ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

หน้าที่ ๔๙๐-๕๐๑.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๒. เสลสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย พรหมายุพราหมณ์เป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมและธรรมตามลำดับ๑- ไม่เบียดเบียนเราให้ลำบากเพราะเหตุแห่งธรรมเลย พรหมายุพราหมณ์เป็นโอปปาติกะ๒- เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่กลับมาจากโลกนั้นอีก” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
พรหมายุสูตรที่ ๑ จบ
๒. เสลสูตร๓-
ว่าด้วยเสลพราหมณ์
[๓๙๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นอังคุตตราปะ พร้อมกับภิกษุ- สงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงนิคมของชาวอังคุตตราปะชื่ออาปณะ ชฎิลชื่อเกณิยะได้สดับข่าวว่า “ได้ยินว่า พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นอังคุตตราปะพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงอาปณนิคมโดยลำดับ ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไป อย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ @เชิงอรรถ : @ ธรรม ในพระสูตรนี้หมายถึงอรหัตตมรรค ธรรมตามลำดับ ในพระสูตรนี้หมายถึงอริยมรรค ๓ (คือ @โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค) และสามัญญผล (ม.ม.อ. ๒/๓๙๕/๒๘๖) @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๙ (อัฏฐกนาครสูตร) หน้า ๒๐ ในเล่มนี้ @ ดูเทียบ ขุ.สุ. (แปล) ๒๕/๕๕๔-๕๗๙/๖๓๐-๖๔๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๙๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๒. เสลสูตร

ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วย พระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง อรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
เกณิยชฎิลนิมนต์เสวยภัตตาหาร
หลังจากนั้น เกณิยชฎิลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มี พระภาคจึงทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้ อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ครั้งนั้น เกณิยชฎิล ผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้ อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหารของ ข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” เมื่อเกณิยชฎิลกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “เกณิยะ ภิกษุ- สงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป อนึ่ง ท่านก็ยังเลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลายยิ่งนัก” แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพราหมณ์ ทั้งหลายยิ่งนักก็จริง ถึงอย่างนั้น ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับ ภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๙๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๒. เสลสูตร

แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับเกณิยชฎิลว่า “เกณิยะ ภิกษุสงฆ์ มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป อนึ่ง ท่านก็ยังเลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลายยิ่งนัก” แม้ครั้งที่ ๓ เกณิยชฎิลก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพราหมณ์ ทั้งหลายยิ่งนักก็จริง ถึงอย่างนั้น ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับ ภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้งนั้น เกณิยชฎิลทราบอาการ ที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่ง เข้าไปยังอาศรมของตนแล้ว เรียกมิตรสหาย ญาติสาโลหิตมาบอกว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ทราบว่า ข้าพเจ้านิมนต์พระสมณโคดม พร้อมกับภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ขอท่านทั้งหลายพึงทำความขวนขวายด้วยกำลังกายเพื่อข้าพเจ้าด้วยเถิด” พวกมิตรสหายและญาติสาโลหิตรับคำเกณิยชฎิลแล้ว บางพวกก่อเตา บางพวก ผ่าฟืน บางพวกล้างภาชนะ บางพวกตั้งหม้อน้ำ บางพวกปูอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิล จัดแจงโรงปะรำด้วยตนเอง
พราหมณ์ชื่อเสละได้ฟังคำว่า พุทธะ
[๓๙๗] สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อเสละอาศัยอยู่ในอาปณนิคม เป็นผู้จบ ไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญในโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ ทั้งยัง เป็นอาจารย์สอนมนตร์แก่มาณพจำนวน ๓๐๐ คนอีกด้วย สมัยนั้น เกณิยชฎิลก็เป็น ผู้เลื่อมใสในเสลพราหมณ์ยิ่งนัก ขณะนั้น เสลพราหมณ์แวดล้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน เดินเที่ยวเล่นอยู่ ได้เข้าไปยังอาศรมของเกณิยชฎิล ได้เห็นชนบางพวกกำลังก่อเตา บางพวกกำลังผ่าฟืน บางพวกกำลังล้างภาชนะ บางพวกกำลังตั้งหม้อน้ำ บางพวก กำลังปูอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลกำลังจัดแจงโรงปะรำด้วยตนเอง จึงได้ถามเกณิยชฎิล ว่า “ท่านเกณิยะ จักมีพิธีอาวาหมงคลหรือวิวาหมงคล พิธีบูชามหายัญจะปรากฏ แก่ท่าน หรือท่านได้ทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ ให้เสด็จมาเสวยพระ กระยาหารพร้อมกับข้าราชบริพาร ในวันพรุ่งนี้หรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๙๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๒. เสลสูตร

เกณิยชฎิลตอบว่า “ข้าแต่ท่านเสละ ข้าพเจ้ามิได้มีพิธีอาวาหมงคลหรือวิวาห- มงคล และมิได้ทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธเสด็จมาเสวยพระกระยาหาร พร้อมกับข้าราชบริพาร ในวันพรุ่งนี้ แต่พิธีบูชามหายัญได้ปรากฏแก่ข้าพเจ้า เนื่องจากพระสมณโคดมผู้เป็นศากยบุตร ผู้เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูลเสด็จ จาริกไปในแคว้นอังคุตตราปะ พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ข้าพเจ้าได้ทูลนิมนต์ท่านพระโคดมพระองค์นั้น พร้อมด้วยภิกษุ- สงฆ์มาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้” เสลพราหมณ์ ถามว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า ‘พุทธะ’ หรือ” เกณิยชฎิล ตอบว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า ‘พุทธะ” เสลพราหมณ์ ถามย้ำอีกว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า ‘พุทธะ’ หรือ” เกณิยชฎิล ตอบว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า ‘พุทธะ” [๓๙๘] ครั้งนั้น เสลพราหมณ์ได้คิดว่า “แม้แต่เสียงประกาศว่าพุทธะนี้แล ก็หาได้ยากในโลก พระมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการที่ ปรากฏในมนตร์ของเรา ย่อมมีคติเป็น ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ๑. ถ้าทรงอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์ โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา หรือศัสตรา ทรงครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต ๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิตจะได้เป็นพระอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีกิเลสในโลก” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๙๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๒. เสลสูตร

เสลพราหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
เสลพราหมณ์ถามว่า “ท่านเกณิยะ บัดนี้ ท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน” เมื่อเสลพราหมณ์ถามอย่างนี้แล้ว เกณิยชฎิลได้ยกแขนขวาชี้บอกเสลพราหมณ์ ว่า “ท่านเสละ ท่านจงเดินไปทางบริเวณทิวไม้สีเขียวนั้นเถิด” หลังจากนั้น เสลพราหมณ์พร้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ พลางเรียกมาณพเหล่านั้นมาเตือนว่า “ท่านทั้งหลาย จงอย่า ส่งเสียงดัง ค่อยๆ เดินตามกันไปให้เป็นระเบียบ เพราะท่านผู้เจริญเหล่านั้นชอบอยู่ ตามลำพัง ดุจพญาราชสีห์ให้ยินดีได้ยาก อนึ่ง ขณะที่เรากำลังสนทนากับพระสมณ- โคดม ท่านจงอย่าพูดสอดแทรกขึ้น รอให้เราสนทนาจบเสียก่อน” ลำดับนั้น เสลพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้พิจารณาดู ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค เสลพราหมณ์ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการในพระวรกายของพระผู้มี พระภาคโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ (๑) พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก (๒) พระชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในลักษณะ มหาบุรุษทั้ง ๒ ประการ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “เสลพราหมณ์นี้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการของเราโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ (๑) คุยหฐาน อันเร้นอยู่ในฝัก (๒) ชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในลักษณะมหาบุรุษ อีก ๒ ประการ” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร๑- ให้เสลพราหมณ์ได้เห็น พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าไปในช่องพระกรรณ ทั้ง ๒ ข้างกลับไปกลับมา สอดเข้าช่องพระนาสิกทั้ง ๒ ข้างกลับไปกลับมา ทรงแผ่ พระชิวหาปิดทั่วมณฑลพระนลาฏ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๓๔๘ (อังคุลิมาลสูตร) หน้า ๔๒๓ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๙๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๒. เสลสูตร

เสลพราหมณ์กับศิษย์กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท
ครั้งนั้น เสลพราหมณ์ได้คิดว่า “พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะ มหาบุรุษ ๓๒ ประการบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง แต่เรายังไม่ทราบว่าพระองค์เป็น พระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ เราได้สดับเรื่องนี้มาจากสำนักของพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็น คนชรา เป็นผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์และปาจารย์ ผู้กล่าวกันว่า ‘พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมแสดงพระองค์ให้ปรากฏในเมื่อบุคคลกล่าว ถึงคุณของพระองค์ ทางที่ดี เราควรชมเชยพระสมณโคดมเฉพาะพระพักตร์เป็นคาถา ที่เหมาะสม” [๓๙๙] ลำดับนั้น เสลพราหมณ์จึงชมเชยพระผู้มีพระภาคเฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาที่เหมาะสมว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เสด็จอุบัติมาดีแล้ว มีพระวิริยภาพ มีพระวรกายสมบูรณ์ มีพระรัศมีเรืองงาม เป็นผู้น่าทัศนายิ่งนัก มีพระฉวีวรรณเปล่งปลั่งดั่งทอง มีพระเขี้ยวแก้วขาวสะอาด เพราะพระลักษณะมหาบุรุษ ที่มีปรากฏแก่มหาบุรุษนั้น ย่อมมีปรากฏในพระวรกายของพระองค์อย่างครบถ้วน พระองค์มีพระเนตรแจ่มใส มีพระพักตร์ผุดผ่อง มีพระวรกายสูงใหญ่ตรง มีพระเดช ทรงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางหมู่สมณะ เหมือนดวงอาทิตย์รุ่งเรืองอยู่ พระองค์เป็นภิกษุ มีคุณสมบัติงดงามน่าชม มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดั่งทอง พระองค์มีพระวรรณะสูงส่งถึงเพียงนี้ จะเป็นสมณะไปทำไม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๙๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๒. เสลสูตร

พระองค์ควรเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ที่องอาจในหมู่พลรถ ทรงปราบปรามไพรีชนะ ทรงเป็นใหญ่ในภาคพื้นชมพูทวีป ซึ่งมีสมุทรสาครทั้งสี่เป็นขอบเขต ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมมนุษย์ตามพระราชประเพณี ที่กษัตราธิราชโดยพระชาติได้เสวยราชย์ มีหมู่เสวกามาตย์เสด็จตามพระองค์เถิด” (พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า) “เสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชาอยู่แล้ว คือเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม ยังธรรมจักรที่ไม่มีใครๆ หมุนไปได้ ให้หมุนไปได้” (เสลพราหมณ์กราบทูลว่า) “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระองค์ทรงปฏิญญาว่า เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม ทั้งยังตรัสยืนยันว่ายังธรรมจักรให้เป็นไป ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ผู้เจริญ เป็นสาวกผู้ประพฤติตามเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ผู้เป็นศาสดา ใครจะช่วยประกาศธรรมจักรที่พระองค์ทรงให้เป็นไปแล้วนี้ได้” (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า) “เสลพราหมณ์ สารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต จะช่วยประกาศธรรมจักรที่ยอดเยี่ยม ซึ่งเราให้เป็นไปไว้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๙๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๒. เสลสูตร

พราหมณ์ เราได้รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง๑- ได้เจริญธรรมที่ควรให้เจริญ๒- ได้ละธรรมที่ควรละ๓- ได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า พราหมณ์ ท่านจงขจัดความสงสัยในตัวเราเสีย จงน้อมใจเชื่อเราเสียเถิด การได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนืองๆ เป็นโอกาสที่หาได้ยาก ผู้จะปรากฏเนืองๆ ในโลก ย่อมเป็นการหาได้ยาก พราหมณ์ เรานั้นเป็นพระพุทธเจ้า เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลสชั้นเยี่ยม เราเป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่มีผู้เปรียบเทียบ ย่ำยีมารและเสนามารได้ ควบคุมอมิตรทั้งหมด๔- ไว้ในอำนาจ ไม่มีภัยจากที่ไหน เบิกบานอยู่” @เชิงอรรถ : @ ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ในที่นี้หมายถึงวิชชาและวิมุตติ (ม.ม.อ. ๒/๓๙๙/๒๙๐) @ ธรรมที่ควรให้เจริญ ในที่นี้หมายถึงมรรคสัจ (ม.ม.อ. ๒/๓๙๙/๒๙๐) @ ธรรมที่ควรละ ในที่นี้หมายถึงสมุทยสัจ (ม.ม.อ. ๒/๓๙๙/๒๙๐-๒๙๑) @ อมิตรทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงมาร ๕ จำพวก คือ (๑) กิเลสมาร(มารคือกิเลส) (๒) ขันธมาร(มารคือ @เบญจขันธ์) (๓) อภิสังขารมาร(มารคืออภิสังขาร) (๔) เทวปุตตมาร(มารคือเทพบุตร) (๕) มัจจุมาร(มาร @คือความตาย) (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๖๗/๒๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๙๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๒. เสลสูตร

(เสลพราหมณ์กล่าวด้วยคาถาว่า) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระองค์ จงทรงใคร่ครวญคำของข้าพระองค์นี้ เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลส เป็นมหาวีระตรัสไว้ เหมือนพญาราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า ใครเห็นพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐสุด ไม่มีผู้เปรียบเทียบ ย่ำยีมารและเสนามารได้ จะไม่พึงเลื่อมใสเล่า ถึงคนผู้เกิดในตระกูลต่ำก็ยังเลื่อมใส ผู้ปรารถนา จะตามฉัน ก็เชิญมา หรือผู้ที่ไม่ปรารถนา ก็เชิญกลับไป ฉันจะบวชในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาประเสริฐนี้” (มาณพเหล่านั้นกล่าวด้วยคาถาว่า) “หากท่านอาจารย์ประทับใจคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้ แม้เราทั้งหลายก็จะบวช ในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาประเสริฐ” พราหมณ์ ๓๐๐ คนนี้พากันประนมมือ ทูลขอบรรพชาว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะประพฤติพรหมจรรย์ ในสำนักของพระองค์” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๙๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๒. เสลสูตร

(พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยพระคาถาว่า) “เสละ พรหมจรรย์เรากล่าวไว้แล้ว ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง ให้ผลไม่จำกัดกาล ในศาสนาที่มีการบรรพชาไม่ไร้ผล เมื่อคนที่ไม่ประมาท หมั่นศึกษาอยู่๑-” เสลพราหมณ์พร้อมทั้งบริวารได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี พระภาคแล้ว [๔๐๐] เมื่อล่วงราตรีนั้นไป เกณิยชฎิลสั่งให้จัดของเคี้ยวของฉันอันประณีตไว้ใน อาศรมของตน แล้วส่งคนไปกราบทูลภัตตกาลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จไป ยังอาศรมของเกณิยชฎิลและประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จากนั้น เกณิยชฎิลได้อังคาสภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำ สำราญด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์แล้ว เกณิยชฎิลเลือกนั่ง ณ ที่สมควร ที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
พระพุทธเจ้าทรงทำอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิล
พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า “การบูชาไฟเป็นการบูชายัญอันประเสริฐ ว่าด้วยเรื่องฉันท์ สาวิตรีฉันท์เป็นฉันท์อันดับแรก พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย สมุทรสาครเป็นศูนย์รวมแห่งแม่น้ำทั้งหลาย @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๑๘-๘๓๗/๔๗๖-๔๗๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๙๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๒. เสลสูตร

ดาวนักษัตรทั้งหลาย มีดวงจันทร์เด่นสกาว มวลความร้อนมีดวงอาทิตย์เป็นเจ้า หมู่ชนผู้มุ่งแสวงบุญอยู่มีพระสงฆ์เท่านั้น เป็นทางเจริญแห่งบุญแท้จริงของผู้บูชา” ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว ก็เสด็จลุกจากพุทธอาสน์จากไป ต่อมา ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวาร จากไปอยู่เพียงลำพัง ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็น ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแน่แท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๑-” จึงเป็นอันว่า ท่านพระเสละพร้อมกับภิกษุผู้เป็นบริวารได้เป็นพระอรหันต์ จำนวนหนึ่งบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ครั้งนั้น ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลด้วยคาถาว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ ข้าพระองค์ทั้งหลายถึงพระองค์เป็นสรณะครบ ๘ วันนับจากวันนี้ จึงเป็นอันว่าข้าพระองค์ทั้งหลายฝึกฝนตนสำเร็จ ในศาสนาของพระองค์ใช้เวลา ๗ วันเท่านั้น พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เป็นพระศาสดา เป็นพระมุนีผู้ครอบงำมารได้ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๑๖ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๘ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๐๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๓. อัสสลายนสูตร

ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว ยังทรงช่วยหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามไปได้ด้วย พระองค์ทรงล่วงพ้นอุปธิได้ ทำลายอาสวะได้แล้ว ไม่มีอุปาทาน ละความหวาดกลัวภัยได้ เหมือนพญาราชสีห์ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ” ภิกษุ ๓๐๐ รูปนี้ ยืนประนมมืออยู่ กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแกล้วกล้า ขอพระองค์โปรดเหยียดพระยุคลบาทออกเถิด ขอเชิญท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย ถวายอภิวาทพระบรมศาสดาเถิด” ดังนี้แล
เสลสูตรที่ ๒ จบ
๓. อัสสลายนสูตร
ว่าด้วยอัสสลายนมาณพ
[๔๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก- เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล พราหมณ์ผู้มาจากแคว้นต่างๆ ประมาณ ๕๐๐ คน พักอาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้น พราหมณ์เหล่านั้น ได้คิดว่า “พระสมณโคดมนี้ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์ที่ทั่วไปแก่วรรณะ ๔ จำพวก ใครหนอจะสามารถเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นได้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๐๑}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๙๐-๕๐๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=13&page=490&pages=12&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=13850 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=13&A=13850#p490 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 13 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๙๐-๕๐๑.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]