ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 36อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 38อ่านอรรถกถา 25 / 39อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ โพธิสูตรที่ ๑

หน้าต่างที่ ๔ / ๔.

               วิมุตติสุขนี้นั้นมี ๒ อย่าง โดยการจำแนกความเป็นไปของผลจิต คือ ในมรรควิถี ๑ ในกาลอื่น ๑. ผลจิต ๓ หรือ ๒ (ขณะ) ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ อันเป็นผลของวิมุตติสุขนั้นๆ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับอริยมรรคแต่ละมรรค เพราะโลกุตรกุศลมีวิบากในลำดับ.
               ในคราวที่อนุโลมจิต ๒ ดวงเกิดในชวนวารที่อริยมรรคเกิดขึ้น จิตดวงที่ ๓ จัดเป็นโคตรภูจิต ดวงที่ ๔ จัดเป็นมรรคจิต ต่อแต่นั้นไปเป็นผลจิต ๓ ดวง. แต่ในคราวที่อนุโลมจิตเกิดขึ้น ๓ ดวง จิตดวงที่ ๔ เป็นโคตรภูจิต ดวงที่ ๕ เป็นมรรคจิต ต่อแต่นั้นไปเป็นผลจิต ๒ ดวง. จิตดวงที่ ๔ ที่ ๕ ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจอัปปนา ด้วยประการฉะนี้ ต่อแต่นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะใกล้ต่อภวังคจิต.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า แม้จิตดวงที่ ๖ ก็เป็นอัปปนา. คำนั้นท่านค้านไว้ในอรรถกถาแล้ว.
               พึงทราบผลจิตในมรรควิถีด้วยประการฉะนี้.
               แต่ผลจิตในกาลอื่น ย่อมเป็นไปด้วยผลสมาบัติ และที่เกิดขึ้นแก่ท่านผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านสงเคราะห์ด้วยผลสมาบัตินั้นเอง. ก็ผลสมาบัตินี้นั้นว่าโดยอรรถ เป็นวิบากแห่งโลกุตรกุศลจิต อันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ พึงทราบว่าเป็นอัปปนา.
               ถามว่า ผลสมาบัตินั้น พวกไหนเข้าได้ พวกไหนเข้าไม่ได้?
               ตอบว่า ปุถุชนทั้งหมดเข้าไม่ได้เพราะยังไม่ได้บรรลุ อนึ่ง พระอริยเจ้าชั้นต่ำก็เหมือนกัน เข้าผลสมาบัติชั้นสูงไม่ได้ แม้พระอริยเจ้าชั้นสูงก็ไม่เข้าผลสมาบัติชั้นต่ำเหมือนกัน เพราะท่านสงบระงับด้วยการเข้าถึงความเป็นบุคคลอื่น. พระอริยเจ้านั้นๆ ย่อมเข้าผลสมาบัติของตนๆ เท่านั้น. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระโสดาบันบุคคลและพระสกทาคามีบุคคล ย่อมไม่เข้าผลสมาบัติ พระอริยบุคคลชั้นสูง ๒ พวกเท่านั้น ย่อมเข้าได้ เพราะท่านกระทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ. ข้อนั้นไม่ใช่เหตุ เพราะแม้ปุถุชนก็เข้าโลกิยสมาธิที่ตนได้ อีกอย่างหนึ่ง จะป่วยกล่าวไปไยด้วยการคิดถึงเหตุในข้อนี้.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า สังขารุเบกขาญาณ ๑๐ เหล่าไหน เกิดขึ้นด้วยวิปัสสนา โคตรภูธรรม ๑๐ เหล่าไหน เกิดขึ้นด้วยวิปัสสนา. ในการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ ท่านกล่าวถึงการเข้าผลสมาบัติของพระอริยเจ้าเหล่านั้นว่า เพื่อประโยชน์แก่โสดาปัตติผลสมาบัติ เพื่อประโยชน์แก่สกทาคามิผลสมาบัติ. เพราะฉะนั้น จึงตกลงกันในข้อนี้ว่า พระอริยเจ้าแม้ทั้งปวงย่อมเข้าผลสมาบัติตามที่เป็นของตน.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระอริยเจ้าเหล่านั้นจึงเข้าสมาบัติ?
               ตอบว่า เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน. เหมือนอย่างว่า พระราชาทั้งหลายเสวยสุขในราชสมบัติ เทวดาทั้งหลายเสวยทิพยสุข ฉันใด พระอริยเจ้าทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมกำหนดกาลว่า จักเสวยโลกุตรสุข จึงเข้าผลสมาบัติในขณะที่ต้องการ.
               ถามว่า ก็ผลสมาบัตินั้น เข้าอย่างไร หยุดอย่างไร ออกอย่างไร?
               ตอบว่า ก่อนอื่นการเข้าผลสมาบัตินั้นมี ๒ อย่าง คือ ไม่มนสิการอารมณ์อื่นจากพระนิพพาน และมนสิการถึงพระนิพพาน เหมือนดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติสมาบัติ
                         อันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่าง คือการไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง
                         และการใส่ใจถึงธาตุที่หานิมิตมิได้.

               ก็ในที่นี้ มีลำดับการเข้าผลสมาบัติดังต่อไปนี้ พระอริยสาวกผู้ต้องการผลสมาบัติ ไปในที่ลับ หลีกเร้นอยู่ พึงพิจารณาสังขารด้วยอุทยัพพยญาณเป็นต้น. เมื่อท่านมีวิปัสสนาญาณโดยลำดับ อันดำเนินไปอย่างนี้ จิตย่อมเป็นอัปปนาในนิโรธด้วยอำนาจผลสมาบัติ ในลำดับโคตรภูญาณมีสังขารเป็นอารมณ์. ก็ผลจิตเท่านั้นเกิดมรรคจิตไม่เกิดแม้แก่พระเสกขบุคคล เพราะท่านน้อมไปในผลสมาบัติ.
               ส่วนอาจารย์เหล่าใดกล่าวว่า พระโสดาบันคิดว่าจักเข้าผลสมาบัติของตนแล้วเจริญวิปัสสนาเป็นพระสกทาคามี และพระสกทาคามีคิดว่าจักเข้าผลสมาบัติของตนแล้วเจริญวิปัสสนา ได้เป็นอนาคามี ดังนี้
               อาจารย์เหล่านั้นพึงถูกต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น พระอนาคามีก็จักเป็นพระอรหันต์, พระอรหันต์ก็จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจ้าก็จักเป็นพระสัมพุทธเจ้า ดังนี้ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาจึงให้สำเร็จประโยชน์ตามความยินดีในจิตสันดานตามอัธยาศัย ด้วยเหตุนั้น แม้สำหรับพระเสกขบุคคลก็เกิดแต่ผลจิตเหมือนกัน มรรคจิตไม่เกิด. ถ้าท่านบรรลุมรรคจิตที่สัมปยุตด้วยปฐมฌานไซร้ แม้ผลจิตที่สัมปยุตด้วยปฐมฌานเท่านั้น ก็เกิดแก่ท่าน ถ้าท่านบรรลุมรรคจิตที่สัมปยุตด้วยฌานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาทุติยฌานเป็นต้นไซร้ ผลจิตที่สัมปยุตด้วยฌานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาทุติยฌานเป็นต้น ก็ย่อมเกิด.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในที่นี้ โคตรภูญาณจึงไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เหมือนญาณที่เป็นปุเรจาริกของมรรคญาณ?
               ตอบว่า เพราะผลญาณไม่เป็นนิยยานิกธรรม. ความจริง ธรรมคืออริยมรรคเท่านั้นเป็นนิยยานิกธรรม. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมเหล่าไหนเป็นนิยยานิกธรรม? อริยมรรค ๔ ที่เป็นอปริยาปันนะ เป็นนิยยานิกธรรม.
               เพราะฉะนั้น ญาณอันเป็นอนันตรปัจจัยแห่งสภาวธรรมที่เป็นนิยยานิกะโดยส่วนเดียว ซึ่งดำเนินไปโดยสภาวะที่ออกจากทั้งสองฝ่าย พึงออกจากนิมิตได้เลย เพราะฉะนั้น โคตรภูญาณนั้น มีพระนิพพานเป็นอารมณ์จึงจะถูก แต่ว่า ญาณที่เป็นปุเรจาริกของผลญาณ ซึ่งมีสภาวะไม่ออกไป เพราะไม่เป็นนิยยานิกธรรม เหตุที่ไม่ตัดขาดกิเลส ซึ่งกำลังเป็นไปโดยเป็นวิบากของอริยมรรคนั้น เพราะได้เจริญอริยมรรคไว้ แม้บางคราวจะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ก็ไม่ถูกไม่ควร เพราะอนุโลมญาณในทั้ง ๒ ฝ่าย มีอาการไม่เสมอกัน.
               จริงอยู่ อนุโลมญาณในอริยมรรควิถี อันถึงความบริบูรณ์อย่างอุกฤษฏ์ด้วยโลกิยญาณ อันเป็นเครื่องทำลายกองโลภะเป็นต้น อันมากมายซึ่งไม่เคยแทงตลอดได้อย่างดี เกิดขึ้นอนุโลมแก่มรรคญาณ ส่วนในผลสมาบัติวิถีอนุโลมญาณนั้นๆ ไม่มีความขวนขวายในอริยมรรควิถีนั้น เพราะตัดกิเลสนั้นๆ ได้เด็ดขาด เกิดเป็นเพียงบริกรรมแห่งความพรั่งพร้อม ด้วยสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติของพระอริยเจ้าทั้งหลายอย่างเดียว เพราะฉะนั้น อนุโลมญาณเหล่านั้น จึงไม่มีการออกจากปัจจัยไหนๆ เพราะญาณในที่สุดแห่งอนุโลมญาณเหล่านั้น อันมีสังขารเป็นนิมิต พึงมีพระนิพพานเป็นอารมณ์จากการออกจากสมาบัติ.
               ก็เพราะทำคำอธิบายดังว่านี้ เมื่อพระเสกขบุคคลพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยอุทยัพพยญาณเป็นต้น เพื่อจะใช้ผลสมาบัติของตน ผลจิตเท่านั้นจึงเกิดขึ้นในลำดับวิปัสสนาญาณ มรรคไม่เกิด. ฉะนั้น เนื้อความดังกล่าวมานี้แล จึงเป็นอันสมบูรณ์แล้ว.
               พึงทราบการเข้าผลสมาบัติดังกล่าวมาอย่างนี้ก่อน.
               ก็ผลสมาบัตินั้นมีการตั้งอยู่โดยอาการ ๓ อย่าง เพราะพระบาลีว่า
               ผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่ของเจโตวิมุตติอันหานิมิตมิได้มี ๓ อย่างแล คือ
                         การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑
                         การมนสิการถึงธาตุอันหานิมิตมิได้ ๑
                         การปรุงแต่งในกาลก่อน ๑.

               ใน ๓ อย่างนั้น บทว่า ปุพฺเพ จ อภิสงฺขาโร ได้แก่ การกำหนดเวลาในกาลก่อนเข้าสมาบัติ. ก็ผลสมาบัตินั้นไม่มีการออกตราบเท่าที่ยังไม่ถึงเวลานั้น เพราะท่านกำหนดไว้ว่าจักออกในเวลาโน้น.
               อนึ่ง ผลสมาบัตินั้นย่อมมีการออกโดยอาการ ๒ อย่าง เพราะพระบาลีว่า
               ผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการออกของเจโตวิมุตติ อันหานิมิตมิได้มี ๒ อย่างแล คือ
                         มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑
                         ไม่มนสิการถึงธาตุอันหานิมิตมิได้ ๑.

               ใน ๒ อย่างนั้น บทว่า สพฺพนิมิตฺตานํ ได้แก่ รูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิตและวิญญาณนิมิต. พระโยคาวจรไม่มนสิการรวมกันซึ่งนิมิตเหล่านั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น ด้วยการรวมนิมิตทั้งปวง. เพราะฉะนั้น อารมณ์ของภวังคจิตอันใดมีอยู่ การออกจากผลสมาบัติย่อมมีโดยมนสิการถึงอารมณ์นั้น พึงทราบการออกจากผลสมาบัตินั้นด้วยประการอย่างนี้.
               ท่านกล่าวว่า วิมุตฺติสุขํ ปฏิสํเวที ดังนี้ หมายเอาการเข้า การตั้งอยู่ และการออกจากผลสมาบัติ ดังกล่าวมานี้นั้น จัดเป็นอรหัตผลอันสงบระงับความกระวนกระวาย มีอมตะเป็นอารมณ์ เป็นสุข คายโลกามิส สงบ เป็นสามัญผลอันสูงสุด. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า วิมุตฺติสุขํ ปฏิสํเวที ได้แก่ ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข คือผลสมาบัติสุข.
               ศัพท์ว่า อถ เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งอธิการ. ศัพท์ว่า โข เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งปทปูรณะทำบทให้เต็ม. ในศัพท์ว่า อถ โข นั้นด้วยศัพท์ว่า อถ ซึ่งมีอธิการเป็นอรรถนี้ ท่านแสดงถึงอธิการ (คือภารกิจ) อย่างอื่นจากการเสวยวิมุตติสุข.
               ถามว่า ก็อธิการอื่นนั้น คืออะไร ?
               ตอบว่า คือ การมนสิการถึงปฏิจจสมุปบาท.
               อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า อถ เป็นนิบาตลงในอรรถนี้ว่า ปจฺฉา ภายหลัง. ด้วยเหตุนั้น ศัพท์ว่า อถ นั้น จึงส่องอรรถที่กำลังกล่าวอยู่ว่า โดยล่วงไป ๗ วันนั้น.
               บทว่า ตสฺส สตฺตาหสฺส ได้แก่ นั่งขัดสมาธิ ๗ วัน.
               บทว่า อจฺจเยน แปลว่า ปราศจากไป.
               บทว่า ตมฺหา สมาธิมฺหา ได้แก่ จากสมาธิอันสัมปยุตด้วยอรหัตผล.
               แต่ในที่นี้ อาจารย์บางพวกขยายสัปดาห์เหล่านั้นให้พิสดารออกไปว่า พึงแสดง ๗ สัปดาห์เรียงไปโดยลำดับ. ก็เราทั้งหลายจักพรรณนาสัปดาห์เหล่านั้นข้างหน้า โดยแนวทางของการแสดงอันไม่ผิดพลาด ในอุทานบาลีนี้ โดยขันธกปาฐะ.
               บทว่า รตฺติยา เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถที่สัมพันธ์กับส่วนต่างๆ (ของราตรี).
               บทว่า ปฐมํ เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถว่าอัจจันตสังโยคะ แปลว่าตลอด.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบด้วยมนสิการนั้นแลตลอดปฐมยามแม้ทั้งสิ้นของราตรีนั้น.
               บทว่า ปฏิจฺจสมุปฺปาทํ ได้แก่ ปัจจัยธรรม.
               จริงอยู่ ปัจจัยธรรมมีอวิชชาเป็นต้น ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท.
               หากมีคำถามสอดเข้ามาว่า ข้อนี้จะพึงรู้ได้อย่างไร?
               ตอบว่า รู้ได้ เพราะพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อานนท์ เพราะเหตุนั้นแล ธรรมนั่นแลเป็นเหตุ เป็นนิทาน เป็นสมุทัย เป็นปัจจัยแห่งชราและมรณะ คือ ชาติ ฯลฯ นั่นเป็นปัจจัยแห่งสังขาร คือ อวิชชา รวมความว่า ปัจจัยธรรมมีอวิชชาเป็นต้น เป็นตัวเหตุ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ปัจจัย ๑๒ คือ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒
               ในข้อนั้น มีวจนัตถะดังต่อไปนี้ ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาท เพราะอาศัย คือมุ่งหน้าต่อกันและกัน ไม่ปฏิเสธความพร้อมเพียงของเหตุ ให้ปัจจัยที่เกื้อกูลกันเกิดขึ้น.
               อีกอย่างหนึ่ง การอาศัยปัจจัยอันควรเป็นปัจจัย ซึ่งต้องอาศัยกันเป็นไป จึงเกิดสัมพันธ์กันโดยไม่เว้นปัจจัยนั้น ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาท.
               ก็ในคำว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ ได้แก่ เหตุที่ประกอบด้วยความสามารถในการให้เกิดผล อันจะรู้ได้ด้วยคำอันมีการเกิดขึ้นพร้อมเป็นเหตุใกล้ ไม่พึงทราบเพียงแต่อาศัยกันเกิดขึ้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ปัจจัยชื่อว่า ปฏิจจะ เพราะเป็นที่ควรอาศัยเฉพาะของบัณฑิต.
               ชื่อว่า สมุปบาท เพราะให้เกิดขึ้นโดยชอบ หรือด้วยตนเอง. ปฏิจจะนั้นด้วยสมุปบาทนั้นด้วย ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท พึงทราบความในเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้.
               บทว่า อนุโลมํ ได้แก่ ปัจจยาการมีอวิชชาเป็นต้น ที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า
               อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีสังขาร.
               ท่านเรียกว่า อนุโลม เพราะกระทำกิจที่ตนควรกระทำ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อนุโลม เพราะท่านกล่าวตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด หรือเพราะอนุโลมตามความเป็นไป ซึ่งอนุโลมนั้น.
               บทว่า สาธุกํ มนสากาสิ ได้แก่ กระทำไว้ในใจโดยเคารพ.
               อธิบายว่า ปัจจยธรรมใดๆ เป็นปัจจัยแก่ปัจจยุปปันนธรรมใดๆ โดยความเป็นปัจจัยมีเหตุปัจจัยเป็นต้น โดยประการใดๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำธรรมทั้งหมดนั้นไว้ในพระทัยไม่ให้วิปริต ไม่ให้ลดลง โดยทรงพิจารณาหมดไม่ให้เหลือ.
               ก็เพื่อจะแสดงประการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลม โดยสังเขปก่อน จึงกล่าวคำอาทิว่า
               อิติ อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิติ เท่ากับ เอวํ อธิบายว่า โดยประการนี้.
               บทว่า อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ ความว่า เมื่อปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นนี้มี ผลมีสังขารเป็นต้นนี้ ก็มี.
               บทว่า อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ ความว่า เพราะปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นนี้เกิด ผลมีสังขารเป็นต้นนี้ย่อมเกิด.
               บทว่า อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ ความว่า เพราะตรัสความไม่มีสังขารเป็นต้น ในเมื่ออวิชชาเป็นต้น ไม่มีไว้ในสูตรที่ ๒ และตรัสความดับสังขารเป็นต้น ในเมื่ออวิชชาเป็นต้นดับไว้ในสูตรที่ ๓ ชื่อว่าเป็นอันทรงแสดงการกำหนดลักษณะแห่งปัจจัยเบื้องต้นนี้.
               เมื่อปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นนี้มีอยู่ทีเดียวไม่ใช่ไม่มี. เพราะอวิชชาเป็นต้นนี้เกิดอยู่ทีเดียว ไม่ใช่ไม่เกิด. เพราะดับนั่นแหละ ไม่ใช่ไม่ดับ. เพราะเหตุดังนี้นั้น พึงเห็นว่าลักษณะนั้นเป็นการกำหนดที่หยั่งลงในภายใน ตรัสไว้ในที่นี้สำหรับปฏิจจสมุปบาท.
               อนึ่ง บทว่า นิโรโธ ได้แก่ ความไม่เกิดขึ้น คือความไม่เป็นไปต่อไป เพราะบรรลุความสำรอกปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้น.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้มีอาทิว่า
                         อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ
                         ก็เพราะดับโดยสำรอกไม่เหลือซึ่งอวิชชา สังขารจึงดับ.
               ด้วยคำว่า อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ นั้น ท่านแสดงความนี้ไว้ว่า ความไม่ดับ ชื่อว่าความเกิด และความเกิดนั้นในที่นี้ ท่านเรียกว่า อตฺถิภาโว (ความมี) ดังนี้ก็มี.
               จริงอยู่ ลักษณะว่า อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ นี้แหละ เมื่อว่าโดยปริยายอื่น บทแรกเป็นอันแปลกจากบทปลาย ที่กล่าวว่า อิมสฺส อุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะฉะนั้น ที่ท่านกล่าวว่า อิมสฺมึ สติ หมายถึงภาวะที่ทรงอยู่เท่านั้นก็หามิได้. โดยที่แท้ย่อมให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ภาวะที่จะดับด้วยมรรค. ก็เพราะเหตุที่เมื่อกล่าวถึงนิเทศแห่งลักษณะที่ยกขึ้นแสดงเป็น ๒ อย่าง คือ อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ, (และ) อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ ดังนี้ จึงกล่าวเฉพาะความดับโดยนัยมีอาทิว่า อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ ฉะนั้น จึงเป็นอันแสดงว่า แม้ความไม่มีก็คือความดับ ความมีอันผิดจากความไม่มีก็คือความไม่ดับ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงแสดงความเกิดให้แปลกกับความมี กล่าวคือความไม่ดับ. เพราะเหตุนั้น ในที่นี้ท่านจึงไม่ประสงค์เอาความว่า เพียงแต่ความมี เป็นความเกิดขึ้น โดยที่แท้ ท่านทำให้แจ้งถึงอรรถนี้ว่า ความมีคือความไม่ดับ. เมื่อเป็นเช่นนั้น การกล่าวถึงลักษณะทั้ง ๒ นั้น พึงทราบว่ามีประโยชน์ เพราะเป็นลักษณะที่จะพึงให้แปลกด้วยความแปลกแห่งกันและกัน.
               ถามว่า ก็ชื่อว่า อนิโรธะ ที่เรียกว่า อัตถิภาวะ และว่า อุปปาทะ นี้คืออะไร?
               ตอบว่า คือ ภาวะที่ยังไม่ละ ๑ ภาวะที่ควรเพิ่มผลโดยไม่ละภาวะที่ควรแก่ผลอันยังไม่เกิด ๑ ภาวะที่อกุศลธรรมที่จะพึงละนั้นอันอริยมรรคยังไม่ได้ถอนขึ้น ๑ ภาวะที่สังโยชน์ในกุศลธรรมและอัพยากตธรรมที่ไม่จำต้องละ สำหรับผู้มีอาสวะยังไม่สิ้นไป ยังละไม่ได้ ๑. จริงอยู่ ความเป็นไปแห่งขันธ์พร้อมทั้งสิ้น ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท เพราะภาวะมีอนุสัยยังถอนขึ้นไม่ได้.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้มีอาทิว่า
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายนี้ของคนพาล ผู้ถูกอวิชชาใด
                         หุ้มห่อไว้ ผู้สัมปยุตด้วยตัณหาใดยังเป็นไปแล้ว อวิชชานั้น
                         คนพาลยังละไม่ได้ และตัณหานั้นก็ยังไม่สิ้นไป.
                         ข้อนั้นเพราะเหตุไร.
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะคนพาลไม่ประพฤติพรหม-
                         จรรย์เพื่อสิ้นทุกข์โดยชอบ เพราะฉะนั้น คนพาลย่อมเข้าถึง
                         กาย (อีก) เพราะกายแตก คนพาลนั้นเมื่อเข้าถึงกาย ย่อมไม่
                         พ้นจาก ชาติ ชรา และมรณะ.

               ก็เพราะอวิชชาของผู้สิ้นสังโยชน์แล้วไม่มี สังขารจึงไม่มี เพราะตัณหาและอุปาทานไม่มี อุปาทานและภพจึงไม่มี เพราะเหตุนั้น วัฏฏะจักปรากฏความขาดสิ้น.
               ด้วยเหตุนั้นนั้นแล ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า
                                   ดูก่อนผัคคุณะ ก็เพราะดับด้วยการสำรอก
                         ผัสสายตนะ ๖ ได้โดยไม่เหลือ ผัสสะจึงดับ เพราะ
                         ผัสสะดับ เวทนาจึงดับ.

               จริงอยู่ ตั้งแต่บรรลุพระอรหัตมรรคจนถึงปรินิพพาน อายตนะ ๖ เป็นต้น จะไม่เป็นไปก็หามิได้. โดยที่แท้ ท่านกล่าวถึงนิโรธ เพราะภาวะที่ไม่มี ภาวะที่ควรกล่าวศัพท์นิโรธ ภาวะที่สิ้นสังโยชน์.
               อีกอย่างหนึ่ง กรรมแม้ที่ทำไว้นาน จัดว่ามีอยู่ตามควรแก่ผล เพราะผลยังไม่เกิด และเพราะยังไม่ละอาหาร คือ ไม่ใช่ผลที่เกิดแล้ว ทั้งก็ไม่ใช่ละอาหารแล้วแล.
               ภาวะที่ปัจจัยเป็นเหตุ เกิดผลมีอวิชชาและสังขารเป็นต้น เป็นปัจจัยควรแก่ผลโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล พึงทราบว่า อนิโรธ (ไม่ดับ.) ก็เพราะปัจจัยที่ให้เกิดผลอย่างนั้นยังไม่ดับ เว้นเหตุใดเสีย ผลไม่เกิด เหตุนั้นมีอดีตเหตุเป็นต้น ที่ท่านกล่าวด้วยคำว่า อิมสฺมึ สติ นี้. ก็เพราะเหตุนั้นแหละ การเกิดขึ้นแห่งปัจจัยไม่แตะต้องถึงการไม่ประพฤติของผู้ยังไม่อยู่จบพรหมจรรย์ ท่านกล่าวว่า อิมสฺส อุปฺปาทา ด้วยการไม่กลับมา โดยไม่พาดพิงถึงประเภทของกาล.
               อีกอย่างหนึ่ง ในความพร้อมเพรียงของปัจจัยที่เหลือ ภาวะที่ปัจจัยแม้จะไม่มีก็เหมือนมี จะกล่าวไปทำไมถึงปัจจัยที่มี ซึ่งเป็นปัจจัยมุ่งให้เกิดผลนั้นท่านเรียกว่า อิมสฺส อุปฺปาทา. จริงอย่างนั้น ผลย่อมเกิดแต่เหตุนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ตทวัตถุ ได้แก่ เหตุที่เกิดขึ้นโดยภาวะที่ให้เกิดผล เป็นอันชื่อว่าอุบัติขึ้นแล้ว. เหตุแม้ไม่มีอยู่ ก็ชื่อว่า ตทวัตถุ เพราะฉะนั้น ภาวะที่เป็นตทวัตถุ พึงทราบว่า อุปปาทะ
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า สติ นี้ พระเถระเมื่อจะกล่าวถึงภาวะที่เป็นปัจจัยโดยเพียงภาวะที่มีอยู่ จึงแสดงความที่ปฏิจจสมุปบาทไม่ต้องขวนขวาย.
               ด้วยบทว่า อุปฺปาทา นี้ พระเถระเมื่อจะแสดงความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และภาวะที่ไม่เป็นไปทุกกาลและภาวะที่มุ่งต่อการเกิดผล จึงแสดงถึงภาวะที่ปฏิจจสมุปบาทเป็นอนิจจตา.
               ก็พระเถระแสดงถึงปฏิจจสมุปบาทเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นชาติ และเป็นแดนเกิด ที่สำเร็จด้วยสัตตมีวิภัตติและปัญจมีวิภัตติที่ใช้ในอรรถของเหตุ ด้วยคำว่า สติ น อสติ อุปฺปาทา น นิโรธา ในเมื่อสิ่งนี้มี คือไม่มีก็หามิได้ เพราะสิ่งนี้เกิด คือดับก็หามิได้. ท่านกำหนดภาวะแห่งผล ซึ่งมีโดยไม่เว้นจากเหตุ ในเพราะภาวะแห่งสัตตมีวิภัตติลงในอรรถแห่งเหตุ พึงทราบความเป็นไปในเหตุนั้น
               เหมือนคำว่า ในเมื่อคนไม่มีทรัพย์ไม่ทำทรัพย์ให้เกิดขึ้น ความจนก็ยิ่งจนหนักเข้า และคำว่าในเมื่อข้าวกล้าสมบูรณ์ ก็เกิดอาหารดีขึ้น. แม้ปัญจมีวิภัตติก็ลงในอรรถแห่งเหตุ ชื่อว่าเป็นไปได้ในแดนเกิดและในความปกติของผล เหมือนคำว่า จากกลละเป็นอัมพุทะ จากอัมพุทะเกิดเป็นเปสิ และคำว่า แม่น้ำคงคาเกิดจากเขาหิมวันต์ สระเกิดจากแม่น้ำสรภู.
               ก็ในเพราะอวิชชาเป็นต้นมี ท่านจึงกำหนดภาวะแห่งผลมีสังขารเป็นต้น เพราะภาวะที่ไม่เว้นจากอวิชชาเป็นต้นนั้น. และผลมีสังขารเป็นต้นเกิดจากปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้น และอันปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นก่อขึ้น เพราะฉะนั้น ปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นนั้น จึงเป็นแดนเกิดและเป็นปกติของผลมีสังขารเป็นต้นนั้น
               เพราะฉะนั้น เพื่อจะแสดงอรรถนั้น ท่านจึงกระทำนิเทศสัตตมีวิภัตติและปัญจมีวิภัตติในอรรถแห่งเหตุว่า อิมสฺมึ สติ อิมสฺส อุปฺปาทา ในเพราะสิ่งนี้มี เพราะสิ่งนี้เกิด.
               ก็เพราะในข้อนี้ ปฏิจจสมุปบาทที่ยกขึ้นแสดงโดยสังเขปว่า อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ มีนิเทศเป็นต้นว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ฉะนั้น ภาวะที่มีอยู่และการเกิดขึ้นตามที่กล่าวแล้วย่อมให้รู้ได้ว่า เป็นปัจจัยแห่งปัจจยุปปันนธรรมนั้นๆ. จริงอยู่ ภาวะที่เป็นปัจจัยอย่างอื่นย่อมไม่มี เพราะละอัตถิภาวะและอุปปาทะ กล่าวคือความไม่ดับความไม่หวนกลับเป็นสภาพ หรือความตั้งอยู่ของสมุทัย (ความเกิด) ที่ท่านกล่าวไว้ด้วยคำ ซึ่งกำหนดแน่นอนอยู่ภายในว่า สติเอว นาสติ อุปฺปาทา เอว น นิโรธา ดังนี้ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่าภาวะที่มีอยู่และอุปปาทะการเกิดขึ้นดังกล่าวแล้ว เป็นตัวปัจจัย. แม้ปัจจัย ๒๔ มีเหตุปัจจัยเป็นต้นที่มาในปัฏฐานปกรณ์นั้น พึงทราบว่าปัจจัยพิเศษแห่งปัจจัยนั้นนั่นแล.
               ดังนั้น เพื่อจะแสดงประการที่พระองค์ ทรงมนสิการถึงอนุโลมปฏิจจสมุปบาทโดยพิสดาร จึงตรัสคำมีอาทิว่า ยทิทํ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทิทํ เป็นนิบาต บทว่า ยทิทํ นั้นมีอรรถว่า โย อยํ. ในบทว่า อวิชฺชาปจฺจยา เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ ชื่อว่า อวิชชา เพราะประสบสิ่งที่ไม่ควรประสบมีกายทุจริตเป็นต้น. ชื่อว่า อวิชชา เพราะไม่ประสบสิ่งที่ควรประสบมีกายสุจริตเป็นต้น. ชื่อว่า อวิชชา เพราะกระทำสภาวะแห่งธรรมที่ไม่วิปริต ไม่ให้รู้แจ้ง, ชื่อว่า อวิชชา เพราะยังสัตว์ให้แล่นไปในภพเป็นต้น ในสงสารอันเว้นจากที่สุด. ชื่อว่า อวิชชา เพราะแล่นไปในสิ่งที่ไม่มี ไม่แล่นไปในสิ่งที่มี. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อวิชชา เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อวิชชา.
               อวิชชานั้น พึงทราบว่ามี ๔ อย่าง โดยนัยมีอาทิว่า ทุกฺเข อญาณํ ความไม่รู้ทุกข์. ชื่อว่า ปัจจัย เพราะอาศัยไป คือเกิดขึ้นและเป็นไปไม่ละเว้นผล. อีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่มีการสนับสนุนเป็นอรรถ ชื่อว่า ปัจจัย. อวิชชานั้นด้วยเป็นปัจจัยด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มีอวิชชาเป็นปัจจัย. เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัยนั้น.
               ชื่อว่า สังขาร เพราะปรุงแต่ง. ได้แก่กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาฝ่ายโลกิยะ กุศลเจตนาและอกุศลเจตนานั้น พึงทราบว่ามี ๓ อย่าง คือ ปุญญาภิสังขาร ๑ อปุญญาภิสังขาร ๑ อาเนญชาภิสังขาร ๑.
               ชื่อว่า วิญญาณ เพราะรู้แจ้ง. วิญญาณนั้นมี ๓๒ (หรืออเหตุกวิบาก ๑๕ มหาวิบากจิต ๘ มหัคคตวิบาก ๙) ด้วยอำนาจวิบากวิญญาณฝ่ายโลกิยะ.
               ชื่อว่า นาม เพราะน้อมไป ได้แก่นามขันธ์ ๓ มีเวทนาเป็นต้น.
               ชื่อว่า รูป เพราะอรรถว่าสลายไป ได้แก่ภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ มีจักขุปสาทรูปเป็นต้น.
               ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นที่ต่อ และนำสัตว์ไปสู่สงสารทุกข์.
               ชื่อว่า ผัสสะ เพราะถูกต้อง.
               ชื่อว่า เวทนา เพราะเสวย (อารมณ์). แม้ทั้งสองนั้น ว่าโดยทวารมี ๖ ว่าโดยวิบากมี ๓๖.
               ชื่อว่า ตัณหา เพราะสะดุ้ง. ตัณหานั้นโดยสังเขปมี ๓ มีกามตัณหาเป็นต้น และโดยพิสดารมี ๑๐๘
               ชื่อว่า อุปาทาน เพราะถือมั่น อุปาทานนั้นมี ๔ อย่าง มีกามุปาทานเป็นต้น.
               ชื่อว่า ภพ เพราะมีอยู่และจักมี. ภพนั้นมี ๒ อย่างโดยแยกเป็นกรรมภพ และอุปัตติภพ.
               ความเกิด ชื่อว่า ชาติ ความคร่ำคร่า ชื่อว่า ชรา. ชื่อว่า มรณะ เพราะเป็นเหตุตายแห่งสัตว์. ความเศร้าโศก ชื่อว่า โสกะ. ความรำพัน ชื่อว่า ปริเทวะ.
               ชื่อว่า ทุกข์ เพราะทนได้ยาก, อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ทุกข์ เพราะมี ๒ ขณะ คือ ทุกข์ในขณะเกิดและทุกข์ในขณะตั้งอยู่. ภาวะแห่งความเสียใจ ชื่อว่า โทมนัส. ความคับแค้นอันเหลือทน ชื่อว่า อุปายาส.
               บทว่า สมฺภวนฺติ แปลว่า ย่อมบังเกิด. ความจริงไม่ใช่ประกอบด้วยบทมีโสกะเป็นต้นอย่างเดียวเท่านั้น โดยที่แท้พึงประกอบบทว่า สมฺภวนฺติ กับทุกๆ บท.
               ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นอันแสดงการกำหนดปัจจัยธรรมและปัจจยุปปันนธรรม ด้วยคำว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สมฺภวนฺติ. ในบททั้งปวงก็นัยนี้.
               ในธรรมเหล่านั้น อวิชชา มีความไม่รู้เป็นลักษณะ มีความหลงลืมเป็นกิจ มีการปกปิดเป็นอาการปรากฏ มีอาสวะเป็นเหตุใกล้.
               สังขาร มีความปรุงแต่งเป็นลักษณะ มีการประมวลมาเป็นกิจ มีการจัดแจงเป็นอาการปรากฏ มีอวิชชาเป็นเหตุใกล้.
               วิญญาณ มีการรู้แจ้งเป็นลักษณะ มีการเป็นหัวหน้าเป็นกิจ มีปฏิสนธิเป็นอาการปรากฏ มีสังขารเป็นเหตุใกล้ หรือมีวัตถุและอารมณ์เป็นเหตุใกล้.
               นาม มีการน้อมไปเป็นลักษณะ มีสัมปโยคะเป็นกิจ มีไม่แยกจากกันเป็นอาการปรากฏ มีวิญญาณเป็นเหตุใกล้.
               รูป มีการสลายไปเป็นลักษณะ มีการไม่รู้อารมณ์เป็นกิจ มีภาวะเป็นสัมปโยคะเป็นอาการปรากฏ มีวิญญาณเป็นเหตุใกล้.
               สฬายตนะ มีการต่อเป็นลักษณะ มีการเห็นเป็นต้นเป็นกิจ มีภาวะเป็นวัตถุและทวารเป็นอาการปรากฏ มีนามรูปเป็นเหตุใกล้.
               ผัสสะ มีการถูกต้องเป็นลักษณะ มีการกระทบเป็นกิจ มีการประจวบเป็นอาการปรากฏ มีสฬายตนะเป็นเหตุใกล้.
               เวทนา มีการเสวยเป็นลักษณะ มีการบริโภครสแห่งอารมณ์เป็นกิจ มีสุขและทุกข์เป็นอาการปรากฏ มีผัสสะเป็นเหตุใกล้.
               ตัณหา มีความเป็นตัวเหตุเป็นลักษณะ มีความเพลิดเพลินเป็นกิจ มีความไม่อิ่มเป็นอาการปรากฏ มีเวทนาเป็นเหตุใกล้.
               อุปาทาน มีการยึดมั่นเป็นลักษณะ มีการไม่ปล่อยวางเป็นกิจ มีทิฏฐิคือความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหาเป็นอาการปรากฏ มีตัณหาเป็นเหตุใกล้.
               ภพ มีกรรมและผลแห่งกรรมเป็นลักษณะ มีการเกิดและการให้เกิดเป็นกิจ มีกุศล อกุศล และอัพยากฤตเป็นอาการปรากฏ มีอุปาทานเป็นเหตุใกล้.
               ชาติ มีการเกิดก่อนในภพนั้นๆ เป็นลักษณะ มีการขยายออกไปเป็นกิจ มีการเกิดในภพนี้จากอดีตภพเป็นอาการปรากฏ มีความวิจิตรแห่งทุกข์เป็นเหตุใกล้.
               ชรา มีความแก่หง่อมแห่งขันธ์เป็นลักษณะ มีการนำเข้าหาความตายเป็นกิจ มีการทำความเป็นหนุ่มสาวให้พินาศเป็นอาการปรากฏ.
               มรณะ มีจุติเป็นลักษณะ มีการพลัดพรากเป็นกิจ มีการอยู่ปราศจากคติเป็นอาการปรากฏ.
               โสกะ มีความหม่นไหม้ในภายในเป็นลักษณะ มีความตรมตรอมใจเป็นกิจ มีความเศร้าโศกถึงเป็นอาการปรากฏ.
               ปริเทวะ มีความบ่นเพ้อเป็นลักษณะ มีระบุถึงคุณและโทษเป็นกิจ มีความสลดใจเป็นอาการปรากฏ.
               ทุกข์ มีการบีบคั้นกายเป็นลักษณะ มีความทุรพลทางกายและรั้งเอาโทมนัสมาเป็นกิจ มีอาพาธทางกายเป็นอาการปรากฏ.
               โทมนัส มีการบีบคั้นจิตเป็นลักษณะ มีความคับแค้นใจเป็นกิจ มีพยาธิทางใจเป็นอาการปรากฏ.
               อุปายาส มีความตรมตรอมใจเป็นลักษณะ มีความทอดถอนถึงเป็นกิจ มีปราศจากความแช่มชื่นใจเป็นอาการปรากฏ.
               ปัจจัยธรรมมีอวิชชาเป็นต้นเหล่านั้น พึงทราบแม้โดยลักษณะเป็นต้นด้วยประการอย่างนี้แล. ในที่นี้ มีความสังเขปเพียงเท่านี้ ส่วนความพิสดาร ผู้ปรารถนาวินิจฉัยที่สมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง พึงค้นดูในอรรถกถาวิภังค์ ชื่อสัมโมหวิโนทนี.
               บทว่า เอวํ เป็นบทแสดงไขถึงนัยที่ได้แสดงมาแล้ว. ด้วยบทว่า เอวํ นั้น ท่านแสดงว่าด้วยเหตุมีอวิชชาเป็นต้นนั้นแหละ มิใช่ด้วยเหตุมีการเนรมิตของท่านผู้เป็นใหญ่เป็นต้น.
               บทว่า เอตสฺส ได้แก่ ตามที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า เกวลสฺส ได้แก่ ไม่ปะปนหรือล้วนๆ.
               บทว่า ทุกฺขกฺขนฺธสฺส ได้แก่ ประชุมทุกข์ ไม่ใช่ของสัตว์ทั้งไม่ใช่ของชีวะและของสุขเป็นต้น.
               บทว่า สมุทโย โหติ ได้แก่ บังเกิด คือเกิดพร้อม.
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า รู้แจ้งเนื้อความที่กล่าวไว้ว่า กองทุกข์มีสังขารเป็นต้น ย่อมเกิดด้วยอวิชชาเป็นต้น โดยอาการทั้งปวง.
               บทว่า ตายํ เวลายํ ได้แก่ ในเวลาที่รู้แจ้งอรรถนั้น.
               บทว่า อิมํ อุทานํ อุทาเนสิ ความว่า เปล่งอุทานนี้อันแสดงอานุภาพการรู้เหตุและธรรมอันเกิดจากเหตุในเมื่อรู้จักผลนั้น อันเป็นสมุฏฐานแห่งญาณอันสัมปยุตด้วยโสมนัส มีอาทิว่า ยทา หเว ปาตุภวนฺติ อธิบายว่า เปล่งพระวาจาเป็นที่พอพระทัย.
               อุทานนั้นมีอธิบายดังนี้ บทว่า ยทา แปลว่า ในกาลใด. ศัพท์ว่า หเว เป็นนิบาต ลงในอรรถนี้ว่า พยตฺตํ แจ่มแจ้ง. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวอธิบายว่า ศัพท์ว่า หเว แปลว่า ในการสงครามคือในการต่อยุทธ์. ก็ท่านอาจารย์เหล่านั้นมีความมุ่งหมายว่า ในสมัยรบกับกิเลสมาร โดยพระบาลีว่า พวกเธอจงใช้อาวุธคือปัญญารบมาร.
               บทว่า ปาตุภวนฺติ แปลว่า เกิดขึ้น.
               บทว่า ธมฺมา ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม อันให้สำเร็จการแทงตลอดปัจจยาการโดยอนุโลม.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปาตุภวนฺติ ได้แก่ ประกาศ คือ แจ่มชัด ปรากฏโดยการตรัสรู้.
               บทว่า ธมฺมา ได้แก่ ธรรมคืออริยสัจ ๔. อาตาปะ เรียกว่าความเพียร เพราะอรรถว่า ทำกิเลสให้เร่าร้อน.
               บทว่า อาตาปิโน ได้แก่ มีความเพียรคือสัมมัปปธาน.
               บทว่า ฌายโต ได้แก่ เพ่งด้วยอารัมณูปนิชฌานและลักขณูปนิชฌาน.
               บทว่า พฺราหฺมณสฺส ได้แก่ พระขีณาสพผู้ลอยบาป.
               บทว่า อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา ความว่า ครั้นพราหมณ์นั้นมีธรรมปรากฏอย่างนี้แล้ว ความสงสัยในปัจจยาการที่ตรัสไว้
               โดยนัยมีอาทิว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า โน กลฺโล ปญฺโห ปัญหาไม่สมควร เพื่อเฉลยคำถามว่า โก นุโข ภนฺเต ผุสติ ใครหนอถูกต้อง พระเจ้าข้า
               โดยนัยมีอาทิว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า โน กลฺโล ปญฺโห เพื่อเฉลยคำถามว่า กตมํ นุโข ภนฺเต ชรามรณํ กสฺส จ ปนิทํ ชรามรณํ ชราและมรณะเป็นไฉน พระเจ้าข้า
               ก็แลชราและมรณะนี้เป็นของใคร และความสงสัย ๑๖ ข้อ ที่มาโดยนัยมีอาทิว่า อโหสึ นุโข อหํ อตีตมทฺธานํ ในอดีตกาล เราได้มีแล้วหรือหนอ เพราะยังไม่แทงตลอดปัจจยาการนั่นเอง ความสงสัยทั้งหมดนั้น ย่อมหายไป ปราศไป ดับไป.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะรู้ทั่วถึงธรรมพร้อมเหตุ อธิบายว่า เพราะรู้ชัด รู้ทั่วถึงแทงตลอด ธรรมคือกองทุกข์ทั้งสิ้นมีสังขารเป็นต้นนี้ พร้อมเหตุ ด้วยเหตุมีอวิชชาเป็นต้น.
               ก็เมื่อไร โพธิปักขิยธรรมหรือจตุสัจธรรม ปรากฏเกิดขึ้นหรือแจ่มแจ้งแก่พราหมณ์นั้น. ในวิปัสสนาญาณและมรรคญาณ. ใน ๒ อย่างนั้น พึงทราบวิปัสสนาญาณก่อน. ธรรมทั้งหลายมีสติเป็นต้นที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนาญาณ และวิปัสสนาญาณ เมื่อละสุภสัญญาเป็นต้นด้วยอำนาจตทังคปหานในอารมณ์ของตน จึงเกิดขึ้นเป็นส่วนๆ โดยอนุปัสสนามีกายานุปัสสนาเป็นต้น. แต่ในขณะมรรค ธรรมเหล่านั้น เมื่อหน่วงเอาพระนิพพานละธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ด้วยสมุจเฉทปหาน เกิดขึ้นคราวเดียวเท่านั้น สำเร็จการแทงตลอดไม่งมงายในอริยสัจทั้ง ๔.
               ในข้อนี้ พึงทราบว่า โพธิปักขิยธรรมปรากฏ ด้วยอรรถว่าเกิดขึ้น ด้วยประการฉะนี้ก่อน. ก็พึงทราบว่า อริยสัจธรรมฝ่ายโลกิยะปรากฏ ด้วยการทำวิปัสสนาให้เป็นอารมณ์ในขณะวิปัสสนา พึงทราบว่า อริยสัจธรรมฝ่ายโลกุตระปรากฏ ด้วยภาวะที่น้อมไปในโลกุตรธรรมนั้น พึงทราบว่า นิโรธสัจปรากฏ ด้วยการตรัสรู้อารมณ์ในขณะมรรค และพึงทราบว่าทั้งหมดปรากฏ ด้วยอรรถว่าแจ่มแจ้งปรากฏชัดโดยการตรัสรู้กิจ.
               ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เมื่อธรรมทั้งหมดปรากฏแก่พระญาณของพระองค์โดยอาการทั้งปวง ทรงพิจารณาปัจจยาการนั้น เพราะปัจจยาการเป็นสภาพละเอียดลึกซึ้งและเห็นได้แสนยาก เหตุทรงทำความมั่นใจวิปัสสนาโดยมุข คือปฏิจจสมุปบาท ทรงเกิดโสมนัสอย่างรุนแรง จึงทรงเปล่งอุทานในข้อนี้ อันแสดงถึงอานุภาพแห่งการตรัสรู้ปัจจยาการนั้นของพระองค์พร้อม โดยเป็นปัจจัยตัดปฏิปักขธรรมได้เด็ดขาดแล.
               พระบาลีว่า อยมฺปิ อุทาโน วุตฺโต ภควตา อิติ เม สุตํ นี้ ปรากฏในคัมภีร์เฉพาะบางแห่ง.
               บรรดาบทเหล่านั้น ปิ ศัพท์ ในบทว่า อยมฺปิ เป็นสัมปิณฑนัตถะ เหมือนในประโยคว่า อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ อยมฺปิ ปาราชิโก โหติ แม้นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า ภิกษุแม้นี้เป็นปาราชิก.
               เพราะเหตุนั้น ปิศัพท์นั้น ย่อมประมวลคำก่อนๆ มา.
               วุตฺต ศัพท์ว่า วุตฺโต นี้ปรากฏในคำมีอาทิว่า เกโสหารณะ วปนะ วาปสมีกรณะ ชีวิตวุตติ ปมุตตภาวะ ปาวจนภาเวนปวัตติตะ อัชเฌสนะ และกถนะ.
               จริงอย่างนั้น วุตฺต ศัพท์นั้นมาในเกโสหารณะ (การปลงผม) ในประโยคมีอาทิว่า กาปฏิกมาณพ เป็นคนหนุ่มโกนผม.
               มาใน วปนะ (การหว่านพืช) ในประโยคมีอาทิว่า
                         คาโว ตสฺส ปชายนฺติ เขตฺเต วุตฺตํ วิรูหติ
                         วุตฺตานํ ผลมสฺนาติ โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติ.
                                   โคของคนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมตกลูก
                         พืชที่หว่านไว้ในนาย่อมงอกงาม เขาย่อมบริโภค
                         พืชผลที่หว่านแล้ว.

               มาในวาปสมีกรณะ (การทำพืชที่หว่านให้เสมอกัน) ด้วยใช้ไม้คราดเป็นต้น ในประโยคมีอาทิว่า โน จ โข ปฏิวุตฺตํ พืชที่หว่านไม่เท่ากันแล.
               มาในชีวิตวุตติ (การเลี้ยงชีพ) ในประโยคมีอาทิว่า ปนฺนโลโม ปรทวุตฺโต มิคภูเตน เจตสา วิหรติ ผู้ไม่ลำพองเลี้ยงชีพด้วยสิ่งของที่คนอื่นให้ มีใจเหมือนเนื้ออยู่.
               มาในปมุตตภาวะ (ความหลุดจากขั้ว) ในประโยคมีอาทิว่า ปณฺฑุปลาโส พนฺธนา ปวุตฺโต อภพฺโพ หริตตาย ใบไม้เหลืองหลุดจากขั้วไม่พึงเป็นของเขียวสด.
               มาในปาวจนภาเวนปวัตติตะ (ความเป็นไปโดยบอกกล่าวกันมา) ในประโยคมีอาทิว่า คีตํ ปวุตฺตํ สมิหิตํ เพลงขับที่บอกกล่าวกันมา.
               มาในอัชเฌสนะ (ความเชื้อเชิญ) ในประโยคมีอาทิว่า วุตฺโต คุโณ วุตฺโต ปรายโน ความเชื้อเชิญเป็นคุณ ความเชื้อเชิญเป็นความเสื่อม.
               มาในกถนะ (การกล่าว) ในประโยคมีอาทิว่า ก็พระดำรัสนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นธรรมทายาทของเรา อย่าเป็นอามิสทายาท.
               แม้ในที่นี้ พึงเห็นว่า วุตฺต ศัพท์ใช้ในการกล่าวเท่านั้น.
               อธิบายว่า ตรัสอุทานแม้นี้ ด้วยพระดำรัสนั้น. ศัพท์ อิติ เท่ากับ เอวํ. ความของบททั้งสองว่า เม สุตํ ได้กล่าวไว้ในอรรถกถานิทานโดยอาการทั้งปวงนั่นแหละ.
               จริงอยู่ ในกาลก่อน ความของทั้งสองบทว่า เอวมฺเม สุตํ ได้กล่าวไว้ด้วยอำนาจคำเริ่มต้น ในที่นี้กล่าวอีกว่า อิติ เม สุตํ ด้วยอำนาจคำลงท้าย. ก็กล่าวซ้ำถึงอรรถที่กล่าวแล้วนั่นแล ชื่อว่า นิคม คำลงท้ายแล.
               การยกเนื้อความแห่ง อิติ ศัพท์เหมือนในคำว่า เอวมฺเม สุตํ นี้ เพราะ อิติ ศัพท์มีอรรถเสมอด้วย เอวํ ศัพท์ และการประกอบความของ อิติ ศัพท์
               ข้าพเจ้าประกาศไว้แล้วในอิติวุตตกวรรณนานั้นแล เพราะเหตุนั้น พึงทราบโดยนัยตามที่กล่าวแล้วในอรรถกถานั้น ฉะนี้แล.


               จบอรรถกถาปฐมโพธิสูตร แห่งอุทานสังวรรณนา               
               --------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ โพธิสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 36อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 38อ่านอรรถกถา 25 / 39อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1425&Z=1445
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :