ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ รูป ”             ผลการค้นหาพบ  51  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 51
ฐานานุรูป สมควรแก่ตำแหน่ง, สมควรแก่เหตุที่จะเป็นได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 51
เทวรูป รูปเทวดาที่นับถือ ตามลัทธิที่นับถือเทวดา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 51
เทวรูปนาคปรก เทวรูปลักษณะคล้ายพระพุทธรูปนาคปรก แต่ภายในนาคปรกนั้นเป็นเทวรูป ไม่ใช่พระพุทธรูป ที่เทวสถานเมืองลพบุรีมีมาก เป็นของลัทธิพราหมณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 51
ธรรมปฏิรูป ธรรมปลอม, ธรรมที่ไม่แท้, ธรรมเทียม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 51
นามรูป นามธรรม และรูปธรรม
       นามธรรม หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป คือรู้ไม่ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ
           ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
       รูปธรรม หมายถึง สิ่งที่มีรูป สิ่งที่เป็นรูป
           ได้แก่รูปขันธ์ทั้งหมด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 51
นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป,
       ญาณหยั่งรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นแต่เพียงนามและรูป และกำหนดจำแนกได้ว่าสิ่งใดเป็นรูป สิ่งใดเป็นนาม
       (ข้อ ๑ ในญาณ ๑๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 51
นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป,
       ญาณหยั่งรู้ที่กำหนดจับได้ซึ่งปัจจัยแห่งนามและรูป โดยอาการที่เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น
       (ข้อ ๒ ในญาณ ๑๖)
       เรียกกันสั้นๆ ว่า ปัจจัยปริคคหญาณ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 51
ปฏิรูป สมควร, เหมาะสม, ปรับปรุงให้สมควร;
       ถ้าอยู่ท้ายในคำสมาสแปลว่า “เทียม” “ปลอม” “ไม่แท้”
       เช่น สัทธรรมปฏิรูป แปลว่า “สัทธรรมเทียม” หรือ “ธรรมปลอม”

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 51
ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร,
       อยู่ในถิ่นที่เหมาะ หมายถึงอยู่ในถิ่นเจริญ มีคนดี มีนักปราชญ์
       (ข้อ ๑ ในจักร ๔, ข้อ ๔ ในมงคล ๓๘)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 51
ประสาทรูป รูปคือประสาท

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 51
ปริจเฉทรูป รูปที่กำหนดเทศะ ได้แก่ อากาสธาตุ หรืออากาศ คือ ช่องว่าง เช่น ช่องว่างในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 51
ปิยรูป สาตรูป สภาวะที่น่ารักน่าชื่นใจ มุ่งเอาส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหามี ๑๐ หมวดๆ ละ ๖ อย่าง คือ
       อายตนะภายใน ๖
       อายตนภายนอก ๖
       วิญญาณ ๖
       สัมผัส ๖
       เวทนา ๖
       สัญญา ๖
       สัญเจตนา ๖ มีรูปสัญเจตนา เป็นต้น
       ตัณหา ๖ มีรูปตัณหา เป็นต้น
       วิตก ๖ มีรูปวิตกเป็นต้น
       วิจาร ๖ มีรูปวิจาร เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 51
พุทธรูป รูปพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 51
ภาวรูป รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ
       มี ๒ คือ อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง และ ปุริสภาวะ ความเป็นชาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 51
ภูตรูป ดู มหาภูต

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 51
มหาภูต ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม;
       ดู มหาภูตรูป

มหาภูตรูป รูปใหญ่, รูปต้นเดิม คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ ปฐวี อาโป เตโช และวาโย;
       ดู ธาตุ ๔

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 51
มาตรา กิริยากำหนดประมาณ, เครื่องวัดต่างๆ เช่นวัดขนาด จำนวน เวลา ระยะทางเป็นต้น,
       มาตราที่ควรรู้ ดังนี้
มาตราเวลา
๑๕ หรือ ๑๔ วัน เป็น ๑ ปักษ์
๒ ปักษ์ เป็น ๑ เดือน
๔ เดือน เป็น ๑ ฤดู
๓ ฤดู เป็น ๑ ปี
       (๑๔ วัน คือ ข้างแรมเดือนขาด, ๑๒ เดือนตั้งแต่เดือนอ้ายมีชื่อดังนี้;
           มาคสิรมาส, ปุสสมาส, มาฆมาส, ผัคคุณมาส, จิตตมาส, เวสาขมาส, เชฏฐมาส, อาสาฬหมาส, สาวนมาส, ภัททปทมาส หรือโปฏฐปทมาส, อัสสยุชมาส หรือปฐมกัตติกมาส, กัตติกามาส;
       ฤดู ๓ คือ
           เหมันต์ ฤดูหนาว เริ่มเดือนมาคสิระ ของเราเป็นแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒,
           คิมหะ ฤดูร้อน เริ่มเดือนจิตตะ ของเราเป็นแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔,
           วัสสานะ ฤดูฝน เริ่มเดือนสาวนะ ของเราเป็นแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘)
มาตราวัด
๗ เมล็ดข้าว เป็น ๑ นิ้ว
๑๒ นิ้ว เป็น ๑ คืบ
๒ คืบ เป็น ๑ ศอก
๔ ศอก เป็น ๑ วา
๒๕ วา เป็น ๑ อุสภะ
๘๐ อุสภะ เป็น ๑ คาวุต
๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์
หรือ
๔ ศอก เป็น ๑ ธนู
๕๐๐ ธนู เป็น ๑ โกสะ
๔ โกสะ เป็น ๑ คาวุต
๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์
มาตราตวง
๔ มุฏฐิ (กำมือ) เป็น ๑ กุฑวะ (ฟายมือ)
๒ กุฑวะ เป็น ๑ ปัตถะ (กอบ)
๒ ปัตถะ เป็น ๑ นาฬี (ทะนาน)
๔ นาฬี เป็น ๑ อาฬหก
มาตรารูปิยะ
๕ มาสก เป็น ๑ บาท
๔ บาท เป็น ๑ กหาปณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 51
มิตตปฏิรูป, มิตตปฏิรูปก์ คนเทียมมิตร, มิตรเทียม ไม่ใช่มิตรแท้ มี ๔ พวก ได้แก่
       ๑. คนปอกลอก มีลักษณะ ๔ คือ
           ๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
           ๒. ยอมเสียน้อยโดยหวังจะเอาให้มาก
           ๓. ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
           ๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว
       ๒. คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔ คือ
           ๑. ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย
           ๒. ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย
           ๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
           ๔. เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง
       ๓. คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔ คือ
           ๑. จะทำชั่วก็เออออ
           ๒. จะทำดีก็เออออ
           ๓. ต่อหน้าสรรเสริญ
           ๔. ลับหลังนินทา
       ๔. คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔ คือ
           ๑. คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
           ๒. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
           ๓. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
           ๔. คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 51
รูป
       1. สิ่งที่จะต้องสลายไปเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน, ส่วนร่างกาย
           จำแนกเป็น ๒๘ คือมหาภูต หรือธาตุ ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ (=รูปขันธ์ในขันธ์ ๕)
       2. อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยจักษุ, สิ่งที่ปรากฏแก่ตา (ข้อ ๑ ในอารมณ์ ๖ หรือในอายตนะภายนอก ๖)
       3. ลักษณนาม ใช้เรียกพระภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุรูปหนึ่ง สามเณร ๕ รูป;
           ในภาษาพูดบางแห่งนิยมใช้ องค์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 51
รูปกัมมัฏฐาน กรรมฐานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 51
รูปกาย ประชุมแห่งรูปธรรม, กายที่เป็นส่วนรูป โดยใจความได้แก่รูปขันธ์หรือร่างกาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 51
รูปฌาน ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์มี ๔ คือ
       ๑. ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ
           วิตก(ตรึก)
           วิจาร(ตรอง)
           ปีติ(อิ่มใจ)
           สุข(สบายใจ)
           เอกัคคตา(จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง)
       ๒. ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ คือ ปีติ, สุข, เอกัคคตา
       ๓. ตติยฌาน ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ สุข, เอกัคคตา
       ๔. จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา, เอกัคคตา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 51
รูปตัณหา ความอยากในรูป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 51
รูปธรรม สิ่งที่มีรูป, สภาวะที่เป็นรูป;
       คู่กับ นามธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 51
รูปนันทา พระราชบุตรีของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางปชาบดีโคตมี เป็นพระกนิฏฐภคินีต่างพระมารดาของพระสิทธัตถะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 51
รูปพรรณ เงินทองที่ทำเป็นเครื่องใช้หรือเครื่องประดับ, ลักษณะ, รูปร่าง และสี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 51
รูปพรหม พรหมในชั้นรูปภพ, พรหมที่เกิดด้วยกำลังรูปฌาน มี ๑๖ ชั้น;
       ดู พรหมโลก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 51
รูปภพ โลกเป็นที่อยู่ของพวกรูปพรหม; ดู พรหมโลก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 51
รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรม คือติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต
       (ข้อ ๖ ในสังโยชน์ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 51
รูปวิจาร ความตรองในรูป เกิดต่อจากรูปวิตก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 51
รูปวิตก ความตรึกในรูป เกิดต่อจากรูปตัณหา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 51
รูปสัญเจตนา ความคิดอ่านในรูป เกิดต่อจากรูปสัญญา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 51
รูปสัญญา ความหมายรู้ในรูป เกิดต่อจากจักขุสัมผัสสชาเวทนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 51
รูปัปปมาณิกา ผู้ถือรูปเป็นประมาณ คือ พอใจในรูป ชอบรูปร่างสวยสง่างาม ผิวพรรณหมดจดผ่องใส เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 51
รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป, สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 51
รูปาวจร ซึ่งท่องเที่ยวไปในรูป, อยู่ในระดับจิตชั้นรูปฌาน, ระดับที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์, เนื่องในรูปภพ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 51
รูปิยสังโวหาร การแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะ, การซื้อขายด้วยเงินตรา,
       ภิกษุกระทำ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ (โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๙)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 51
รูปียะ, รูปิยะ เงินตรา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 51
สมณสารูป ความประพฤติอันสมควรของสมณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 51
สัทธรรมปฏิรูป สัทธรรมปลอม, สัทธรรมเทียม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 51
สาตรูป รูปเป็นที่ชื่นใจ; ดู ปิยรูป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 51
สารูป เหมาะ, สมควร;
       ธรรมเนียมควรประพฤติในเวลาเข้าบ้าน, เป็นหมวดที่ ๑ แห่งเสขิยวัตร มี ๒๖ สิกขาบท

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 51
อนุรูป สมควร, เหมาะสม, พอเพียง, เป็นไปตาม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 51
อรูป ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ อรูปฌาน, ภพของสัตว์ผู้เข้าถืออรูปฌาน,
       ภพของอรูปพรหม มี ๔ คือ
           ๑. อากาสานัญจายตนะ (กำหนดที่ว่างหาที่สุดมิได้ เป็นอารมณ์)
           ๒. วิญญาณัญจายตนะ (กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้ เป็นอารมณ์)
           ๓. อากิญจัญญายตนะ (กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์)
           ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 51
อรูปฌาน ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔;
       ดู อรูป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 51
อรูปพรหม พรหมผู้เข้าถึงอรูปฌาน, พรหมไม่มีรูป, พรหมในอรูปภพ มี ๔;
       ดู อรูป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 51
อรูปภพ โลกเป็นที่อยู่ของพรหมไม่มีรูป;
       ดู อรูป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 51
อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม, ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน, ความปรารถนาในอรูปภพ
       (ข้อ ๗ ในสังโยชน์ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 51
อรูปาวจร ซึ่งท่องเที่ยวไปในอรูปภพ, ยังเกี่ยวข้องอยู่กับอรูปธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 51
อวินิพโภครูป “รูปที่แยกออกจากกันไม่ได้”, รูปที่มีอยู่ด้วยกันเป็นประจำเสมอไป อย่างขาดมิได้เลยในสิ่งที่เป็นรูปทุกอย่าง
       กล่าวคือ ในสิ่งที่เป็นรูปทุกอย่าง แม้แต่ปรมาณูที่เล็กที่สุดก็จะต้องมีรูปธรรมชุดนี้อยู่เป็นอย่างน้อย, คุณสมบัติพื้นฐานที่มีอยู่เป็นประจำในวัตถุ,
       มี ๘ อย่าง คือ
           ปฐวี (ภาวะแผ่ขยายหรือรองรับ)
           อาโป (ภาวะเอิบอาบเกาะกุม)
           เตโช (ภาวะร้อน)
           วาโย (ภาวะเคลื่อนไหวเคร่งตึง)
           วัณณะ (สี)
           คันธะ (กลิ่น)
           รสะ (รส)
           โอชา (อาหารรูป);
       ใน ๘ อย่างนี้ ๔ อย่างแรกเป็นมหาภูตรูป หรือธาตุ ๔, ๔ อย่างหลังเป็นอุปาทายรูป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  51 / 51
อุปาทายรูป รูปอาศัย, รูปที่เกิดสืบเนื่องจากมหาภูตรูป,
       อาการของมหาภูตรูป ตามหลักฝ่ายอภิธรรมว่า มี ๒๔ คือ
       ก. ประสาท หรือ ปสาทรูป ๕ ได้แก่
           จักขุ ตา, โสต หู, ฆานะ จมูก, ชิวหา ลิ้น, กาย
       ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป (รูปที่เป็นอารมณ์) ๕ ได้แก่
           รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
           (โผฏฐัพพะ ไม่นับเข้าจำนวน เพราะตรงกับปฐวี เตโช วาโย ซึ่งเป็นมหาภูตรูป)
       ค. ภาวรูป ๒ ได้แก่
           อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง และ
           ปุริสภาวะ ความเป็นชาย
       ง. หทัยรูป ๑ คือ หทัยวัตถุ หัวใจ
       จ. ชีวิตรูป ๑ คือ ชีวิตินทรีย์ ภาวะที่รักษารูปให้เป็นอยู่
       ฉ. อาหารรูป ๑ คือ กวฬิงการาหาร อาหารที่กินเกิดเป็นโอชา
       ช. ปริจเฉทรูป ๑ คือ อากาศธาตุ ช่องว่าง
       ญ. วิญญัติรูป ๒ คือ
           กายวิญญัติ ไหวกายให้รู้ความ
           วจีวิญญัติ ไหววาจาให้รู้ความ คือพูดได้
       ฎ. วิการรูป ๕ อาการดัดแปลงต่างๆ ได้แก่
           ลหุตา ความเบา,
           มุทุตา ความอ่อน,
           กัมมัญญตา ความควรแก่งาน,
           (อีก ๒ คือ วิญญัติรูป ๒ นั่นเอง ไม่นับอีก)
       ฏ. ลักขณรูป ๔ ได้แก่
           อุปจยะ ความเติบขึ้นได้,
           สันตติ สืบต่อได้,
           ชรตา ทรุดโทรมได้,
           อนิจจตา ความสลายไม่ยั่งยืน
       (นับโคจรรูปเพียง ๔ วิการรูป เพียง ๓ จึงได้ ๒๔);
       ดู มหาภูต ด้วย


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=รูป
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C3%D9%BB


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]