ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ัฏ ”             ผลการค้นหาพบ  52  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 52
กรรมวัฏฏ์ ดู กัมมวัฏฏ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 52
กัมมวัฏฏ์ วนคือกรรม, วงจรส่วนกรรม,
       หนึ่งในวัฏฏะ ๓ แห่งปฏิจจสมุปบาท ประกอบด้วยสังขารและกรรมภพ;
       ดู ไตรวัฏฏ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 52
กัมมัฏฐาน ที่ตั้งแห่งการงาน, อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายทางใจ,
       วิธีฝึกอบรมจิต มี ๒ ประเภท คือ
           สมถกัมมัฏฐาน อุบายสงบใจ ๑
           วิปัสสนากัมมัฏฐาน อุบายเรืองปัญญา ๑
       (นิยมเขียน กรรมฐาน);
       ดู ภาวนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 52
กัมมัฏฐาน ๔๐ คือ
       กสิณ ๑๐
       อสุภะ ๑๐
       อนุสสติ ๑๐
       พรหมวิหาร ๔
       อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
       จตุธาตุววัตถาน ๑
       อรูป ๔

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 52
กิเลสวัฏฏ์ วนคือกิเลส, วงจรส่วนกิเลส,
       หนึ่งในวัฏฏะ ๓ แห่งปฏิจจสมุปบาท ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน;
       ดู ไตรวัฏฏ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 52
คิลานุปัฏฐากภัต อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุผู้พยาบาลไข้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 52
ตจปัญจกกัมมัฏฐาน กรรมฐานมีหนังเป็นที่คำรบห้า,
       กรรมฐานอันบัณฑิตกำหนดด้วยอาการมีหนังเป็นที่ ๕ เป็นอารมณ์
       คือ กรรมฐานที่ท่านสอนให้พิจารณาส่วนของร่างกาย ๕ อย่าง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นของปฏิกูล หรือโดยความเป็นสภาวะอย่างหนึ่งๆ ตามที่มันเป็นของมัน ไม่เอาใจเข้าไปผูกพันแล้วคิดวาดภาพใฝ่ฝันตามอำนาจกิเลส
       พจนานุกรมเขียน ตจปัญจกกรรมฐาน
       เรียกอีกอย่างว่า มูลกัมมัฏฐาน (กรรมฐานเบื้องต้น)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 52
ไตรวัฏฏ์ วัฏฏะ ๓, วงวน ๓ หรือวงจร ๓ ส่วนของปฏิจจสมุปบาท หมุนเวียนสืบทอดต่อๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก
       (เรียกเต็มว่า
           ๑. กิเลสวัฏฏ์ ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
           ๒. กรรมวัฏฏ์ ประกอบด้วย สังขาร ภพ
           ๓. วิปากวัฏฏ์ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส)
       คือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก
       เช่น เกิดกิเลสอยากได้ของเขา จึงทำกรรมด้วยการไปลักของเขามา ประสบวิบากคือได้ของนั้นมาเสพเสวยเกิดสุขเวทนา ทำให้มีกิเลสเหิมใจอยากได้รุนแรงและมากยิ่งขึ้นจึงยิ่งทำกรรมมากขึ้น
       หรือในทางตรงข้ามถูกขัดขวาง ได้รับทุกขเวทนาเป็นวิบาก ทำให้เกิดกิเลส คือโทสะแค้นเคือง แล้วพยายามทำกรรมคือประทุษร้ายเขา เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ วงจรจะหมุนเวียนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด;
       ไตรวัฏ ก็เขียน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 52
ทักขิณาวัฏฏ์ เวียนขวา, วนไปทางขวา คือ วนเลี้ยวทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา
       เขียน ทักขิณาวัฏ หรือ ทักษิณาวรรต ก็มี;
       ตรงข้ามกับ อุตตราวัฏ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 52
ธัมมปทัฏฐกถา คัมภีร์อรรถกถา อธิบายความในธรรมบทแห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก
       พระพุทธโฆษาจารย์รจนา หรือเป็นหัวหน้าในการรจนาขึ้น เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐
       (ชื่อเฉพาะว่า ปรมัตถโชติกา)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 52
ธาตุกัมมัฏฐาน กรรมฐานที่พิจารณาธาตุเป็นอารมณ์,
       กำหนดพิจารณาร่างกายแยกเป็นส่วนๆ ให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 52
บรมอัฏฐิ กระดูกกษัตริย์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 52
ปริวัฏฏ์ หมุนเวียน, รอบ;
       ญาณทัสสนะมีปริวัฏฏ์ ๓ หรือเวียนรอบ ๓ ในอริยสัจจ์ ๔
       หมายถึง รู้อริยสัจจ์ ๔ แต่ละข้อโดยสัจจญาณ กิจจญาณและกตญาณ รวม ๔ ข้อเป็น ๑๒
       เรียกว่า มีอาการ ๑๒

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 52
ปริสุปัฏฐาปกะ ภิกษุผู้เป็นนิสัยมุตก์ คือ พ้นจากการถือนิสัยแล้ว มีคุณสมบัติสมควรเป็นผู้ปกครองหมู่ สงเคราะห์บริษัทได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 52
ปานะ เครื่องดื่ม, น้ำสำหรับดื่ม ที่คั้นจากลูกไม้ (น้ำคั้นผลไม้) จัดเป็นยามกาลิก
       ท่านแสดงไว้ ๘ ชนิด คือ
           ๑. อมฺพปานํ น้ำมะม่วง
           ๒. ชมฺพุปานํ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
           ๓. โจจปานํ น้ำกล้วยมีเม็ด
           ๔. โมจปานํ น้ำกล้วยไม่มีเม็ด
           ๕. มธุกปานํ น้ำมะทราง (ต้องเจือน้ำจึงจะควร)
           ๖. มุทฺทิกปานํ น้ำลูกจันทร์หรือองุ่น
           ๗. สาลุกปานํ น้ำเหง้าอุบล
           ๘. ผารุสกปานํ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่
       นิยมเรียกว่า อัฏฐบาน หรือ น้ำอัฏฐบาน (ปานะ ๘ อย่าง)
       วิธีทำปานะที่ท่านแนะไว้ คือ ปอกหรือคว้านผลไม้เหล่านี้ที่สุก เอาผ้าห่อ บิดให้ตึงอัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า เติมน้ำลงให้พอดี (จะไม่เติมน้ำก็ได้เว้นแต่ผลมะทรางซึ่งท่านระบุว่าต้องเจือน้ำจึงควร) แล้วผสมน้ำตาลและเกลือเป็นต้นลงไปพอให้ได้รสดี
       ข้อจำกัดที่พึงทราบคือ
           ๑. ปานะนี้ให้ใช้ของสดห้ามมิให้ต้มด้วยไฟ
               (ข้อนี้พระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่าแม้สุกก็ไม่น่ารังเกียจ)
           ๒. ต้องเป็นของที่อนุปสัมบันทำ จึงควรฉันในเวลาวิกาล
               (ถ้าภิกษุทำถือเป็นเหมือนยาวกาลิก เพราะรับประเคนมาทั้งผล)
           ๓. ของประกอบเช่นน้ำตาลและเกลือ ไม่ให้เอาของที่รับประเคนค้างคืนไว้มาใช้
               (แสดงว่ามุ่งให้เป็นปานะที่อนุปสัมบันทำถวายด้วยของของเขาเอง)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 52
ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาหยั่งเห็นสังขารปรากฏโดยอาการเป็นของน่ากลัว เพราะสังขารทั้งปวงนั้นล้วนแต่จะต้องแตกสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น
       (ข้อ ๓ ในวิปัสสนาญาณ ๙)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 52
มหาวิกัฏ ยา ๔ อย่าง คือ มูตร คูถ เถ้า ดิน
       ภิกษุอาพาธฉันได้โดยไม่ต้องรับประเคน คือไม่ต้องอาบัติเพราะขาดประเคน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 52
มหาสติปัฏฐานสูตร ชื่อสูตรที่ ๙ แห่งทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยสติปัฏฐาน ๔

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 52
มาตาปิตุอุปัฏฐาน การบำรุงมารดาบิดาให้มีความสุข
       (ข้อ ๓ ในสัปปุริสบัญญัติ ๓, ข้อ ๑๑ ในมงคล ๓๘)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 52
โยมอุปัฏฐาก คฤหัสถ์ที่แสดงตนเป็นผู้อุปการะพระสงฆ์โดยเจาะจง อุปการะรูปใด ก็เป็นโยมอุปัฏฐากของรูปนั้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 52
รัฏฐานุบาลโนบายราชธรรม ธรรมของพระราชา ซึ่งเป็นวิธีปกครองบ้านเมือง, หลักธรรมสำหรับพระราชาใช้เป็นแนวปกครองบ้านเมือง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 52
รัฏฐปาละ ดู รัฐบาล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 52
ราชภัฏ ผู้อันพระราชาเลี้ยง คือ ข้าราชการ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 52
รูปกัมมัฏฐาน กรรมฐานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 52
ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม (ลัฏฐิ แปลว่า “ไม้ตะพด” ก็ได้ บางท่านจึงแปลว่า “ป่าไม้รวก”)
       อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่นั่น พระเจ้าพิมพิสารไปเฝ้าพร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมาก ทรงสดับพระธรรมเทศนา ได้ธรรมจักษุ ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกที่นั่น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 52
วัฏฏะ การวนเวียน, การเวียนเกิดเวียนตาย, การเวียนว่ายตายเกิด,
       ความเวียนเกิด หรือวนเวียน ด้วยอำนาจกิเลสกรรม และวิบาก
       เช่น กิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้วย่อมได้รับผลของกรรม เมื่อได้รับผลของกรรมแล้ว กิเลสก็เกิดอีกแล้วทำกรรม แล้วเสวยผลกรรม หมุนเวียนต่อไป;
       ดู ไตรวัฏฏ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 52
วัฏฏคามณีอภัย ชื่อพระเจ้าแผ่นดินแห่งเกาะลังกาพระองค์หนึ่ง ครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๕๑๕-๕๒๗ ถูกพวกทมิฬแย่งชิงราชสมบัติ เสด็จไปซ่อนพระองค์อยู่ในป่า และได้รับความช่วยเหลือจากพระเถระรูปหนึ่ง
       ต่อมาพระองค์กู้ราชสมบัติคืนมา ได้ทรงสร้างอภัยคีรีวิหาร และอาราธนาพระเถระรูปนั้นมาอยู่ครอง กับทั้งได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีกเป็นอันมาก
       การสังคายนาครั้งที่ ๕ ที่จารึกพุทธพจน์ลงในใบลาน ก็จัดทำในรัชกาลนี้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 52
วัฏฏูปัจเฉท ความเข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ
       (เป็นไวพจน์ของวิราคะ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 52
วิญญาณฐิติ ภูมิเป็นที่ตั้งของวิญญาณ มี ๗ คือ
       ๑. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ พวกเทพบางหมู่ พวกวินิปาติกะ บางหมู่
       ๒. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพผู้อยู่ในจำพวกพรหมผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน
       ๓. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสสระ
       ๔. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพสุภกิณหะ
       ๕. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ
       ๖. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ
       ๗. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจายตนะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 52
วิปัสสนา ความเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม;
       ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้,
       การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น
       (ข้อ ๒ ในกัมมัฏฐาน ๒ หรือภาวนา ๒)
       ดู ภาวนา, ไตรลักษณ์

วิปัสสนากัมมัฏฐาน กรรมฐานคือวิปัสสนา; ดู วิปัสสนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 52
วิปากวัฏฏ์ วนคือวิบาก, วงจรส่วนวิบาก,
       หนึ่งในวัฏฏะ ๓ แห่งปฏิจจสมุปบาท ประกอบด้วยวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา, ชาติ ชรา มรณะ;
       ดู ไตรวัฏฏ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 52
วิวัฏฏ์, วิวัฏฏะ ปราศจากวัฏฏะ, ภาวะพ้นวัฏฏะ ได้แก่ นิพพาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 52
วิวัฏฏคามีกุศล บุญกุศลที่ให้ถึงวิวัฏฏ์ คือพระนิพพาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 52
สงสารวัฏฏ์ วังวนแห่งสงสาร คือ ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 52
สติปัฏฐาน ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ, ข้อปฏิบัติมีสติเป็นประธาน, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง, การมีสติกำกับดูสิ่งต่างๆ และความเป็นไปทั้งหลาย โดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย ที่ทำให้มองเห็นเพี้ยนไปตามอำนาจกิเลส มี ๔ อย่างคือ
       ๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันกายและเรื่องทางกาย
       ๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา
       ๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิตหรือสภาพและอาการของจิต
       ๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม;
       เรียกสั้นๆ ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม;
       ดู โพธิปักขิยธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 52
สมถะ ธรรมเป็นเครื่องสงบระงับจิต, ธรรมยังจิตให้สงบระงับจากนิวรณูปกิเลส, การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ
       (ข้อ ๑ ในกรรมฐาน ๒ หรือภาวนา ๒)

สมถกัมมัฏฐาน กรรมฐานคือสมถะ, งานฝึกจิตให้สงบ;
       ดู สมถะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 52
สังสารวัฏ ภพที่เวียนเกิดเวียนตาย, การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก;
       สังสารวัฏฏ์ หรือ สงสารวัฏ ก็เขียน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 52
สัญเจตนิกา มีความจงใจ, มีเจตนา;
       เป็นชื่อสังฆาทิเสสสิกขาบทที่หนึ่ง ข้อที่จงใจทำอสุจิให้เคลื่อน
       เรียกเต็มว่า สัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 52
สัญชัย ชื่อปริพาชกผู้เป็นอาจารย์ใหญ่คนหนึ่ง ในพุทธกาล
       ตั้งสำนักสอนลัทธิอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีศิษย์มาก
       พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเคยบวชอยู่ในสำนักนี้
       ภายหลัง เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะพร้อมด้วยศิษย์ ๒๕๐ คนพากันไปสู่สำนักพระพุทธเจ้า สัญชัยเสียใจเป็นลมและอาเจียนเป็นโลหิต;
       นิยมเรียกว่า สญชัยปริพาชก เป็นคนเดียวกับ สัญชัยเวลัฏฐบุตร
       คนหนึ่งใน ติตถกร หรือครูทั้ง ๖

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 52
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
       (ข้อที่ ๕ ในศีล ๕ ศีล ๘ และศีล ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 52
อนามัฏฐบิณฑบาต อาหารที่ภิกษุบิณฑบาตได้มายังไม่ได้ฉัน จะให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ภิกษุด้วยกันไม่ได้ นอกจากมารดาบิดา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 52
อริยอัฏฐังคิกมรรค มรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ;
       ดู มรรค

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 52
อัฏฐกะ หมวด ๘

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 52
อัฏฐบาน ปานะทั้ง ๘, น้ำปานะคือน้ำคั้นผลไม้ ๘ อย่าง;
       ดู ปานะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 52
อัฏฐารสเภทกรวัตถุ เรื่องทำความแตกกัน ๑๘ อย่าง,
       เรื่องที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกแก่สงฆ์ ๑๘ ประการ ท่านจัดเป็น ๙ คู่ (แสดงแต่ฝ่ายคี่) คือ
           ภิกษุแสดงสิ่งมิใช่ธรรม ว่าเป็นธรรม,
           แสดงสิ่งมิใช่วินัย ว่าเป็นวินัย,
           แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ตรัส ว่าได้ตรัส,
           แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ประพฤติ ว่าได้ประพฤติ,
           แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้บัญญัติ ว่าได้บัญญัติ,
           แสดงอาบัติ ว่ามิใช่อาบัติ,
           แสดงอาบัติเบา ว่าเป็นอาบัติหนัก,
           แสดงอาบัติมีส่วนเหลือ ว่าเป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ,
           แสดงอาบัติหยาบคาย ว่ามิใช่อาบัติหยาบคาย
       (ฝ่ายคู่ก็ตรงกันข้ามจากนี้ตามลำดับ
           เช่น แสดงธรรม ว่ามิใช่ธรรม, แสดงวินัย ว่ามิใช่วินัย ฯลฯ แสดงอาบัติไม่หยาบคาย ว่าเป็นอาบัติหยาบคาย)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 52
อัฏฐิ กระดูก, บัดนี้เรียกว่า อัฐิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 52
อัฏฐิมิญชะ เยื่อในกระดูก (ปัจจุบันแปลว่า ไขกระดูก)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 52
อานาปานสติกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานที่ใช้สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 52
อารักขกัมมัฏฐาน กรรมฐานเป็นเครื่องรักษาตน,
       กรรมฐานเป็นเครื่องรักษาผู้ปฏิบัติให้สงบระงับ ซึ่งควรเจริญเป็นนิตย์ เป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงไว้ มี ๔ อย่างคือ
           ๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าที่มีในพระองค์ และทรงเกื้อกูลแก่ผู้อื่น
           ๒. เมตตา แผ่ไมตรีจิตต์ คิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า
           ๓. อสุภะ พิจารณาร่างกายตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม
           ๔. มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตนเป็นธรรมดา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 52
อุตตราวัฏฏ์ เวียนซ้าย, เวียนรอบ โดยหันข้างซ้ายให้ คือ เวียนเลี้ยวทางซ้ายย้อนเข็มนาฬิกา
       (พจนานุกรมเขียน อุตราวัฏ);
       ตรงข้ามกับ ทักขิณาวัฏฏ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  51 / 52
อุปัฏฐาก ผู้บำรุง, ผู้รับใช้, ผู้ดูแลความเป็นอยู่, ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณร;
       อุปฐาก ก็เขียน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  52 / 52
อุปัฏฐายิกา อุปัฏฐากที่เป็นผู้หญิง


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ัฏ
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%D1%AF


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]