ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ เบญ ”             ผลการค้นหาพบ  3  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 3
ปัญจกะ - หมวด 5
Groups of Five
(including related groups)
[***] กัลยาณธรรม 5 ดู [239] เบญจธรรม.
[***] กามคุณ 5 ดู [6] กามคุณ 5.
[***] กำลัง 5 ของพระมหากษัตริย์ ดู [230] พละ 5 ของพระมหากษัตริย์

[216] ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม 5 หมวด ที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบ 5 อย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต — the Five Groups of Existence; Five Aggregates)
       1. รูปขันธ์ (กองรูป, ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย, ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด, สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ — corporeality)
       2. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา, ส่วนที่เป็นการเสวยอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ — feeling; sensation)
       3. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา, ส่วนที่เป็นความกำหนดหมาย, ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น — perception)
       4. สังขารขันธ์ (กองสังขาร, ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง, สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ, คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต — mental formations; volitional activities)
       5. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ, ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์, ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ 6 — consciousness)

       ขันธ์ 5 นี้ ย่อลงมาเป็น 2 คือ นาม และ รูป; รูปขันธ์จัดเป็นรูป, 4 ขันธ์ นอกนั้นเป็นนาม. อีกอย่างหนึ่ง จัดเข้าในปรมัตถธรรม 4 : วิญญาณขันธ์เป็น จิต, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ เป็น เจตสิก, รูปขันธ์ เป็น รูป, ส่วน นิพพาน เป็นขันธวินิมุต คือ พ้นจากขันธ์ 5

       เรื่องขันธ์ 5 พึงดูประกอบในหมวดธรรมอื่นๆ เช่น
       1. รูปขันธ์ ดู [38] รูป 2, 28; [39] มหาภูต 4; [40] อุปาทายรูป 24.
       2. เวทนาขันธ์ ดู [110] เวทนา 2; [111] เวทนา 3; [112] เวทนา 5; [113] เวทนา 6.
       3. สัญญาขันธ์ ดู [271] สัญญา 6.
       4. สังขารขันธ์ ดู [119] สังขาร 3; [120] สังขาร 3; [129] อภิสังขาร 3; [263] เจตนา 6.
       5. วิญญาณขันธ์ ดู [268] วิญญาณ 6.

       นอกนี้ ดู [356] จิตต์ 89; [355] เจตสิก 52

S.III.47;
Vbh.1.
สํ.ข. 17/95/58;
อภิ.วิ. 35/1/1.

[***] คติ 5 ดู [351] ภูมิ 4 หรือ 31.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 3
[238] ศีล 5 หรือ เบญจศีล (ความประพฤติชอบทางกายและวาจา, การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, การควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน — the Five Precepts; rules of morality)
       1. ปาณาติปาตา เวรมณี (เว้นจากการปลงชีวิต, เว้นจากการฆ่าการประทุษร้ายกัน — to abstain from killing)
       2. อทินฺนาทานา เวรมณี (เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เว้นจากการลักโกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ ทำลายทรัพย์สิน — to abstain from stealing)
       3. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (เว้นจากการประพฤติผิดในกาม, เว้นจากการล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน — to abstain from sexual misconduct)
       4. มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง — to abstain from false speech)
       5. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี (เว้นจากน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท, เว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษ — to abstain from intoxicants causing heedlessness)

       ศีล 5 ข้อนี้ ในบาลีชั้นเดิมส่วนมากเรียกว่า สิกขาบท 5 (ข้อปฏิบัติในการฝึกตน — training rules) บ้าง ธรรม 5 บ้าง เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล คือเป็นเบื้องต้นที่จัดว่าเป็นผู้มีศีล (virtuous) คำว่า เบญจศีล ที่มาในพระไตรปิฎก ปรากฏในคัมภีร์ชั้นอปทาน และพุทธวงส์ ต่อมาในสมัยหลัง มีชื่อเรียกเพิ่มขึ้นว่าเป็น นิจศีล (ศีลที่คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นประจำ — virtues to be observed uninterruptedly) บ้าง ว่าเป็น มนุษยธรรม (ธรรมของมนุษย์หรือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ — virtues of man) บ้าง

       ดู คำสมาทาน ใน Appendix

D.III.235;
A.III.203,275;
Vbh.285.
ที.ปา. 11/286/247;
องฺ.ปญฺจก. 22/172/227; 264/307;
อภิ.วิ. 35/77/388

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 3
[239] เบญจธรรม หรือ เบญจกัลยาณธรรม (ธรรม 5, ธรรมอันดีงามห้าอย่าง, คุณธรรมห้าประการ คู่กับเบญจศีล เป็นธรรมเกื้อกูลแก่การรักษาเบญจศีล ผู้รักษาเบญจศีลควรมีไว้ประจำใจ - the five ennobling virtues; virtues enjoined by the five precepts)
       1. เมตตาและกรุณา (ความรักใคร่ปรารถนาให้มีความสุขความเจริญ และความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ - loving-kindness and compassion) คู่กับศีลข้อที่ 1
       2. สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต - right means of livelihood) คู่กับศีลข้อที่ 2
       3. กามสังวร (ความสังวรในกาม, ความสำรวมระวังรู้จักยับยั้งควบคุมตนในทางกามารมณ์ ไม่ให้หลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส - sexual restraint) คู่กับศีลข้อที่ 3
       4. สัจจะ (ความสัตย์ ความซื่อตรง - truthfulness, sincerity) คู่กับศีลข้อที่ 4
       5. สติสัมปชัญญะ (ระลึกได้และรู้ตัวอยู่เสมอ คือ ฝึกตนให้เป็นคนรู้จักยั้งคิด รู้สึกตัวเสมอว่า สิ่งใดควรทำ และไม่ควรทำ ระวังมิให้เป็นคนมัวเมาประมาท - mindfulness and awareness; temperance) คู่กับศีลข้อที่ 5

       ข้อ 2 บางแห่งเป็น ทาน (การแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ - giving; generosity)
       ข้อ 3 บางแห่งเป็น สทารสันโดษ (ความพอใจด้วยภรรยาตน - contentment with one's own wife)
       ข้อ 5 บางแห่งเป็น อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท - heedfulness)
       เบญจธรรมนี้ ท่านผูกเป็นหมวดธรรมขึ้นภายหลัง จึงมีแปลกกันไปบ้าง เมื่อว่าโดยที่มา หัวข้อเหล่านี้ส่วนใหญ่ประมวลได้จากความท่อนท้ายของกุศลกรรมบถข้อต้นๆ

       ดู [318] กุศลกรรมบถ 10; [238] ศีล 5


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=เบญ
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%E0%BA%AD


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]