ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 8อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 9อ่านอรรถกถา 32 / 10อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๙. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน (๗)

               ๗. พรรณนาอัญญาโกณฑัญญเถราปทาน               
               คำมีอาทิว่า ปทุมุตฺตรสมฺพุทฺธํ ดังนี้ เป็นอปทานของท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระ.
               ได้ยินว่า พระเถระนี้ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าปางก่อนทั้งหลาย ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ได้บังเกิดในตระกูลของคฤหบดีมหาศาล ในหังสวดีนคร ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว.
               วันหนึ่ง ฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้รัตตัญญูรู้แจ้งธรรมก่อน ในพระศาสนาของพระองค์ แม้ตนเองก็ปรารถนาฐานันดรนั้น จึงยังมหาทานให้เป็นไปตลอด ๗ วัน แด่พระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุหนึ่งแสนเป็นบริวารแล้วได้กระทำความปรารถนาไว้.
               ฝ่ายพระศาสดาทรงเห็นว่าความปรารถนาของเขานั้นไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์สมบัติอันจะมี. เขาทำบุญทั้งหลายตลอดชั่วชีวิต เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว เมื่อมหาชนชวนกันให้ประดิษฐานพระเจดีย์ เขาให้สร้างเรือนแก้วไว้ในภายในพระเจดีย์และให้สร้างเรือนแก้วอันมีค่าจำนวนหนึ่งพันรายล้อมพระเจดีย์.
               เขาทำบุญทั้งหลายอย่างนี้ จุติจากชาตินั้นท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เป็นกุฎุมพีชื่อว่ามหากาล ให้ฉีกท้องข้าวสาลีในนามีประมาณ ๘ กรีสแล้วให้จัดปรุงข้าวปายาสน้ำนม ไม่เจือด้วยข้าวสาลีที่ถือเอาแล้ว ใส่น้ำผึ้ง เนยใส และน้ำตาลกรวดลงในข้าวปายาสนั้น แล้วได้ถวายแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน. ที่ที่เขาฉีกท้องข้าวสาลีถือเอาแล้วๆ คงเต็มบริบูรณ์อยู่ตามเดิม.
               ในเวลาข้าวสาลีเป็นข้าวเม่า ได้ให้ทานชื่อว่าเลิศด้วยข้าวเม่า, ในเวลาเกี่ยว ได้ให้ทานเลิศในกาลเกี่ยว, ในคราวทำขะเน็ด ได้ให้ ทานอันเลิศในคราวทำขะเน็ด, ในคราวทำให้เป็นฟ่อนเป็นต้น ได้ให้ทานอันเลิศในคราวทำเป็นฟ่อน. ได้ให้ทานอันเลิศในคราวขนเข้าลาน, ได้ให้ ทานอันเลิศในคราวทำให้เป็นลอม, ได้ให้ทานอันเลิศในคราวตวง, และได้ให้ทานอันเลิศในคราวขนขึ้นฉาง, ได้ให้ทานอันเลิศ ๙ ครั้งในหน้าข้าวกล้าครั้งหนึ่งๆ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้. ข้าวกล้าแม้นั้นก็ได้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น.
               เขาทำบุญทั้งหลายตลอดชั่วชีวิตด้วยอาการอย่างนี้ จุติจากชาตินั้นบังเกิดในเทวโลก. ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในบ้านพราหมณ์ชื่อว่าโทณวัตถุ ในที่ไม่ไกลจากนครกบิลพัสดุ์ ก่อนหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายอุบัติขึ้น.
               เขาได้มีนามอันมาตามโคตรว่า โกณฑัญญะ. เขาเจริญวัยแล้ว เรียนจบไตรเพท และได้ถึงความสำเร็จในลักษณมนต์ทั้งหลาย.
               สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายจุติจากดุสิตบุรี บังเกิดในพระราชมณเฑียรของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ในกบิลพัสดุ์บุรี. ในวันเฉลิมพระนามของพระราชกุมารนั้น เมื่อเขาเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนเข้ามา พราหมณ์ ๘ คนเหล่าใดอันเขาเชิญเข้าไปยังท้องพระโรง เพื่อพิจารณาพระลักษณะ.
               ในบรรดาพราหมณ์ ๘ คนนั้น โกณฑัญญพราหมณ์เป็นผู้หนุ่มกว่าพราหมณ์ทั้งหมด เห็นความสำเร็จแห่งพระลักษณะของพระมหาบุรุษ ตกลงใจว่าท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าโดยแน่แท้ จึงเที่ยวคอยดูการออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ของพระมหาสัตว์.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์เจริญด้วยบริวารหมู่ใหญ่ ถึงความเจริญโดยลำดับ ถึงความแก่กล้าแห่งพระญาณแล้ว จึงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ในพรรษาที่ ๒๙ ทรงผนวชที่ฝั่งแม่น้ำอโนมานที เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาโดยลำดับ แล้วเริ่มบำเพ็ญเพียร.
               ในกาลนั้น โกณฑัญญมาณพรู้ว่าพระมหาสัตว์ทรงผนวชแล้ว จึงพร้อมกับพวกลูกของพราหมณ์ผู้ทำนายพระลักษณะมีวัปปมาณพเป็นต้น มีตนเป็นที่ ๕ พากันบวชแล้ว เข้าไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์โดยลำดับ บำรุงพระโพธิสัตว์นั้นอยู่ ๖ พรรษา เกิดเบื่อระอาเพราะพระโพธิสัตว์นั้นเสวยพระกระยาหารหยาบ จึงได้หลีกไปยังป่าอิสิปตนมิคทายวัน.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ได้พระกำลังกายเพราะทรงบริโภคพระอาหารหยาบ จึงประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์ที่ควงไม้โพธิ์ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเหยียบย่ำกระหม่อมแห่งมารทั้ง ๓ เป็นพระอภิสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงยับยั้งอยู่ที่โพธิมัณฑสถานนั่นแหละ ๗ สัปดาห์ ทรงทราบความแก่กล้าแห่งญาณของพระปัญจวัคคีย์แล้ว จึงเสด็จไปยังอิสิปตนมิคทายวันในวันเพ็ญเดือน ๘ แล้วตรัสพระธัมมจักกัปปวัตสูตรแก่พระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น.
               ในเวลาจบพระธรรมเทศนา พระโกณฑัญญเถระพร้อมกับพรหม ๑๘ โกฏิ ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล. ครั้นในดิถีที่ ๕ แห่งปักษ์ ท่านได้ทำให้แจ้งพระอรหัตด้วยอนัตตลักขณสูตรเทศนา.
               พระโกณฑัญญเถระนั้น ครั้นบรรลุพระอรหัตอย่างนี้แล้วคิดว่า เราทำกรรมอะไรจึงได้บรรลุโลกุตรสุข เมื่อใคร่ครวญดูก็ได้รู้บุพกรรมของตนโดยประจักษ์ เมื่อจะแสดงอปทานแห่งความประพฤติในกาลก่อนด้วยอำนาจอุทาน ด้วยความโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปทุมุตฺตรสมฺพุทฺธํ ดังนี้.
               เนื้อความแห่งคำนั้นได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า โลกเชฏฺฐํ วินายกํ ความว่า ทรงเป็นหัวหน้า คือเป็นประธานแห่งสัตว์โลกทั้งสิ้น. ชื่อว่าทรงนำไปให้วิเศษ เพราะทรงนำไปโดยวิเศษ คือทรงยังเหล่าเวไนยสัตว์ให้ถึงฝั่งอื่นแห่งสงสารสาคร คือพระอมตมหานิพพาน. ซึ่งพระสัมพุทธเจ้านั้นผู้ทรงนำไปโดยวิเศษ.
               บทว่า พุทฺธภูมิมนุปฺปตฺตํ ความว่า ที่ชื่อว่าพุทธภูมิ เพราะเป็นภูมิ คือเป็นสถานที่ประดิษฐานแห่งพระพุทธเจ้า, ได้แก่พระสัพพัญญุตญาณ. ที่ชื่อว่าบรรลุถึงพุทธภูมิ เพราะบรรลุถึงคือแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณนั้น. ซึ่งพระสัมพุทธเจ้านั้นผู้บรรลุถึงพุทธภูมิแล้ว. อธิบายว่า บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ คือเป็นพระพุทธเจ้า.
               บทว่า ปฐมํ อทฺทสํ อหํ ความว่า ในเวลาใกล้รุ่งแห่งคืนวันเพ็ญเดือน ๖ เราได้เห็นพระปทุมุตตรสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก.
               บทว่า ยาวตา โพธิยา มูเล เชื่อมความว่า ยักษ์ทั้งหลายมีประมาณเท่าใดมาประชุมกันแล้ว คือเป็นหมวดหมู่อยู่ที่ใกล้ต้นโพธิ์ กระทำอัญชลี วางกระพุ่มอัญชลีอันเป็นที่ประชุมนิ้วทั้ง ๑๐ ไว้เหนือเศียรไหว้คือนมัสการพระสัมพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้ได้เป็นพระพุทธเจ้า.
               บทว่า สพฺเพ เทวา ตุฏฺฐมนา เชื่อมความว่า เทวดาทั้งหมดนั้นมาสู่สถานที่แห่งพระสัมพุทธะผู้เป็นพระพุทธเจ้า ต่างมีจิตยินดีท่องเที่ยวไปในอากาศ.
               บทว่า อนฺธการตโมนุโท ความว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ทรงบรรเทา คือทำความมืดตื้อคือโมหะให้สิ้นไป ทรงบรรลุแล้วโดยลำดับ.
               บทว่า เตสํ หาสปเรตานํ เชื่อมความว่า เสียงบันลือลั่น คือเสียงกึกก้องของเทวดาเหล่านั้นผู้ประกอบด้วยความร่าเริง คือปีติโสมนัส ได้เป็นไปแล้ว คือแพร่ไปว่า พวกเราจักเผากิเลส คือสังกิเลสธรรมในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า เทวานํ คิรมญฺญาย เชื่อมความว่า เรารู้เสียงของเหล่าเทวดาซึ่งเปล่งพร้อมกับคำชมเชยด้วยวาจาจึงร่าเริง ได้ถวายภิกษาครั้งแรก คืออาหารทีแรกแก่พระผู้เป็นพระพุทธเจ้า ด้วยจิตอันร่าเริงคือด้วยจิตอันประกอบด้วยโสมนัส.
               บทว่า สตฺตาหํ อภินิกฺขมฺม ความว่า เราออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่แล้วกระทำความเพียรอยู่ ๗ วัน จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ กล่าวคืออรหัตมรรคญาณอันเป็นปทัฏฐานแห่งพระสัพพัญญุตญาณ.
               บทว่า อิทํ เม ปฐมํ ภตฺตํ ความว่า ภัตนี้เป็นเครื่องยังสรีระให้เป็นไป เป็นภัตอันเทวบุตรนี้ให้ครั้งแรกแก่เราผู้เป็นพรหมจารี คือผู้ประพฤติธรรมสูงสุด.
               บทว่า ตุสิตา หิ อิธาคนฺตฺวา ความว่า เทวบุตรใดจากภพดุสิตมาในมนุษยโลกนี้ น้อมเข้ามา คือได้ถวายภิกษาแก่เรา เราจักประกาศคือจักกล่าว ได้แก่จักทำเทวบุตรนั้นให้ปรากฏ.
               เชื่อมความว่า ท่านทั้งหลายจงฟังคำเราผู้จะกล่าวอยู่.
               เบื้องหน้าแต่นี้ไป ข้าพเจ้าจักพรรณนาเฉพาะบทที่ยากเท่านั้น.
               บทว่า ติทสา ได้แก่ จากภพดาวดึงส์.
               บทว่า อคารา เชื่อมความว่า จักออกจากเรือนพราหมณ์อันเกิดขึ้นแก่ตนแล้วบวชอยู่กับพระโพธิสัตว์ ผู้กระทำทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปี.
               บทว่า ตโต สตฺตมเก วสฺเส ได้แก่ ในปีที่ ๗ จำเดิมแต่กาลที่บวชแล้วนั้น.
               บทว่า พุทฺโธ สจฺจํ กเถสฺสติ ความว่า ทรงกระทำทุกรกิริยาได้ ๖ ปีแล้ว ในปีที่ ๗ จักได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วตรัสสัจจะทั้ง ๔ กล่าวคือทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจและมรรคสัจ ด้วยพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี.
               บทว่า โกณฺฑญฺโญ นาม นาเมน ความว่า ชื่อว่าโกณฑัญญะโดยนาม คือโดยอำนาจชื่อของโคตร.
               บทว่า ปฐมํ สจฺฉิกาหิติ ความว่า จักกระทำให้แจ้ง คือจักทำให้ประจักษ์ซึ่งพระโสดาปัตติมรรคญาณก่อนคือแต่ต้นทีเดียว ในระหว่างพระปัญจวัคคีย์ทั้งหลาย.
               บทว่า นิกฺขนฺเตนานุปพฺพชึ ความว่า ออกบวชตามพร้อมกับพระโพธิสัตว์ผู้เสด็จออกแล้ว. อธิบายว่า เราบวชตามอย่างนั้นกระทำปธานคือความเพียรดีแล้ว คือกระทำด้วยดี ได้แก่กระทำให้มั่นแล้วกระทำ.
               บทว่า กิเลเส ฌาปนตฺถาย ความว่า เพื่อต้องการทำกิเลสทั้งหลายให้เหือดแห้ง คือเพื่อต้องการกำจัดกิเลส เราจึงบวชคือปฏิบัติศาสนาเป็นผู้ไม่มีเรือน คือไม่มีประโยชน์แก่เรือน ได้แก่เว้นจากกรรมมีการทำนาและการค้าเป็นต้น.
               บทว่า อภิคนฺตฺวาน สพฺพญฺญู ความว่า พระพุทธเจ้าทรงรู้อดีต อนาคตและปัจจุบัน หรือไญยธรรม (ไญยธรรม ธรรมที่ควรรู้มี ๕ อย่าง) ที่ควรรู้กล่าวคือสังขาร วิการ ลักษณะ นิพพาน และบัญญัติ เสด็จไปเฉพาะคือเสด็จเข้าไปยังป่าเป็นที่อยู่ของมฤค คือวิหารเป็นที่ให้อภัยแก่มฤค ได้ประหารคือตี ได้แก่ทรงแสดงอมตเภรี ได้แก่เภรีคืออมตมหานิพพาน ด้วยโสดาปัตติมรรคญาณนี้ ที่เรากระทำให้แจ้งแล้วในสัตวโลกอันเป็นไปกับด้วยเทวดาทั้งหลาย.
               บทว่า โส ทานิ ความว่า เรานั้นเป็นพระโสดาบันองค์แรก บัดนี้ได้ถึงคือบรรลุอมตนิพพานอันสงบ คือมีสภาวะสงบระงับ เป็นบทคือพึงถึง ได้แก่พึงบรรลุอันยอดเยี่ยม คือเว้นสิ่งที่ยิ่งกว่า ด้วยอรหัตมรรคญาณ.
               บทว่า สพฺพาสเว ปริญฺญาย ความว่า เรากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงมีกามาสวะเป็นต้น คือละอาสวะทั้งปวงด้วยปหานปริญญา เป็นผู้ไม่มีอาสวะ คือไม่มีกิเลสอยู่ คือสำเร็จการอยู่ด้วยอิริยาบถวิหาร.
               คาถาทั้งหลายมีคำว่า ปฏิสมฺภิทา จตสฺโส เป็นต้น มีเนื้อความดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.
               ครั้นกาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ในพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อจะทรงแสดงความที่พระเถระเป็นผู้รู้แจ้งธรรมก่อนเพื่อน จึงทรงตั้งพระเถระนั้นไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัญญาโกณฑัญญะนี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นรัตตัญญูรู้ราตรีนาน.
               พระอัญญาโกณฑัญญเถระนั้นประสงค์จะหลีกเลี่ยงความพินอบพิเทาที่พระอัครสาวกทั้งสองกระทำในตน และการอยู่เกลื่อนกล่นในเสนาสนะใกล้บ้าน และมีความประสงค์จะอยู่ด้วยความยินดีในวิเวก สำคัญแม้แต่การทำปฏิสันถารแก่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายผู้เข้ามายังสำนักของตนว่าเป็นเหตุเนิ่นช้า จึงทูลลาพระศาสดาเข้าไปยังหิมวันตประเทศอันช้างฉัททันต์ทั้งหลายบำรุงอยู่ ได้อยู่ที่ฝั่งสระฉัททันต์ถึง ๑๒ พรรษา.
               พระเถระอยู่ที่นั้นด้วยอาการอย่างนี้ วันหนึ่งท้าวสักกเทวราชเสด็จเข้าไปหา ทรงไหว้แล้วยืนอยู่ได้ตรัสอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดังจะขอโอกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงธรรมแก่กระผม.
               พระเถระจึงแสดงธรรมแก่ท้าวสักกะนั้นอันมีห้องแห่งอริยสัจ ๔ ถูกไตรลักษณ์กระทบประกอบด้วยสุญญตา วิจิตรด้วยนัยต่างๆ หยั่งลงสู่อมตะ ด้วยพุทธลีลา.
               ท้าวสักกะทรงสดับธรรมนั้นแล้ว เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของพระองค์ จึงได้ทรงกระทำการสรรเสริญว่า
                         เรานี้ได้ฟังธรรมอันมีรสใหญ่ยิ่ง จึงเลื่อมใสยิ่งนัก พระเถระ
                         แสดงธรรมอันคลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นโดยประการทั้งปวง ดังนี้.

               พระเถระอยู่ที่ฝั่งสระฉัททันต์ ๑๒ พรรษา เมื่อกาลจะปรินิพพานใกล้เข้ามา จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ขอให้ทรงอนุญาตการปรินิพพานแล้วไป ณ ที่เดิมนั่นแหละ ปรินิพพานแล้วแล.
               จบพรรณนาอัญญาโกณฑัญญเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๙. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน (๗) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 8อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 9อ่านอรรถกถา 32 / 10อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1075&Z=1106
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=8953
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=8953
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :