ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 36อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 38อ่านอรรถกถา 25 / 39อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ โพธิสูตรที่ ๑

               ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย               
               อุทานวรรณนา               
               อารัมภกถา               

                         ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมนมัสการพระโลกนาถ
               ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา ผู้ถึงฝั่งสาครคือไญยธรรม
               ทรงแสดงธรรมอันละเอียดลึกซึ้งมีนัยอันวิจิตร.
                         ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมนมัสการพระธรรมอัน
               สูงสุด ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบูชาแล้ว อันเป็นเหตุ
               นำสัตว์ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะออกจากโลก.
                         ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมนมัสการพระอริยสงฆ์
               ผู้สมบูรณ์ด้วยศีลคุณเป็นต้น ผู้ดำรงอยู่ในมรรคและผล
               ผู้เป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยม.
                         บุญใดอันเกิดจากการไหว้พระรัตนตรัยดังกล่าวมา
               นี้ ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีอันตรายอันเดชแห่งบุญขจัดแล้ว
               ในที่ทุกสถาน.
                         พระมเหสีเจ้าผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ทรงแสดง
               อุทานใด ด้วยนิทานนั้นๆ โดยอปทานอันบริสุทธิ์ พระธรรม
               สังคาหกาจารย์ เมื่อจะยกอุทานทั้งหมดนั้นรวมไว้เป็นหมวด
               เดียวกัน แล้วร้อยกรองให้ชื่อว่าอุทาน อันเป็นเครื่องแสดง
               ความสังเวชและความปราโมทย์ ในธรรมของพระชินเจ้า
               ประดับด้วยคาถาซึ่งมีโสมนัสญาณเป็นสมุฏฐาน.
                         การที่ข้าพเจ้ากระทำการขณะพรรณนาอรรถแห่งอุทาน
               นั้น ทำได้ยาก เพราะจะต้องใช้ญาณอันลึกซึ้งหยั่งลงก็จริง ถึง
               อย่างนั้น เหตุที่สัตถุศาสน์พร้อมทั้งสังวรรณนา ยังคงอยู่ การ
               วินิจฉัยของบุรพาจารย์ชาวสีหล ก็ยังคงอยู่เหมือนกัน ฉะนั้น
               ข้าพเจ้าจึงยึดเอาสัตถุศาสน์นั้น หยั่งลงสู่นิกายทั้ง ๕ อาศัยนัย
               อรรถกถาเก่าอันบริสุทธิ์ดี ไม่ปะปนกัน ยึดเอาลัทธิของพระ
               มหาเถระผู้อยู่ในมหาวิหาร เว้นอรรถที่มาซ้ำๆ ซากๆ เสีย
               จักแต่งอรรถกถาอุทาน ตามกำลังให้ดี ดังนั้น เมื่อข้าพเจ้า
               หวังความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม จำแนกอรรถแห่งอุทาน
               อยู่ ขอสาธุชนทั้งหลายจงรับเอาด้วยดีเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทานํ ความว่า
               ที่ชื่อว่าอุทาน ด้วยอรรถว่ากระไร? ด้วยอรรถว่าเปล่งออก.
               ที่ชื่อว่าอุทานนี้ คืออะไร? คือการเปล่งอันตั้งขึ้นด้วยกำลังของปิติ.
               เหมือนอย่างว่า วัตถุที่จะพึงนับมีน้ำมันเป็นต้นอันใด ไม่สามารถจะนับเอาประมาณได้ ย่อมไหลไป วัตถุนั้นเรียกว่าอวเสกะ ไหลลง
               อนึ่ง สายน้ำใด ไม่อาจขังติดเหมือง ท่วมไป สายน้ำนั้นเรียกว่าโอฆะ ห้วงน้ำ ฉันใด สิ่งใดที่ตั้งขึ้นด้วยกำลังปิติ แผ่ซ่านไปด้วยกำลังวิตก ไม่สามารถดำรงอยู่ภายในหทัยได้ ก็ฉันนั้น ความเปล่งออกอันพิเศษนั้นเป็นของยิ่ง ไม่ตั้งอยู่ภายใน ออกไปภายนอกทางวจีทวาร ไม่ถึงการรับเอา เรียกว่าอุทาน อาการอันนี้ ย่อมได้แม้ด้วยอำนาจความสังเวชในธรรม.
               อุทานนี้นั้น บางแห่งเป็นไปด้วยอำนาจการประพันธ์เป็นคาถา บางแห่งเป็นไปด้วยอำนาจคำพูด. ก็ลักษณะอุทานอันใดที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า เกี่ยวด้วยคาถาอันสำเร็จมาแต่โสมนัสญาณนั้น กล่าวโดยส่วนข้างมาก. ก็โดยมากอุทาน ท่านกล่าวด้วยการประพันธ์เป็นคาถาและตั้งขึ้นด้วยอำนาจปิติและโสมนัส.
               แต่อุทานแม้นอกนี้ ย่อมได้ในประโยคมีอาทิว่า
                         อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ ยตฺถ เนว ปฐวี น อาโป
                         ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ในที่ที่ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ ไม่มี

               และได้ในประโยคมีอาทิว่า
                         สุขกามานิ ภูตานิ โย ทณฺเฑน วิหึสติ

                         ชนผู้ใดย่อมเบียดเบียนเหล่าสัตว์ผู้ใคร่ความสุข ด้วยอาชญา
               และได้ในประโยคมีอาทิว่า
                         สเจ ภายถ ทุกฺขสฺส สเจ โว ทุกฺขมปฺปิยํ
                         ถ้าท่านกลัวทุกข์ ถ้าทุกข์ไม่เป็นที่รักของท่าน

               อุทานนี้นั้น ดังกล่าวมาฉะนี้เป็นต้น มี ๓ อย่าง คือ
                         เป็นสัพพัญญูพุทธภาษิต ๑
                         เป็นปัจเจกพุทธภาษิต ๑
                         เป็นสาวกภาษิต ๑.
               ใน ๓ อย่างนั้น ปัจเจกพุทธภาษิต มาในขัคควิสาณสูตร โดยนัยมีอาทิว่า
                                   วางอาชญาในสัตว์ทั้งปวง ไม่เบียดเบียนสัตว์
                         เหล่านั้นแม้ตนหนึ่ง.
               ฝ่ายสาวกภาษิตมาในเถรคาถา โดยนัยมีอาทิว่า
                                   ราคะทั้งปวงเราละได้แล้ว โทสะทั้งปวงเราถอน
                         เสียแล้ว โมหะทั้งปวงเราขจัดได้แล้ว เราเป็นผู้ดับ เย็น
                         สนิทแล้ว.

               และมาในเถรีคาถาว่า
                                   เราเป็นผู้สำรวมกาย วาจา และใจ ถอนตัณหา
                         พร้อมทั้งรากได้ เป็นผู้ดับเย็นสนิทแล้ว
ดังนี้.
               ก็อุทานเหล่านั้น เป็นอุทานของพระเถระและพระเถรีเหล่านั้น อย่างเดียวก็หามิได้ โดยที่แท้เป็นชนิดสีหนาท (การบันลือดุจราชสีห์) ก็มี. อุทานที่เทวดามีท้าวสักกะเป็นต้นภาษิตไว้ มีอาทิว่า อโห ทานํ ปรมทานํ กสฺสเป สุปฺปติฏฺฐิตํ และอุทานที่มนุษย์ทั้งหลาย มีโสณทัณฑพราหมณ์เป็นต้นภาษิตไว้มีอาทิว่า นโม ตสฺส ภควโต เป็นอุทานที่ยกขึ้นสู่สังคีติทั้ง ๓ ครั้ง อุทานเหล่านั้นไม่ประสงค์เอาในที่นี้. ก็ภาษิตเหล่าใดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเฉพาะพระองค์เองเป็นพุทธพจน์
               และภาษิตเหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอา เมื่อจะทรงจำแนกแสดงปริยัติธรรมออกเป็น ๙ อย่าง ที่ตรัสว่า อุทาน ภาษิตนั้นนั่นแหละพระธรรมสังคาหกาจารย์ร้อยกรองไว้ว่า อุทาน. อุทานนั้นนั่นแหละ ในที่นี้ถือเอาโดยความเป็นสิ่งที่จะพึงสังวรรณนา.
               ส่วนคาถาใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ด้วยคาถามีอาทิว่า อเนกชาติสํสารํ ที่เป็นไปด้วยอำนาจอุทานที่ควงแห่งโพธิพฤกษ์ และคาถาอุทานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายแสนพระองค์ไม่ทรงละ แต่ครั้นต่อมา คาถาเหล่านั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลาย ไม่ได้ร้อยกรองไว้ในอุทานบาลี ร้อยกรองไว้ในธรรมบท เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริก.
               ก็คำอุทานว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ ดังนี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้มีเสียงกึกก้องแพร่หลาย สามารถประกาศแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุ แม้นั้น เป็นเหตุเกิดจากการพิจารณาถึงความลำบากของพระองค์มีผล เพราะอริยมรรคตามที่ทรงแสดงอันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุ เป็นมรรคที่พระเถระบรรลุก่อนกว่าพระสาวกทั้งปวง ในบรรดาสาวกทั้งหลาย ในเวลาจบเทศนาพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และเป็นเหตุเกิดจากการพิจารณาสัมมาปฏิบัติของภิกษุทั้งปวง ในครั้งปฐมโพธิกาล เป็นเพียงอุทานที่เกิดจากปิติและโสมนัส ดุจคำมีอาทิว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายทำให้เรายินดีหนอ ไม่เป็นคำประกาศของความเป็นไปหรือหวนกลับมา ดุจคำมีอาทิว่า ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่พึงเห็นว่า พระธรรมสังคาหกาจารย์ร้อยกรองไว้ในอุทานบาลี.
               ก็อุทานนี้นั้น นับเนื่องในสุตตันตปิฎก ในบรรดาปิฎก ๓ คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธัมมปิฎก นับเนื่องในขุททกนิกาย ในบรรดานิกาย ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกายและขุททกนิกาย สงเคราะห์เข้าในอุทาน ในบรรดาสัตถุศาสน์มีองค์ ๙ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรมและเวทัลละ.
               สงเคราะห์เข้าในธรรมขันธ์เล็กน้อย ในบรรดาธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ที่พระธรรมภัณฑาคาริกภิกษุปฏิญญาไว้อย่างนี้ว่า
                                   ข้าพเจ้าเรียนจากพระพุทธเจ้า ๘๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์
                         จากภิกษุ ๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ รวมเป็นธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐
                         ธรรมขันธ์

               ว่าโดยวรรคมี ๘ วรรค คือ โพธิวรรค มุจจลินทวรรค นันทวรรค เมฆิยวรรค มหาวรรค ชัจจันธวรรค จูฬวรรค ปาฏลิคามิยวรรค.
               ว่าโดยสูตร สงเคราะห์เป็น ๘๐ สูตร.
               ว่าโดยคาถา สงเคราะห์เป็นอุทานคาถา ๙๕ คาถา.
               ว่าโดยภาณวารประมาณ ๙ ครึ่งภาณวาร.
               ว่าโดยอนุสนธิ มี ๑ อนุสนธิ คือปุจฉานุสนธิในโพธิสูตรทั้งหลาย. ในสุปปพุทธสูตร มี ๒ อนุสนธิ คือปุจฉานุสนธิและยถานุสนธิ. ในสูตรที่เหลือ มีอนุสนธิแต่ละอย่าง ด้วยอำนาจยถานุสนธิ แต่อัชฌาสยานุสนธิไม่มีในที่นี้. มีการสงเคราะห์อนุสนธิ ๘๑ โดยประการทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้.
               ว่าโดยบทมี ๒๑,๑๐๐ บท ว่าโดยบาทคาถามี ๘,๔๒๓ คาถา
               ว่าโดยอักขระมี ๖๗,๓๘๒ อักขระ.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า
                                   อุทานว่าโดยย่อ ท่านประกาศไว้ว่ามี ๘๐ สูตร
                         ๘ วรรค ๙๕ คาถา ส่วนภาณวาร ว่าโดยประมาณ
                         มีประมาณ ๙ ครึ่งภาณวาร มีอนุสนธิ ๘๑ อนุสนธิ
                                   ผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์แสดงบทอุทานเหล่านี้
                         คำนวณได้ ๒๑,๑๐๐ บท.

               แต่เมื่อว่าโดยบทแห่งคาถา ท่านแสดงไว้ ๘,๔๒๓ บาทคาถาประกาศอักขระไว้ ๖๗,๓๘๒ อักขระ ดังนี้.
               บรรดาวรรคทั้ง ๘ ของอุทานนั้น มีโพธิวรรค เป็นเบื้องต้น.
               บรรดาสูตร มีโพธิสูตร เป็นที่ ๑. โพธิสูตรแม้นั้น มีนิทานที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ในคราวมหาสังคีติครั้งแรก มีอาทิว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้ เป็นเบื้องต้น. ก็มหาสังคีติครั้งแรกนี้นั้นยกขึ้นสู่ตันติภาษาในวินัยปิฎกนั่นแล. ก็ในที่นี้ กถามรรคที่ควรกล่าวเพื่อความฉลาดในนิทาน แม้นั้น ท่านก็กล่าวไว้ในอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสินีนั้นแล เพราะฉะนั้น พึงทราบโดยนัยดังกล่าวไว้ในอรรถกถา ชื่อว่าสุมังคลวิลาสินีนั้นเถิด.
               จบอารัมภกถา               

               อรรถกถาปฐมโพธิสูตร               
               ก็ในโพธิสูตรนี้ คำว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้น เป็นนิทาน.
               บรรดาบทเหล่านั้น ศัพท์ว่า เอวํ เป็นนิบาต. บทว่า เม เป็นต้นเป็นบทนาม.
               บทว่า วิ ในบทว่า อุรุเวลายํ วิหรติ นี้ เป็นบทอุปสรรค.
               บทว่า หรติ เป็นบทอาขยาต.
               การจำแนกบทในทุกบท พึงทราบโดยนัยนี้ เป็นอันดับแรกแล.
               แต่เมื่อว่าโดยอรรถ เอวํ ศัพท์อันดับแรก มีอรรถหลายประเภท มีอาทิว่า อุปมา อุปเทศ สัมปหังสนะ ครหณะ วจนสัมปฏิคคหะ อาการ นิทัสสนะ อวธารณะ ปุจฉา อิทมัตถะ ปริมาณ.
               จริงอย่างนั้น เอวํ ศัพท์นั้นมาในอุปมา ในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า สัตว์ผู้เกิดมาแล้วพึงทำกุศลให้มาก ฉันนั้น.
               มาในอุปเทศ (ข้อแนะนำ) ในประโยคมีอาทิว่า ท่านพึงก้าวไปข้างหน้าอย่างนี้ ท่านพึงถอยกลับอย่างนี้.
               มาในสัมปหังสนะ(ความร่าเริง) ในประโยคมีอาทิว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น.
               มาในครหณะ (การติเตียน) ในประโยคมีอาทิว่า ก็หญิงถ่อยนี้ กล่าวคุณของสมณะโล้นนั้น ในที่ทุกหนทุกแห่ง (ไม่เลือกสถานที่) อย่างนี้ๆ.
               มาในวจนสัมปฏิคคหะ (การรับคำ) ในประโยคมีอาทิว่า ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เอวํ ภนฺเต อย่างนั้นแล พระเจ้าข้า.
               มาในอาการ ในประโยคมีอาทิว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วอย่างแจ่มแจ้งด้วยอาการอย่างนี้แล.
               มาในนิทัสสนะ (การชี้แจง) ในประโยคมีอาทิว่า
               มาเถิดท่านมาณพน้อย จงเข้าไปหาพระสมณะอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงถามถึงความอาพาธน้อย โรคน้อย ความคล่องแคล่ว พละกำลัง การอยู่ผาสุก กะท่านพระสมณะอานนท์ ตามคำของเราว่า สุภมาณพโตเทยยบุตร ถามถึงอาพาธน้อย โรคน้อย ความคล่องแคล่ว พละกำลัง การอยู่ผาสุก กะท่านพระอานนท์ และจงกล่าวอย่างนี้ว่า ดังข้าพเจ้าขอโอกาส ขอท่านพระอานนท์ จงกรุณาเข้าไปยังนิเวศน์ของสุภมาณพโตเทยยบุตร.
               มาในอวธารณะ (ห้ามความอื่น)
               ดูก่อนชาวกาลามะ ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล. เป็นอกุศล พระเจ้าข้า.
               มีโทษหรือไม่มีโทษ. มีโทษ พระเจ้าข้า.
               วิญญูชนติเตียนหรือสรรเสริญ. วิญญูชนติเตียน พระเจ้าข้า.
               ธรรมทั้งหลายที่สมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลหรือเพื่อทุกข์ หรือว่าไม่เป็นไป หรือในข้อนั้นเป็นอย่างไร.
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลเพื่อทุกข์ ในข้อนี้ พวกข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนั้น.
               มาในคำถาม ในประโยคมีอาทิว่า ชนเหล่านั้นอาบน้ำอย่างดี ลูบไล้อย่างดี ปลงผมและหนวด สวมใส่มาลัยและเครื่องอาภรณ์ ฯลฯ อย่างนั้นหรือ.
               มาในอิทมัตถะ (อรรถแห่ง อิทํ ศัพท์) ในประโยคมีอาทิว่า สิปปายตนะมากมายที่เข้ากับศิลปะนี้ อาการนี้ มีประการอย่างนี้.
               จริงอยู่ คต ศัพท์ มีการยักเรียกว่า ประการ. ศัพท์ว่า วิธาการะ ก็เหมือนกัน. จริงอย่างนั้น ชาวโลกกล่าว คต ศัพท์ที่ประกอบกับ วิธ ศัพท์ในอรรถว่าประการ.
               มาในปริมาณ ในประโยคมีอาทิว่า มีการเปลี่ยนแปลงเร็วเป็นปริมาณ มีการสิ้นสุดอายุเป็นปริมาณ.
               ก็ด้วย เอวํ ศัพท์ในคำว่า เอวํ วิตกฺกิตํ โน ตุมฺเหหิ เอวมายุปริยนฺโต เอวํ ศัพท์ที่ชื่อว่า มีอาการเป็นอรรถเท่านั้น เพราะกล่าวอาการถามและอาการปริมาณมิใช่หรือ? ไม่ใช่ เพราะมีความแปลกกัน. ก็ เอวํ ศัพท์ในที่นี้บอกเพียงอาการ ท่านประสงค์เอาว่า มีอาการเป็นอรรถ. แต่ เอวํ ศัพท์ในคำมีอาทิว่า เอวํ พฺยา โข บอกความแปลกกันแห่งอาการ. ก็ เอวํ ศัพท์เหล่านี้ ที่ชื่อว่าบอกความแปลกกันแห่งอาการ เพราะบอกอาการแห่งคำถาม และอาการแห่งปริมาณ. ก็เพราะอธิบายอย่างนี้ อุทาหรณ์อุปมามีอาทิว่า สัตว์เกิดมาก็ฉันนั้นจึงจะถูก. ก็ในข้อนั้นมีอธิบายดังนี้ สัตว์ชื่อว่า มัจจะ เพราะมีอันจะพึงตายเป็นสภาวะ จำต้องบำเพ็ญบุญเป็นอันมากอันเป็นเช่นกลุ่มดอกไม้ เพราะควรแก่ฐานที่เป็นกองดอกไม้ในคาถานี้ว่า
                         ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา    กยิรา มหาคุเณ พหู
                         เอวํ ชาเตน มจฺเจน    กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุํ
                                   นายมาลาการผู้ฉลาด พึงกระทำพวงดอกไม้ จาก
                         กองดอกไม้ให้มาก แม้ฉันใด สัตว์ผู้มีอันจะพึงตายเป็น
                         สภาวะ เกิดแล้ว จำต้องทำกุศลให้มาก ฉันนั้น
               เพราะตั้งขึ้นจากเหตุแห่งการบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น มีเกิดในมนุษย์ การคบหาสัปบุรุษ การฟังพระสัทธรรม การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการสมบูรณ์ด้วยโภคะ เป็นต้น เพราะประกอบด้วยคุณวิเศษมีความงามและมีกลิ่นหอมเป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อว่าโดยไม่แปลกกัน จึงมีกองดอกไม้ และกลุ่มดอกไม้เป็นเครื่องเปรียบ. อาการเปรียบเทียบกลุ่มดอกไม้เหล่านั้น ท่านกล่าวไว้โดยกำหนดไม่แน่นอน ด้วย ยถา ศัพท์ กล่าวโดยกำหนดแน่นอน ด้วย เอวํ ศัพท์อีก.
               ก็อาการเปรียบเทียบนั้น เมื่อกำหนดลงไป โดยใจความก็เป็นเพียงอุปมาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุปมายํ อาคโต มาในอุปมา ดังนี้.
               อนึ่ง อาการคือการแนะนำในความเพียบพร้อมด้วยมารยาทอันสมควรแก่สมณะที่ท่านแนะนำไว้ โดยนัยมีอาทิว่า พึงก้าวไปอย่างนี้ คือโดยอาการนี้นั้น ว่าโดยอรรถก็คืออุปเทศนั้นเอง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เอวํ ศัพท์มาในอุปเทศ ในประโยคมีอาทิว่า ท่านพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้.
               ในคำว่า เอวเมตํ ภควา เอวเมตํ สุคต นี้ พึงทราบโดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ว่า การหัวเราะ คือการทำความฟูใจ ได้แก่ความร่าเริง โดยประการแห่งคุณที่มีอยู่ในข้อที่ผู้รู้อรรถตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วทำมิให้คลาดเคลื่อน. ในข้อว่า เอวเมว ปนายํ นี้ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วว่า เป็นอาการแห่งการติเตียน. ก็อาการคือการติเตียนนั้น ย่อมรู้ได้ว่าท่านประกาศไว้ด้วย เอวํ ศัพท์ในที่นี้โดยเทียบเคียงกับ ขุํสน ศัพท์ ขู่ว่า หญิงถ่อยเป็นต้น. พึงทราบว่า แม้อาการคือการเปรียบเทียบ ท่านกล่าวไว้โดยเทียบเคียงศัพท์มี ปุพพราสิ ศัพท์เป็นต้นที่ท่านกล่าวไว้โดยอุปมาเป็นต้น เหมือนในอาการติเตียนนี้.
               ด้วยคำว่า เอวญฺจ วเทหิ นี้ ท่านกล่าวว่า อาการคือการกล่าวที่ จะพึงกล่าวในบัดนี้ว่า ข้าพเจ้ากล่าวอาการอย่างใด ท่านจงกล่าวกะสมณะอานนท์ด้วยอาการอย่างนั้น ท่านแสดงไขด้วย เอวํ ศัพท์ เพราะฉะนั้น เอวํ ศัพท์นั้น จึงมีนิทัสสนะเป็นอรรถ.
               แม้ในบทว่า เอวํ โน นี้ เพราะเมื่อตั้งคำถามว่า ไม่เป็นอย่างนั้นหรือ หรือว่าในข้อนั้นเป็นอย่างไร ด้วยอำนาจการถือเอาตามอนุมัติ เพื่อจะให้รู้การตกลงโดยภาวะที่ทำตามที่กล่าวแล้วนั้น นำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และทุกข์มาให้ จึงตอบว่า ในข้อนั้นไม่เป็นอย่างนั้น การสันนิษฐานอาการเช่นนั้นย่อมรู้ได้ว่าท่านให้แจ่มแจ้งแล้วด้วย เอวํ ศัพท์. ก็อาการที่เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลเพื่อทุกข์แห่งธรรมเหล่านั้น เมื่อกำหนดแน่นอนมีอวธารณะเป็นอรรถ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เอวํ ศัพท์มาในอวธารณะ ในประโยคมีอาทิว่า เอวํ โน เอตฺถ โหติ ในข้อนี้ สำหรับข้าพระองค์เป็นอย่างนี้.
               ท่านกล่าวถึง เอวํ ศัพท์เหล่านั้นอันบ่งถึงความแปลกกันแห่งอาการอย่างนั้น ว่ามีอรรถอุปมาเป็นต้น เพราะมีความเป็นไปโดยอรรถพิเศษมีอุปมาเป็นต้น.
               ก็ เอวํ ศัพท์ในคำว่า เอวมฺภนฺเต นั้น มีการรับคำเป็นอรรถ เพราะภิกษุทั้งหลายผู้ประกอบในการใส่ใจด้วยดี ซึ่งการฟังธรรม กล่าวไว้ด้วยสามารถการรู้เฉพาะซึ่งภาวะที่ตนตั้งอยู่ในธรรมนั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงอธิบายไว้ว่า บทว่า เอวมฺภนฺเต ได้แก่ สาธุ ภนฺเต สุฏฺฐุ ภนฺเต ดังนี้. ในที่นี้ เอวํ ศัพท์นี้นั้น พึงเห็นว่า ลงในอรรถว่าอาการ นิทัศนะ และอวธารณะ.
               ใน ๓ อย่างนั้น ด้วย เอวํ ศัพท์ มีอาการเป็นอรรถ พระเถระแสดงอรรถนี้ว่า ใครสามารถจะรู้พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นโดยประการทั้งปวง ซึ่งมีนัยต่างๆ อันละเอียดเกิดจากอัธยาศัยเป็นอเนก สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะมีปาฏิหาริย์ต่างๆ ลึกโดยธรรม อรรถ เทศนา และปฏิเวธ อันมาปรากฏทางโสตวิญญาณโดยเหมาะสมแก่ภาษาของตนๆ แห่งสรรพสัตว์. ก็ข้าพเจ้า แม้ทำความประสงค์เพื่อจะฟังให้เกิดโดยประการทั้งปวงก็ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ คือ แม้ข้าพเจ้าก็ได้สดับมาแล้ว ด้วยอาการอย่างหนึ่ง.
               ก็ในที่นี้ นัยมีอย่างต่างๆ โดยประเภทอารมณ์เป็นต้น กล่าวคือเอกัตตนัย นานัตตนัย อัพยาปารนัย เอวังธัมมตานัย และกล่าวคือนันทิยาวัฏฏนัย ติปุกขลนัย สีหวิกกีลิตนัย ทิสาโลจนนัย และอังกุสนัย ชื่อว่านานานัย.
               อีกอย่างหนึ่ง นัยทั้งหลายมีบาลีเป็นคติ. และนัยเหล่านั้น ชื่อว่านานานัย เพราะมีประการต่างๆ ด้วยอำนาจบัญญัติและอนุบัญญัติเป็นต้น ด้วยนัยที่เป็นส่วนแห่งสังกิเลสเป็นต้น และนัยที่เป็นโลกิยะเป็นต้น และนัยที่คละกันทั้งสองนั้นด้วยอำนาจกุศลเป็นต้น ด้วยอำนาจขันธ์เป็นต้น ด้วยอำนาจสังคหะเป็นต้น ด้วยอำนาจสมยวิมุตติเป็นต้น ด้วยอำนาจฐปนะเป็นต้น ด้วยอำนาจกุศลมูลเป็นต้น และด้วยอำนาจติกปัฏฐานเป็นต้น. ชื่อว่าละเอียดโดยนัยต่างๆ เพราะละเอียดอ่อนสุขุมโดยนัยเหล่านั้น.
               อาสยะนั้นแหละ ชื่อว่าอัธยาศัย. ก็อัธยาศัยนั้นมีหลายอย่างโดยความต่างแห่งภาวะมีความเป็นของเที่ยงเป็นต้น และโดยความต่างแห่งความที่สัตว์มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อยเป็นต้น หรือมีอย่างเป็นอเนก มีอาทิว่า อัธยาศัยของตนเป็นต้น ชื่อว่าอเนกัธยาศัย. อเนกัธยาศัยนั้น ชื่อว่าอเนกัธยาศัยสมุฏฐาน เพราะมีสมุฏฐานเป็นเหตุเกิดขึ้น.
               ชื่อว่า สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ เพราะประกอบด้วยบทแห่งอรรถ ๖ อย่าง คือ สังกาสนะ (คล้ายกัน) ปกาสนะ (ประกาศ) วิวรณะ (ไขความ) วิภชนะ (จำแนก) อุตตานีกรณะ (ทำให้ตื้น) และบัญญัติ (ชื่อ) และประกอบด้วยบทแห่งพยัญชนะ ๖ อย่าง คือ อักขระ บทพยัญชนะ อาการ นิรุตติ และนิเทศ แห่งสมบัติของอรรถแห่งศีลเป็นต้น และสมบัติแห่งพยัญชนะอันทำความแจ่มแจ้งแห่งอรรถมีศีลเป็นต้นนั้น.
               ชื่อว่า มีปาฏิหาริย์ต่างๆ เพราะมีปาฏิหาริย์ต่างๆ หรือมากมาย โดยความต่างแห่งอิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ และโดยความต่างแห่งอารมณ์เป็นต้นของปาฏิหาริย์แต่ละอย่าง บรรดาปาฏิหาริย์เหล่านั้น. ในข้อนั้น เมื่อมีอรรถว่า ชื่อว่าปาฏิหาริย์ เพราะกำจัดธรรมที่เป็นข้าศึก คือเพราะกำจัดกิเลสมีราคะเป็นต้น กิเลสมีราคะเป็นต้นที่เป็นข้าศึกอันจะพึงกำจัดไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า. เมื่อจิตปราศจากอุปกิเลสประกอบด้วยคุณ ๘ ประการ กำจัดธรรมที่เป็นข้าศึกได้แล้ว ปาฏิหาริย์แสดงฤทธิ์ได้ แม้สำหรับปุถุชนก็ยังเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เมื่อว่าโดยโวหารที่เป็นไปในการแสดงฤทธิ์นั้น จึงไม่อาจจะกล่าวได้ว่าปาฏิหาริย์ในที่นี้.
               ก็ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณายังมีกิเลสที่อยู่ในเวไนยสัตว์เป็นข้าศึกอยู่ไซร้ เพราะกำจัดกิเลสอันเป็นข้าศึกนั้นได้ จึงเรียกว่า ปาฏิหาริย์ เมื่อเป็นอย่างนั้น ข้อนั้นจึงถูกต้อง.
               อีกอย่างหนึ่ง พวกเดียรถีย์เป็นข้าศึกต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระศาสนา เพราะกำจัดพวกเดียรถีย์เหล่านั้นได้ จึงเรียกว่า ปาฏิหาริย์.
               จริงอยู่ เดียรถีย์เหล่านั้น ถูกพระองค์ทรงกำจัด คือขับไล่ออกด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ด้วยอำนาจการกำจัดทิฏฐิ และด้วยไม่มีความสามารถในการประกาศทิฏฐิ.
               อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า ปฏิ นี้ ย่อมให้รู้อรรถของศัพท์ว่า ปจฺฉา นี้ เหมือน ปฏิ ศัพท์ในประโยคมีอาทิว่า ตสฺมึ ปฏิปวิฏฺฐมฺหิ อญฺโญ อาคจฺฉติ พฺราหฺมโณ เมื่อพราหมณ์นั้นเข้าไป พราหมณ์อีกคนหนึ่งจึงมา. เพราะฉะนั้น เมื่อจิตตั้งมั่นปราศจากอุปกิเลส บุคคลผู้ทำกิจแล้วพึงนำไป คือให้เป็นไปในภายหลัง เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าปาฏิหาริย์.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุปกิเลสของตนถูกมรรคอันสัมปยุตด้วยฌานที่ ๔ ขจัดแล้ว การกำจัดในภายหลัง ชื่อว่าปาฏิหาริย์. อนึ่ง อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ อันผู้ปราศจากอุปกิเลสเสร็จกิจแล้ว พึงให้เป็นไปอีก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ อนึ่ง เมื่ออุปกิเลสของตนถูกขจัดแล้ว การกำจัดอุปกิเลสในสันดานของบุคคลอื่นก็ย่อมมี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีปาฏิหาริย์. ปาฏิหาริย์นั่นแหละ เป็นปาฏิหาริย์.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อว่าโดยปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์แต่ละอย่างที่มีในหมวดแห่งอิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ท่านเรียกว่าปาฏิหาริย์.
               อีกอย่างหนึ่ง ฌานที่ ๔ และมรรค ชื่อว่าปาฏิหาริย์ เพราะกำจัดธรรมที่เป็นข้าศึก. พึงทราบอรรถว่าปาฏิหาริย์ เพราะเกิดในฌานที่ ๔ และมรรคนั้น หรือเป็นนิมิตในฌานที่ ๔ และมรรคนั้น หรือมาจากฌานที่ ๔ และมรรคนั้น ดังนี้.
               ก็เพราะเหตุความลึกโดยธรรม อรรถ เทศนา และปฏิเวธ กล่าวคือแบบแผน อรรถ เทศนาและการตรัสรู้ชื่อของแบบแผนเป็นต้นนั้น หรือกล่าวคือ เหตุและผลอันเผล็ดมาแต่เหตุ ทั้งเหตุทั้งผล บัญญัติและปฏิเวธ ซึ่งเป็นภาวะอันสัตว์ผู้มิได้สร้างสมกุศลสมภารไว้ หาที่พึ่งไม่ได้และหยั่งรู้ได้ยาก เหมือนมหาสมุทรอันสัตว์ทั้งหลาย มีกระต่ายเป็นต้นไม่อาจหยั่งถึง เพราะฉะนั้น พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าลึกโดยธรรม อรรถ เทศนา และปฏิเวธ เพราะประกอบด้วยภาวะที่ลึก ๔ ประการนั้น.
               การประกาศพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น เป็นไปในขณะเดียว ย่อมควรจะถือเอาได้ไม่ก่อนและไม่หลัง โดยภาษาของตนๆ แห่งสัตว์ทั้งหลายผู้มีภาษาต่างๆ กัน. จริงอยู่ พุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตย เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า ย่อมปรากฏทางโสตประสาทของสรรพสัตว์ โดยสมควรแก่ภาษาของตนๆ.
               ด้วย เอวํ ศัพท์มีนิทัสสนะเป็นอรรถ พระเถระเมื่อจะเปลื้องตนว่า เราไม่ใช่พระสยัมภู พระสูตรนี้ เรามิได้ทำให้แจ้งเอง จึงแสดงไขพระสูตรทั้งสิ้นที่จะพึงกล่าวในบัดนี้ว่า เราได้สดับบทแล้วอย่างนี้ คือ แม้เราก็ได้สดับฟังมาแล้วอย่างนี้.
               ด้วย เอวํ ศัพท์อันมีอวธารณะเป็นอรรถ พระเถระเมื่อจะแสดงกำลังการทรงจำของตน โดยสมควรแก่ภาวะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้อย่างนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา อานนท์เป็นเลิศของภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้มีคติ มีสติ มีธิติ (และ) ผู้เป็นอุปัฏฐาก
               และคำที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรสรรเสริญไว้อย่างนี้ว่า
               ท่านพระอานนท์เป็นผู้ฉลาดในอรรถ ฉลาดในธรรม ฉลาดในพยัญชนะ ฉลาดในนิรุตติ ฉลาดในอักขระ เบื้องต้นและเบื้องปลาย
               จึงให้เหล่าสัตว์เกิดความประสงค์ที่จะฟังว่า เราได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ และพระสูตรนั้นแลว่าโดยอรรถหรือพยัญชนะ ไม่หย่อนไม่ยิ่งกว่ากัน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่พึงเห็นโดยประการอื่น.
               บทว่า อญฺญถา คือ โดยประการอื่นจากอาการที่ได้ฟังมาแล้วเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่มิใช่โดยประการอื่นจากอาการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว.
               จริงอยู่ เทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีอานุภาพเป็นอจินไตย. เทศนานั้น ใครๆ ไม่อาจรู้ได้โดยอาการทั้งปวง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวเนื้อความนี้ไว้ดังนี้แล. จริงอยู่ กำลังแห่งการทรงจำ ก็คือการที่ไม่ผิดพลาดจากอาการที่ได้ฟังมาแล้วเลย.
               เม ศัพท์ ปรากฏในอรรถทั้ง ๓. จริงอย่างนั้น เม ศัพท์นั้นมีอรรถว่า มยา เหมือนในประโยคมีอาทิว่า คาถาภิคีตํ เม อโภชเนยฺยํ โภชนะที่ได้มาเพราะขับร้อยกรอง อันเราไม่ควรบริโภค.
               เม ศัพท์มีอรรถว่า มยฺหํ ในประโยคมีอาทิว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพระองค์ขอวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ.
               เม ศัพท์ มีอรรถว่า มม ในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นธรรมทายาทของเรา.
               แต่ เม ศัพท์ในที่นี้ ใช้ในอรรถ ๒ อย่าง คือ มยา สุตํ และ มม สุตํ.
               แต่ในที่นี้ เม ศัพท์แม้ทั้ง ๓ อย่าง ย่อมปรากฏในอรรถเดียวเท่านั้น เพราะเป็นไปในสันดานของตน กล่าวคือเกิดเฉพาะในตนที่จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า สภาวะใดไม่เป็นอื่น สภาวะนั้นคืออัตตา ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็รู้ได้ทันทีว่า ความต่างแห่งอรรถนี้ กล่าวคือความพิเศษแห่งกรณะและสัมปทานะ เป็นต้น. เพราะฉะนั้น พึงเห็นว่า เม ศัพท์ ท่านกล่าวว่าปรากฏในอรรถ ๓ อย่าง.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ โพธิสูตรที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 36อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 38อ่านอรรถกถา 25 / 39อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1425&Z=1445
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :