ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 614อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 620อ่านอรรถกถา 31 / 621อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค
๘. โลกุตรกถา

               อรรถกถาโลกุตตรกถา               
               บัดนี้จะพรรณนาตามลำดับความที่ยังไม่เคยพรรณนาแห่งโลกุตรกถาอันพระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ในลำดับแห่งธรรมจักรกถาอันเป็นไปในโลกุตรธรรม.
               ความแห่งบทโลกุตระในโลกุตรกถานั้นจักมีแจ้งในนิเทศวาร.
               โพธิปักขิยธรรม ๓๗ มีอาทิว่า จตฺตาโร สติปฏฺฐานา สัมปยุตด้วยมรรคและผลตามที่ประกอบ ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าโพธิปกขิยธรรม เพราะเป็นไปในฝ่ายแห่งอริยะอันได้ชื่ออย่างนี้ว่าโพธิ เพราะอรรถว่าตรัสรู้.
               บทว่า ปกฺเข ภวตฺตา เพราะเป็นไปในฝ่าย คือเพราะตั้งอยู่ในความเป็นอุปการะ.
               ชื่อ อุปฏฺฐานํ เพราะก้าวลง คือแล่นไปในอารมณ์เหล่านั้นแล้วปรากฏ สตินั่นแหละปรากฏชื่อว่าสติปัฏฐาน ประเภทของสติปัฏฐานนั้น ๔ อย่าง เป็นไปด้วยอำนาจการถืออาการไม่งาม เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน และด้วยอำนาจการยังกิจให้สำเร็จด้วยการละความงาม สุข ความเที่ยงและความสำคัญว่าตัวตนในกาย เวทนา จิตและธรรม เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔.
               ชื่อว่า ปธานํ เพราะเป็นเหตุตั้งไว้. การตั้งไว้งามชื่อว่า สัมมัปปธาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สมฺมปฺปธานํ เพราะเป็นเหตุตั้งไว้ชอบ หรือเพราะการตั้งไว้งามนั้น ชื่อว่า ปธาน เพราะปราศจากความประพฤติผิด คือกิเลส เพราะนำความประเสริฐมาให้ ด้วยอรรถว่าให้สำเร็จประโยชน์สุข หรือเพราะทำความเป็นประธาน สัมมัปปธานนี้เป็นชื่อของความเพียร.
               สัมมัปปธานนี้นั้นมีหน้าที่ละอกุศลที่เกิดแล้ว ไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นให้สำเร็จกิจในการเกิดขึ้นแห่งกุศลที่ยังไม่เกิด ให้สำเร็จกิจในการตั้งอยู่แห่งกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะเหตุนั้น สัมมัปปธานจึงมี ๔ อย่างด้วยประการฉะนี้ ท่านจึงกล่าวว่า สัมมัปปธาน ๔.
               ชื่อว่าอิทธิบาท เพราะความสำเร็จโดยปริยายนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความสำเร็จนี้ เป็นผู้เจริญถึงชั้นอุกฤษฎ์ ชื่อว่าย่อมสำเร็จ เพราะอรรถว่าสำเร็จโดยปริยายแห่งความสำเร็จ เป็นธรรมให้ถึงความสำเร็จ ด้วยอรรถว่าเป็นเบื้องต้นอันสัมปยุตเข้าด้วยกันแห่งความสำเร็จนั้น และเพราะอรรถว่าเป็นเหตุแห่งส่วนเบื้องต้นอันเป็นผล เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อิทธิบาท ๔.
               ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นใหญ่กล่าวคือครอบงำ เพราะครอบงำความไม่มีศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่านและความหลง.
               ชื่อว่าพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว เพราะไม่ถูกความไม่มีศรัทธาเป็นต้นครอบงำ.
               แม้อินทรีย์และพละทั้งสองอย่างนั้นก็มี ๕ อย่างเดียวกัน คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อินทรีย์ ๕ พละ ๕.
               อนึ่ง ธรรมทั้งหลาย ๗ มีสติเป็นต้นชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งสัตว์ผู้ตรัสรู้และธรรมทั้งหลาย ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นเป็นองค์แห่งมรรค เพราะอรรถว่านำออกไป ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘.
               โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเหล่านี้ เมื่อวิปัสสนาอันเป็นโลกิยะในส่วนเบื้องต้นยังเป็นไปอยู่ ชื่อว่ากายานุปัสนาสติปัฏฐาน เพราะกำหนดถือเอากายโดยอาการ ๑๔ อย่าง.
               ชื่อว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะกำหนดถือเอาเวทนาโดยอาการ อย่าง.
               ชื่อว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะกำหนดถือเอาจิตโดยอาการ ๑๖ อย่าง.
               ชื่อว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะกำหนดถือเอาธรรมโดยอาการ อย่างด้วยประการดังนี้.
               ในกาลพยายามเพื่อเห็นอกุศลอันเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้อื่น ซึ่งยังไม่เคยเกิดในอัตภาพนี้แล้วไม่ให้อกุศลนั้นเกิดด้วยคิดว่า เราจักไม่ปฏิบัติเหมือนอย่างที่อกุศลนั้นเกิดแก่ผู้ปฏิบัติ อกุศลนั้นจักไม่เกิดแก่เราอย่างนี้ เป็นสัมมัปปธานข้อที่ .
               ในกาลพยายามเพื่อเห็นอกุศลที่เกิด เพราะความประพฤติของตนแล้วละอกุศลนั้น เป็นสัมมัปปธานข้อที่ .
               เมื่อพยายามเพื่อให้ฌานหรือวิปัสสนาอันยังไม่เคยเกิดในอัตภาพนี้ให้เกิดขึ้น เป็นสัมมัปปธานข้อที่ .
               เมื่อพยายามให้ฌานหรือวิปัสสนาเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยประการที่ไม่ให้เสื่อม เป็นสัมมัปปธานข้อที่ .
               ในการทำฉันทะให้เป็นธุระแล้วให้กุศลเกิดขึ้นเป็นฉันทิทธิบาท ในกาลทำวิริยะ จิตตะ วิมังสา ให้เป็นธุระแล้วให้กุศลเกิดขึ้นเป็นวิมังสิทธิบาท ในกาลเว้นพูดเท็จเป็นสัมมาวาจา ในกาลเว้นการงานผิด อาชีพผิด เป็นสัมมาอาชีวะ โพธิปักขิธรรมทั้งหลายย่อมได้ในจิตต่างๆ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               แต่ในขณะแห่งมรรค ๔ โพธิปักขิยธรรมทั้งหลายย่อมได้ในจิตดวงเดียวกัน. ในขณะแห่งผลย่อมได้โพธิปักขิยธรรมที่เหลือ เว้นสัมมัปธาน ๔.
               อนึ่ง เมื่อโลกุตรธรรมเหล่านั้นได้ในจิตดวงเดียวอย่างนี้ สติมีนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔ ด้วยสามารถสำเร็จกิจในการละความสำคัญว่างามในกายเป็นต้น วิริยะอย่างเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวว่าสัมมัปธาน ๔ ด้วยสามารถสำเร็จกิจมีไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น ละอกุศลที่เกิดเป็นต้น.
               ในโพธิปักขิยธรรมที่เหลือไม่มีการลดการเพิ่ม.
               อีกอย่างหนึ่ง ในโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น พึงทราบคาถาดังต่อไปนี้.
               ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น มี ๖ หมวด ดังนี้คือ
                                   ธรรมทั้งหลาย ๙ ข้อ เป็นธรรมมีอยู่โดยหมวด
                         เดียว ธรรม ๑ ข้อ มีโดย ๒ หมวด อนึ่ง ธรรมเดียว
                         มีโดย ๔ หมวด และโดย ๕ หมวด โดย ๘ หมวด
                         และโดย ๙ หมวด.
               บทว่า นว เอกวิธา ธรรมทั้งหลาย ๙ ข้อมีอยู่โดยหมวดเดียว คือธรรม ๙ ข้อเหล่านี้ คือ ฉันทะ ๑ จิตะ ๑ ปีติ ๑ ปัสสัทธิ ๑ อุเบกขา ๑ สังกัปปะ ๑ วาจา ๑ กัมมันตะ ๑ อาชีวะ ๑ มีอยู่โดยหมวดเดียวเท่านั้นด้วยสามารถฉันทิทธิบาทเป็นต้น ไม่ผนวกส่วนอื่น.
               บทว่า เอโก เทฺวธา ธรรม ๑ ข้อมีโดย ๒ หมวด คือ ศรัทธาตั้งอยู่โดย ๒ หมวด ด้วยสามารถแห่งอินทรีย์และพละ.
               บทว่า อถ จตุปญฺจธา อนึ่ง ธรรมเดียวมีโดย ๔ หมวดและโดย ๕ หมวด คือธรรมอื่นธรรมเดียวมีโดย ๔ หมวด ธรรมอื่นตั้งอยู่โดย ๕ หมวด.
               ในธรรมเหล่านั้น สมาธิข้อเดียวตั้งอยู่โดย ๔ หมวด คือ อินทรีย์ ๑ พละ ๑ โพชฌงค์ ๑ องค์มรรค ๑. ปัญญาตั้งอยู่โดย ๕ หมวด โดยหมวดแห่งธรรม ๔ เหล่านั้นและโดยส่วนหนึ่งของอิทธิบาท.
               บทว่า อฏฺธฐา นวธา เจว โดย ๘ และ ๙ หมวด คือ ธรรมอย่างเดียวอีกข้อหนึ่ง ตั้งอยู่โดย ๘ หมวด ธรรมเดียวข้อหนึ่งตั้งอยู่โดย ๙ หมวด.
               อธิบายว่า สติตั้งอยู่ ๘ หมวด คือ สติปักฐาน ๔ อินทรีย์ ๑ พละ ๑ โพชฌงค์ ๑ องค์มรรค ๑.
               วิริยะตั้งอยู่ ๙ หมวด คือ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๑ อินทรีย์ ๑ พละ ๑ โพชฌงค์ ๑ องค์มรรค ๑ ด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบความในคาถาต่อไปนี้.
                         โพธิปักขิยธรรมทั้งหลายเหล่านั้นที่ไม่ประสมกันก็มี ๑๔
                         เท่านั้น โดยหมวดก็มีอยู่ ๗ หมวด โดยประเภทมี ๓๗
                         เมื่ออริยมรรคเกิดขึ้นโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้นก็เกิดขึ้น
                         พร้อมกันทั้งหมดทีเดียว ด้วยการทำกิจของตนๆ ให้สำเร็จ
                         และด้วยดำเนินไปตามรูปของตน.
               พระสารีบุตรเถระครั้นแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ สัมปยุตด้วยมรรคและผลอย่างนี้แล้ว จึงย่อโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้นลงในมรรคและผลอีก แล้วกล่าวว่า อริยมรรค ๔ และสามัญผล ๔ ความเป็นสมณะชื่อว่าสามัญญะ.
               สามัญญะนี้เป็นชื่อของอริยมรรค ๔ ผลแห่งสามัญญะทั้งหลายชื่อว่าสามัญผล.
                         เอวํ มคฺคผลสมฺปยุตฺเต สตฺตตึส โพธิปกฺขิยธมฺเม ทสฺเสตฺวา
               ปุน เต มคฺคผเลสุ สงฺขิปิตฺวา จตฺตาโร อริยมคฺคา จตฺตาริ จ
               สามญฺญผลานีติ อาห ฯ
                         สมณภาโว สามญฺญํ จตุนฺนํ อริยมคฺคานเมตํ นามํ ฯ
               สามญฺญานํ ผลานิ สามญฺญผลานิ ฯ

               ส่วนนิพพานไม่ปนกันเลย. โลกุตรธรรมทั้งหลาย ๔๖ ด้วยสามารถแห่งโพธิปักขิธรรม ๓๗ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ โดยพิสดาร จากนั้นโดยย่อโลกุตรธรรม ๙ ด้วยสามารถแห่งมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ แม้จากนั้นโดยย่อพึงทราบว่า โลกุตรธรรม ๓ ด้วยสามารถมรรค ๑ ผล ๑ นิพพาน ๑.
               อนึ่ง เมื่อกล่าวถึงความที่มรรคผลมีสติปัฏฐานเป็นต้นเป็นโลกุตระ ก็เป็นอันท่านกล่าวถึงความที่แม้ผัสสะเป็นต้นอันสัมปยุตด้วยมรรคผลนั้นก็เป็นโลกุตระเหมือนกัน. ท่านกล่าวถึงสติปัฏฐานเป็นต้นด้วยเป็นธรรมเป็นประธาน.
               อนึ่ง ในโลกุตรธรรมนิเทศในอภิธรรม๑- ท่านกล่าวถึงความที่ผัสสะเป็นต้นอันสัมปยุตด้วยมรรคและผลเป็นโลกุตรธรรม.
____________________________
๑- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๙๖

               บทว่า โลกํ ตรนฺติ ข้ามพ้นโลก คือก้าวล่วงโลก.
               ในบทนี้ คำเป็นปัจจุบันกาลเช่นนี้ทั้งหมด ท่านกล่าวหมายถึงอริยมรรค ๔ เพราะโสดาปัตติมรรคข้ามอบายโลกได้ สกทาคามิมรรคข้ามกามาวจรโลกเป็นเอกเทศได้ อนาคามิมรรคข้ามกามาวจรโลกได้ อรหัตมรรคข้ามรูปาวจรโลกและอรูปาวจรโลกได้.
               บทว่า โลกา อุตฺตรนฺติ ข้ามไปจากโลก คือออกไปจากโลก.
               บทว่า โลกโตติ จ โลกมฺหาติ จ คำว่า จากโลกและแต่โลก คือท่านแสดงถึงความวิเศษของปัญจมีวิภัตติ.
               บทว่า โลกํ สมติกฺกมนฺติ ล่วงพ้นโลกมีความดังได้กล่าวไว้แล้วครั้งแรก.
               ในบทนั้น ท่านกล่าวไม่เพ่งถึงความของอุปสรรค.
               ในบทนี้ ท่านกล่าวพร้อมด้วยความของอุปสรรค.
               บทว่า โลกํ สมติกฺกนฺตา ล่วงพ้นโลกแล้ว คือก้าวล่วงโลกตามที่กล่าวแล้วโดยชอบ.
               คำที่เป็นอดีตกาลเช่นนี้ทั้งหมด ในบทนี้ ท่านกล่าวหมายถึงนิพพานเป็นผล. เพราะโสดาปัตติผลเป็นต้นก้าวล่วงโลก ตามที่กล่าวแล้วตั้งอยู่ นิพพานก้าวล่วงโลกทั้งหมดทุกเมื่อ.
               บทว่า โลเกน อติเรก คือ ยิ่งไปกว่าโลก.
               บทนี้ ท่านกล่าวหมายถึงโลกุตรธรรมแม้ทั้งหมด.
               บทว่า นิสฺสรนฺติ คือ พรากไป.
               บทว่า นิสฺสฏา คือ ออกไป.
               คำ ๑๘ (คำ) มีอาทิว่า โลเก น ติฏฺฐติ ไม่ตั้งอยู่ในโลก ย่อมควรแม้ในโลกุตรธรรมทั้งหมด.
               บทว่า น ติฏฺฐนฺติ ท่านกล่าวเพราะไม่นับเนื่องในโลก.
               บทว่า โลเก น ลิมฺปติ ไม่ติดในโลก คือแม้เป็นไปในสันดานก็ไม่ติดในโลกนั้น.
               บทว่า โลเกน น ลิมฺปติ ไม่ติดด้วยโลก. ความว่า ไม่ติดด้วยจิตไรๆ ของผู้ยังไม่แทงตลอด ด้วยจิตเป็นอกุศลและไม่สามารถของผู้แทงตลอดแล้ว.
               บทว่า อสํลิตฺตา อนุปลิตฺตา ไม่ติด ไม่ฉาบ พึงทราบด้วยอุปสรรค.
               บทว่า วิปฺปมุตฺตา พ้นแล้ว คือความไม่ติดนั่นเอง แปลกที่พยัญชนะต่างกัน เพราะผู้ใดไม่ติดในสิ่งใดด้วยสิ่งใด ผู้นั้นเป็นผู้พ้นในสิ่งนั้นด้วยสิ่งนั้น.
               บท ๓ บทมีอาทิว่า โลกา วิปฺปมุตฺตา พ้นไปจากโลก ท่านกล่าวโดยเป็นปัญจมีวิภัตติ.
               บทว่า วิสญฺญุตฺตา ไม่เกี่ยวข้องเป็นความยอดเยี่ยมของความพ้นไป เพราะผู้ใดพ้นในสิ่งใดด้วยสิ่งใด จากสิ่งใด ผู้นั้นเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องในสิ่งนั้น ด้วยสิ่งนั้น จากสิ่งนั้น.
               บทว่า โลกา สุชฌนฺติ หมดจดจากโลก คือล้างมลทินของโลกแล้ว หมดจดจากโลก.
               บทว่า วิสุชฺฌนฺติ สะอาด แปลกกันที่อุปสรรค.
               บทว่า วุฏฺฐหนฺติ ออก คือลุกขึ้น.
               บทว่า วิวชฺชนฺติ คือ ไม่กลับ.
               บทว่า น สชฺชนฺติ ไม่ข้อง คือไม่เกี่ยวข้อง คือไม่ผูกพัน.
               บทว่า สมุจฺฉินฺทนฺติ ตัด คือทำไม่ให้เป็นไปได้.
               อนึ่ง ท่านกล่าวคำมีอาทิว่า เพราะหมดจดจากโลกเหมือนบทว่า โลกํ สมุจฺฉินฺนตฺตา เพราะตัดขาดจากโลก.
               บทว่า ปฏิปฺปสฺสมฺเภนฺติ ให้โลกระงับอยู่ คือให้โลกดับ.
               บท ๔ มีอาทิว่า อปจฺจคา ย่อมควรในโลกุตระแม้ทั้งปวง.
               บทว่า อปจฺจคา ไม่กลับมา คือไม่มีทาง. บทว่า อคติ ไม่เป็นคติ คือไม่เป็นที่พึ่ง. บทว่า อวิสยา ไม่เป็นวิสัย คือเป็นที่อาศัย. บทว่า อสาธารณา ไม่เป็นสาธารณะ คือไม่เสมอ.
               บทว่า วมนฺติ คือ คายออก.
               บทว่า น ปจฺจาคมนฺติ ไม่เวียนมา ท่านกล่าวโดยนัยตรงข้ามกับคำที่กล่าวแล้ว.
               ความว่า ไม่กินของที่คายแล้วอีก.
               ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวถึงความที่ของที่คายแล้วเป็นคายไปแล้ว.
               แม้ในหมวด ๓ แห่งทุกะในลำดับก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า วิสิเนนฺติ ไม่ผูก คือกระจัดกระจายไป พ้นไป. ความว่า ไม่ผูกพัน.
               บทว่า น อุสฺสิเนนฺติ ผูก คือไม่กระจัดกระจาย ไม่พ้น.
               บทว่า วิสิเนนฺติ ปาฐะทำให้เสียงสั้นว่า น อุสฺสิเนนฺติ ดี.
               บทว่า วิธูเปนฺติ กำจัด คือให้ดับ.
               บทว่า น สุธูเปนฺติ ไม่อบโลกให้งาม คือไม่รุ่งเรือง.
               บทว่า โลกํ สมติกฺกมฺม อภิภุยฺย ติฏฺฐนฺติ ล่วงโลกครอบงำโลกตั้งอยู่ คือโลกุตรธรรมแม้ทั้งหมดก้าวล่วงและครอบงำโลกตั้งอยู่ด้วยดี เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าโลกุตระ เป็นอันท่านกล่าวถึงความที่โลกุตระทั้งหลายเหนือโลกและยิ่งกว่าโลกโดยประการดังกล่าวนี้แม้ทั้งหมด.

               จบอรรถกถาโลกุตตรกถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค ๘. โลกุตรกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 614อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 620อ่านอรรถกถา 31 / 621อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=9277&Z=9298
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=5878
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=5878
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :