงรับ
                         พระองค์.
                                   ขณะนั้น กลองหุ้มหนังและกลองทั้งหลาย ช่อง
                         พิณและพิณทั้งหลาย อันใครๆ มิได้ประโคม เครื่อง
                         อาภรณ์ทั้งหลายที่ใครๆ มิได้แตะต้อง ก็ส่งเสียงร้อง
                         อย่างไพเราะไปรอบๆ
                                   เครื่องพันธนาการทั้งหลายทุกแห่ง ก็ขาดหลุด
                         ไป โรคภัยทั้งปวงก็หายไปเอง คนตาบอดแต่กำเนิด
                         ก็มองเห็นรูปทั้งหลาย คนหูหนวกก็ได้ยินเสียงรอบตัว.
                                   คนใบ้แต่กำเนิด ก็ได้สติระลึกได้ คนขาพิการ
                         ก็ใช้เท้าเดินได้ เรือก็เดินไปต่างประเทศแล้วกลับท่า
                         เรือสุปัฏฏนะได้อย่างรวดเร็ว.
                                   รัตนะทุกอย่าง ทั้งที่อยู่ในอากาศ ทั้งที่อยู่ภาค
                         พื้นดิน ก็เรืองแสงได้เองไปรอบๆ ไฟในนรกอันร้าย
                         กาจก็ดับ แม้น้ำในแม่น้ำทั้งหลายก็ไม่ไหล.
                                   แสงสว่างอันโอฬารไพบูลย์ ก็ได้มีในโลกันตริก-
                         นรก แม้มีทุกข์ไม่ว่างเว้น ครั้งนั้น มหาสมุทรนี้ก็มี
                         เกลียวคลื่นละลอกสงบ ทั้งน้ำก็มีรสจืดอร่อยด้วย.
                                   ลมที่พัดแรงหรือร้ายกาจก็ไม่พัด ต้นไม้ทั้งหลาย
                         ก็ออกดอกบานสะพรั่ง ดวงจันทร์พร้อมทั้งดวงดาว
                         ก็จรัสแสงยิ่ง แม้แต่ดวงอาทิตย์ก็ไม่ร้อนแรง.
                                   ฝูงนก ก็ร่าเริงลงจากฟากฟ้าและต้นไม้ มาอยู่
                         พื้นดินเบื้องล่าง เมฆฝนที่อยู่ใน ๔ มหาทวีป ก็หลั่ง
                         น้ำฝนรสอร่อยไปโดยรอบ.
                                   เทวดาทั้งหลายอยู่ในภพทิพย์ของตน มีจิตเสื่อม
                         ใส ก็พากันฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม โห่ร้อง สรวลเสกัน
                         อึงมี่.
                                   เขาว่า ในขณะนั้น ประตูเล็กบานประตูใหญ่ก็
                         เปิดได้เอง เขาว่า ความอดอยากหิวระหาย มิได้บีบคั้น
                         มหาชน ไม่ว่าโลกไรๆ.
                                   ส่วนหมู่สัตว์ที่เป็นเวรกันเป็นนิตย์ ก็ได้เมตตาจิต
                         เป็นอย่างยิ่ง ฝูงกาก็เที่ยวไปกับฝูงนกเค้าแมว ฝูงหมาป่า
                         ก็ยิ้มแย้มกับฝูงหมู.
                                   งูมีพิษ ทั้งงูไม่มีพิษ ก็เล่นหัวกับพังพอนทั้งหลาย
                         ฝูงหนูบ้าน มีใจคุ้นกันสนิทก็จับกลุ่มกันใกล้กับหัวของ
                         แมว.
                                   ความระหายน้ำ ในโลกของปีศาจ ที่ไม่ได้น้ำมา
                         เป็นพุทธันดร ก็หายไป คนค่อมก็มีกายงามสม ส่วน
                         คนใบ้ก็พูดได้ไพเราะ.
                                   ส่วนหมู่สัตว์ที่มีจิตเลื่อมใส ก็กล่าวปิยวาจาแก่กัน
                         และกัน ฝูงม้าที่มีใจร่าเริงก็ลำพองร้อง แม้ฝูงช้างใหญ่
                         เมามันก็ส่งเสียงโกญจนาท.
                                   รอบๆ หมื่นโลกธาตุ ก็เกลื่อนกลาดด้วยจุรณ-
                         จันทน์หอมกรุ่น อบอวลหวลหอมด้วยกลิ่นดอกไม้
                         หญ้าฝรั่นและธูป มีมาลัยเป็นธงใหญ่งามต่างๆ.
               ก็ในบุพนิมิต ๓๒ นั้น
               ๑. ความไหวแห่งหมื่นโลกธาตุ เป็นบุพนิมิตแห่งการได้พระสัพพัญญุตญาณของพระองค์
               ๒. การประชุมเทวดาทั้งหลายในจักรวาลเดียว เป็นบุพนิมิตแห่งการประชุมพร้อมเพรียงกันรับธรรม ในกาลที่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมจักร
               ๓. การรับของเทวดาทั้งหลายก่อน เป็นบุพนิมิตแห่งการได้รูปาวจรฌาน ๔
               ๔. การรับของมนุษย์ทั้งหลายภายหลัง เป็นบุพนิมิตแห่งการได้อรูปวจรฌาน ๔
               ๕. การประโคมของกลองหุ้มหนังและกลองทั้งหลายได้เอง เป็นบุพนิมิตแห่งการยังมหาชนให้ได้ยินเสียงกลองธรรมขนาดใหญ่
               ๖. การบรรเลงเสียงเพลงได้เองของพิณและอาภรณ์เครื่องประดับ เป็นบุพนิมิตแห่งการได้อนุบุพวิหารสมาบัติ.
