ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 80อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 81อ่านอรรถกถา 26 / 82อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ สุนิกขิตวรรคที่ ๗
๗. กัณฐกวิมาน

               อรรถกถากัณฐกวิมาน               
               กัณฐกวิมาน มีคาถาว่า ปุณฺณมาเส ยถา จนฺโท เป็นต้น.
               กัณฐกวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี.
               สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวจาริกไปในเทวโลก ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์. ขณะนั้น กัณฐกเทพบุตรออกจากวิมานของตน ขึ้นยานทิพย์ไปอุทยานด้วยเทพฤทธิ์อันยิ่งใหญ่พร้อมบริวารเป็นอันมาก เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะเกิดความเคารพนับถือมาก รีบลงจากยานเข้าไปหาพระเถระ ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วยืนประคองอัญชลีไว้เหนือเศียร.
               ลำดับนั้น พระเถระได้ถามเทพบุตรนั้นถึงกรรมที่ตนกระทำ โดยมุ่งประกาศสมบัติที่ได้บรรลุว่า
               พระจันทร์มีรอยรูปกระต่ายในเดือนเพ็ญอันหมู่ดาวแวดล้อม เป็นอธิบดีของหมู่ดาวทั้งหลาย ย่อมโคจรไปโดยรอบฉันใด ทิพยวิมานนี้ก็อุปมาฉันนั้น ย่อมรุ่งโรจน์ด้วยรัศมีในเทพบุรี เหมือนดวงอาทิตย์กำลังอุทัยฉะนั้น.
               พื้นวิมานน่ารื่นรมย์ใจ วิจิตรไปด้วยแก้วไพฑูรย์ ทอง แก้วผลึก เงิน เพชรตาแมว แก้วมุกดาและแก้วทับทิม ปูลาดด้วยแก้วไพฑูรย์ ห้องรโหฐานงานน่ารื่นรมย์ ปราสาทของท่าน อันบุญกรรมสร้างไว้อย่างดี สระโบกขรณีของท่านน่ารื่นรมย์กว้างขวาง ประดับด้วยแก้วมณี มีน้ำใสสะอาด ลาดด้วยทรายทองดาดาษด้วยปทุมชาติต่างๆ รายรอบด้วยบัวขาว ยามลมรำเพย ก็โชยกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ.
               สองข้างสระโบกขรณีของท่านนั้น มีพุ่มไม้สร้างไว้อย่างดี ประกอบด้วยไม้ดอกและไม้ผลทั้งสองอย่าง อัปสรทั้งหลายแต่งองค์ด้วยสรรพาภรณ์ ประดับด้วยมาลัยทองดอกไม้ต่างๆ พากันมาบำรุงบำเรอท้าวเทวราชผู้ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ [พระแท่น] เท้าทองคำ อ่อนนุ่ม ลาดด้วยผ้าโกเชาว์อย่างดี ต่างก็รื่นรมย์ ท่านทำท้าวเทวราชผู้มีมหิทธิฤทธิ์นั้นให้บันเทิง ดังท้าววสวัตดีเทวราช. ท่านพรั่งพร้อมด้วยความยินดีในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี รื่นรมย์อยู่ด้วยกลอง สังข์ ตะโพน พิณและบัณเฑาะว์ รูป เสียง กลิ่น รสและโผฏฐัพพะมีอย่างต่างๆ อันเป็นทิพย์ของท่านที่ท่านประสงค์แล้ว น่ารื่นรมย์ใจ.
               ดูก่อนเทพบุตร ท่านเป็นผู้มีรัศมีมาก รุ่งโรจน์ยิ่งด้วยวรรณะอยู่ในวิมานอันประเสริฐนั้น ดังดวงอาทิตย์กำลังอุทัยฉะนั้น นี้เป็นผลแห่งทาน หรือศีล หรืออัญชลีกรรมของท่าน ท่านถูกอาตมาถามแล้ว โปรดบอกข้อนั้นแก่อาตมาทีเถิด.
               เทพบุตรนั้นดีใจ อันพระโมคคัลลานะถามแล้ว ก็พยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า
               ข้าพเจ้าคือกัณฐกอัศวราช สหชาตของพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะในกรุงกบิลพัสดุ์ ราชธานีของกษัตริย์แคว้นศากยะ ครั้งใดพระราชโอรสเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์เพื่อโพธิญาณตอนเที่ยงคืน พระองค์ใช้ฝ่าพระหัตถ์อันนุ่มและพระนขาที่แดงปลั่งค่อยๆ ตบขาข้าพเจ้า และตรัสว่า พาเราไปเถิดเพื่อน เราบรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดมแล้วจักยังโลกให้ข้ามโอฆสงสาร [ห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร].
               เมื่อข้าพเจ้าฟังพระดำรัสนั้น ได้มีความร่าเริงเป็นอันมาก ข้าพเจ้ามีใจเบิกบานยินดี ได้รับคำในครั้งนั้น ครั้นรู้ว่าพระศากโยรสผู้มียศใหญ่ประทับนั่งเหนือหลังข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีใจเบิกบานบันเทิง นำพระมหาบุรุษไปถึงแว่นแคว้นของกษัตริย์เหล่าอื่น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น พระมหาบุรุษนั้นมิได้ทรงอาลัย ละทิ้งข้าพเจ้าและฉันนอำมาตย์ไว้ เสด็จหลีกไป
               ข้าพเจ้าได้เลียพระบาททั้งสองซึ่งมีพระนขาแดงของพระองค์ ร้องไห้แลดูพระมหาวีระผู้กำลังเสด็จไป เพราะไม่ได้เห็นพระศากโยรสผู้ทรงสิรินั้น ข้าพเจ้าป่วยหนัก ก็ตายอย่างฉับพลัน ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้นแหละ ข้าพเจ้าจึงมาอยู่วิมานทิพย์นี้ซึ่งประกอบด้วยกามคุณทุกอย่างในเทวนคร.
               อีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าได้มีความร่าเริงเพราะได้ฟังเสียงเพื่อพระโพธิญาณ ว่าเราจักบรรลุความสิ้นอาสวะ ด้วยกุศลมูลนั้นเอง ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าพระคุณเจ้าจะพึงไปในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ศาสดาไซร้ ขอพระคุณเจ้าจงกราบทูลถึงการถวายบังคมด้วยเศียรเกล้ากะพระองค์ตามคำของข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็จักไปเฝ้าพระชินเจ้าผู้หาบุคคลอื่นเปรียบมิได้ การได้เห็นพระโลกนาถผู้คงที่หาได้ยาก.
               กัณฐกเทพบุตรแม้นั้นได้กล่าวถึงกรรมที่ตนกระทำแล้ว
               เรื่องย่อมีว่า
               เทพบุตรนี้ คือกัณฐกอัศวราช ผู้เป็นสหชาต [เกิดพร้อม] กับพระโพธิสัตว์ของพวกเราในอัตภาพติดต่อกัน อัศวราชนั้นให้พระโพธิสัตว์ประทับบนหลัง ในสมัยเสด็จมหาภิเนษกรมณ์พาพระมหาบุรุษล่วงเลยราชอาณาจักรทั้งสาม ให้ถึงฝั่งอโนมานที โดยราตรีนั้นยังไม่สิ้นเลย.
               ลำดับนั้น อัศวราชนั้น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น พระมหาสัตว์ทรงรับบาตรและจีวรที่ฆฏิการมหาพรหมน้อมถวาย ทรงผนวชแล้วปล่อยให้กลับกบิลพัสดุ์พร้อมกับฉันนอำมาตย์ ใช้ลิ้นของตนเลียพระยุคลบาทของพระมหาบุรุษ ด้วยหัวใจที่หนักด้วยความรัก ลืมตาทั้งสองซึ่งมีประสาทเป็นที่พอใจ แลดูชั่วทัศนวิสัยที่จะเห็นได้ แต่เมื่อพระโลกนาถ (ลับตา) ไปแล้ว มีใจเลื่อมใสว่า เราได้พาพระมหาบุรุษผู้เป็นนายกชั้นยอดของโลกชื่ออย่างนี้ ร่างกายของเรามีประโยชน์หนอ อดกลั้นวิโยคทุกข์ไว้ไม่ได้ เพราะอำนาจความรักที่เกาะเกี่ยวกันมาช้านาน ยังถูกธรรมดาเตือนด้วยอำนาจทิพยสมบัติที่น่ายกย่องอยู่อีก ก็ทำกาละตายไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
               คำว่า ปุณฺณมาเส ยถา จนฺโท ฯเปฯ อหํ กปิลวตฺถุสฺมึ เป็นต้น ท่านกล่าวหมายถึงเทพบุตรนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุณฺณมาเส แปลว่า ในดิถีเดือนเพ็ญคือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ.
               บทว่า ตารกาธิปตี แปลว่า เป็นอธิบดีใหญ่ยิ่งของดาวทั้งหลาย.
               บทว่า สสี แปลว่า มีตรากระต่าย บางท่านกล่าวว่า ปรากฏเป็นใหญ่ในหมู่ดาว นิทเทสชี้แจงไม่ประกอบวิภัตติของท่านเหล่านั้นว่า ตารกาธิปา พึงประกอบความว่า เป็นใหญ่ของดาวทั้งหลายปรากฏและหมุนเวียนไป.
               บทว่า ทิพฺพํ เทวปุรมฺหิ จ ความว่า เป็นทิพย์แม้ในเทพบุรี เทพบุรีสูงสุดกว่าที่อยู่ของมนุษย์ทั้งหลายฉันใด แม้เทพบุตรก็แสดงว่า วิมานของท่านนี้สูงสุดฉันนั้น ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า อติโรจติ วณฺเณน อุทยนฺโตว รํสิมา เหมือนดวงอาทิตย์กำลังอุทัย. อธิบายว่า เหมือนพระอาทิตย์กำลังขึ้น.
               บทว่า เวฬุริยสุวณฺณสฺส ประกอบความด้วยคำที่เหลือว่า วิมานนี้สร้างด้วยแก้วไพฑูรย์และทอง ดังนี้.
               บทว่า ผลิกา แปลว่า แก้วผลึก.
               บทว่า โปกฺขรณี แปลว่า สระโบกขรณี.
               บทว่า ตสฺสา แปลว่า ของสระโบกขรณีนั้น ด้วยบทว่า วนคุมพา ท่านกล่าวหมายกอไม้ที่มีดอกงามในสวน.
               บทว่า เทวราชํ ว ได้แก่ เหมือนท้าวสักกะ.
               บทว่า อุปติฏฺฐนฺติ ได้แก่ กระทำการบำรุงบำเรอ.
               บทว่า สพฺพาภรณสญฺฉนฺนา ความว่า ปกปิดด้วยเครื่องประดับของสตรีทุกอย่าง. อธิบายว่า แต่งสรีระโดยประการทั้งปวง.
               บทว่า วสวตฺตี วา ได้แก่ เหมือนท้าววสวัตดีเทวราช.
               บทว่า เภริสงฺขมุทิงฺคาหิ ท่านกล่าวผิดลิงค์ [ทางไวยากรณ์] ประกอบความว่า ด้วยกลอง ด้วยสังข์และด้วยตะโพนทั้งหลาย.
               บทว่า รติสมฺปนฺโน ความว่า พรั่งพร้อมด้วยความยินดีอันเป็นทิพย์.
               บทว่า นจฺจคีเต สุวาทิเต ได้แก่ ในการฟ้อนรำด้วย ในการขับร้องด้วย ในการประโคมดนตรีที่ไพเราะด้วย คือเพราะการฟ้อนรำด้วย เพราะการขับร้องด้วย เพราะการประโคมดนตรีที่ไพเราะด้วย เป็นเหตุ ด้วยว่า บทนี้เป็นสัตตมีวิภัตติใช้ในอรรถนิมิตสัตตมี [ว่าเพราะ].
               อีกอย่างหนึ่ง พึงประกอบคำพิเศษว่า ที่ให้เป็นไปแล้ว.
               บทว่า ทิพฺพา เต วิวิธา รูปา พึงนำบทกิริยามาประกอบว่า รูปที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุมีประการต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับเทวโลก ที่ท่านประสงค์แล้ว คือตามที่ประสงค์รื่นรมย์ มีอยู่.
               แม้ในบทว่า ทิพฺพา สทฺทา เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อหํ ในบาทคาถาว่า กณฺฐโก สหโช อหํ นี้เป็นเพียงนิบาต. บางท่านกล่าวว่า อหุํ ความว่า กัณฐกอัศวราชได้เป็นสหชาต เพราะเกิดในวันเดียวกันกับพระมหาสัตว์ทีเดียว.
               บทว่า อฑฺฒรตฺตายํ แปลว่า เที่ยงคืน. ความว่า เวลามัชฌิมยาม
                อักษร ในบทว่า โพธายมภินิกฺขมิ ทำหน้าที่เชื่อมบท ความว่า เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์เพื่อพระอภิสัมโพธิญาณ ท่านกล่าวความมีพระหัตถ์อ่อนนุ่มซึ่งเป็นลักษณะของพระมหาบุรุษ ด้วยบทว่า มุทูหิ ปาณิหิ.
               บทว่า ชาลิตมฺพนเขหิ ได้แก่ พระนขาแดงงามรุ่งเรือง ด้วยบทนั้น ท่านแสดงลักษณะของพระมหาบุรุษ คือความมีพระหัตถ์รุ่งเรือง และแสดงอนุพยัญชนะ คือความมีพระนขาแดง.
               แข้ง ชื่อว่า สัตถิ แต่ในที่นี้ ขาซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้แข้ง ท่านเรียกว่า สัตถิ.
               บทว่า อาโกฏยิตฺวาน แปลว่า ตบ [ปรบ].
               บทว่า วห สมฺมาติ จพฺรวิ ความว่า ก็พระมหาสัตว์ตรัสว่า สหายกัณฐกะ ท่านจงพาเราไปในวันนี้ราตรีเดียว ท่านจงเป็นพาหะของเรา ก็เมื่อตรัสถึงประโยชน์ในการนำไปซึ่งพระมหาสัตว์ทรงแสดงในคราวนั้น ได้ตรัสว่า เราบรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดมแล้ว จักยังโลกให้ข้ามโอฆสงสาร ห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร ดังนี้ แต่เมื่อจะตรัสที่พระมหาสัตว์ทรงแสดงไว้ในครั้งนั้น จึงตรัสว่า อหํ โลกํ คารยิสฺสํ ปตฺโต สมฺโพธิมุตฺตมํ เราบรรลุพระโพธิญาณอันสูงสุดแล้ว จักยังโลกให้ข้ามโอฆสงสาร ด้วยเหตุนั้น จึงทรงแสดงความที่ถึงประโยชน์ในการพาไป ประโยชน์ในการไปยอดเยี่ยมว่า เราบรรลุคือสำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอันอุดมแล้ว จักยังโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้นจากโอฆสงสารห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร ฉะนั้น ท่านไม่พึงคิดว่าการไปนี้มีประโยชน์อะไร.
               บทว่า หาโส ได้แก่ ความยินดี.
               บทว่า วิปุโล ได้แก่ โอฬารมาก.
               บทว่า อภิสีสึ ได้แก่ หวัง คือปรารถนา รับ [คำ].
               บทว่า อภิรุฬฺหญฺจ มํ ญตฺวา สกฺยปุตฺตํ มหายสํ ความว่า รู้ว่าพระมหาสัตว์เป็นพระโอรสศากยราช มีพระยศไพบูลย์แผ่ไปแล้ว ประทับนั่งขี่เรา.
               บทว่า วหิสฺสํ แปลว่า พาไป คือนำไป.
               บทว่า ปเรสํ ได้แก่ พระราชาอื่นๆ.
               บทว่า วิชิตํ ได้แก่ ประเทศ คือราชอาณาเขตของพระราชาอื่น.
               บทว่า โอหาย ได้แก่ สละแล้ว.
               บทว่า อปกฺกมิ ได้แก่ เริ่มหลีกไป. บางท่านกล่าวว่า ปริพฺพชิ บวชดังนี้ก็มี.
               บทว่า ปริเลหึ ได้แก่ เลียโดยรอบ.
               บทว่า อุทิกฺขิสึ แปลว่า แลดูแล้ว.
               บทว่า ครุกาพาธํ ได้แก่ ป่วยหนัก คือมาก. อธิบายว่า ทุกข์ถึงตาย ด้วยเหตุนั้น เทพบุตรจึงกล่าวว่า ขิปฺปํ เม มรณํ อหุ ข้าพเจ้าก็ได้ตายอย่างฉับพลัน ด้วยว่ากัณฐกอัศวราชนั้นมีความภักดีมั่นคงกับพระมหาสัตว์มาหลายชาติ จึงมิอาจอดกลั้นวิโยคทุกข์ไว้ได้ และพอได้ยินว่าออกบวชเพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็เกิดปีติโสมนัสอย่างยิ่งปราศจากอามิส ดังนั้น พอตายจึงบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทิพยสมบัติได้ปรากฏแก่เขาเป็นอันมาก
               เหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า ตสฺเสว อานุภาเวน ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่สำเร็จด้วยความเลื่อมใสอันถึงที่แล้ว.
               บทว่า เทโว เทวปุรมฺหิว ความว่า เหมือนท้าวสักกเทวราชในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
               บทว่า ยญฺจ เม อหุ วา หาโส สทฺทํ สุตฺวาน โพธิยา ความว่า ข้าพเจ้ามีความร่าเริงในคราวนั้น เพราะได้ยินเสียงว่า โพธิ เข้าก่อน.
               ในบทว่า ปตฺโต สมฺโพธิมุตฺตมํ ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดม ดังนี้ ความเกิดแห่งความร่าเริง ชื่อว่าความยินดี.
               บทว่า เตเนว กุสลมูเลน ได้แก่ ด้วยพืชคือกุศลนั้นเอง.
               บทว่า ผุสิสฺสํ แปลว่า จักถูกต้อง คือถึง (สำเร็จ).
               เทพบุตรกล่าวถึงกุศลกรรมของตน ซึ่งเป็นเหตุแห่งภวสมบัติส่วนอนาคตตามที่ได้บรรลุแล้วอย่างนี้ บัดนี้ ถึงตนเองประสงค์จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ฝากการไหว้พระศาสดาไปกับพระเถระ จึงกล่าวคาถาว่า สเจ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สเจ คจฺเฉยฺยาสิ แปลว่า ถ้าท่านจักไป.
               บางท่านกล่าวว่า สเจ คจฺฉสิ ถ้าท่านจะไป. เนื้อความอย่างนั้นแล.
               บทว่า มมาปิ นํ วจฺเนน ความว่า มิใช่ตาม สภาพของท่านอย่างเดียวเท่านั้น ที่แท้จงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าตามคำแม้ของข้าพเจ้า.
               บทว่า วชฺชาสิ แปลว่า พึงกราบทูล. ประกอบความว่า พึงกราบทูลถึงการถวายบังคมด้วยเศียรเกล้าแม้ของข้าพเจ้า.
               เมื่อเทพบุตรแสดงว่า แม้ถึงข้าพเจ้าจะฝากการถวายบังคมไปในบัดนี้ ครั้นฝากไปแล้ว ข้าพเจ้าก็จะไม่เฉยอยู่ ดังนี้จึงกล่าวว่า แม้ข้าพเจ้าก็จักไปเฝ้าพระชินเจ้าผู้หาบุคคลอื่นเปรียบมิได้.
               อนึ่ง เพื่อแสดงเหตุในการไปให้สำคัญยิ่งขึ้น จึงกล่าวว่า การได้เห็นพระโลกนาถผู้คงที่หาได้ยาก.
               พระสังคีติกาจารย์ได้แต่งคาถาไว้สองคาถาดังนี้ว่า
               กัณฐกเทพบุตรนั้นเป็นผู้กตัญญูกตเวที เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้มีจักษุแล้ว ชำระธรรมจักษุให้บริสุทธิ์ ชำระทิฏฐิ วิจิกิจฉาและศีลพตปรามาสให้บริสุทธิ์แล้ว ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดาแล้วหายไปในที่นั้นเอง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุตฺวา คิรํ จกฺขุมโต ความว่า ฟังพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีจักษุด้วยจักษุ ๕.
               บทว่า ธมฺมจกฺขํ ได้แก่ โสดาปัตติมรรค.
               บทว่า วิโสธยิ แปลว่า บรรลุ. ความจริง การชำระธรรมจักษุให้บริสุทธิ์ คือการบรรลุนั่นเอง.
               บทว่า วิโสธยิตฺวา ทิฏฺฐิคตํ ได้แก่ ถอนทิฏฐิ.
               บทว่า วิจิกิจฺฉํ วตานิ จ ประกอบความว่า ยังวิจิกิจฉาที่มีวัตถุ ๑๖ และมีวัตถุ ๘ และยังศีลพตปรามาสที่เป็นไปว่า คนจะบริสุทธิ์ได้ด้วยศีลพรตดังนี้ ให้บริสุทธิ์ ก็ปรามาสที่เป็นไปอย่างนั้น พร้อมด้วยปริยายทั้งหลาย. ท่านกล่าวว่า วตานิ พรต ในคาถานั้น
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถากัณฐกวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ สุนิกขิตวรรคที่ ๗ ๗. กัณฐกวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 80อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 81อ่านอรรถกถา 26 / 82อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=2622&Z=2678
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=7732
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=7732
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :