ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

หน้าที่ ๒๗๕-๒๗๘.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๗. พราหมณสังยุต]

                                                                 ๑. อรหันตวรรค ๙. สุนทริกสูตร

ท่านจงบำรุงด้วยข้าวและน้ำ และด้วยปัจจัยอื่น แก่พระขีณาสพ ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งปวง ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้มีความคะนองอันสงบแล้ว เพราะศาสนานั้นเป็นเขตบุญของผู้แสวงบุญ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูล ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ” อนึ่ง ท่านพระอัคคิกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ ทั้งหลาย
อัคคิกสูตรที่ ๘ จบ
๙. สุนทริกสูตร
ว่าด้วยสุนทริกภารทวาชพราหมณ์
[๑๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกา แคว้นโกศล สมัยนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์บูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกา ครั้นบูชาแล้วลุกขึ้นจากที่นั่งเหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบด้วยคิดว่า “ใครหนอ ควรบริโภค ข้าวปายาสอันเหลือจากการบูชานี้” สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงห่มผ้าคลุมพระวรกาย ตลอดพระเศียรประทับนั่งที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ครั้นเห็นแล้วมือซ้ายถือข้าวปายาสที่ เหลือจากการบูชาไฟ มือขวาถือคนโทน้ำ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปิดผ้าที่คลุมพระเศียรออก เพราะได้ยินเสียงเดินเข้า มาของสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ครั้งนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กล่าวว่า “นี้สมณะโล้น นี้สมณะโล้น” แล้วต้องการจะกลับจากที่นั้นทีเดียว ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้มี ความคิดดังนี้ว่า “พราหมณ์บางพวกในโลกนี้ เป็นผู้โล้นก็มี ทางที่ดีเราพึงเข้าไปหา สมณะโล้นนั้นแล้วถามถึงชาติ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๗๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๗. พราหมณสังยุต]

                                                                 ๑. อรหันตวรรค ๙. สุนทริกสูตร

ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านเป็นชาติอะไร” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านอย่าถามถึงชาติ แต่จงถามถึงความประพฤติเถิด ไฟย่อมเกิดจากไม้ บุคคลถึงแม้เกิดในตระกูลต่ำก็เป็นมุนีได้ มีความทรงจำ เป็นผู้เฉลียวฉลาด๑- กีดกันอกุศลธรรมได้ด้วยหิริ ฝึกตนด้วยสัจจะ๒- ประกอบแล้วด้วยทมะ ถึงที่สุดเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ผู้ใดน้อมการบูชาเข้าไปบูชามุนีนั้น ผู้นั้นชื่อว่าบูชาพระทักขิไณยบุคคลถูกกาล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า การบูชานี้ของข้าพระองค์จะเป็นอันบูชาดีแล้ว เป็นการเซ่นสรวงดีแล้วเป็นแน่ ที่ข้าพระองค์ได้พบบุคคลผู้ถึงที่สุดเวทเช่นนั้น ความจริง เพราะข้าพระองค์ไม่พบบุคคลเช่นพระองค์ ชนอื่นจึงได้บริโภคข้าวปายาสอันเหลือจากการบูชา สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า “พระโคดมผู้เจริญ เชิญบริโภคเถิด พระองค์เป็นพราหมณ์” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การที่เรากล่าวคาถามิใช่เพื่ออาหาร พราหมณ์ นี้ไม่ใช่ธรรมเนียมของผู้เห็นธรรม พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่รับอาหารที่ได้มาเพราะการกล่าวคาถา พราหมณ์ เมื่อธรรมเนียมมีอยู่ จึงมีการประพฤติอย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ เป็นผู้เฉลียวฉลาด หมายถึงเป็นผู้รู้เหตุและมิใช่เหตุ (สํ.ส.อ. ๑/๑๙๕/๒๒๒) @ สัจจะ ในที่นี้หมายถึงปรมัตถสัจจะ (สํ.ส.อ. ๑/๑๙๕/๒๒๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๗๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๗. พราหมณสังยุต]

                                                                 ๑. อรหันตวรรค ๙. สุนทริกสูตร

ท่านจงบำรุงด้วยข้าวและน้ำ และด้วยปัจจัยอื่น แก่พระขีณาสพ ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งปวง ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้มีความคะนองอันสงบแล้ว เพราะศาสนานั้นเป็นเขตบุญของผู้แสวงบุญ๑- ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ข้าพระองค์จะให้ข้าวปายาสอันเหลือจากการบูชานี้แก่ใคร” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เรายังไม่เห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งจะ บริโภคข้าวปายาสที่เหลือจากการบูชานี้แล้ว พึงให้ถึงความย่อยไปโดยชอบ นอกจาก ตถาคตหรือสาวกของตถาคต พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงทิ้งข้าวปายาสที่เหลือ จากการบูชานั้น ณ ที่ปราศจากของเขียว หรือจงทิ้งให้จมลงไปในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์” ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ทิ้งข้าวปายาสอันเหลือจากการบูชานั้น ให้จมลงไปในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ ครั้งนั้น ข้าวปายาสที่เหลือจากการบูชานั้น ที่สุนทริก- ภารทวาชพราหมณ์เทลงแล้วในน้ำย่อมมีเสียงดังจี่จี่ และเดือดเป็นควันคลุ้ง เหมือน ผาลที่ร้อนตลอดทั้งวัน อันบุคคลจุ่มลงในน้ำย่อมมีเสียงดังจี่จี่ และเดือดเป็นควันคลุ้ง ฉะนั้น ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ประหลาดใจเกิดขนลุกชูชัน เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า พราหมณ์ ท่านกำลังเผาไม้อยู่ อย่าสำคัญว่าบริสุทธิ์ ก็การเผาไม้นี้เป็นของภายนอก ผู้ฉลาดทั้งหลายไม่กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการเผาไม้นั้น @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบคาถาข้อ ๑๙๔ หน้า ๒๗๔-๒๗๕ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๗๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๗. พราหมณสังยุต]

                                                                 ๑. อรหันตวรรค ๙. สุนทริกสูตร

พราหมณ์ เราเลิกการเผาไม้ที่บุคคลพึงปรารถนา ความบริสุทธิ์ด้วยการเผาไม้ซึ่งเป็นของภายนอก ยังไฟ๑- ให้โพลงภายในตนทีเดียว เราเป็นพระอรหันต์ มีไฟอันโพลงแล้วเป็นนิตย์ มีจิตตั้งไว้ชอบแล้วเป็นนิตย์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พราหมณ์ มานะเป็นดุจภาระคือหาบของท่าน ความโกรธเป็นดุจควัน มุสาวาทเป็นดุจเถ้า ลิ้นเป็นดุจภาชนะเครื่องบูชา หทัยเป็นดุจที่ตั้งกองไฟ ตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นความรุ่งเรืองของบุรุษ พราหมณ์ บุคคลผู้ถึงเวททั้งหลายนั่นแล อาบในห้วงน้ำคือธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย มีท่าคือศีล ไม่ขุ่นมัว อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว มีตัวไม่เปียก ย่อมข้ามถึงฝั่ง๒- พราหมณ์ สัจจะ ธรรม ความสำรวม๓- พรหมจรรย์ การถึงธรรมอันประเสริฐ อาศัยในท่ามกลาง ท่านจงทำความนอบน้อมในพระขีณาสพผู้ซื่อตรงทั้งหลาย เรากล่าวคนนั้นว่า ผู้มีธรรมเป็นสาระ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ” อนึ่ง ท่านพระสุนทริกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ ทั้งหลาย
สุนทริกสูตรที่ ๙ จบ
@เชิงอรรถ : @ ไฟ ในที่นี้หมายถึงไฟคือญาณ (สํ.ส.อ. ๑/๑๙๕/๒๒๔) @ ฝั่ง ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (สํ.ส.อ. ๑/๑๙๕/๒๒๕) @ สัจจะ ในที่นี้หมายถึงวจีสัจจะ ธรรม หมายถึงทิฏฐิ สังกัปปะ วายามะ สติและสมาธิ ความสำรวม @หมายถึงวาจา กัมมันตะและอาชีวะ (สํ.ส.อ. ๑/๑๙๕/๒๒๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๗๘}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๗๕-๒๗๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=15&page=275&pages=4&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=15&A=7411 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=15&A=7411#p275 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 15 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_15 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15 https://84000.org/tipitaka/english/?index_15



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๗๕-๒๗๘.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]