ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 57อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 60อ่านอรรถกถา 16 / 64อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ อาหารวรรคที่ ๒
ปัจจัยสูตร

               อรรถกถาปัจจยสูตรที่ ๑๐               
               ในปัจจัยสูตรที่ ๑๐ พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปฏิจฺจสมุปฺปาทญฺจ โว ภิกฺขเว เทเสสฺสามิ ปฏิจฺจสมุปฺปนฺเน จ ธมฺเม ความว่า พระศาสดาทรงเริ่มคำทั้งสองในพระสูตรนี้ว่า เราจักแสดงปัจจัยและสภาวธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น.
               บทว่า อุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ความว่า แม้ในขณะอุบัติขึ้นแห่งพระตถาคต คือเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นก็ดี ชื่อว่ามีชราและมรณะ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ได้แก่ ชาตินั่นแลเป็นปัจจัยแก่ชราและมรณะ.
               บทว่า ฐิตาว สา ธาตุ ได้แก่ สภาวะแห่งปัจจัยนั้นตั้งอยู่แล้ว คือในกาลบางคราว ชาติจะไม่เป็นปัจจัยแก่ชรามรณะ ก็หามิได้. พระองค์ตรัสปัจจัยนั้นแล ด้วยบททั้งสองแม้เหล่านี้ คือ ธมฺมฏฺฐิตตา ธมฺมนิยามตา เพราะธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นย่อมตั้งอยู่เพราะปัจจัย เพราะเหตุนั้น ปัจจัยนั้นเอง ท่านเรียกว่า ธมฺมฏฺฐิตตา. ปัจจัยย่อมกำหนดธรรม เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ธมฺมนิยามตา.
               บทว่า อิทปฺปจฺจยตา ได้แก่ ปัจจัยแห่งชราและมรณะเป็นต้นเหล่านี้ ชื่อว่า อิทัปปัจจัย. อิทัปปัจจัยนั้นแล ชื่อว่า อิทัปปัจจยตา.
               บทว่า ตํ ได้แก่ ปัจจัยนั้น.
               บทว่า อภิสมฺพุชฺฌติ ได้แก่ รู้ด้วยญาณ.
               บทว่า อภิสเมติ ได้แก่ มาร่วมกันด้วยญาณ.
               บทว่า อาจิกฺขติ คือ บอก. บทว่า เทเสติ ได้แก่ แสดง.
               บทว่า ปญฺญเปติ แปลว่า ให้รู้. บทว่า ปฏฺฐเปติ ได้แก่ เริ่มตั้งในหัวข้อแห่งญาณ.
               บทว่า วิวรติ ได้แก่ เปิดเผยแสดง. บทว่า วิภชติ ได้แก่ แสดงโดยการจำแนก.
               บทว่า อุตฺตานีกโรติ คือ ทำให้ปรากฏ. บทว่า ปสฺสถาติ จาห ได้แก่ ตรัสว่า พวกเธอจงดู.
               ถามว่า คืออะไร คือคำว่า ชาติปจฺจยา ภิกฺขเว ชรามรณํ เป็นอาทิ.
               บทว่า อิติ โข ภิกฺขเว เป็น เอวํ โข ภิกฺขเว. บทว่า ยา ตตฺร ได้แก่ ในคำว่า ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เป็นต้นนั้นใด.
               บทว่า ตถตา เป็นอาทิ เป็นไวพจน์ของปัจจยาการนั่นแล. ปัจจยาการนั้น ท่านกล่าวว่า ตถตา (ความเป็นจริงอย่างนั้น) เพราะธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นโดยปัจจัยเหล่านั้นไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่ากัน เรียกว่า อวิตถตา เพราะเมื่อปัจจัยเข้าถึงสามัคคี ธรรมทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยนั้น เพียงครู่เดียว ก็ไม่เกิดขึ้น. เรียกว่า อนญฺญถตา เพราะธรรมอื่นไม่เกิดจากปัจจัย ธรรมอื่น เรียกว่า อิทปฺปจฺจยตา เพราะเป็นปัจจัย หรือเป็นที่ประชุมปัจจัยแห่งชราและมรณะเป็นต้น
               ในข้อนี้ มีเนื้อความเฉพาะคำดังต่อไปนี้ :-
               ปัจจัยแห่งธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า อิทปฺปจฺจยา อิทปฺปจฺจยา นั่นแล ชื่อว่า อิทปฺปจฺจยตา.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่รวมแห่ง อิทปฺปจฺจยา ชื่อว่า อิทปฺปจฺจยตา. ก็ลักษณะในคำว่า อิทปฺปจฺจยตา นี้ พึงทราบจากคัมภีร์ศัพทศาสตร์.
               บทว่า อนิจฺจํ แปลว่า ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่ามีแล้วกลับไม่มี. ก็คำว่า อนิจฺจํ ในที่นี้ หมายเอาธรรมะไม่เที่ยง แต่ที่ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะขันธ์ซึ่งมีสภาพไม่เที่ยง เป็นชรามรณะ.
               แม้ในสังขตธรรมเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนบทว่า สงฺขตํ ในที่นี้ ได้แก่ กระทำร่วมกันกับปัจจัยทั้งหลาย. บทว่า ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนํ ได้แก่ ที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น. บทว่า ขยธมฺมํ ได้แก่ มีความสิ้นไปเป็นสภาวะ. บทว่า วยธมฺมํ ได้แก่ มีความสลายไปเป็นสภาวะ. บทว่า วิราคธมฺมํ ได้แก่ มีความปราศจากยินดีเป็นสภาวะ. บทว่า นิโรธธมฺมํ ได้แก่ มีความดับสนิทเป็นสภาวะ.
               แม้ความที่ชาติไม่เที่ยง ก็พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง.
               ก็อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อนิจฺจํ ในข้อนี้ ย่อมถูกเหมือนกัน โดยปริยายหนึ่ง เพราะท่านเห็นชนกปัจจัย ในลักษณะที่มีสภาวะเป็นไปตามกิจ. ภพเป็นต้น ก็มีความไม่เที่ยงเป็นต้น เป็นสภาวะ.
               บทว่า สมฺมปฺปญฺญาย ได้แก่ มรรคปัญญา พร้อมด้วยวิปัสสนา.
               บทว่า ปุพฺพนฺตํ ได้แก่ ล่วงไปก่อน.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อโหสึ นุโข เป็นต้น ดังต่อไปนี้ :-
               เราตถาคตอาศัยอาการที่เที่ยงว่า เราได้มีแล้วหนอ และอาการที่อาศัยกันเกิดขึ้น จึงสงสัยในอดีตว่า ตนมีและไม่มี ไม่พึงกล่าวว่าอะไรเป็นเหตุ คนพาลปุถุชนย่อมประพฤติตามแต่จะเป็นไปเหมือนคนบ้า.
               บทว่า กึ นุ โข อโหสึ ได้แก่ อาศัยความเกิดขึ้นแห่งชาติและเพศ จึงสงสัยว่า เราเป็นกษัตริย์หรือพราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาหรือมนุษย์คนใดคนหนึ่ง.
               บทว่า กถํ นุโข ได้แก่ อาศัยอาการแห่งสัณฐาน แล้วย่อมสงสัยว่าเราเป็นคนสูงหรือเป็นคนต่ำ ขาวดำ หรือปานกลางเป็นต้น คนใดคนหนึ่ง. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อาศัยการถือทิฏฐิที่ว่า พระอิศวรบันดาลเป็นต้นจึงสงสัยโดยเหตุว่า เพราะเหตุไรหนอแล เราจึงได้เป็น (อย่างนั้น).
               บทว่า กึ หุตฺวา กึ อโหสึ ความว่า อาศัยชาติเป็นต้น เราได้เป็นกษัตริย์หรือ แล้วจึงสงสัยว่า ตนเป็นคนอื่นร่ำไป ว่า เราเป็นกษัตริย์แล้วเป็นพราหมณ์หรือ ฯลฯ เป็นเทวดาแล้ว เป็นมนุษย์.
               แต่คำว่า อทฺธานํ ในที่ทุกแห่ง เป็นชื่อ เรียกกาล.
               บทว่า อปรนฺตํ ได้แก่ ที่สุด ซึ่งยังมาไม่ถึง.
               บทว่า ภวิสฺสามิ นุ โข นนุ โข ความว่า อาศัยอาการที่เที่ยง และอาการที่ขาดสูญ แล้วจึงสงสัยว่า ตนมีและไม่มี ในอนาคต. ส่วนที่เหลือในข้อนี้ ก็มีนัยอย่างที่กล่าวมาแล้ว.
               บทว่า เอตรหิ วา ปจฺจุปฺปนฺนํ อทฺธานํ ความว่า หรือระบุเอาปัจจุบันกาลแม้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิในบัดนี้ จนถึงจุติ.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ กถํกถี ภวิสฺสติ ได้แก่ จักเป็นผู้สงสัยในขันธ์ของตน.
               ด้วยบทว่า อหํ นุโขสฺมิ ความว่า สงสัยว่า ตนมีอยู่หรือ. ถามว่า ข้อนั้นควรหรือ. จะไปคิดถึงทำไม ในข้อที่ว่า ควรไม่ควรนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ในข้อนี้ท่านนำเรื่องนี้มาเป็นอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้.
               เล่ากันว่า จุลลมารดามีบุตรหัวโล้น. มหามารดามีบุตรหัวไม่โล้น. มารดาทั้งสองต่างก็แต่งตัวบุตรนั้น. บุตรคนนั้นก็ลุกขึ้น คิดว่า เราเป็นลูกของจุลลมารดาหรือ. เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมสงสัยว่า เราเป็นหรือหนอ.
               ด้วยบทว่า โน นุโขสฺมิ ความว่า สงสัยว่า ตนไม่มี. แม้ในข้อนี้มีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์.
               เล่ากันว่า มีชายคนหนึ่ง เมื่อจะจับปลา จึงฟันขาของตนซึ่งเย็น เพราะยืนอยู่ในน้ำนาน โดยคิดว่าเป็นปลา. อีกคนกำลังรักษานาอยู่ข้างๆ ป่าช้า กลัวผี จึงนอนชันเข่า พอเขาตื่นขึ้น คิดว่าเข่าทั้ง ๒ ของตนเป็นยักษ์ ๒ ตน จึงฟันฉับเข้าให้. ด้วยประการดังว่ามานี้ จึงเกิดมีความสงสัยว่า เราเป็นหรือไม่หนอ.
               บทว่า กึ นุโขสฺมิ ความว่า เป็นกษัตริย์อยู่ก็สงสัยว่า ตัวเองเป็นกษัตริย์หรือ.
               ในคำที่เหลือ ก็มีนัยเช่นนี้.
               ก็ผู้ที่เป็นเทวดา ชื่อว่าจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเทวดาย่อมไม่มี แต่เทพแม้นั้นก็ย่อมสงสัย โดยนัยมีอาทิว่า เรามีรูปร่าง หรือไม่มีรูปร่าง.
               หากจะมีคำถามว่า เพราะเหตุไร กษัตริย์เป็นต้น จึงไม่รู้เล่า.
               ตอบว่า เพราะกษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น เกิดในตระกูลนั้นๆ ไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด.
               อีกอย่างหนึ่ง พวกคฤหัสถ์สำคัญตัวว่าเป็นบรรพชิต ซึ่งถือลัทธินิกายโปตลกะเป็นต้น แม้บรรพชิตก็สำคัญตัวเองว่าเป็นคฤหัสถ์ โดยนัยมีอาทิว่า กรรมของเรากำเริบหรือไม่หนอ.
               อีกอย่างหนึ่ง พวกมนุษย์ก็สำคัญว่า ตนเป็นเทวดาเหมือนพระราชาฉะนั้น.
               บทว่า กถํ นุ โขสฺมิ ก็มีนัยตามที่กล่าวแล้วนั่นเอง. พึงทราบเนื้อความในข้อนี้อย่างเดียวว่า บุคคลถือว่า ขึ้นชื่อว่าชีวะ มีอยู่ในภายใน ดังนี้แล้ว อาศัยอาการแห่งสัณฐานของชีวะนั้น เมื่อจะสงสัยว่า เราเป็นคนสูง หรือว่ามีอาการเป็นคนเตี้ย ๔ ศอก ๖ ศอก ๘ ศอก ๑๖ ศอก เป็นต้น คนใดคนหนึ่งจึงสงสัยว่า กถํ นุโขสฺมิ. แต่ขึ้นชื่อว่า ผู้จะไม่รู้สรีระสัณฐานที่เป็นปัจจุบัน คงไม่มี.
               บทว่า กุโต อาคโต โส กุหึ คามี ภวิสฺสติ ความว่า เมื่อสงสัยฐานะที่มาที่ไปแห่งอัตภาพ จึงสงสัยอย่างนี้. พระโสดาบัน ท่านประสงค์เอาในที่นี้ว่า อริยสาวกสฺส ส่วนพระอริยบุคคล ๓ จำพวกนอกนี้ไม่ได้ห้ามไว้เลย.

               จบอรรถกถาปัจจยสูตรที่ ๑๐               
               จบอรรถกถาอาหารวรรคที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑ อาหารสูตร
                         ๒ ผัคคุนสูตร
                         ๓ สมณพราหมณสูตรที่ ๑
                         ๔ สมณพราหมณสูตรที่ ๒
                         ๕ กัจจานโคตตสูตร
                         ๖ ธรรมกถิกสูตร
                         ๗ อเจลกัสสปสูตร
                         ๘ ติมพรุกขสูตร
                         ๙ พาลบัณฑิตสูตร
                         ๑๐ ปัจจัยสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ อาหารวรรคที่ ๒ ปัจจัยสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 57อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 60อ่านอรรถกถา 16 / 64อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=590&Z=641
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=1017
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=1017
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :