ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
พรหมชาลสูตร

หน้าต่างที่ ๔ / ๖.

               วรรณนาจุลศีล               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะทรงแก้เนื้อความที่ได้ตรัสถามด้วยกเถตุกัมยตาปุจฉานั้น จึงตรัสพระบาลีอาทิว่า ปาณาติปาตํ ปหาย ดังนี้.
               ในคำว่า ละปาณาติบาต. ปาณาติบาต แปลว่า ทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป. อธิบายว่า ฆ่าสัตว์ ปลงชีพสัตว์.
               ก็ในคำว่า ปาณะ นี้ โดยโวหาร ได้แก่สัตว์. โดยปรมัตถ์ ได้แก่ชีวิตินทรีย์.
               อนึ่ง เจตนาฆ่าอันเป็นเหตุยังความพยายามตัดรอนชีวิตินทรีย์ให้ตั้งขึ้น เป็นไปทางกายทวารและวจีทวาร ทางใดทางหนึ่งของผู้มีความสำคัญในชีวิตนั้นว่าเป็นสัตว์มีชีวิต ชื่อว่าปาณาติบาต.
               ปาณาติบาตนั้น ชื่อว่ามีโทษน้อย ในสัตว์เล็ก. บรรดาสัตว์ที่เว้นจากคุณมีสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น ชื่อว่ามีโทษมาก ในเพราะสัตว์มีร่างกายใหญ่.
               เพราะเหตุไร? เพราะต้องขวนขวายมาก.
               แม้เมื่อมีความพยายามเสมอกัน ก็มีโทษมาก เพราะมีวัตถุใหญ่. ในบรรดาสัตว์ที่มีคุณมีมนุษย์เป็นต้น สัตว์มีคุณน้อยมีโทษน้อย สัตว์มีคุณมากมีโทษมาก. แม้เมื่อมีสรีระและคุณเท่ากัน ก็พึงทราบว่า มีโทษน้อยเพราะกิเลสและความพยายามอ่อน มีโทษมากเพราะกิเลสและความพยายามแรงกล้า.

               ปาณาติบาตนั้นมีองค์ ๕ คือ               
               ๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
               ๒. ปาณสญฺญิตา ตนรู้ว่าสัตว์มีชีวิต
               ๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
               ๔. อุปกฺกโม มีความพยายาม ( ลงมือทำ )
               ๕. เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น.

               ปาณาติบาตนั้นมีประโยค ๖ คือ               
               ๑. สาหัตถิกประโยค ประโยคที่ฆ่าด้วยมือตนเอง
               ๒. อาณัตติกประโยค ประโยคที่สั่งให้คนอื่นฆ่า
               ๓. นิสสัคคิยประโยค ประโยคที่ฆ่าด้วยอาวุธที่ซัดไป
               ๔. ถาวรประโยค ประโยคที่ฆ่าด้วยอุปกรณ์ที่อยู่กับที่
               ๕. วิชชามยประโยค ประโยคที่ฆ่าด้วยวิชา
               ๖. อิทธิมยประโยค ประโยคที่ฆ่าด้วยฤทธิ์.
               ก็เมื่อข้าพเจ้าจะพรรณนาเนื้อความนี้ให้พิสดาร ย่อมจะเนิ่นช้าเกินไป ฉะนั้น จะไม่พรรณนาความนั้นและความอื่นที่มีรูปเช่นนั้นให้พิสดาร ส่วนผู้ที่ต้องการพึงตรวจดูสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัย ถือเอาความเถิด.
               บทว่า ปหาย ความว่า ละโทษอันเป็นเหตุทุศีล นี้กล่าวคือ เจตนาทำปาณาติบาต.
               บทว่า ปฏิวิรโต ความว่า งด คือเว้นจากโทษอันเป็นเหตุทุศีลนั้น.
               จำเดิมแต่กาลที่ละปาณาติบาตได้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นไม่มีธรรมที่จะพึงรู้ทางจักษุและโสตว่า เราจักละเมิดดังนี้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงธรรมที่เป็นไปทางกายเล่า. แม้ในบทอื่นๆ ที่มีรูปอย่างนี้ ก็พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้แหละ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้โวหารว่า สมณะ เพราะเป็นผู้มีบาปสงบแล้ว.
               บทว่า โคตโม ความว่า ทรงพระนามว่า โคดม ด้วยอำนาจพระโคตร.
               มิใช่แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นที่เว้นจากปาณาติบาต แม้ภิกษุสงฆ์ก็เว้นด้วย. แต่เทศนามีมาอย่างนี้ตั้งแต่ต้น แต่เมื่อจะแสดงเนื้อความ จะแสดงแม้ด้วยสามารถแห่งภิกษุสงฆ์ก็ควร.
               บทว่า นิหิตทณฺโฑ นิหิตสตฺโถ ความว่า มีไม้อันวางแล้ว และมีมีดอันวางแล้ว เพราะไม่ถือไม้หรือมีดไปเพื่อต้องการจะฆ่าผู้อื่น.
               ก็ในพระบาลีนี้ นอกจากไม้ อุปกรณ์ที่เหลือทั้งหมด พึงทราบว่า ชื่อว่ามีด เพราะทำให้สัตว์ทั้งหลายพินาศได้. ส่วนไม้เท้าคนแก่ก็ดี ไม้ก็ดี มีดก็ดี มีดโกนที่ภิกษุทั้งหลายถือเที่ยวไปนั้น มิใช่เพื่อต้องการจะฆ่าผู้อื่น ฉะนั้น จึงนับว่าวางไม้ วางมีด เหมือนกัน.
               บทว่า ลชฺชี ความว่า ประกอบด้วยความละอายอันมีลักษณะเกลียดบาป.
               บทว่า ทยาปนฺโน ความว่า ถึงความเอ็นดู คือความเป็นผู้มีเมตตาจิต.
               บทว่า สพฺพปาณภูตหิตานุกมฺปี ความว่า อนุเคราะห์สัตว์มีชีวิตทั้งปวงด้วยความเกื้อกูล. อธิบายว่า มีจิตเกื้อกูลแก่สัตว์มีชีวิตทุกจำพวก เพราะถึงความเอ็นดูนั้น.
               บทว่า วิหรติ ความว่า เปลี่ยนอิริยาบถ คือยังอัตภาพให้เป็นไป ได้แก่รักษาตัวอยู่.
               คำว่า อิติ วา หิ ภิกฺขเว ความเท่ากับ เอวํ วา ภิกฺขเว. วาศัพท์ ตรัสเป็นความวิกัป (แยกความ) เล็งถึงคำว่า ละอทินนาทานเป็นต้นข้างหน้า. พึงทราบความวิกัป เล็งถึงคำต้นบ้าง คำหลังบ้าง ทุกแห่งอย่างนี้.
               ก็ในอธิการนี้ มีความย่อดังนี้
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อปุถุชนจะกล่าวชมตถาคต พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า ไม่เห็นชอบในการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นจากโทษเป็นเหตุทุศีลนี้ น่าชมเชยแท้ พระคุณของพระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่ ดังนี้
               ถึงต้องการจะกล่าวชม ทำอุตสาหะใหญ่ดังนี้ ก็จักกล่าวได้เพียงอาจาระและศีลเท่านั้น ซึ่งเป็นคุณมีประมาณน้อย จักไม่สามารถกล่าวพระคุณอาศัยสภาพอันไม่ทั่วไปยิ่งขึ้นได้เลย
               และมิใช่แต่ปุถุชนอย่างเดียวเท่านั้นที่ไม่สามารถ แม้พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่สามารถเหมือนกัน แต่ตถาคตเท่านั้นสามารถ เราจักกล่าวความข้อนั้นแก่เธอทั้งหลายในเบื้องหน้า.
               นี้เป็นพรรณนาเนื้อความพร้อมทั้งอธิบายในพระบาลีนี้.
               ต่อแต่นี้ไป เราจักพรรณนาตามลำดับทีเดียว.
               ในคำว่า ละอทินนาทานนี้ การถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ชื่ออทินนาทาน. มีอธิบายว่า การลักทรัพย์ของผู้อื่น คือความเป็นขโมย ได้แก่กิริยาที่เป็นโจร.
               คำว่า ของที่เขาไม่ได้ให้ ในคำว่า อทินนาทานนั้น ได้แก่ของที่เจ้าของหวงแหน คือเป็นทรัพย์ที่ผู้อื่นใช้ให้ทำตามประสงค์ ย่อมไม่ควรถูกลงอาชญา และไม่ถูกตำหนิ.
               อนึ่ง เจตนาคิดลักอันเป็นเหตุให้เกิดความพยายามที่จะถือเอาของที่เจ้าของหวงแหนนั้นของบุคคลผู้มีความสำคัญในของที่เจ้าของหวงแหนว่า เป็นของที่เจ้าของหวงแหน ชื่อว่า อทินนาทาน.
               อทินนาทานนั้น ลักของเลว มีโทษน้อย ลักของดี มีโทษมาก.
               เพราะเหตุไร? เพราะวัตถุประณีต.
               อทินนาทานนั้น เมื่อวัตถุเสมอกัน ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะวัตถุเป็นของๆ ผู้ยิ่งด้วยคุณ ชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะวัตถุเป็นของๆ ผู้มีคุณน้อยๆ กว่าผู้ยิ่งด้วยคุณนั้นๆ.

               อทินนาทานนั้นมีองค์ ๕ คือ               
               ๑. ปรปริคฺคหิตํ ของที่เจ้าของหวงแหน
               ๒. ปรปริคฺคหิตสญฺญิตา รู้อยู่ว่า เป็นของที่เจ้าของหวงแหน
               ๓. เถยฺยจิตฺตํ จิตคิดลัก
               ๔. อุปกฺกโม พยายามลัก
               ๕. เตน หรณํ ลักมาได้ด้วยความพยายามนั้น
               อทินนาทานนั้นมี ๖ ประโยคมีสาหัตถิกประโยคเป็นต้นนั่นเอง และประโยคเหล่านี้แล เป็นไปด้วยอำนาจอวหารเหล่านี้ คือ
               ๑. เถยยาวหาร ลักโดยการขโมย
               ๒. ปสัยหาวหาร ลักโดยข่มขี่
               ๓. ปฏิจฉันนาวหาร ลักซ่อน
               ๔. ปริกัปปาวหาร ลักโดยกำหนดของ
               ๕. กุสาวหาร ลักโดยสับสลากตามควร.
               นี้เป็นความย่อในอธิการนี้ ส่วนความพิสดาร ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัย.
               พระสมณโคดมชื่อว่า ทินนาทายี เพราะถือเอาแต่ของที่เขาให้เท่านั้น. ชื่อว่า ทินฺนปาฏิกงฺขี เพราะต้องการแต่ของที่เขาให้เท่านั้น แม้ด้วยจิต. ผู้ที่ชื่อว่าเถนะ เพราะลัก. ผู้ที่ไม่ใช่ขโมย ชื่อว่าอเถนะ. พระสมณโคดมประพฤติตนเป็นคนสะอาดเพราะไม่เป็นขโมยนั่นเอง.
               บทว่า อตฺตนา คืออัตภาพ. มีอธิบายว่า กระทำตนไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่.
               คำที่เหลือพึงประกอบตามนัยที่กล่าวแล้วในสิกขาบทที่หนึ่งนั่นแหละ.
               ทุกสิกขาบทก็เหมือนในสิกขาบทนี้.
               บทว่า อพฺรหฺมจริยํ ความว่า ความประพฤติไม่ประเสริฐ. ชื่อว่าพรหมจารี เพราะประพฤติอาจาระอันประเสริฐที่สุด. ผู้ที่ไม่ใช่พรหมจารี ชื่อว่าอพรหมจารี.
               บทว่า อาราจารี ความว่า ทรงประพฤติไกลจากกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์.
               บทว่า เมถุนา ความว่า จากอสัทธรรมที่นับว่า เมถุน เพราะบุคคลผู้ได้บัญญัติว่าเป็นคู่กัน เพราะเป็นเช่นเดียวกัน ด้วยอำนาจความกลุ้มรุมแห่งราคะ พึงซ่องเสพ.
               บทว่า คามธมฺมา ความว่า เป็นธรรมของชาวบ้าน.
               ในคำว่า มุสาวาทํ ปหาย นี้ คำว่า มุสา ได้แก่ วจีประโยคหรือกายประโยคที่ทำลายประโยชน์ของบุคคลผู้มุ่งจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน. ก็เจตนาอันให้เกิดกายประโยคและวจีประโยค ซึ่งพูดให้ผู้อื่นคลาดเคลื่อนของบุคคลผู้มุ่งจะกล่าวให้คลาดเคลื่อนนั้น ด้วยประสงค์จะกล่าวให้คลาดเคลื่อน ชื่อว่า มุสาวาท.
               อีกนัยหนึ่ง คำว่า มุสา ได้แก่ เรื่องที่ไม่เป็นจริง ไม่แท้.
               คำว่า วาท ได้แก่ กิริยาที่ทำให้เขาเข้าใจเรื่องที่ไม่จริงไม่แท้นั้นว่าเป็นเรื่องจริงเรื่องแท้.
               ว่าโดยลักษณะ เจตนาที่ให้เกิดวิญญัติอย่างนั้นของผู้ประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องที่ไม่แท้ว่าเป็นเรื่องแท้ ชื่อว่า มุสาวาท.
               มุสาวาทนั้น มีโทษน้อยเพราะประโยชน์ที่ทำลายนั้นน้อย มีโทษมากเพราะประโยชน์ที่ทำลายนั้นมาก.
               อีกอย่างหนึ่ง สำหรับพวกคฤหัสถ์ มุสาวาทที่เป็นไปโดยนัยว่า ไม่มี เป็นต้น เพราะประสงค์จะไม่ให้ของของตน มีโทษน้อย. ที่เป็นพยานกล่าวเพื่อทำลายประโยชน์ มีโทษมาก.
               สำหรับพวกบรรพชิต มุสาวาทที่เป็นไปโดยนัยแห่งการพูดว่า เป็นของบริบูรณ์ เช่นว่า วันนี้น้ำมันในบ้านไหลเหมือนแม่น้ำเป็นต้นด้วยประสงค์จะหัวเราะ เพราะได้น้ำมันหรือเนยใสมาน้อย มีโทษน้อย. แต่เมื่อพูดถึงสิ่งที่ไม่เห็นเลยโดยนัยว่า เห็นแล้ว เป็นต้น มีโทษมาก.

               มุสาวาทนั้นมีองค์ ๔ คือ               
               ๑. อตถํ วตถุํ เรื่องไม่แท้
               ๒. วิสํวาทนจิตฺตํ จิตคิดจะพูดให้คลาดเคลื่อน
               ๓. ตชฺโช วายาโม ความพยายามเกิดจากจิตคิดจะพูดให้คลาดเคลื่อนนั้น
               ๔. ปรสฺส ตทตฺถวิชานนํ คนอื่นรู้เรื่องนั้น.
               มุสาวาทนั้นมีประโยชน์เดียว คือ สาหัตถิกประโยค. มุสาวาทนั้นพึงเห็นด้วยการใช้กายบ้าง ใช้ของที่เนื่องด้วยกายบ้าง ใช้วาจาบ้าง กระทำกิริยาหลอกลวงผู้อื่น. ถ้าผู้อื่นเข้าใจความนั้น ด้วยกิริยานั้น ผู้นี้ย่อมผูกพันด้วยกรรม คือ มุสาวาทในขณะที่คิดจะให้เกิดกิริยาทีเดียว. ก็เพราะเหตุที่บุคคลสั่งว่า ท่านจงพูดเรื่องนี้แก่ผู้นี้ ดังนี้ก็มี เขียนหนังสือแล้วโยนไปตรงหน้าก็มี เขียนติดไว้ที่ฝาเรือนเป็นต้น ให้รู้ว่า เนื้อความนี้พึงรู้อย่างนี้ดังนี้ก็มี โดยทำนองที่หลอกลวงผู้อื่น ด้วยกาย ของที่เนื่องด้วยกายและวาจา ฉะนั้น แม้อาณัตติกประโยค นิสสัคคิยประโยค และถาวรประโยค ก็ย่อมควรในมุสาวาทนี้. แต่เพราะประโยคทั้ง ๓ นั้นไม่ได้มาในอรรถกถาทั้งหลาย จึงต้องพิจารณาก่อนแล้วพึงถือเอา.
               ชื่อว่า สัจจวาที เพราะพูดแต่คำจริง. ชื่อว่า สจฺจสนฺโธ เพราะเชื่อม คือสืบต่อคำสัตย์ด้วยคำสัตย์. อธิบายว่า ไม่พูดมุสาในระหว่างๆ.
               จริงอยู่ บุรุษใดพูดมุสาแม้ในกาลบางครั้ง พูดคำสัตย์ในกาลบางคราว ไม่เอาคำสัตย์สืบต่อคำสัตย์ เพราะบุรุษนั้นเอามุสาวาทคั่นไว้ ฉะนั้น บุรุษนั้นไม่ชื่อว่า ดำรงคำสัตย์ แต่พระสมณโคดมนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ไม่พูดมุสาแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต เอาคำสัตย์เชื่อมคำสัตย์อย่างเดียว เหตุนั้นจึงชื่อว่า สัจจสันโธ.
               บทว่า เถโต ความว่า เป็นผู้มั่งคั่ง. อธิบายว่า มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน.
               บุคคลหนึ่งเป็นคนมีถ้อยคำไม่เป็นหลักฐานเหมือนย้อมด้วยขมิ้น เหมือนหลักไม้ที่ปักไว้ในกองแกลบ และเหมือนฟักเขียวที่วางไว้บนหลังม้า. คนหนึ่งมีถ้อยคำเป็นหลักฐาน เหมือนรอยจารึกบนแผ่นหิน และเหมือนเสาเขื่อน แม้เมื่อเขาเอาดาบตัดศีรษะ ก็ไม่ยอมพูดเป็นสอง บุคคลนี้เรียกว่า เถตะ.
               บทว่า ปจฺจยิโก ความว่า เป็นผู้ควรยึดถีอ. อธิบายว่า เป็นผู้ควรเชื่อถือ.
               ก็บุคคลบางคนไม่เป็นคนควรเชื่อ เมื่อถูกถามว่า คำนี้ใครพูด? คนโน้นพูดหรือ? ย่อมจะถึงความเป็นผู้ควรตอบว่า ท่านทั้งหลายอย่าเชื่อคำของคนนั้น. บางคนเป็นคนควรเชื่อ เมื่อถูกถามว่า คำนี้ใครพูด คนโน้นพูดหรือ? ถ้าเขาพูดก็จะถึงความเป็นผู้ควรตอบว่า คำนี้เท่านั้นเป็นประมาณ บัดนี้ไม่ต้องพิจารณาก็ได้ คำนี้เป็นอย่างนี้แหละ ผู้นี้เรียกว่า ปัจจยิกะ.
               บทว่า อวิสํวาทโก โลกสฺส ความว่า ไม่พูดลวงโลก เพราะความเป็นผู้พูดคำจริงนั้น.
               ในคำว่า ปิสุณํ วาจํ ปหาย เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               วาจาที่เป็นเหตุทำตนเป็นที่รักในใจของผู้ที่ตนพูดด้วย และเป็นเหตุส่อเสียดผู้อื่น ชื่อว่า ปิสุณาวาจา.
               อนึ่ง วาจาที่เป็นเหตุให้กระทำตนเองบ้าง ผู้อื่นบ้าง หยาบคาย ทั้งหยาบคายแม้เอง ไม่เสนาะหู ไม่สุขใจ ชื่อว่า ผรุสวาจา.
               วาทะที่เป็นเหตุให้บุคคลพูดเพ้อเจ้อ ไร้ประโยชน์ ชื่อว่า สัมผัปปลาป.
               แม้เจตนาอันเป็นต้นเหตุแห่งคำพูดเหล่านั้น ก็พลอยได้ชื่อว่าปิสุณาวาจาเป็นต้นไปด้วย. ก็ในที่นี้ ประสงค์เอาเจตนานั้นแหละ.
               ในบรรดาวาจาทั้ง ๓ อย่างนั้น เจตนาของบุคคลผู้มีจิตเศร้าหมองอันให้เกิดกายประโยคและวจีประโยค เพื่อให้คนอื่นแตกกันก็ดี เพื่อต้องการทำตนให้เป็นที่รักก็ดี ชื่อว่า ปิสุณาวาจา.
               ปิสุณาวาจานั้น ชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะผู้กระทำความแตกแยกมีคุณน้อย. ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะผู้นั้นมีคุณมาก.

               ปิสุณาวาจานั้นมีองค์ ๔ คือ               
               ๑. ภินฺทิตพฺโพ ปโร ผู้อื่นที่พึงให้แตกกัน
               ๒. เภทปุเรกฺขารตา มุ่งให้เขาแตกกันว่า คนเหล่านี้จักเป็นผู้ต่างกัน และแยกกันด้วยอุบายอย่างนี้ หรือ ปิยกมฺยตา ประสงค์ให้ตนเป็นที่รักว่า เราจักเป็นที่รัก จักเป็นที่ไว้วางใจ ด้วยอุบายอย่างนี้
               ๓. ตชฺโช วายาโม ความพยายามที่เกิดแต่ความมุ่งให้เขาแตกกันนั้น
               ๔. ตสฺส ตทตฺถวิชานนํ ผู้นั้นรู้เรื่องนั้น.
               บทว่า อิเมสํ เภทาย ความว่า ฟังในสำนักของคนเหล่าใดที่ตรัสไว้ว่า จากข้างนี้ เพื่อให้คนเหล่านั้นแตกกัน.
               บทว่า ภินฺนานํ วา สนฺธาตา ความว่า มิตร ๒ คนก็ดี ภิกษุร่วมอุปัชฌาย์เป็นต้น ๒ รูปก็ดี แตกกันด้วยเหตุไรๆ ก็ตาม เขาไปหาทีละคนแล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า การแตกกันนี้ไม่ควรแก่ท่านผู้เกิดในตระกูลเช่นนี้ ผู้เป็นพหูสูตอย่างนี้ ดังนี้ กระทำ กระทำเนืองๆ ซึ่งการสมาน.
               บทว่า อนุปฺปทาตา ความว่า ส่งเสริมการสมาน.
               อธิบายว่า เห็นคน ๒ คนพร้อมเพรียงกันแล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า ความพร้อมเพรียงนี้สมควรแก่ท่านทั้งหลาย ผู้เกิดในตระกูลปานนี้ ผู้ประกอบด้วยคุณเห็นปานนี้ ดังนี้ กระทำให้มั่นเข้า.
               ชื่อว่า ชอบคนที่พร้อมเพรียงกัน เพราะมีคนที่พร้อมเพรียงกันเป็นที่มายินดี.
               อธิบายว่า ในที่ใดไม่มีคนพร้อมเพรียงกัน ไม่ปรารถนาแม้จะอยู่ในที่นั้น. พระบาลีเป็น สมคฺคราโม ก็มี ความอย่างเดียวกัน.
               บทว่า สมคฺครโต แปลว่า ยินดีแล้วในคนผู้พร้อมเพรียงทั้งหลาย.
               อธิบายว่า ไม่ปรารถนาแม้จะละคนผู้พร้อมเพรียงเหล่านั้นไปอยู่ที่อื่น.
               ชื่อว่า เพลิดเพลินในคนที่พร้อมเพรียงกัน เพราะเห็นก็ดี ฟังก็ดีซึ่งคนผู้พร้อมเพรียงกันแล้วเพลิดเพลิน.
               ข้อว่า สมคฺคกรณึ วาจํ ภาสิตา ความว่า กล่าวแต่วาจาที่ทำให้เหล่าสัตว์พร้อมเพรียงกันอย่างเดียว ซึ่งเป็นวาจาแสดงคุณแห่งสามัคคีเท่านั้น ไม่กล่าววาจานอกนี้.
               เจตนาหยาบโดยส่วนเดียวซึ่งให้เกิดกายประโยคและวจีประโยค อันเป็นเหตุตัดความรักของผู้อื่น ชื่อว่า ผรุสวาจา. เพื่อเข้าใจผรุสวาจานั้นอย่างแจ้งชัด พึงทราบเรื่องดังต่อไปนี้.

               เรื่องวาจาหยาบ แต่ใจไม่หยาบ               
               ได้ยินว่า เด็กคนหนึ่งไม่เอื้อเฟื้อถ้อยคำของมารดาไปป่า มารดาไม่สามารถให้เด็กนั้นกลับได้ จึงได้ด่าว่า ขอให้แม่กระบือดุจงไล่มึง ทันใดนั้น แม่กระบือป่าได้ปรากฏแก่เด็กนั้นเหมือนอย่างมารดาว่าทีเดียว เด็กนั้นได้กระทำสัจจกิริยาว่า สิ่งที่มารดาของเราพูดด้วยปากจงอย่ามี สิ่งที่มารดาคิดด้วยใจจงมีเถิด แม่กระบือได้ยืนอยู่เหมือนถูกผูกไว้ในป่านั้นเอง.
               ประโยคแม้ตัดความรักอย่างนี้ ก็ไม่เป็นผรุสวาจา เพราะมีจิตอ่อนโยน.
               จริงอยู่ บางครั้งมารดาบิดาย่อมกล่าวกะลูกน้อยๆ ถึงอย่างนี้ว่า พวกโจรจงห้ำหั่นพวกเจ้าเป็นชิ้นๆ ดังนี้ แต่ก็ไม่ปรารถนาแม้ให้กลีบบัวตกเบื้องบนของลูกน้อยๆ เหล่านั้น.
               อนึ่ง อาจารย์และอุปัชฌาย์ บางคราวก็กล่าวกะพวกศิษย์อย่างนี้ว่า พวกนี้ไม่มียางอาย ไม่เกรงกลัว คุยอะไรกัน จงไล่มันไปเสีย ก็แต่ว่า ย่อมปรารถนาให้ศิษย์เหล่านั้นสำเร็จการศึกษา และบรรลุมรรคผล.
               เหมือนอย่างว่า วาจาไม่เป็นผรุสวาจา เพราะคำอ่อนหวานก็หาไม่. ด้วยว่าผู้ต้องการจะฆ่า พูดว่า จงให้ผู้นี้นอนให้สบายดังนี้ จะไม่เป็นผรุสวาจาก็หาไม่. ก็วาจานี้เป็นผรุสวาจาทีเดียว เพราะมีจิตหยาบ.
               ผรุสวาจานั้นมีโทษน้อย เพราะผู้ที่ตนพูดหมายถึงนั้นมีคุณน้อย มีโทษมากเพราะผู้นั้นมีคุณมาก.

               ผรุสวาจานั้นมีองค์ ๓ คือ               
               ๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นที่ตนด่า
               ๒. กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ
               ๓. อกฺโกสนา การด่า
               บทว่า เนลา ความว่า โทษเรียกว่า เอละ วาจาชื่อว่า เนลา เพราะไม่มีโทษ. อธิบายว่า มีโทษออกแล้ว. เหมือนอย่าง เนลํ ไม่มีโทษที่พระองค์ตรัสไว้ในประโยคนี้ว่า รถคืออริยมรรคมีองค์ไม่มีโทษ มีหลังคาขาว๑- ดังนี้.
____________________________
๑- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๕๕๘   ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๕๑

               บทว่า กณฺณสุขา ความว่า สบายหู เพราะมีพยัญชนะสละสลวย คือไม่ให้เกิดการเสียบหู เหมือนแทงด้วยเข็ม.
               วาจาชื่อว่า ชวนให้รัก เพราะไม่ให้เกิดความโกรธ ให้เกิดแต่ความรักในสรีระทั้งสิ้น เพราะมีเนื้อความสละสลวย.
               วาจาชื่อว่า จับใจ เพราะถึงใจ คือเข้าไปสู่จิตได้สะดวก ไม่กระทบกระทั่ง.
               วาจาชื่อว่า เป็นคำชาวเมือง เพราะอยู่ในเมือง โดยเหตุที่บริบูรณ์ด้วยคุณ. ชื่อว่าเป็นคำชาวเมือง แม้เพราะเป็นถ้อยคำอ่อนโยนเหมือนนารีที่เติบโตในเมือง. ชื่อว่าเป็นถ้อยคำชาวเมือง แม้เพราะวาจานี้เป็นของชาวเมือง. อธิบายว่า เป็นถ้อยคำของชาวกรุง.
               จริงอยู่ ชาวกรุงย่อมเป็นผู้มีถ้อยคำเหมาะสม เรียกคนปูนพ่อว่าพ่อ เรียกคนปูนพี่ว่าพี่.
               วาจาชื่อว่า คนส่วนมากรักใคร่ เพราะถ้อยคำอย่างนี้เป็นถ้อยคำที่คนส่วนมากรักใคร่. วาจาชื่อว่า คนส่วนมากพอใจ เพราะเป็นที่พอใจ คือทำความเจริญใจแก่คนส่วนมากโดยที่คนส่วนมากรักใคร่นั่นเอง.
               อกุศลเจตนาที่ให้เกิดกายประโยคและวจีประโยค อันเป็นเหตุให้เข้าใจเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ชื่อว่าสัมผัปปลาป. สัมผัปปลาปนั้น ชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะมีอาเสวนะน้อย ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะมีอาเสวนะมาก.

               สัมผัปปลาปนั้นมีองค์ ๒ คือ               
               ๑. นิรตฺถกกถาปุเรกฺขารตา มุ่งกล่าวถ้อยคำที่ไร้ประโยชน์มีเรื่องภารตยุทธ และเรื่องชิงนางสีดา เป็นต้น.
               ๒. ตถารูปีกถากถนํ กล่าวเรื่องเช่นนั้น.
               ชื่อว่า พูดถูกกาล เพราะพูดตามกาล. อธิบายว่า พูดกำหนดเวลาให้เหมาะแก่เรื่องที่จะพูด.
               ชื่อว่า พูดแต่คำจริง เพราะพูดคำจริง แท้ แน่นอน ตามสภาพเท่านั้น.
               ชื่อว่า พูดอิงประโยชน์ เพราะพูดทำให้อิงประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ภายหน้านั่นเอง.
               ชื่อว่า พูดอิงธรรม เพราะพูดทำให้อิงโลกุตตรธรรม ๙.
               ชื่อว่า พูดอิงวินัย เพราะพูดให้อิงสังวรวินัย และปหานวินัย.
               โอกาสที่ตั้งไว้ เรียกว่าหลักฐาน. คำชื่อว่า มีหลักฐาน เพราะหลักฐานของคำนั้นมีอยู่. อธิบายว่า พูดคำที่ควรจะต้องเก็บไว้ในหัวใจ.
               บทว่า กาเลน ความว่า และแม้เมื่อพูดคำเห็นปานนี้ ก็มิได้พูดโดยกาลอันไม่ควร ด้วยคิดว่า เราจักพูดคำที่มีหลักฐาน ดังนี้. อธิบายว่า แต่พูดพิจารณาถึงกาลอันควรเท่านั้น.
               บทว่า สาปเทสํ ความว่า มีอุปมา มีอุปมา มีเหตุ
               บทว่า ปริยนฺตวตึ ความว่า แสดงกำหนดไว้แล้ว พูดโดยประการที่กำหนดแห่งคำนั้นจะปรากฏ.
               บทว่า อตฺถสญฺหิตํ ความว่า พูดคำที่ประกอบด้วยประโยชน์ เพราะผู้พูดจำแนกไปโดยนัยแม้มิใช่น้อย ก็ไม่อาจให้สิ้นสุดลงได้. อีกอย่างหนึ่ง พูดคำที่ประกอบด้วยประโยชน์ เพราะประกอบด้วยประโยชน์ที่ผู้พูดถึงประโยชน์นั้นกล่าวถึง มีอธิบายว่า มิใช่ตั้งเรื่องไว้เรื่องหนึ่ง แล้วไปพูดอีกเรื่องหนึ่ง.
               บทว่า พีชคามภูตคามสมารมฺภา ความว่า เว้นขาดจากการพราก คือจากการโค่น ด้วยภาวะแห่งกิริยามีการตัด การทำลาย และการเผาเป็นต้น ซึ่งพืชคาม ๕ อย่าง คือพืชเกิดแต่ราก ๑ พืชเกิดแต่ลำต้น ๑ พืชเกิดแต่ข้อ ๑ พืชเกิดแต่ยอด ๑ พืชเกิดแต่เมล็ด ๑ และซึ่งภูตคามมีหญ้าและต้นไม้สีเขียวเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า เอกภตฺติโก ความว่า ภัตมี ๒ มื้อ คือภัตที่พึงกินเวลาเช้า ๑ ภัตที่พึงกินเวลาเย็น ๑. ในภัต ๒ มื้อนั้น ภัตที่พึงกินเวลาเช้า กำหนดด้วยเวลาภายในเที่ยงวัน. ภัตที่พึงกินเวลาเย็นนอกนี้. กำหนดด้วยเวลากินเที่ยงวันภายในอรุณขึ้น ฉะนั้น แม้จะฉันสัก ๑๐ ครั้งในเวลาภายในเที่ยงวัน ก็เป็นผู้ชื่อว่าฉันหนเดียวนั่นเอง. ที่ตรัสว่ามีภัตเดียวดังนี้ ทรงหมายถึงภัตที่พึงกินเวลาเช้านั้น.
               ชื่อว่า รตฺตุปรโต เพราะเว้นจากการฉันในราตรีนั้น. การฉันในเมื่อเลยเวลาเที่ยงวันไป จนถึงเวลาพระอาทิตย์ตก ชื่อว่า วิกาลโภชน์.
               ชื่อว่า งดการฉันในเวลาวิกาล เพราะงดการฉันแบบนั้น.
               งดเมื่อไร? งดตั้งแต่วันผนวช ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมา.
               ชื่อว่า ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เพราะการดูเป็นข้าศึก คือเป็นศัตรู เพราะขัดต่อพระศาสนา. ที่ว่า จากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก คือจากการฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมด้วยตนเอง ด้วยอำนาจฟ้อนเองและให้ผู้อื่นฟ้อนเป็นต้น และการดูการฟ้อนเป็นต้น โดยที่สุดที่เป็นไปด้วยอำนาจการฟ้อนของนกยูงเป็นต้นอันเป็นข้าศึก.
               จริงอยู่ การประกอบด้วยตนเองซึ่งกิจมีการฟ้อนรำเป็นต้นก็ดี การให้ผู้อื่นประกอบก็ดี และการดูที่เขาประกอบก็ดี ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลายเลย และไม่ควรแก่ภิกษุณีทั้งหลายด้วย.
               ในบรรดาเครื่องประดับทั้งหลายมีดอกไม้เป็นต้น ชื่อว่า มาลา ได้แก่ดอกไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง.
               ชื่อว่า คันธะ ได้แก่ คันธชาตอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               ชื่อว่า วิเลปละ ได้แก่ เครื่องประเทืองผิว.
               ในบรรดาเครื่องประดับเหล่านั้น บุคคลเมื่อประดับ ชื่อว่า ทัดทรง. เมื่อทำร่างกายส่วนที่พร่องให้เต็ม ชื่อว่า ประดับ. เมื่อยินดีด้วยอำนาจของหอม และด้วยอำนาจการประเทืองผิว ชื่อว่า ตกแต่ง.
               เหตุเรียกว่าฐานะ ฉะนั้น จึงมีความว่า คนส่วนมากกระทำการทัดทรงมาลาเป็นต้นเหล่านั้นด้วยเจตนาเป็นเหตุให้ทุศีลใด พระสมณโคดมเว้นขาดจากเจตนาเป็นเหตุให้ทุศีลนั้น.
               ที่นอนเกินประมาณ เรียกว่า ที่นอนสูง. เครื่องปูลาดที่เป็นอกัปปิยะ เรียกว่า ที่นอนใหญ่. ความว่า ทรงเว้นขาดจากที่นอนสูง ที่นอนใหญ่นั้น.
               บทว่า ชาตรูปํ ได้แก่ ทอง.
               บทว่า รชตํ ได้แก่ อกัปปิยะที่บัญญัติเรียกว่า กหาปณะ เป็นมาสกทำด้วยโลหะ มาสกทำด้วยครั่ง มาสกทำด้วยไม้. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับทองและเงินทั้ง ๒ นั้น. อธิบายว่า พระสมณโคดมไม่จับทองและเงินนั้นเอง ไม่ให้คนอื่นจับไม่ยอมรับทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน.
               บทว่า อามกธญฺญมปฏิคฺคหณา ความว่า จากการรับธัญชาติดิบทั้ง ๗ อย่าง กล่าวคือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้. อนึ่ง มิใช่แต่การรับธัญชาติดิบเหล่านี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้การจับต้องก็ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลายเหมือนกัน.
               ในบทว่า อามกมํสปฏิคฺคหณา นี้ ความว่า การรับเนื้อและปลาดิบ เว้นแต่ที่ทรงอนุญาตไว้เฉพาะ ย่อมไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลาย การจับต้องก็ไม่ควร.
               ในบทว่า อิตฺถีกุมาริกปฏิคฺคหณา นี้ ความว่า หญิงที่มีชายครอบครอง ชื่อว่า สตรี. หญิงนอกนี้ ชื่อว่า กุมารี. ทั้งการรับทั้งการจับต้องหญิงเหล่านั้น ไม่ควรทั้งนั้น.
               ในบทว่า ทาสีทาสปฏิคฺคหณา นี้ ความว่า การรับทาสีและทาสเหล่านั้นไว้เป็นทาสีและทาสเท่านั้นไม่ควร แต่เมื่อเขาพูดว่า ขอถวายเป็นกัปปิยการก ขอถวายเป็นคนงานวัดดังนี้ จะรับก็ควร.
               นัยแห่งกัปปิยะและอกัปปิยะ ในการรับทรัพย์สินแม้มีแพะและแกะเป็นต้น มีไร่นาและที่ดินเป็นที่สุด พึงพิจารณาตามพระวินัย.
               ในบรรดาไร่นาและที่ดินนั้น ที่ชื่อว่า นา ได้แก่พื้นที่เพราะปลูกปุพพัณณชาติ ที่ชื่อว่าไร่ ได้แก่พื้นที่เพราะปลูกอปรัณณชาติ.
               อีกอย่างหนึ่ง พื้นที่ที่ทั้ง ๒ อย่างงอกขึ้น ชื่อว่านา ส่วนแห่งพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าที่ดิน. อนึ่ง แม้บ่อและบึงเป็นต้นก็สงเคราะห์เข้าในอธิการนี้เหมือนกัน ด้วยยกศัพท์ไร่นาและที่ดินเป็นหัวข้อ
               งานของทูต เรียกว่า การเป็นทูต ได้แก่การรับหนังสือ หรือข่าวสาส์นที่พวกคฤหัสถ์ใช้ไปในที่นั้นๆ.
               การเดินรับใช้จากเรือนนี้ไปเรือนนั้นเล็กๆ น้อยๆ เรียกว่า การรับใช้.
               การกระทำทั้ง ๒ อย่างนั้น ชื่อว่า การประกอบเนืองๆ เพราะฉะนั้น พึงทราบความในข้อนี้อย่างนี้ว่า จากการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเป็นทูต และการรับใช่.
               บทว่า กยวิกฺกยา แปลว่า จากการซื้อและการขาย.
               ในการโกงทั้งหลาย มีการโกงด้วยตาชั่งเป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               การโกง ได้แก่การลวง. ในการโกงนั้น ชื่อว่า การโกงด้วยตาชั่งมี ๔ อย่าง คือ
                         ๑. รูปกูฏํ การโกงด้วยรูป
                         ๒. องฺคกูฏํ การโกงด้วยอวัยวะ
                         ๓. คหณกูฏํ การโกงด้วยการจับ
                         ๔. ปฏิจฺฉนฺนกูฏํ การโกงด้วยกำบังไว้.
               ในการโกงด้วยตาชั่ง ๔ อย่างนั้น ที่ชื่อว่า การโกงด้วยรูป ได้แก่ทำตาชัง ๒ คันให้มีรูปเท่ากัน เมื่อรับ รับด้วยตาชั่งคันใหญ่. เมื่อให้ ให้ด้วยตาชั่งคันเล็ก.
               ที่ชื่อว่า การโกงด้วยอวัยวะ ได้แก่เมื่อรับ ใช้มือกดคันชั่งข้างหลังไว้. เมื่อให้ ใช้มือกดคันชั่งข้างหน้าไว้นั่นเอง.
               ที่ชื่อว่า การโกงด้วยการจับ ได้แก่เมื่อรับก็จับเชือกไว้ที่โคนตาชั่ง. เมื่อให้ก็จับเชือกไว้ที่ปลายตาชั่ง.
               ที่ชื่อว่า การโกงด้วยกำบังไว้ ได้แก่ทำตาชั่งให้เป็นโพรงแล้วใส่ผงเหล็กไว้ภายใน เมื่อรับก็เลื่อนผงเหล็กนั้นไปข้างปลายตาชั่ง. เมื่อให้ก็เลื่อนผงเหล็กไปข้างหัวตาชั่ง.
               ถาดทอง เรียกว่า ทองสัมฤทธิ์ การลวงด้วยถาดทองนั้น ชื่อว่าการโกงด้วยสัมฤทธิ์.
               โกงอย่างไร?
               ทำถาดทองไว้ใบหนึ่ง แล้วทำถาดโลหะอื่นสองสามใบให้มีสีเหมือนทอง ต่อจากนั้นไปสู่ชนบท เข้าไปยังตระกูลมั่งคั่งตระกูลหนึ่ง กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงซื้อถาดทองคำ เมื่อถูกคนอื่นๆ ถามราคา ประสงค์จะขายราคาเท่ากัน. ต่อแต่นั้น เมื่อเขาถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าภาชนะเหล่านี้เป็นทอง. บอกว่าทดลองดูก่อนแล้วจึงรับไป แล้วครูดถาดทองลงที่หิน ขายถาดทั้งหมดแล้วจึงไป.
               ที่ชื่อว่า การโกงด้วยเครื่องตวงวัดมี ๓ อย่าง คือทำลายใจกลาง ทำลายยอดและทำลายเชือก. ใน ๓ อย่างนั้น การโกงด้วยเครื่องตวงทำลายใจกลาง ได้ในเวลาตวงเนยใสและน้ำมันเป็นต้น. ก็เมื่อจะรับเอาเนยใสและน้ำมันเป็นต้นเหล่านั้น ใช้เครื่องตวงมีช่องข้างล่าง บอกให้ค่อยๆ เทแล้วให้ไหลลงในภาชนะของตนเร็วๆ รับเอาไป. เมื่อให้ ปิดช่องไว้ให้เต็มโดยพลันให้ไป.
               การโกงด้วยเครื่องตวงทำลายยอด ได้ในเวลาตวงงาและข้าวสารเป็นต้น. ก็เมื่อรับเอางาและข้าวสารเป็นต้นเหล่านั้น ค่อยๆ ทำให้สูงขึ้นเป็นยอดแล้วรับเอาไป. เมื่อให้ก็ทำให้เต็มโดยเร็ว ตัดยอดให้ไป.
               การโกงด้วยเครื่องวัดทำลายเชือก ได้ในเวลาวัดไร่นาและที่ดินเป็นต้น ด้วยว่า เมื่อไม่ให้สินจ้าง ไร่นาแม้ไม่ใหญ่ก็วัดทำให้ใหญ่.

               การรับสินจ้างเป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               บทว่า ฉ้อโกง ได้แก่ การรับสินบนเพื่อกระทำผู้เป็นเจ้าของให้ไม่เป็นเจ้าของ.
               บทว่า ลวง ได้แก่ การล่อลวงผู้อื่นด้วยอุบายนั้นๆ.
               ในข้อนั้นมีตัวอย่างอยู่เรื่องหนึ่งดังนี้
               เล่ากันว่า มีนายพรานคนหนึ่งจับกวางและลูกกวางมา นักเลงคนหนึ่งถามนายพรานคนนั้นว่า พ่อมหาจำเริญ กวางราคาเท่าไร? ลูกกวางราคาเท่าไร? เมื่อนายพรานตอบว่า กวางราคา ๒ กหาปณะ ลูกกวางราคากหาปณะเดียว.
               นักเลงก็ให้กหาปณะหนึ่ง รับเอาลูกกวางมา เดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วกลับมาบอกว่า พ่อมหาจำเริญ ฉันไม่ต้องการลูกกวาง ท่านจงให้กวางแก่ฉันเถิด. นายพรานตอบว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงให้ ๒ กหาปณะซิ.
               นักเลงกล่าวว่า พ่อมหาจำเริญ ทีแรกฉันให้ท่านหนึ่งกหาปณะแล้วมิใช่หรือ? นายพรานตอบว่า ถูกแล้ว ท่านให้ไว้แล้ว.
               นักเลงกล่าวว่า ท่านจงรับเอาลูกกวางแม้นี้ไป เมื่อเป็นอย่างนี้ กหาปณะนั้นและลูกเนื้อซึ่งมีราคาหนึ่งกหาปณะนี้ รวมเป็น ๒ กหาปณะ. นายพรานพิจารณาดูว่า เขาพูดมีเหตุผล จึงรับเอาลูกกวางมาแล้วให้กวางไป.
               บทว่า นิกติ ได้แก่การล่อลวงด้วยของเทียมโดยทำของที่มิใช่สังวาล ให้เห็นเป็นสังวาล ของที่มิใช่แก้วมณี ให้เห็นเป็นแก้วมณี ของที่มิใช่ทอง ให้เห็นเป็นทอง ด้วยอำนาจการประกอบขึ้น หรือด้วยอำนาจกลลวง.
               บทว่า สาวิโยโค ได้แก่ วิธีโกง. คำนี้เป็นชื่อของการรับสินบนเป็นต้นเหล่านี้แหละ เพราะฉะนั้น พึงทราบความในข้อนี้อย่างนี้ว่า การตลบตะแลง คือการรับสินบน การตลบตะแลง คือการล่อลวง การตลบตะแลงคือการปลอม.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า การแสดงสิ่งหนึ่งแล้วสับเปลี่ยนเป็นสิ่งหนึ่ง ชื่อว่าการตลบตะแลง. ก็ข้อนั้นสงเคราะห์เข้าด้วยการล่อลวงนั่นเอง.

               ในการตัดเป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               บทว่า ตัด ได้แก่การตัดมือเป็นต้น.
               บทว่า ฆ่า ได้แก่ทำให้ตาย.
               บทว่า ผูกมัด ได้แก่ผูกด้วยเครื่องผูกคือเชือกเป็นต้น.
               บทว่า วิปราโมโส ความว่า การตีชิง มี ๒ อย่าง คือ การบังหมอกตีชิง ๑ การบังพุ่มไม้ตีชิง ๑. เวลาหิมะตก ซ่อนตัวด้วยหิมะ แย่งชิงคนเดินทาง นี้ชื่อว่า การบังหมอกตีชิง. ซ่อนตัวด้วยพุ่มไม้เป็นต้นแย่งชิง นี้ชื่อว่า การบังพุ่มไม้ตีชิง.
               การกระทำการปล้นบ้านและนิคมเป็นต้น เรียกว่า การปล้น.
               บทว่า สหสากาโร ได้แก่ การกระทำอย่างรุนแรง ได้แก่การเข้าเรือนแล้วเอาศาตราจ่ออกพวกชาวบ้าน เก็บเอาสิ่งของที่ตนต้องการ.
               พระสมณโคดมเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การผูกมัด การตีชิง การปล้น และกรรโชกนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต ก็พึงกล่าวดังนี้แล.
               จุลศีลเป็นอันจบแต่เพียงเท่านี้               

               วรรณนามัชฌิมศีล               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงเริ่มแสดงมัชฌิมศีล จึงตรัสพระบาลีมีอาทิว่า ยถา วา ปเนเก โภนฺโต ดังนี้.
               ในคำนั้น มีวรรณนาบทที่ยากๆ ดังต่อไปนี้
               บทว่า สทฺธาเทยฺยานิ ความว่า ที่คนเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมและโลกนี้โลกหน้าให้แล้ว. อธิบายว่า เขามิได้ให้ด้วยประสงค์อย่างนี้ว่าผู้นี้เป็นญาติของเรา หรือว่าเป็นมิตรของเรา หรือว่าเขาจักตอบแทนสิ่งนี้ หรือว่าสิ่งนี้เขาเคยทำดังนี้. ด้วยว่า โภชนะที่เขาให้อย่างนี้ย่อมไม่ชื่อว่าให้ด้วยศรัทธา
               บทว่า โภชนานิ นี้เป็นเพียงหัวข้อเทศนา แต่โดยเนื้อความ ย่อมเป็นอันกล่าวคำนี้ทั้งหมดทีเดียวว่า บริโภคโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา ห่มจีวร ใช้สอยเสนาสนะ บริโภคคิลานเภสัชที่เขาให้ด้วยศรัทธา ดังนี้.
               บทว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต มีเนื้อความเป็นไฉน มีเนื้อความว่า พืชคามและภูตคามที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกประกอบการพรากอยู่.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพืชคามและภูตคามนั้น จึงตรัสว่า มูลพีชํ เป็นต้น ดังนี้. ในพระบาลีนั้น ที่ชื่อว่า พืชเกิดแต่ราก ได้แก่ พืชมีอาทิอย่างนี้ คือขมิ้น ขิง ว่านเปราะป่า ว่านเปราะบ้าน อุตพิด ข่า แฝก หญ้าคาและหญ้าแห้วหมู.
               ที่ชื่อว่า พืชเกิดแต่ลำต้น ได้แก่ พืชมีอาทิอย่างนี้ โพ ไทร มะสัง มะเดื่อ มะเดื่อป่า มะขวิด.
               ที่ชื่อว่า พืชเกิดแต่ข้อ ได้แก่ พืชมีอาทิอย่างนี้ คือ อ้อย อ้อ ไผ่.
               ที่ชื่อว่า พืชเกิดแต่ยอด ได้แก่ พืชมีอาทิอย่างนี้ คือ แมงลัก ตะไคร้ หอมแดง.
               ที่ชื่อว่า พืชเกิดแต่เมล็ด ได้แก่ พืชมีอาทิอย่างนี้ คือ ปุพพัณณชาติ อปรัณณชาติ.
               ก็พืชทั้งหมดนี้ ที่แยกออกจากต้นแล้ว ยังสามารถงอกได้ เรียกว่าพืชคาม. ส่วนพืชที่ยังไม่ได้แยกจากต้น ไม่แห้ง เรียกว่า ภูตคาม.
               ในพืช ๒ อย่างนั้น การพรากภูตคาม พึงทราบว่า เป็นวัตถุแห่งปาจิตตีย์ การพรากพืชคาม เป็นวัตถุแห่งทุกกฏ.
               บทว่า สนฺนิธิการกปริโภคํ ความว่า บริโภคของที่สะสมไว้.
               ในข้อนั้นมีคำที่ควรกล่าว ๒ อย่าง คือเกี่ยวกับพระวินัยอย่าง ๑ เกี่ยวกับการปฏิบัติเคร่งครัดอย่าง ๑. ว่าถึงเกี่ยวกับพระวินัยก่อน ข้าวอย่างใดอย่างหนึ่งที่รับประเคนวันนี้เอาไว้วันหลัง เป็นการทำการสะสม เมื่อบริโภคข้าวนั้น เป็นปาจิตตีย์. แต่ให้ข้าวที่ตนได้แล้วแก่สามเณร ให้สามเณรเหล่านั้นเก็บไว้ จะฉันในวันรุ่งขึ้นควรอยู่ แต่ไม่เป็นการปฏิบัติเคร่งครัด.
               แม้ในการสะสมน้ำปานะก็มีนัยนี้แหละ.
               ในข้อนั้นที่ชื่อว่า น้ำปานะ ได้แก่น้ำปานะ ๘ อย่างมีน้ำมะม่วงเป็นต้นและน้ำที่อนุโลมเข้าได้กับน้ำปานะ ๘ อย่างนั้น. วินิจฉัยน้ำปานะเหล่านั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วในสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัย.

               ในการสะสมผ้า มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               ผ้าที่ยังไม่ได้อธิษฐานและยังไม่ได้วิกัปไว้ ย่อมเป็นการสะสมและทำให้เสียการปฏิบัติเคร่งครัด นี้เป็นการกล่าวโดยอ้อม. ส่วนโดยตรง ภิกษุควรจะเป็นผู้สันโดษในไตรจีวร ได้ผืนที่ ๔ แล้วควรให้แก่รูปอื่น ถ้าไม่อาจจะให้แก่รูปใดรูปหนึ่งได้ แต่ประสงค์จะให้แก่รูปใดรูปนั้นไป เพื่อประโยชน์แก่อุเทศ หรือเพื่อประโยชน์แก่ปริปุจฉา พอเธอกลับมาควรให้เลย จะไม่ให้ไม่ควร แต่เมื่อจีวรไม่เพียงพอ ยังมีความหวังที่จะได้มา จะเก็บไว้ภายในเวลาที่ทรงอนุญาตก็ควร. เมื่อยังไม่ได้เข็มด้ายและตัวผู้ทำจีวร จะเก็บไว้เกินกว่านั้น ต้องทำวินัยกรรมจึงควร. แต่เมื่อจีวรผืนนี้เก่า จะเก็บไว้รอว่า เราจักได้จีวรเช่นนี้จากไหนอีกดังนี้ ไม่ควร ย่อมชื่อว่าเป็นการสะสมและทำให้เสียการปฏิบัติเคร่งครัด.

               การสะสมยาน มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               ที่ชื่อว่า ยาน ได้แก่ ล้อเลื่อน รถ เกวียน รถมีเครื่องประดับ วอ รถเข็น. นี้มิใช่ยานของบรรพชิต. บรรพชิตมียานอย่างเดียว คือรองเท้า. ก็ภิกษุรูปหนึ่งควรใช้รองเท้าได้ ๒ คู่เป็นอย่างมาก คือคู่หนึ่งสำหรับเดินป่า คู่หนึ่งสำหรับเท้าที่ล้างแล้ว. ได้คู่ที่ ๓ ควรให้แก่รูปอื่น. แต่จะเก็บไว้ด้วยคิดว่า เมื่อคู่นี้เก่า เราจักได้คู่อื่นจากไหน ดังนี้ ไม่ควร. ย่อมชื่อว่าเป็นการสะสมและทำให้เสียการปฏิบัติเคร่งครัด.

               ในการสะสมที่นอน มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               บทว่า สยนํ ได้แก่เตียง. ภิกษุรูปหนึ่งควรมีเตียงได้อย่างมาก ๒ เตียง คือเตียงหนึ่งไว้ในห้อง เตียงหนึ่งไว้ในที่พักกลางวัน. ได้เกินกว่านั้น ควรให้แก่ภิกษุรูปอื่น หรือแก่คณะ. จะไม่ให้ไม่ควร. ย่อมชื่อว่าเป็นการสะสมและทำให้เสียการปฏิบัติเคร่งครัด.

               ในการสะสมของหอม มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               เมื่อภิกษุอาพาธเป็นฝี เป็นหิด และโรคผิวหนังเป็นต้น จะใช้ของหอมก็ควร. เมื่อโรคนั้นหายแล้ว ควรให้นำของหอมเหล่านั้นมาให้แก่ภิกษุอาพาธรูปอื่นๆ หรือควรนำไปใช้ในกิจมีการรมควันเรือน ด้วยนิ้วมือ ๕ นิ้วเป็นต้นที่ประตู. แต่จะเก็บไว้ด้วยประสงค์ว่า เมื่อเป็นโรคอีกจักได้ใช้ ดังนี้ไม่ควร. ย่อมชื่อว่าเป็นการสะสมของหอมและทำให้เสียการปฏิบัติเคร่งครัด.
               สิ่งของนอกจากที่กล่าวแล้ว พึงเห็นว่า ชื่อว่าอามิส.
               คือ ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้ ให้เขานำเอาภาชนะงา ข้าวสาร ถั่วเขียว ถั่วราชมาส มะพร้าว เกลือ ปลา เนื้อ เนื้อแห้ง เนยใส น้ำมัน และน้ำอ้อยงบเป็นต้น มาเก็บไว้ด้วยคิดว่า จักมีเพื่ออุปการะในกาลเห็นปานนั้น.
               ครั้นเข้าฤดูฝน แต่เช้าตรู่ทีเดียว เธอให้พวกสามเณรต้มข้าวต้ม ฉันแล้วใช้สามเณรไปด้วยสั่งว่า สามเณร เธอจงเข้าไปบ้านที่ลำบากเพราะน้ำโคลน ครั้นไปถึงตระกูลนั้นแล้วบอกว่า ฉันอยู่ที่วัดแล้วจงนำนมส้มเป็นต้นจากตระกูลโน้นมา.
               แม้เมื่อภิกษุทั้งหลายถามว่า ท่านขอรับ จักเข้าบ้านหรือ? ก็ตอบว่า ผู้มีอายุ เวลานี้บ้านเข้าไปลำบาก. ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ช่างเถิดขอรับ นิมนต์ท่านอยู่เถิด พวกกระผมจักแสวงหาอาหารมาถวาย ดังนี้ แล้วพากันไป.
               ลำดับนั้น แม้สามเณรก็นำเอานมส้มเป็นต้นมาปรุงข้าวและกับ แล้วนำเข้าไปถวาย. เมื่อท่านกำลังฉันอาหารนั้นอยู่นั่นแหละ พวกอุปัฏฐากยังส่งภัตตาหารไปถวาย. ท่านก็ฉันแต่ที่ชอบๆ แต่นั้น.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายรับบิณฑบาตมา. ท่านก็ฉันแต่ที่ชอบใจจนล้นคอหอย. ท่านเป็นอยู่อย่างนี้ถึง ๔ เดือน. ภิกษุรูปนี้เรียกว่า มีชีวิตอยู่อย่างเศรษฐีหัวโล้น มิใช่มีชีวิตอยู่อย่างสมณะ. ภิกษุแบบนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้สะสมอามิส.
               ก็ในที่อยู่ของภิกษุจะเก็บได้เพียงเท่านี้ คือ ข้าวสารทะนาน ๑ น้ำอ้อยงบ ๑ เนยใสประมาณ ๔ ส่วน เพื่อประโยชน์สำหรับพวกที่เข้ามาผิดเวลา. ด้วยว่าพวกโจรเหล่านั้น เมื่อไม่ได้อามิสปฏิสันถารเท่านี้ พึงปลงแม้ชีวิต เพราะฉะนั้น ถ้าเสบียงเพียงเท่านี้ก็ไม่มี แม้จะให้นำมาเอง เก็บไว้ก็ควร.
               อนึ่ง ในเวลาไม่สบาย ในที่อยู่นี้มีสิ่งใดที่เป็นกัปปิยะ จะฉันสิ่งนั้นแม้ด้วยตนเองก็ควร. ส่วนในกัปปิยกุฏี แม้จะเก็บไว้มากก็ไม่ชื่อว่าเป็นการสะสม.
               แต่สำหรับพระตถาคต ที่จะชื่อว่าทรงเก็บข้าวสารทะนานหนึ่งเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือชิ้นผ้าเก่าประมาณองคุลี ด้วยมีพระพุทธดำริว่า สิ่งนี้จักมีแก่เราในวันนี้หรือในวันพรุ่งนี้ดังนี้ หามีไม่.

               ในการดูที่เป็นข้าศึก มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               ที่ชื่อว่า การฟ้อนรำ ได้แก่ การฟ้อนรำอย่างใดอย่างหนึ่ง. ภิกษุแม้เดินผ่านไปทางนั้นจะชะเง้อดูก็ไม่ควร. ก็วินิจฉัยโดยพิสดารในอธิการนี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัยนั่นแหละ และในบทพระสูตรที่เกี่ยวด้วยสิกขาบททุกแห่ง ก็พึงทราบวินิจฉัยอย่างเดียวกับในอธิการนี้.
               ก็เบื้องหน้าแต่นี้ไป จะไม่กล่าวเพียงเท่านี้ จักพรรณนาให้พอแก่ประโยชน์ในข้อนั้นๆ ทีเดียวฉะนี้แล.
               บทว่า เปกฺขํ ได้แก่ มหรสพมีการรำเป็นต้น.
               บทว่า อกฺขานํ ได้แก่ การเล่าเรื่องสงครามมีภารยุทธและรามเกียรติ์เป็นต้น. ภิกษุแม้จะไปในที่ที่เขาเล่านิยมนั้น ก็ไม่ควร.
               บทว่า ปาณิสฺสรํ ได้แก่ กังสดาล. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า การเล่นปรบฝ่ามือ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า เวตาฬํ ได้แก่ ตีกลางฆนะ. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ปลุกร่างของคนตายให้ลุกขึ้นด้วยมนต์ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า กุมฺภถูนํ ได้แก่ ตีกลอง ๔ เหลี่ยม. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า เสียงหม้อ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า โสภนครกํ ได้แก่ ฉากละครหรือภาพบ้านเมืองที่สวยงาม. อธิบายว่าเป็นภาพวิจิตรด้วยปฏิภาณ.
               บทว่า จณฺฑาลํ ได้แก่ การเล่นขลุบทำด้วยเหล็ก. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า การเล่นซักผ้าเปลือกไม้ของพวกคนจัณฑาล.
               บทว่า วํสํ ได้แก่ การเล่นยกไม้ไผ่ขึ้น.
               บทว่า โธวนํ ได้แก่ การเล่นล้างกระดูก.
               ได้ยินว่า ในชนบทบางแห่ง เมื่อญาติตาย เขายังไม่เผา เก็บฝังไว้ ครั้นรู้ว่า ศพเหล่านั้นเปื่อยเน่าแล้ว ก็นำออกมาล้างอัฐิ ทาด้วยของหอม แล้วเก็บไว้. ในคราวนักษัตรฤกษ์ เขาตั้งอัฐิไว้แห่งหนึ่ง ตั้งสุราเป็นต้นไว้แห่งหนึ่ง แล้วก็พากันร้องไห้คร่ำครวญดื่มเหล้ากัน.
               ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีพิธีชื่อว่า การเล่นล้างอัฐิในชนบทตอนใต้ ในพิธีนั้นมีข้าวบ้าง น้ำบ้าง ของเคี้ยวบ้าง ของบริโภคบ้าง ของลิ้มบ้างเป็นอันมาก.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พิธีล้างกระดูกนั้นมีอยู่ เรามิได้กล่าวว่า พิธีล้างอัฐินั้นไม่มี.
____________________________
๑- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๑๐๗

               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พิธีล้างกระดูกด้วยการเล่นกล ชื่อว่าการเล่นหน้าศพ ดังนี้ก็มี.
               ในบรรดาการชนช้างเป็นต้น การต่อสู้กับช้างเป็นต้นก็ดี การให้ช้างชนกันก็ดี การดูช้างชนกันก็ดี ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งนั้น.
               บทว่า นิพฺพุทฺธํ ได้แก่ การสู้กันของมวยปล้ำ.
               บทว่า อุยฺโยธิกํ ได้แก่ สถานที่ซ้อมรบกัน.
               บทว่า พลคฺคํ ได้แก่ สถานที่ของหมู่พลรบ.
               บทว่า เสนาพฺยูหํ ได้แก่ การจัดกองทัพ คือการตั้งทัพด้วยสามารถแห่งการจัดกระบวนทัพมีกระบวนเกวียนเป็นต้น.
               บทว่า อนีกทสฺสนํ ได้แก่ การดูกองทัพที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า ช้าง ๓ เชือกเป็นอย่างต่ำ ชื่อว่าทัพช้าง๒- ดังนี้.
____________________________
๒- วิ. มหาวิ. เล่ม ๒/ข้อ ๕๗๒

               ชื่อว่า ปมาทัฏฐาน เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท. การพนันนั้นด้วย เป็นที่ตั้งแห่งความประมาทด้วย เหตุนั้น ชื่อว่า การพนันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท.
               หมากรุก ชื่อว่า เล่นแถวละ ๘ ตา เพราะมีตาอยู่แถวละ ๘ๆ แม้ในการเล่นหมากรุกแถวละ ๑๐ ตา ก็มีนัยดังนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อากาสํ ได้แก่ การเล่นหมากเก็บ เหมือนในการเล่นหมากรุก แถวละ ๘ ตา แถวละ ๑๐ ตา.
               บทว่า ปริหารปถํ ได้แก่ การเล่นของคนที่ทำเป็นวงกลมไว้หลายแนวด้วยกัน บนพื้นดิน เดินเลี่ยงกันไปในวงกลมนั้นๆ.
               บทว่า สนฺติกํ ได้แก่ เล่นใกล้ๆ กัน (เล่นอีขีดอีเขียน) โดยเอาเบี้ยหรือก้อนกรวดกองรวมกันไว้ ไม่ให้เคลื่อน เอาเล็บเขี่ยออกไปและเขี่ยเข้ามา ถ้าไหวบางเม็ดในนั้น เป็นอันแพ้. นี้เป็นชื่อของการเล่นแบบนั้น.
               บทว่า ขลิกํ ได้แก่ การเล่นสะกาบนกระดานสะกา.
               เล่นเอาไม้ท่อนยาวตีไม้ท่อนสั้น เรียกว่า เล่นไม้หึ่ง.
               บทว่า สลากหตฺถํ ได้แก่ การเล่นโดยเอาครั่งหรือฝางหรือแป้งเปียกชุบมือที่กำซี่ไม้ไว้ทายว่า จะเป็นรูปอะไร ดีดไปที่พื้นดินหรือที่ฝา แสดงรูปช้างม้าเป็นต้น.
               บทว่า อกฺขํ ได้แก่ เล่นขลุบ. เล่นเป่าหลอดที่ทำด้วยใบไม้นั้น เรียกว่าเล่นเป่าใบไม้.
               บทว่า วงฺกกํ ได้แก่ ไถเล็กๆ เป็นเครื่องเล่นของเด็กชาวบ้าน.
               บทว่า โมกฺขจิกํ ได้แก่ เช่นพลิกกลับตัวไปมา (ตีลังกา). มีอธิบายว่า จับท่อนไม้ไว้ในอากาศ หรือวางศีรษะไว้บนพื้น เล่นพลิกตัวโดยเอาข้างล่างไว้ข้างบน เอาข้างบนไว้ข้างล่าง.
               ที่เรียกว่า เล่นกังหัน ได้แก่ เล่นจักรที่หมุนได้ด้วยลมพัด ที่ทำด้วยใบตาลเป็นต้น.
               ที่เรียกว่า เล่นตวงทราย ได้แก่ เอาทะนานที่ทำด้วยใบไม้ เล่นตวงทรายเป็นต้น.
               บทว่า รถกํ ความว่า เล่นรถเล็กๆ.
               บทว่า ธนุกํ ความว่า เล่นธนูเล็กๆ นั่นเอง.
               ที่เรียกว่า เล่นทายอักษร ได้แก่ เล่นให้รู้อักษรในอากาศหรือบนหลัง.
               ที่ชื่อว่า เล่นทายใจ ได้แก่ เล่นให้รู้เรื่องที่คิดด้วยใจ.
               ที่ชื่อว่า เล่นเลียนคนพิการ ได้แก่ เล่นโดยแสดงเลียนแบบโทษของคนพิการมีคนตาบอด คนง่อยและคนค่อมเป็นต้น.
               บทว่า อาสนฺทึ ได้แก่ อาสนะที่เกินประมาณ. ก็ที่ทำเป็นทุติยาวิภัตติทุกบท เล็งถึงคำว่า อนุยุตฺตา วิหรนฺติ นี้.
               บทว่า ปลฺลงฺโก ได้แก่ เตียงที่ทำรูปสัตว์ร้ายไว้ที่เท้า.
               บทว่า โคณโก ได้แก่ ผ้าโกเชาว์ผืนใหญ่มีขนยาว. ได้ยินว่า ผ้าโกเชาว์ผืนใหญ่นั้นมีขนยาวเกิน ๔ องคุลี.
               บทว่า จิตฺตกํ ได้แก่ เครื่องลาดทำด้วยขนแกะ วิจิตรด้วยเครื่องร้อยรัดชนิดหนึ่ง.
               บทว่า ปฏิกา ได้แก่ เครื่องลาดสีขาวทำด้วยขนแกะ.
               บทว่า ปฏลิกา ได้แก่ เครื่องลาดทำด้วยขนแกะเป็นรูปดอกไม้ทึบซึ่งบางคนเรียกว่ามีทรงเป็นใบมะขามป้อม ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ตูลิกา ได้แก่ เครื่องลาดยัดนุ่น เต็มไปด้วยนุ่น ๓ ชนิดชนิดใดชนิดหนึ่ง.
               บทว่า วิกติกา ได้แก่ เครื่องลาดทำด้วยขนแกะ วิจิตรด้วยรูปสีหะและเสือเป็นต้น.
               บทว่า อุทฺธโลมึ ได้แก่ เครื่องลาดทำด้วยขนแกะมีชาย ๒ ข้าง. อาจารย์บางท่านกล่าวว่า เป็นรูปดอกไม้ชูขึ้นข้างเดียวกัน.
               บทว่า เอกนฺตโลมึ ได้แก่ เครื่องลาดทำด้วยขนแกะมีชายข้างเดียว. บางท่านกล่าวว่า เป็นรูปดอกไม้ชูขึ้น ๒ ข้าง ดังนี้ก็มี.
               บทว่า กฎฺฐิสฺสํ ได้แก่ เครื่องลาดทำด้วยใยไหม ขลิบแก้ว.
               บทว่า โกเสยฺยํ ได้แก่ เครื่องลาดทำด้วยเส้นไหม ขลิบแก้วเหมือนกัน. ส่วนผ้าไหมล้วน ตรัสไว้ในพระวินัยว่าควร. แต่ในอรรถกถาทีฆนิกายกล่าวว่า เว้นเครื่องลาดยัดนุ่น เครื่องลาดที่ทอด้วยรัตนะมีพรมที่ทำด้วยขนสัตว์เป็นต้นทุกอย่างเลยไม่ควร.
               บทว่า กุตฺตกํ ได้แก่ เครื่องลาดทำด้วยขนแกะพอที่นางฟ้อน ๑๖ นางยืนฟ้อนได้.
               บทว่า หตฺถตฺถรํ อสฺสตฺตถรํ ได้แก่ เครื่องลาดที่ใช้ลาดบนหลังช้างหลังม้านั้นเอง. แม้ในเครื่องลาดในรถ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อชินปฺปเวณึ ได้แก่ เครื่องลาดเย็บด้วยหนังเสือพอขนาดเตียง.
               บทว่า กทลิมิคปวรปจฺจตฺถรณํ ได้แก่ เครื่องลาดอย่างดีที่ทำด้วยหนังชะมด. อธิบายว่า เป็นเครื่องชั้นสูงสุด. ได้ยินว่า เครื่องลาดนั้น เขาลาดเย็บทำหนังชะมดบนผ้าขาว.
               บทว่า สอุตฺตรจฺฉทํ ได้แก่ เครื่องลาดพร้อมเพดานบน คือพร้อมกับเพดานสีแดงที่ติดไว้เบื้องบน. แม้เพดานสีขาว เมื่อมีเครื่องลาดเป็นอกัปปิยะอยู่ภายใต้ ไม่ควร แต่เมื่อไม่มี ควรอยู่.
               บทว่า อุภโตโลหิตกุปธานํ ได้แก่ เครื่องลาดมีหมอนสีแดงอยู่ ๒ ข้างเตียง คือหมอนหนุนศีรษะและหมอนหนุนเท้า นั่นไม่ควร. ส่วนหมอนใบเดียวเท่านั้นทั้ง ๒ ข้างมีสีแดงก็ดี มีสีดอกปทุมก็ดี มีลวดลายวิจิตรก็ดี ถ้าได้ขนาดก็ควร แต่หมอนใหญ่ท่านห้าม. หมอนที่สีไม่แดงแม้ ๒ ใบก็ควรเหมือนกัน. ได้เกินกว่า ๒ ใบนั้นควรให้แก่ภิกษุรูปอื่นๆ. เมื่อไม่อาจจะให้ได้ แม้จะลาดขวางไว้บนเตียง ปูเครื่องลาดไว้ข้างบนแล้วนอน ก็ย่อมได้. และพึงปฏิบัติตามนัยที่ตรัสไว้ในเรื่องเตียงที่มีเท้าเกินประมาณเป็นต้นนั่นเทียว.
               ดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตัดเท้าเตียงที่มีเท้าเกินประมาณแล้วใช้สอยได้ อนุญาตให้ทำลายรูปสัตว์ร้ายของเตียง มีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้ายแล้วใช้สอยได้ อนุญาตให้แหวะเครื่องลาดที่ยัดนุ่น ทำเป็นหมอนได้ อนุญาตให้ทำเครื่องลาดพื้นที่เหลือได้๓- ดังนี้.
____________________________
๓- วิ. จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๒๙๑

               ในเรื่องอบตัวเป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               กลิ่นกายของทารกที่คลอดจากครรภ์มารดา จะหมดไปในเวลาที่มีอายุประมาณ ๑๒ ปี คนทั้งหลายจึงอบตัวด้วยจุณของหอมเป็นต้น เพื่อกำจัดกลิ่นเหม็นของกายทารกเหล่านั้น การอบตัวอย่างนี้ไม่ควร.
               อนึ่ง หากทารกที่มีบุญ เขาให้นอนบนระหว่างขาทั้ง ๒ เอาน้ำมันทาไคลอวัยวะเพื่อให้มือ เท้า ขา ท้องเป็นต้น ได้สัดส่วน. การไคลตัวอย่างนี้ไม่ควร.
               บทว่า นฺหาปนํ ได้แก่ การอาบ เหมือนอาบน้ำหอมเป็นต้น ให้ทารกเหล่านั้นแหละ.
               บทว่า สมฺพาหนํ ได้แก่ นวด เหมือนพวกนักมวยรุ่นใหญ่ใช้ค้อนเป็นต้นตีมือเท้า ทำให้แขนโตขึ้น.
               บทว่า อาทาสํ ได้แก่ ไม่ควรใช้กระจกอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า อญฺชนํ ได้แก่ แต้มตาทำให้งามนั่นเอง.
               บทว่า มาลา ได้แก่ ดอกไม้ที่ร้อยบ้าง ดอกไม้ที่ไม่ได้ร้อยบ้าง.
               บทว่า วิเลปนํ ได้แก่ ทำการประเทืองผิวอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               ด้วยบทว่า มุขจุณฺณกํ มุขาเลปนํ คนทั้งหลายใส่ตะกอนดินเพื่อต้องการกำจัดไฝและตุ่มเป็นต้นที่หน้า เมื่อโลหิตเดินไปด้วยตะกอนดินนั้นก็ใส่ตะกอนเมล็ดพันธุ์ผักกาด เมื่อตะกอนเมล็ดพันธุ์ผักกาดกัดส่วนที่เสียหมดแล้ว ก็ใส่ตะกอนงา เมื่อโลหิตหยุดด้วยตะกอนงานั้น เขาก็ใส่ตะกอนขมิ้นนั้น เมื่อผิวพรรณผุดผาดด้วยตะกอนขมิ้นแล้ว ก็ผัดหน้าด้วยแป้งผัดหน้า การกระทำทั้งหมดนั้นไม่ควร ฉะนี้แล.

               ในเรื่องประดับข้อมือเป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               คนบางพวกเอาสังข์และกระเบื้องเป็นต้นที่วิจิตรผูกที่มือเที่ยวไป. เครื่องประดับมืออย่างนั้นก็ดี อย่างอื่นก็ดี ทั้งหมดไม่ควร. คนอีกพวกหนึ่งผูกปลายผมเที่ยวไป และเอาเส้นทอง และเถามุกดาเป็นต้น ล้อมปลายผมนั้น. ทั้งหมดนั้นไม่ควร.
               คนอีกพวกหนึ่งถือไม้เท้ายาว ๔ ศอกหรือไม้เท้าอย่างอื่น มีด้ามประดับสวยงาม เที่ยวไป. กล้องยาที่วิจิตรด้วยรูปหญิงชายเป็นต้นวงรอบเป็นอย่างดี คล้องไว้ข้างซ้าย.
               แม้ดาบคมกริบ มีฝักล้อมด้วยรัตนะเป็นรูปดอกกรรณิการ์ ร่มอันวิจิตรด้วยฟันมังกรเป็นต้น เย็บด้วยด้าย ๕ สี.
               รองเท้าวงด้วยแววหางนกยูงเป็นต้น วิจิตรด้วยทองและเงินเป็นต้น.
               บางพวกแสดงท้ายผมตกยาวประมาณศอกหนึ่ง กว้าง ๔ องคุลี ติดแผ่นกรอบหน้าผากเหมือนฟ้าแลบในกลีบเมฆ ปักปิ่น ใช้พัดจามรและพัดวาลวีชนี. ทั้งหมดนั้น ไม่ควร.
               ที่ชื่อว่า ติรัจฉานกถา เพราะเป็นถ้อยคำที่ขวางทางสวรรค์และทางนิพพาน เพราะไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุให้ออกไปจากทุกข์.
               บรรดาติรัจฉานกถาเหล่านั้น เรื่องที่พูดปรารภถึงพระราชา โดยนัยมีอาทิว่า พระเจ้ามหาสมมตราช พระเจ้ามันธาตุราช พระเจ้าธรรมาโศกราช มีอานุภาพมากอย่างนี้ ชื่อว่า เรื่องพระราชา. ในเรื่องโจรเป็นต้นก็นัยนี้.
               ถ้อยคำที่เกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัว โดยนัยเป็นต้นว่า บรรดาท่านเหล่านั้น พระราชาองค์โน้นมีรูปงามน่าชม ดังนี้แหละ ชื่อว่าเป็นติรัจฉานกถา. แต่เรื่องที่พูดอย่างนี้ว่า พระราชาพระนามแม้นั้น มีอานุภาพมากอย่างนี้ สวรรคตแล้ว ดังนี้ ตั้งอยู่ในความเป็นกรรมฐาน.
               แม้ในเรื่องโจร ถ้อยคำที่เกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวว่า โอ กล้าจริง ดังนี้ อิงอาศัยการกระทำของโจรเหล่านั้นว่า โจรชื่อมูลเทพ มีอานุภาพมากอย่างนี้ โจรชื่อเมฆมาล มีอานุภาพมากอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่าติรัจฉานกถา.
               แม้ในเรื่องการรบ มีเรื่องภารตยุทธ์เป็นต้น ถ้อยคำที่เกี่ยวกับความพอใจในเรื่องทายว่า คนโน้นถูกคนโน้นฆ่าอย่างนี้ แทงอย่างนี้นั่นแหละ ชื่อว่าติรัจฉานกถา. แต่เรื่องที่พูดอย่างนี้ว่า แม้คนชื่อเหล่านี้ก็ถึงความสิ้นไป ดังนี้ ย่อมเป็นกรรมฐานทุกเรื่องทีเดียว.
               อนึ่ง ในเรื่องข้าวเป็นต้น การพูดเกี่ยวกับความพอใจในสิ่งที่ชอบว่า เราเคี้ยว เราบริโภคข้าวมีสีสวย มีกลิ่นหอม มีรสอร่อย นิ่มนวล ดังนี้ ไม่ควร. แต่การพูดทำให้มีประโยชน์ว่า เมื่อก่อนเราได้ถวายข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน ดอกไม้ ของหอมอันถึงพร้อมด้วยสีเป็นต้น แก่ท่านผู้มีศีล เราได้บูชาพระเจดีย์อย่างนี้ ดังนี้ ย่อมควร.

               ก็ในเรื่องญาติเป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               การพูดเกี่ยวกับความพอใจว่า ญาติของพวกเรากล้าสามารถ ดังนี้ก็ดี ว่าเมื่อก่อนเราเที่ยวไปด้วยยานอันสวยงามอย่างนี้ ดังนี้ก็ดี ไม่ควร. แต่ควรจะพูดให้มีประโยชน์ว่า ญาติของพวกเราแม้เหล่านั้น ก็ตายไปแล้ว หรือว่า เมื่อก่อน เราได้ถวายรองเท้าอย่างนี้แก่พระสงฆ์ ดังนี้.

               ก็ในเรื่องบ้านเป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               แม้พูดเรื่องบ้านที่เกี่ยวกับเรื่องว่า อยู่อาศัยดี อยู่อาศัยไม่ดี ข้าวปลาหาได้ง่าย และข้าวยากหมากแพงเป็นต้น หรือที่เกี่ยวกับความพอใจอย่างนี้ว่า ชาวบ้านโน้นกล้าสามารถ ดังนี้ ไม่ควร. แต่พูดให้มีประโยชน์ว่า ชาวบ้านโน้นมีศรัทธาเลื่อมใส หรือว่า ถึงความสิ้นไปเสื่อมไป ดังนี้ ควรอยู่. แม้ในเรื่องนิคม นคร ชนบท ก็นัยนี้แหละ.
               แม้เรื่องหญิงที่เกี่ยวกับความพอใจอาศัยผิวพรรณและทรวดทรงเป็นต้น ไม่ควร. แต่พูดอย่างนี้ว่า หญิงคนโน้นมีศรัทธาเลื่อมใส ถึงความสิ้นไปเสื่อมไป ดังนี้แหละ ควรอยู่.
               แม้เรื่องคนกล้าที่เกี่ยวกับความพอใจว่า ทหารชื่อนันทมิตเป็นคนกล้า ดังนี้ ไม่ควร. แต่พูดอย่างนี้ว่า ทหารเป็นผู้มีศรัทธา ถึงความสิ้นไปดังนี้แหละ ควรอยู่.
               เมื่อเรื่องตรอกที่เกี่ยวกับความพอใจว่า ตรอกโน้นอยู่ดี อยู่ไม่ดี มีคนกล้า มีคนสามารถ ดังนี้ ไม่ควร. พูดอย่างนี้ว่า ตรอกโน้นมีคนมีศรัทธาเลื่อมใส ถึงความสิ้นไปเสื่อมไป ดังนี้ ควรอยู่.
               บทว่า กุมฺภฎฺฐานกถํ ได้แก่ การพูดเรื่องที่ตั้งน้ำ การพูดเรื่องท่าน้ำ ท่านเรียกว่ากุมภทาสีกถาก็มี. พูดเกี่ยวกับความพอใจว่า นางกุมภทาสีแม้นั้นน่าเลื่อมใส ฉลาดฟ้อนรำ ขับร้อง ดังนี้แหละ ไม่ควร. แต่พูดโดยนัยเป็นต้นว่า เป็นคนมีศรัทธาเลื่อมใส ดังนี้แหละ ควรอยู่.
               บทว่า ปุพฺพเปตกถํ ได้แก่ พูดเรื่องญาติในอดีต. ข้อวินิจฉัย ก็เหมือนกับพูดเรื่องญาติปัจจุบันในที่นั้นๆ.
               บทว่า นานตฺตกถา ได้แก่ พูดเรื่องไร้ประโยชน์ เป็นเรื่องต่างๆ ที่เหลือพ้นจากคำต้นและคำปลาย.
               บทว่า โลกกฺขายิกา ความว่า การพูดเล่นเกี่ยวกับโลกเป็นต้นอย่างนี้ว่า โลกนี้ใครสร้าง คนโน้นสร้าง กาสีขาวเพราะกระดูกขาว นกตะกรุมสีแดงเพราะเลือดแดง ดังนี้.
               ที่ชื่อว่า พูดเรื่องทะเล ได้แก่ ถ้อยคำที่กล่าวถึงทะเลอันไร้ประโยชน์เป็นต้นอย่างนี้ว่า ทะเลชื่อว่าสาคร เพราะเหตุไร? เพราะพระเจ้าสาครเทพขุดไว้ ฉะนั้นจึงชื่อว่า สาคร. ที่ชื่อว่า สมุทร เพราะประกาศด้วยหัวแม่มือว่า สาคร เราขุดไว้ ดังนี้.
               บทว่า ภโว แปลว่า ความเจริญ.
               บทว่า อภโว แปลว่า ความเสื่อม.
               ถ้อยคำที่พูดกล่าวถึงเหตุอันไร้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งว่า เจริญ เพราะเหตุนี้ เสื่อมเพราะเหตุนี้ ดังนี้ ชื่อว่า พูดเรื่องความเจริญความเสื่อม ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า วิคฺคาหิกกถา ได้แก่ การพูดแก่งแย่ง การพูดแข่งดี.
               บทว่า สหิตํ เม ในอธิการนั้น ความว่า คำพูดของข้าพเจ้ามีประโยชน์ สละสลวย ประกอบด้วยผล ประกอบด้วยเหตุ.
               บทว่า อสหิตนฺเต ได้แก่ คำพูดของท่านไม่มีประโยชน์ ไม่สละสลวย.
               บทว่า อธิจิณฺณนฺเต วิปฺปราวตฺตํ ได้แก่ ข้อที่ท่านคล่องแคล่วเป็นอย่างดี ด้วยอำนาจเคยสั่งสมมาเป็นเวลานานนั้น ได้ผันแปรไปแล้ว คือบิดเบือนไปแล้ว ด้วยคำพูดคำเดียวเท่านั้นของเรา ท่านยังไม่รู้อะไร.
               บทว่า อาโรปิโต เต วาโท ได้แก่ ความผิดในวาทะของท่าน ข้าพเจ้าจับได้แล้ว.
               บทว่า จร วาทปฺปโมกฺขาย ความว่า เพื่อเปลื้องความผิด ท่านจงเที่ยวไปเที่ยวมา จงไปศึกษาในข้อนั้นๆ เสีย.
               บทว่า นิพฺเพเฐหิ วา เสจ ปโหสิ ความว่า ถ้าท่านเองสามารถ ก็จงแก้ไขเสียในบัดนี้ทีเดียว.

               ในเรื่องการทำตัวเป็นทูต มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               บทว่า อิธ คจฺฉ ความว่า จงไปจากที่นี้สู่ที่ชื่อโน้น.
               บทว่า อมุตฺร คจฺฉ ความว่า จงไปจากที่นั้นสู่ที่ชื่อโน้น.
               บทว่า อิทํ หร ความว่า จงนำเรื่องนี้ไปจากที่นี้.
               บทว่า อมุตฺร อิทํ อาหร ความว่า จงนำเรื่องนี้จากที่โน้นมาในที่นี้.
               ก็โดยสังเขป ขึ้นชื่อว่าการทำตัวเป็นทูตนี้ สำหรับสหธรรมิกทั้ง ๕ และข่าวสาสน์ของคฤหัสถ์ที่เกี่ยวด้วยอุปการะพระรัตนตรัย ควร. สำหรับคนเหล่าอื่น ไม่ควร.

               ในบทว่า กุหกา เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               ที่ชื่อว่า พูดหลอกลวง เพราะหลอกลวงชาวโลก คือให้พิศวงด้วยเรื่องหลอกลวง ๓ อย่าง.
               ที่ชื่อว่า พูดเลียบเคียง เพราะเป็นผู้พูดมีความต้องการลาภสักการะ.
               ที่ชื่อว่า พูดหว่านล้อม เพราะเป็นคำพูดที่มีการหว่านล้อมเป็นปกติทีเดียว.
               ที่ชื่อว่า พูดและเล็ม เพราะมีคำพูดและเล็มเป็นปกติทีเดียว.
               ที่ชื่อว่า แสวงหาลาภด้วยลาภ เพราะแสวงหา คือค้นหา เสาะหาลาภด้วยลาภ.
               นี้เป็นชื่อของบุคคลผู้ประกอบการด้วยการหลอกลวงเหล่านี้ คือพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ. นี้เป็นความย่อในที่นี้ แต่โดยพิสดาร เรื่องพูดมีพูดหลอกลวงเป็นต้น ข้าพเจ้าได้นำพระบาลีและอรรถกถามาประกาศไว้ในสีลนิเทศในวิสุทธิมรรค ดังนี้แล.
               มัชฌิมศีลจบเพียงเท่านี้.               

               เบื้องหน้าแต่นี้ไปเป็นมหาศีล               
               บทว่า องฺคํ ได้แก่ ตำราทายอวัยวะที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า ผู้ที่ประกอบด้วยอวัยวะมีมือและเท้าเห็นปานนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง มีอายุยืน มียศ.
               บทว่า นิมิตฺตํ ได้แก่ ตำราทายนิมิต.
               ได้ยินว่า พระเจ้าปัณฑุราชทรงกำแก้วมุกดาไว้ ๓ ดวง แล้วตรัสถามหมอดูนิมิตว่า อะไรอยู่ในกำมือของฉัน? หมอดูนิมิตผู้นั้นเหลียวดูข้างโน้นข้างนี้ และในเวลานั้น แมลงวันถูกจิ้งจกคาบแล้วหลุดไป เขาจึงกราบทูลว่า แก้วมุกดา ตรัสถามต่อไปว่า กี่ดวง? เขาได้ยินเสียงไก่ขัน ๓ ครั้ง จึงกราบทูลว่า ๓ ดวง. สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกทายนิมิตอ้างตำราทายนิมิตนั้นๆ อยู่อย่างนี้.
               บทว่า อุปฺปาตํ ได้แก่ ทายวัตถุใหญ่ๆ เช่น อสนีบาตเป็นต้นตกลงมา. ก็สมณพราหมณ์บางพวกเห็นดังนั้นแล้วทำนายอ้างว่า จักมีเรื่องนี้ จักเป็นอย่างนี้.
               บทว่า สุปินํ ได้แก่ สมณพราหมณ์บางพวกประกอบเนืองๆ ซึ่งการทำนายฝันโดยนัยมีอาทิว่า ผู้ฝันเวลาเช้าจะมีผลอย่างนี้ ผู้ฝันดังนี้จะมีเรื่องชื่อนี้ ดังนี้อยู่.
               บทว่า ลกฺขณํ ได้แก่ ตำราทายลักษณะมีอาทิว่า ผู้ที่ประกอบด้วยลักษณะนี้จะเป็นพระราชา ด้วยลักษณะนี้จะเป็นอุปราช.
               บทว่า มูสิกจฺฉินฺนํ ได้แก่ ตำราทำนายหนูกัดผ้า. ก็เมื่อผ้าแม้ถูกหนูนั้นคาบมาหรือไม่คาบมาก็ตาม กัดอย่างนี้ตั้งแต่ที่นี้ไป สมณพราหมณ์บางพวกก็ทำนายอ้างว่า จะมีเรื่องชื่อนี้.
               บทว่า อคฺคโหมํ ได้แก่ พิธีบูชาไฟว่า เมื่อใช้ฟืนอย่างนี้ บูชาไฟอย่างนี้ จะมีผลชื่อนี้.
               แม้พิธีเบิกแว่นเวียนเทียนเป็นต้น ก็คือพิธีบูชาไฟนั่นเอง ตรัสไว้แผนกหนึ่ง ด้วยสามารถแห่งความเป็นไปอย่างนี้ว่า เมื่อใช้แว่นเวียนเทียนเห็นปานนี้ ใช้วัตถุมีรำเป็นต้นเช่นนี้บูชาไฟ จะมีผลชื่อนี้.
               บทว่า กโณ ในพิธีนั้น ได้แก่รำข้าว.
               บทว่า ตณฺฑุล ได้แก่ ข้าวสารแห่งข้าวสาลีเป็นต้น และแห่งติณชาติทั้งหลาย.
               บทว่า สปฺปิ ได้แก่ เนยโคเป็นต้น.
               บทว่า เตลํ ได้แก่ น้ำมันงาเป็นต้น.
               ก็การอมเมล็ดพันธุ์ผักกาดเป็นต้น พ่นเข้าในไฟ หรือการร่ายเวท เป่าเข้าในไฟ ชื่อว่าทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ.
               การบูชายัญด้วยโลหิตแห่งรากขวัญและเข่าเบื้องขวาเป็นต้น ชื่อว่าบูชาด้วยโลหิต.
               บทว่า องฺควิชฺชา ได้แก่ ข้อแรกพูดถึงอวัยวะโดยได้เห็นอวัยวะก่อน แล้วจึงพยากรณ์ ในที่นี้ตรัสถึงวิชาดูอวัยวะ โดยได้เห็นกระดูก นิ้วมือ แล้วร่ายเวทพยากรณ์ว่า กุลบุตรนี้มีทรัพย์หรือไม่ หรือมีสิริหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า วตฺถุวิชฺชา ได้แก่ วิชาหมอดู กำหนดคุณและโทษแห่งปลูกเรือนและพื้นที่สวนเป็นต้น. แม้ได้เห็นความต่างแห่งดินเป็นต้น ก็่ร่ายเวทเห็นคุณและโทษในใต้พื้นปฐพี ในอากาศ ประมาณ ๓๐ ศอกและในพื้นที่ประมาณ ๘๐ ศอก.
               บทว่า เขตฺตวิชฺชา ได้แก่ วิชานิติศาสตร์มีอัพเภยศาสตร์ มาสุรักขศาสตร์และราชศาสตร์เป็นต้น.
               บทว่า สิววิชฺชา ได้แก่ วิชาว่าด้วยการเข้าไปทำความสงบในป่าช้า. อาจารย์บางท่านกล่าวว่า เป็นวิชารู้เสียงหอนของสุนัขจิ้งจอกก็มี.
               บทว่า ภูตวิชฺชา ได้แก่ มนต์ของหมอผี.
               บทว่า ภูริวิชฺชา ได้แก่ มนต์ที่คนอยู่ในบ้านเรือนจะต้องเรียนไว้.
               บทว่า อหิวิชฺชา ได้แก่ วิชารักษาคนถูกงูกัด และวิชาเรียกงู.
               บทว่า วิสวิชฺชา ได้แก่ วิชาที่ใช้รักษาพิษเก่าหรือรักษาพิษใหม่ หรือใช้ทำพิษอย่างอื่น.
               บทว่า วิจฺฉิกวิชฺชา ได้แก่ วิชารักษาแมงป่องต่อย.
               แม้ในวิชาว่าด้วยหนู ก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า สกุณวิชฺชา ได้แก่ รู้เสียงนก โดยรู้เสียงร้องและการไปเป็นต้น ของสัตว์มีปีกและไม่มีปีก และสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า.
               บทว่า วายสวิชฺชา ได้แก่ รู้เสียงของกา. ความรู้นั้น เป็นตำราแผนกหนึ่งทีเดียว ฉะนั้น จ ึงได้ตรัสไว้แผนกหนึ่ง.
               บทว่า ปกฺกชฺฌานํ ได้แก่ วิชาแก่คิด. อธิบายว่า เป็นความรู้ในสิ่งที่ตนไม่เห็น ในบัดนี้ เป็นไปอย่างนี้ว่า คนนี้จักเป็นอยู่ได้เท่านี้ คนนี้เท่านี้.
               บทว่า สวปริตฺตานํ ได้แก่ วิชาแคล้วคลาด คือเป็นวิชาทำให้ลูกศรไม่มาถูกตนได้.
               บทว่า มิคจกฺกํ นี้ ตรัสรวมสัตว์ทุกชนิด โดยที่รู้เสียงร้องของนกและสัตว์ ๔ เท้าทั้งหมด.

               ในการทายลักษณะแก้วมณีเป็นต้น มีอธิบายดังนี้               
               สมณพราหมณ์บางพวกประกอบเนืองๆ ซึ่งการทายลักษณะแก้วมณีเป็นต้น ด้วยอำนาจสีและสัณฐานเป็นต้น อย่างนี้ว่า แก้วมณีอย่างนี้ดี อย่างนี้ไม่ดี เป็นเหตุ ไม่เป็นเหตุ ให้เจ้าของปราศจากโรคและมีความยิ่งใหญ่เป็นต้น.
               ในการทายลักษณะนั้น คำว่า อาวุธํ ได้แก่เว้นของมีคมมีดาบเป็นต้น นอกนั้นชื่อว่าอาวุธ.
               แม้การทายลักษณะหญิงเป็นต้น ก็พึงทราบโดยความเจริญและความเสื่อมของตระกูลที่หญิงชายเป็นต้นเหล่านั้นอยู่.
               ส่วนในการทายลักษณะแพะเป็นต้น พึงทราบความต่างกันดังนี้ว่า เนื้อของสัตว์มีแพะเป็นต้น อย่างนี้ควรกิน อย่างนี้ไม่ควรกิน.
               อนึ่ง ในการทายลักษณะเหี้ยนี้ พึงทราบความต่างกันแม้ในภาพจิตรกรรมและเครื่องประดับเป็นต้น แม้ดังนี้ว่า เมื่อมีเหี้ยอย่างนี้ จะมีผลอันนี้.
               การทายลักษณะช่อฟ้า พึงทราบโดยเป็นช่อฟ้าเครื่องประดับบ้าง ช่อฟ้าเรือนบ้าง.
               การทายลักษณะเต่า ก็เช่นเดียวกับการทายลักษณะเหี้ยนั่นเอง.
               การทายลักษณะเนื้อ ตรัสรวมสัตว์ทุกชนิดโดยลักษณะของสัตว์ ๔ เท้าทั้งหมด.
               คำว่า อญฺญํ นิยฺยานํ ภวิสฺสติ ได้แก่ พยากรณ์การเสด็จประพาสของพระราชาทั้งหลายอย่างนี้ว่า พระราชาพระองค์โน้นจักเสด็จออกโดยวันโน้น โดยฤกษ์โน้น.
               ทุกบทมีนัยดังนี้ จึงอธิบายในบทนี้บทเดียว.
               ส่วนบทว่า อนิยฺยานํ ในที่นี้อย่างเดียว ได้แก่การที่พระราชาเสด็จไปพักแรมแล้วกลับมา.
               คำว่า พระราชาภายในจักเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย ความว่า พยากรณ์การเข้าประชิดและการถอยของพระราชาทั้งหลายอย่างนี้ว่า พระราชาของพวกเราภายในพระนครจักเข้าประชิดพระราชาภายนอกผู้เป็นข้าศึก ลำดับนั้น พระราชาภายนอกพระองค์นั้นจักถอย.
               แม้ในบทที่สอง ก็นัยนี้แหละ. ความชนะและความแพ้ปรากฏแล้วเทียว.
               เรื่องจันทรคราสเป็นต้น พึงทราบโดยพยากรณ์ว่า ราหูจักถึงจันทร์ในวันโน้น. อนึ่ง แม้ดาวนักษัตรร่วมจับดาวอังคารเป็นต้น ก็ชื่อนักษัตรคราสนั่นเอง.
               บทว่า อุกฺกาปาโต ได้แก่ คบไฟตกจากอากาศ.
               บทว่า ทิสาฑาโห ได้แก่ ทิศมือคลุ้มราวกะอากูลด้วยเปลวไฟและเปลวควันเป็นต้น.
               บทว่า เทวทุนฺทุภิ ได้แก่ เมฆคำรามหน้าแล้ง.
               บทว่า อุคฺคมนํ ได้แก่ ขึ้น.
               บทว่า โอคฺคมนํ ได้แก่ ตก.
               บทว่า สงฺกิเลสํ แปลว่า ไม่บริสุทธิ์.
               บทว่า โวทานํ แปลว่า บริสุทธิ์.
               บทว่า เอวํ วิปาโก ความว่า จักนำสุขและทุกข์ต่างๆ อย่างนี้มาให้แก่โลก.
               บทว่า สุวุฎฺฐิกา ความว่า ฝนตกต้องตามฤดูกาล.
               บทว่า ทุพฺพุฏฐิกา ความว่า ฝนตกเป็นครั้งคราว. อธิบายว่า ฝนน้อย.
               บทว่า มุทฺธา ท่านกล่าวถึงการนับด้วยหัวแม่มือ.
               บทว่า คณนา ได้แก่ การนับไม่ขาดสาย
               บทว่า สงฺขานํ ได้แก่ การนับรวมโดยการบวกและการคูณเป็นต้น. ผู้ที่ชำนาญการนับรวมนั้น พอเห็นต้นไม้ ก็รู้ได้ว่า ในต้นนี้มีใบเท่านี้.
               บทว่า กาเวยฺยํ ความว่า กิริยาที่กวีทั้ง ๔ พวก ดังที่ตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กวีมี ๔ พวกเหล่านี้ คือ จินตากวี สุตกวี อรรถกวี ปฏิภาณกวี๑- ดังนี้ แต่งกาพย์เพื่อเลี้ยงชีพ โดยความคิดของตนบ้าง โดยสดับเพราะได้ฟังเรื่องมีอาทิว่า ได้มีพระราชาพระนามเวสสันดร ดังนี้บ้าง โดยเนื้อความอย่างนี้ว่า เรื่องนี้มีเนื้อความอย่างนี้ เราจักแต่งเรื่องนั้นอย่างนี้ ดังนี้บ้าง โดยปฏิภาณที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์อย่างนี้ว่า เราได้เห็นเหตุการณ์บางอย่าง จักแต่งกาพย์ให้เข้ากันได้กับเรื่องนั้นบ้าง.
               เรื่องที่เกี่ยวกับโลก ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วเทียว.
____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๓๑

               ที่ชื่อว่า ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ได้แก่ ให้ฤกษ์ทำพิธีอาวาหมงคลว่า ท่านทั้งหลายจงนำเจ้าสาวสจากตระกูลโน้นมาให้เจ้าบ่าวผู้นี้โดยฤกษ์โน้น.
               บทว่า วิวาหํ ความว่า ให้ฤกษ์ทำพิธีวิวาหมงคลว่า ท่านทั้งหลายจงนำเจ้าสาวนี้ไปให้เจ้าบ่าวโน้นโดยฤกษ์โน้น เขาจักมีความเจริญ.
               บทว่า สํวทนํ ความว่า ที่ชื่อว่าฤกษ์ส่งตัว ได้แก่พิธีทำให้คู่บ่าวสาวปรองดองกันอย่างนี้ว่า วันนี้ฤกษ์ดี เธอทั้งสองจงปรองดองกันในวันนี้แหละ เธอทั้งสองจักไม่หย่าร้างกันด้วยประการฉะนี้.
               ที่ชื่อว่า วิวทนํ ได้แก่ ถ้าสามีภรรยาประสงค์จะหย่าร้างกัน ก็ดูฤกษ์ทำพิธีหย่าร้างอย่างนี้ว่า ท่านจงหย่าขาดกันในวันนี้แหละ ท่านจักไม่ร่วมกันอีก ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สงฺกิรณํ ความว่า ดูฤกษ์ให้รวบรวมทรัพย์อย่างนี้ว่า ทรัพย์ที่ให้กู้ยืมก็ดี เป็นหนี้ก็ดี ท่านจงเรียกเก็บเสียในวันนี้ เพราะทรัพย์ที่เรียกเก็บในวันนี้นั้นจักถาวร.
               บทว่า วิกิรณํ ความว่า ดูฤกษ์หาประโยชน์เองหรือให้คนอื่นหาประโยชน์อย่างนี้ว่า ถ้าท่านต้องการจะหาประโยชน์ด้วยการลงทุนและให้กู้ยืมเป็นต้น ทรัพย์ที่หาประโยชน์ในวันนี้จะเพิ่มเป็น ๒ เท่า ๔ เท่า.
               บทว่า สภคกรณํ ความว่า ดูฤกษ์ทำให้เป็นที่รัก ที่ชอบใจหรือทำให้มีสิริ.
               บทว่า ทุพฺภคกรณํ ความตรงกันข้ามกับบท สุภคกรณํ นั้น.
               บทว่า วิรุทฺธคพฺภกรณํ ความว่า กระทำครรภ์ที่ตก ที่ทำลาย ที่แท้ง ที่ตาย. อธิบายว่า ให้ยาเพื่อไม่ให้แม่เสียหายต่อไป.
               ก็ครรภ์ย่อมพินาศด้วยเหตุ ๓ อย่าง คือ ลม เชื้อโรค กรรม. ในครรภ์พินาศ ๓ อย่างนั้น เมื่อครรภ์พินาศด้วยลม ต้องให้ยาเย็นๆ สำหรับระงับ เมื่อพินาศด้วยเชื้อโรค ต้องต่อต้านเชื้อโรค แต่เมื่อพินาศด้วยกรรม แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่อาจจะห้ามได้.
               บทว่า ชิวฺหานิพนฺธนํ ได้แก่ ร่ายมนต์ผู้กลิ้นไว้.
               บทว่า หนุสํหนนํ ได้แก่ ร่ายมนต์ผูกปาก ผูกไว้อย่างที่ไม่สามารถจะให้คางเคลื่อนไหวได้.
               บทว่า หตฺถาภิชปฺปนํ ได้แก่ ร่ายมนต์ทำให้มือทั้ง ๒ สั่นรัว. ได้ยินว่า เมื่อยืนอยู่ภายใน ๗ ก้าว ร่ายมนต์นั้นแล้ว อีกคนหนึ่งจะมือสั่นรัว พลิกไปมา.
               บทว่า กณฺณชปฺปนํ ได้แก่ ร่ายเวททำให้หูทั้ง ๒ ไม่ได้ยินเสียง. ได้ยินว่า ร่ายมนต์นั้นแล้วกล่าวตามประสงค์ในโรงศาล ฝ่ายปรปักษ์ไม่ได้ยินเสียงนั้น ดังนั้น จึงไม่อาจโต้ตอบได้เต็มที่.
               บทว่า อาทาสปญฺหํ ได้แก่ เชิญเทวดาลงในกระจก แล้วถามปัญหา.
               บทว่า กุมารีปญฺหํ ได้แก่ เชิญเทวดาเข้าในร่างของเด็กสาว แล้วถามปัญหา.
               บทว่า เทวปญฺหํ ได้แก่ เชิญเทวดาเข้าในร่างของนางทาสี แล้วถามปัญหา.
               บทว่า อาทิจฺจุปฎฺฐานํ ได้แก่ บำเรอพระอาทิตย์เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพ.
               บทว่า มหรุปฎฺฐานํ ได้แก่ บำเรอท้าวมหาพรหมเพื่อประโยชน์อย่างเดียวกัน.
               บทว่า อพฺภุชฺชลนํ ได้แก่ ร่ายมนต์พ่นเปลวไฟออกจากปาก.
               บทว่า สิริวฺหายนํ ได้แก่ เชิญขวัญเข้าตัวอย่างนี้ว่า ขวัญเอยจงมาอยู่ในร่างเราเอย.
               บทว่า สนฺติกมฺมํ ได้แก่ ไปเทวสถานทำพิธีสัญญาบนบาน ซึ่งจะต้องทำในเวลาที่สำเร็จว่า ถ้าเรื่องนี้จักสำเร็จแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักแก้บนแก่ท่าน ด้วยสิ่งนี้ๆ. และเมื่อเรื่องนั้นสำเร็จแล้ว กระทำตามนั้น ชื่อว่าทำพิธีแก้บน.
               บทว่า ภูริกมฺมํ ได้แก่ สอนการใช้มนต์ที่ผู้อยู่ในบ้านเรือนจะต้องเรียน.
               ในข้อว่า วสฺสกมฺมํ โวสฺสกมฺมํ นี้ บทว่า วสฺโส ได้แก่ ชาย. บทว่า โวสฺโส ได้แก่ บัณเฑาะก์. การทำบัณเฑาะก์ให้เป็นชาย ชื่อ วัสสกรรม. การทำชายให้เป็นบัณเฑาะก์ ชื่อ โวสกรรม ด้วยประการฉะนี้. ก็เมื่อทำดังนั้น ย่อมให้ถึงเพียงภาวะที่ตัดเท่านั้น ไม่อาจทำให้เพศหายไปได้.
               บทว่า วตฺถุกมฺมํ ได้แก่ ทำพิธีสร้างเรือนในพื้นที่ที่ยังมิได้ตกแต่ง.
               บทว่า วตฺถุปริกรณํ ได้แก่ กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงนำสิ่งนี้ๆ มาดังนี้แล้ว ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่.
               บทว่า อาจมนํ ได้แก่ ใช้น้ำล้างปากให้สะอาด.
               บทว่า นฺหาปนํ ได้แก่ อาบน้ำน้ำมนต์ให้คนอื่น.
               บทว่า ชูหนํ ได้แก่ ทำพิธีบูชาไฟ เพื่อประโยชน์แก่พวกเขา.
               บทว่า วมนํ ได้แก่ ทำยาสำรอง.
               แม้ในการปรุงยาถ่าย ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อุทฺธวิเรจนํ ได้แก่ ปรุงยาถ่ายโรคเบื้องบน.
               บทว่า อโธวิเรจนํ ได้แก่ ปรุงยาถ่ายโรคเบื้องล่าง.
               บทว่า สีสวิเรจนํ ได้แก่ ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ.
               บทว่า กณฺณเตลํ ได้แก่ หุงน้ำมันยาเพื่อสมานหู หรือเพื่อบำบัดแผล.
               บทว่า เนตฺตปฺปานํ ได้แก่ น้ำมันหยอดตา.
               บทว่า นตฺถุกมฺมํ ได้แก่ ใช้น้ำมันปรุงเป็นยานัตถ์.
               บทว่า อญฺชนํ ได้แก่ ปรุงยาทากัดเป็นด่างสามารถลอกได้ ๒ หรือ ๓ ชั้น.
               บทว่า ปจฺจญฺชนํ ได้แก่ ปรุงยาเย็นระงับ.
               บทว่า สาลากิยํ ได้แก่ เครื่องมือของจักษุแพทย์.
               บทว่า สลฺลกตฺติยํ ได้แก่ เครื่องมือของศัลยแพทย์.
               กิจกรรมของแพทย์รักษาโรคเด็ก เรียกว่า กุมารเวชกรรม.
               ด้วยคำว่า มูลเภสชฺชานํ อนุปฺปทานํ (ใส่ยา) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงกายบำบัด.
               บทว่า โอสธีนํ ปฏิโมกฺโข ได้แก่ ใส่ด่างเป็นต้น เมื่อแผลได้ที่ควรแก่ด่างเป็นต้นนั้น ก็เอาด่างเป็นต้นนั้นออกไป.
               จบมหาศีลเพียงเท่านี้               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1&Z=1071
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :