ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 620อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 621อ่านอรรถกถา 31 / 633อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค
๙. พลกถา

               อรรถกถาพลกถา               
               บัดนี้จะพรรณนาตามลำดับที่ยังไม่เคยพรรณนาแห่งพลกถา อันมีพระสูตรเป็นเบื้องต้นอันเป็นโลกุตรกถา ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในลำดับแห่งโลกุตรกถา.
               ในพลกถานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งทรงแสดงพละ ๕ โดยพระสูตรแต่ต้น แล้วมีพระประสงค์จะทรงแสดงพละแม้อื่นจาก พละ ๕ นั้น จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า อปิจ อฏฺฐสฏฺฐี พลานิ อีกอย่างหนึ่ง พละ ๖๘ ประการ ดังนี้.
               แม้พละ ๖๘ ทั้งหมดก็ชื่อว่าพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวโดยภาวะตรงกันข้ามกับพละ ๕ นั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า หิริพลํ หิริพละดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่าหิริ เพราะเป็นเหตุละอายต่อบาป. บทนั้นเป็นชื่อของความละอาย.
               ชื่อว่าโอตตัปปะ เพราะเป็นเหตุกลัวต่อบาป. บทนั้นเป็นชื่อของความหวาดสะดุ้ง.
               หิริมีภายในเป็นสมุฏฐาน โอตตัปปะมีภายนอกเป็นสมุฏฐาน.
               หิริมีตนเป็นใหญ่ โอตตัปปะมีโลกเป็นใหญ่.
               หิริตั้งอยู่ในสภาพที่ละอาย โอตตัปปะตั้งอยู่ในสภาพที่กลัว.
               หิริมีความเคารพเป็นลักษณะ โอตตัปปะมีความเห็นภัยจากความกลัวโทษ.
               ชื่อว่าหิริพละ เพราะหิรินั้นแล ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยความไม่มีหิริ.
               ชื่อว่าโอตตัปปพละ เพราะโอตตัปปะนั้นแล ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยความไม่มีโอตตัปปะ.
               ชื่อว่าปฏิสังขานพละ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความพิจารณา. บทนี้เป็นชื่อของปัญญาเข้าไปพิจารณา.
               กำลังเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรผู้เจริญโพชฌงค์ ๗ ด้วยความเพียรเป็นหลัก ชื่อว่าภาวนาพละ. บทนี้เป็นชื่อของขันธ์ ๔ อันเป็นไปอย่างนั้น.
               ศีลเป็นต้นอันบริสุทธิ์ ชื่อว่าอนวัชชพละ.
               สังคหวัตถุ ๔ ชื่อว่าสังคาหพละ.
               ปาฐะว่า สงฺคเห พลํ กำลังในการสงเคราะห์บ้าง.
               การอดกลั้นทุกข์ ชื่อว่าขันติพละ.
               การยินดีธรรมกถาของผู้อื่น ชื่อว่าปัญญัตติพละ.
               การเพ่งถึงประโยชน์อันยิ่ง ชื่อว่านัชฌัตติพละ.
               ความเป็นผู้มากในกุศลทั้งหลาย ชื่อว่าอิสริยพละ.
               การตั้งตามความพอใจในกุศลทั้งหลาย ชื่อว่าอธิษฐานพละ.
               ประโยชน์ของหิริพละเป็นต้น ท่านกล่าวถือเอาการประกอบโดยความพิเศษ ด้วยพยัญชนะในบทมติกาทั้งหลาย.
               บทว่า สมถพลํ วิปสฺสนาพลํ คือ สมถะและวิปัสสนาอันมีกำลังนั่นเอง.
               พึงทราบวินิจฉัยในมาติกานิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า อสฺสทฺธิเย น กมฺปตีติ สทฺธาพลํ ชื่อว่าสัทธาพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวในความไม่มีศรัทธา พระสารีบุตรเถระกล่าวถึงอรรถของพละอันเป็นมูลเหตุ แล้วแสดงสัทธาพละนั้นให้พิเศษด้วยปริยาย ๙ อื่นอีก.
               จริงอยู่ ธรรมใดไม่หวั่นไหว เป็นธรรมมีกำลัง ธรรมนั้นย่อมอุปถัมภ์ธรรมที่เกิดร่วมกัน พระโยคาวจรควบคุมกิเลสอันเป็นปฏิปักษ์ของตนไว้ได้ ชำระศีลและทิฏฐิอันเป็นเบื้องต้นแห่งการแทงตลอดไว้ได้ ยังจิตให้ดั้งมั่นในอารมณ์ ทำจิตให้ผ่องใสให้ผ่องแผ้ว ถึงความชำนาญย่อมให้บรรลุคุณวิเศษ เมื่อบรรลุยิ่งกว่านั้นย่อมให้ทำการแทงตลอดยิ่งขึ้นไป ครั้นบรรลุอริยมรรคตามลำดับแล้ว ย่อมให้ทำการบรรลุสัจจะได้ ย่อมให้ตั้งอยู่ในนิโรธด้วยการบรรลุผลได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงทำอรรถแห่งพละให้พิเศษโดยอาการ ๙ อย่าง.
               ในพละ ๔ มีวิริยพละเป็นต้นก็นัยนี้.
               บทว่า กามฉนฺทํ หิริยติ ละอายกามฉันทะ คือพระโยคาวจรประกอบด้วยเนกขัมมะ ละอายกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ. แม้ในโอตตัปปะก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แม้การละอายอกุศลทั้งปวงเหล่านี้ ก็เป็นอันท่านกล่าวถึงความกลัวด้วย.
               พึงทราบอรรถแม้แห่งบทว่า พฺยาปาทํ เป็นอาทิโดยนัยนี้แหละ.
               บทว่า ปฏิสงฺขาติ ย่อมพิจารณา คือพิจารณาโดยความเป็นโทษด้วยความไม่หลง.
               บทว่า ภาเวติ คือ ย่อมเจริญ.
               บทว่า วชฺชํ โทษ คือโทษมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า สงฺคณฺหาติ ย่อมสงเคราะห์ คือย่อมผูก.
               บทว่า ขมติ ย่อมอดทน คือพระโยคาวจรนั้นย่อมอดทน ย่อมชอบใจ.
               บทว่า ปญฺญเปติ ย่อมตั้งไว้ คือพอใจ.
               บทว่า นิชฺฌาเปติ ย่อมเพ่ง คือย่อมคิด.
               บทว่า วสํ วตฺเตติ ให้เป็นไปในอำนาจ คือทำจิตมากในความคิดให้เป็นไปตามอำนาจของตน.
               บทว่า อธิฏฺฐาติ ย่อมอธิษฐาน คือย่อมจัดแจง.
               แม้พละทั้งหมดมีภาวนาพละเป็นต้นก็เป็นเนกขัมมะเป็นต้นนั่นแหละ.
               ในอรรถกถาแห่งมาติกาท่านกล่าวไว้โดยประการอื่น แต่พึงทราบว่าท่านไม่กล่าวถึงอรรถไว้ในที่นี้ เพราะปรากฎโดยพยัญชนะอยู่แล้ว.
               ท่านพระสารีบุตรเถระชี้แจงถึงสมถพละและวิปัสสนาพละโดยพิสดาร ในที่สุดกล่าวบทมีอาทิว่า อุทฺธจฺจ สหคตกิเลเส จ ขนฺเธ จ น กมฺปติ จิตไม่หวั่นไหวในกิเลสอันสหรคตด้วยอุทธัจจะและในขันธ์ และบทมีอาทิว่า อวิชฺชาสหคตกิเลเส ขนฺเธ จ น กมฺปติ จิตไม่หวั่นไหวในกิเลสอันสหรคตด้วยอวิชชาและในขันธ์ เพื่อให้เห็นถึงลักษณะของสมถพละและวิปัสนาพละ.
               พึงทราบวินิจฉัยในเสกขพละและอเสกขพละดังต่อไปนี้.
               บทว่า สมฺมาทิฏฺฐึ สิกฺขตีติ เสกฺขพลํ ชื่อว่าเสกขพละ เพราะพระเสกขะยังต้องศึกษาสัมมาทิฏฐิ.
               ความว่า ชื่อพระเสกขะ เพราะพระเสกขบุคคลยังต้องศึกษา สัมมาทิฏฐิชื่อว่าเสกขพละ เพราะสัมมาทิฏฐินั้นนั่นแหละ เป็นกำลังของพระเสกขะนั้น.
               บทว่า ตตฺถ สิกฺขิตตฺตา อเสกฺขพลํ ชื่อว่าอเสกขพละ เพราะพระอเสกขะศึกษาในสัมมาทิฏฐิเป็นต้นนั้นเสร็จแล้ว.
               ความว่า ชื่อว่าพระอเสกขะ เพราะพระอเสกขบุคคลไม่ต้องศึกษา เพราะสัมมาทิฏฐินั้นพระอเสกขบุคคลศึกษาแล้ว ชื่อว่าอเสกขพละ เพราะสัมมาทิฏฐินั้นนั่นแหละเป็นกำลังของพระอเสขะนั้น.
               ในสัมมาสังกัปปะเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สมฺมาญาณํ สัมมาญาณ คือปัจจเวกขณญาณ (ญาณเป็นเครื่องพิจารณา).
               จริงอยู่ แม้ญาณนั้นเป็นโลกิยะก็เป็นเสกขพละ เพราะพระเสกขะยังต้องประพฤติอยู่. ท่านกล่าวอเสกขพละ เพราะพระอเสกขะไม่ต้องประพฤติแล้ว.
               บทว่า สมฺมาวิมุตฺติ สัมมาวิมุตติ คือธรรมสัมปยุตด้วยผลที่เหลือ เว้นองค์แห่งมรรค ๘.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า วิมุตติที่เหลือ เว้นโลกุตรวิมุตติ เป็นสัมมาวิมุตติ.
               ความว่า สัมมาวิมุตตินั้นเป็นเสกขพละและอเสกขพละมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นผล ญาณพละแม้ทั้งหมดมีในขีณาสวพละ.
               บทว่า ขีณาสวสฺส ภิกฺขุโน อันภิกษุขีณาสพ เป็นฉัฎฐีวิภัตติลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ เป็น ขีณาสเวน ภิกฺขุนา.
               บทว่า อนิจฺจโต โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง คือโดยความไม่เที่ยงด้วยอาการ เป็นแล้วไม่เป็น.
               บทว่า ยถาภูตํ คือ ตามความเป็นจริง.
               บทว่า ปญฺญาย ด้วยปัญญา คือด้วยมรรคปัญญากับวิปัสสนา ภิกษุขีณาสพเป็นผู้เห็นด้วยดี โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยไม่ใช่ตัวตน เพราะมีปัญญานั้นเป็นมูล.
               บทว่า ยํ เป็นภาวนปุงสก หรือมีความว่า ด้วยเหตุใด.
               บทว่า อาคมฺม คือ อาศัย.
               บทว่า ปฏิชานาติ ปฏิญาณ คือรับทำตามปฏิญาณ.
               บทว่า องฺคารกาสูปมา เปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง คือเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง ด้วยอรรถว่าน่ากลัวมาก.
               บทว่า กามา คือ วัตถุกามและกิเลสกาม.
               บทว่า วิเวกนินฺนํ โน้มไปในวิเวก คือน้อมไปในนิพพาน กล่าวคือความสงัดจากอุปธิด้วยผลสมาบัติ.
               จริงอยู่ วิเวกมี ๓ คือ กายวิเวก ๑ จิตตวิเวก ๑ อุปธิวิเวก (สงัดจากกิเลส) ๑.
               ผู้มีการตั้งอยู่ในความสงัด ยินดีในเนกขัมมะชื่อว่ากายวิเวก. ผู้ขวนขวายในอธิจิต ชื่อว่าจิตตวิเวก. บุคคลผู้ไม่มีอุปธิ ปราศจากเครื่องปรุงแต่งหรือน้อมไปในนิพพานกล่าวคือความวิเวกอันเป็นเครื่องนำออกไป ชื่อว่าอุปธิวิเวก.
               ความจริง วิเวกมี ๕ อย่าง คือ วิกขัมภนวิเวก ๑ ตทังควิเวก ๑ สมุจเฉทวิเวก ๑ ปฏิปัสสัทธิวิเวก ๑ นิสสรณวิเวก ๑.
               อนึ่ง บทว่า วิเวกนินฺนํ คือ โน้มไปในวิเวก.
               บทว่า วิเวกโปณํ คือ น้อมไปในวิเวก.
               บทว่า วิเวกปพฺภารํ คือ เอนไปในวิเวก.
               แม้บททั้งสองก็เป็นไวพจน์ของบทก่อนนั่นแหละ.
               บทว่า วิเวกฏฺฐํ ตั้งอยู่ในวิเวก คือเว้นจากกิเลสทั้งหลาย หรือไปเสียให้ไกล.
               บทว่า เนกฺขมฺมาภิรตํ ยินดีในเนกขัมมะ คือยินดีในนิพพาน หรือยินดีในบรรพชา.
               บทว่า พฺยนฺตีภูตํ สิ้นสูญไป คือปราศจากไป แม้การแสดงครั้งเดียวก็ไม่ผิด พ้นไป ไม่เกี่ยวข้อง.
               บทว่า สพฺพโต คือ โดยประการทั้งปวง.
               บทว่า อาสวฏฺฐานิเยหิ ธมฺเมหิ จากธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ. ความว่า จากกิเลสอันเป็นเหตุของอาสวะทั้งหลายด้วยการเกี่ยวข้อง.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า พฺยนฺตีภูตํ ความสิ้นสูญไป คือปราศจากความใคร่. อธิบายว่า หมดตัณหา. จากไหน จากธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง คือจากธรรมเป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งปวง.
               ในที่นี้ ท่านกล่าวถึงโลกิยมรรคและโลกุตรมรรคของพระขีณาสพ ด้วยขีณาสวพละ ๑๐.
               อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่าพละกำหนดรู้ทุกข์ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีสภาพไม่เที่ยง พละละสมุทัยว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหลุมด้วยถ่านเพลิง พละทำให้แจ้งนิโรธว่า จิตโน้มไปในวิเวก พละในการเจริญมรรค ๗ อย่างมีอาทิว่า สติปัฏฐาน ๔.
               อิทธิพละ ๑๐ อย่างจักมีแจ้งในอิทธิกถา.
               พึงทราบวินิจัยในตถาคตพลนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า ตถาคตพลานิ คือ กำลังของพระตถาคตเท่านั้น ไม่ทั่วไปด้วยชนเหล่าอื่น หรือว่าพละอันมาแล้วเหมือนอย่างพละของพระพุทธเจ้าแต่ก่อนมาแล้วด้วยการสะสมบุญ.
               ในบทนั้น ตถาคตพละมี ๒ อย่าง คือ กายพละ ๑ ญาณพละ ๑.
               ในพละ ๒ อย่างนั้น พึงทราบกายพละโดยติดตามถึงตระกูลช้าง.
               สมดังที่ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า
                         ตระกูลช้าง ๑๐ เหล่านี้ คือ กาฬาวกะ ๑ คังเคยยะ ๑
                         ปัณฑระ ๑ ตัมพะ ๑ ปิงคละ ๑ คันธะ ๑ มังคละ ๑
                         เหมะ ๑ อุโปสถะ ๑ ฉัททันตะ ๑.

               เหล่านี้คือตระกูลช้าง ๑๐.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กาฬาวกํ พึงเห็นตระกูลช้างตามปกติ.
               กำลังกายของบุรุษ ๑๐ เป็นกำลังของช้างกาฬาวกะเชือกหนึ่ง. กำลังของกาฬากะ ๑๐ เป็นกำลังของคังเคยยะเชือกหนึ่ง. กำลังของคังเคยยะ ๑๐ เป็นกำลังของปัณฑระเชือกหนึ่ง. กำลังของปัณฑระ ๑๐ เป็นกำลังของตัมพะเชื่อกหนึ่ง. กำลังของตัมพะ ๑๐ เป็นกำลังของปิงคละเชือกหนึ่ง. กำลังของมังคละเชื่อกหนึ่ง. กำลังของมังคละ ๑๐ เป็นกำลังของเหมวตะเชือกหนึ่ง. กำลังของเหมวตะ ๑๐ เป็นกำลังของอุโปสถะเชือกหนึ่ง. กำลังของอุโปสถะ ๑๐ เป็นกำลังของฉัททันตะเชือกหนึ่ง. กำลังของฉัททันตะ ๑๐ เป็นกำลังของพระตถาคตพระองค์เดียว.
               บทนี้ท่านกล่าวถึงแม้บทว่า นารายนสงฺฆาตพลํ คือ กำลังของนารายนะ.
               ตถาคตพละนั้นเท่ากับกำลังช้างปกติ ๑,๐๐๐ โกฏิ เท่ากับกำลังบุรุษ ๑๐,๐๐๐ โกฎิ นี้คือกายพละของพระตถาคต.
               ส่วนญาณพละมาแล้วในบาลีนี้และในที่อื่น.
               ญาณ ๑,๐๐๐ ไม่น้อยแม้อื่นอย่างนี้ คือ ทศพลญาณ จตุเวสารัชชญาณ อกัมปนญาณ (ญาณไม่หวั่นไหว) ในบริษัท ๘ จตุโยนิปริจเฉทกญาณ (ญาณกำหนดกำเนิด ๔) ปัญจคติปริจเฉทกญาณ (ญาณกำหนดคติ ๕) มาแล้วในมัชฌิมนิกาย๑- ญาณ ๗๓ ญาณ ๗๗ มาแล้วในสังยุตตนิกาย๒- นี้ชื่อว่าญาณพละ.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๖๖  ๒- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๑๒๖-๑๒๗

               ในที่นี้ท่านประสงค์เอาญาณพละนั้นแหละ เพราะญาณ ท่านกล่าวว่าเป็นพละ ด้วยอรรถว่าไม่หวั่นไหวและด้วยอรรถว่าอุปถัมภ์.
               บทว่า ฐานญฺจ ฐานโต ฐานะโดยเป็นฐานะ คือ เหตุโดยเป็นเหตุเพราะเหตุผลย่อมตั้งอยู่ในญาณนั้น คือย่อมเกิดขึ้นและย่อมเป็นไป เพราะประพฤติเนื่องด้วยญาณนั้น ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ฐานํ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทราบธรรมที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเพื่อเกิดธรรมว่าเป็นฐานะ ธรรมที่ไม่เป็นเหตุ ไม่เป็นปัจจัย เพื่อเกิดธรรมว่าไม่เป็นฐานะ ชื่อว่าย่อมทรงทราบฐานะโดยเป็นฐานะและอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความเป็นจริง.
               บทว่า ยมฺปิ คือ ด้วยญาณใด.
               บทว่า อิทมฺปิ คือ แม้ญาณนี้ก็เป็นฐานญาณ. อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นตถาคตพละของพระตถาคต.
               แม้ในบทที่เหลือก็พึงทราบการประกอบอย่างนี้.
               บทว่า อาสภณฺฐานํ ฐานะอันสูงสุด คือฐานะอันประเสริฐ ฐานะอันสูงสุด.
               อธิบายว่า เป็นฐานะของพระพุทธเจ้าแต่ก่อนทั้งหลายผู้องอาจ.
               อีกอย่างหนึ่ง โคอุสภะผู้เป็นหัวหน้าโค ๑๐๐ ตัว โควสภะผู้เป็นหัวหน้าโค ๑,๐๐๐ คอก โคนิสภะประเสริฐกว่าโคทั้งหมด อดทนต่ออันตรายทั้งปวงได้ สีขาวน่ารักนำภาระไปได้มาก ไม่สะดุ้งแม้เสียงฟ้าร้องตั้ง ๑๐๐ ครั้ง.
               ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาอุสภะ เพราะบทว่า อาสภณฺฐานํ แม้นี้ก็เป็นคำกล่าวโดยปริยายของอุสภะนั้น ชื่อว่าอาสภะ เพราะฐานะนี้ของอุสภะ.
               บทว่า ฐานํ คือ เอาเท้าทั้ง ๔ เหยียบแผ่นดินมั่นอยู่.
               อนึ่ง ฐานะนี้ชื่อว่าอาสภะ เพราะดุจผู้องอาจ เหมือนอย่างว่าโคอุสภะ คือโคผู้นำประกอบด้วยอุสุภพละ เอาเท้าทั้ง ๔ เหยียบแผ่นดิน ตั้งไว้โดยไม่หวั่นไหวฉันใด แม้พระตถาคตก็ฉันนั้นทรงประกอบด้วยตถาคตพละ ๑๐ เอาเท้า คือเวสารัชชะ ๔ เหยียบปฐพี คือบริษัท ๘ ไม่หวั่นไหวด้วยข้าศึกศัตรูไรๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกดำรงอยู่ด้วยฐานะอันไม่หวั่นไหว.
               อนึ่ง เมื่อดำรงอยู่อย่างนี้ย่อมปฏิญาณ เข้าไปใกล้ ไม่บอกคืน ให้ยกขึ้นในตนซึ่งฐานะอันองอาจนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อาสภณฺฐานํ ปฏิชานาติ ปฏิญาณฐานะอันองอาจ.
               บทว่า ปริสาสุ คือ ในบริษัท ๘ มีกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี สมณะ เทพชั้นจาตุมมหาราชิกะ เทพชั้นดาวดึงส์ มารและพรหม.
               บทว่า สีหนาทํ นทติ บันลือสีหนาท คือบันลือเสียงประเสริฐ เสียงไม่สะดุ้งกลัว หรือบันลือเสียงกึกก้องเช่นเสียงสีหะ. พึงแสดงอรรถนี้ด้วยสีหนาทสูตร.๓-
____________________________
๓- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๒๗๒

               ราชสีห์ ท่านเรียกว่าสีหะ เพราะอดทน เพราะฆ่าสัตว์เป็นอาหาร ฉันใด พระตถาคตก็ฉันนั้น ท่านกล่าวว่าสีหะ เพราะอดทนโลกธรรมและกำจัดปรัปปวาท (ผู้กล่าวโต้แย้ง) การบันลือของสีหะดังกล่าวแล้วอย่างนั้น ชื่อว่าสีหนาท.
               สีหะประกอบด้วยสีหพละแกล้วกล้าปราศจากขนพองสยองเกล้า บันลือสีหนาทในที่ทั้งปวงฉันใด
               แม้พระตถาคตดุจสีหะก็ฉันนั้น ทรงประกอบด้วยตถาคตพละทรงแกล้วกล้าในบริษัท ๘ ปราศจากความสยดสยอง ทรงบันลือสีหนาทถึงพร้อมด้วยบทบาทการแสดงหลายๆ อย่างโดยนัยมีอาทิว่า๔- อิติ รูปํ รูปเป็นดังนี้ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปริสาสุ สีหนาทํ นทติ ทรงบันลือสีหนาทในบริษัททั้งหลาย.
____________________________
๔- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๕๖

               บทว่า พฺรหฺมํ ในบทนี้ว่า พฺรหฺมจกฺกํ ปวตฺเตติ ประกาศพรหมจักร เป็นจักรประเสริฐสูงสุดบริสุทธิ์.
               พึงทราบจักกศัพท์ดังต่อไปนี้.
               จักกศัพท์ปรากฎในสมบัติ ลักษณะ เครื่อง ประกอบรถ อิริยาบถ ทาน รัตนจักร ธรรมจักร อุรจักรเป็นต้น ในที่นี้ปรากฎในธรรมจักร พระโยคาวจรพึงประกาศธรรมจักรแม้นั้นโดยอาการ ๒ อย่าง.
               จักกศัพท์ปรากฏในสมบัติ ในบทมีอาทิว่า๕- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมบัติของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยจักร ๔ เหล่านี้.
               ปรากฏในลักษณะ ในประโยคนี้ว่า๖- จักรเกิดที่ฝ่าพระบาทเบื้องล่าง.
               ปรากฏในส่วนของรถ ในประโยคนี้ว่า๗- ดุจล้อหมุนไปตามรอยเท้าฉะนั้น.
               ปรากฏในอิริยาบถ ในบทนี้ว่า๘- มีจักร ๔ มีทวาร ๙.
               ปรากฏในทาน ในประโยคนี้ว่า๙- เมื่อให้ ท่านจงบริโภคเถิดและอย่าเป็นผู้ประมาท ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในแคว้นโกศล ขอพระองค์จงยังจักรให้เป็นไปเถิด.
               เป็นไปในรัตนจักร ในบทนี้ว่า๑๐- จักรรัตนะอันเป็นทิพย์ได้ปรากฏแล้ว.
               เป็นไปในธรรมจักร ในบทนี้ว่า๑๑- จักรอันเราประกาศแล้ว.
               อิจฺฉาหตสฺส โปสสฺส จกฺกํ ภมติ มตฺถเกติ เอตฺถ อุรจกฺเก ฯ
               เป็นไปในอุรจักร ในบทนี้ว่า๑๒- จักรย่อมหมุนไปบนหัวของสัตว์ผู้ถูกความปรารถนาครอบงำแล้ว.
               เป็นไปในปหรณจักร ในบทนี้ว่า๑๓- ด้วยจักรมียอดคม.
               ในอสนิมณฑล ในบทนี้ว่า สายฟ้าฟาด.
____________________________
๕- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๓๑  ๖- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๙
๗- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๑  ๘- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๗๔
๙- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๑๑๐  ๑๐- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๖๔
๑๑- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๗๗  ๑๒- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๐๔
๑๓- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๙๔

               แต่ในที่นี้ จักกศัพท์นี้ปรากฏในธรรมจักร.
               อนึ่ง ธรรมจักรนั้นมี ๒ อย่าง คือ ปฏิเวธญาณ และเทศนาญาณ.
               ในญาณทั้ง ๒ นั้น การนำมาซึ่งอริยผลของตนอันเจริญแล้วด้วยปัญญา ชื่อว่าปฏิเวธญาณ. การนำมาซึ่งอริยผลของสาวกทั้งหลายอันเจริญแล้วด้วยกรุณา ชื่อว่าเทศนาญาณ.
               ในญาณทั้ง ๒ นั้น ปฏิเวธญาณมี ๒ อย่าง คือ กำลังเกิด ๑ เกิดแล้ว ๑.
               ญาณนั้นชื่อว่ากำลังเกิด ตั้งแต่ออกมหาภิเนษกรมณ์ จนถึงอรหัตมรรค ชื่อว่าเกิดแล้วในอรหัตผล.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากำลังเกิด ตั้งแต่ประดิษฐาน ณ ภพดุสิต จนถึงบรรลุอรหัตมรรค ณ โพธิบัลลังก์ ชื่อว่าเกิดแล้วในขณะแห่งผล หรือกำลังเกิดตั้งแต่ศาสนาพระทีปังกรทศพล จนถึงบรรลุอรหัตมรรค ชื่อว่าเกิดแล้วในขณะแห่งผล.
               แม้เทศนาญาณก็มี ๒ อย่าง คือ กำลังเป็นไป ๑ เป็นไปแล้ว ๑.
               เทศนาญาณนั้นชื่อว่ากำลังเป็นไปเพียงใด แต่อรหัตมรรคของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ ชื่อเป็นไปแล้วในขณะแห่งผล. ปฏิเวธญาณเป็นโลกุตระ เทศนาญาณเป็นโลกิยะ.
               แม้ทั้ง ๒ นั้นก็ไม่ทั่วไปด้วยผู้อื่น เป็นโอรสญาณ (ญาณเกิดแต่อก) ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พฺรหฺมจกฺกํ ปวตฺเตติ ประกาศพรหมจักร.
               บทว่า กมฺมสมาทานํ กรรมสมาทาน คือกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่สมาทานแล้ว หรือกรรมนั้นแหละชื่อว่ากรรมสมาทาน.
               บทว่า ฐานโส เหตุโส โดยฐานะ โดยเหตุ คือโดยปัจจัยและโดยเหตุ ในบทนั้น ฐานะแห่งวิบาก เพราะคติ อุปธิ กาล ปโยคะ กรรมเป็นเหตุ.
               บทว่า สพฺพตฺถคามินึ ปฏิปทาเครื่องให้ถึงประโยชน์ทั้งปวง คือปฏิปทาเครื่องให้ถึงคติทั้งปวง และปฏิปทาเครื่องให้ถึงอคติ.
               บทว่า ปฏิปทํ ปฏิปทา คือมรรค.
               บทว่า ยถาภูตํ ปชานาติ รู้ตามความเป็นจริง คือตถาคตย่อมรู้สภาพโดยไม่วิปริตของการปฏิบัติ กล่าวคือกุศลเจตนาและอกุศลเจตนา แม้ในวัตถุเดียว โดยนัยนี้ว่า แม้เมื่อมนุษย์มากฆ่าสัตว์ตัวเดียวเท่านั้น เจตนาของการฆ่านี้ก็จักเป็นเจตนาไปสู่นรก จักเป็นเจตนาไปสู่กำเนิดเดียรัจฉาน.
               บทว่า อเนกธาตุํ อเนกธาตุ คือธาตุมากด้วยธาตุมีจักษุธาตุเป็นต้น หรือมีกามธาตุเป็นต้น.
               บทว่า นานาธาตุํ ธาตุต่างๆ คือธาตุมีประการต่างๆ เพราะธาตุเหล่านั้นมีลักษณะผิดกัน.
               บทว่า โลกํ ได้แก่ โลก คือขันธ์อายตนะธาตุ.
               บทว่า ยถาภูตํ ปชานาติ รู้ตามความเป็นจริง คือแทงตลอดสภาวะแห่งธาตุนั้นๆ โดยไม่วิปริต.
               บทว่า นานาธิมุตฺติกตํ คือ ความที่สัตว์ทั้งหลายมีอัธยาศัยต่างกัน ด้วยอัธยาศัยเลวประณีตเป็นต้น.
               บทว่า ปรสตฺตานํ ของสัตว์อื่น คือของสัตว์ที่เป็นประธาน.
               บทว่า ปรปุคฺคลานํ ของบคุคลอื่น คือของสัตว์เลยอื่นจากสัตว์ที่เป็นประธานนั้น ทั้ง ๒ บทนี้มีอรรถอย่างเดียวกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยอาการ ๒ อย่าง ด้วยสามารถเวไนยสัตว์ แม้ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสโดยนัยดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺตํ ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ คือความเป็นอื่นและความไม่เป็นอื่นของอินทรีย์ มีสัทธินทรีย์เป็นต้น. อธิบายว่า ความเจริญและความเสื่อม.
               บทว่า ฌานวิโมกฺขสมาธิสมาปตฺตีนํ ฌานวิโมกข์ สมาธิและสมาบัติ คือแห่งฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น แห่งวิโมกข์ ๘ มีอาทิว่า๑๔- ผู้มีรูปย่อมเห็นรูปทั้งหลาย แห่งสมาธิ ๓ มีวิตกจารเป็นต้น แห่งอนุปุพพสมาบัติ ๙ มีปฐมฌานสมาบัติเป็นต้น.
____________________________
๑๔- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๖๙

               บทว่า สงฺกิเลสํ ความเศร้าหมอง คือธรรมอันเป็นไปในฝ่ายเสื่อม.
               บทว่า โวทานํ ความผ่องแผ้ว คือธรรมอันเป็นไปในฝ่ายวิเศษ.
               บทว่า วุฏฺฐานํ ความออก คือเหตุที่ออกจากฌาน.
               อนึ่ง ความออกนั้นท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า๑๕- แม้ความผ่องแผ้วก็เป็นความออก แม้ความออกจากสมาธินั้นๆ ก็เป็นความออก ได้แก่ฌานอันคล่องแคล่ว และสมาบัติอันเป็นผลแห่งภวังค์.
____________________________
๑๕- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๔๕

               เพราะฌานอันคล่องแคล่วชั้นต่ำๆ เป็นปทัฏฐานแห่งฌานชั้นสูงๆ ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า แม้ความผ่องแผ้วก็เป็นความออก ความออกจากฌานทั้งปวงย่อมมีได้ด้วยภวังค์ ความออกจากนิโรธสมาบัติ ย่อมมีได้ด้วยผลสมาบัติ ท่านหมายถึงความออกนั้นจึงกล่าวว่า แม้ความออกจากสมาธินั้นก็เป็นความออก.
               ปุพเพนิวาสญาณ ทิพยจักขุญาณและอาสวักขยญาณ ท่านประกาศไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อาสวานํ ขยา เพราะอาสวะสิ้นไป คือเพราะกิเลสทั้งหมดสิ้นไปด้วยอรหัตมรรค.
               บทว่า อนาสวํ ไม่มีอาสวะ คือปราศจากอาสวะ.
               ในบทว่า เจโตวิมุตฺตึ ปญฺญาวิมุตฺตึ นี้ ท่านกล่าวสมาธิสัมปยุตด้วยอรหัตผล ด้วยคำว่า เจโต กล่าวปัญญาสัมปยุตด้วยอรหัตผลนั้นด้วยคำว่า ปัญญา.
               อนึ่ง พึงทราบว่า สมาธิชื่อเจโตวิมุตติ เพราะพ้นจากราคะ ปัญญาชื่อว่าปัญญาวิมุตติ เพราะพ้นจากอวิชชา.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิพึงเป็นสมาธินทรีย์ ปัญญาพึงเป็นปัญญินทรีย์.๑๖-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้แล ชื่อว่าเจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะ ชื่อว่าปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชา.๑๗-
____________________________
๑๖- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๙๙๓  ๑๗- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๕๔๐

               อีกอย่างหนึ่ง ในบทนี้พึงทราบว่า สมถพละเป็นเจโตวิมุตติ วิปัสสนาพละเป็นปัญญาวิมุตติ.
               บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม คือในอัตภาพนี้.
               บทว่า สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง คือทำให้ประจักษ์ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง. อธิบายว่า รู้ด้วยปัจจัยอื่นอีก.
               บทว่า อุปสมฺปชฺช เข้าถึง คือบรรลุแล้วหรือสำเร็จแล้ว.
               อนึ่ง พึงทราบความพิสดารของทศพลญาณ ๑๐ นี้ โดยนัยดังกล่าวแล้วในอภิธรรม.๑๘-
____________________________
๑๘- อภิ. วิ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๘๓๙

               ในบทนั้นถ้อยคำฝ่ายปรวาทีมีว่า ชื่อว่าทศพลญาณเป็นญาณเฉพาะไม่มี. นี้เป็นประเภทของสัพพัญญุตญาณนั้นเอง ข้อนั้นไม่พึงเห็นอย่างนั้น เพราะทศพลญาณเป็นอย่างอื่น สัพพัญญุตญาณเป็นอย่างอื่น ทศพลญาณย่อมรู้กิจของตนๆ เท่านั้น สัพพัญญุตญาณย่อมรู้กิจนั้นบ้าง กิจที่เหลือจากนั้นบ้าง.
               พึงทราบวินิจฉัยในทศพลญาณดังต่อไปนี้
               ทศพลญาณที่ ๑ เริ่มรู้เหตุและมิใช่เหตุ.
               ทศพลญาณที่ ๒ ย่อมรู้ระหว่างกรรมและระหว่างวิบาก.
               ทศพลญาณที่ ๓ ย่อมรู้กำหนดของกรรม.
               ทศพลญาณที่ ๔ ย่อมรู้เหตุของความต่างแห่งธาตุ.
               ทศพลญาณที่ ๕ ย่อมรู้อัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลาย.
               ทศพลญาณที่ ๖ ย่อมรู้ความแก่กล้าและความอ่อนของอินทรีย์ทั้งหลาย.
               ทศพลญาณที่ ๗ ย่อมรู้ความเศร้าหมองเป็นต้นแห่งญาณเหล่านั้น พร้อมกับฌานเป็นต้น.
               ทศพลญาณที่ ๘ ย่อมรู้ความสืบต่อของขันธ์ที่อยู่อาศัยในก่อน.
               ทศพลญาณที่ ๙ ย่อมรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย.
               ทศพลญาณที่ ๑๐ ย่อมรู้กำหนดสัจจะเท่านั้น.
               ส่วนสัพพัญญุตญาณย่อมรู้สิ่งที่ทศพลญาณเหล่านั้นควรรู้ และก็รู้กว่านั้น แต่ไม่ทำกิจทั้งหมดของญาณเหล่านั้น เพราะทศพลญาณนั้นมีญาณ ก็ไม่อาจให้แนบแน่นได้ มีฤทธิ์ก็ไม่อาจทำให้มหัศจรรย์ได้ มีมรรคก็ใช่สามารถยังกิเลสให้สิ้นได้.
               อีกอย่างหนึ่ง ควรถามปรวาทีอย่างนี้ว่า ชื่อว่าทศพลญาณนี้ มีวิตกมีวิจาร หรือไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร หรือไม่มีทั้งวิตกไม่มีทั้งวิจาร เป็นกามาวจร หรือรูปาวจร หรืออรูปาวจร เป็นโลกิยะหรือโลกุตระ.
               เมื่อรู้ก็จักตอบฌาน ๗ มีวิตกมีวิจารตามลำดับ จักตอบว่า ฌาน ๒ นอกจากนั้นไม่มีวิตก มีเพียงวิจารก็มี ไม่มีทั้งวิตกไม่มีทั้งวิจารก็มี.
               อนึ่ง จักตอบว่า ฌาน ๗ กามาวจรตามลำดับ ฌาน ๒ นอกจากนั้นเป็นรูปาวจร ในที่สุดจากนั้นเป็นโลกุตระอย่างเดียว จักตอบว่า ส่วนสัพพัญญุตญาณมีทั้งวิตกมีทั้งวิจาร เป็นกามาวจร เป็นโลกิยะ.
               บัดนี้ พระตถาคตทรงทราบการพรรณนาตามความที่ยังไม่เคยพรรณาไว้ในบทนี้อย่างนี้ แล้วทรงเห็นความไม่มีเครื่องกั้นกิเลส อันเป็นฐานะและอฐานะแห่งการบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะ และการไม่บรรลุของเวไนยทั้งหลาย ด้วยฐานาฐานญาณเป็นครั้งแรก เพราะทรงเห็นฐานะของสัมมาทิฏฐิอันเป็นโลกิยะ และเพราะทรงเห็นความไม่มีฐานะของนิยตมิจฉาทิฏฐิ.
               ครั้นทรงเห็นความไม่มีเครื่องกันวิบากด้วยกรรมวิปากญาณ เพราะทรงเห็นปฏิสนธิอันเป็นติเหตุกะ ทรงเห็นความไม่มีเครื่องกั้นกรรมด้วยสัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (ปรีชากำหนดรู้ทางไปสู่ภูมิทั้งปวง) เพราะทรงเห็นความไม่มีอนันตริกรรม ทรงเห็นจริยาวิเศษ เพื่อทรงแสดงธรรมอนุกูลแก่อนาวรณญาณ (ญาณที่ไม่มีเครื่องกั้น) ด้วยนานาธาตุญาณ (ปรีชากำหนดรู้ธาตุต่างๆ) แห่งธาตุไม่น้อย เพราะทรงแสดงความต่างกันแห่งธาตุ ด้วยประการฉะนี้.
               ครั้งแล้วทรงแสดงอัธยาศัยด้วยนานาธิมุตติกตาญาณ (ปรีชากำหนดรู้อัธยาศัยต่างๆ) ของเวไนยสัตว์เหล่านั้น เพื่อแม้ไม่ถือเอาการประกอบก็ทรงแสดงธรรมด้วยสามารถอัธยาศัย ต่อจากนั้นเพื่อทรงแสดงธรรมตามความสามารถตามกำลังของผู้น้อมไปในทิฏฐิอย่างนี้ จึงทรงเห็นความหย่อนและยิ่งของอินทรีย์ด้วยอินริปโรปริยัตญาณ เพราะทรงเห็นความแก่กล้าและความอ่อนของอินทรีย์มีสัทธินทรีย์เป็นต้น.
               อนึ่ง หากว่าเวไนยสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น แม้กำหนดรู้ความหย่อนและยิ่งของอินทรีย์อย่างนี้ยังมีอยู่ไกล เมื่อนั้น พระตถาคตย่อมเข้าถึงด้วยฤทธิวิเศษเร็วพลัน เพราะทรงชำนาญในฌานเป็นต้นด้วยญาณมีฌานเป็นต้น.
               ครั้งเข้าถึงแล้วทรงเห็นความแจ่มแจ้งของชาติก่อน ด้วยปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความวิเศษของจิตเดี่ยวนั้น ด้วยเจโตปริยญาณ อันควรบรรลุเพราะอานุภาพแห่งทิพยจักษุญาณ ทรงแสดงธรรมเพื่อความสิ้นอาสวะ เพราะปราศจากความหลง ด้วยปฏิทาอันนำไปสู่ความสิ้นอาสวะ ด้วยอานุภาพแห่งอาสวักญาณ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่าท่านกล่าวถึงกำลัง ๑๐ ด้วยบทนี้ตามลำดับ.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระประสงค์จะชี้แจงกำลังทั้งหมด โดยความลักษณะจึงตั้งคำถามโดยนัยมีอาทิว่า เกนฏฺเฐน สทฺธาพลํ ชื่อว่าสัทธาพละ เพราะอรรถว่ากระไร แล้วแก้โดยนัย มีอาทิว่า อสฺสทฺธิเย อกมฺปิยฏฺเชน เพราะอรรถไม่ไหวหวั่นในความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา.
               ในบทเหล่านั้น บทมีอาทิว่า หิริยติ ย่อมละอาย เป็นการแสดงถึงบุคลาธิษฐาน. ในที่สุดอธิษฐานพละมีภาวนาพละเป็นต้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายถึงเนกขัมมะเป็นต้นเท่านั้น ด้วยบทว่า ตตฺถ เตน และ ตํ โน เนกขัมมะนั้น ด้วยเนกขัมมะนั้น ซึ่งเนกขัมมะนั้น.
               บทว่า เตน จิตตํ เอกคฺคํ จิตมีอารมณ์เดียว ด้วยเนกขัมมะนั้น.
               ท่านอธิบายว่า จิตมีอารมณ์เดียว ด้วยสมาธินั้น.
               บทว่า ตตฺถ ชาเต ธรรมที่เกิดในภาวนานั้น คือธรรมที่เกิดในสมถะนั้น ด้วยความประกอบ หรือมีวิปัสสนาเป็นอารมณ์เกิดในสมถะนั้น.
               บทว่า ตตฺถ สิกฺขติ พระเสกขะยังต้องศึกษาในสัมมาทิฏฐินั้น.
               ความว่า ชื่อว่าเสกขพละ เพราะพระเสกขะยังต้องศึกษาในเสกขพละนั้น.
               บทว่า ตตฺถ สิกฺขิตตฺตา เพราะความที่พระอเสกขะศึกษาแล้วในอเสกขพละนั้น.
               บทว่า เตน อาสวา ขีณา อาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยสัมมาทิฏฐินั้น.
               ความว่า ญาณนั้นชื่อว่าขีณาสวพละ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปแล้วด้วยโลกิยญาณและโลกุตรญาณนั้น.
               จริงอยู่ อาสวะทั้งหลาย ชื่อว่าสิ้นไปแล้วด้วยโลกิยญาณ เพราะความไม่มีโลกุตรธรรม เพราะความไม่มีวิปัสสนา. ชื่อว่าขีณาสวพละ เพราะกำลังของพระขีณาสพอย่างนี้.
               บทว่า ตํ ตสฺส อิชฺฌตีติ อิทฺธิพลํ ชื่อว่าอิทธิพละ เพราะฤทธิ์ย่อมสำเร็จ เพราะการอธิษฐาน.
               ความว่า ฤทธิ์นั้นแหละเป็นกำลังจึงชื่อว่าอิทธิพละ เพราะฤทธิ์ย่อมสำเร็จแก่ผู้มีฤทธิ์นั้น.
               บทว่า อปฺปเมยฺยฏฺเฐน เพราะอรรถว่าเป็นกำลังหาประมาณมิได้ คือสาวกทั้งหลายย่อมรู้ฐานะและอฐานะเป็นต้นโดยเอกเทศ.
               ท่านกล่าวว่า ยถาภูตํ ปชานาติ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง๑๙- หมายถึงความรู้นั่นแหละ โดยอาการทั้งปวง ถึงแม้ท่านจะไม่กล่าวว่า ยถาภูตํ ปชานาติ ไว้ในวิชชา ๓ ก็จริง แต่เพราะท่านกล่าวไว้ในที่อื่น จึงเป็นอันกล่าวแม้ในวิชชาเหล่านั้นด้วย.
____________________________
๑๙- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๓๑

               บทว่า อญฺญตฺถ คือในญาณพละ ๗ ที่เหลือ และในพละ ๑๐ ในอภิธรรม.๒๐-
____________________________
๒๐- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๐๐

               อนึ่ง อินทริยปโรปริยัตตญาณไม่ทั่วไปด้วยสาวกทั้งหลาย แม้โดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น แม้พละ ๑๐ ก็ไม่ทั่วไปด้วยสาวกทั้งหลาย พละ ๑๐ ชื่อว่าหาประมาณมิได้ เพราะอรรถว่ามีประมาณยิ่ง เพราะอรรถว่าชั่งไม่ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อปฺเมยฺยฏฺเฐน ตถาคตพลํ ชื่อว่าตถาคตพละ เพราะอรรถว่าเป็นกำลังหาประมาณมิได้ ด้วยประการดังนี้.

               จบอรรถกถาพลกถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค ๙. พลกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 620อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 621อ่านอรรถกถา 31 / 633อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=9299&Z=9513
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=5990
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=5990
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :