ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 79อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 80อ่านอรรถกถา 26 / 81อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ สุนิกขิตวรรคที่ ๗
๖. โคปาลวิมาน

               อรรถกถาโคปาลวิมาน               
               โคปาลวิมาน มีคาถาว่า ทิสฺวาน เทวํ ปฏิปุจฺฉิ ภิกฺขุ เป็นต้น.
               โคปาลวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์.
               สมัยนั้น คนเลี้ยงโคชาวราชคฤห์คนหนึ่ง ถือขนมสดที่ห่อด้วยผ้าเก่าเพื่อเป็นอาหารเช้า ออกจากเมืองไปถึงโคจรภูมิซึ่งเป็นที่เที่ยวไปของแม่โคทั้งหลาย.
               ท่านพระมหาโมคคัลลานะทราบว่า เขาผู้นี้จักตายในบัดนี้เอง และจักเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพราะถวายขนมสดแก่เรา ดังนี้ จึงได้ไปใกล้เขา.
               เขาดูเวลาแล้วประสงค์จะถวายขนมสดแด่พระเถระ ขณะนั้นแม่โคทั้งหลายเข้าไปยังไร่ถั่ว
               ครั้งนั้น คนเลี้ยงโคคิดว่า เราควรจะถวายขนมสดแด่พระเถระ หรือว่าควรจะไล่แม่โคทั้งหลายออกจากไร่ถั่ว
               ตอนนั้นเขาคิดว่า พวกเจ้าของไร่ถั่วจงทำกะเราตามที่ต้องการเถิด แต่เมื่อพระเถระไปเสียแล้ว เราจะไม่ได้ถวายขนมสด เอาเถิด เราจักถวายขนมสดแด่พระผู้เป็นเจ้าก่อนละ ได้นำขนมสดนั้นเข้าถวายแด่พระเถระ.
               พระเถระรับเพื่ออนุเคราะห์เขา.
               ขณะที่เขาวิ่งไปโดยเร็วเพื่อจะไล่ต้อนแม่โคทั้งหลายให้กลับ มิทันได้พิจารณาถึงอันตราย งูพิษที่ถูกเขาเหยียบก็กัดเอา แม้พระเถระเมื่ออนุเคราะห์เขา ก็เริ่มฉันขนมสดนั้น คนเลี้ยงโคต้อนแม่โคทั้งหลายกลับมาแล้ว เห็นพระเถระกำลังฉันขนมอยู่ มีจิตเลื่อมใสนั่งเสวยปีติโสมนัสอย่างยิ่ง พิษงูแล่นท่วมทั่วสรีระของเขาในขณะนั้นเอง เมื่อพิษแล่นถึงศีรษะ เขาตายในครู่นั้นแหละ ครั้นตายแล้ว เขาไปบังเกิดในวิมานทอง ๑๒โยชน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
               ท่านพระมหาโมคคัลลานะไปพบเขาจึงไต่ถามด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
               ภิกษุเห็นเทพบุตรผู้สวมเครื่องประดับมือ ผู้มียศ ในวิมานสูง ซึ่งตั้งอยู่สิ้นกาลนาน รุ่งโรจน์อยู่ในทิพยวิมาน ดุจพระจันทร์ จึงไต่ถามว่า
               ท่านเป็นผู้ประดับองค์ ทรงมาลัย มีพัสตราภรณ์สวย มีกุณฑลงาม แต่งผมและหนวดแล้ว สวมเครื่องประดับมือ มียศ รุ่งโรจน์อยู่ในทิพยวิมาน เหมือนพระจันทร์ พิณทิพย์ทั้งหลายก็บรรเลงไพเราะ เหล่าเทพอัปสรชั้นไตรทศจำนวน ๖๔,๐๐๐ ล้วนแต่คนดี ผู้ชำนาญศิลป์ พากันฟ้อนรำขับร้องทำความบันเทิงอยู่
               ท่านบรรลุเทพฤทธิ์ มีอานุภาพมาก ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และรัศมีของท่านจึงสว่างไสวไปทุกทิศ. เทพบุตรแม้นั้น ก็ได้พยากรณ์แก่พระมหาโมคคัลลานเถระนั้นว่า
               เทพบุตรนั้นถูกพระโมคคัลลานะถามแล้วดีใจ ครั้นแล้วก็พยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า
               ครั้งเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษยโลก ข้าพเจ้าได้รับจ้างเลี้ยงโคของคนเหล่าอื่น ต่อมามีสมณะมาหาข้าพเจ้า โคทั้งหลายได้ไปกินถั่วราชมาษ ข้าพเจ้าต้องกระทำกิจสองอย่างในวันนี้ ท่านเจ้าข้า ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้คิดอย่างนั้น ภายหลังกลับได้สัญญา ความสำคัญโดยแยบคาย จึงวางห่อขนมสดลงในมือพระเถระ พร้อมกับกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวาย เจ้าข้า.
               ข้าพเจ้านั้นได้รีบรุดไปไร่ถั่ว ก่อนที่ไร่ถั่วซึ่งเป็นทรัพย์ของเจ้าของจะถูกฝูงโคทำลาย ณ ที่นั้น งูเห่ามีพิษมากได้กัดเท้าของข้าพเจ้าผู้กำลังเร่งรีบไป ข้าพเจ้าถูกความทุกข์เบียดเบียนบีบคั้น และภิกษุได้ฉันขนมสดที่ข้าพเจ้าถวายนั้นเอง เพื่ออนุเคราะห์ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ากระทำกาลกิริยาตายไปจุติจากอัตภาพนั้น บังเกิดเป็นเทวดา. กุศลกรรมนั้นเอง ข้าพเจ้ากระทำไว้ ข้าพเจ้าจึงได้เสวยผลกรรมอันเป็นสุขด้วยตนเอง เจ้าข้า.
               พระคุณเจ้าอนุเคราะห์ข้าพเจ้ามากแล้ว ข้าพเจ้าขออภิวาทพระคุณเจ้าด้วยความเป็นผู้กตัญญู ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกและมารโลก ไม่มีมุนีอื่นที่อนุเคราะห์ยิ่งกว่าพระคุณเจ้า ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้าอนุเคราะห์ข้าพเจ้ามากแล้ว ข้าพเจ้าขออภิวาทพระคุณเจ้าด้วยความเป็นผู้กตัญญู ในโลกนี้หรือในโลกอื่น ไม่มุนีอื่นที่อนุเคราะห์ยิ่งกว่าพระคุณเจ้า ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้าอนุเคราะห์ข้าพเจ้ามากแล้ว ข้าพเจ้าขออภิวาทพระคุณเจ้าด้วยความเป็นผู้กตัญญู.
               ครั้งนั้น ท่านพระโมคคัลลานะได้กราบทูลเรื่องนั้นถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามทำนองที่ตนและเทพบุตรพูดกัน.
               พระศาสดาทรงภาษิตเนื้อความแล้ว ทรงทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง ตรัสพระพุทธพจน์ว่า ทิสฺวาน เทวํ ปฏิปุจฺฉิ ภิกฺขุ เป็นต้น เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดแด่บริษัทที่ประชุมกันอยู่.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เทวํ ได้แก่ โคปาลเทพบุตร.
               พระศาสดาตรัสว่า ภิกฺขุ ทรงหมายถึงท่านพระมหาโมคคัลลานะ ด้วยว่า ท่านพระโมคคัลลานะนั้น ชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายกิเลสโดยประการทั้งปวง.
               ตรัสว่า จิรฏฺฐิติเก เพราะวิมานตั้งมั่นตลอดกาลเป็นอันมากหรือตั้งอยู่ชั่วกัปทีเดียว. บางท่านกล่าวว่า จิรฏฺฐิติกํ ก็มี.
               บทว่า จิรฏฺฐิติกํ นั้น พึงเชื่อมกับบท เทวํ นี้ ความจริง เทวบุตรแม้นั้นควรจะเรียกได้ว่า จิรฏฺฐิติเก เพราะดำรงอยู่ในวิมานนั้นถึงสามโกฏิหกล้านปี.
               บทว่า ยถาปี จนฺทิมา ความว่า เหมือนจันทเทพบุตรไพโรจน์ อยู่ในทิพยวิมานของตน ซึ่งรุ่งเรืองด้วยข่ายรัศมีที่น่ารักเย็นและเป็นที่จับใจ.
               พึงประกอบคำที่เหลือว่า ไพโรจน์อยู่ฉันนั้น.
               บทว่า อลงฺกโต เป็นต้น เป็นบทแสดงอาการที่เทพบุตรนั้นถูกพระเถระถาม.
               บทนั้นมีนัยดังกล่าวแล้วแม้ในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า สงฺคมฺม ได้แก่ เกี่ยวข้อง.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สงฺคมฺม ได้แก่ สงเคราะห์ แม้จะมีอรรถว่าเหตุในที่นี้ท่านทำไว้ภายใน. อธิบายว่า หลายคนร่วมกัน.
               บทว่า อาคา แปลว่า มาแล้ว.
               บทว่า มาเส ได้แก่ กล้าถั่วราชมาษ.
               บทว่า ทฺวยชฺช ความว่า เราทำกิจสองอย่างในวันนี้ คือเดี๋ยวนี้.
               บทว่า อุภยญฺจ การิยํ เป็นคำบรรยายเนื้อความที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า สญฺญํ ได้แก่ สัญญาโดยธรรม. เพราะเหตุนั้นเทวดาจึงกล่าวว่า โยนิโส ดังนี้.
               บทว่า ปฏิลทฺธา แปลว่า กลับได้แล้ว.
               บทว่า ขิปึ ความว่า วางในมือเพื่อให้รับ.
               บทว่า อนนฺตกํ ได้แก่ ผ้าเปื้อน คือผ้าเก่าที่ห่อขนมสดวางไว้.
               ก็ อักษรในที่นี้เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า โส ได้แก่ ข้าพเจ้านั้น.
               บทว่า ตุริโต ได้แก่ หันไปโดยด่วน.
               บทว่า อวาสรึ แปลว่า เข้าถึง หรือเข้าไปแล้ว.
               บทว่า ปุรายํ ภญฺชติ ยสฺสิทํ ธนํ ความว่า กล้าถั่วราชมาษนี้เป็นทรัพย์ของเจ้าของไร่คนใด ฝูงโคนี้จะทำลายทรัพย์นั้น (ข้าพเจ้าได้รีบไปยังไร่ถั่ว) ก่อน คือก่อนกว่าฝูงโคจะทำลายคือย่ำเหยียบทรัพย์ของเจ้าของนั้นทีเดียว.
               บทว่า ตโต ได้แก่ ในที่นั้น.
               บทว่า ตุริตสฺส เม สโต อธิบายว่า เมื่อข้าพเจ้ากำลังหันไป คือไปโดยไม่แลดูงูเห่าที่หนทางเพราะรีบไป.
               บทว่า อฏฺโฏมฺหิ ทุกฺเขน ปีฬิโต ความว่า ข้าพเจ้าอึดอัดมาก ทุรนทุราย คือถูกมรณทุกข์เบียดเบียน เพราะถูกอสรพิษกัดนั้น.
               บทว่า อโหสิ ได้แก่ ได้ฉัน. อธิบายว่า ได้บริโภค (ฉัน).
               บทว่า ตโต จุโต กาลกโตมฺหิ เทวตา ความว่า จุติจากอัตภาพมนุษย์นั้นเพราะถึงเวลาตาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบทนั้นมีความว่า ข้าพเจ้าทำกาละ เพราะทำกาละกล่าวคือสิ้นอายุสังขาร และเป็นเทวดา คือเป็นเทวดาเพราะถึงอัตภาพของเทวดาในลำดับนั้นทีเดียว.
               บทว่า ตยา ความว่า มุนีอื่น คือฤาษีที่ประกอบคุณคือความเป็นผู้รู้เช่นท่าน ไม่มี.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ตยา นี้ เป็นตติยาวิภัตติลงในอรรถปัญจมีวิภัตติ.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาโคปาลวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ สุนิกขิตวรรคที่ ๗ ๖. โคปาลวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 79อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 80อ่านอรรถกถา 26 / 81อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=2589&Z=2621
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=7628
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=7628
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :