ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
พรหมชาลสูตร

หน้าต่างที่ ๓ / ๖.

               พรรณนาเหตุที่ตั้งพระสูตร               
               บัดนี้ถึงลำดับโอกาสที่จะพรรณนาพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นแสดง โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าอื่นจะพึงติเราก็ดี ดังนี้. ก็การพรรณนาพระสูตรนี้นั้น เมื่อได้พิจารณาเหตุที่ทรงตั้งพระสูตรแล้วจึงกล่าวย่อมแจ่มแจ้ง ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักวิจารณ์เหตุที่ทรงตั้งพระสูตรเสียก่อน.
               ก็เหตุที่ทรงตั้งพระสูตรมี ๔ ประการ คือ
                         ๑. อัตตัชฌาสยะ เป็นไปตามพระอัธยาศัยของพระองค์
                         ๒. ปรัชฌาสยะ เป็นไปตามอัธยาศัยของผู้อื่น
                         ๓. ปุจฉาวสิกะ เป็นไปด้วยอำนาจการถาม
                         ๔. อัตถุปปัตติกะ เป็นไปโดยเหตุที่เกิดขึ้น
               ในบรรดาเหตุ ๔ ประการนั้น พระสูตรเหล่าใดที่คนเหล่าอื่นมิได้ทูลอาราธนา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาโดยพระอัธยาศัยของพระองค์แต่ลำพังอย่างเดียว มีอาทิอย่างนี้ คือ อากังเขยยสูตร วัตถสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร มหาสฬายตนวิภังคสูตร อริยวังสสูตร ส่วนแห่งสัมมัปปธานสูตร ส่วนแห่งอิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ และมรรค
               พระสูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีเหตุที่ทรงตั้งเป็นไปตามพระอัธยาศัยของพระองค์.
               อนึ่ง พระสูตรเหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยสามารถแห่งอัธยาศัยของผู้อื่น เล็งดูอัธยาศัยความพอใจ ความชอบใจ อภินิหารและภาวะที่จะตรัสรู้ได้ของชนเหล่าอื่นอย่างนี้ว่า ธรรมบ่มวิมุติของราหุลแก่กล้าแล้ว ถ้ากระไรเราพึงแนะนำราหุลในอาสวักขยธรรมให้สูงขึ้นดังนี้แล้ว มีอาทิอย่างนี้ คือ จุลลราหุโลวาทสูตร๑- มหาราหุโลวาทสูตร ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ธาตุวิภังคสูตร
____________________________
๑- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๗๙๕   สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๑๘๗

               พระสูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีเหตุทรงตั้งเป็นไปตามอัธยาศัยของผู้อื่น.
               อนึ่ง พระสูตรเหล่าใดที่เหล่าสัตว์ทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือบริษัท ๔ วรรณะ ๔ นาค ครุฑ คนธรรพ์ อสูร ยักษ์ ท้าวมหาราชเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นต้น และท้าวมหาพรหมพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามปัญหาโดยนัยมีอาทิว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าโพชฌงค์ โพชฌงค์๒- ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่านิวรณ์ นิวรณ์ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ห้าเหล่านี้หนอแล๓- ในโลกนี้ อะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐที่สุดของคน.๔-
               เมื่อถูกถามอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเทศนามีโพชฌงค์สังยุตเป็นต้น ก็หรือพระสูตรแม้อื่นเหล่าใด มีเทวตาสังยุต มารสังยุต พรหมสังยุต สักกปัญหสูตร จุลลเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สามัญญผลสูตร อาฬวกสูตร สูจิโลมสูตรเป็นต้น.
____________________________
๒- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๔๓๕   ๓- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๑๒๑
๔- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๘๔๐   ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๑๑

               พระสูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีเหตุที่ทรงตั้งเป็นไปด้วยอำนาจการถาม.
               อนึ่ง พระสูตรเหล่านั้นใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงตรัสเทศนา มีอาทิอย่างนี้ คือ ธรรมทายาทสูตร จุลลสีหนาทสูตร จันทูปมาสูตร ปุตตมังสูปมสูตร ทารุกขันธูปมสูตร อัคคิกขันธูปมสูตร เผณปิณฑูปมสูตร ปาริฉัตตกูปมสูตร.
               พระสูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีเหตุที่ทรงตั้งเป็นไปโดยเหตุที่เกิดขึ้น.
               ในบรรดาเหตุที่ทรงตั้งพระสูตร ๔ ประการ ดังพรรณนามานี้ พรหมชาลสูตรนี้มีเหตุที่ทรงตั้งเป็นไปโดยเหตุที่เกิดขึ้น.
               ก็พรหมชาลสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งในเพราะเหตุที่เกิดขึ้น.
               ในเพราะเหตุที่เกิดขึ้นอย่างไร?
               ในเพราะการสรรเสริญและการติเตียน คืออาจารย์ติเตียนพระรัตนตรัย ศิษย์ชมพระรัตนตรัย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นเทศนาโกศล ทรงทำการสรรเสริญและการติเตียนนี้ให้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ แล้วทรงเริ่มเทศนาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าอื่นจะพึงกล่าวติเราก็ดี ดังนี้.
               ประชุมบทเหล่านั้น บทว่า มมํ เป็นฉัฏฐีวิภัตติ เนื้อความเท่ากับ มม. วาศัพท์เป็นวิกัปปัตถะ.
               บทว่า ปเร ได้แก่เหล่าสัตว์ผู้เป็นข้าศึก. บทว่า ตฺตร ความว่า ในคนพวกที่กล่าวติเตียนเหล่านั้น.
               ด้วยคำว่า น อาฆาโต เป็นต้น ถึงแม้ว่าภิกษุเหล่านั้นไม่มีความอาฆาตเลยก็จริง ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงป้องกันมิให้อกุศลเกิดขึ้นในฐานะเช่นนี้แก่กุลบุตรทั้งหลายในกาลอนาคต จึงได้ทรงตั้งไว้เป็นธรรมเนียม.
               คำว่า อาฆาต ความอาฆาต ในพระบาลีนั้นมีวิเคราะห์ว่า เป็นที่มากระทบแห่งจิต. คำนี้เป็นชื่อของความโกรธ.
               คำว่า อปจฺจโย ความไม่แช่มชื่น มีวิเคราะห์ว่าเป็นเหตุให้ไม่เบิกบานใจ คือไม่ยินดี ไม่ดีใจ. คำนี้เป็นชื่อของโทมนัส.
               คำว่า อนภิรทฺธิ ความไม่อภิรมย์ใจ มีวิเคราะห์ว่าไม่ยินดีประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ไม่ยินดีประโยชน์เกื้อกูลแก่คนอื่นๆ. คำนี้เป็นชื่อของความโกรธ.
               บรรดาบททั้งสามนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสขันธ์สอง คือตรัสสังขารขันธ์ด้วยบททั้งสอง (อาฆาตและอนภิรทฺธิ) ตรัสเวทนาขันธ์ด้วยบทเดียว (อปจฺจโย) ด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยอำนาจแห่งขันธ์ทั้งสองนั้น ได้ตรัสปฏิเสธการทำหน้าที่แห่งสัมปยุตตธรรมแม้ที่เหลือทีเดียว. ครั้นทรงห้ามความเจ็บใจโดยนัยแรกอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงโทษในความเจ็บใจนั้นโดยนัยที่สอง จึงตรัสว่า ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคือง หรือจักน้อยใจในคนเหล่านั้น อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเป็นแน่ ดังนี้.
               ประชุมบทเหล่านั้น หลายบทว่า ตตฺร เจ ตุมฺเห อสฺสถ ความว่า หากว่าเธอทั้งหลายจะพึงขุ่นเคืองด้วยความโกรธ จะพึงน้อยใจด้วยความโทมนัสในพวกที่กล่าวติเตียนเหล่านั้น หรือในคำติเตียนนั้น.
               หลายบทว่า ตุมฺหญฺเญวสฺส เตน อนฺตราโย ความว่า อันตรายจะพึงมีแก่คุณธรรมทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น ด้วยความโกรธนั้นและด้วยความน้อยใจนั้น ของเธอทั้งหลายนั่นเอง.
               ครั้นทรงแสดงโทษโดยนัยที่สองอย่างนี้แล้ว เพื่อจะทรงแสดงว่า ผู้ที่น้อยใจเป็นผู้ไม่สามารถแม้ในเหตุเพียงกำหนดเนื้อความของถ้อยคำโดยนัยที่สาม จึงตรัสว่า เธอทั้งหลายจะพึงรู้คำที่เป็นสุภาษิต หรือคำที่เป็นทุพภาษิตของคนเหล่าอื่นได้ละหรือ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปเรสํ ความว่า ก็คนมักโกรธ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงเนื้อความของคำที่เป็นสุภาษิตและคำที่เป็นทุพภาษิตของคนพวกใดพวกหนึ่ง คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวก หรือมารดาบิดา หรือคนที่เป็นข้าศึกได้เลย.
               อย่างที่ตรัสไว้ว่า๕-
                         คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ คนโกรธย่อมไม่เห็นธรรม
                         เมื่อนรชนถูกความโกรธครอบงำ ย่อมมืดตื้อทันที
                         ความโกรธก่อให้เกิดความพินาศ ความโกรธทำให้
                         จิตกำเริบ ชนไม่รู้จักความโกรธซึ่งเป็นภัยเกิดในจิต

