ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 105อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 106อ่านอรรถกถา 26 / 107อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒
๙. อังกุรเปตวัตถุ

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               อังกุรพาณิช ครั้นแสดงความเอื้อเฟื้อในการบำเพ็ญบุญโดยไม่กำหนดแน่นอนอย่างนี้ บัดนี้ เมื่อจะแสดงกำหนดแน่นอนถึงการบำเพ็ญบุญนั้นในตน จึงกล่าวคาถา ๒ คาถา มีอาทิว่า โส หิ นูน ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ได้แก่ เรานั้น.
               ศัพท์ว่า หิ เป็นนิบาต ลงในอรรถแห่งอวธารณะ.
               ศัพท์ว่า นูน เป็นนิบาตลงในอรรถว่าปริวิตก.
               บทว่า อิโต คนฺตฺวา ความว่า เราไปจากภูมิแห่งเทวดานี้แล้ว.
               บทว่า อนุปฺปตฺวาน ทฺวารกํ ได้แก่ ถึงทวารวดีนครโดยลำดับ.
               บทว่า ปฏฺฐปยิสฺสามิ แปลว่า จักให้เป็นไป.
               เมื่ออังกุระพาณิชกระทำปฏิญญาว่า เราจักให้ทานอย่างนี้แล้ว เทพบุตรมีใจยินดีกล่าวว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้เสียสละจงให้ทานเถิด ส่วนเราจักทำหน้าที่เป็นสหายของท่าน ไทยธรรมของท่านจักไม่ถึงความหมดเปลืองด้วยประการใด เราจักกระทำโดยประการนั้น ดังนี้แล้วจึงให้อังกุระพาณิชนั้นอาจหาญในการบำเพ็ญทานแล้วกล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์พาณิช ได้ยินว่า ท่านปรารถนาจะนำคนเช่นเราไปด้วยพลการ ช่างไม่รู้จักประมาณของตัว ดังนี้แล้วจึงให้สินค้าของอังกุระพาณิชนั้น อันตรธานไปแล้ว จึงขู่ให้อังกุระพาณิชนั้นกลัว ด้วยอาการที่สะพึงกลัวว่าเป็นยักษ์.
               ลำดับนั้น อังกุระพาณิชจึงอ้อนวอนกะเทพบุตรนั้นโดยประการต่างๆ เมื่อจะให้พราหมณ์ขมาโทษ ให้เลื่อมใส จึงทำสินค้าทั้งหมดให้กลับเป็นปกติ เมื่อใกล้ค่ำจึงละเทพบุตรไปอยู่ เห็นเปรตตนหนึ่งที่เห็นเข้าน่ากลัวยิ่งนัก ในที่ไม่ไกลแห่งเทพบุตรนั้น
               เมื่อจะถามถึงกรรมที่เปรตนั้นกระทำ จึงกล่าวคาถาว่า :-
                                   เพราะเหตุไร นิ้วมือของท่านจึงงอหงิก
                         ปากของท่านจึงเบี้ยว และนัยน์ตาทะเล้นออก
                         ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุณา แปลว่า งอหงิกคือหงิกกลับ ได้แก่ไม่ตรง.
               บทว่า กุณลีกตํ ได้แก่ เบี้ยวคือบิดโดยวิการแห่งปาก.
               บทว่า ปคฺฆรํ ได้แก่ ไม่สะอาดไหลออกอยู่.
               ลำดับนั้น เปรตได้กล่าวคาถา ๓ คาถาแก่อังกุระพาณิชนั้นว่า :-
                                   เราเป็นคฤหบดี ตั้งไว้ในการให้ทาน ในโรงทาน
                         ของท่านคฤหบดีผู้มีอังคีรส ผู้มีศรัทธา เป็นฆราวาส
                         ครอบครองเรือน เห็นยาจกผู้มีความประสงค์ด้วย
                         โภชนะมาที่โรงทานนั้น ได้หลีกไป ทำการบุ้ยปากอยู่
                         ณ ที่ข้างหนึ่ง เพราะกรรมนั้น นิ้วมือของเราจึงงอหงิก
                         ปากของเราจึงเบี้ยว นัยน์ตาทะเล้นออกมา เราได้ทำ
                         กรรมชั่วนั้นไว้แล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า องฺคีรสสฺส เป็นต้น เทพบุตรระบุถึงอสัยหเศรษฐี.
               บทว่า ฆรเมสิโน ได้แก่ คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน.
               บทว่า ทานวิสฺสคฺเค ได้แก่ ในโรงทาน คือในที่เป็นที่บริจาคทาน.
               บทว่า ทาเน อธิกโต อหุํ ความว่า เริ่มตั้งคือตั้งไว้ในการบริจาคไทยธรรม คือในการบำเพ็ญทาน.
               บทว่า เอกมนฺตํ อปกฺกมฺม ความว่า ผู้ขวนขวายในทาน เห็นยาจกผู้ต้องการโภชนาหารเดินมา ได้หลีกไปจากโรงทานแล้วยืนอยู่ในที่เดิมนั่นเอง เกิดปีติและโสมนัส มีสีหน้าผ่องใส พึงให้ทานด้วยมือของตน หรือใช้คนอื่นผู้สมควรให้ให้ แต่เราไม่ได้กระทำอย่างนั้น เห็นยาจกเดินมาแต่ไกล ไม่แสดงตน หลีกไปอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               บทว่า อกาสึ กุณลึ มุขํ ความว่า เราได้กระทำปากเบี้ยวปากบุ้ย.
               บทว่า เตน ความว่า เพราะในกาลนั้น เราถูกเจ้านายแต่งตั้งไว้ในหน้าที่ให้ทาน เมื่อกาลทานปรากฏ เรามีความตระหนี่ครอบงำ หลีกไปจากโรงทานทำเท้างอหงิก เมื่อควรจะให้ทานด้วยมือของตน ไม่ได้ทำอย่างนั้น ทำมืองอหงิก เมื่อควรจะมีหน้าผ่องใส ก็ทำหน้าเบี้ยว.
               เมื่อควรจะแลดูด้วยตาอันน่ารักก็ทำให้เกิดนัยน์ตาทะเล้นออกมา เพราะฉะนั้น เราจึงมีนิ้วมือ นิ้วเท้างอหงิกและปากเบี้ยว สยิ้วผิดรูป.
               อธิบายว่า นัยน์ตาทั้ง ๒ หลั่งน้ำตาออกมาไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียด.
               เพราะเหตุนั้น เปรตจึงกล่าวว่า :-
                                   เพราะกรรมนั้น มือของเราจึงงอหงิก
                         ปากเบี้ยว นัยน์ตาทั้ง ๒ ของเราถลนออกมา
                         เพราะเราได้ทำกรรมชั่วนั้นไว้.

               อังกุระพาณิชได้ฟังดังนั้น เมื่อจะติเตียนเปรต จึงกล่าวคาถาว่า :-
                                   แน่ะบุรุษเลวทราม การที่ท่านมีปากเบี้ยว
                         นัยน์ตาทั้ง ๒ ถลนออกมา เป็นการชอบแล้ว
                         เพราะท่านได้กระทำการบุ้ยปากต่อทานของผู้อื่น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺเมน ได้แก่ ด้วยเหตุอันเหมาะสมนั่นเอง.
               บทว่า เต แก้เป็น ตว แปลว่า ของท่าน.
               บทว่า กาปุริส ได้แก่ บุรุษผู้เลวทราม.
               บทว่า ยํ แก้เป็น ยสฺมา แปลว่า เพราะเหตุใด.
               บทว่า ปรสฺส ทานสฺส ได้แก่ ในทานของคนอื่น. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               อังกุระพาณิชเมื่อจะติเตียนทานบดีเศรษฐีนั้นอีก จึงกล่าวคาถาว่า :-
                         ก็ไฉนอสัยหเศรษฐีเมื่อจะให้ทาน จึงได้มอบข้าว
                         น้ำ ของเคี้ยว ผ้า และเสนาสนะ ให้ผู้อื่นจัดแจง.

               คำอันเป็นคาถานั้นมีอธิบายดังนี้ว่า
               บุรุษเมื่อจะให้ทาน ไฉนเล่าจึงมอบให้คนอื่นจัดแจงทานนั้น คือกระทำให้ประจักษ์แก่ตนนั่นแหละ แล้วพึงให้ด้วยมือของตนเอง.
               อนึ่ง ตนเองพึงเป็นผู้ขวนขวายในทานนั้น เมื่อว่าโดยประการอื่น พึงกำจัดไทยธรรมในฐานะอันไม่ควร และไม่พึงให้พระทักขิไณยบุคคลเสื่อมจากทาน.
               อังกุระพาณิชครั้นติเตียนทานบดีเศรษฐีอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงวิธีที่ตนจะพึงปฏิบัติ
               จึงกล่าว ๒ คาถาว่า :-
                                   ก็เราไปจากที่นี้ถึงทวารกนครแล้ว จักเริ่ม
                         ให้ทานอันนำความสุขมาให้เราแน่แท้ เราจักให้
                         ข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ บ่อน้ำ สระน้ำและสะพาน
                         ในที่เดินลำบากให้เป็นทาน.

               คำนั้นมีเนื้อความดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               เพื่อจะแสดงข้อปฏิบัติของอังกุระพาณิช พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงได้ตั้งคาถา ๔ คาถาไว้ความว่า :-
               ก็อังกุระพาณิชนั้นกลับจากทะเลทรายนั้นไปถึงทวารกนครแล้ว ได้เริ่มให้ทานอันนำความสุขมาให้ตน ได้ให้ข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ บ่อน้ำ สระน้ำ ด้วยจิตอันเลื่อมใส.
               ช่างกัลบก พ่อครัวชาวมคธ พากันป่าวร้องในเรือนของอังกุระพาณิชนั้นทั้งเช้าทั้งเย็น ทุกเมื่อว่า ใครหิวจงมากินตามชอบใจ ใครกระหายจงมาดื่มตามชอบใจ ใครจักนุ่งห่มผ้าจงนุ่งห่มผ้า ใครต้องการพาหนะสำหรับเทียม จงเทียมพาหนะในคู่แอกนี้ ใครต้องการร่มจงเอาร่มไป ใครต้องการของหอมจงเอาดอกไม้ไป ใครต้องการรองเท้าจงเอารองเท้าไป.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตโต ได้แก่ จากทะเลทราย.
               บทว่า นิวตฺติตฺวา แปลว่า กลับไปแล้ว.
               บทว่า อนุปฺปตฺวาน ทฺวารกํ แปลว่า ถึงทวารวดีนคร.
               บทว่า ทานํ ปฏฺฐปยิ องฺกุโร ความว่า อังกุระพาณิชนั้นผู้มีเรือนคลังทั้งสิ้นอันเทวบุตรให้บริบูรณ์แล้ว เริ่มตั้งมหาทานอันเกื้อกูลแก่การเดินทางทุกอย่าง.
               บทว่า ยํ ตุมสฺส สุขาวหํ ความว่า เพราะให้เกิดความสุขแก่ตนทั้งในบัดนี้และในอนาคต.
               บทว่า โก ฉาโต อธิบายว่า ใครหิว จงมากินตามความชอบใจ.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ตสิโต แปลว่า ผู้กระหาย.
               บทว่า ปริทหิสฺสติ ความว่า จักนุ่งและจักห่ม.
               บทว่า สนฺตานิ แปลว่า ถึงความสงบ.
               บทว่า โยคฺคานิ ได้แก่ พาหนะคือรถ.
               บทว่า อิโต โยเชนฺตุ วาหนํ ความว่า จงถือเอาตามความพอใจจากพาหนะที่เทียมด้วยคู่แอกนี้แล้วจงเทียมพาหนะ.
               บทว่า โก ฉตฺติจฺฉติ ความว่า ใครต้องการร่มอันต่างด้วยร่มเสื่อลำแพนเป็นต้น. อธิบายว่า ผู้นั้นจงถือเอาไปเถิด.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า คนฺธํ ได้แก่ ของหอมมีของหอมอันประกอบด้วยชาติ ๔ เป็นต้น.
               บทว่า มาลํ ได้แก่ ดอกไม้ที่ร้อยและยังมิได้ร้อย.
               บทว่า อุปาหนํ ได้แก่ รองเท้าอันต่างด้วยรองเท้าติดแผ่นหนังหุ้มส้นเป็นต้น.
               ศัพท์ว่า สุ ในคำว่า อิติสฺสุ นี้เป็นเพียงนิบาต. ความว่า ด้วยคำมีอาทิว่า ใครหิว ใครกระหาย ด้วยประการฉะนี้ คืออย่างนี้.
               บทว่า กปฺปกา ได้แก่ ช่างกัลบก.
               บทว่า สูทา ได้แก่ พ่อครัว.
               บทว่า มาคธา ได้แก่ ชาวมคธ.
               มีวาจาประกอบความว่า บทว่า สทา ความว่า ป่าวร้อง คือโฆษณาในเรือนของอังกุระพาณิชนั้นทั้งเช้าทั้งเย็นตลอดเวลา คือทุกวัน.
               เมื่ออังกุระพาณิชบำเพ็ญมหาทานอย่างนี้ เมื่อเวลาผ่านไป โรงทานห่างเหินเงียบสงัดจากคนผู้ต้องการ เพราะเป็นผู้อิ่มหนำแล้ว. อังกุระพาณิชเห็นดังนั้นจึงไม่พอใจ เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวางในการให้ทาน จึงเรียกมาณพชื่อว่าสินธกะผู้ขวนขวายในทานของตนมาแล้วกล่าว ๒ คาถาว่า :-
                                   มหาชนรู้เราว่า อังกุระนอนเป็นสุข ดูก่อน
                         สินธกะ เรานอนเป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เห็นพวก
                         ยาจก มหาชนรู้เราว่า อังกุระนอนเป็นสุข ดูก่อน
                         สินธกะ เรานอนเป็นทุกข์ในเมื่อวณิพกมีน้อย.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขํ สุปติ องฺกุโร อิติ ชานาติ มํ ชโน ความว่า มหาชนยกย่องเราอย่างนี้ว่า พระเจ้าอังกุระเพียบพร้อมไปด้วยยศและโภคะ เป็นทานบดีย่อมบรรทมเป็นสุข คือเข้าถึงความนิทราโดยความสุขทีเดียว ตื่นบรรทมก็เป็นสุข ด้วยโภคสมบัติและทานสมบัติของพระองค์.
               บทว่า ทุกฺขํ สุปามิ สินฺธก ความว่า ดูก่อนสินธกะมาณพ ก็เราย่อมนอนเป็นทุกข์อย่างเดียว. เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่าเพราะเราไม่เห็นพวกยาจก, อธิบายว่า เพราะเหตุที่เรายังไม่เห็นพวกยาจกเป็นอันมากผู้จะรับไทยธรรมอันสมควรแก่อัธยาศัยของเรา.
               มีวาจาประกอบความว่า บทว่า อปฺปเก สุ วณิพฺพเก ความว่า เราหลับเป็นทุกข์ ในเมื่อวณิพกชนมีน้อยคือ ๒-๓ คน.
               ก็ศัพท์ว่า สุ เป็นเพียงนิบาต, อธิบายว่า เมื่อวณิพกชนมีน้อย.
               สินธกะมาณพได้ฟังดังนั้นแล้ว มีความประสงค์จะกระทำอังกุระพาณิชนั้นให้น้อมไปในทานอันยิ่ง ให้ปรากฏจึงกล่าวคาถาว่า :-
                         ถ้าท้าวสักกะเป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์และ
                         เป็นใหญ่กว่าชาวโลกทั้งปวง พึงให้พรท่าน
                         ท่านเมื่อจะเลือก พึงเลือกเอาพรเช่นไร.

               คำอันเป็นคาถานั้น มีอธิบายดังนี้ :-
               ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าเทพชั้นดาวดึงส์ และกว่าชาวโลกทั้งมวล หากจะพึงให้พรท่านว่า อังกุระ ท่านจงขอพรอย่างใดอย่างหนึ่งที่ท่านตั้งใจไว้ ท่านเมื่อจะขอพรคือเมื่อปรารถนา พึงขอพรเช่นไร
               ลำดับนั้น อังกุระพาณิชเมื่อจะประกาศอัธยาศัยของตนตามความเป็นจริง จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
                                   ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าเทพชั้นดาวดึงส์
                         พึงให้พรแก่เราไซร้ เราจะพึงขอพรว่า เมื่อเราลุก
                         ขึ้นแต่เช้า ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ขอภัตตาหาร
                         อันเป็นทิพย์ และพวกยาจกผู้มีศีลพึงปรากฏ เมื่อ
                         เราให้อยู่ ไทยธรรมไม่พึงสิ้นไป ครั้นเราให้ทาน
                         นั้นแล้ว ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง เมื่อกำลังให้
                         อยู่ พึงยังจิตให้เลื่อมใส ข้าพเจ้าพึงขอพรกะท้าว
                         สักกะอย่างนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาลุฏฺฐิตสฺส เม สโต ความว่า เมื่อข้าพเจ้าลุกขึ้นในเวลาเช้า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความเพียร คือความหมั่นด้วยอำนาจสามีจิกรรมมีการนอบน้อมและการปรนนิบัติเป็นต้นต่อพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลายผู้มีความต้องการ.
               บทว่า สูริยุคฺคมนํ ปติ แปลว่า ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้นไป.
               บทว่า ทิพฺพา ภกฺขา ปาตุภเวยฺยุํ ความว่า อาหารอันนับเนื่องในเทวโลกพึงเกิดขึ้น.
               บทว่า สีลวนฺโต จ ยาจกา ความว่า และพวกยาจกพึงเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม.
               บทว่า ททโต เม น ขีเยถ ความว่า ก็เมื่อเราให้ทานแก่ผู้ที่มาแล้วๆ ไทยธรรมย่อมไม่สิ้นไป คือไม่ถึงความหมดเปลือง.
               บทว่า ทตฺวา นานุปเตยฺยหํ ความว่า ก็เพราะเหตุนั้น เราให้ทานนั้นแล้ว เห็นคนบางคนไม่มีความเลื่อมใส จึงไม่เดือดร้อนในภายหลัง.
               บทว่า ททํ จิตฺตํ ปสาเทยฺยํ ความว่า เมื่อเราให้อยู่ เราก็พึงทำจิตให้เลื่อมใส คือเราเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสแล้วนั่นแหละ พึงให้ทาน.
               บทว่า เอตํ สกฺกํ วรํ วเร ความว่า เราพึงขอพรกะท้าวสักกะจอมเทพ ๕ อย่างนี้คือ ความสมบูรณ์ด้วยความไม่มีโรค ความสมบูรณ์ด้วยไทยธรรม ความสมบูรณ์ด้วยพระทักขิไณยบุคคล ความสมบูรณ์ด้วยไทยธรรมหาประมาณมิได้ และความสมบูรณ์ด้วยทายก.
               ก็ในพร ๕ ประการนี้ ด้วยคำว่า เมื่อเราลุกขึ้นแต่เช้า นี้ชื่อว่าความสมบูรณ์ด้วยความไม่มีโรค, ด้วยคำว่า ภัตตาหารอันเป็นทิพย์ พึงปรากฏนี้ชื่อว่าความสมบูรณ์ด้วยไทยธรรม ด้วยคำว่า และยาจกพึงเป็นผู้มีศีล นี้ชื่อว่าความสมบูรณ์ด้วยทักขิโณยบุคคล ด้วยคำว่า เมื่อเราให้อยู่ ไทยธรรมไม่พึงสิ้นไป นี้ ชื่อว่าความสมบูรณ์ด้วยไทยธรรมหาประมาณมิได้ ด้วยคำว่า ครั้นเราให้ทานแล้วไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง เมื่อกำลังให้พึงทำจิตให้เลื่อมใส นี้ชื่อว่าความสมบูรณ์ด้วยทายก.
               รวมความว่า อังกุระพาณิชปรารถนาประโยชน์ ๕ ประการ โดยความเป็นพร. ก็ประโยชน์ ๕ ประการนั้นแล พึงทราบว่ามีไว้เพียงเพื่อความยิ่งใหญ่แห่งบุญอันสำเร็จด้วยทานนั่นเอง.
               เมื่ออังกุระพาณิชประกาศอัธยาศัยของตนอย่างนี้ ชายคนหนึ่งชื่อว่าโสนกะผู้มีความเชี่ยวชาญในนิติศาสตร์ นั่งอยู่ในที่นั้น เป็นผู้ให้ทานเกินประมาณ มีความประสงค์จะตัดทานนั้น จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
                                   บุคคลไม่พึงให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมด
                         แก่บุคคลอื่น ควรให้ทาน และควรรักษาทรัพย์ไว้
                         เพราะว่าทรัพย์เท่านั้น ประเสริฐกว่าทาน ตระกูล
                         ทั้งหลาย ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะการให้ทานเกิน
                         ประมาณไป บัณฑิตย่อมไม่สรรเสริญการไม่ให้
                         ทาน และการให้ทานเกินควร เพราะเหตุผลนั้น
                         แล ทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน บุคคลผู้เป็น
                         นักปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยธรรม ควรประพฤติโดย
                         พอเหมาะ.

               อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า สินธกมาณพมีความประสงค์จะทดลองอย่างนี้อีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ไม่พึงให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมด.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพวิตฺตานิ ได้แก่ อุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมด ชนิดสวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์. อธิบายว่า ทรัพย์.
               บทว่า ปเร แก้เป็น ปรมฺหิ แก่บุคคลอื่น. อธิบายว่า ปรสฺส แก่คนอื่น.
               บทว่า น ปเวจฺเฉ แปลว่า ไม่พึงให้. อธิบายว่า ไม่ควรทำการบริจาคทรัพย์ทั้งหมดไม่เหลืออะไรไว้ โดยคิดว่า เราได้พระทักขิไณยบุคคล.
               ทเทยฺย ทานญฺจาติ สพฺเพน สพฺพํ ทานธมฺโม น กาตพฺโพ,
               อถ โข อตฺตโน อายญฺจ วยญฺจ ชานิตฺวา ๒- วิภวานุรูปํ ทานญฺจ ทเทยฺย.

               บทว่า ทเทยฺย ทานญฺจ ความว่า ไม่ควรกระทำทานธรรมโดยประการทั้งปวง คือโดยที่แท้ ครั้นรู้ความเจริญและความเสื่อมของตนแล้ว พึงให้ทานอันเหมาะสมแก่สมบัติ.
               บทว่า ธนญฺจ รกฺเข ความว่า พึงรักษาทรัพย์ไว้ด้วยอำนาจ การได้ทรัพย์ที่ยังไม่ได้ รักษาทรัพย์ที่ได้ไว้แล้ว และควบคุมทรัพย์ที่รักษาไว้.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะทานนั้นซึ่งมีทรัพย์นั้นเป็นมูลเหตุ บุคคลพึงรักษาทรัพย์ตามวิธีที่กล่าวไว้ว่า :-
                         พึงใช้บริโภคส่วน ๑ พึงประกอบการงาน ๒ ส่วน
                         และพึงเก็บทรัพย์ส่วนที่ ๔ ไว้ในเมื่ออันตรายจักมี.

               จริงอยู่ นักกฎหมายคิดว่า พึงเสพทางทั้ง ๓ โดยทำทุกๆ ส่วนให้หมดจด.
               บทว่า ตสฺมา หิ ความว่า ก็เมื่อจะรักษาทรัพย์และบำเพ็ญทาน ชื่อว่าดำเนินไปตามทาน ซึ่งมีทรัพย์เป็นมูลเหตุ เพื่อประโยชน์แก่โลกทั้ง ๒ เพราะฉะนั้น ทรัพย์เท่านั้นจึงประเสริฐ คือดีกว่าทาน เพราะเหตุนั้น จึงอธิบายว่า ไม่พึงทำทานเกินควร. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตระกูลทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ไม่ได้เพราะให้ทานเกินควร,
               อธิบายว่า เพราะไม่รู้ประมาณของทรัพย์ อาศัยทรัพย์นั้นให้ทาน ตระกูลจึงตั้งอยู่ไม่ได้ คือเป็นไปไม่ได้ ได้แก่ขาดสูญไปเพราะประสงค์ในการให้เกินควร.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒ ๙. อังกุรเปตวัตถุ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 105อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 106อ่านอรรถกถา 26 / 107อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=3661&Z=3834
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=2662
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=2662
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :