ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

หน้าที่ ๕๗-๖๖.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร]

                                                                 ปฏิจจสมุปบาท

๒. มหานิทานสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นต้นเหตุใหญ่
ปฏิจจสมุปบาท๑-
[๙๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุชื่อกัมมาสธัมมะ แคว้นกุรุ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง๒- สุดจะ คาดคะเนได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนกับว่าเป็นธรรมง่ายๆ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ อย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง สุดจะคาดคะเนได้ ก็เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจปฏิจจ- สมุปบาทนี้ หมู่สัตว์จึงยุ่งเหมือนขอดด้ายของช่างหูก เป็นปมนุงนังเหมือนกระจุกด้าย เหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ข้ามพ้นอบาย๓- ทุคติ วินิบาตและสงสาร [๙๖] อานนท์ เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’ เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ชาติจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’ เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ภพจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ภพจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๖๐/๑๑๓ @ ลึกซึ้ง หมายถึงลึกซึ้งโดยอาการ ๔ คือ (๑) อรรถ (ผล) (๒) ธรรม (เหตุ) (๓) เทศนา (วิธีการแสดง) @(๔) ปฏิเวธ (การบรรลุ) (ที.ม.อ. ๙๕/๙๐) @ อบาย หมายถึงภาวะหรือที่อันปราศจากความเจริญ ๔ คือ (๑) นรก (๒) กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน (๓) แดน @เปรต (๔) อสุรกาย (ที.ม.อ. ๙๕/๙๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๕๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร]

                                                                 ปฏิจจสมุปบาท

เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะตัณหาเป็น ปัจจัย อุปาทานจึงมี’ เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’ เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย เวทนาจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’ เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’ เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย นามรูปจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้า ถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’ เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้า ถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี‘ควรตอบว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี’ [๙๗] ด้วยเหตุดังนี้แล เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๕๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร]

                                                                 ปฏิจจสมุปบาท

เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงมี ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ ด้วยประการฉะนี้ [๙๘] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่ชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าชาติ คือ ชาติ เพื่อความเป็นเทพของพวกเทพ เพื่อความเป็นคนธรรพ์ของพวกคนธรรพ์ เพื่อความ เป็นยักษ์ของพวกยักษ์ เพื่อความเป็นภูตของพวกภูต เพื่อความเป็นมนุษย์ของพวก มนุษย์ เพื่อความเป็นสัตว์สี่เท้าของพวกสัตว์สี่เท้า เพื่อความเป็นสัตว์ปีกของพวก สัตว์ปีก เพื่อความเป็นสัตว์เลื้อยคลานของพวกสัตว์เลื้อยคลาน ไม่ได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง ก็ถ้าชาติไม่ได้มีเพื่อความเป็นอย่างนั้นของสรรพสัตว์พวกนั้นๆ เมื่อชาติไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะชาติดับไป ชรามรณะจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งชราและมรณะ ก็คือชาตินั่นเอง [๙๙] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่ภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าภพ คือ กามภพ รูปภพ หรืออรูปภพ ไม่ได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อภพไม่มีโดยประการ ทั้งปวง เพราะภพดับไป ชาติจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งชาติ ก็คือภพนั่นเอง [๑๐๐] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าอุปาทาน คือ กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) ทิฏฐุปาทาน(ความยึดมั่นในทิฏฐิ) สีลัพพตุปาทาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๕๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร]

                                                                 ปฏิจจสมุปบาท

(ความยึดมั่นในศีลพรต) หรืออัตตวาทุปาทาน(ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา) ไม่ได้ มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออุปาทานไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ อุปาทานดับไป ภพจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งภพ ก็คืออุปาทานนั่นเอง [๑๐๑] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่ตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าตัณหา คือ รูปตัณหา(อยากได้รูป) สัททตัณหา(อยากได้เสียง) คันธตัณหา(อยากได้กลิ่น) รสตัณหา(อยากได้รส) โผฏฐัพพตัณหา(อยากได้โผฏฐัพพะ) และธัมมตัณหา (อยากได้ ธรรมารมณ์) ไม่ได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการ ทั้งปวง เพราะตัณหาดับไป อุปาทานจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งอุปาทาน ก็คือตัณหานั่นเอง [๑๐๒] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่เวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าเวทนา คือ เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัส เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส และเวทนาที่เกิดจาก มโนสัมผัส ไม่ได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการ ทั้งปวง เพราะเวทนาดับไป ตัณหาจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งตัณหา ก็คือเวทนานั่นเอง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๖๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร]

                                                                 ปฏิจจสมุปบาท

[๑๐๓] อานนท์ ด้วยเหตุดังนี้แล เพราะอาศัยเวทนา ตัณหาจึงมี เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนา (การแสวงหา) จึงมี เพราะอาศัยปริเยสนา ลาภะ (การได้) จึงมี เพราะอาศัยลาภะ วินิจฉยะ (การกำหนด) จึงมี เพราะอาศัยวินิจฉยะ ฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจ ความพอใจ) จึงมี เพราะอาศัยฉันทราคะ อัชโฌสานะ (ความหมกมุ่นฝังใจ) จึงมี เพราะอาศัยอัชโฌสานะ ปริคคหะ (การยึดถือครอบครอง) จึงมี เพราะอาศัยปริคคหะ มัจฉริยะ (ความตระหนี่) จึงมี เพราะอาศัยมัจฉริยะ อารักขะ (ความหวงกั้น) จึงมี เพราะอารักขะเป็นเหตุ บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิด ขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูด ส่อเสียด และการพูดเท็จ [๑๐๔] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอารักขะเป็นเหตุ บาปอกุศล- ธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูดส่อเสียด และการ พูดเท็จ’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อารักขะเป็นเหตุ บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิด ขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูด ขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูดส่อเสียด และการพูดเท็จ ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าอารักขะ ไม่ได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออารักขะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะอารักขะดับไป บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก จะเกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือ ศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูด ส่อเสียด และการพูดเท็จได้หรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๖๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร]

                                                                 ปฏิจจสมุปบาท

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เกิดขึ้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ และปัจจัย แห่งบาปอกุศลธรรมเป็นอเนกที่เกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูดส่อเสียด และการ พูดเท็จ ก็คืออารักขะนั่นเอง [๑๐๕] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยมัจฉริยะ อารักขะจึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยมัจฉริยะ อารักขะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้ามัจฉริยะไม่ได้ มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อมัจฉริยะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ มัจฉริยะดับไป อารักขะจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งอารักขะ ก็คือมัจฉริยะนั่นเอง [๑๐๖] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยปริคคหะ มัจฉริยะ จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยปริคคหะ มัจฉริยะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าปริคคหะ ไม่ได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อปริคคหะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะปริคคหะดับไป มัจฉริยะจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งมัจฉริยะ ก็คือปริคคหะนั่นเอง [๑๐๗] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยอัชโฌสานะ ปริคคหะ จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยอัชโฌสานะ ปริคคหะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าอัชโฌสานะ ไม่ได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออัชโฌสานะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะอัชโฌสานะดับไป ปริคคหะจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งปริคคหะ ก็คืออัชโฌสานะนั่นเอง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๖๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร]

                                                                 ปฏิจจสมุปบาท

[๑๐๘] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยฉันทราคะ อัชโฌสานะ จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยฉันทราคะ อัชโฌสานะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้า ฉันทราคะไม่ได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อฉันทราคะไม่มีโดยประการ ทั้งปวง เพราะฉันทราคะดับไป อัชโฌสานะจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งอัชโฌสานะ ก็คือฉันทราคะนั่นเอง [๑๐๙] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยวินิจฉยะ ฉันทราคะจึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยวินิจฉยะ ฉันทราคะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าวินิจฉยะไม่ได้ มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อวินิจฉยะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ วินิจฉยะดับไป ฉันทราคะจะปรากฏได้หรือ'' ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งฉันทราคะ ก็คือวินิจฉยะนั่นเอง [๑๑๐] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยลาภะ วินิจฉยะจึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยลาภะ วินิจฉยะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าลาภะไม่ได้มีแก่ ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อลาภะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะลาภะ หมดไป วินิจฉยะจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งวินิจฉยะ ก็คือลาภะนั่นเอง [๑๑๑] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยปริเยสนา ลาภะจึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยปริเยสนา ลาภะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าปริเยสนาไม่ได้ มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อปริเยสนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ ปริเยสนาดับไป ลาภะจะปรากฏได้หรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๖๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร]

                                                                 ปฏิจจสมุปบาท

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งลาภะ ก็คือปริเยสนานั่นเอง [๑๑๒] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนา จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยตัณหา ปริเยสนาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าตัณหา คือ กามตัณหา๑- ภวตัณหา๒- และวิภวตัณหา๓- ไม่ได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะตัณหาดับไป ปริเยสนาจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งปริเยสนา ก็คือตัณหานั่นเอง อานนท์ ธรรม ๒ อย่างนี้ ทั้ง ๒ ส่วน๔- รวมลงเป็นอย่างเดียวกับเวทนา ด้วยประการฉะนี้ [๑๑๓] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่ผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าผัสสะ คือ จักขุ- สัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัสไม่ได้มีแก่ ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อผัสสะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะผัสสะดับไป เวทนาจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งเวทนา ก็คือผัสสะนั่นเอง @เชิงอรรถ : @ กามตัณหา (ความทะยานอยากในกาม) ในที่นี้หมายถึงราคะที่เนื่องด้วยกามคุณ ๕ (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒) @ ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) ในที่นี้หมายถึงราคะในรูปภพและอรูปภพ, ราคะที่ประกอบด้วย @สัสสตทิฏฐิ (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒) @ วิภวตัณหา (ความทะยานอยากในวิภพ) ในที่นี้หมายถึงราคะที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒) @ ธรรม ๒ อย่างนี้ ทั้ง ๒ ส่วน ในที่นี้หมายถึงตัณหา ๒ ประการ ได้แก่ (๑) วัฏฏมูลตัณหา ตัณหาที่เป็นมูล @ในวัฏฏะ หมายถึงตัณหาที่เป็นปัจจัยของอุปาทาน (๒) สมุทาจารตัณหา ตัณหาที่ฟุ้งขึ้น หมายถึงตัณหา @ที่ท่านกล่าวว่า เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนาจึงมี เป็นต้น (ที.ม.อ. ๑๑๒/๙๘, ที.ม.ฏีกา ๑๑๒/๑๒๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๖๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร]

                                                                 ปฏิจจสมุปบาท

[๑๑๔] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่นามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ดังต่อไปนี้ การบัญญัตินามกาย๑- ต้องพร้อมด้วยอาการ๒- เพศ๓- นิมิต๔- อุทเทส๕- เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทส นั้นๆ ไม่มี การสัมผัสแต่ชื่อในรูปกายจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัติรูปกายต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้นๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการ กระทบในนามกายจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัตินามกายและรูปกายต้องพร้อมด้วย อาการ เพศ นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้นๆ ไม่มี การสัมผัสแต่ชื่อจะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัตินามรูปต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้นๆ ไม่มี ผัสสะจะปรากฏ ได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งผัสสะ ก็คือนามรูปนั่นเอง [๑๑๕] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่วิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าวิญญาณ จักไม่หยั่งลงในท้องมารดา นามรูปจะก่อตัวขึ้นในท้องมารดาได้หรือ” @เชิงอรรถ : @ นามกาย หมายถึงนามขันธ์ ๔ คือ (๑) เวทนาขันธ์ (๒) สัญญาขันธ์ (๓) สังขารขันธ์ (๔) วิญญาณขันธ์ @(ที.ม.อ. ๑๑๔/๙๙) @ อาการ หมายถึงอากัปกิริยาของนามขันธ์แต่ละอย่างที่สำแดงออกมา (ที.ม.ฏีกา. ๑๑๔/๑๒๓) @ เพศ หมายถึงลักษณะที่บ่งบอกหรือใช้เป็นเครื่องอนุมานถึงนามขันธ์แต่ละอย่าง (ที.ม.ฏีกา ๑๑๔/๑๒๓) @ นิมิต หมายถึงเครื่องหมายแสดงถึงลักษณะเฉพาะของนามขันธ์แต่ละอย่าง (ที.ม.ฏีกา. ๑๑๔/๑๒๓) @ อุทเทส หมายถึงคำอธิบายเกี่ยวกับนามขันธ์แต่ละอย่าง เช่น เป็นสิ่งที่ไม่ใช่รูป เป็นสิ่งที่รับรู้ได้ @(ที.ม.ฏีกา. ๑๑๔/๑๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๖๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร]

                                                                 ปฏิจจสมุปบาท

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องมารดาแล้วล่วงเลยไป นามรูปจักบังเกิดขึ้นเพื่อความเป็นอย่างนี้ได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็ถ้าวิญญาณเด็กชายหรือเด็กหญิงผู้เยาว์วัยจัก ขาดความสืบต่อ นามรูปจักเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งนามรูป ก็คือวิญญาณนั่นเอง [๑๑๖] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่นามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้า วิญญาณจักไม่ได้อาศัยนามรูป ชาติ ชรา มรณะ และความเกิดขึ้นแห่งทุกขสมุทัย จะปรากฏได้หรือ” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด และปัจจัยแห่งวิญญาณ ก็คือนามรูปนั่นเอง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล วิญญาณและนามรูปจึงเกิด แก่ ตาย จุติหรืออุบัติ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่เป็นเพียงชื่อ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่ใช้ตาม ความหมาย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำบัญญัติ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีแต่สื่อ ความเข้าใจ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ วัฏฏะจึงเป็นไป ความเป็นอย่างนี้ย่อมปรากฏ โดยการบัญญัติ๑- คือ นามรูปย่อมเป็นไปพร้อมกับวิญญาณ เพราะต่างก็เป็นปัจจัย ของกันและกัน @เชิงอรรถ : @ ความเป็นอย่างนี้ย่อมปรากฏโดยการบัญญัติ หมายถึงขันธ์ ๕ เป็นเพียงชื่อที่บัญญัติขึ้น (ที.ม.อ. ๑๑๖/๑๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๖๖}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๕๗-๖๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=10&page=57&pages=10&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=10&A=1643 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=10&A=1643#p57 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10



จบการแสดงผล หน้าที่ ๕๗-๖๖.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]