                         ดังนี้.
____________________________
๕- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๑

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงห้ามความเจ็บใจในเพราะการติเตียน แม้โดยประการทั้งปวงอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงอาการที่ควรปฏิบัติ จึงได้ตรัสคำมีอาทิว่า ในคำที่เขากล่าวติเตียนนั้น คำที่ไม่จริง เธอทั้งหลายควรแก้ให้เห็นโดยความไม่เป็นจริง ดังนี้.
               ประชุมบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺร ตุมฺเหหิ ความว่า ในคำที่เขากล่าวติเตียนนั้น เธอทั้งหลาย. บทว่า อภูตํ อภูตโต นิพฺเพเธตพฺพํ ความว่า คำใดที่ไม่จริง คำนั้น เธอทั้งหลายพึงแยกโดยความไม่เป็นจริงทีเดียว.๖- แก้อย่างไร? พึงแก้โดยนัยมีอาทิว่า นั่นไม่จริง แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้.
____________________________
๖- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑

               ในข้อนั้น มีคำประกอบดังต่อไปนี้
               เธอทั้งหลายได้ฟังเขาพูดว่า ศาสดาของพวกท่านไม่ใช่พระสัพพัญญู พระธรรมอันศาสดาของพวกท่านกล่าวแล้วชั่ว พระสงฆ์ปฏิบัติชั่ว ดังนี้เป็นต้น ไม่ควรนิ่งเสีย แต่ควรกล่าวแก้เขาอย่างนี้ว่า นั่นไม่จริงแม้เพราะเหตุนี้ คือคำที่พวกท่านกล่าวนั้นไม่จริงแม้เพราะเหตุนี้ ไม่แท้แม้เพราะเหตุนี้ ข้อนี้ไม่มีในพวกเรา และก็หาไม่ได้ในพวกเรา พระศาสดาของพวกเราเป็นพระสัพพัญญูจริง พระธรรมพระองค์ตรัสดีแล้ว พระสงฆ์ปฏิบัติดีแล้ว ในข้อนั้นมีเหตุดังนี้ๆ.
               ในบทเหล่านี้ บทที่สองพึงทราบว่าเป็นไวพจน์ของบทที่หนึ่ง บทที่สี่พึงทราบว่าเป็นไวพจน์ของบทที่สาม. และควรทำการแก้ในการติเตียนเท่านั้นดังนี้ ไม่ต้องแก้ทั่วไป. แต่ถ้าเมื่อถูกเขากล่าวว่า ท่านเป็นคนทุศีล อาจารย์ของท่านเป็นคนทุศีล สิ่งนี้ๆ ท่านได้กระทำแล้ว อาจารย์ของท่านได้กระทำแล้ว ดังนี้ ก็ทนนิ่งอยู่ได้ ย่อมเป็นที่หวาดเกรงแก่ผู้กล่าวฉะนั้น ไม่ต้องทำความขุ่นใจ แก้ไขการติเตียน ส่วนบุคคลที่ด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ โดยนัยว่า อ้ายอูฐ อ้ายวัวเป็นต้น ควรวางเฉยเสีย ใช้อธิวาสนขันติอย่างเดียวในบุคคลนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงลักษณะของผู้คงที่ในฐานะแห่งการติเตียนอย่างนี้แล้ว บัดนี้ มีพระพุทธประสงค์จะทรงแสดงลักษณะของผู้คงที่ในฐานะแห่งการสรรเสริญ จึงตรัสพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ดังนี้เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น คำว่า คนเหล่าอื่น ได้แก่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้เลื่อมใสเหล่าใดเหล่าหนึ่ง.
               คำว่า เพลิดเพลิน มีวิเคราะห์ว่า เป็นเหตุมายินดีแห่งใจ. คำนี้เป็นชื่อของปีติ.
               ภาวะแห่งใจดี ชื่อว่า โสมนัส. คำว่า โสมนัสนี้เป็นชื่อของความสุขทางจิต.
               ภาวะแห่งบุคคลผู้เบิกบาน ชื่อว่า ความเบิกบาน
               ถามว่า ความเบิกบานของอะไร?
               ตอบว่า ของใจ.
               คำว่า ความเบิกบาน นี้เป็นชื่อของปีติอันทำให้เบิกบาน นำมาซึ่งความฟุ้งซ่าน.
               แม้ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสสังขารขันธ์ด้วยบททั้งสอง ตรัสเวทนาขันธ์ด้วยบทเดียว ด้วยประการฉะนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงห้ามความเบิกบานโดยนัยที่หนึ่งอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงโทษในความเบิกบานนั้นโดยนัยที่สอง จึงได้ตรัสคำมีอาทิว่า ถ้าเธอทั้งหลายจักเพลิดเพลิน จักดีใจ จักเบิกบานใจในคำชมนั้น อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเป็นแน่ดังนี้.
               แม้ในที่นี้ ก็พึงทราบเนื้อความว่า บทว่า ตุมฺหญฺเญวสฺส เตน อนฺตราโย ความว่า อันตรายจะพึงมีแก่คุณธรรมทั้งหลาย มีปฐมฌานเป็นต้นของเธอทั้งหลายนั่นเอง เพราะความเบิกบานนั้น.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไรจึงตรัสดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญปีติ และโสมนัสในพระรัตนตรัยนั่นเทียว โดยพระสูตรหลายร้อยสูตร มีอาทิอย่างนี้ว่า ผู้ที่ประกาศว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ เกิดปีติไปทั่วกาย ก็ปีตินั้นประเสริฐกว่าชมพูทวีปเสียอีก
               และว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศดังนี้ มิใช่หรือ?
               ตอบว่า ตรัสสรรเสริญไว้จริง แต่ปีติและโสมนัสนั้นเกี่ยวกับเนกขัมมะในที่นี้ทรงประสงค์ปีติและโสมนัสที่เนื่องด้วยการครองเรือนอย่างที่เกิดขึ้นแก่ท่านพระฉันนะ โดยนัยว่า พระพุทธเจ้าของเรา พระธรรมของเรา ดังนี้เป็นต้น. ด้วยว่า ปีติและโสมนัสที่เนื่องด้วยการครองเรือนนี้ ย่อมกระทำอันตรายแก่การบรรลุฌาน เป็นต้น. ด้วยเหตุนั้นแหละ แม้ท่านพระฉันนะจึงไม่สามารถที่จะทำคุณวิเศษให้บังเกิดได้ตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จปรินิพพาน. แต่ท่านได้ถูกคุกคามด้วยพรหมทัณฑ์ที่ทรงบัญญัติไว้ในปรินิพพานสมัย ละปีติและโสมนัสนั้นได้แล้ว จึงยังคุณวิเศษให้บังเกิดได้. เพราะฉะนั้น พึงทราบว่าปีติและโสมนัสที่ตรัสแล้วนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายปีติและโสมนัสที่ทำอันตรายเท่านั้น.
               ก็ปีตินี้ที่เกิดพร้อมกับความโลภ และความโลภก็เช่นกับความโกรธนั่นเอง.
               อย่างที่ตรัสไว้ว่า๗-
                         คนโลภย่อมไม่รู้อรรถ คนโลภย่อมไม่เห็นธรรม
                         เมื่อนรชนถูกความโลภครอบงำ ย่อมมืดตื้อทันที
                         ความโลภก่อให้เกิดความพินาศ ความโลภทำให้จิต
                         อยากได้ ชนไม่รู้จักความโลภนั้นซึ่งเป็นภัยเกิดใน
                         ภายใน
ดังนี้.
____________________________
๗- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๖๘

               ก็วาระที่สามแม้ไม่ได้มาในที่นี้ ก็พึงทราบว่า มาแล้วโดยอรรถะเหมือนกัน. แม้คนโลภก็ไม่รู้อรรถเหมือนอย่างคนโกรธ.
               ในวาระแห่งการแสดงอาการที่จะพึงปฏิบัติ มีคำประกอบดังต่อไปนี้
               เธอทั้งหลายได้ฟังเขาพูดว่า พระศาสดาของท่านทั้งหลายเป็นพระสัพพัญญู เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระองค์ตรัสดีแล้ว พระสงฆ์ปฏิบัติดีแล้วดังนี้เป็นต้น ไม่ควรนิ่งเสีย แต่ควรยืนยันอย่างนี้ว่า คำที่พวกท่านพูดนั้นเป็นคำจริงแม้เพราะเหตุนี้ เป็นคำแท้แม้เพราะเหตุนี้ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์แม้เพราะเหตุนี้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เพราะเหตุนี้ พระธรรมอันพระองค์ตรัสดีแล้วแม้เพราะเหตุนี้ เป็นพระธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเองแม้เพราะเหตุนี้ พระสงฆ์ปฏิบัติดีแล้วแม้เพราะเหตุนี้ ปฏิบัติตรงแม้เพราะเหตุนี้ดังนี้ แม้ถูกถามว่า ท่านมีศีลหรือ? ถ้ามีศีลก็พึงยืนยันว่า เราเป็นผู้มีศีล ดังนี้ทีเดียว แม้ถูกถามว่า ท่านเป็นผู้ได้ปฐมฌานหรือ? ฯ ล ฯ ท่านเป็นพระอรหันต์หรือ? ดังนี้ พึงยืนยันเฉพาะแก่ภิกษุทั้งหลายที่เป็นสภาคกันเท่านั้น.
               ก็ด้วยการปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้ ย่อมเป็นอันละเว้นความเป็นผู้ปรารถนาลามก และย่อมเป็นอันแสดงความที่พระศาสนาไม่เป็นโมฆะดังนี้.
               คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.

               พรรณนาอนุสนธิเริ่มต้น               
               อนุสนธิเริ่มต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใด นั่นมีประมาณน้อยนัก ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีลดังนี้.
               พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มด้วยบทสองบท คือการสรรเสริญและการติเตียน.
               ในสองประการนั้น การติเตียนต้องยับยั้งไว้ เหมือนไฟพอถึงน้ำก็ดับฉะนั้น อย่างในคำนี้ว่า นั่นไม่จริง เพราะเหตุนี้ นั่นไม่แท้แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้.
               ส่วนการสรรเสริญก็ควรยืนยันที่เป็นจริงว่า เป็นจริง คล้อยตามไปอย่างนี้ทีเดียวว่า นั่นเป็นจริงแม้เพราะเหตุนี้. ก็คำสรรเสริญนั้นมีสองอย่าง คือ คำสรรเสริญที่พรหมทัตมาณพกล่าวอย่างหนึ่ง คำสรรเสริญที่ภิกษุสงฆ์ปรารถโดยนัยมีอาทิว่า ท่านทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ ดังนี้ อย่างหนึ่ง.
               ในสองอย่างนั้น คำสรรเสริญที่ภิกษุสงฆ์กล่าว พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงแสดงอนุสนธิในการประกาศความว่างเปล่าข้างหน้า แต่ในที่นี้มีพุทธประสงค์จะทรงแสดงอนุสนธิ คำสรรเสริญที่พรหมทัตมาณพกล่าว จึงทรงเริ่มเทศนาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใด นั่นมีประมาณน้อยนัก ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีล ดังนี้.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า มีประมาณน้อย เป็นชื่อของสิ่งเล็กน้อย คำว่า ยังต่ำนัก เป็นไวพจน์ของคำว่า มีประมาณน้อย. ขนาดเรียกว่าประมาณ. ชื่อว่ามีประมาณน้อย เพราะมีประมาณน้อย. ชื่อว่ายังต่ำนัก เพราะมีประมาณต่ำ. ชื่อว่าเป็นเพียงศีล คือศีลนั่นเอง.
               มีอธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต แม้กระทำอุตสาหะว่าเราจะกล่าวชม จะพึงกล่าวชมด้วยประการใด นั่นมีประมาณน้อยนัก เป็นเพียงศีล ดังนี้.
               ในข้อนั้น หากจะพึงมีคำถามว่า ธรรมดาว่าศีลนี้เป็นเครื่องประดับอันเลิศของพระโยคี ดังที่พระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า
                         ศีลเป็นอลังการของพระโยคี ศีลเป็นเครื่องประดับ
                         ของพระโยคี พระโยคีผู้ตกแต่งด้วยศีลทั้งหลาย
                         ถึงความเป็นผู้เลิศในการประดับ ดังนี้.
               อนึ่ง แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสศีล ทรงกระทำให้ยิ่งใหญ่ทีเดียวในพระสูตรหลายร้อยสูตร อย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายดังนี้ ก็พึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลายทีเดียว๑- ดังนี้
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๗๔

               และว่า
                         นกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ฉันใด จามรีรักษาขนหางฉันใด
                         คนมีบุตรคนเดียวรักษาบุตรผู้เป็นที่รักฉันใด
                         คนมีนัยน์ตาข้างเดียว รักษานัยน์ตาที่ยังเหลืออีกข้างฉันใด
                         ท่านทั้งหลายจงตามรักษาศีลเหมือนฉันนั้นทีเดียว
                         จงเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักด้วยดี มีความเคารพทุกเมื่อเถิด ดังนี้
               และว่า
                         กลิ่นดอกไม้ไม่ฟุ้งทวนลม จันทน์หรือกฤษณา และมะลิซ้อน
                         ก็ไม่ฟุ้งทวนลม แต่กลิ่นสัตบุรุษย่อมฟุ้งทวนลม สัตบุรุษย่อม
                         ฟุ้งไปได้ทุกทิศ.๒-
                         จันทน์ก็ดี กฤษณาก็ดี อุบลก็ดี มะลิก็ดี กลิ่นคือศีลยอดเยี่ยม
                         กว่าบรรดาคันธชาตเหล่านั้น.
                         กลิ่นกฤษณาและจันทน์นี้มีประมาณน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีล
                         เป็นกลิ่นสูงสุด ฟุ้งไปในทวยเทพทั้งหลาย.
                         มารย่อมไม่พบทางของท่านเหล่านั้น ผู้มีศีลสมบูรณ์ มีปกติอยู่
                         ด้วยความไม่ประมาท หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ.๓-
                         ภิกษุเป็นนระผู้มีปัญญา ตั้งอยู่ในศีลแล้ว ยังจิตและปัญญาให้
                         เจริญอยู่ ผู้มีความเพียร มีปัญญารักษาตนนั้น พึงสางชัฏนี้ได้๔-
                         ดังนี้
____________________________
๒- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๑๙   ๓- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๔   ๔- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๑

               และว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พีชคามและภูตคามเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พีชคามและภูตคามเหล่านั้นทั้งหมดอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่บนแผ่นดิน จึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้อย่างนี้ มีอุปมาแม้ฉันใด
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล เจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ ย่อมถึงความเป็นใหญ่หรือความไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ก็อุปไมยฉันนั้นเหมือนกัน๕- ดังนี้.
____________________________
๕- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๓๕๕

               พระสูตรแม้อื่นๆ อีกไม่น้อย ก็พึงเห็นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสศีล ทรงกระทำให้ยิ่งใหญ่ทีเดียวในพระสูตร หลายร้อยสูตรอย่างนี้มิใช่หรือ เหตุไฉน ในที่นี้จึงตรัสศีลนั้นว่ามีประมาณน้อยเล่า?
               ตอบว่า เพราะทรงเทียบเคียงคุณชั้นสูง. ด้วยว่า ศีลยังไม่ถึงสมาธิ สมาธิยังไม่ถึงปัญญาฉะนั้น ทรงเทียบเคียงคุณสูงๆ ขึ้นไป ศีลอยู่เบื้องล่าง จึงชื่อว่ายังต่ำนัก.

               ศีลยังไม่ถึงสมาธิ เป็นอย่างไร?               
               คือว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ในปีที่ ๗ นับแต่ตรัสรู้ ได้ประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์ประมาณโยชน์หนึ่ง ในรัตนมณฑปประมาณ ๑๒ โยชน์ ณ ควงต้นคัณฑามพฤกษ์ ใกล้ประตูนครสาวัตถี เมื่อเทพยดากางกั้นทิพยเศวตฉัตรประมาณ ๓ โยชน์ ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ย่ำยีเดียรถีย์ซึ่งแสดงการทรงถือเอาเป็นส่วนพระองค์ ในบริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์ คือ ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์อันเป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า ท่อไฟพวยพุ่งออกจากพระวรกายส่วนบน สายน้ำไหลออกจากพระวรกายส่วนล่าง ฯลฯ ท่อไฟพวยพุ่งออกจากขุมพระโลมาแต่ละขุมๆ สายน้ำไหลออกจากขุมพระโลมาแต่ละขุม มีวรรณะ ๖ ประการ ดังนี้.
               พระรัศมีมีวรรณะดุจทองคำพุ่งขึ้นจากพระสรีระอันมีวรรณะดังทองคำของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นไปจนถึงภวัคพรหม เป็นประหนึ่งกาลเป็นที่ประดับหมื่นจักรวาลทั้งสิ้น. รัศมีอย่างที่สองๆ กับอย่างแรกๆ เหมือนเป็นคู่ๆ พวยพุ่งออกราวกะว่าในขณะเดียวกัน.
               อันชื่อว่าจิตสองดวงจะเกิดในขณะเดียวกัน ย่อมมีไม่ได้. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ทรงมีการพักภวังคจิตเร็ว และทรงมีความชำนาญที่สั่งสมไว้โดยอาการ ๕ อย่าง ดังนั้น พระรัศมีเหล่านั้นจึงเป็นไปราวกะว่าในขณะเดียวกัน.
               แต่พระรัศมีนั้นๆ ยังมีอาวัชชนะ บริกรรมและอธิษฐาน แยกกันอยู่นั่นเอง คือพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์รัศมีสีเขียวก็ทรงเข้าฌานมีนีลกสิณเป็นอารมณ์ มีพระพุทธประสงค์รัศมีสีเหลืองก็ทรงเข้าฌานมีปีตกสิณเป็นอารมณ์ มีพระพุทธประสงค์รัศมีสีแดงและสีขาว ก็ทรงเข้าฌานมีโลหิตกสิณเป็นอารมณ์ โอทาตสิณเป็นอารมณ์ มีพระพุทธประสงค์ท่อไฟก็ทรงเข้าฌานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ มีพระพุทธประสงค์สายน้ำก็ทรงเข้าฌานมีอาโปกสิณเป็นอารมณ์.
               พระศาสดาเสด็จจงกรม พระพุทธนฤมิตก็ประทับยืน หรือประทับนั่ง หรือบรรทม.๑-
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๘๔

               บัณฑิตพึงอธิบายให้พิสดารทุกบท ด้วยประการฉะนี้.
               ในข้อนี้ กิจแห่งศีลแม้อย่างเดียวก็ไม่มี ทุกอย่างเป็นกิจของสมาธิทั้งนั้น.
               ศีลไม่ถึงสมาธิ เป็นอย่างนี้.
               อนึ่งเล่า ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปแล้ว เมื่อกาลที่ทรงมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา เสด็จออกจากที่ประทับอันเป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นสิริแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ผนวช ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงบำเพ็ญเพียรตลอด ๖ พรรษา.
               ครั้นถึงวันวิสาขบุรณมี ดิถีเพ็ญเดือน ๖ เสวยมธุปายาสใส่ทิพยโอชาซึ่งนางสุชาดา บ้านอุรุเวลคามถวาย เวลาสายัณหสมัย เสด็จเข้าไปยังโพธิมัณฑสถานทางทิศทักษิณ และทิศอุดร ทรงทำประทักษิณพญาไม้โพธิใบ ๓ รอบ แล้วประทับยืน ณ เบื้องทิศอีสาน ทรงลาดสันถัตหญ้า ทรงขัดสมาธิสามชั้น ทรงทำกรรมฐานมีเมตตาเป็นอารมณ์อันประกอบด้วยองค์ ๔ ให้เป็นเบื้องต้น ทรงอธิษฐานความเพียร เสด็จขึ้นสู่บัลลังก์อันประเสริฐ ๑๔ ศอก ผินพระปฤษฎางค์สู่ลำต้นโพธิ์อันสูง ๕๐ ศอก ราวกะต้นเงินที่ตั้งอยู่บนตั่งทอง ณ เบื้องบนมีกิ่งโพธิ์กางกั้นอยู่ราวกะฉัตรแก้วมณี มีหน่อโพธิ์ซึ่งคล้ายแก้วประพาฬหล่นลงที่จีวรซึ่งมีสีเหมือนทอง ยามพระอาทิตย์ใกล้จะอัสดงคต ทรงกำจัดมารและพลมารได้แล้ว ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณในปฐมยาม ทรงชำระทิพยจักษุในมัชฌิมยาม ครั้นเวลาปัจจุสสมัยใกล้รุ่ง ทรงหยั่งพระปรีชาญาณลงในปัจจยาการที่พระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสั่งสมกันมา ยังจตุตถฌานมีอานาปานสติเป็นอารมณ์ให้บังเกิด ทรงทำจตุตถฌานนั้นให้เป็นบาท ทรงเจริญวิปัสสนา ทรงยังกิเลสทั้งปวงให้สิ้นไปด้วยมรรคที่ ๔ ที่พระองค์ทรงบรรลุแล้ว ตามลำดับแห่งมรรค ทรงแทงตลอดพระพุทธคุณทั้งปวง.
               นี้เป็นกิจแห่งปัญญาของพระองค์. สมาธิไม่ถึงปัญญา เป็นอย่างนี้.
               ในข้อนั้น น้ำในมือยังไม่ถึงน้ำในถาด น้ำในถาดยังไม่ถึงน้ำในหม้อ น้ำในหม้อยังไม่ถึงน้ำในไห น้ำในไหยังไม่ถึงน้ำในตุ่ม น้ำในตุ่มยังไม่ถึงน้ำในหม้อใหญ่ น้ำในหม้อใหญ่ยังไม่ถึงน้ำในบ่อ น้ำในบ่อยังไม่ถึงน้ำในลำธาร น้ำในลำธารยังไม่ถึงน้ำในแม่น้ำน้อย น้ำในแม่น้ำน้อยยังไม่ถึงน้ำในปัญจมหานที น้ำในปัญจมหานทียังไม่ถึงน้ำในมหาสมุทรจักรวาล น้ำในมหาสมุทรจักรวาลยังไม่ถึงน้ำในมหาสมุทรเชิงเขาสิเนรุ น้ำในมือเทียบน้ำในถาดก็นิดหน่อย ฯลฯ น้ำในมหาสมุทรจักรวาลเทียบน้ำในมหาสมุทรเชิงเขาสิเนรุ ก็นิดหน่อย ฉะนั้น น้ำในเบื้องต้นๆ ถึงมาก ก็เป็นน้ำนิดหน่อย โดยเทียบกับน้ำในเบื้องต่อๆ ไป ด้วยประการฉะนี้
               ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ศีลในเบื้องล่างก็มีอุปไมยฉันนั้นนั่นเทียว พึงทราบว่า มีประมาณน้อย ยังต่ำนัก โดยเทียบกับคุณในเบื้องบนๆ.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคตจะพึงกล่าวด้วยประการใด นั่นมีประมาณน้อยนัก ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีล ดังนี้.

               อธิบายคำว่า ปุถุชน               
               ในคำว่า เยน ปุถุชโน นี้ มีคำอธิบาย ดังต่อไปนี้
               พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ตรัสว่า ปุถุชนมี ๒ พวก คือ อันธปุถุชน ๑ กัลยาณปุถุชน ๑ ดังนี้. ในปุถุชนมี ๒ พวกนั้น บุคคลผู้ไม่มีการเรียน การสอบสวน การฟัง การทรงจำและการพิจารณาในขันธ์ ธาตุและอายตนะเป็นต้น นี้ชื่อว่าอันธปุถุชน. บุคคลผู้มีกิจเหล่านั้น ชื่อว่ากัลยาณปุถุชน.
               อนึ่ง ปุถุชนทั้ง ๒ พวกนี้ ชื่อว่าปุถุชน ด้วยเหตุทั้งหลาย มีการยังกิเลสมากมายให้เกิดเป็นต้น ชนนี้เป็นพวกหนึ่ง เพราะหยั่งลงภายในของปุถุชน ดังนี้.
               จริงอยู่ ปุถุชนนั้น ชื่อว่าปุถุชน ด้วยเหตุเป็นต้นว่า ยังกิเลสเป็นต้นมีประการต่างๆ มากมายให้เกิด. อย่างที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระกล่าวไว้ว่า๑- ชื่อว่าปุถุชน เพราะยังกิเลสมากมายให้เกิด. เพราะยังกำจัดสักกายทิฏฐิมากมายไม่ได้. เพราะส่วนมากคอยแต่แหงนมองหน้าครูทั้งหลาย. เพราะส่วนมากออกไปจากคติทั้งปวงไม่ได้. เพราะส่วนมากสร้างบุญบาปต่างๆ. เพราะส่วนมากถูกโอฆะต่างๆ พัดไป ถูกความเดือดร้อนให้เดือดร้อน ถูกความเร่าร้อนให้เร่าร้อน กำหนัด ยินดี รักใคร่ สยบ หมกมุ่น ข้อง ติด พัวพัน อยู่ในเบญจกามคุณ. เพราะถูกนิวรณ์ ๕ กางกั้น กำบัง เคลือบ ปกปิด ครอบงำ. เพราะหยั่งลงภายในชนจำนวนมากซึ่งนับไม่ถ้วน ล้วนแต่เบือนหน้าหนีอริยธรรม มีแต่ประพฤติธรรมที่เลวทราม ดังนี้ก็มี. เพราะชนนี้เป็นพวกหนึ่ง คือถึงการนับว่าเป็นต่างหากทีเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับอริยชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลและสุตะเป็นต้น ดังนี้ก็มี.
____________________________
๑- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๔๓๐

               คำว่า ตถาคต มีความหมาย ๘ อย่าง               
               บทว่า ตถาคตสฺส ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต ด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ
               ๑. เพราะเสด็จมาอย่างนั้น
               ๒. เพราะเสด็จไปอย่างนั้น
               ๓. เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้
               ๔. เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้จริง ตามที่เป็นจริง
               ๕. เพราะทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริง
               ๖. เพราะมีพระวาจาที่แท้จริง
               ๗. เพราะทรงกระทำเองและให้ผู้อื่นกระทำ
               ๘. เพราะทรงครอบงำ
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างนั้น เป็นอย่างไร?
               เหมือนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทรงขวนขวายเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งปวงเสด็จมาแล้ว
               เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระวิปัสสีเสด็จมา
               เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระสิขีเสด็จมา
               เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระเวสสภูเสด็จมา
               เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระกกุสันธะเสด็จมา
               เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระโกนาคมน์เสด็จมา
               เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระกัสสปะเสด็จมา.
               ข้อนี้มีอธิบายอย่างไร?
               มีอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นเสด็จมาด้วยอภินิหารใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของเราทั้งหลายก็เสด็จมาด้วยอภินิหารนั้นเหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระวิปัสสี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคพระกัสสปะ ทรงบำเพ็ญทานบารมี ทรงบำเพ็ญศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมีและอุเบกขาบารมี ทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศเหล่านี้ คือบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ ประการ คือ บริจาคอวัยวะ บริจาคทรัพย์ บริจาคลูก บริจาคเมีย บริจาคชีวิต ทรงบำเพ็ญบุพประโยค บุพจริยา การแสดงธรรมและญาตัตถจริยาเป็นต้น ทรงถึงที่สุดแห่งพุทธจริยา เสด็จมาแล้วอย่างใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของเราทั้งหลายก็เสด็จมาเหมือนอย่างนั้น.
               อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระวิปัสสี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคพระกัสสปะ ทรงเจริญเพิ่มพูนสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เสด็จมาแล้วอย่างใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของเราทั้งหลายก็เสด็จมาเหมือนอย่างนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างนั้น เป็นอย่างนี้.
                         พระมุนีทั้งหลายมีพระวิปัสสีเป็นต้น เสด็จมาสู่ความเป็น
                         พระสัพพัญญูในโลกนี้อย่างใด แม้พระศากยมุนีนี้ก็เสด็จ
                         มาเหมือนอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีจักษุจึงทรงพระ
                         นามว่า ตถาคต ดังนี้.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างนั้น เป็นอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้น เป็นอย่างไร?
               เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระวิปัสสี ประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นก็เสด็จไป ฯลฯ เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระกัสสปะ ประสูตในบัดเดี๋ยวนั้นก็เสด็จไป.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเสด็จไปอย่างไร?
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นเอง ประทับยืนบนปฐพีด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เสด็จไปโดยย่างพระบาท ๗ ก้าว ดังพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนอานนท์ พระโพธิสัตว์ประสูตรบัดเดี๋ยวนั้น ก็ประทับยืนด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เสด็จไปโดยย่างพระบาท ๗ ก้าว เมื่อท้าวมหาพรหมกั้นพระเศวตฉัตร ทรงเหลียวดูทั่วทิศ ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า
                         เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้ที่สุดในโลก
                         เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก
                         การเกิดครั้งนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย
                         บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีต่อไป ดังนี้.
๑-
____________________________
๑- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๖

               และการเสด็จไปของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็ได้เป็นอาการอันแท้ ไม่แปรผันด้วยความเป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุคุณวิเศษหลายประการ คือ ข้อที่พระองค์ประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นเอง ก็ได้ประทับยืนด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน นี้เป็นบุพนิมิตแห่งการได้อิทธิบาท ๔ ของพระองค์.
               อนึ่ง ความที่พระองค์บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดรเป็นบุพนิมิตแห่งความเป็นโลกุตตรธรรมทั้งปวง. การย่างพระบาท ๗ ก้าวเป็นบุพนิมิตแห่งการได้รัตนะ คือโพชฌงค์ ๗ ประการ.
               อนึ่ง การยกพัดจามรขึ้นที่กล่าวไว้ในคำนี้ว่า พัดจามรทั้งหลาย มีด้ามทองก็โบกสะบัด นี้เป็นบุพนิมิตแห่งการย่ำยีเดียรถีย์ทั้งปวง.
               อนึ่ง การกั้นพระเศวตฉัตร เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เศวตฉัตรอันบริสุทธิ์ ประเสริฐ คือพระอรหัตตวิมุตติธรรม. การประทับยืนบนก้าวที่ ๗ ทอดพระเนตรเหลียวดูทั่วทิศ เป็นบุพนิมิตแห่งการได้พระอนาวรญาณ คือความเป็นพระสัพพัญญู. การเปล่งอาสภิวาจา เป็นบุพนิมิตแห่งการประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐอันใครๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ก็เสด็จไปเหมือนอย่างนั้น และการเสด็จไปของพระองค์นั้นก็ได้เป็นอาการอันแท้ ไม่แปรผันด้วยความเป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุคุณวิเศษเหล่านั้นแล.
               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                         พระควัมบดีโคดมนั้นประสูติแล้วในบัดเดี๋ยวนั้น
                         ก็ทรงสัมผัสพื้นดินด้วยพระยุคลบาทสม่ำเสมอ
                         เสด็จย่างพระบาทไปได้ ๗ ก้าว และฝูงเทพยดา
                         เจ้าก็กางกั้นเศวตฉัตร พระโคดมนั้น ครั้นเสด็จ
                         ไปได้ ๗ ก้าว ก็ทอดพระเนตรไปรอบทิศเสมอกัน
                         ทรงเปล่งพระสุรเสียงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
                         ปานดังราชสีห์ยืนอยู่บนยอดบรรพตฉะนั้น ดังนี้.

                พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต แม้เพราะเสด็จไปอย่างนั้น เป็นอย่างนี้.
               อีกนัยหนึ่ง เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระวีปัสสีเสด็จไปแล้ว ฯลฯ พระผู้มีพระภาคพระกัสสปะเสด็จไปแล้วฉันใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ก็เหมือนฉันนั้นทีเดียว
               ทรงละกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ เสด็จไปแล้ว ทรงละพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท ทรงละถีนมิทธะด้วยอาโลกสัญญา ทรงละอุทธัจจกุกกุจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ทรงละวิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรม เสด็จไปแล้ว
               ทรงทำลายอวิชชาด้วยพระปรีชาญาณ ทรงบรรเทาอรติด้วยความปราโมทย์ ทรงเปิดบานประตูคือนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน ทรงยังวิตกและวิจารณ์ให้สงบด้วยทุติยฌาน ทรงหน่ายปีติด้วยตติยฌาน ทรงละสุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน ทรงก้าวล่วงรูปสัญญา ปฏิฆสัญญาและนานัตตสัญญาด้วยอากาสานัญจายสมาบัติ ทรงก้าวล่วงอากาสานัญจายสัญญาด้วยวิญญาณัญจาสมาบัติ ทรงก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนสัญญาด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ทรงก้าวล่วงอากิญจัญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เสด็จไปแล้ว
               ทรงละนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสนา ทรงละสุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสนา ทรงละอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสนา ทรงละความเพลิดเพลินด้วยนิพพิทานุปัสนา ทรงละความกำหนัดด้วยวิราคานุปัสนา ทรงละสมุทัยด้วยนิโรธานุปัสนา ทรงละความยึดมั่นด้วยปฏินิสสัคคานุปัสนา ทรงละฆนสัญญาด้วยขยานุปัสนา ทรงละความเพิ่มพูนด้วยวยานุปัสนา ทรงละความยั่งยืนด้วยวิปริณามานุปัสนา
               ทรงละนิมิตตสัญญาด้วยอนิมิตตานุปัสนา ทรงละการตั้งมั่นแห่งกิเลสด้วยอัปปณิหิตานุปัสนา ทรงละการยึดมั่นด้วยสุญญตานุปัสนา ทรงละความยึดมั่นด้วยการยึดถือว่าเป็นสาระด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา ทรงละความยึดมั่นโดยความลุ่มหลงด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ ทรงละความยึดมั่นในธรรมเป็นที่อาลัยด้วยอาทีนวานุปัสนา ทรงละการไม่พิจารณาสังขารด้วยปฏิสังขานุปัสนา ทรงละความยึดมั่นในการประกอบกิเลสด้วยวิวัฏฏานุปัสนา
               ทรงหักกิเลสอันตั้งอยู่ร่วมกับทิฏฐิด้วยโสดาปัตติมรรค ทรงละกิเลสหยาบด้วยสกทาคามิมรรค ทรงเพิกกิเลสอย่างละเอียดด้วยอนาคามิมรรค ทรงตัดกิเลสทั้งหมดได้ด้วยอรหัตมรรค เสด็จไปแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้น เป็นอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้ เป็นอย่างไร?
               ปฐวีธาตุมีลักษณะแข้นแข็ง เป็นลักษณะแท้ไม่แปรผัน อาโปธาตุมีลักษณะไหลไป เตโชธาตุมีลักษณะร้อน วาโยธาตุมีลักษณะเคลื่อนไปมา อากาศธาตุมีลักษณะสัมผัสไม่ได้ วิญญาณธาตุมีลักษณะรู้อารมณ์
               รูปมีลักษณะสลาย เวทนามีลักษณะเสวยอารมณ์ สัญญามีลักษณะจำอารมณ์ สังขารมีลักษณะปรุงแต่งอารมณ์ วิญญาณมีลักษณะรู้อารมณ์
               วิตกมีลักษณะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ วิจารมีลักษณะตามเคล้าอารมณ์ ปีติมีลักษณะแผ่ไป สุขมีลักษณะสำราญ เอกัคคตาจิตมีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน ผัสสะมีลักษณะถูกต้องอารมณ์
               สัทธินทรีย์มีลักษณะน้อมใจเชื่อ วิริยินทรีย์มีลักษณะประคอง สตินทรีย์มีลักษณะบำรุง สมาธินทรีย์มีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน ปัญญินทรีย์มีลักษณะรู้โดยประการ
               สัทธาพละมีลักษณะอันใครๆ ให้หวั่นไหวไม่ได้ในความไม่เชื่อ วิริยพละมีลักษณะอันใครๆ ให้หวั่นไหวไม่ได้ในความเกียจคร้าน สติพละมีลักษณะอันใครๆ ให้หวั่นไหวไม่ได้ในความมีสติฟั่นเฟือน สมาธิพละมีลักษณะอันใครๆ ให้หวั่นไหวไม่ได้ในความฟุ้งซ่าน ปัญญาพละมีลักษณะอันใครๆ ให้หวั่นไหวไม่ได้ในอวิชชา
               สติสัมโพชฌงค์มีลักษณะบำรุง ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์มีลักษณะค้นคว้า วิริยสัมโพชฌงค์มีลักษณะประคอง ปีติสัมโพชฌงค์มีลักษณะแผ่ไป ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีลักษณะเข้าไปสงบ สมาธิสัมโพชฌงค์มีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน อุเบกขาสัมโพชฌงค์มีลักษณะพิจารณา
               สัมมาทิฏฐิมีลักษณะเห็น สัมมาสังกัปปะมีลักษณะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาวาจามีลักษณะกำหนดถือเอา สัมมากัมมันตะมีลักษณะเป็นสมุฏฐาน สัมมาอาชีวะมีลักษณะผ่องแผ้ว สัมมาวายามะมีลักษณะประคอง สัมมาสติมีลักษณะบำรุง สัมมาสมาธิมีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน
               อวิชชามีลักษณะไม่รู้ สังขารมีลักษณะคิดอ่าน วิญญาณมีลักษณะรู้อารมณ์ นามมีลักษณะน้อมไป รูปมีลักษณะสลาย สฬายตนะมีลักษณะเป็นที่มาต่อ ผัสสะมีลักษณะถูกต้องอารมณ์ เวทนามีลักษณะเสวยอารมณ์ ตัณหามีลักษณะเป็นเหตุ อุปาทานมีลักษณะยึดมั่น ภพมีลักษณะเพิ่มพูน ชาติมีลักษณะบังเกิด ชรามีลักษณะทรุดโทรม มรณะมีลักษณะจุติ
               ธาตุมีลักษณะเป็นความว่างเปล่า อายตนะมีลักษณะเป็นที่มาต่อ
               สติปัฏฐานมีลักษณะบำรุง สัมมัปปธานมีลักษณะเริ่มตั้ง อิทธิบาทมีลักษณะสำเร็จ อินทรีย์มีลักษณะเป็นใหญ่ยิ่ง พละมีลักษณะอันใครๆ ให้หวั่นไหวไม่ได้ โพชฌงค์มีลักษณะนำออกจากทุกข์ มรรคมีลักษณะเป็นเหตุ สัจจะมีลักษณะแท้
               สมถะมีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน วิปัสสนามีลักษณะตามพิจารณาเห็น สมถะและวิปัสสนามีลักษณะมีกิจเป็นหนึ่ง ธรรมที่ขนานคู่กันมีลักษณะไม่กลับกลาย
               ศีลวิสุทธิมีลักษณะสำรวม จิตตวิสุทธิมีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน ทิฏฐิวิสุทธิมีลักษณะเห็น ขยญาณมีลักษณะตัดได้เด็ดขาด อนุปปาทญาณมีลักษณะระงับ ฉันทะมีลักษณะเป็นมูล มนสิการมีลักษณะเป็นสมุฏฐาน ผัสสะมีลักษณะเป็นที่ประชุม เวทนามีลักษณะเป็นสโมสร สมาธิมีลักษณะเป็นประมุข สติมีลักษณะเป็นอธิปไตย ปัญญามีลักษณะยอดเยี่ยมกว่านั้น วิมุติมีลักษณะเป็นสาระ พระนิพพานอันหยั่งลงสู่อมตะมีลักษณะเป็นปริโยสาน ซึ่งแต่ละอย่างเป็นลักษณะที่แท้ไม่แปรผัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้ด้วยพระญาณคติ คือทรงบรรลุ ทรงบรรลุโดยลำดับไม่ผิดพลาดอย่างนี้ เหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้ เป็นอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้จริง ตามที่เป็นจริง เป็นอย่างไร?
               อริยสัจ ๔ ชื่อว่าธรรมที่แท้จริง อย่างที่ตรัสว่า๒-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้เป็นธรรมที่แท้ ไม่แปรผัน ไม่กลายเป็นอย่างอื่น. อริยสัจ ๔ อะไรบ้าง?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ว่า นี้ทุกข์ ดังนี้ เป็นธรรมที่แท้ ไม่แปรผัน ไม่กลายเป็นอย่างอื่น ดังนี้.
____________________________
๒- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๖๙๗

               พึงทราบความพิสดารต่อไป.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ เหล่านั้น เหตุนั้น จึงได้รับพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้.
               ก็คตศัพท์ในที่นี้ มีเนื้อความว่า ตรัสรู้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชราและมรณะอันเกิดแต่ชาติเป็นปัจจัย มีเนื้อความว่า ปรากฏ เป็นเนื้อความที่แท้ ไม่แปรผัน ไม่กลายเป็นอย่างอื่น ฯลฯ สังขารอันเกิดแต่อวิชชาเป็นปัจจัย มีเนื้อความว่า ปรากฏเป็นเนื้อความที่แท้ ไม่แปรผัน ไม่กลายเป็นอย่างอื่น ฯลฯ อวิชชามีเนื้อความว่า เป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารมีเนื้อความว่า เป็นปัจจัยแก่วิญญาณ ฯลฯ ชาติมีเนื้อความว่า เป็นปัจจัยแก่ชราและมรณะ เป็นเนื้อความที่แท้ ไม่แปรผัน ไม่กลายเป็นอย่างอื่น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ธรรมที่แท้นั้นทั้งหมด แม้เพราะเหตุนั้น จึงได้รับพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้จริง ตามที่เป็นจริง เป็นอย่างนี้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริง เป็นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ทรงเห็นโดยประการทั้งปวงซึ่งอารมณ์อันชื่อว่ารูปารมณ์ที่มาปรากฏทางจักษุทวารของหมู่สัตว์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ในโลกพร้อมทั้งเทวดา คือของสัตว์ทั้งหลายอันหาประมาณมิได้ และอารมณ์นั้นอันพระองค์ผู้ทรงรู้ทรงเห็นอยู่อย่างนี้ ทรงจำแนกด้วยสามารถอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นต้น หรือด้วยสามารถบทที่ได้ในอารมณ์ที่ได้เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ทราบ และที่ได้รู้ ๑๓ วาระบ้าง ๕๒ นัยบ้าง มีชื่อมากมายโดยนัยเป็นต้นว่า๓-
               รูป คือรูปานะเป็นไฉน? คือ รูปใดอาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นแสงสี เป็นรูปที่เห็นได้ เป็นรูปที่กระทบได้ เป็นรูปสีเขียว เป็นรูปสีเหลือง ดังนี้ ย่อมเป็นอารมณ์ที่แท้จริงอย่างเดียว ไม่มีแปรผัน.
               แม้ในอารมณ์มีเสียงเป็นต้นที่มาปรากฏแม้ในโสตทวารเป็นต้น ก็นัยนี้.
____________________________
๓- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๖๙๗

               ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๔-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อารมณ์ใดที่โลกพร้อมทั้งเทวดา พร้อมทั้งมาร พร้อมทั้งพรหม พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้รู้ ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ค้นคว้าแล้ว ด้วยใจ เราย่อมรู้ซึ่งอารมณ์นั้น รู้ยิ่งแล้วซึ่งอารมณ์นั้น อารมณ์นั้น ตถาคตทราบแล้ว ไม่ปรากฏแล้วในตถาคต ดังนี้.
____________________________
๔- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๔

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริง เป็นอย่างนี้. พึงทราบความสำเร็จบทว่า ตถาคต มีเนื้อความว่า ทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมีวาจาที่แท้จริง เป็นอย่างไร?
               ตลอดราตรีใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์ ณ โพธิมณฑสถาน ทรงล้างสมองมารทั้ง ๓ แล้ว ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และตลอดราตรีใดที่พระองค์เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ในระหว่างนี้ คือในกาลประมาณ ๔๕ พรรษา พระวาจาใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ทั้งในปฐมโพธิกาล ทั้งในมัชฌิมโพธิกาล ทั้งในปัจฉิมโพธิกาล คือสุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ.
               พระวาจานั้นทั้งหมดอันใครๆ ติเตียนไม่ได้ ไม่ขาดไม่เกินโดยอรรถะและโดยพยัญชนะ บริบูรณ์โดยอาการทั้งปวง บรรเทาความเมา คือราคะโทสะโมหะ. ในพระวาจานั้นไม่มีความพลั้งพลาดแม้เพียงปลายขนทราย พระวาจานั้นทั้งหมดย่อมแท้จริงอย่างเดียว ไม่แปรผัน ไม่กลายเป็นอย่างอื่น ดุจประทับไว้ด้วยตราอันเดียวกัน ดุจตวงไว้ด้วยทะนานใบเดียวกัน และดุจชั่งไว้ด้วยตาชั่งอันเดียวกัน
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า๕-
               ดูก่อนจุนทะ ตลอดราตรีใดที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และตลอดราตรีใดที่ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในระหว่างนี้ คำใดที่ตถาคตกล่าว พูด แสดง คำนั้นทั้งหมดย่อมเป็นคำแท้จริงอย่างเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น. เหตุนั้น จึงได้นามว่า ตถาคต ดังนี้.
____________________________
๕- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๒๐

               ก็ในที่นี้ศัพท์ คต มีเนื้อความเท่า คท แปลว่า คำพูด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมีพระวาจาที่แท้จริง เป็นอย่างนี้.
               อนึ่ง มีอธิบายว่า อาคทนํ เป็น อาคโท แปลว่า คำพูด.
               มีวิเคราะห์ว่า ตโถ อวิปริโต อาคโท อสฺสาติ ตถาคโต แปลว่า ชื่อว่า ตถาคต เพราะมีพระวาจาแท้จริง ไม่วิปริต โดยแปลง เป็น ในอรรถนี้ พึงทราบความสำเร็จบทอย่างนี้เทียว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงกระทำเองและให้ผู้อื่นกระทำ เป็นอย่างไร?
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระวรกายตรงกับพระวาจา ทรงมีพระวาจาตรงกับพระวรกาย ฉะนั้น ทรงมีพระวาจาอย่างใดก็ทรงกระทำอย่างนั้น และทรงกระทำอย่างใดก็ทรงมีพระวาจาอย่างนั้น.
               อธิบายว่า ก็พระองค์ผู้เป็นอย่างนี้ มีพระวาจาอย่างใด แม้พระวรกายก็ทรงเป็นไป คือทรงประพฤติอย่างนั้น และพระวรกายอย่างใด แม้พระวาจาก็ทรงเป็นไป คือทรงประพฤติอย่างนั้น.
               ด้วยเหตุนั้นแล จึงตรัสว่า๖-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพูดอย่างใด กระทำอย่างนั้น กระทำอย่างใด พูดอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงชื่อว่า ยถาวาที ตถาการี ยถาการี ตถาวาที เหตุนั้น จึงได้พระนามว่า ตถาคต ดังนี้.
____________________________
๖- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๓

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงกระทำเองและให้ผู้อื่นกระทำ เป็นอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงครอบงำ เป็นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครอบงำสรรพสัตว์เบื้องบนถึงภวัคคพรหม เบื้องล่างถึงอเวจีเป็นที่สุด เบื้องขวางในโลกธาตุอันหาประมาณมิได้ ด้วยศีลบ้าง ด้วยสมาธิบ้าง ด้วยปัญญาบ้าง ด้วยวิมุตติบ้าง ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะบ้าง การจะชั่งหรือประมาณพระองค์หามีไม่ พระองค์เป็นผู้ไม่มีใครเทียบเคียงได้ อันใครๆ ประมาณไม่ได้ เป็นผู้ยอดเยี่ยม เป็นพระราชาที่พระราชาทรงบูชา คือเป็นเทพของเทพ เป็นสักกะยิ่งกว่าสักกะทั้งหลาย เป็นพรหมยิ่งกว่าพรหมทั้งหลาย
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า๗-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในโลกพร้อมทั้งเทวดา พร้อมทั้งมาร พร้อมทั้งพรหม ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ อันใครๆ ครอบงำไม่ได้ เป็นผู้เห็นถ่องแท้ เป็นผู้ทรงอำนาจ เหตุนั้น จึงได้รับพระนามว่า ตถาคต ดังนี้.
____________________________
๗- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๒๐

               ในข้อนั้น พึงทราบความสำเร็จบทอย่างนี้ อคโท แปลว่า โอสถ ก็เหมือน อาคโท ที่แปลว่า วาจา. ก็โอสถนี้คืออะไร? คือ เทศนาวิลาส และบุญพิเศษ. ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ทรงครอบงำผู้มีวาทะตรงกันข้ามทั้งหมดและโลกพร้อมทั้งเทวดา เหมือนนายแพทย์ผู้มีอานุภาพมาก ครอบงำงูทั้งหลายด้วยทิพยโอสถฉะนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าบัณฑิตพึงทราบว่า ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเหตุว่า ทรงมีพระโอสถ คือเทศนาวิลาส และบุญพิเศษอันแท้ ไม่วิปริต ด้วยการครอบงำโลกทั้งปวง ดังนี้ เพราะแปลง เป็น .
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะอรรถว่าทรงครอบงำ เป็นอย่างนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปด้วยกิริยาที่แท้ ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงถึงกิริยาที่แท้ดังนี้ก็มี.
               บทว่า คโต มีเนื้อความว่า หยั่งรู้ เป็นไปล่วง บรรลุ ปฏิบัติ.
               ในเนื้อความ ๔ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงหยั่งรู้โลกทั้งสิ้นด้วยตีรณปริญญา ชื่อว่าด้วยกิริยาที่แท้. เพราะทรงเป็นไปล่วงซึ่งโลกสมุทัย ด้วยปหานปริญญา ชื่อว่าด้วยกิริยาที่แท้. เพราะทรงบรรลุโลกนิโรธด้วยสัจฉิกิริยา ชื่อว่าด้วยกิริยาที่แท้. เพราะทรงปฏิบัติปฏิปทาอันให้ถึงโลกนิโรธ ชื่อว่ากิริยาที่แท้.
               ด้วยเหตุนั้น คำใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตพรากแล้วจากโลก โลกสมุทัย ตถาคตตรัสรู้แล้ว โลกสมุทัยตถาคตละได้แล้ว โลกนิโรธตถาคตตรัสรู้แล้ว โลกนิโรธตถาคตทำให้แจ้งแล้ว ปฏิปทาอันให้ถึงโลกนิโรธตถาคตตรัสรู้แล้ว ปฏิปทาอันให้ถึงโลกนิโรธ ตถาคตเจริญแล้ว
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติใดของโลกพร้อมทั้งเทดา ฯลฯ ธรรมชาตินั้นทั้งหมดตถาคตตรัสรู้แล้ว เหตุนั้น จึงได้พระนามว่า ตถาคต ดังนี้.๘-
____________________________
๘- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๓

               พึงทราบเนื้อความแห่งคำนั้นแม้อย่างนี้.
               อนึ่ง แม้ข้อนี้ก็เป็นเพียงมุขในการแสดงภาวะที่พระตถาคตมีพระนามว่าตถาคตเท่านั้นว่า ที่จริง พระตถาคตเท่านั้นจะพึงพรรณนาภาวะที่พระตถาคตมีพระนามว่า ตถาคต โดยอาการทั้งปวงได้.

               อธิบายคำ ปุจฉา               
               คำว่า กตมญฺเจตํ ภิกฺขเว เป็นต้น ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามข้อที่ปุถุชนเมื่อกล่าวชมตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใด ซึ่งมีประมาณน้อยนัก ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีล นั้นว่าเป็นไฉน?
               ชื่อว่าคำถามในพระบาลีนั้น มี ๕ อย่าง คือ
               ๑. อทิฏฐโชตนาปุจฉา คำถามเพื่อส่องลักษณะที่ยังไม่เห็นให้กระจ่าง
               ๒. ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา คำถามเทียบเคียงลักษณะที่เห็นแล้ว
               ๓. วิมติเฉทนาปุจฉา คำถามเพื่อตัดความสงสัย
               ๔. อนุมติปุจฉา คำถามเพื่อการรับรอง
               ๕. กเถตุกัมยตาปุจฉา คำถามเพื่อประสงค์จะตอบเอง
               ในบรรดาคำถามเหล่านั้น อทิฏฐโชตนาปุจฉา เป็นไฉน?
               ตามปกติลักษณะที่ยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้พิจารณา ยังไม่ได้ไตร่ตรอง ยังไม่แจ่มแจ้ง ยังไม่ได้อธิบาย บุคคลย่อมถามปัญหา เพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อพิจารณา เพื่อไตร่ตรอง เพื่ออธิบายลักษณะนั้น.
               นี้ชื่อว่า อทิฏฐโชตนาปุจฉา.
               ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา เป็นไฉน?
               ตามปกติลักษณะที่รู้แล้ว เห็นแล้ว พิจารณาแล้ว ไตร่ตรองแล้ว แจ่มแจ้งแล้ว อธิบายแล้ว บุคคลย่อมถามปัญหาเพื่อต้องการจะเทียบเคียงลักษณะนั้นกับบัณฑิตเหล่าอื่น
               นี้ชื่อว่า ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา.
               วิมติเฉทนาปุจฉา เป็นไฉน?
               ตามปกติ บุคคลเป็นผู้มักสงสัย มักระแวง เกิดความแคลงใจว่า อย่างนี้หนอ? ไม่ใช่หนอ? อะไรหนอ? อย่างไรหนอ? บุคคลนั้นย่อมถามปัญหาเพื่อต้องการตัดความสงสัย.
               นี้ชื่อว่า วิมติเฉทนาปุจฉา.
               อนุมติปุจฉา เป็นไฉน?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามปัญหาเพื่อการรับรองของภิกษุทั้งหลายว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
               ก็รูปที่ไม่เที่ยงนั้น เป็นทุกข์หรือเป็นสุข. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.๑-
               พึงกล่าวคำทั้งหมด.
____________________________
๑- วิ. มหา. ข้อ ๔/เล่ม ๒๑   สํ. ขนฺธ. ข้อ ๑๗/เล่ม ๑๒๘

               นี้ชื่อว่า อนุมติปุจฉา.
               กเถตุกัมยตาปุจฉา เป็นไฉน?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามปัญหาด้วยมีพุทธประสงค์จะทรงตอบแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ๒-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ อะไรบ้าง? ฯลฯ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย องค์แห่งมรรค ๘ เหล่านี้ องค์แห่งมรรค ๘ อะไรบ้าง?
               นี้ชื่อว่า กเถตุกัมยตาปุจฉา.
____________________________
๒- ขุ. ปฏิ. ข้อ ๓๑/เล่ม ๗๒๖

               ในบรรดาปุจฉา ๕ ประการดังพรรณนามานี้ เบื้องต้น อทิฏฐโชตนาปุจฉาย่อมไม่มีแก่พระตถาคต เพราะธรรมอะไรๆ ที่พระองค์ไม่ทรงเห็นไม่มี. แม้ทิฏฐสังสันทนาปุจฉาก็ไม่มี เพราะไม่เกิดการประมวลพระดำริว่า ลักษณะชื่อนี้ เราจักแสดงเทียบเคียงกับสมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตเหล่าอื่น ดังนี้เลย.
               อนึ่ง เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงมีความลังเลความสับสน แม้ในธรรมสักข้อเดียว พระองค์ทรงตัดความสงสัยทั้งปวงได้ ณ โพธิมัณฑสถานนั่นแล ฉะนั้น แม้วิมุติเฉทนาปุจฉา ก็ไม่มีแน่นอน.
               แต่ปุจฉา ๒ ประการนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ย่อมมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย. ในปุจฉา ๒ ประการนั้น นี้ชื่อว่า กเถตุกัมยตาปุจฉา.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1&Z=1071
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :