ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ พละ ”             ผลการค้นหาพบ  3  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 3
[228] พละ 5 (ธรรมอันเป็นกำลัง — power)
       1. สัทธา (ความเชื่อ — confidence)
       2. วิริยะ (ความเพียร — energy; effort)
       3. สติ (ความระลึกได้ — mindfulness)
       4. สมาธิ (ความตั้งจิตมั่น — concentration)
       5. ปัญญา (ความรู้ทั่วชัด — wisdom; understanding)

       ธรรม 5 อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อินทรีย์ 5 (ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของตน — controlling faculty) ที่เรียกว่า อินทรีย์ เพราะความหมายว่า เป็นใหญ่ในการกระทำหน้าที่แต่ละอย่างๆ ของตน คือเป็นเจ้าการ ในการครอบงำเสียซึ่งความไร้ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่าน และความหลงตามลำดับ ที่เรียกว่า พละ เพราะความหมายว่า เป็นพลังทำให้เกิดความมั่นคง ซึ่งความไร้ศรัทธาเป็นต้น แต่ละอย่าง จะเข้าครอบงำไม่ได้
       พละหมวดนี้เป็นหลักปฏิบัติทางจิตใจ ให้ถึงความหลุดพ้นโดยตรง

D.III.239;
A.III.10;
Vbh.342.
ที.ปา. 11/300/252;
องฺ.ปญฺจก. 22/13/11;
อภิ.วิ. 35/844/462

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 3
[229] พละ 4 (ธรรมอันเป็นกำลัง, ธรรมอันเป็นพลังทำให้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่หวั่นต่อภัยทุกอย่าง — strength; force; power)
       1. ปัญญาพละ (กำลังปัญญา — power of wisdom)
       2. วิริยพละ (กำลังความเพียร — power of energy or diligence)
       3. อนวัชชพละ (กำลังสุจริต หรือ กำลังความบริสุทธิ์, ตามศัพท์แปลว่า กำลังการกระทำที่ไม่มีโทษ คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมบริสุทธิ์ เช่นมีความประพฤติและหน้าที่การงานสุจริต ไม่มีข้อบกพร่องเสียหาย พูดจริง มีเหตุผล มุ่งดี ไม่รุกรานให้ร้ายใคร ทำการด้วยเจตนาบริสุทธิ์ — power of faultlessness, blamelessness or cleanliness)
       4. สังคหพละ (กำลังการสงเคราะห์ คือ การยึดเหนี่ยวน้ำใจคนและประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี — power of sympathy or solidarity) สงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ 4 คือ
           4.1 ทาน (การให้ปัน โดยปกติหมายถึง ช่วยเหลือในด้านทุนหรือปัจจัยเครื่องยังชีพ ตลอดจนเผื่อแผ่กันด้วยไมตรี อย่างเลิศหมายถึงธรรมทาน คือ แนะนำสั่งสอนให้ความรู้ความเข้าใจ จนเขารู้จักพึ่งตนเองได้ — gift; charity; benefaction)
           4.2 เปยยวัชชนะ (พูดจับใจ, = ปิยวาจา คือ พูดด้วยน้ำใจหวังดี มุ่งให้เป็นประโยชน์และรู้จักพูดให้เป็นผลดี ทำให้เกิดความเชื่อถือ สนิทสนม และเคารพนับถือกันอย่างเลิศหมายถึง หมั่นแสดงธรรม คอยช่วยชี้แจงแนะนำหลักความจริง ความถูกต้องดีงาม แก่ผู้ที่ต้องการ — kindly or salutary speech)
           4.3 อัตถจริยา (บำเพ็ญประโยชน์ คือ ช่วยเหลือรับใช้ ทำงานสร้างสรรค์ ประพฤติการที่เป็นประโยชน์ อย่างเลิศหมายถึง ช่วยเหลือส่งเสริมคนให้มีความเชื่อถือถูกต้อง (สัทธาสัมปทา) ให้ประพฤติดีงาม (สีลสัมปทา) ให้มีความเสียสละ (จาคสัมปทา) และให้มีปัญญา (ปัญญาสัมปทา) — friendly aid; doing good; life of service)
           4.4 สมานัตตตา (มีตนเสมอ คือ เสมอภาค ไม่เอาเปรียบ ไม่ถือสูงต่ำ ร่วมสุข ร่วมทุกข์ด้วย อย่างเลิศหมายถึง มีความเสมอกันโดยธรรม เช่น พระโสดาบันมีตนเสมอกับพระโสดาบัน เป็นต้น — equality; impartiality; participation)

       พละหมวดนี้ เป็นหลักประกันของชีวิต ผู้ประพฤติธรรม 4 นี้ย่อมดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ เพราะเป็นผู้มีพลังในตน ย่อมข้ามพ้นภัยทั้ง 4 คือ
       1. อาชีวิตภัย (ภัยเนื่องด้วยการครองชีพ — fear of troubles about livelihood)
       2. อสิโลกภัย (ภัยคือความเสื่อมเสียชื่อเสียง — fear of ill-fame)
       3. ปริสสารัชชภัย (ภัยคือความครั่นคร้ามเก้อเขินในที่ชุมนุม — fear of embarrassment in assemblies)
       4. มรณภัย (ภัยคือความตาย — fear of death)
       5. ทุคคติภัย (ภัยคือทุคติ — fear of a miserable life after death)

       ดู [186] สังคหวัตถุ 4

A.IV.363. องฺ.นวก. 23/209/376.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 3
[230] พละ 5 ของพระมหากษัตริย์ (พลังของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สามารถเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินได้ — strengths of a king)
       1. พาหาพลัง หรือ กายพลัง (กำลังแขน หรือกำลังกาย คือ ความแข็งแรงมีสุขภาพดี สามารถและชำนาญในการใช้แขนใช้มือใช้อาวุธ ตลอดจนมียุทโธปกรณ์พรั่งพร้อม — strength of arms)
       2. โภคพลัง (กำลังโภคสมบัติ คือ มีทุนทรัพย์บริบูรณ์ พร้อมที่จะใช้บำรุงเลี้ยงคนและดำเนินกิจการได้ไม่ติดขัด — strength of wealth)
       3. อมัจจพลัง (กำลังอมาตย์ หรือกำลังข้าราชการ คือ มีที่ปรึกษาและข้าราชการ ระดับบริหารที่ทรงคุณวุฒิเก่งกล้าสามารถ และจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน — strength of counsellors or ministers)
       4. อภิชัจจพลัง (กำลังความมีชาติสูง คือ กำเนิดในตระกูลสูง เป็นขัตติยชาติ ต้องด้วยความนิยมเชิดชูของมหาชน และได้รับการฝึกอบรมมาแล้วเป็นอย่างดีตามประเพณีแห่งชาติตระกูลนั้น — strength of high birth)
       5. ปัญญาพลัง (กำลังปัญญา คือ ทรงปรีชาญาณ หยั่งรู้เหตุผล ผิดชอบ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ สามารถวินิจฉัยเหตุการณ์ทั้งภายในภายนอก และดำริการต่างๆ ให้ได้ผลเป็นอย่างดี — strength of wisdom)

       กำลังแขน หรือกำลังกาย แม้จะสำคัญ แต่ท่านจัดว่าต่ำสุด หากไม่มีพลังอื่นควบคุมค้ำจุน อาจกลายเป็นกำลังอันธพาล ส่วนกำลังปัญญา ท่านจัดว่าเป็นกำลังอันประเสริฐ เป็นยอดแห่งกำลังทั้งปวง เพราะเป็นเครื่องกำกับ ควบคุม และนำทางกำลังอื่นทุกอย่าง

J.V.120 ขุ.ชา. 27/2444/532;
ชา.อ. 7/348.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พละ
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%BE%C5%D0


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]