ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

พุทธมามกะ “ผู้ถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา”, ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน, ผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา;
       พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเรียบเรียงตั้งเป็นแบบไว้ ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดจะส่งเจ้านายคณะหนึ่งออกไปศึกษาในทวีปยุโรป ทรงถือตามคำแสดงตนเป็นอุบาสกของเดิม แต่แก้บท อุบาสก ที่เฉพาะผู้ใหญ่ผู้ได้ศรัทธาเลื่อมใสด้วยตนเอง เป็น พุทธมามกะ และได้เกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะสืบต่อกันมา โดยจัดทำในกรณีต่างๆ โดยเฉพาะ
           ๑. เมื่อบุตรหลานพ้นวัยทารก อายุ ๑๒-๑๕ ปี
           ๒. เมื่อจะส่งบุตรหลานไปอยู่ในถิ่นที่มิใช่ดินแดนของพระพุทธศาสนา
           ๓. โรงเรียนประกอบพิธีให้นักเรียนที่เข้าศึกษาใหม่แต่ละปีเป็นหมู่
           ๔. เมื่อบุคคลผู้เคยนับถือศาสนาอื่นต้องการประกาศตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา;
       ท่านวางระเบียบพิธีไว้สรุปได้ดังนี้
       ก. มอบตัว (ถ้าเป็นเด็กให้ผู้ปกครองนำตัวหรือครูนำรายชื่อไป) โดยนำดอกไม้ธูปเทียนใส่พานไปถวายพระอาจารย์เป็นอย่างน้อย ๔ รูป
       ข. จัดสถานที่ ในอุโบสถ หรือวิหาร ศาลาการเปรียญ หรือ หอประชุมที่มีโต๊ะบูชามีพระพุทธรูปประธาน และจัดอาสนะสงฆ์ให้เหมาะสม
       ค. พิธีการ ให้ผู้แสดงตน จุดธูปเทียนเปล่งวาจาบูชาพระรัตนตรัยว่า
           “อิมินา สกฺกาเรน, พุทฺธํ ปูเชมิ”
           (แปลว่า) “ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้” (กราบ)
           “อิมินา สกฺกาเรน, ธมฺมํ ปูเชมิ”
           (แปลว่า) “ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรมด้วยเครื่องสักการะนี้” (กราบ)
           “อิมินา สกฺกาเรน, สงฺฆํ ปูเชมิ”
           (แปลว่า) “ข้าพเจ้าขอบูชาพระสงฆ์ด้วยเครื่องสักการะนี้” (กราบ)
       จากนั้นเข้าไปสู่ที่ประชุมสงฆ์ ถวายพานเครื่องสักการะแก่พระอาจารย์ กราบ ๓ ครั้งแล้ว คงนั่งคุกเข่า กล่าวคำปฏิญาณว่า:
           “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” (๓ หน)
           “ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น” (๓ หน)
           “เอสาหํ ภนฺเต, สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ, ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ, พุทฺธมามโกติ มํ สงฺโฆ ธาเรตุ”
           แปลว่า
           “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพานนานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ
           ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นพุทธมามกะ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือผู้นับถือพระพุทธเจ้า”
           (ถ้าเป็นหญิงคนเดียวเปลี่ยน พุทฺธมามโกติ เป็น พุทฺธมามกาติ;
           ถ้าปฏิญญาณพร้อมกันหลายคน ชายเปลี่ยน เอสาหํ เป็น เอเต มยํ หญิงเป็น เอตา มยํ;
           และทั้งชายและหญิงเปลี่ยน คจฺฉามิ เป็น คจฺฉาม, พุทฺธมามโกติ เป็น พุทฺธมามกาติ, มํ เป็น โน)
       จากนั้นฟังพระอาจารย์ให้โอวาท จบแล้วรับคำว่า “สาธุ”
       ครั้นแล้วกล่าวคำอาราธนาเบญจศีลและสมาทานศีลพร้อมทั้งคำแปล จบแล้วกราบ ๓ หน ถวายไทยธรรม (ถ้ามี) แล้วกรวดน้ำเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา รับพรเสร็จแล้ว คุกเข่ากราบพระสงฆ์ ๓ ครั้ง เป็นเสร็จพิธี


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ บรรทัดที่ ๒๑๑๐ - ๒๑๑๐.
http://84000.org/tipitaka/dic/v_line.php?A=2110&Z=2110

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]