ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 9อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 10อ่านอรรถกถา 32 / 11อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๑๐. ปิณโฑภารทวาชเถราปทาน (๘)

               ๘. พรรณนาปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน               
               คำว่า ปทุมุตฺตโร นาม ชิโน ดังนี้เป็นต้น เป็นอปทานของท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระ.
               แม้พระเถระนี้ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในกำเนิดราชสีห์อยู่ในถ้ำที่เชิงภูเขา. เพื่อจะทรงกระทำความอนุเคราะห์แก่ราชสีห์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จเข้าไปยังถ้ำเป็นที่อยู่ของราชสีห์นั้น ในเวลาที่ออกไปหาเหยื่อ ทรงนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่.
               ราชสีห์จับเหยื่อแล้วกลับมายืนอยู่ที่ประตูถ้ำ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทั้งร่าเริงและยินดี จึงบูชาด้วยดอกไม้ที่เกิดในน้ำและบนบก ทำจิตให้เลื่อมใส. เพื่อต้องการจะอารักขาพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงบันลือสีหนาท ๓ เวลา เพื่อให้เนื้อร้ายอื่นๆ หนีไป ได้ยืนอยู่ด้วยสติอันไปแล้วในพระพุทธเจ้า. บูชาอยู่ตลอด ๗ วัน เหมือนในวันแรก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า เมื่อล่วง ๗ วันแล้วควรออกจากนิโรธสมาบัติ ส่วนแห่งบุญมีประมาณเท่านี้จักเป็นอุปนิสัยแก่ราชสีห์นี้ ดังนี้ เมื่อราชสีห์นั้นเห็นอยู่นั่นแหละ จึงเหาะขึ้นไปสู่อากาศ เสด็จไปยังพระวิหารทีเดียว.
               ราชสีห์ไม่อาจอดกลั้นความทุกข์ เพราะพลัดพรากจากพระพุทธเจ้า จึงกระทำกาละแล้วบังเกิดในตระกูลมีโภคะมากในนครหังสวดี พอเจริญวัยแล้ว ได้ไปยังพระวิหารกับชาวเมือง ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วเลื่อมใส ยังมหาทานให้เป็นไปแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน ทำบุญทั้งหลายจนชั่วชีวิต ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและและมนุษย์.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย จึงบังเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตแห่งพระเจ้าอุเทน.
               เขาได้มีชื่อว่าภารทวาชะ. ภารทวาชะนั้นเจริญวัยแล้ว เรียนจบไตรเพทสอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ คน เพราะความที่ตนเป็นผู้มีความประพฤติไม่เหมาะสม โดยความเป็นผู้กินจุ ถูกพวกมาณพเหล่านั้นละทิ้ง จึงไปยังนครราชคฤห์ ได้เห็นลาภสักการะของพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ จึงบวชในพระศาสนา เป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอยู่.
               พระศาสดาทรงให้ตั้งอยู่ในความเป็นผู้รู้จักประมาณด้วยอุบาย ท่านจึงเริ่มตั้งวิปัสสนา ไม่นานนัก ก็ได้อภิญญา ๖.
               ก็ครั้นเป็นผู้ได้อภิญญา ๖ แล้ว จึงบันลือสีหนาทว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคและผล ผู้นั้นจงถามเราดังนี้ ทั้งต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าและในหมู่ภิกษุ ด้วยคิดว่า สิ่งใดที่สาวกทั้งหลายพึงบรรลุ สิ่งนั้นเราบรรลุแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปิณโฑลภารทวาชะนี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้บันลือสีหนาท.
               พระเถระนั้นครั้นได้ตำแหน่งเอตทัคคะอย่างนี้แล้ว ระลึกถึงบุญสมภารที่ได้กระทำไว้ในชาติก่อน เมื่อจะทำให้แจ้งซึ่งอปทานแห่งบุญกรรมของตนด้วยความโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปทุมุตฺตโร ดังนี้.
               เนื้อความแห่งคำนั้นได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังแล.
               บทว่า ปุรโต หิมวนฺตสฺส ความว่า ในส่วนแห่งทิศตะวันออกของภูเขาหิมาลัย.
               บทว่า จิตฺตกูเฏ วสี ตทา เชื่อมความว่า ในกาลใด เราเป็นราชสีห์คือเป็นพญาเนื้อ อยู่ ณ ที่ใกล้ภูเขาหิมวันต์ ในกาลนั้น พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระประทับอยู่ที่เขาชื่อว่าจิตตกูฏ คือที่ยอดเขาชื่อว่าจิตตบรรพต เพราะเป็นภูเขาที่งดงามหลากสีด้วยโอสถ และรัตนะทั้งหลายมิใช่น้อย.
               บทว่า อภีตรูโป ตตฺถาสึ ความว่า เราได้เป็นพญาเนื้อผู้ไม่กลัวเป็นสภาวะ คือเป็นผู้ไม่มีความกลัวเป็นสภาวะอยู่ในที่นั้น.
               บทว่า จตุกฺกโม ได้แก่ เป็นผู้ก้าวไป คือสามารถจะไปได้ทั้ง ๔ ทิศ.
               บทว่า ยสฺส สทฺทํ สุณิตฺวาน ความว่า ชนมากคือสัตว์เป็นอันมากได้ฟังสีหนาทของพญาเนื้อใด ย่อมข่ม คือย่อมขัดขวางโดยพิเศษ ได้แก่ย่อมกลัว.
               บทว่า สุผุลฺลํ ปทุมํ คยฺห ความว่า มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้คาบดอกปทุมที่บานดีแล้ว ได้เข้าไปหาคือได้เข้าไปใกล้พระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นนราสภคือผู้องอาจ สูงสุด คือประเสริฐสุดแห่งนระทั้งหลาย.
               บทว่า วุฏฺฐิตสฺส สมาธิมฺหิ ความว่า เราปลูก คือบูชาดอกไม้นั้นแด่พระพุทธเจ้าผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ.
               บทว่า จตุทฺทิสํ นมสฺสิตฺวา ความว่า เรานมัสการทั้ง ๔ ทิศแล้วทำจิตของตนให้เลื่อมใส คือให้ตั้งอยู่ด้วยความเอื้อเฟื้อ ได้บันลือสีหนาท คือการบันลืออย่างไม่เกรงกลัว ได้แก่ทำสีหนาทให้กึกก้องแล้ว.
               ลำดับนั้น เมื่อจะประกาศการพยากรณ์ที่พระพุทธเจ้าประทานแล้ว จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปทุมุตฺตโร ดังนี้.
               คำนั้นมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า วทตํ เสฏฺโฐ เชื่อมความว่า พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐคือสูงสุดแห่งพวกอัญญเดียรถีย์ผู้กล่าวว่า เราทั้งหลายเป็นพระพุทธเจ้าๆ ดังนี้ เสด็จมาแล้ว. อธิบายว่า เราทั้งหลายจักฟังธรรมนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสด็จมาแล้วนั้น.
               บทว่า เตสํ หาสปเรตานํ ความว่า ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นผู้ห้อมล้อม คือครอบงำ ได้แก่ผู้ประกอบความร่าเริง คือด้วยความโสมนัส.
               บทว่า โลกนายโก ความว่า พระมหามุนีคือพระมุนีผู้ยิ่งใหญ่ในระหว่างมุนีทั้งหลาย ผู้ทรงเห็นกาลไกลคือผู้ทรงเห็นอนาคตกาล ผู้เป็นนายกของโลกคือผู้ทรงยังชาวโลกให้ถึงสวรรค์และนิพพาน ทรงแสดงคือทรงประกาศ ได้แก่ตรัสถึงเสียงของเรา คือเสียงบันลืออย่างราชสีห์ของเรา.
               คาถาที่เหลือเข้าใจได้ง่ายทั้งนั้น.
               คาถาต่อไปมีความว่า ราชสีห์จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าปทุม โดยพระนาม จักครองความเป็นใหญ่ คืออิสรภาพ ได้แก่ราชสมบัติ ๖๔ ชาติ.
               บทว่า กปฺปสตสหสฺสมฺหิ นี้ เป็นสัตตมีวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งฉัฏฐีวิภัตติ. อธิบายว่า ในที่สุดแสนกัป.
               บทว่า ปกาสิเต ปาวจเน ความว่า ในพระไตรปิฎกที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดมนั้นทรงประกาศแล้ว คือทรงแสดงแล้ว.
               บทว่า พฺรหฺมพนฺธุ ภวิสฺสติ ความว่า ในกาลนั้น คือในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดม ราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อนี้จักบังเกิดในตระกูลพราหมณ์.
               บทว่า พฺรหฺมญฺญา อภินิกฺขมฺม เชื่อมความว่า จักออกจากตระกูลพราหมณ์บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น.
               บทว่า ปธานปหิตตฺโต ได้แก่ มีจิตส่งไปเพื่อกระทำความเพียร ชื่อว่าผู้ไม่มีอุปธิ เพราะไม่มีกิเลสทั้งหลายกล่าวคืออุปธิ ชื่อว่าผู้สงบระงับ เพราะไม่มีความกระวนกระวายเพราะกิเลส กำหนดรู้คือละอาสวะทั้งปวง ได้แก่อาสวะทั้งสิ้น เป็นผู้ไม่มีอาสวะคือไม่มีกิเลส จักนิพพาน. อธิบายว่า จักเป็นผู้นิพพานด้วยขันธปรินิพพาน.
               บทว่า วิชเน ปนฺตเสยฺยมฺหิ ความว่า ในเสนาสนะป่าไกล เว้นจากความแออัดด้วยหมู่ชน.
               บทว่า วาฬมิคสมากุเล ความว่า อากูล คือเกลื่อนกล่นด้วยการเกี่ยวข้องกับเนื้อร้ายมีกาฬราชสีห์เป็นต้น.
               คำที่เหลือมีเนื้อความดังกล่าวแล้วฉะนี้แล.
               จบพรรณนาปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๑๐. ปิณโฑภารทวาชเถราปทาน (๘) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 9อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 10อ่านอรรถกถา 32 / 11อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1107&Z=1136
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=9079
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=9079
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :