ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
             [๗๗] ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พึงมีความดำริ
อย่างนี้ว่า พระสมณะตรัสลูกศรคือตัณหาไว้แล โทษอันเป็นพิษคืออวิชชา ย่อม
งอกงามได้ด้วยฉันทราคะและพยาบาท เราละลูกศรคือตัณหานั้นได้แล้ว กำจัดโทษ
อันเป็นพิษคืออวิชชาได้แล้ว จึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบ นั่นเป็น
ฐานะที่มีได้แล เมื่อใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบนั่นแล เธอไม่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งอารมณ์อันไม่เป็นที่สบายของใจอันน้อมไปในนิพพานโดยชอบแล้ว ได้แก่ไม่
ประกอบเนืองๆ ซึ่งทัสสนะคือรูปอันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ไม่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งเสียงอันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งกลิ่นอันไม่เป็นที่สบาย
ด้วยฆานะ ไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งรสอันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา ไม่ประกอบ
เนืองๆ ซึ่งโผฏฐัพพะอันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งธรรมา-
*รมณ์อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโน เมื่อเธอไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งทัสสนะคือรูปอัน
ไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ซึ่งเสียงอันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ซึ่งกลิ่นอันไม่เป็นที่
สบายด้วยฆานะ ซึ่งรสอันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา ซึ่งโผฏฐัพพะอันไม่เป็นที่
สบายด้วยกาย ซึ่งธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโน ราคะก็ไม่ตามกำจัดจิต
เธอมีจิตไม่ถูกราคะตามกำจัดแล้ว ไม่พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย เปรียบ
เหมือนบุรุษถูกลูกศรมียาพิษอาบไว้อย่างหนาแล้ว มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต
ของเขาให้หมอผ่าตัดรักษา หมอผ่าตัดใช้ศาตราชำแหละปากแผลของเขา ครั้นแล้ว
ใช้เครื่องตรวจค้นหาลูกศร แล้วถอนลูกศรออก กำจัดโทษคือพิษที่ยังมีเชื้อเหลือ
ติดอยู่ จนรู้ว่าไม่มีเชื้อเหลืออยู่ จึงบอกอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ เราถอน
ลูกศรให้ท่านเสร็จแล้ว โทษคือพิษเราก็กำจัดจนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว ท่าน
หมดอันตราย และพึงบริโภคโภชนะที่สบายได้ เมื่อท่านจะบริโภคโภชนะที่แสลง
ก็อย่าให้แผลต้องกำเริบ และท่านต้องชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุก
เวลา เมื่อท่านชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา อย่าให้น้ำเหลือง
และเลือดรัดปากแผลได้ และท่านอย่าเที่ยวตากลมตากแดดไปเนืองๆ เมื่อท่าน
เที่ยวตากลมตากแดดไปเนืองๆ แล้ว ก็อย่าให้ละอองและของโสโครกติดตาม
ทำลายปากแผลได้ ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านต้องคอยรักษาแผลอยู่จนกว่าแผลจะ
ประสานกัน บุรุษนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า หมอถอนลูกศรให้เราเสร็จแล้ว โทษ
คือพิษหมอก็กำจัดจนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว เราหมดอันตราย เขาจึงบริโภค
โภชนะที่สบาย เมื่อบริโภคโภชนะที่สบายอยู่ แผลก็ไม่กำเริบ และชะแผลทุกเวลา
ทายาสมานปากแผลทุกเวลา เมื่อเขาชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา
น้ำเหลืองและเลือดก็ไม่รัดปากแผล และเขาไม่เที่ยวตากลมตากแดดไปเนืองๆ เมื่อ
เขาไม่เที่ยวตากลมตากแดดไปเนืองๆ ละอองและของโสโครกก็ไม่ติดตามทำลาย
ปากแผล เขาคอยรักษาแผลอยู่ จนแผลหายประสานกัน เพราะเขาทำสิ่งที่สบาย
นี้แล แผลจึงหายได้ด้วย ๒ ประการ คือ กำจัดของไม่สะอาดและโทษคือพิษ
จนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว เขามีแผลหาย ผิวหนังสนิทแล้ว จึงไม่พึงเข้าถึง
ความตาย หรือทุกข์ปางตาย ฉันใด ดูกรสุนักขัตตะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ข้อที่
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พึงมีความดำริอย่างนี้ว่า พระสมณะตรัสลูกศรคือตัณหา
ไว้แล โทษอันเป็นพิษคืออวิชชา ย่อมงอกงามได้ด้วยฉันทราคะและพยาบาท เรา
ละลูกศรคือตัณหาได้แล้ว กำจัดโทษอันเป็นพิษคืออวิชชาได้แล้ว จึงเป็นผู้มีใจ
น้อมไปในนิพพานโดยชอบ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ เมื่อใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบ
อยู่นั่นแล เธอไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งอารมณ์อันไม่เป็นที่สบายของใจอันน้อมไป
ในนิพพานโดยชอบแล้ว ได้แก่ ไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งทัสสนะคือรูปอันไม่เป็นที่
สบายด้วยจักษุ ไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งเสียงอันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ไม่ประกอบ
เนืองๆ ซึ่งกลิ่นอันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ ไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งรสอันไม่เป็น
ที่สบายด้วยชิวหา ไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งโผฏฐัพพะอันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ไม่
ประกอบเนืองๆ ซึ่งธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโน เมื่อเธอไม่ประกอบ
เนืองๆ ซึ่งทัสสนะคือรูปอันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ซึ่งเสียงอันไม่เป็นที่สบาย
ด้วยโสต ซึ่งกลิ่นอันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ ซึ่งรสอันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา
ซึ่งโผฏฐัพพะอันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ซึ่งธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโน
แล้ว ราคะก็ไม่ตามกำจัดจิต เธอมีจิตไม่ถูกราคะตามกำจัดแล้ว ไม่พึงเข้าถึง
ความตาย หรือทุกข์ปางตาย
             ดูกรสุนักขัตตะ เราอุปมาเปรียบเทียบดังนี้ เพื่อให้รู้เนื้อความ เนื้อความ
ในอุปมานี้ คำว่าแผล เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ โทษคือพิษ เป็นชื่อของ
อวิชชา ลูกศร เป็นชื่อของตัณหา เครื่องตรวจเป็นชื่อของสติ ศาตรา เป็นชื่อของ
ปัญญาของพระอริยะ หมอผ่าตัดเป็นชื่อของตถาคตผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เองโดย
ชอบแล้ว ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ภิกษุนั้นทำความสำรวมในอายตนะอันที่เป็น
กระทบ ๖ อย่าง รู้ดังนี้ว่า อุปธิเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์ จึงเป็นผู้ปราศจากอุปธิ
พ้นวิเศษแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ จักน้อมกายหรือปล่อยจิตไปในอุปธิ นั่นไม่
ใช่ฐานะที่มีได้ เปรียบเหมือนภาชนะมีน้ำดื่มเต็มเปี่ยม ถึงพร้อมด้วยสี ด้วยกลิ่น
ด้วยรส แต่ระคนด้วยยาพิษ เมื่อบุรุษผู้รักชีวิต ยังไม่อยากตาย ปรารถนาสุข
เกลียดทุกข์ พึงมาถึงเข้า ดูกรสุนักขัตตะ เธอสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษ
นั้นจะพึงดื่มน้ำที่เต็มเปี่ยมภาชนะนั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่า ดื่มแล้วจะเข้าถึงความตาย
หรือทุกข์ปางตาย บ้างไหมหนอ ฯ
             สุ. ข้อนี้หามิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๑๓๕๙-๑๔๒๒. หน้าที่ ๕๖ - ๕๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=1359&Z=1422&pagebreak=0              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็นเกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=14&item=77&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=5              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=67              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item.php?book=14&item=77&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item.php?book=14&item=77&items=1&mode=bracket              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_14

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]