ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 94 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 134 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 163 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา โสณนันทชาดก
ว่าด้วย เรื่องพระราชาไปขอขมาโทษโสณดาบส

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พระราชาทุกพระองค์ ทรงลูบไล้ด้วยจันทน์หอม ทรงผ้ากาสิกพัสตร์อย่างดี ทุกพระองค์ทรงประคองอัญชลี เข้าไปยังสำนักของฤาษีทั้งหลาย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฌุปาคมํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ทรงลูบไล้ด้วยผงจันทน์อันมีกลิ่นหอม ทรงผ้าซึ่งมาจากแคว้นกาสีอย่างดีเลิศ ทรงยกอัญชลีขึ้นบนพระเศียร เข้าไปยังสำนักของฤาษีทั้งหลาย.

               ลำดับนั้น พระเจ้ามโนชราชทรงนมัสการบิดาของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว ประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อจะทรงกระทำปฏิสันถาร จึงตรัสคาถา ๒ คาถาว่า
               พระคุณเจ้าผู้เจริญไม่มีโรคาพาธดอกหรือ พระคุณเจ้าสุขสำราญดีอยู่หรือ พระคุณเจ้าพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้สะดวก ด้วยการแสวงหามูลผลาหารแลหรือ เหง้ามันและผลไม้มีมากแลหรือ เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยแลหรือ ในป่าอันเกลื่อนกล่นไปด้วยพาฬมฤค ไม่มีมาเบียดเบียนบ้างหรือ.


               ต่อไปนี้เป็นคาถาที่ พระดาบสบิดาของพระโพธิสัตว์ และพระเจ้ามโนชราช กล่าวถามและตอบกัน ๒ คน ว่า
               ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลายไม่มีโรคาพาธ มีความสุขสำราญดี เยียวยาอัตภาพได้สะดวก ด้วยการแสวงหามูลผลาหาร ทั้งมูลมัน ผลไม้ก็มีมาก เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อย ในป่าอันเกลื่อนกล่นไปด้วยพาฬมฤค ไม่มีมาเบียดเบียนอาตมภาพ
               เมื่ออาตมภาพได้อยู่อาศรมนี้หลายปีมาแล้ว อาตมภาพไม่รู้สึกอาพาธ อันไม่เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจเกิดขึ้นเลย ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาดีแล้ว และพระองค์ไม่ได้เสด็จมาร้าย พระองค์ผู้เป็นอิสระ เสด็จมาถึงแล้ว ขอจงตรัสบอกสิ่งที่ทรงชอบพระหฤทัย ซึ่งมีอยู่ ณ ที่นี้เถิด
               ขอเชิญมหาบพิตรเสวยผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง และผลหมากเม่า อันเป็นผลไม้มีรสหวานน้อยๆ เชิญเลือกเสวยแต่ผลที่ดีๆ เถิด น้ำนี้เย็น นำมาแต่ซอกเขา ขอเชิญมหาบพิตรดื่มเถิด ถ้าพระองค์ทรงปรารถนา.

               สิ่งใดที่พระคุณเจ้าให้ ข้าพเจ้าขอรับเอาสิ่งนั้น พระคุณเจ้ากระทำให้ถึงแก่ข้าพเจ้าทั้งปวง ขอพระคุณเจ้าจงเงี่ยโสตสดับคำของนันทดาบส ที่ท่านจะกล่าวนั้นเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นบริษัทของนันทดาบส มาแล้วสู่สำนักของพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดสดับคำของข้าพเจ้า ของนันทดาบส และของบริษัทเถิด.


               คาถาเหล่านี้ มีข้อความเกี่ยวเนื่องกันชัดแล้ว โดยส่วนมากทีเดียว. ส่วนในที่นี้ ข้าพเจ้าจักกล่าวเฉพาะคำที่ยังไม่ชัดเจนเท่านั้น.
               บทว่า ปเวทย ความว่า พระดาบสทูลว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกสิ่งนั้นที่มีอยู่ในที่นี้ ซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยของพระองค์ แก่อาตมภาพเถิด.
               บทว่า ขุททกปปานิ ความว่า ผลไม้ต่างๆ เหล่านี้มีรสหวาน มีส่วนเปรียบด้วยรสหวานนิดหน่อย.
               บทว่า วรํ วรํ ความว่า ขอพระองค์จงเลือกเอาผลไม้ที่ดีๆ จากผลไม้เหล่านี้แล้ว เชิญเสวยเถิด.
               บทว่า คิริคพภรา ได้แก่ จากสระอโนดาต.
               บทว่า สพพสส อคฆิยํ ความว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถามแล้วด้วยสิ่งใด สิ่งนั้นชื่อว่า เป็นอันข้าพเจ้าทั้งหลายรับแล้ว อนึ่ง ชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นของอันพระคุณเจ้าให้แล้วทีเดียว อธิบายว่า พระคุณเจ้ากระทำให้เป็นของถึงแก่ชนนี้ทั้งหมด ด้วยการกระทำมีประมาณเพียงเท่านี้ คือ กระทำสิ่งทั้งหมดแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายก่อน.
               บทว่า นนทสสาปิ ความว่า พระคุณเจ้ากระทำสิ่งทั้งหมดแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายก่อนแล้ว บัดนี้ นันทบัณฑิตปรารถนาจะกล่าวถ้อยคำเล็กน้อย ขอพระคุณเจ้าจงฟังคำของเธอก่อน.
               บทว่า อชฌาวรมหา ความว่า พระราชาตรัสว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายมาแล้วด้วยเหตุอื่นก็หาไม่ ก็ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นบริษัทของนันทบัณฑิตมาแล้ว เพื่อจะยังท่านทั้งหลายให้ยกโทษ.
               บทว่า ภวํ ความว่า พระคุณเจ้าผู้มีชื่อว่า โสณบัณฑิต จงสดับเถิด.

               เมื่อพระเจ้ามโนชราชตรัสอย่างนี้แล้ว นันทบัณฑิตจึงลุกจากอาสนะ ไหว้มารดาบิดาและพี่ชาย เมื่อจะเจรจากับบริษัท จึงกล่าวว่า
               ชาวชนบทร้อยเศษ พราหมณ์มหาศาลประมาณเท่านั้น กษัตริย์อภิชาตผู้เรืองยศทั้งหมดนี้ และพระเจ้ามโนชะผู้เจริญ จงเข้าใจคำของข้าพเจ้า
               ยักษ์ทั้งหลาย ภูตและเทวดาทั้งหลายในป่า เหล่าใด ซึ่งมาประชุมกันอยู่ในอาศรมนี้ ขอจงฟังคำของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอกระทำความนอบน้อมแก่เทวดาทั้งหลายแล้ว จักกล่าวกะฤาษีผู้มีวัตรอันงาม
               ข้าพเจ้านั้นชาวโลกสมมติแล้วว่า เป็นชาวโกสิยโคตรร่วมกับท่าน จึงนับว่าเป็นแขนขวาของท่าน ข้าแต่ท่านโกสิยะผู้มีความเพียร เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้ประสงค์จะเลี้ยงดูมารดาบิดาของข้าพเจ้า ฐานะนี้ชื่อว่าเป็นบุญ ขอท่านอย่าได้ห้ามข้าพเจ้าเสียเลย
               จริงอยู่ การบำรุงมารดาบิดานี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว ขอท่านจงอนุญาตการบำรุงมารดาบิดานี้แก่ข้าพเจ้า ท่านได้กระทำกุศลมาแล้วสิ้นกาลนาน ด้วยการลุกขึ้นทำกิจวัตรและการบีบนวด บัดนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาจะทำบุญในมารดาและบิดา ขอท่านจงให้โลกสวรรค์แก่ข้าพเจ้าเถิด
               ข้าแต่พระฤาษี มนุษย์ทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในบริษัทนี้ ทราบบทแห่งธรรมในธรรมว่า เป็นทางแห่งโลกสวรรค์ เหมือนดังท่านทราบ ฉะนั้น การบำรุงมารดาบิดา ด้วยการอุปัฏฐากและการบีบนวด ชื่อว่านำความสุขมาให้ ท่านห้ามข้าพเจ้าจากบุญนั้น ชื่อว่า เป็นอันห้ามทางอันประเสริฐ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุมญญนตุ ความว่า จงรู้ คือจงกระทำให้ดีให้ประจักษ์.
               บทว่า สมิตาโร ได้แก่ มาประชุมกันอยู่พร้อมแล้ว.
               บทว่า อรญเญ ภูตภพยานิ ความว่า ภูตทั้งหลายด้วย เทวดาทั้งหลาย ผู้ถึงแล้วซึ่งแดนแห่งความเจริญด้วย และเทวดาหนุ่มๆ ทั้งหลายด้วยเหล่าใด ในป่าหิมวันตประเทศนี้ เทวดาเหล่านั้นทั้งหมด จงฟังคำของข้าพเจ้า.
               บทว่า นโม กตฺวาน ความว่า พระนันทบัณฑิตนั้น ครั้นให้สัญญานี้แก่บริษัทแล้ว กระทำการนอบน้อมแก่เทวดาทั้งหลาย ผู้เกิดแล้วในชัฏแห่งป่านั้นนั่นแล จึงได้กล่าวแล้ว.
               เนื้อความแห่งคำนั้นมีอธิบายว่า
               ในวันนี้แหละ เทวดาผู้อยู่ในหิมวันตประเทศทั้งหลายเป็นอันมาก พึงมาประชุมกันเพื่อจะฟังธรรมกถาของพี่ชายเรา เพราะฉะนั้น นันทบัณฑิตจึงได้กล่าวว่า ก็ความนอบน้อมนี้ เป็นความนอบน้อมแก่ท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงเป็นสหายของข้าพเจ้า. นันทบัณฑิตนั้นประคองอัญชลีแก่เทวดาทั้งหลาย ยังบริษัทให้ทราบแล้ว จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ข้าพเจ้าจักกล่าวกะพระฤาษี ดังนี้
               คำว่า อิสึ ในคาถานั้น ท่านกล่าวหมายถึงโสณบัณฑิต.
               บทว่า สมฺมโต ความว่า ธรรมดาว่า พี่ชายทั้งหลายย่อมเป็นผู้เสมอด้วยร่างกาย เพราะฉะนั้น พระนันทบัณฑิตนั้นจึงสมมติเอาว่า ข้าพเจ้าเท่ากับเป็นแขนขวาของท่าน จึงแสดงว่า ท่านทั้งหลายจึงควร เพื่อจะยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเหตุนั้น.
               บทว่า วีร ได้แก่ ข้าแต่พี่ผู้มีความพยายาม ผู้มีความบากบั่นมาก.
               บทว่า ปุญฺญมิทํ ฐานํ ความว่า นันทบัณฑิตกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าการบำรุงมารดาบิดานี้ เป็นบุญ คือเป็นเหตุที่จะยังหมู่สัตว์ให้เป็นไปพร้อมเพื่อบังเกิดในสวรรค์ เพราะฉะนั้น ท่านอย่าได้ห้ามข้าพเจ้าผู้จะทำบุญนั้นเลย.
               บทว่า สพฺภิเหตํ ความว่า จริงอยู่ ธรรมดาว่า การบำรุงมารดาบิดานี้ บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญแล้ว คือเข้าไปรู้แล้วและพรรณนาแล้ว.
               บทว่า มเมตํ อุปนิสสช ความว่า ขอท่านจงอนุญาต คือจงสละ จงให้การบำรุงมารดาบิดานี้แก่ข้าพเจ้าเถิด.
               บทว่า อุฏฐานปาทจริยาย ได้แก่ ด้วยความเพียรเป็นเหตุให้ลุกขึ้น และด้วยการบำเรอเท้า.
               บทว่า กตํ ได้แก่ ท่านกระทำกุศลไว้แล้วสิ้นกาลนาน.
               บทว่า ปุญฺญานิ ความว่า บัดนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะทำบุญในมารดาบิดาทั้ง ๒.
               บทว่า มม โลกทโท ความว่า นันทบัณฑิตกล่าวว่า ขอท่านจงให้โลกสวรรค์แก่ข้าพเจ้านั้น ด้วยว่า ข้าพเจ้ากระทำวัตรคือการบำรุงมารดาบิดาทั้ง ๒ นั้น จักได้อิสริยยศหาประมาณมิได้ ในเทวโลก ขอท่านจงเป็นทายกของข้าพเจ้านั้นเถิด.
               บทว่า ตเถว ความว่า ท่านย่อมรู้ด้วยประการใด แม้ชนเหล่าอื่นที่มีอยู่ในบริษัทนี้ ชนเหล่านั้นย่อมกล่าวซึ่งธรรมทั้งหลายมีประการต่างๆ คือส่วนแห่งธรรม กล่าวคือ ความเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อบุคคลผู้เจริญที่สุดนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ถามว่า ชนเหล่านั้นกล่าวว่าอย่างไร?
               ตอบว่า ชนเหล่านั้นกล่าวว่า ธรรม คือการบำรุงมารดาบิดานี้ เป็นทางแห่งโลกสวรรค์.
               บทว่า สุขาวหํ ความว่า นำความสุขมาให้แก่มารดาบิดา ด้วยการลุกขึ้นและด้วยการบำเรอ.
               บทว่า ตํ มํ ความว่า โสณบัณฑิตผู้เป็นพี่ชาย ย่อมห้ามคือกีดกันข้าพเจ้านั้น แม้ผู้ปฏิบัติชอบอย่างนี้เสียจากบุญนั้น.
               บทว่า อริยมคคาวโน ความว่า ย่อมห้ามเสียซึ่งอริยมรรค. นระนั้นห้ามอยู่ซึ่งบุญอย่างนี้ คือ นระนี้ชื่อว่าย่อมเป็นผู้ห้ามเสีย ซึ่งหนทางแห่งเทวโลก กล่าวคืออริยะ เพื่อจะแสดงซึ่งความรักแก่ข้าพเจ้า.

               เมื่อนันทบัณฑิตกล่าวอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์จึงประกาศว่า ท่านทั้งหลายได้สดับถ้อยคำของนันทบัณฑิตนี้ก่อนแล้ว บัดนี้ ขอเชิญสดับถ้อยคำของข้าพเจ้าบ้าง ดังนี้แล้ว
               จึงกล่าวว่า
               ขอมหาบพิตรผู้เจริญทั้งหลาย ผู้เป็นบริษัทของน้องนันทะ จงสดับถ้อยคำของอาตมภาพ ผู้ใดยังวงศ์ตระกูลแต่เก่าก่อนให้เสื่อม ไม่ประพฤติธรรมในบุคคลผู้เจริญทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก
               ดูก่อนท่านผู้เป็นใหญ่ในทิศ ส่วนชนเหล่าใด เป็นผู้ฉลาดในธรรมอันเป็นของเก่า และถึงพร้อมด้วยจารีต ชนเหล่านั้น ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว ญาติและเผ่าพันธุ์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นภาระของพี่ชายใหญ่ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด มหาบพิตร
               ดูก่อนมหาบพิตรผู้เป็นจอมทัพ ก็อาตมภาพเป็นพี่ชายใหญ่ จึงต้องรับภาระอันหนัก ทั้งสามารถจะปฏิบัติท่านเหล่านั้นได้ เหมือนนายเรือรับภาระอันหนัก สามารถจะนำเรือไปได้โดยสวัสดี ฉะนั้น เหตุนั้น อาตมภาพจึงไม่ละลืมธรรม.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภาตุรชฌาวรา มม ความว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย คือพระราชาทั้งหลายทั้งหมด ซึ่งเป็นบริษัทแห่งน้องชายของข้าพเจ้า พากันมาแล้ว จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้าก่อนบ้าง.
               บทว่า ปริหาปยํ ได้แก่ ให้เสื่อมรอบอยู่.
               บทว่า ธมมสส ได้แก่ ธรรมคือความประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ คือธรรมอันเป็นประเพณี.
               บทว่า กุสลา ได้แก่ เฉียบแหลม.
               บทว่า จาริตเตน จ ได้แก่ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยมารยาทและศีล.
               บทว่า ภารา ความว่า ชนเหล่านั้นทั้งหมด อันพี่ชายใหญ่พึงนำไป คือพึงปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าเป็นภาระของพี่ชายใหญ่นั้น.
               บทว่า นาวิโก วิย ความว่า เหมือนอย่างว่า นายเรือรับภาระหนัก บรรทุกลงในเรือแล้ว ก็ต้องอุตสาหะพยายามที่จะนำเรือไป ในท่ามกลางมหาสมุทร ด้วยความสวัสดี สินค้าและชนทั้งหมดพร้อมทั้งเรือ ย่อมเป็นภาระของนายเรือนั้นคนเดียว ฉันใด ญาติทั้งหมดย่อมเป็นภาระของข้าพเจ้าผู้เดียว และข้าพเจ้าอาจสามารถที่จะปฏิบัติเลี้ยงดูชนเหล่านั้นใด ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงไม่ละเลยเชฏฐาปจายนธรรมนั้น อนึ่ง ข้าพเจ้าเป็นพี่ชายใหญ่ ของชนเพียงนี้ เท่านั้นก็หาไม่ ข้าพเจ้ายังเป็นพี่ชายใหญ่ของชาวโลกแม้ทั้งสิ้นอีกด้วย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าแล จึงสมควรแล้วที่จะปฏิบัติมารดาบิดา พร้อมทั้งน้องนันทะด้วย.
               พระราชาเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว ก็พากันดีพระทัยตรัสว่า เราทั้งหลายรู้แล้วในวันนี้เองว่า ได้ยินว่า หน้าที่คือการปฏิบัติมารดาบิดาทั้งหลายที่เหลือ ย่อมเป็นหน้าที่ของพี่ชายใหญ่ จึงพากันทอดทิ้งนันทบัณฑิต เข้าไปอาศัยพระมหาสัตว์

               เมื่อจะทรงกระทำความชมเชยพระมหาสัตว์นั้น จึงตรัสคาถา ๒ คาถาว่า
               ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ไปแล้วในความมืด วันนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายเกิดความรู้ขึ้นแล้ว ท่านโกสิยฤาษีได้แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย เหมือนส่องแสงอันรุ่งเรืองจากไฟ ฉะนั้น พระอาทิตย์เป็นเทพเจ้าแห่งแสง มีรัศมีเจิดจ้าเมื่ออุทัย ย่อมแสดงรูปดีและรูปชั่ว ให้ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ฉันใด ท่านโกสิยฤาษีก็แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อธิคตมหา ความว่า ในกาลก่อนแต่นี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายตกอยู่ในความมืด อันปกปิดเสียซึ่งเชฏฐาปจายนธรรม จึงไม่รู้จักธรรมนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เกิดความรู้ขึ้นในวันนี้เอง เหมือนแสงประทีปส่องสว่างอยู่ฉะนั้น.
               บทว่า เอวเมว โน ความว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่บนยอดเขา อันมืดทึบ ส่องแสงสว่างอยู่โดยรอบ ย่อมแสดงรูปทั้งหลายให้ปรากฏได้ฉันใด พระฤาษีโกสิยโคตรผู้เจริญ ก็แสดงธรรมแก่พวกเราฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า วาสุเทโว ความว่า เทวดาผู้เป็นเจ้าแห่งแสง เป็นผู้ส่องแสงสว่าง และเป็นผู้ประกาศธรรม.

               พระมหาสัตว์ทำลายความเลื่อมใสในนันทบัณฑิตนั้นแล้ว ยังพระราชาเหล่านั้น ซึ่งมีพระทัยเลื่อมใสในเธอ เพราะได้เห็น ปาฏิหาริย์ทั้งหลายของนันทบัณฑิต ตลอดกาลเพียงเท่านี้ ให้กลับมาถือเอาถ้อยคำของตนแล้ว ได้ทำให้พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดนั่นแล ต่างจ้องดูหน้าของตน ด้วยกำลังแห่งญาณของตน ด้วยประการฉะนี้.
               ลำดับนั้น นันทบัณฑิตคิดว่า พี่ชายของเราเป็นบัณฑิต เป็นธรรมกถึกอย่างเฉียบแหลม ได้แยกพระราชาของเราแม้ทั้งหมด กระทำให้เป็นฝักฝ่ายของตนได้ เว้นพี่ชายของเรานี้เสียแล้ว คนอื่นที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ไม่มีเลย จำเราจักต้องอ้อนวอนพี่ชายของเรานี้ ผู้เดียวเถิด
               จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ถ้าพี่จะไม่รับอัญชลีของข้าพเจ้า ผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้าก็จักดำเนินไปตามถ้อยคำของพี่ จักบำรุงบำเรอพี่ ผู้อยู่ด้วยความไม่เกียจคร้าน.


               เนื้อความแห่งคำอันเป็นคาถานั้น มีดังต่อไปนี้
               ถึงแม้ว่าพี่จะไม่ยอมรับ คือ ไม่รับอัญชลีของข้าพเจ้า ผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้ ซึ่งข้าพเจ้าประคองอยู่เพื่อต้องการให้พี่ยกโทษ พี่จงบำรุงมารดาบิดาเถิด ส่วนข้าพเจ้าก็จะประพฤติตามถ้อยคำของพี่ คือจักเป็นผู้กระทำตามถ้อยคำ จะตั้งใจบำรุงด้วยความเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน ทุกคืนทุกวัน คือข้าพเจ้าจักปฏิบัติบำรุงพี่.
               แม้ตามปกติ พระมหาสัตว์จะมิได้ถือโทษ หรือผูกเวรในนันทบัณฑิตเลย ก็ตาม แต่เมื่อนันทบัณฑิตนั้น กล่าวถ้อยคำอันกระด้างกระเดื่องเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กระทำดังนั้น ก็เพื่อจะข่มให้เธอลดละมานะเสีย ครั้นมาบัดนี้ได้สดับถ้อยคำของเธอ จึงมีจิตยินดีเกิดความเลื่อมใสในเธอ กล่าวว่า นันทะน้องเอ๋ย บัดนี้พี่ยกโทษให้แก่เธอแล้ว และเธอจักได้ปฏิบัติมารดาบิดา
               เมื่อจะประกาศคุณของนันทบัณฑิตนั้น จึงกล่าวว่า
               ดูก่อนนันทะ เธอรู้แจ้งสัทธรรมที่ สัตบุรุษทั้งหลายแสดงแล้ว เป็นแน่ เธอเป็นคนดี มีมารยาทอันงดงาม พี่ชอบใจเป็นยิ่งนัก พี่จะกล่าวกะมารดาบิดาว่า ขอท่านทั้งสองจงฟังคำของข้าพเจ้า ภาระนี้ หาใช่เป็นภาระเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ของข้าพเจ้าไม่ การบำรุงที่ข้าพเจ้าบำรุงแล้วนี้ ย่อมนำความสุขมาให้แก่มารดาบิดาได้ แต่นันทะย่อมทำการขอร้องอ้อนวอน เพื่อบำรุงท่านทั้งสองบ้าง บรรดาท่านทั้งสองผู้สงบระงับ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ หากว่าท่านใดปรารถนา ข้าพเจ้าจะบอกกะท่านนั้น ขอให้ท่านทั้งสองผู้หนึ่งจงเลือกนันทะตามความปรารถนาเถิด นันทะจะบำรุงใครในท่านทั้งสอง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อริโย ได้แก่ เป็นคนดี.
               บทว่า อริยสมาจาโร ได้แก่ เธอเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย.
               บทว่า พาฬหํ ความว่า บัดนี้ เธอย่อมเป็นที่ชอบใจแก่พี่ยิ่งนัก.
               บทว่า สุณาถ ความว่า ข้าแต่มารดาและบิดา ขอท่านจงฟังคำของข้าพเจ้า.
               บทว่า นายํ ภาโร ความว่า ภาระ คือการปฏิบัติมารดาบิดานี้ จะว่าเป็นเพียงภาระของข้าพเจ้า ในกาลบางครั้งบางคราว ก็หาไม่.
               บทว่า ตํ มํ ความว่า ท่านทั้งหลายได้สำคัญว่า การบำรุงมารดาบิดานั้น เป็นภาระข้าพเจ้าคนเดียว ก็เลี้ยงดูท่านทั้งหลายได้.
               บทว่า อุปฏฐานาย ยาจติ ความว่า นันทะได้มาอ้อนวอนเรา เพื่อจะขอบำรุงท่านทั้งสองบ้าง.
               บทว่า โย เจ อิจฉติ ความว่า ด้วยว่า ข้าพเจ้าไม่สมควรจะพูดว่า เธอจงบำรุงมารดาหรือบิดาของพี่ แต่บรรดาท่านทั้งสอง ผู้สงบระงับแล้ว ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งปรารถนา ข้าพเจ้าจะบอกกะท่านผู้นั้น บรรดาท่านทั้งสองขอให้ท่านเลือกเอานันทะตามความปรารถนาเถิด ท่านทั้งหลายย่อมชอบใจนันทะน้องชายของข้าพเจ้านั้น ในบรรดาท่านทั้งสอง นันทะนี้สมควรจะบำรุงใคร ด้วยว่า เราทั้งสองคนต่างก็เป็นบุตรของท่านด้วยกัน นั่นแล.
               ลำดับนั้น มารดาจึงลุกขึ้นจากอาสนะกล่าวว่า พ่อโสณบัณฑิตเอ๋ย น้องชายของพ่อจากไปเสียนานแล้ว แม้เธอมาแล้วจากที่ไกลอย่างนี้ แม่ก็ไม่อาจจะอ้อนวอนได้ ด้วยว่าเราทั้งสองคน ได้อาศัยพ่ออยู่แล้ว แต่บัดนี้พ่ออนุญาตแล้ว แม่ก็จักได้กอดรัดลูกนันทะ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้ ด้วยแขนทั้งสองแล้ว พึงได้การจูบศีรษะ
               เมื่อจะประกาศเนื้อความนี้ จึงกล่าวคาถาว่า
               ดูก่อนพ่อโสณะ เราทั้งสองคนอาศัยเจ้าอยู่ ถ้าเจ้าอนุญาต แม่ก็จะพึงได้จุมพิตลูกนันทะผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่ศีรษะ.


               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์พูดว่า ข้าแต่แม่ ถ้าอย่างนั้นลูกยอมอนุญาต แม่จงไปสวมกอดนันทะ ลูกชายของแม่ แล้วจงจูบและจุมพิตที่ศีรษะนันทะ จงทำความเศร้าโศกภายในใจของแม่ให้ดับไปเสียเถิด.
               มารดาพระโพธิสัตว์นั้น จึงไปหานันทะนั้น แล้วสวมกอดนันทบัณฑิต ในท่ามกลางบริษัททีเดียว แล้วจูบและจุมพิตนันทะนั้นที่ศีรษะ ดับความเศร้าโศกในดวงใจเสียให้หายแล้ว
               เมื่อจะเจรจากับพระมหาสัตว์ จึงกล่าวว่า
               ใบอ่อนของต้นอัสสัตถพฤกษ์ เมื่อลมรำเพยพัดต้องแล้ว ย่อมหวั่นไหวไปมา ฉันใด หัวใจของแม่ก็หวั่นไหว เพราะนานๆ จึงได้เห็นลูกนันทะ ฉันนั้น
               เมื่อใด เมื่อแม่หลับแล้วฝันเห็นลูกนันทะมา แม่ก็ดีใจอย่างล้นเหลือว่า ลูกนันทะของแม่นี้มาแล้ว แต่เมื่อใด ครั้นแม่ตื่นขึ้นแล้ว ไม่ได้เห็นลูกนันทะของแม่มา ความเศร้าโศกและความเสียใจมิใช่น้อย ก็ทับถมยิ่งนัก
               วันนี้ แม่ได้เห็นลูกนันทะผู้จากไปนาน กลับมาแล้ว ขอลูกนันทะจงเป็นที่รักของบิดาเจ้าและของแม่เอง ขอลูกนันทะจงเข้าไปสู่เรือนของเราเถิด ดูก่อนพ่อโสณะเอ๋ย ลูกนันทะเป็นที่แสนรักยิ่งของบิดา ลูกนันทะยังไม่ได้เข้าไปสู่เรือนใด ขอให้ลูกนันทะจงได้เรือนนั้น ขอลูกนันทะจงบำรุงแม่เถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาลุเตริตํ ความว่า มารดาของพระมหาสัตว์กล่าวว่า ใบของต้นอัสสัตถพฤกษ์ถูกลมพัดแล้ว ย่อมโยกไหวไปมา ฉันใด ในวันนี้หัวใจของแม่ ก็ย่อมหวั่นไหว เพราะได้พบเห็นลูกนันทะ ซึ่งจากไปนานฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า สุตฺตา ความว่า ดูก่อนพ่อโสณะเอ๋ย คราวใด เมื่อแม่หลับแล้วฝันเห็นนันทะมา แม้ในคราวนั้น แม่ก็ดีใจเหลือเกิน.
               บทว่า ภตฺตุ จ ได้แก่ ย่อมเป็นที่รักแห่งพ่อและแม่.
               บทว่า นนฺโท โน ปาวิสี ฆรํ ความว่า ดูก่อนพ่อโสณะเอ๋ย นันทะลูกชายของแม่ จงเข้าไปสู่บรรณศาลา.
               บทว่า ยํ ความว่า เพราะเหตุที่นันทะนั้น ย่อมเป็นที่รักอย่างสนิทแท้ของบิดา เพราะฉะนั้น นันทะนั้นจึงไม่ต้องจากเรือนนี้ไปอีก.
               บทว่า นนฺโท ตํ ความว่า ดูก่อนพ่อโสณะเอ๋ย นันทะปรารถนาสิ่งใด จงได้สิ่งนั้นเถิด.
               บทว่า มํ นนฺโท ความว่า ดูก่อนพ่อโสณะเอ๋ย พ่อจงบำรุงบิดาของพ่อเถิด ส่วนนันทะจงบำรุงแม่.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์รับคำของมารดาว่า จงเป็นไปตาม คำพูดของแม่อย่างนี้เถิด ดังนี้แล้ว จึงกล่าวสอนน้องชายว่า ดูก่อนน้องนันทะ น้องได้ส่วนปันของพี่แล้ว ธรรมดาว่า มารดาเป็นผู้กระทำคุณไว้เป็นยิ่งนัก น้องอย่าประมาท พึงตั้งใจปฏิบัติท่านเถิด
               เมื่อจะประกาศคุณของมารดา จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               ดูก่อนฤาษี มารดาเป็นผู้อนุเคราะห์ เป็นที่พึ่ง และเป็นผู้ให้ขีรรสแก่เราก่อน เป็นทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า มารดาเป็นผู้ให้ขีรรสก่อน เป็นผู้เลี้ยงดูเรามา เป็นผู้ชักชวนเราในบุญกุศล เป็นทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุกมฺปกา ได้แก่ เป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน.
               บทว่า ปุพฺเพ รสทที ได้แก่ เป็นผู้ให้รส คือน้ำนมของตน เป็นครั้งแรกทีเดียว.
               บทว่า มาตา ตํ ความว่า มารดาของเราไม่ปรารถนาเรา ท่านเลือกเจ้า คือปรารถนาเจ้า.
               บทว่า โคตฺตี ได้แก่ เป็นผู้ปกครองดูแล.
               บทว่า ปุญญูปสญหิตา ได้แก่ เป็นที่อยู่อาศัยแห่งบุญ เป็นผู้ให้ซึ่งบุญ.

               พระมหาสัตว์ ครั้นได้พรรณนาคุณงามความดีของมารดาด้วยคาถา ๒ คาถาอย่างนี้แล้ว พอมารดากลับมานั่ง ณ อาสนะเดิม จึงกล่าวสอนน้องอีกว่า ดูก่อนน้องนันทะเอ๋ย น้องได้มารดาผู้ทำกิจที่ทำได้ยากไว้แล้ว แม้เราทั้งสองคน มารดาท่านก็ได้ประคับประคองมาโดยยากลำบาก บัดนี้ น้องอย่าได้ประมาทนะ จงพยายามปฏิบัติมารดาท่านเถิด น้องอย่าให้ท่านบริโภคผลไม้น้อยใหญ่ทั้งหลาย ที่ไม่อร่อยอีกนะ เมื่อจะประกาศว่า มารดาได้เป็นผู้กระทำกิจอันแสนยากที่คนอื่นจะทำได้ ในท่ามกลางบริษัทนั่นแล จึงกล่าวว่า
               มารดาหวังผลคือบุตร จึงนอบน้อมแก่เทวดา และไต่ถามถึงฤกษ์ ฤดูและปีทั้งหลาย เมื่อมารดานั้นมีระดู ความก้าวลงแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ก็ย่อมมี
               เพราะสัตว์เกิดในครรภ์นั้น มารดาจึงแพ้ท้อง เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า เป็นผู้มีใจดี มารดาบริหารครรภ์อยู่หนึ่งปี หรือหย่อนกว่าปีแล้วจึงคลอด เหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า ชนยันตี และชเนตตี ผู้ยังบุตรให้เกิด
               มารดาย่อมปลอบบุตร ผู้ร้องไห้อยู่ให้รื่นเริง ด้วยการให้ดื่มน้ำนมบ้าง ด้วยการขับกล่อมบ้าง ด้วยการอุ้มแนบไว้กับอกบ้าง เหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า ปลอบบุตรให้รื่นเริง
               ต่อแต่นั้น มารดาเห็นบุตรผู้ยังเป็น เด็กอ่อนไม่รู้จักเดียงสา เล่นอยู่ ท่ามกลางสายลม และแสงแดดอันกล้า ก็เข้ารับขวัญ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า โปเสนตี ผู้เลี้ยงดูบุตร มารดาย่อมคุ้มครองทรัพย์แม้ทั้งสองฝ่าย คือทรัพย์ของมารดา และทรัพย์ของบิดา เพื่อบุตรนั้น ด้วยตั้งใจว่า ทรัพย์ทั้งสองฝ่ายพึงเป็นของบุตรแห่งเรา
               มารดายังบุตรให้ศึกษาดังนี้ว่า อย่างนี้ซิลูก อย่างโน้นซิลูก ย่อมลำบาก เมื่อบุตรกำลังรุ่นหนุ่มคะนอง มารดาย่อมคอยมองดูบุตร ผู้หลงเพลิดเพลินในภรรยาผู้อื่น จนพลบค่ำก็ยังไม่กลับมา ย่อมเดือดร้อน ด้วยประการฉะนี้.
               บุตรผู้อันมารดาเลี้ยงดูมาแล้ว ด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุงมารดา บุตรนั้นชื่อว่าประพฤติผิดในมารดา ย่อมเข้าถึงนรก
               บุตรผู้อันบิดาเลี้ยงมาแล้ว ด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุงบิดา บุตรนั้นชื่อว่าประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก
               เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุงมารดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลาย ผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมฉิบหาย หรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น
               เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุงบิดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลาย ผู้ปรารถนาทรัพย์ ย่อมฉิบหาย หรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น
               ความรื่นเริง ความบันเทิงและความหัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงได้ เพราะการบำรุงมารดา ความรื่นเริง ความบันเทิงและความหัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงได้ เพราะการบำรุงบิดา
               สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้ คือ ทาน การให้ ๑ ปิยวาจา เจรจาคำน่ารัก ๑ อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ ๑ สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตามสมควรในที่นั้นๆ ๑ ย่อมมีในโลกนี้ เหมือนเพลารถ ย่อมมีแก่รถที่กำลังแล่นไป ฉะนั้น
               ถ้าสังคหวัตถุเหล่านี้ ไม่พึงมีไซร้ มารดา ก็จะไม่พึงได้รับความนับถือหรือการบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร หรือบิดา ก็จะไม่พึงได้ความนับถือ หรือการบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร
               ก็เพราะบัณฑิตทั้งหลาย ย่อมพิจารณาเห็นสังคหวัตถุนี้ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมถึงความเป็นผู้ประเสริฐ และเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์ พึงสรรเสริญ
               มารดาและบิดา บัณฑิตเรียกว่าเป็นพรหมของบุตร เป็นบุรพาจารย์ของบุตร เป็นผู้ควรรับของคำนับจากบุตร และว่าเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร
               เพราะเหตุนั้นแล บุตรผู้เป็นบัณฑิตพึงนอบน้อม
               และสักการะมารดาบิดาทั้ง ๒ นั้นด้วย ข้าว น้ำ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน การขัดสี การให้อาบน้ำ และการล้างเท้า บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญบุตรนั้น ด้วยการบำรุงในมารดาบิดาในโลกนี้
               ครั้นบุตรนั้นละโลกนี้ ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุตตปผลํ แปลว่า ผลคือบุตร.
               บทว่า เทวตาย นมสฺสติ ความว่า ย่อมทำการนอบน้อมบวงสรวงเทวดาว่า ขอให้บุตรจงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าเถิด.
               บทว่า นกขตตานิ จ ปุจฉติ ความว่า และย่อมถามถึงนักขัตฤกษ์ทั้งหลายอย่างนี้ว่า บุตรผู้เกิดแล้วโดยฤกษ์ยามไหน จึงจะมีอายุยืนยาวนาน เกิดฤกษ์ยามไหนมีอายุสั้น.
               บทว่า อุตุสํวจฉรานิ จ ความว่า อนึ่ง มารดาย่อมถามถึงฤดูและปีทั้งหลายอย่างนี้ว่า
               บุตรที่เกิดในฤดูไหน ในบรรดาฤดูทั้ง ๖* จึงจะมีอายุยืนยาวนาน เกิดในฤดูไหนจึงจะมีอายุสั้น หรือเมื่อมารดามีอายุเท่าไร บุตรเกิดมาจึงจะมีอายุยืน เมื่อมารดามีอายุเท่าไร บุตรเกิดมาจึงจะมีอายุสั้น.
____________________________
* เหมนฺโต สิสิรมุตู ฉ วา วสนฺโต จ คิมฺหวสฺสานา สรโท ติ กมา มาสา เทฺว เทฺว วุตฺตานุสาเรน ฤดูทั้ง ๖ คือ เหมันตะ ฤดูหิมะ สิสิร ฤดูหนาว วสันตะ ฤดูใบไม้ผลิ คิมหะ ฤดูร้อน วัสสานะ ฤดูฝน สรทะ ฤดูอบอ้าว ฤดูละ ๒ เดือนๆ เรียงลำดับนับตามข้อที่กล่าวแล้วนั้น (จากอภิธานัปปทีปิกา ข้อที่ ๗๙)

               บทว่า อุตุสิ นหาตาย ได้แก่ เมื่อระดูเกิดขึ้นแล้วชื่อว่า อาบในเพราะระดู(มารดาชื่อว่ามีระดู).
               บทว่า อวกกโม ความว่า การตั้งครรภ์ย่อมมีเพราะการประชุมพร้อมแห่งเหตุ** ๓ ประการ ครรภ์จึงตั้งขึ้นในท้อง.
____________________________
** เหตุแห่งการตั้งครรภ์มี ๓ ประการ คือ
               มาตาปิตโร จ สนฺนิปติตา โหนฺติ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน ๑
               มาตา จ อุตุนี โหติ มารดามีระดู ๑
               คพฺโภ จ ปจฺจุปฏฺฐิโต โหติ สัตว์ผู้จะเกิดถือปฏิสนธิในท้องมารดานั้น ๑
               (มหาตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)


               บทว่า เตน ความว่า มารดานั้นย่อมแพ้ท้องเพราะครรภ์นั้น.
               บทว่า เตน ความว่า ในกาลนั้น มารดาจึงเกิดความรักในบุตรธิดาซึ่งเป็นประชาเกิดในท้องของตน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า สุหทา หญิงมีใจดี.
               บทว่า เตน ความว่า เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า ชนยันตีบ้าง ชเนตตีบ้าง แปลว่าผู้ยังบุตรให้เกิด.
               บทว่า องคปาวุรเณนจ ความว่า ด้วยการให้บุตรนอนในระหว่างนมทั้ง ๒ ยังสัมผัสแห่งสรีระให้แผ่ไปทั่วแล้ว จึงให้อบอุ่นด้วยเครื่องคลุมคืออวัยวะ นั่นแล.
               บทว่า โตเสนตี ได้แก่ ให้รู้สึก ให้ร่าเริง.
               บทว่า มมมํ กตวา อุทิกขติ ความว่า มารดาทำการรับขวัญอย่างนี้ว่า โอ้หนอ ลมพัดแดดแผดเผาในเบื้องบนบุตรของเรา ย่อมมองดูด้วยน้ำใจอันรักใคร่.
               บทว่า อุภยมเปตสส ความว่า มารดาย่อมไม่ต้องการจะให้ทรัพย์แม้ทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ แก่ชนเหล่าอื่น จะเก็บรักษาไว้ในห้องอันมั่นคงเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่บุตรนี้.
               บทว่า เอวํ ปุตฺต อทํ ปุตฺต ความว่า มารดาให้บุตรศึกษาอยู่เป็นนิตย์ว่า โอ่ลูกน้อยเอ๋ย เจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาท ในราชสกุลเป็นต้น อย่างนี้ อนึ่ง เจ้าจงกระทำกรรมอย่างโน้น มารดาย่อมลำบาก ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อิติ มาตา วิหญญติ ได้แก่ ย่อมเหน็ดเหนื่อย.
               บทว่า ปตตโยพพเน ความว่า เมื่อบุตรถึงความเป็นหนุ่มหรือเป็นสาว กำลังคะนอง มารดารู้ว่า บุตรนั้นมัวเมาในภรรยาผู้อื่นจนมืดค่ำ ก็ยังไม่กลับมา จึงจ้องมองดูลูกอยู่ด้วยนัยน์ตาอันเปียกชุ่มด้วยน้ำตา.
               บทว่า วิหญญติ แปลว่า เหน็ดเหนื่อย.
               บทว่า กิจฉาภโต ได้แก่ บุตรที่มารดาเลี้ยงดูมา คือทะนุบำรุงมาด้วยความยากลำบาก.
               บทว่า มิจฉาจริตวาน ได้แก่ ไม่ปฏิบัติมารดา.
               บทว่า ธนาปิ คือ ทรัพย์สมบัติทั้งหมด. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน. มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่บังเกิดขึ้นแก่บุตรผู้อยากได้ทรัพย์ แต่มิได้ปฏิบัติมารดา ย่อมพินาศฉิบหายไป.
               บทว่า กิจฉํ วา โส ความว่า ทรัพย์ของเขาย่อมพินาศไปบ้าง เขาย่อมเข้าถึงความลำบากเองบ้าง ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ลพภเมตํ ความว่า ความสุขมีความบันเทิงเป็นต้น ในโลกนี้และในโลกหน้า บัณฑิตผู้รู้แจ้ง จะพึงได้เพราะการบำรุงมารดา คือบัณฑิตผู้เช่นนั้นอาจจะได้.
               บทว่า ทานญจ ความว่า บุตรพึงให้ทานแก่มารดาบิดาทั้ง ๒ พึงเจรจาถ้อยคำอันเป็นที่รัก พึงประพฤติประโยชน์ ด้วยอำนาจการกระทำหน้าที่ ที่บังเกิดขึ้นแล้วให้เสร็จไป.
               บทว่า ธมเมสุ ความว่า ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรม คือความเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อบุคคลผู้เจริญ อันบุตรพึงกระทำในที่นั้นๆ คือในท่ามกลางบริษัท หรือในที่ลับ ด้วยอำนาจการกราบไหว้เป็นต้น บุตรจะทำการอภิวาทเป็นต้นในที่ลับแล้ว ไม่ยอมกระทำในบริษัทไม่สมควรเลย พึงเป็นผู้ประพฤติเสมอในที่ทั้งหมดทีเดียว.
               บทว่า เอเต จ สงคหา นาสสุ ความว่า ถ้าว่าสังคหวัตถุทั้ง ๔ ประการเหล่านี้ จะไม่พึงมีไซร้.
               บทว่า สมเปกขนติ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมเล็งเห็นโดยนัย โดยเหตุโดยชอบ.
               บทว่า มหตตํ แปลว่า ความเป็นผู้ประเสริฐ.
               บทว่า พรหมา ได้แก่ มารดาบิดาทั้งหลาย เป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ประเสริฐสุด เสมอด้วยพระพรหมของพวกบุตร.
               บทว่า ปุพพาจริยา ได้แก่ เป็นอาจารย์คนแรก.
               บทว่า อาหุเนยยา ได้แก่ เป็นผู้ควรรับของคำนับ คือเป็นผู้สมควรแก่สักการะทุกอย่าง.
               บทว่า อนเนน อโถ ได้แก่ ทั้งข้าว ทั้งน้ำ.
               บทว่า เปจจ ความว่า ในที่สุดแห่งการทำกาลกิริยา (ตาย) บุตรนั้นไปจากโลกนี้แล้ว ย่อมบันเทิงอยู่ในโลกสวรรค์.

               พระมหาสัตว์ได้แสดงพระธรรมเทศนาจบลง ประดุจว่าพลิกภูเขาสิเนรุขึ้นด้วยประการฉะนี้. พระราชาเหล่านั้นและหมู่พลนิกายแม้ทั้งหมด ได้สดับพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ต่างก็พากันเลื่อมใสแล้ว. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงแนะนำพระราชาเหล่านั้นให้ตั้งอยู่ในศีลห้า แล้วสั่งสอนว่า ขอมหาบพิตรทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่ประมาทในบุญมีทานเป็นต้นเถิด แล้วส่งเสด็จพระราชาเหล่านั้นกลับไป. พระราชาเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ทรงปกครองราชสมบัติโดยธรรม. ในเวลาสิ้นพระชนมายุ ก็ทรงกระทำเทพนครให้เต็ม
               โสณบัณฑิตและนันทบัณฑิตดาบส ๒ พี่น้อง ได้ปฏิบัติบำรุงมารดาบิดา ตราบจนถึงสิ้นอายุ ก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้เลี้ยงมารดาบิดาได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว
               จึงทรงประชุมชาดกว่า
               มารดาบิดาของเราในกาลนั้น ได้มาเป็นตระกูลมหาราชในบัดนี้
               พระเจ้ามโนชราชในกาลนั้น ได้มาเป็น พระสารีบุตร
               พระราชา ๑๐๑ พระองค์ ได้มาเป็นพระอสีติมหาเถระ และมาเป็นพระสาวกอื่นๆ
               หมู่พลนิกาย ๒๔ อักโขภิณี ก็ได้มาเป็นพุทธบริษัท
               นันทบัณฑิตได้มาเป็น พระอานนท์
               ส่วนโสณบัณฑิต ก็คือ เราตถาคต นั่นเอง ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาจบ โสณนันทชาดกที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

               รวมชาดกในสัตตตินิบาตนั้น มี ๒ ชาดก คือ
                         ๑. กุสชาดก ว่าด้วย พระเจ้ากุสราชลุ่มหลงรูปโฉมของนางประภาวดี
                         ๒. โสณนันทชาดก ว่าด้วย เรื่องพระราชาไปขอขมาโทษโสณดาบส
               ชาดกทั้งสองนี้ปรากฏอยู่ในสัตตตินิบาต.
               จบ สัตตตินิบาตชาดก.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา โสณนันทชาดก ว่าด้วย เรื่องพระราชาไปขอขมาโทษโสณดาบส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 94 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 134 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 163 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=943&Z=1157
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=3626
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=3626
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :