ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 7อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 8อ่านอรรถกถา 32 / 9อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๘. อุปาลีเถราปทาน (๖)

               ๖. พรรณนาอุปาลีเถราปทาน               
               คำมีอาทิว่า นคเร หํสวติยา ดังนี้ เป็นอปทานของท่านพระอุบาลีเถระ.
               แม้พระเถระนี้ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะคือพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์อันสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ในนครหังสวดี.
               วันหนึ่งฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นเลิศแห่งพระวินัยธรทั้งหลาย จึงกระทำกรรมคือการกระทำอันยิ่งแด่พระศาสดา แล้วปรารถนาฐานันดรนั้น.
               เขาทำกุศลจนตลอดชีวิต แล้วท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในเรือนของช่างกัลบก ญาติทั้งหลายตั้งชื่อเขาว่า อุบาลี.
               อุบาลีนั้นเจริญวัยแล้วได้เป็นสหายรักแห่งกษัตริย์ ๖ พระองค์มีเจ้าอนุรุทธะเป็นต้น เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในอนุปิยอัมพวัน ได้ออกบวชพร้อมกับกษัตริย์ทั้ง ๖ องค์ผู้เสด็จออกทรงผนวช.
               วิธีการบรรพชาของพระอุบาลีนั้น มาในพระบาลีทีเดียว.
               พระอุบาลีนั้นบรรพชาอุปสมบทแล้ว เรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตการอยู่ป่าแก่ข้าพระองค์.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เมื่ออยู่ป่า ธุระอย่างเดียวเท่านั้นจักเจริญงอกงาม แต่เมื่ออยู่ในสำนักของเรา วิปัสสนาธุระและคันถธุระจักบริบูรณ์.
               พระอุบาลีนั้นรับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว กระทำวิปัสสนากรรมอยู่ ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต. แม้พระศาสดาก็ทรงให้พระอุบาลีนั้นเรียนพระวินัยปิฎกทั้งสิ้นด้วยพระองค์เอง.
               กาลต่อมา ท่านได้วินิจฉัยเรื่อง ๓ เรื่องนี้ คือเรื่องภารุกัจฉะ เรื่องอัชชุกะ และเรื่องกุมารกัสสปะ. พระศาสดาทรงประทานสาธุการ ในการวินิจฉัยแต่ละเรื่องทรงกระทำวินิจฉัยทั้ง ๓ ให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ จึงทรงตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้เป็นวินัยธร.
               พระเถระนั้นครั้นได้ตำแหน่งเอตทัคคะอย่างนี้แล้ว ระลึกถึงบุพกรรมของตนขึ้นมาก็เกิดความโสมนัส เมื่อจะประกาศอปทานแห่งความประพฤติในกาลก่อนนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า นคเร หํสวติยา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หํสวติยา ความว่า รั้วคือการล้อมกำแพง โดยอาการอย่างหงส์วน มีอยู่ในนครใด นครนั้นชื่อว่าหังสวดี.
               อีกอย่างหนึ่ง พวกหงส์นับไม่ถ้วนอยู่อาศัยในบึงโบกขรณี สระและเปือกตมเป็นต้น บินแล่นอยู่รอบๆ ในนครนั้น เพราะเหตุนั้น นครนั้นจึงชื่อว่าหังสวดี, ในนครหังสวดีนั้น.
               บทว่า สุชาโต นาม พฺราหฺมโณ ความว่า ชื่อว่าสุชาต เพราะเกิดดี. อธิบายว่า เกิดมาเป็นผู้ไม่ถูกติเตียนโดยคำว่า ไม่ถูกดูถูก ไม่ถูกตำหนิ.
               บทว่า อสีติโกฏินิจโย เชื่อมความว่า พราหมณ์นามว่าสุชาต มีกองทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ชื่อว่ามีทรัพย์และข้าวเปลือกเพียงพอ คือมีทรัพย์และข้าวเปลือกนับไม่ถ้วน.
               เมื่อจะแสดงว่า พราหมณ์สุชาตนั้นนั่นแหละเป็นคนใหญ่โตแม้อีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อชฺฌายโก ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฺฌายโก ความว่า เป็นผู้บอกไตรเพทเป็นต้นแก่คนเหล่าอื่น.
               บทว่า มนฺตธโร ความว่า ปัญญา ท่านเรียกว่ามันตา มีปัญญารู้การพยากรณ์อถรรพณเวทเป็นต้น.
               บทว่า ติณฺณํ เวทาน ปารคู ความว่า ถึงที่สุด (คือเรียนจบ) ไตรเพทกล่าวคือ อิรุพเพท ยชุพเพทและสามเพท.
               บทว่า ลกฺขเณ ได้แก่ คัมภีร์ทายลักษณะ. อธิบายว่า ในคัมภีร์อันประกาศลักษณะที่ปรากฏอยู่ในมือและเท้าเป็นต้น ของบุรุษผู้จะเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลาย.
               บทว่า อิติหาเส ความว่า ในคัมภีร์อันประกาศเรื่องราวครั้งโบราณ ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.
               บทว่า สธมฺเม ความว่า ผู้ถึงบารมีคือถึง ได้แก่บรรลุถึงปริโยสาน คือที่สุดในธรรมของตน คือธรรมของพราหมณ์.
               บทว่า ปริพฺพาชก เชื่อมความว่า พวกสาวกของนิครนถ์ทั้งหมดนั้นมีทิฏฐิต่างๆ กัน ในครั้งนั้น พากันเที่ยวไปบนแผ่นดินคือบนพื้นปฐพี.
               อธิบายว่า พระชินเจ้ายังไม่อุบัติขึ้นตราบใด คือตลอดกาลมีประมาณเท่าใด คำว่า พุทฺโธ ย่อมไม่มีตราบนั้น คือตลอดกาลมีประมาณเท่านั้น.
               บทว่า อจฺจเยน อโหรตฺตํ ความว่า วันและคืน ชื่อว่าอโหรัตตะ, โดยปีล่วงไปมากมาย.
               คำที่เหลือเข้าใจได้ง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า มนฺตานิปุตฺโต ความว่า บุตรของธิดาช่างกัลบก ชื่อว่ามันตานี, ได้นามว่าปุณณะ เพราะครบเดือน ครบวัน. เชื่อมความว่า จักได้เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น.
               บทว่า เอวํ กิตฺตยิ โส พุทฺโธ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าปทุมุตตระนั้นทรงประกาศ คือได้ทรงประทานการพยากรณ์อันน่ายินดีด้วยดี คืออันให้ความโสมนัสด้วยอาการอันดี ด้วยประการอย่างนี้คือด้วยประการนี้.
               เชื่อมความว่า ยังชนทั้งปวงคือหมู่ชนทั้งสิ้นให้ยินดีด้วยดี คือกระทำให้โสมนัส เมื่อจะแสดงกำลังของตน คือเมื่อจะทำให้ปรากฏ.
               ลำดับต่อจากนั้น เมื่อจะแสดงอานุภาพของตนโดยอ้างผู้อื่น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กตญฺชลี ดังนี้.
               เชื่อมความว่า ในกาลนั้น คือในกาลก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัตินั้น ชนทั้งปวงกระทำกระพุ่มอัญชลี นมัสการสุนันทดาบสอยู่.
               บทว่า พุทฺเธ การํ กริตฺวาน ความว่า สุนันทดาบสนั้น แม้เป็นผู้อันชนทั้งปวงบูชาแล้วอย่างนี้ ก็ไม่กระทำการถือตัวว่าเป็นผู้ที่เขาบูชา ได้กระทำกิจอันยิ่งในพระพุทธศาสนา ทำคติคือการเกิดของตนให้หมดจด คือได้กระทำให้บริสุทธิ์.
               บทว่า สุตฺวาน มุนิโน วจํ ได้แก่ พระวาจาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น, เพื่อสะดวกในการผูกคาถา ท่านกล่าวว่า วจํ โดยรัสสะ อา อักษร.
               เชื่อมความว่า เราได้มีความดำริคือได้มีมนสิการด้วยเจตนาว่า เพราะได้ฟังพระดำรัสของพระมุนีดังนี้ว่า ในอนาคตกาลอันยาวนาน พระศาสดาพระนามว่าโคดม โดยพระนาม จักเกิดมีในโลก เราจักเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดมโดยประการใด จักกระทำสักการะคือกิจอันยิ่ง ได้แก่บุญสมภารโดยประการนั้น.
               บทว่า เอวาหํ จินฺตยิตฺวาน ได้แก่ คิดอย่างนี้ว่า เราจักทำสักการะ.
               บทว่า กิริยํ จินฺตยึ มม ความว่า เราคิดถึงการกระทำ คือกิจที่จะพึงทำว่า เราจะพึงทำบุญเช่นไรหนอ.
               บทว่า กฺยาหํ กมฺมํ อาจรามิ ความว่า เราจะประพฤติ คือบำเพ็ญบุญกรรมเช่นไร.
               บทว่า ปุญฺญกฺเขตฺเต อนุตฺตเร ความว่า ในพระรัตนตรัยอันเว้นสิ่งที่ยิ่งกว่า คือเป็นภาชนะแห่งบุญทั้งสิ้น.
               บทว่า อยญฺจ ปาฐิโก ภิกฺขุ ความว่า ภิกษุนี้เป็นภิกษุผู้ได้นามว่าปาฐิกะ เพราะสวดพระบาลีในคัมภีร์ คือกล่าวด้วยอำนาจสรภัญญะ.
               พระศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเลิศ คือทรงตั้งว่าเป็นผู้เลิศ ในระหว่างแห่งภิกษุผู้ชำนาญบาลี คือผู้สวดและกล่าวสอนทั้งหมด และในพระวินัยในพระศาสนา, เราปรารถนาฐานะนั้น คือฐานันดรที่ภิกษุนั้นได้รับ.
               เบื้องหน้าแต่นั้น เมื่อจะแสดงอุบายในการทำบุญของตน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อิทํ เม อมิตํ โภคํ ดังนี้.
               เชื่อมความในคำนั้นว่า กองแห่งโภคทรัพย์ของข้าพระองค์นับไม่ได้ คือเว้นจากการนับประมาณ อันใครๆ ให้กระเพื่อมไม่ได้ คือไม่อาจให้กระเพื่อมได้ อุปมาดังสาครคือเช่นกับสาคร ข้าพระองค์ให้สร้างอารามแก่พระพุทธเจ้าด้วยโภคะนั้น คือด้วยทรัพย์เช่นนั้น.
               คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               เชื่อมความว่า พระสัมพุทธเจ้าประทับนั่งในหมู่ภิกษุ ทรงรับสังฆารามที่ดาบสนั้นสร้าง คือให้ทำดีแล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้ อันแสดงอานิสงส์แห่งอารามนั้น.
               เพื่อจะเฉลยคำถามว่า ได้ตรัสอานิสงส์ไว้อย่างไร? จึงตรัสว่า โย โส ดังนี้.
               อธิบายว่า ดาบสใดผู้ถวายสังฆาราม มอบถวายสังฆารามที่สร้างไว้ดีแล้ว คือที่จัดแจงไว้เรียบร้อยโดยนัยมีกุฎี ที่เร้น มณฑป ปราสาท เรือนโล้น และกำแพงเป็นต้นแก่พระพุทธเจ้า คือได้ถวายโดยประการ คือโดยจิตอันประกอบด้วยความโสมนัส.
               บทว่า ตมหํ กิตฺตยิสฺสามิ ความว่า เราจักกระทำดาบสนั้นให้ปรากฏ คือจักกระทำให้แจ้ง.
               บทว่า สุณาถ มม ภาสโต ความว่า ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา. อธิบายว่า จงเงี่ยโสตลง คือจงมีจิตไม่ฟุ้งซ่าน กระทำไว้ในใจ.
               เมื่อจะทรงแสดงผลของอารามที่ดาบสนั้นถวาย จึงตรัสคำมีอาทิว่า หตฺถี อสฺสา รถา ปตฺตี ดังนี้.
               คำนั้นเข้าใจได้ง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า สงฺฆารามสฺสิทํ ผลํ ความว่า อิฐผลกล่าวคือสมบัติที่จะพึงเสวยต่อไปนี้ เป็นผลคือเป็นวิบากของการถวายสังฆาราม.
               บทว่า ฉฬาสีติสหสฺสานิ ความว่า เหล่านารีคือสตรีแปดหมื่นหกพันนางตกแต่งงดงาม คือประดับตกแต่งสวยงาม มีผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร.
               อธิบายว่า ประกอบด้วยผ้าและอาภรณ์ทั้งหลายอันวิจิตร คือมีรูปมิใช่น้อย.
               บทว่า อามุตฺตมณิกุณฺฑลา ได้แก่ ห้อยต่างหูแก้วมุกดาหารและแก้วมณี.
               เมื่อจะแสดงถึงความประเสริฐ คือความงามแห่งรูปร่างของหญิงเหล่านั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อาฬารปมฺหา ดังนี้.
               ในคำนั้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               นัยน์ตาทั้งหลายของหญิงเหล่าใด กว้างคือใหญ่ เหมือนลูกแก้วมณีกลม หญิงเหล่านั้นชื่อว่ามีตากลม. อธิบายว่า มีดวงตาใสเหมือนตาภมรทั้งหลาย.
               ผู้มากด้วยความร่าเริง คือมีความร่าเริงเป็นปกติ. อธิบายว่า ผู้งดงามด้วยการเยื้องกราย.
               บทว่า สุสญฺญา ได้แก่ ผู้มีอวัยวะแห่งร่างกายที่พึงสำคัญว่างาม.
               บทว่า ตนุมชฺฌิมา ได้แก่ ผู้มีส่วนแห่งท้องเล็ก.
               คำที่เหลือง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า ตสฺส ธมฺเมสุ ทายาโท ได้แก่ เป็นทายาทในธรรมทั้งหลาย คือเป็นผู้มีส่วนแห่งโกฏฐาสในธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคตมะนั้น.
               บทว่า โอรโส แปลว่า เกิดในอก. อธิบายว่า เป็นบุตรเกิดในอก เพราะได้ฟังธรรมที่ทรงแสดงกระทบฐานทั้ง ๕ มีคอ เพดานและริมฝีปากเป็นต้น อันสมบูรณ์ด้วยความรู้ในพยัญชนะ ๑๐ อย่างมีสิถิลและธนิตเป็นต้น แล้วทำกิเลสทั้งปวงให้สิ้นไป โดยลำดับมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น แล้วดำรงอยู่ในพระอรหัต.
               บทว่า ธมฺมนิมฺมิโต ความว่า ท่านจักเป็นผู้ถูกเนรมิต คือจักเป็นผู้ปรากฏโดยธรรม คือโดยสม่ำเสมอ โดยไม่มีอาชญา โดยไม่มีศาสตรา.
               บทว่า อุปาลิ นาม นาเมน ความว่า ผู้นั้นชื่อว่ามันตานีบุตร ตามชื่อของมารดา ก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น จักเป็นสาวกของพระศาสดาโดยชื่อว่าอุบาลี เพราะยึดติด คือประกอบ พรั่งพร้อมด้วยกายและจิต ในที่ใกล้กษัตริย์ทั้งหลาย เพราะออกไปบวชพร้อมกับเจ้าอนุรุทธะเป็นต้น.
               บทว่า วินเย ปารมึ คโต ความว่า บรรลุ คือถึงที่สุด ได้แก่การจบในพระวินัยปิฎก.
               บทว่า ฐานาฏฺฐาเน จ โกวิโท ความว่า เป็นผู้ฉลาด คือเป็นผู้เฉลียวฉลาดในเหตุและมิใช่เหตุ.
               บทว่า ชินสาสนํ ธาเรนฺโต ความว่า ทรงอนุสาสนีที่พระชินเจ้าตรัสไว้ ได้แก่พระไตรปิฎกของพระชินเจ้า โดยการสอน การฟัง การคิดและการทรงจำเป็นต้น. อธิบายว่า กำหนดไว้ได้.
               บทว่า วิหริสฺสตินาสโว ความว่า เป็นผู้ไม่มีกิเลส จักนำอัตภาพไปมิให้ตกหล่น คือจักยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอิริยาบถทั้ง ๔.
               บทว่า อปริเมยฺยุปาทาย ได้แก่ กระทำแสนมิใช่น้อยให้เป็นต้นไป.
               บทว่า ปตฺเถมิ ตว สาสนํ ความว่า เราปรารถนาคืออยากได้ ศาสนาของพระองค์ว่า พึงเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุผู้เป็นวินัยธรในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดม.
               บทว่า โส เม อตฺโถ ความว่า ประโยชน์กล่าวคือตำแหน่งเอตทัคคะนั้น เราได้บรรลุแล้ว.
               บทว่า สพฺพสํโยชนกฺขโย เชื่อมความว่า ความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง เราได้บรรลุแล้ว. อธิบายว่า บรรลุพระนิพพานแล้ว.
               เชื่อมความว่า ผู้ชายคือบุรุษ ถูกคุกคามคือถูกบีบคั้นด้วยราชอาญา ถูกเสียบหลาวคือถูกร้อยไว้ที่หลาว ไม่ได้ประสบคือไม่ได้ เสวยความยินดี คือความสุขอันอร่อยที่หลาว ย่อมต้องการพ้นคือการหลุดพ้นไป ฉันใด.
               เชื่อมความ (ในตอนต่อมา) ว่า
               ข้าแต่พระมหาวีระ คือข้าแต่พระวีระผู้สูงสุดในระหว่างวีรชนทั้งหลาย ข้าพระองค์ถูกคุกคาม คือถูกบีบคั้นด้วยอาญาคือภพ ได้แก่อาญาคือชาติ ถูกเสียบที่หลาวคือกรรม ได้แก่ถูกเสียบที่หลาว คือกุศลกรรมและอกุศลกรรม ถูกเวทนาคือความระหาย ได้แก่ความกระสับกระส่าย เพราะความระหายเบียดเบียน คือครอบงำทำให้มีทุกข์ ไม่ประสบ คือไม่ได้ความยินดีในภพ ได้แก่ความสุขอันอร่อยในสงสาร.
               ข้าพระองค์ถูกเผาด้วยไฟ ๓ กอง กล่าวคือไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ และไฟคือโมหะ หรือไฟในนรก ไฟอันตั้งขึ้นในกัปและไฟคือทุกข์ จึงหาคือแสวงหาความหลุดพ้น คืออุบายเครื่องหลุดพ้นฉันนั้น.
               เชื่อมความว่า บุคคลผู้ถึงคือต้องราชอาญา ย่อมแสวงหาความหลุดพ้นฉันใด ข้าพระองค์ผู้ต้องการอาญาคือภพ ย่อมแสวงหาความหลุดพ้นฉันนั้น.
               เมื่อจะแสดงความหลุดพ้นจากสงสาร โดยอุปมาอุปไมยอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยถา วิสาโท ดังนี้.
               ในคำนั้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ที่ชื่อว่าวิสาทะ เพราะถูกพิษคืองูพิษกัด คือขบกัดเข้าแล้ว. อธิบายว่า ถูกงูกัด. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิสาทะ เพราะกินคือกลืนกินพิษคือยาพิษอย่างแรง. อธิบายว่า กินยาพิษ.
               เชื่อมความว่า บุรุษใดถูกงูพิษกัด คือถูกงูพิษนั้นคือเช่นนั้นเบียดเบียน พึงหาคือแสวงหายาคือโอสถอันเป็นอุบายเพื่อฆ่าพิษ คือเพื่อขจัดพิษให้พินาศ เมื่อแสวงหายานั้นพึงพบคือพึงเห็นยา คือโอสถสำหรับฆ่าพิษ คือสำหรับขจัดพิษให้พินาศ บุรุษนั้นดื่มโอสถที่ตนพบเห็นแล้ว พึงเป็นผู้มีความสุขสบายเพราะพ้นคือเพราะเหตุที่พ้นจากพิษฉันใด.
               บทว่า ตเถวาหํ ความว่า นระนั้นถูกพิษเบียดเบียน คือถูกงูมีพิษกัด หรือผู้กินยาพิษเข้าไป ดื่มโอสถแล้วพึงมีความสุขโดยประการใด เราถูกอวิชชาคือโมหะบีบคั้นหนักโดยประการนั้น.
               บทว่า สทฺธมฺมาคทเมสหํ ความว่า เราหาคือแสวงหาอยู่ซึ่งโอสถ กล่าวคือพระสัทธรรม.
               บทว่า ธมฺมาคทํ คเวสนฺโต ความว่า แสวงหาโอสถ คือธรรมเพื่อกำจัดพิษคือสังสารทุกข์ให้พินาศ.
               บทว่า อทฺทกฺขึ สกฺยสาสนํ ความว่า เราได้พบเห็นศาสนาของพระโคดมผู้ทรงเกิดจากศากยตระกูล
               บทว่า อคฺคํ สพฺโพสธานํ ตํ ความว่า ในระหว่างบรรดาโอสถเหล่านั้น ธัมโมสถกล่าวคือคำสอนของพระศากยโคดมนั้นเป็นเลิศ คือเป็นชั้นสูงสุด.
               บทว่า สพฺพสลฺลวิโนทนํ เชื่อมความว่า เราดื่มธรรมโอสถ ได้แก่โอสถคือธรรม อันเป็นเครื่องบรรเทา คือเป็นเครื่องทำความสงบลูกศรทั้งปวงมีลูกศรคือราคะเป็นต้น ได้ถอนพิษทั้งปวงได้แก่พิษคือสังสารทุกข์ทั้งสิ้น คือทำให้พินาศไป.
               บทว่า อชรามรํ เชื่อมความว่า เราถอนพิษคือทุกข์นั้นแล้ว ได้ถูกต้องคือได้ทำให้ประจักษ์ซึ่งพระนิพพานอันไม่แก่คือเว้นจากความแก่ อันไม่ตายคือเว้นจากความตาย เป็นภาวะเย็นคือเป็นของเย็น เพราะเว้นจากความเร่าร้อน เพราะราคะเป็นต้น.
               เมื่อจะแสดงการเปรียบเทียบความมืดคือกิเลสอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยถา ภูตฏฺฏิโต ดังนี้.
               ในคำนั้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บุคคลคือบุรุษถูกภูตผีเบียดเบียน คือถูกภูตผีได้แก่ยักษ์เบียดเบียนคือบีบคั้น ถึงการบีบคั้นคือถึงความทุกข์ เพราะภูตผีสิงคือเพราะยักษ์จับ พึงแสวงหาหมอภูตผี เพื่อจะพ้นคือเพื่อต้องการจะพ้นจากภูตผี คือจากยักษ์จับ ฉันใดคือโดยประการใด.
               เชื่อมความในคาถาตอนนี้ว่า
               ก็เมื่อแสวงหาหมอผีนั้น พึงพบหมอผีผู้ฉลาดดีคือผู้เฉลียวฉลาดในวิชาไล่ผี หมอผีนั้นพึงกำจัดภูตผีที่สิงบุรุษผู้ที่ถูกยักษ์จับนั้น คือพึงทำให้พินาศไป คือพึงกำจัดเสียพร้อมทั้งมูลรากคือพร้อมทั้งมูลเหตุ กระทำไม่ให้สิงอีกต่อไป.
               เชื่อมความในคาถานี้ว่า
               ข้าแต่พระมหาวีรเจ้าผู้เป็นวีรบุรุษสูงสุด ข้าพระองค์ถูกบีบคั้นเพราะความมืดจับ คือเพราะความมืดคือกิเลสจับ จึงแสวงหาแสงสว่างคือญาณ ได้แก่แสงสว่างคือปัญญาเพื่อจะพ้น คือเพื่อต้องการจะพ้นไปจากความมืด ได้แก่จากความมืดคือกิเลส ฉันนั้นเหมือนกันคือโดยประการนั้นเหมือนกัน.
               ในคาถานี้มีความว่า
               ครั้งนั้นคือในลำดับนั้น เราได้เห็นพระศากยมุนีผู้ทรงทำความมืดคือกิเลสให้หมดจด คือผู้ทรงทำความมืดคือกิเลสให้พินาศ.
               เชื่อมความว่า พระศากยมุนีนั้นได้ทรงบรรเทาคือได้ทรงทำให้ไกลซึ่งความมืดคือความอันธการ ได้แก่ความมืดคือกิเลสให้แก่เรา เหมือนหมอภูตผีขับไล่ภูตผี คือเหมือนหมอผีบรรเทาคนที่ถูกยักษ์จับให้คลายฉะนั้น.
               ความในคาถานี้ว่า
               เรานั้นหลุดพ้นอย่างนี้แล้ว ตัดได้ด้วยดีซึ่งกระแสตัณหา คือความหลั่งไหลไปในสงสาร เราห้ามกระแสตัณหา ได้แก่โอฆะใหญ่คือตัณหา คือได้กระทำให้หมดไป คือให้เป็นไปไม่ได้.
               บทว่า ภวํ อุคฺฆาฏยึ สพฺพํ ความว่า เราถอนภพใหม่ทั้งหมดมีกามภพเป็นต้น คือทำให้พินาศไป.
               เชื่อมความว่า เราถอนได้ทั้งราก เหมือนหมอผีไล่ผีพร้อมทั้งมูลเหตุ.
               แต่นั้น เมื่อจะแสดงการเปรียบเทียบการแสวงหาพระนิพพาน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยถา ดังนี้.
               ในคำนั้นเชื่อมความว่า
               ที่ชื่อว่าครุฑ เพราะกลืนกินของหนักคือนาค. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าครุฑ เพราะจับคือถือเอาของหนักคือนาค, ได้แก่พญาครุฑ. ครุฑนั้นโผลงคือโฉบลงเพื่อต้องการจับนาคอันเป็นภักษาของตน คือเป็นเหยื่อของตน ได้นามว่าปันนคะ เพราะไม่ไปสู่เงื้อมมือของผู้อื่นโดยปการะชนิดไร ทำสระใหญ่คือมหาสมุทรร้อยโยชน์ คือมีประมาณร้อยโยชน์โดยรอบ คือรอบด้านให้กระเพื่อมคือให้กระฉอกด้วยลมปีกของตน ฉันใด.
               เชื่อมความในคาถาตอนนี้ว่า
               ครุฑนั้นบินไปในเวหา คือมีปกติบินไปในเวหาส จับนาคได้แล้วทำให้ห้อยหัวลง ทำให้ลำบากอยู่คือเบียดเบียนอยู่โดยการเบียดเบียนต่างๆ ในที่นั้นๆ จับเอาคือจับอย่างมั่นคงแล้วหลีกไป คือบินไปตามที่ต้องการ คือในที่ที่ตนต้องการไป.
               ในตอนนี้ เชื่อมความว่า
               ข้าแต่พระมหาวีรเจ้าผู้เจริญ ครุฑผู้มีพละกำลังจับนาค ได้แล้วย่อมบินไปฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แสวงหาพระนิพพานอันเป็นอสังขตะคืออันปัจจัยทั้งหลายกระทำไม่ได้ ได้แก่แสวงหาโดยการยังข้อปฏิบัติให้บริบูรณ์ คายโทษทั้งหลายได้แก่กิเลส ๑,๕๐๐ ทั้งสิ้น คือข้าพระองค์ทำให้หมดจดโดยวิเศษด้วยสมุจเฉทปหาน.
               เชื่อมความในคาถาว่า
               ครุฑจับนาคกินอยู่ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เห็นแล้วคือเห็นอยู่ซึ่งธรรมอันประเสริฐ ได้แก่ธรรมอันสูงสุด ถือเอาสันติบทคือนิพพานบทอันเอก ยอดเยี่ยมคือเว้นสิ่งที่ยิ่งกว่า ด้วยมรรคและผลทั้งหลาย ใช้สอยอยู่.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงความที่พระนิพพานเป็นของได้โดยยาก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อาสาวตี นาม ลตา ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า
               เครือเถาชื่อว่าอาสาวดี เพราะเทวดาทั้งปวงมีความหวัง คือความอยากได้ในเครือเถานี้. เครือเถานั้นเกิดคือบังเกิดขึ้นในจิตรลดาวัน คือในวนะ ได้แก่ในอุทยานอันเป็นดงเครือเถาที่วิจิตรตระการตามิใช่น้อย. ต่อพันปีคือต่อล่วงไปพันปี เครือเถานั้นจึงเกิดผลหนึ่งผล คือเผล็ดผลๆ เดียว.
               บทว่า ตํ เทวา เชื่อมความว่า เครือเถาอาสาวดีนั้นมีผลนานถึงเพียงนั้น เมื่อล่วงกาลนานเท่านั้นจึงเผล็ดผลคือจึงจะมีผล เหล่าเทวดาคือเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมเข้าไปนั่งใกล้คือคบหา, เครือเถาชื่อว่าอาสาวดีนั้นเป็นเครือเถาชั้นสูง คือเป็นเครือเถาชั้นสูงในระหว่างเครือเถาทั้งหลาย ได้เป็นที่รักของเหล่าเทวดาอย่างนี้.
               บทว่า สตสหสฺสุปาทาย ความว่า กระทำเวลาแสนปีให้เป็นต้นไป.
               บทว่า ตาหํ ปริจเร มุนิ ความว่า ญาณเรียกว่าโมนะ ข้าแต่พระมุนีคือพระผู้มีญาณ ได้แก่พระสัพพัญญูผู้เจริญ ข้าพระองค์บำเรอ คือเข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น.
               บทว่า สายํ ปาตํ นมสฺสามิ ความว่า ข้าพระองค์นมัสการคือกระทำการนอบน้อม ๒ ครั้ง คือเวลาเย็นและเวลาเช้า.
               เชื่อมความว่า เหมือนเทวดาทั้งหลาย คือเหมือนเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เข้าไปนั่งใกล้เครือเถาอาสาวดีทั้งเย็นและเช้า.
               บทว่า อวญฺฌา ปาริจริยา ความว่า เพราะเหตุที่ได้เห็นพระพุทธเจ้า การบรรลุถึงพระนิพพานจึงได้มี เพราะฉะนั้น การบำเรอพระพุทธเจ้า คือการกระทำวัตรปฏิบัติจึงไม่เป็นหมันคือไม่สูญเปล่า และการนมัสการคือกิริยาประณาม จึงไม่เป็นโมฆะคือไม่สูญเปล่า.
               จริงอย่างนั้น เรามาแต่ที่ไกล คือแม้มาจากที่ไกลคือจากทางไกลคือสงสารมีปรากฏอยู่ขณะนี้ คือขณะที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นนี้ไม่พลาดไป คือไม่ล่วงเลยไป. อธิบายว่า ยังไม่ล่วงเลยเราไป.
               เชื่อมความว่า เราบรรลุถึงพระนิพพาน เหตุได้เห็นพระพุทธเจ้า จึงค้นหาคือพิจารณาปฏิสนธิของเราในภพที่จะเกิดต่อไปก็ไม่เห็น.
               เชื่อมความว่า เราไม่มีอุปธิ คือเว้นจากอุปธิคือขันธ์และอุปธิคือกิเลสทั้งหลาย เป็นผู้หลุดพ้น คือเป็นผู้เว้นจากกิเลสทั้งปวง สงบคือมีใจสงบ เพราะไม่มีความเร่าร้อนเพราะกิเลส เที่ยวไปอยู่.
               เมื่อจะแสดงการเปรียบเทียบการเห็นพระพุทธเจ้าของตนอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยถาปิ ปทุมํ นาม ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า
               ธรรมดาปทุมย่อมบานคือย่อมแย้มบานเพราะแสงอาทิตย์ คือเพราะสัมผัสแสงอาทิตย์แม้ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้าคือข้าแต่พระผู้สูงสุดกว่าวีรชน ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้บานแล้ว เพราะรัศมีของพระพุทธเจ้า คือเพราะเกิดรัศมี คือพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว.
               เมื่อจะแสดงการเห็นพระนิพพาน เพราะการได้เห็นพระพุทธเจ้าอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยถา พลากา ดังนี้.
               ในคำนั้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ในกาลทุกเมื่อ คือในกาลทั้งปวง นกยางตัวผู้ย่อมไม่มีในกำเนิดนกยาง คือในชาตินกยางฉันใด.
               หากจะมีคำถามสอดเข้ามาว่า เมื่อไม่มีตัวผู้ พวกนกยางจะตั้งครรภ์ได้อย่างไร?
               ตอบว่า เมื่อเมฆครางกระหึ่ม คือทำเสียง นางนกยางเหล่านั้นได้ฟังเสียงเมฆร้องย่อมตั้งครรภ์ในกาลทุกเมื่อ คือในกาลทั้งปวง. อธิบายว่า ย่อมทรงฟองไข่ไว้. เมฆยังไม่ครางกระหึ่ม คือเมฆยังไม่ทำเสียงเพียงใดคือตลอดกาลมีประมาณเท่าใด นางนกยางทั้งหลายก็ทรงครรภ์คือฟองไข่ไว้เป็นเวลานาน คือโดยกาลนานเพียงนั้น คือตลอดกาลมีประมาณเท่านั้น. เมื่อใดคือกาลใด เมฆฝนตกลงมาคือร้องครางโดยปการะชนิดต่างๆ แล้วตกลงมา คือหลั่งสายฝนตกลงมา เมื่อนั้นคือกาลนั้น นางนกยางทั้งหลายย่อมพ้นจากภาระคือการทรงครรภ์. อธิบายว่า ตกฟอง (ออกไข่).
               เบื้องหน้าแต่นั้น เมื่อจะแสดงข้อความอุปไมยให้ถึงพร้อม จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปทุมุตฺตรพุทฺธสฺส ดังนี้.
               ในคำนั้นเชื่อมความว่า
               เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงประกาศกึกก้อง คือทรงแสดงด้วยเมฆคือพระธรรม คือด้วยเมฆกล่าวคือโวหารปรมัตถเทศนา ในกาลนั้น ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น ได้ถือเอาครรภ์คือพระธรรม ได้แก่ครรภ์คือบุญสมภารมีทานและศีลเป็นต้นอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะคือพระนิพพาน.
               เชื่อมความว่า
               ข้าพระองค์อาศัยแสนกัป คือทำแสนกัปให้เป็นเบื้องต้น ทำครรภ์คือบุญ ได้แก่ทำบุญสมภารมีทานและศีลเป็นต้น ให้ทรงอยู่คือให้เต็มอยู่. ธรรมเมฆคือพระธรรมเทศนายังไม่ครางกระหึ่ม คือพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงแสดงเพียงใด ข้าพระองค์ก็ยังไม่พ้น คือยังไม่เปลื้อง ได้แก่ยังไม่เป็นคนละแผนกจากภาระ คือจากครรภ์ภาระคือสงสารเพียงนั้น.
               เชื่อมความในคาถานี้ว่า
               ข้าแต่พระศากยมุนีคือข้าแต่พระองค์ผู้สมภพในศากยวงศ์ผู้เจริญ ในกาลใด พระองค์ทรงกระหึ่ม คือทรงประกาศธรรมเมฆในนครกบิลพัสดุ์ คือในนครอันมีนามว่ากบิลพัสดุ์ อันน่ายินดีคือน่ารื่นรมย์ แห่งพระบิดาของพระองค์ทรงพระนามว่าสุทโธมหาราช ในกาลนั้น ข้าพระองค์พ้นแล้ว คือได้พ้นแล้วจากภาระ คือจากคัพภภาระคือสงสาร.
               เบื้องหน้าแต่นั้น เมื่อจะแสดงมรรคผลที่ตนได้บรรลุ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สุญฺญตํ ดังนี้.
               ในคำนั้นเชื่อมความว่า
               ข้าพระองค์บรรลุคือเจริญอริยมรรค ชื่อว่าสุญญตวิโมกข์ เพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นตนและเป็นของตน ชื่อว่าอนิมิตตวิโมกข์ เพราะไม่มีราคะ โทสะ โมหะและกิเลสทั้งปวง ชื่อว่าอัปปณิหิตวิโมกข์ เพราะไม่มีปณิธิคือตัณหา.
               บทว่า จตุโร จ ผเล สพฺเพ ความว่า ได้ทำให้แจ้งสามัญผล ๔ ทั้งหมด.
               บทว่า ธมฺเมวํ วิชฏยํ อหํ ความว่า ข้าพระองค์สะสางคือขจัดชัฏ คือรกชัฏในธรรมทั้งปวงด้วยประการอย่างนี้.
               จบพรรณนาทุติยภาณวาร               

               เบื้องหน้าแต่นั้น เมื่อจะแสดงเฉพาะคุณวิเศษที่ตนได้บรรลุ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อปริเมยฺยุปาทาย ดังนี้.
               ในคำนั้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ที่ชื่อว่าอปริเมยยะ เพราะประมาณไม่ได้. อธิบายว่า ไม่อาจจะประมาณ คือจะนับโดยนับเป็นปี. ข้าพระองค์อาศัยคือกระทำกัปอันหาประมาณมิได้นั้นให้เป็นเบื้องต้นมา ปรารถนาศาสนาของพระองค์อย่างนี้ว่า ข้าพระองค์พึงเป็นเลิศแห่งพระวินัยธรทั้งหลายในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดม ในอนาคต.
               คำว่า ปตฺเถมิ เป็นคำปัจจุบันใช้ในอรรถเป็นอดีต. อธิบายว่า ปตฺเถสึ ปรารถนาแล้ว.
               บทว่า โส เม อตฺโถ ความว่า ประโยชน์คือปรารถนานั้น เราได้บรรลุแล้ว คือทำให้สำเร็จแล้ว. เชื่อมความว่า ข้าพระองค์ได้ถึงคือได้บรรลุสันติบท คือพระนิพพานอันยอดเยี่ยม.
               ข้าพระองค์นั้นถึงความยอดเยี่ยม คือถึงที่สุดในพระวินัย คือในพระวินัยปิฎก เพราะเป็นผู้บรรลุแล้ว.
               บทว่า ยถาปิ ปาฐิโก อิสิ ความว่า ฤาษีคือภิกษุผู้เป็นเลิศแห่งพระวินัยธรทั้งหลาย ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญพระบาลี คือเป็นผู้ปรากฏแล้วฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า น เม สมสโม อตฺถิ ความว่า เพราะความเป็นผู้มีปกติทรงพระวินัย คนอื่นซึ่งจะเป็นผู้เสมอเหมือนข้าพระองค์จึงไม่มี. อธิบายว่า ข้าพระองค์ยังศาสนาคือคำสอน กล่าวคือโอวาทานุสาสนีให้ดำรงอยู่ คือให้บริบูรณ์อยู่.
               เมื่อจะแสดงความวิเศษของตนซ้ำอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า วินเย ขนฺธเก จาปิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วินเย ได้แก่ ในอุภโตวิภังค์.
               บทว่า ขนฺธเก ได้แก่ ในมหาวรรคและจูฬวรรค.
               บทว่า ติกจฺเฉเท ได้แก่ ในติกสังฆาทิเสสและติกปาจิตตีย์เป็นต้น.
               บทว่า ปญฺจเม ได้แก่ ในบริวาร.
               ในวินัยเป็นต้นนี้ คือในวินัยปิฎกทั้งสิ้นนี้ ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัย คือไม่มีความลังเลใจ.
               บทว่า อกฺขเร ได้แก่ ในอักขระมี อักษรเป็นต้น อันนับเนื่องในพระวินัยปิฎก.
               บทว่า พฺยญฺชเน เชื่อมความว่า หรือว่าในพยัญชนะมี อักษรเป็นต้น ข้าพระองค์ก็ไม่มีความเคลือบแคลง คือความสงสัย.
               บทว่า นิคฺคเห ปฏิกมฺเม จ ความว่า เป็นผู้ฉลาดคือเป็นผู้เฉลียวฉลาด ในนิคคหะการลงโทษพวกภิกษุลามก ในการทำคืนอาบัติมีการให้ปริวาสเป็นต้นแก่ภิกษุผู้มีอาบัติติดตัว ในฐานะและมิใช่ฐานะคือในเหตุและมิใช่เหตุ.
               เชื่อมความว่า เป็นผู้ฉลาดในโอสารณะคือในการให้กลับเข้าหมู่ ได้แก่ในการให้เข้าหมู่ด้วยการระงับกรรมมีตัชชนียกรรมเป็นต้น และในวุฏฐาปนะคือในการให้ออกจากอาบัติ ได้แก่ในการกระทำให้ไม่มีอาบัติ.
               บทว่า สพฺพตฺถ ปารมึ คโต ความว่า ถึงที่สุดในวินัยกรรมทุกอย่าง. อธิบายว่า เป็นผู้สามารถ เฉลียวฉลาด.
               บทว่า วินเย ขนฺธเก จาปิ ความว่า วาง คือตั้งบทได้แก่สุตบทในวินัย และขันธกะซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า อุภโต วินิเวเฐตฺวา ความว่า ปฏิบัติ คือชำระสะสาง นำนัยมาจากทั้งสองอย่าง คือจากวินัยและจากขันธกะ.
               บทว่า รสโต คือ โดยกิจ.
               พึงเรียกเข้าหมู่. อธิบายว่า กระทำการเรียกให้เข้าหมู่.
               บทว่า นิรุตฺติยา จ กุสโล ความว่า เป็นผู้เฉลียวฉลาดในโวหารคือถ้อยคำมีอาทิว่า รุกขะ ต้นไม้, ปฏะ แผ่นผ้า, กุมภะ หม้อ, มาลา ดอกไม้, จิตตะ จิต.
               บทว่า อตฺถานตฺเถ จ โกวิโท ความว่า เป็นผู้ฉลาดคือเชี่ยวชาญในอัตถะคือความเจริญ และในอนัตถะคือความเสื่อม.
               บทว่า อนญฺญาตํ มยา นตฺถิ ความว่า สิ่งไรๆ ที่ข้าพระองค์ไม่รู้ คือไม่รู้แจ้ง ไม่ปรากฏชัดในวินัยปิฎกหรือในพระไตรปิฎกทั้งสิ้น ย่อมไม่มี.
               บทว่า เอกคฺโค สตฺถุ สาสเน ความว่า ข้าพระองค์ผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้เลิศ คือเป็นผู้ประเสริฐ สูงสุดแห่งพระวินัยธรทั้งหลาย ในพระพุทธศาสนา.
               บทว่า รูปทกฺเข อหํ อชฺช เชื่อมความว่า วันนี้คือในกาลบัดนี้ ข้าพระองค์บรรเทาคือทำให้พินาศซึ่งความเคลือบแคลงทั้งปวง คือความสงสัยทั้งสิ้น เพราะชำนาญในรูปคือเพราะเห็นรูป ได้แก่การวินิจฉัยวินัย ในพระศาสนาคือปาพจน์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นศากยบุตร.
               บทว่า ฉินฺทามิ สพฺพสํสยํ ความว่า ข้าพระองค์ตัดคือสงบระงับ ได้แก่ขจัดให้หมดซึ่งความสงสัยทั้งหมด ๑๖ ประการอันเกิดขึ้นปรารภกาลทั้งสามมีอาทิว่า ในอดีตเราได้มีหรือหนอ.
               บทว่า ปทํ อนุปทญฺจาปิ ความว่า ได้แก่ บทคือบทหน้า อนุบทคือบทปลาย. อักขระคืออักขระตัวหนึ่งๆ และพยัญชนะคือวิธีของพยัญชนะ ๑๐ อย่างมีสิถิล ธนิตเป็นต้น.
               บทว่า นิทาเน ได้แก่ ในนิทาน มีอาทิว่า เตน สมเยน ดังนี้.
               บทว่า ปริโยสาเน ได้แก่ ในบทส่งท้าย.
               บทว่า สพฺพตฺถ โกวิโท ความว่า เป็นผู้ฉลาดในฐานะทั้งหมด ๖ ประการ.
               เบื้องหน้าแต่นี้ไป เมื่อจะประกาศพระคุณทั้งหลายเฉพาะของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยถาปิ ราชา พลวา ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า
               พระราชาผู้มีพระกำลัง คือทรงสมบูรณ์ด้วยกำลัง คือเรี่ยวแรง หรือทรงสมบูรณ์ด้วยกำลังเสนา ทรงข่มเสนาของพระราชาอื่นคือพระราชาฝ่ายตรงข้าม คือจับได้หมดหรือขับไล่ให้หนีไปหมด แล้วพึงทำให้เร่าร้อนคือให้เดือดร้อน ให้ลำบาก ฉันใด.
               บทว่า วิชิตฺวาน สงฺคามํ ความว่า ทรงชำนะวิเศษ คือทรงชำนะโดยวิเศษซึ่งสงครามคือการถึง กันเข้าได้แก่การรบกับเสนาของพระราชาอื่น คือทรงได้ชัยชนะแล้ว.
               บทว่า นครํ ตตฺถ มาปเย ความว่า จึงให้สร้างคือให้กระทำนคร คือสถานที่อยู่อันประดับด้วยปราสาทและเรือนโล้นเป็นต้นลงในที่นั้น คือในที่ที่ทรงชนะนั้น.
               บทว่า ปาการํ ปริขญฺจาปิ เชื่อมความว่า ให้ทำกำแพง คือกำแพงอิฐอันขาวด้วยปูนขาว ในนครที่สร้างไว้นั้น. และให้ทำแม้คู คือแม้คูเปือกตม คูน้ำคูแห้ง.
               บทว่า เอสิกํ ทฺวารโกฏฺฐกํ ได้แก่ ให้ทำเสาระเนียด ตั้งซุ้มใหญ่และซุ้มประตู ๔ ชั้นเป็นต้น เพื่อความงดงามของพระนคร.
               บทว่า อฏฺฏาลเก จ วิวิเธ เชื่อมความว่า และให้ทำคือให้สร้างป้อมสูงลิ่วอันต่างด้วยป้อม ๔ ชั้นเป็นต้นต่างๆ คือมีประการต่างๆ ไว้เป็นอันมาก.
               บทว่า สิงฺฆาฏกํ จจฺจรญฺจ เชื่อมความว่า ให้สร้างกำแพงเป็นต้นอย่างเดียวก็หามิได้ ให้สร้างทางสี่แพร่ง คือทางสี่แยก และทางแยก คือถนนในระหว่าง.
               บทว่า สุวิภตฺตนฺตราปณํ ความว่า ให้สร้างระหว่างร้านค้า คือร้านค้าหลายพันอันจัดไว้เป็นระเบียบ คือมีส่วนโดยจัดแบ่งเป็นส่วนๆ.
               บทว่า การเยยฺย สภํ ตตฺถ ความว่า ให้สร้างสภา คือศาลสำหรับตัดสินคดีโดยธรรม (ศาลสถิตยุติธรรม) ไว้ในนครที่สร้างนั้น.
               เชื่อมความว่า ให้สร้างสถานที่วินิจฉัยคดีและมิใช่คดี คือศาลเป็นที่ตัดสิน เพื่อทำการวินิจฉัยตัดสินความเจริญและความเสื่อม.
               บทว่า นิคฺฆาตตฺถํ อมิตฺตานํ ความว่า เพื่อป้องกันพระราชาฝ่ายตรงข้าม.
               บทว่า ฉิทฺทาฉิทฺทญฺจ ชานิตุํ ได้แก่ เพื่อจะได้รู้โทษและมิใช่โทษ.
               บทว่า พลกายสฺส รกฺขาย ความว่า เพื่อต้องการจะรักษาพลกายคือหมู่เสนา อันได้แก่พลช้าง พลม้า พลรถและพลเดินเท้า พระราชาผู้เป็นเจ้าของนครนั้นจึงทรงตั้งคือทรงสถาปนาเสนาบดี คือมหาอำมาตย์ผู้นำกองทัพไว้ในฐานันดร คือลำดับยศและบรรดาศักดิ์.
               บทว่า อารกฺขตฺถาย ภณฺฑสฺส เชื่อมความว่า เพื่อจะอารักขาคือเพื่อจะรักษาโดยรอบด้านซึ่งของหลวง มีทอง เงิน แก้วมุกดาและแก้วมณีเป็นต้น พระราชานั้นจึงทรงตั้งคนคือบุรุษผู้ฉลาดในการเก็บ คือผู้เฉลียวฉลาดในการรักษา ให้เป็นภัณฑรักษ์คือผู้รักษาสิ่งของไว้ในเรือนคลัง ด้วยหวังพระทัยว่า สิ่งของของเราอย่าได้ฉิบหายเสียเลย.
               บทว่า มมตฺโต โหติ โย รญฺโญ ความว่า ผู้ใดเป็นบัณฑิต เป็นผู้รักใคร่ คือตกอยู่ในฝ่ายของพระราชา.
               บทว่า วุฑฺฒึ ยสฺส จ อิจฺฉติ เชื่อมความว่า และผู้ใดย่อมปรารถนา คือย่อมต้องการความเจริญงอกงามแด่พระราชานั้น พระราชาย่อมประทานความเป็นใหญ่ในการวินิจฉัยอธิกรณ์แก่ผู้นั้นผู้เป็นบัณฑิตเช่นนี้ เพื่อปฏิบัติต่อมิตร คือต่อความเป็นมิตร.
               บทว่า อุปฺปาเตสุ ได้แก่ ในลางทั้งหลายมีอุกกาบาตคือดวงไฟตกลงมา และทิสาฑาหะคือทิศถูกไฟไหม้เป็นต้น.
               บทว่า นิมิตฺเตสุ ได้แก่ ในศาสตร์อันว่าด้วยการรู้นิมิตอย่างนี้ว่า นี้นิมิตดี นี้นิมิตไม่ดีมีถูกหนูกัดเป็นต้น.
               บทว่า ลกฺขเณสุ จ เชื่อมความว่า อนึ่ง พระราชานั้นทรงตั้งคนผู้ฉลาด คือผู้เฉลียวฉลาดในศาสตร์อันว่าด้วยการรู้นิมิตที่มือและเท้าของชายหญิง ผู้สั่งสอนคือผู้บอกการพยากรณ์แก่ศิษย์มิใช่น้อย ผู้ทรงจำมนต์คือทรงจำมนต์กล่าวคือไตรเพท ผู้เป็นบัณฑิต ไว้ในความเป็นปุโรหิตคือในฐานันดรที่ปุโรหิต.
               บทว่า เอเตหงฺเคหิ สมฺปนฺโน เชื่อมความว่า พระราชานั้นผู้ถึงพร้อมคือพร้อมพรั่งด้วยองค์ คือองค์ประกอบซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วนี้ เขาเรียกคือกล่าวว่ากษัตริย์.
               บทว่า สทา รกฺขนฺติ ราชานํ ความว่า อำมาตย์มีเสนาบดีเป็นต้นเหล่านี้ย่อมรักษาคือคุ้มครองพระราชานั้นทุกเมื่อ คือตลอดกาลทั้งปวง.
               ถามว่า เหมือนอะไร?
               ตอบว่า เหมือนนกจากพราก. อธิบายว่า เหมือนนกจากพรากรักษาญาติของตนผู้มีทุกข์ คือผู้ถึงความทุกข์ฉะนั้น.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๘. อุปาลีเถราปทาน (๖)
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 7อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 8อ่านอรรถกถา 32 / 9อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=801&Z=1074
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=8280
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=8280
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :