ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
             [๗๖] ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พึงมีความดำริ
อย่างนี้ว่า พระสมณะตรัสลูกศรคือตัณหาไว้แล โทษอันเป็นพิษคืออวิชชา ย่อม
งอกงามได้ด้วยฉันทราคะและพยาบาท เราละลูกศรคือตัณหานั้นได้แล้ว กำจัด
โทษอันเป็นพิษคืออวิชชาได้แล้ว จึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบ นั่น
เป็นฐานะที่มีได้แล สิ่งที่เป็นผลเบื้องต้นพึงมีได้อย่างนี้ คือ เธอประกอบเนืองๆ
ซึ่งอารมณ์อันไม่เป็นที่สบายของใจอันน้อมไปในนิพพานโดยชอบ ได้แก่ประกอบ
เนืองๆ ซึ่งทัสสนะคือรูปอันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ประกอบเนืองๆ ซึ่งเสียง
อันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ประกอบเนืองๆ ซึ่งกลิ่นอันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ
ประกอบเนืองๆ ซึ่งรสอันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา ประกอบเนืองๆ ซึ่งโผฏฐัพพะ
อันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ประกอบเนืองๆ ซึ่งธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่สบายด้วย
มโน เมื่อเธอประกอบเนืองๆ ซึ่งทัสสนะคือรูปอันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ซึ่ง
เสียงอันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ซึ่งกลิ่นอันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ ซึ่งรสอันไม่
เป็นที่สบายด้วยชิวหา ซึ่งโผฏฐัพพะอันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ซึ่งธรรมารมณ์อัน
ไม่เป็นที่สบายด้วยมโนแล้ว ราคะพึงตามกำจัดจิต เธอมีจิตถูกราคะตามกำจัด
แล้ว พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย เปรียบเหมือนบุรุษถูกลูกศรที่มียาพิษ
อาบไว้อย่างหนาแล้ว มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของเขาให้หมอผ่าตัดรักษา หมอ
ผ่าตัดใช้ศาตราชำแหละปากแผลของเขา ครั้นแล้วใช้เครื่องตรวจค้นหาลูกศร แล้ว
ถอนลูกศรออก กำจัดโทษคือพิษที่ยังมีเชื้อเหลือติดอยู่ จนรู้ว่าไม่มีเชื้อเหลือติด
อยู่ จึงบอกอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ เราถอนลูกศรให้ท่านเสร็จแล้ว โทษ
คือพิษเราก็กำจัดจนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว ท่านหมดอันตราย และพึงบริโภค
โภชนะที่สบายได้ เมื่อท่านจะบริโภคโภชนะที่แสลง ก็อย่าให้แผลต้องกำเริบ
และท่านต้องชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา เมื่อท่านชะแผลทุก
เวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา อย่าให้น้ำเหลืองและเลือดรัดปากแผลได้
และท่านอย่าเที่ยวตากลมตากแดดไปเนืองๆ เมื่อท่านเที่ยวตากลม ตากแดดไป
เนืองๆ แล้วก็อย่าให้ละอองและของโสโครกติดตามทำลายปากแผลได้ ดูกรพ่อ
มหาจำเริญ ท่านต้องคอยรักษาแผลอยู่จนกว่าแผลจะประสานกัน บุรุษนั้นมีความ
คิดอย่างนี้ว่า หมอถอนลูกศรให้เราเสร็จแล้ว โทษคือพิษหมอก็กำจัดจนไม่มีเชื้อ
เหลือติดอยู่แล้ว เราหมดอันตราย เขาจึงบริโภคโภชนะที่แสลง เมื่อบริโภคโภชนะ
ที่แสลงอยู่ แผลก็กำเริบ และไม่ชะแผลทุกเวลา ไม่ทายาสมานปากแผลทุก
เวลา เมื่อเขาไม่ชะแผลทุกเวลา ไม่ทายาสมานปากแผลทุกเวลา น้ำเหลือง
และเลือดก็รัดปากแผล และเขาเที่ยวตากลม ตากแดด ไปเนืองๆ เมื่อเขาเที่ยว
ตากลม ตากแดดไปเนืองๆ แล้ว ปล่อยให้ละอองและของโสโครกติดตาม
ทำลายปากแผลได้ ไม่คอยรักษาแผลอยู่ จนแผลประสานกันไม่ได้ เพราะ
เขาทำสิ่งที่แสลงนี้แล แผลจึงถึงความบวมได้ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ไม่
กำจัดของไม่สะอาดและโทษคือพิษอันยังมีเชื้อเหลือติดอยู่ เขามีแผลถึงความ
บวมแล้ว พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตายได้ ฉันใด ดูกรสุนักขัตตะ ฉัน
นั้นเหมือนกันแล ข้อที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พึงมีความดำริอย่างนี้ว่า
พระสมณะตรัสลูกศรคือตัณหาไว้แล โทษอันเป็นพิษคืออวิชชาย่อมงอกงามได้
ด้วยฉันทราคะและพยาบาท เราละลูกศรคือตัณหานั้นได้แล้ว กำจัดโทษ
อันเป็นพิษคืออวิชชาได้แล้ว จึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบ นั่นเป็น
ฐานะที่มีได้ สิ่งที่เป็นผลเบื้องต้นพึงมีได้อย่างนี้ คือ เธอประกอบเนืองๆ ซึ่ง
อารมณ์อันไม่เป็นที่สบายของใจอันน้อมไปในนิพพานโดยชอบ ได้แก่ประกอบ
เนืองๆ ซึ่งทัสสนะคือรูปอันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ประกอบเนืองๆ ซึ่งเสียง
อันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ประกอบเนืองๆ ซึ่งกลิ่นอันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ
ประกอบเนืองๆ ซึ่งรสอันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา ประกอบเนืองๆ ซึ่ง
โผฏฐัพพะอันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ประกอบเนืองๆ ซึ่งธรรมารมณ์อันไม่
เป็นที่สบายด้วยมโน เมื่อเธอประกอบเนืองๆ ซึ่งทัสสนะ คือ รูปอันไม่เป็น
สบายด้วยจักษุ  ซึ่งเสียงอันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ซึ่งกลิ่นอันไม่เป็นที่สบาย
ด้วยฆานะ ซึ่งรสอันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา ซึ่งโผฏฐัพพะอันไม่เป็นที่สบาย
ด้วยกาย ซึ่งธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโนแล้ว ราคะพึงตามกำจัดจิต
เธอมีจิตถูกราคะตามกำจัดแล้ว พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย
             ดูกรสุนักขัตตะ ก็ความตายนี้ในวินัยของพระอริยะ ได้แก่ลักษณะที่ภิกษุ
บอกคืนสิกขาแล้วเวียนมาเพื่อหีนเพศ ส่วนทุกข์ปางตายนี้ ได้แก่ลักษณะที่ภิกษุ
ต้องอาบัติมัวหมองข้อใดข้อหนึ่ง ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๑๓๐๕-๑๓๕๘. หน้าที่ ๕๔ - ๕๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=1305&Z=1358&pagebreak=0              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็นเกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=14&item=76&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=5              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=67              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item.php?book=14&item=76&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item.php?book=14&item=76&items=1&mode=bracket              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_14

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]