               ๗. การที่เครื่องพันธนาการขาดหลุดได้เอง เป็นบุพนิมิตแห่งการตัดอัสมิมานะ
               ๘. การปราศจากโรคทุกอย่างของมหาชน เป็นบุพนิมิตแห่งการได้ผลแห่งสัจจะ ๔
               ๙. การเห็นรูปของคนตาบอดแต่กำเนิด เป็นบุพนิมิตแห่งการได้ทิพยจักษุ
               ๑๐. การได้ยินเสียงของคนหูหนวก เป็นบุพนิมิตแห่งการได้ทิพโสตธาตุ
               ๑๑. การเกิดอนุสสติของคนใบ้แต่กำเนิด เป็นบุพนิมิตแห่งการได้สติปัฏฐาน ๔
               ๑๒. การเดินไปได้ด้วยเท้าของคนขาพิการ เป็นบุพนิมิตแห่งการได้อิทธิบาท ๔
               ๑๓. การกลับมาสู่ท่าเรือสุปัฏฏนะได้เองของเรือที่ไปต่างประเทศ เป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุปฏิสัมภิทา ๔
               ๑๔. การรุ่งโรจน์ได้เองของรัตนะทั้งหลาย เป็นบุพนิมิตแห่งการได้แสงสว่างในธรรม
               ๑๕. การดับของไฟในนรก เป็นบุพนิมิตแห่งการดับไฟ ๑๑ กอง
               ๑๖. การไม่ไหลแห่งน้ำในแม่น้ำทั้งหลาย เป็นบุพนิมิตแห่งการได้จตุเวสารัชชญาณ
               ๑๗. แสงสว่างในโลกันตริกนรก เป็นบุพนิมิตแห่งการกำจัดความมืดคืออวิชชา แล้วเห็นแสงสว่างด้วยญาณ
               ๑๘. ความที่มหาสมุทรมีน้ำอร่อย เป็นบุพนิมิตแห่งความที่ธรรมวินัยมีรสเดียว คือรสพระนิพพาน
               ๑๙. ความไม่พัดแห่งลม เป็นบุพนิมิตแห่งการทำลายทิฏฐิ ๖๒
               ๒๐. ความที่ต้นไม้ทั้งหลายออกดอกบาน เป็นบุพนิมิตแห่งความที่ธรรมวินัยออกดอกบาน โดยดอกคือวิมุตติ
               ๒๑. ความจรัสแสงยิ่งของดวงจันทร์ เป็นบุพนิมิตแห่งความที่พระองค์เป็นที่รักใคร่ของคนเป็นอันมาก
               ๒๒. ความที่ดวงอาทิตย์สุกใสแต่ไม่ร้อนแรง เป็นบุพนิมิตแห่งความเกิดขึ้นแห่งความสุขกายสุขใจ
               ๒๓. การโผบินจากท้องฟ้าเป็นต้นสู่แผ่นดินของฝูงนก เป็นบุพนิมิตแห่งการฟังพระโอวาทแล้วถึงสรณะด้วยชีวิตของมหาชน
               ๒๔. การตกลงมาแห่งเมฆฝนที่เป็นไปในทวีปทั้ง ๔ ห่าใหญ่ เป็นบุพนิมิตแห่งฝนคือธรรมขนาดใหญ่
               ๒๕. การอยู่ในภพของตนๆ ระเริงเล่นด้วยการฟ้อนรำเป็นต้นของเทวดาทั้งหลาย เป็นบุพนิมิตแห่งการทรงบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงเปล่งพระอุทาน
               ๒๖. การเปิดได้เองของประตูเล็กและบานประตูใหญ่ เป็นบุพนิมิตแห่งการเปิดประตูคือมรรคมีองค์ ๘
               ๒๗. ความไม่มีความหิวบีบคั้น เป็นบุพนิมิตแห่งการได้อมตะด้วยกายคตาสติ
               ๒๘. ความไม่มีความระหายบีบคั้น เป็นบุพนิมิตแห่งความมีความสุขโดยสุขในวิมุตติ
               ๒๙. ความได้เมตตาจิตของผู้มีเวรทั้งหลาย เป็นบุพนิมิตแห่งการได้พรหมวิหาร ๔
               ๓๐. ความที่หมื่นโลกธาตุ มีธงคันหนึ่งเป็นมาลัย เป็นบุพนิมิตแห่งความที่พระศาสนามีธงอริยะเป็นมาลัย
               ๓๑-๓๒. ส่วนคุณวิเศษที่เหลือ พึงทราบว่าเป็นบุพนิมิตแห่งการได้พุทธคุณที่เหลือ.
               ครั้งนั้น พระทีปังกรราชกุมารถูกบำเรอด้วยสมบัติใหญ่ ทรงจำเริญวัยโดยลำดับ เสวยสิริราชย์บนปราสาท ๓ หลังที่เหมาะแก่ฤดูทั้ง ๓ ดั่งเสวยสิริในเทวโลก สมัยเสด็จไปทรงกีฬาในพระราชอุทยาน ทรงเห็นเทวทูต ๓ คือคนแก่ คนเจ็บ และคนตายตามลำดับ ทรงเกิดความสลดพระหฤทัย เสด็จกลับเข้าสู่กรุงรัมมวดี.
               ครั้นเสด็จเข้าพระนครแล้ว ครั้งที่ ๔ รับสั่งเรียกนายหัตถาจารย์ ตรัสกะเขาว่า พ่อเอย เราจักออกไปชมพระราชอุทยาน ท่านจงเตรียมยานคือช้างไว้ให้พร้อม. เขาทูลรับว่า พระเจ้าข้า แล้วก็จัดเตรียมช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก.
               ครั้งนั้น เทพบุตรชื่อวิสสุกรรมก็ช่วยประดับพระโพธิสัตว์ผู้ทรงผ้าห่มผ้านุ่งย้อมสีต่างๆ สวมกำไลมุกดาหารต้นแขน ทรงกำไลพระกรทอง มงกุฏและกุณฑลประดับด้วยรัตนะ ๙ อันงาม พระเมาลีประดับด้วยมาลัยดอกไม้หอมอย่างยิ่ง.
               ขณะนั้นพระทีปังกรราชกุมารอันช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือกแวดล้อมแล้วเหมือนเทพกุมาร เสด็จขึ้นทรงคอช้างต้น อันหมู่พลหมู่ใหญ่ห้อมล้อมแล้ว เสด็จเข้าพระราชอุทยานที่ให้เกิดความรื่นรมย์ ลงจากคอช้างแล้ว เสด็จตรวจพระราชอุทยานนั้น ประทับนั่งเหนือพื้นศิลา เป็นที่เย็นพระหฤทัยพระองค์เอง งามน่าชมอย่างยิ่ง ทรงเกิดจิตคิดจะทรงผนวช.
               ทันใดนั้นเอง ท้าวมหาพรหมผู้เป็นพระขีณาสพในชั้นสุทธาวาส ถือสมณบริขาร ๘ มาปรากฏในคลองจักษุของพระมหาบุรุษ.
               พระมหาบุรุษทรงเห็นมหาพรหมขีณาสพนั้นตรัสถามว่า นี้อะไร ทรงสดับว่าสมณบริขารก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับ ประทานไว้ในมือพนักงานผู้รักษาเรือนคลังเครื่องประดับ ทรงถือพระขรรค์มงคลทรงตัดพระเกศาพร้อมด้วยพระมงกุฏ ทรงเหวี่ยงไปในอากาศกลางหาว.
               ขณะนั้น ท้าวสักกะเทวราชทรงเอาผอบทองรับพระเกสาและพระมงกุฏนั้นไว้ ทรงทำเป็นมงกุฏเจดีย์สำเร็จด้วยแก้วมณีสีดอกอินทนิลขนาด ๓ โยชน์ เหนือยอดขุนเขาสิเนรุ.
               ครั้งนั้น พระมหาบุรุษทรงครองผ้ากาสาวะ ธงชัยแห่งพระอรหัต ที่เทวดาถวาย ทรงเหวี่ยงคู่ผ้า (คือผ้านุ่งผ้าห่ม) ไปในอากาศ พรหมก็ทรงรับผ้านั้น ทรงทำเป็นเจดีย์ที่สำเร็จด้วยรัตนะทั้งหมด ขนาด ๑๒ โยชน์ในพรหมโลก.
               ก็บุรุษ ๑ โกฏิบวชตามเสด็จพระทีปังกรราชกุมารซึ่งกำลังทรงผนวช พระโพธิสัตว์ซึ่งบริษัทนั้นห้อมล้อมแล้วได้ทรงบำเพ็ญปธานจริยา ประพฤติความเพียร ๑๐ เดือน.
               ต่อมาเพ็ญกลางเดือนวิสาขะ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังนครแห่งหนึ่ง.
               เล่ากันว่า มนุษย์ทั้งหลายในนครนั้น หุงข้าวมธุปายาสไม่มีน้ำ เพื่อทำสังเวยเทวดาในวันนั้น แต่มนุษย์ทั้งหลายได้ถวายแด่พระมหาสัตว์พระองค์นั้นพร้อมทั้งบริษัทที่เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ข้าวมธุปยาสไม่มีน้ำ ก็เพียงพอแก่ภิกษุทั้งหมดนับโกฏิ แต่ในบาตรของพระมหาบุรุษ เทวดาทั้งหลายใส่ทิพโอชะลงไป.
               พระมหาบุรุษ ครั้นเสวยมธุปายาสนั้นแล้ว ก็ทรงพักกลางวัน ณ ป่าสาละ ในพระราชอุทยานนั้นเอง เวลาเย็นทรงออกจากที่เร้นแล้ว ก็ทรงสละคณะ ทรงรับหญ้า ๘ กำที่อาชีวกชื่อสุนันทะ ถวายแล้ว เสด็จไปยังโคนต้นไม้สำหรับตรัสรู้ ชื่อปีปผลิ คือไม้เลียบ ทรงปูลาดหญ้าประทับนั่งขัดสมาธิเอาต้นไม้ตรัสรู้ขนาด ๙๐ ศอกไว้เบื้องพระปฤษฎางค์ ทรงอธิษฐานความ เพียรมีองค์ ๔ ประทับนั่ง ณ โคนโพธิพฤกษ์.
               ต่อนั้นก็ทรงกำจัดพลของมาร ณ ราตรี ปฐมยามทรงระลึกบุพเพนิวาสญาณ มัชฌิมยามทรงชำระทิพยจักษุ ปัจฉิมยามทรงพิจารณาปัจจยาการทั้งอนุโลมทั้งปฏิโลม ทรงเข้าจตุตถฌานมีอานาปานสติเป็นอารมณ์ ออกจากจตุตถฌานนั้นแล้ว ทรงหยั่งลงในขันธ์ ๕ ทรงเห็นลักษณะ ๕๐ ถ้วนโดยอุทยัพพยญาณ ทรงเจริญวิปัสสนาจนถึงโคตรภูญาณ.
               เวลาอรุณอุทัยก็ทรงแทงตลอดพุทธคุณทั้งสิ้นด้วยอริยมรรค ทรงบรรลือพุทธสีหนาท ทรงยับยั้งอยู่ใกล้ต้นโพธิพฤกษ์ตลอด ๗ สัปดาห์ ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ สุนันทาราม ด้วยทรงปฏิญญารับอาราธนาแสดงธรรมของพรหม ทรงยังเทวดาและมนุษย์ร้อยโกฏิให้ดื่มอมฤตธรรม ทรงหลั่งฝนคือธรรม เหมือนมหาเมฆทั้ง ๔ ทวีป เสด็จจาริกทั่วชนบท ปลดเปลื้องมหาชนให้พ้นจากเครื่องพันธนาการ.
               ได้ยินว่า ครั้งนั้น สุเมธบัณฑิตยับยั้งอยู่ด้วยสุขในสมาบัติ ไม่เห็นนิมิตเหล่านั้น ไม่เห็นนิมิตแห่งการไหวของแผ่นดิน.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   เมื่อเราประสบความสำเร็จ เป็นผู้ชำนาญในศาสนา
                         อย่างนี้ พระชินเจ้าผู้นำโลก พระนามว่าทีปังกรก็เสด็จอุบัติ.
                                   เรามัวเอิบอิ่มด้วยความยินดีในฌานเสีย จึงไม่ได้เห็น
                         นิมิต ๔ ในการเสด็จอุบัติ การประสูติ การตรัสรู้ การแสดง
                         ธรรม.

               แก้อรรถ               
               ทรงแสดงคำที่พึงตรัส ณ บัดนี้ ด้วยบทว่า เอวํ ในคาถานั้น.
               บทว่า เม แปลว่า เมื่อเรา. บทว่า สิทฺธิปฺปตฺตสฺส ได้แก่ ถึงความสำเร็จอภิญญา ๕.
               บทว่า วสีภูตสฺส ได้แก่ เป็นผู้ชำนาญแล้ว. อธิบายว่า ถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญ.
               บทว่า สาสเน ได้แก่ ในศาสนาของดาบสผู้อาศัยความสงัด. ฉัฏฐีวิภัตติพึงเห็นว่าใช้ในลักษณะอนาทระ.
               บทว่า ชิโน ได้แก่ ชื่อว่าชินะ เพราะชนะข้าศึกคือกิเลส.
               บทว่า อุปฺปชฺชนฺเต ได้แก่ ในการถือปฏิสนธิ.
               บทว่า ชายนฺเต ได้แก่ ในการประสูติจากพระครรภ์พระมารดา.
               บทว่า พุชฺฌนฺเต ได้แก่ ในการตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ.
               บทว่า ธมฺมเทสเน ได้แก่ ในการประกาศพระธรรมจักร.
               บทว่า จตุโร นิมิตฺเต ได้แก่ นิมิต ๔. อธิบายว่า นิมิตมีหมื่นโลกธาตุไหวเป็นต้นในฐานะ ๔ คือ ถือปฏิสนธิ ประสูติ ตรัสรู้และประกาศพระธรรมจักร.
               ผู้ทักท้วงในข้อนี้กล่าวว่า นิมิตเหล่านั้นมีมาก เหตุไรจึงตรัสว่านิมิต ๔ ไม่สมควรมิใช่หรือ.
               ตอบว่า ไม่สมควร หากว่านิมิตเหล่านั้นมีมาก แต่ตรัสว่า นิมิต ๔ เพราะเป็นไปในฐานะ ๔.
               บทว่า นาทฺทสํ ได้แก่ นาทฺทสึ แปลว่าไม่ได้เห็นแล้ว. บัดนี้เมื่อทรงแสดงเหตุในการไม่เห็นนิมิต ๔ นั้น จึงตรัสว่า มัวเอิบอิ่มด้วยความยินดีในฌาน ดังนี้.
               คำว่า ฌานรติ นี้เป็นชื่อของสุขในสมาบัติ. อธิบายว่า ไม่ได้เห็นนิมิตเหล่านั้น เพราะเพียบพร้อมอยู่ด้วยความยินดีในฌาน.
               ก็สมัยนั้น พระทีปังกรทศพลอันพระขีณาสพสี่แสนรูปแวดล้อมแล้ว เสด็จจาริกไปตามลำดับก็ลุนครชื่อรัมมะ ที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ประทับอยู่ ณ พระสุทัสมหาวิหาร.
               ชาวรัมมนครฟังข่าวว่า ได้ยินว่า พระทีปังกรทศพลทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐแล้ว เสด็จจาริกมาโดยลำดับถึงรัมมนคร แล้วประทับอยู่ ณ พระสุทัสมหาวิหาร ก็ถือเอาเภสัชมีเนยเป็นต้น ฉันอาหารเช้าแล้ว ก็ห่มผ้าอันสะอาด ถือดอกไม้ธูปและของหอม เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้นเฝ้าแล้วก็ถวายบังคม บูชาด้วยดอกไม้เป็นต้น นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ฟังธรรมกถาอันไพเราะยิ่ง นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้น ลุกจากที่นั่งแล้ว ทำประทักษิณพระทศพล แล้วกลับไป.
               วันรุ่งขึ้น ชาวเมืองเหล่านั้นก็จัดอสทิสมหาทาน สร้างมณฑปมุงบังด้วยดอกบัวขาบอันไร้มลทินและน่ารัก ประพรมด้วยของหอม ๔ ชนิด โรยดอกไม้หอมครบ ๕ ทั้งข้าวตอก ตั้งหม้อน้ำ เต็มด้วยน้ำเย็นอร่อยไว้ ๔ มุม มณฑปปิดด้วยใบตอง ผูกเพดานผ้า งามน่าชมอย่างยิ่ง เสมือนดอกชบา ไว้บนมณฑป ประดับด้วยดาวทอง ดาวแก้วมณีและดาวเงิน ห้อยพวงของหอมพวงดอกไม้พวงใบไม้และพวงรัตนะ สะเดาะวันเคราะห์ร้ายด้วยธูปทั้งหลาย และทำรัมมนครที่น่ารื่นรมย์นั้นให้สะอาดสะอ้านทั่วทั้งนคร ตั้งต้นกล้วยพร้อมทั้งผลและหม้อเต็มน้ำประดับด้วยดอกไม้ และยกธงประฏากทั้งหลายหลากๆ สี ล้อมด้วยกำแพงผ้าม่านทั้งสองข้างถนนใหญ่ ตกแต่งทางเสด็จมาของพระทีปังกรทศพล ใส่ดินฝุ่นตรงที่น้ำเซาะ ถมตรงที่เป็นตม ทำที่ขรุขระให้เรียบ โรยด้วยทรายที่เสมือนมุกดา โรยด้วยดอกไม้ครบ ๕ ทั้งข้าวตอก จัดหนทางที่มีต้นกล้วยต้นหมากพร้อมทั้งผลไว้.
               สมัยนั้น สุเมธดาบสโลดขึ้นจากอาศรมของตนเหาะไปทางอากาศส่วนเบื้องบนของมนุษย์ชาวรัมมนครเหล่านั้น เห็นพวกเขากำลังแผ้วถางทางและตกแต่งกัน ก็คิดว่าเหตุอะไรหนอ ลงจากอากาศทั้งที่คนเห็นกันหมด ยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ถามคนเหล่านั้นว่า ท่านผู้เจริญ พวกท่านแผ้วถางทางนี้เพื่อประโยชน์อะไรดังนี้.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   มนุษย์ทั้งหลาย แถบถิ่นปัจจันตประเทศนิมนต์
                         พระตถาคตแล้ว มีใจเบิกบาน ช่วยกันแผ้วถางหนทาง
                         เสด็จมาของพระองค์.
                                   สมัยนั้น เราออกจากอาศรมของตน สลัดผ้า
                         เปลือกไม้เหาะไปในบัดนั้น.
                                   เห็นคนที่เกิดความโสมนัส ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ
                         แล้ว ก็ลงจากท้องฟ้า ถามมนุษย์ทั้งหลายไปทันที.
                                   มหาชนผู้เกิดความโสมนัส ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ
                         แล้ว พวกท่านแผ้วถางหนทางเพื่อใคร.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจนฺตเทสวิสเย ได้แก่ ชนบทที่เข้าใจกันว่า ปัจจันตประเทศอยู่ข้างหนึ่งของมัชฌิมประเทศนั่นเอง.
               บทว่า ตตฺส อาคมนํ มคฺคํ ความว่า หนทางที่พระองค์พึงเสด็จมา.
               บทว่า อหํ เตน สมเยน ได้แก่ ในสมัยนั้น เรา.
               คำนี้เป็นตติยาวิภัตติพึงเห็นว่าลงในอรรถสัตตมีวิภัตติ.
               บทว่า สกสฺสมา ได้แก่ ออกจากอาศรมบทของตน.
               บทว่า ธุนนฺโต แปลว่า สลัดทิ้ง. พึงทราบว่า สองบทนี้ว่า เตน สมเยน และ ตทา เชื่อมความกับกิริยา ออกไป ของบทต้น และกิริยาไปของบทหลัง เพราะมีความอย่างเดียวกัน. นอกจากนี้ ก็ไม่พ้นโทษคือการกล่าวซ้ำ.
               บทว่า ตทา แปลว่า ในสมัยนั้น.
               บทว่า เวทชาตํ ได้แก่ เกิดโสมนัสเอง.
               ๓ บทนี้ว่า ตุฏฺฐหฏฺฐํ ปโมทิตํ เป็นไวพจน์ของกันและกัน แสดงความของกันและกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ยินดีด้วยสุข ร่าเริงด้วยปีติ บันเทิงใจด้วยปราโมช.
               บทว่า โอโรหิตฺวาน แปลว่า ลงแล้ว.
               บทว่า มนุสฺเส ปุจฺฉิ แปลว่า ถามผู้คนทั้งหลาย. หรือว่าบาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ตาวเท แปลว่า ครั้งนั้น. อธิบายว่า ขณะนั้นนั่นเอง.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความที่ถาม จึงตรัสคำว่า ยินดีร่าเริง บันเทิงใจ เป็นต้น ในคำนั้นพึงนำศัพท์ว่า โสเธติ มาประกอบความอย่างนี้ว่า มหาชนนี้ยินดีร่าเริงแล้ว มีใจบันเทิงแล้ว ย่อมแผ้วถางทาง เพราะเหตุไรจึงแผ้วถางทาง หรือว่า แผ้วถางทางเพื่อประโยชน์แก่ใคร ความนอกจากนี้ไม่ถูก.
               บทว่า โสธียติ ได้แก่ ทำความสะอาด.
               คำเหล่านี้ว่า มคฺโค อญฺชสํ วฏุมายนํ เป็นไวพจน์ของทางทั้งนั้น.
               มนุษย์เหล่านั้นถูกสุเมธดาบสนั้นถามอย่างนี้แล้วจึงตอบว่า ท่านสุเมธเจ้าข้า ท่านไม่รู้อะไร พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จจาริกไปในชนบทมาถึงนครของพวกเรา ประทับอยู่ ณ พระสุทัสสนมหาวิหาร พวกเรานิมนต์พระผู้มีภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงช่วยกันแผ้วถางทางเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
               ลำดับนั้น สุเมธบัณฑิตสดับคำนั้นแล้วก็คิดว่า แม้คำโฆษณาว่า พุทฺโธ นี้ก็หาได้ยาก จะป่วยกล่าวไปไยถึงความเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ถ้าอย่างนั้น แม้เราจะร่วมกับคนพวกนี้ช่วยกันแผ้วถางทางก็ควรแท้.
               ท่านจึงกล่าวกะมนุษย์พวกนั้นว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าพวกท่านแผ้วถางทางนี้เพื่อพระพุทธเจ้าไซร้ ก็จงให้โอกาสแห่งหนึ่งแก่เราบ้าง แม้เราก็จักร่วมกับพวกท่าน ช่วยแผ้วถางทางเพื่อพระพุทธเจ้า.
               พวกมนุษย์เหล่านั้นก็รับปากว่า ดีสิ เมื่อรู้อยู่ว่า ท่านสุเมธบัณฑิตผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก จึงกำหนดโอกาสแห่งหนึ่งซึ่งแผ้วถางยังไม่ดี ถูกน้ำเซาะพังขรุขระอย่างเหลือเกินมอบให้ด้วยกล่าวว่า ขอท่านจงแผ้วถางโอกาสตรงนี้และตกแต่งด้วย.
               สุเมธบัณฑิตเกิดปีติมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ จึงคิดว่า เราสามารถที่จะทำโอกาสแห่งนี้ให้น่าชมอย่างยิ่งได้ด้วยฤทธิ์ แต่เมื่อทำอย่างนั้นแล้วก็ยังไม่จุใจเรา แต่วันนี้ เราจะช่วยขวนขวายด้วยกายจึงควร แล้วจึงนำดินฝุ่นมาถมประเทศแห่งนั้นให้เต็ม.
               แต่เมื่อสุเมธบัณฑิตนั้นแผ้วถางประเทศแห่งนั้นยังไม่เสร็จ ทำค้างไว้ มนุษย์ชาวรัมมนครก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงเวลาอาหารว่า อาหารเสร็จแล้ว พระเจ้าข้า.
               เมื่อมนุษย์เหล่านั้นกราบทูลเวลาอาหารอย่างนั้นแล้ว พระทศพลทรงนุ่งอันตรวาสกสองชั้นสีเสมือนดอกชบา ปิดมณฑลทั้งสาม ทรงคาดประคดเอวอันมีสิริดังสายฟ้าแลบเหนืออันตรวาสกนั้น เหมือนล้อมกองดอกชบาด้วยสายสร้อยทอง ทรงห่มบังสุกุลจีวรอันประเสริฐสีแดงเสมือนดอกทองกวาวที่ชุ่มด้วยน้ำครั่ง ประหนึ่งรดน้ำครั่งลงเหนือยอดเขาทอง ประหนึ่งล้อมเจดีย์ทองด้วยตาข่ายแก้วประพาฬ ประหนึ่งสวมของมีค่าทำด้วยทองด้วยผ้ากัมพลแดง และประหนึ่งปิดดวงจันทร์ในฤดูสารทด้วยพลาหกแดง เสด็จออกจากประตูพระคันธกุฎี ประหนึ่งราชสีห์ออกจากถ้ำทอง ประทับยืนที่หน้าพระคันธกุฎี.
               ขณะนั้น ภิกษุทั้งหมดถือบาตรจีวรของตนๆ แวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุที่ยืนแวดล้อมเหล่านั้นก็ได้เป็นอย่างนั้น.
                                   ก็ภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ผู้บอก
                         กล่าว ผู้อดทนต่อคำว่ากล่าว เป็นผู้สงัด ไม่คลุกคลี
                         ถูกแนะนำแล้ว ผู้ติบาป.
                                   ภิกษุแม้ทุกรูป ถึงพร้อมด้วยศีล ฉลาดในสมาธิ
                         และฌาน ถึงพร้อมด้วยปัญญาและวิมุตติ ผู้ประกอบ
                         ด้วยจรณะ ๑๕.
                                   เป็นผู้สิ้นอาสวะแล้ว ถึงความชำนาญ มีฤทธิ์
                         มียศ มีอินทรีย์สงบ ถึงความฝึกแล้ว เป็นผู้หมดจด
                         แล้ว สิ้นภพใหม่แล้ว.

               ด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เองปราศจากราคะ อันเหล่าภิกษุผู้ปราศจากราคะแวดล้อมแล้ว ทรงปราศจากโทสะ อันเหล่าภิกษุผู้ปราศจากโทสะแวดล้อมแล้ว ทรงปราศจากโมหะ อันเหล่าภิกษุผู้ปราศจากโมหะแวดล้อมแล้ว ช่างงามรุ่งโรจน์อย่างเหลือเกิน.
               ครั้งนั้น พระศาสดาอันเหล่าภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ผู้ได้อภิญญา ๖ จำนวนสี่แสนรูปแวดล้อมแล้ว เสด็จพุทธดำเนินสู่ทางนั้นที่เขาประดับตกแต่งแล้ว ด้วยพุทธลีลาหาที่เปรียบมิได้ ซึ่งกำลังพระกุศลที่ทรงสะสมได้ตลอดสมัยที่นับไม่ได้บันดาลให้เกิดแล้ว ประหนึ่งท้าวสหัสนัยน์ผู้มีพระเนตรพันดวงอันหมู่เทพแวดล้อมแล้ว ประหนึ่งท้าวหาริตมหาพรหมอันหมู่พรหมแวดล้อมแล้ว และประหนึ่งดวงจันทร์ในฤดูสารท อันหมู่ดวงดาวแวดล้อมแล้ว.
                                   เขาว่าด้วยพระรัศมีมีสีดังทอง พระจอมปราชญ์
                         ผู้มีวรรณะดั่งทอง ทรงทำต้นไม้ในหนทางให้มีสีดั่งทอง
                         ทรงทำดอกไม้ให้มีสีดั่งทอง เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่
                         ทาง.

               แม้สุเมธดาบสจ้องตาตรวจดูพระอัตภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร ผู้เสด็จมาตามทางที่เขาประดับตกแต่งแล้วนั้น ซึ่งประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ฉาบด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ ล้อมด้วยพระรัศมีวาหนึ่ง มีสิริเหมือนแก้วมณีสีดอกอินทนิล กำลังเปล่งพระพุทธรัศมีมีพรรณะ ๖ ประดุจสายฟ้าแลบมีประการต่างๆ ในอากาศ มีพระรูปพระโฉมงดงาม แล้วคิดว่า
               วันนี้ เราสละชีวิตเพื่อพระทศพลก็ควร ตกลงใจว่าขอพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่าทรงเหยียบที่ตมเลย ขอทรงเหยียบหลังเราเสด็จไปพร้อมกับพระขีณาสพสี่แสนรูป เหมือนทรงเหยียบสะพานที่มีแผ่นกระดานเป็นแก้วผลึกเถิด ข้อนั้นก็จักเป็นประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน ดังนี้แล้วก็เปลื้องผม ปูลาดท่อนหนังชฎาและผ้าเปลือกไม้ลงที่ตม ซึ่งมีสีดำ แล้วทอดตัวนอนบนหลังตมในที่นั้นนั่นเอง.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         มนุษย์เหล่านั้นถูกเราถามแล้วก็ตอบว่า พระพุทธ
               เจ้าพระนามว่า ทีปังกร ผู้ยอดเยี่ยม ผู้ชนะ ผู้นำโลกทรง
               อุบัติแล้วในโลก.
                         พวกเราแผ้วถางหนทาง ที่ชื่อว่ามรรค อัญชสะ
               วฏุมะ อายนะ ก็เพื่อพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
                         เพราะได้ยินคำว่า พุทโธ ก็เกิดปีติขึ้นทันที เรา
               เมื่อกล่าวว่า พุทโธ พุทโธ ก็ซาบซึ้งโสมนัส.
                         เรายินดีปีติใจแล้ว ยืนคิดในที่นั้นว่า จำเราจัก
               ปลูกพืชทั้งหลายในพระพุทธเจ้าทีปังกรพระองค์นี้ ขอ
               ขณะอย่าล่วงไปเปล่าเลย.
                         เราจึงกล่าวว่า ผิว่าพวกท่านแผ้วถางหนทางเพื่อ
               พระพุทธเจ้าไซร้ ขอพวกท่านจงให้โอกาสแห่งหนึ่งแก่
               เราด้วย ถึงตัวเราก็จักแผ้วถางหนทาง.
                         มนุษย์เหล่านั้น ได้ให้โอกาสแก่เรา เพื่อแผ้วถาง
               หนทางในครั้งนั้น เราคิดว่า พุทโธ พุทโธ ไปพลางแผ้ว
               ถางหนทางไปพลางในครั้งนั้น.
                         เมื่อโอกาสของเรายังไม่ทันเสร็จ พระชินมหามุนี
               ทีปังกร พร้อมด้วยภิกษุสี่แสนรูป ซึ่งเป็นผู้มีอภิญญา ๖
               ผู้คงที่ ผู้สิ้นอาสวะ ผู้ไร้มลทินก็เสด็จพุทธดำเนินไปยัง
               หนทาง.
                         การรับเสร็จก็ดำเนินไป เภรีทั้งหลายก็ประโคม
               มนุษย์และเทวดาทั้งหลายบันเทิงใจแล้ว ก็พากันแซ่
               ซ้องสาธุการ.
                         พวกเทวดาก็เห็นพวกมนุษย์ แม้พวกมนุษย์ก็
               เห็นพวกเทวดา เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ก็ประ-
               คองอัญชลี ตามเสด็จพระตถาคต.
                         พวกเทวดาก็บรรเลงด้วยดนตรีทิพย์ พวกมนุษย์
               ก็บรรเลงด้วยดนตรีมนุษย์ เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก
               ก็บรรเลงตามเสด็จพระตถาคต
                         ในอากาศ พวกเทวดา เหล่าเดินหน ก็โปรยดอก
               มณฑารพ ดอกปทุม ดอกปาริฉัตตกะอันเป็นของทิพย์
               ไปทั่วทิศานุทิศ.
                         ในอากาศ พวกเทวดาเหล่าเดินหน ก็โปรยจุรณ
               จันทน์ และของหอมอย่างดี อันเป็นของทิพย์ไปสิ้นทั่ว
               ทิศานุทิศ.
                         พวกมนุษย์ ที่ไปตามภาคพื้นดิน ก็ชูดอกจำปา
               ดอกช้างน้าว ดอกกระทุ่ม ดอกกระถินพิมาน ดอก
               บุนนาค ดอกเกด ทั่วทิศานุทิศ.
                         เราเปลื้องผม ปูลาดผ้าเปลือกไม้และท่อนหนัง
               ลงบนตมในที่นั้น นอนคว่ำหน้า.
                         ด้วยประสงค์ว่า ขอพระพุทธเจ้ากับศิษย์ทั้งหลาย
               จงทรงเหยียบเราเสด็จไป อย่าทรงเหยียบที่ตมเลย ข้อนี้
               จักเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิยากํสุ แปลว่า พยากรณ์แล้ว. ปาฐะว่า ทีปงฺกโร นาม ชิโน ตสฺส โสธียตี ปโถ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า โสมนสสํ ปเวทยึ ความว่า เสวยโสมนัส.
               บทว่า ตตฺถ ญตฺวา ได้แก่ ยืนอยู่ในประเทศที่ลงจากอากาศนั่นเอง.
               บทว่า สํวิคฺคมานโส ได้แก่ มีใจประหลาดเพราะปีติ.
               บทว่า อิธ ได้แก่ ในบุญเขตคือพระพุทธเจ้าทีปังกรพระองค์นี้.
               บทว่า พีชานิ ได้แก่ พืชคือกุศล.
               บทว่า โรปิสสํ ได้แก่ จักปลูก.
               บทว่า ขโณ ได้แก่ ชุมนุมขณะที่ ๙ เว้นจากอขณะ ๘ ขณะนั้นหาได้ยากเราก็ได้แล้ว.
               บทว่า เว เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า มา อุปจฺจคา ความว่า ขณะนั้น อย่าได้เป็นไปล่วง คืออย่าล่วงเลยไป.
               บทว่า ททาถ แปลว่า จงให้.
               บทว่า เต ได้แก่ พวกมนุษย์ที่เราถาม.
               บทว่า โสเธมหํ ตทา ตัดบทเป็น โสเธมิ อหํ ตทา.
               บทว่า อนิฏฺฐิเต ได้แก่ ยังไม่เสร็จ ทำค้างไว้.
               ในบทว่า ขีณาสเวหิ นี้ อาสวะมี ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฺฐาสวะ อวิชชาสวะ. อาสวะ ๔ เหล่านี้ของภิกษุเหล่าใดสิ้นไปแล้ว ละแล้ว ถอนแล้ว ระงับแล้ว ไม่ควรเกิด อันไฟคือญาณเผาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าขีณาสพ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ด้วยภิกษุขีณาสพเหล่านั้น ชื่อว่าไม่มีมลทิน ก็เพราะเป็นผู้สิ้นอาสวะนั่นเอง.
               ในบทว่า เทวา มนุสฺเส ปสฺสนฺติ นี้ไม่มีคำที่จะกล่าวในข้อที่เทวดาทั้งหลายเห็นมนุษย์.
               ด้วยว่า โดยการเห็นอย่างปกติ แม้เทวดาทั้งหลายย่อมเห็นมนุษย์ทั้งหลายเหมือนอย่างที่มนุษย์ทั้งหลายยืนอยู่ในที่นี่เห็นอยู่.
               บทว่า เทวตา ได้แก่ เทพทั้งหลาย.
               บทว่า อุโภปิ ได้แก่ เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก.
               บทว่า ปญฺชลิกา ได้แก่ ประคองอัญชลี. อธิบายว่า เอามือทั้งสองตั้งไว้เหนือศีรษะ.
               บทว่า อนุยนฺติ ตถาคตํ ได้แก่ ไปข้างหลังของพระตถาคต.
               พึงทราบลักษณะว่า เมื่ออนุโยค [นิคคหิต] มีอยู่ ทุติยาวิภัตติ ย่อมลงในอรรถฉัฏฐีวิภัตติ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า อนุยนฺติ ตถาคตํ.
               บทว่า วชฺชยนฺตา แปลว่า บรรเลงอยู่.
               บทว่า มนฺทารวํ ได้แก่ ดอกมณฑารพ.
               บทว่า ทิโสทิสํ แปลว่า โดยทุกทิศ. บทว่า โอกิรนฺติ แปลว่า โปรย.
               บทว่า อากาสนภคตา แปลว่า ไปในท้องฟ้าคืออากาศ.
               อีกนัยหนึ่งไปสู่อากาศ คือไปสวรรค์นั่นเอง.
               จริงอยู่ สวรรค์ท่านเรียกว่าท้องฟ้า.
               บทว่า มรู แปลว่า เทวดาทั้งหลาย.
               บทว่า สรลํ ได้แก่ ดอกสน. บทว่า นีปํ ได้แก่ ดอกกะทุ่ม.
               บทว่า นาคปุนฺนาคเกตกํ ได้แก่ ดอกกะถิน ดอกบุนนาค ดอกเกต.
               บทว่า ภูมิตลคตา ได้แก่ ไปที่แผ่นดิน.
               บทว่า เกเส มุญฺจิตฺวาหํ ความว่า เปลื้อง คือสยายผมจากกลุ่มและชฎาเกลียวที่มุ่นไว้.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในโอกาสที่ให้แก่เรา. บทว่า จมฺมกํ ได้แก่ ท่อนหนัง.
               บทว่า กลเล ได้แก่ ในโคลนตม. บทว่า อวกุชฺโช แปลว่า คว่ำหน้า.
               นิปชฺชหํ ตัดบทเป็น นิปชฺชึ อหํ.
               ศัพท์ มา ในบทว่า มา นํ เป็นนิบาตลงในอรรถปฏิเสธ.
               ศัพท์ว่า นํ เป็นนิบาตลงในอรรถปทบูรณะทำบทให้เต็มความว่า ขอพระพุทธเจ้าอย่าทรงเหยียบที่ตมเลย.
               บทว่า หิตาย เม ภวิสฺสติ ความว่า การไม่ทรงเหยียบที่ตมนั้นจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา ตลอดกาลนาน. ปาฐะว่า สุขาย เม ภวิสฺสติ ดังนี้ก็มี.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ รัตนะจงกรมกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=6654&Z=6873
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :