ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 401อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 402อ่านอรรถกถา 26 / 403อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา เอกกนิบาต
๑. เถรีคาถา

               อรรถกถาขุททกนิกาย เถรีคาถา               
               ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น               
               อรรถกถาเอกนิบาต               
               ๑. อรรถกถาอัญญตราเถรีคาถา               
               ในเอกนิบาตมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บัดนี้ ถึงโอกาสที่จะพรรณนาเนื้อความเถรีคาถาตามลำดับแล้ว เพราะในเถรีคาถานั้น เมื่อได้พรรณนาเนื้อความประกาศประการที่เหล่าภิกษุณีได้บรรพชาและอุปสมบทแต่ต้นนั้นในที่นี้ การชี้แจงอัตถุปัตติเหตุเกิดขึ้นของคาถาทั้งหลายในเรื่องนั้นๆ ย่อมทำได้ง่ายและปรากฏชัด ฉะนั้น เพื่อประกาศความนั้น พึงทราบอนุปุพพีกถาตั้งแต่ต้นโดยย่อดังต่อไปนี้ :-
               ความย่อว่า พระโลกนาถศาสดาพระองค์นี้ทรงประชุมองค์แปดที่ตรัสไว้โดยนัยว่า มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ ความเป็นมนุษย์ ความสมบูรณ์ด้วยเพศเป็นต้น สร้างมหาภินิหารแทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าทีปังกร ทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ ได้พยากรณ์ในสำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๒๔ พระองค์ ทรงบำเพ็ญบารมีโดยลำดับ ถึงยอดแห่งญาตัตจริยาและโลกัตจริยา บังเกิดในภพชั้นดุสิต ดำรงอยู่ในภพชั้นดุสิตนั้นตลอดอายุเทวดาในหมื่นจักรวาลอาราธนาให้อุบัติเป็นมนุษย์ เพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ด้วยคำว่า ข้าแต่มหาวีระ ได้เวลาที่พระองค์จะเสด็จอุบัติในพระครรภ์พระมารดา ตรัสรู้อมตบท ยังมนุษย์โลกพร้อมเทวโลกให้ข้ามโอฆสงสารแล้ว.
               ทรงประทานปฏิญญาแก่เทวดาเหล่านั้นแล้วทรงทำปัญจมหาวิโลกนะ ทรงมีพระสติสัมปชัญญะเสด็จลงสู่พระครรภ์พระมารดา ในพระตำหนักของพระเจ้าสุทโธมหาราช ในศากยราชตระกูล ทรงมีพระสติสัมปชัญญะอยู่ในพระครรภ์นั้น ๑๐ เดือน ทรงมีพระสติสัมปชัญญะเสด็จออกจากพระครรภ์ได้พระอภิชาติที่ลุมพินีวัน ได้รับการดูแลอย่างดีด้วยการดูแลที่ยิ่งใหญ่ ตั้งต้นแต่จัดพี่เลี้ยงไว้หลายเหล่า ทรงเจริญวัยโดยลำดับ แวดล้อมไปด้วยนักฟ้อนรำหลายชนิดในปราสาทสามหลัง เสวยสมบัติดุจเทวดา ทรงสลดพระทัยเพราะเห็นคนแก่ คนเจ็บและคนตาย ทรงเห็นโทษในกามและอานิสงส์ในเนกขัมมะ เพราะญาณแก่กล้า.
               ในวันที่ราหุลกุมารประสูติ พระองค์มีนายฉันนะเป็นสหาย ทรงกัณฐกอัศวราช เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ยามเที่ยงคืน ทางประตูที่เหล่าเทวดาเปิดถวาย เสด็จผ่านแคว้นที่มีพระราชาปกครองสามแคว้นในราตรีนั้นเอง เสด็จถึงฝั่งอโนมานที ทรงรับธงชัยของพระอรหัตที่ฆฏิการมหาพรหมนำมาถวาย ทรงบรรพชาเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอากัปกิริยาเหมือนพระเถระ ๖๐ พรรษาในขณะนั้นนั่นเอง, เสด็จถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับด้วยพระอิริยาบถน่าเลื่อมใส เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์นั้นแล้ว ประทับนั่งเสวยบิณฑบาตที่เงื้อมเขาปัณฑวะ.
               พระเจ้าพิมพิสารราชาของชาวมคธทรงเชื้อเชิญให้ครองราชสมบัติ (ร่วมกับพระองค์) ทรงปฏิเสธเรื่องนั้น เสด็จไปอารามของท่านภัคควะ ทรงศึกษาลัทธิของท่านภัคควะนั้น จากนั้นทรงศึกษาลัทธิของท่านอาฬารดาบสและท่านอุทกดาบส ไม่ทรงพอพระทัยลัทธิทั้งหมดนั้น เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาตามลำดับ
               ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ ๖ ปีที่ตำบลนั้น ทรงทราบว่าทุกกรกิริยานั้นไม่ทำให้ตรัสรู้อริยธรรมได้ มีพระดำริว่า นี้ไม่ใช่ทางตรัสรู้ ทรงนำอาหารหยาบมาบำรุงกำลังอยู่สองสามวัน
               ในวันวิสาขบุณมี เสวยโภชนะอย่างประเสริฐ (มธุปายาส) ที่นางสุชาดาถวายแล้วทรงลอยถาดทองทวนกระแสน้ำในแม่น้ำ (เนรัญชรา) ทรงลงความเห็นในที่สุดว่า เราจักตรัสรู้ในวันนี้ เวลาเย็นพญากาฬนาคราชสรรเสริญพระคุณ เสด็จขึ้นโพธิมณฑล ผินพระพักตร์ไปยังปาจีนโลกธาตุ ประทับนั่งเหนืออปราชิตบัลลังก์อันเป็นฐานะไม่หวั่นไหว ทรงตั้งความเพียรประกอบด้วยองค์สี่ทรงกำจัดกองทัพมารได้ในเมื่อพระอาทิตย์ยังไม่ทันอัสดงคตเลย.
               ปฐมยามทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ มัชฌิมยามทรงบรรลุทิพยจักษุญาณ (จุตูปปาญาณ) ปัจฉิมยามทรงหยั่งญาณลงในปฏิจสมุปบาท พิจารณาปัจจยาการทั้งอนุโลมและปฏิโลมเจริญวิปัสสนา ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณอันไม่สาธารณ์แก่ผู้อื่นที่พระพุทธเจ้าทั้งปวงบรรลุกันแล้ว ทรงเข้าผลสมาบัติมีพระนิพพานเป็นอารมณ์เป็นเวลา ๗ วันที่โพธิมณฑลนั้นแหละ ทรงให้เวลาล่วงไปที่โพธิมณฑลนั่นเอง อีกหลายสัปดาห์โดยนัยนั้นแล เสวยโภชนะคลุกน้ำผึ้งที่โคนต้นราชานะไม้เกด ประทัปนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธอีก ทรงพิจารณาความที่ธรรมเป็นเรื่องลึกซึ้งตามธรรมดา.
               ท้าวมหาพรหมมาอาราธนาในเมื่อพระองค์มีพระทัยน้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย (คิดจะไม่สอน) ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นเหล่าสัตว์ชนิดมีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มีเป็นต้น ทรงทำปฏิญญากับท้าวมหาพรหมที่จะแสดงธรรม ทรงรำพึงว่า ควรจะแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ทรงทราบว่า ท่านอาฬารดาบสและท่านอุทกดาบสตายเสียแล้ว มีพระดำริว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่บำรุงรับใช้เรา ซึ่งกำลังบำเพ็ญเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว เป็นผู้มีอุปการะแก่เรามากแท้ อย่ากระนั้นเลย เราพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นก่อน
               ในวันอาสาฬหบุณมี เสด็จพุทธดำเนินจากมหาโพธิมุ่งกรุงพาราณสี ระยะทาง ๑๘ โยชน์ ทรงพบกับอุปกาชีวกในระหว่างทาง เสด็จถึงป่าอิสิปตนะตามลำดับ ทรงทำความเข้าใจกะพระปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนะนั้น ทรงให้พระพรหม ๑๘ โกฏิมีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นประมุข ดื่มอมตธรรมด้วยเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุดโต่งสองอย่างเหล่านี้ อันบรรพชิตไม่พึงเสพ ดังนี้
               ในวันแรม ๑ ค่ำ ทรงให้พระภัททิยเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               วันแรม ๒ ค่ำ ทรงให้พระวัปปเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               วันแรม ๓ ค่ำ ทรงให้พระมหานามเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               วันแรม ๔ ค่ำ ทรงให้พระอัสสชิเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               อนึ่ง ในวันแรม ๕ ค่ำ ทรงให้พระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดตั้งอยู่ในพระอรหัตด้วยเทศนาอนัตตลักขณสูตร.
               ต่อจากนั้นทรงให้มหาชนหยั่งลงสู่อริยภูมิอย่างนี้คือ บุรุษ ๕๕ คนมียสกุลบุตรเป็นประมุข ภัททวัคคียกุมารประมาณ ๓๐ คนที่ไร่ฝ้าย ปุราณชฎิลประมาณพันคนที่หินราบ คยาสีสประเทศ ทรงให้มหาชน ๑๑ นหุตมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ให้มหาชน ๑ นหุตตั้งอยู่ในสรณะสาม ทรงรับพระเวฬุวันแล้วประทับอยู่ในพระเวฬุวันนั้น
               ทรงตั้งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ผู้บรรลุปฐมมรรคโดยการนำของพระอัสสชิเถระ ลาอาจารย์สญชัยเข้ามายังสำนักของพระองค์พร้อมด้วยบริวาร ทำให้แจ้งผลอันเลิศบรรลุที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณแล้วไว้ในตำแหน่งสาวกผู้เลิศ
               เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ตามคำเชื้อเชิญของพระกาฬุทายีเถระ ทรงทรมานหมู่พระญาติผู้กระด้างเพราะมานะด้วยยมกปาฏิหาริย์ ทรงให้พระชนกตั้งอยู่ในอนาคามิผลและให้พระมหาปชาบดีตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ทรงให้นันทกุมารและราหุลกุมารบรรพชา แล้วเสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์อีก.
               สมัยต่อมา เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าอาศัยกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา พระเจ้าสุทโธมหาราชทรงทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต ปรินิพพานภายใต้เศวตฉัตรนั่นเอง.
               ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีได้เกิดความคิดที่จะบรรพชา. ลำดับนั้น เหล่าหญิงบาทบริจาริกาของกุมาร ๕๐๐ คนที่ออกบวชในเวลาจบเทศนากลหวิวาทสูตร ที่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ได้พร้อมใจกันไปเฝ้าพระมหาปชาบดี ทุกคนทูลว่าจักบวชในสำนักของพระศาสดา ตั้งให้พระมหาปชาบดีเป็นหัวหน้า ประสงค์จะไปเฝ้าพระศาสดา.
               ก็พระมหาปชาบดีนี้ เมื่อก่อนได้ทูลขอบรรพชากะพระศาสดาครั้งหนึ่งแล้วไม่ได้ ฉะนั้นจึงรับสั่งให้เรียกกัลบกมาปลงพระเกสาแล้วครองผ้ากาสายะ พาสากิยานีเหล่านั้นทั้งหมดไปกรุงเวสาลี ขอร้องพระอานนทเถระให้อ้อนวอนพระทศพล จึงได้บรรพชาและอุปสมบทด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการ แม้สากิยานีนอกนี้ทั้งหมดก็ได้อุปสมบทพร้อมกัน.
               นี้เป็นความย่อในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องนี้โดยพิสดารมาแล้วในบาลีนั้นๆ ทั้งนั้น.
               พระมหาปชาบดีอุปสมบทอย่างนี้แล้ว เข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง. ครั้งนั้น พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พระมหาปชาบดีนั้น พระนางนั้นเรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดา ได้บรรลุพระอรหัต ภิกษุณี ๕๐๐ ที่เหลือได้บรรลุพระอรหัตในเวลาจบนันทโกวาทสูตร
               เมื่อภิกษุณีสงฆ์ตั้งมั่นดีเป็นปึกแผ่นอย่างนี้แล้ว เหล่าหญิงมีตระกูลสะใภ้ของตระกูล และกุมาริกาในตระกูลทั้งหลาย ในคามนิคมชนบทและราชธานีนั้นๆ ได้ฟังความที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ดีแล้ว ความที่พระธรรมเป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว และความที่พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว มีความเลื่อมใสในพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง และเกิดความสังเวชในสังสารวัฏ จึงขออนุญาตสามี บิดามารดาและญาติของตนๆ บวชถวายชีวิตในพระศาสนา และครั้นบวชแล้วเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระ ได้รับโอวาทในสำนักของพระศาสดาด้วย ของพระเถระเหล่านั้นด้วย เพียรพยายามอยู่ ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต.
               ก็คาถาทั้งหลายที่พระเถรีภาษิตในที่นั้นๆ ด้วยอำนาจเปล่งอุทานเป็นต้นเหล่านั้น ภายหลังพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายร่วมกันยกขึ้นสู่สังคีติจัดเป็นเอกนิบาตเป็นต้น คาถาเหล่านี้ชื่อเถรีคาถา การแบ่งคาถาเหล่านั้นเป็นนิบาตเป็นต้น ได้กล่าวไว้แล้วให้หนหลังนั่นแล
               บรรดานิบาตเหล่านั้น เอกนิบาตเป็นนิบาตแรก
               แม้ในเอกนิบาตนั้น คาถานี้ว่า
                                   ดูก่อนพระเถรี ท่านจงเอาท่อนผ้าทำจีวรนุ่งห่ม
                         แล้วพักผ่อนให้สบายเถิด เพราะราคะของท่านสงบแล้ว
                         เหมือนผักดองแห้งอยู่ในหม้อ ดังนี้.

               เป็นคาถาแรก คาถานั้นเกิดขึ้นอย่างไร
               เล่ากันมาว่า ในอดีตกาล กุลธิดาคนหนึ่งเลื่อมใสยิ่งในพระศาสนา ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามโกนาคมนะ นิมนต์พระศาสดา ในวันที่สองให้สร้างมณฑปกิ่งไม้ ลาดทราย ผูกเพดานข้างบน บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วให้คนไปกราบทูลกาลแด่พระศาสดา.
               พระศาสดาเสด็จไปที่มณฑปนั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้.
               กุลธิดานั้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า อังคาสด้วยของเคี้ยวของบริโภคอย่างประณีต แล้วให้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสวยเสร็จลดพระหัตถ์ลงจากบาตร ครองไตรจีวร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาแก่นางแล้วเสด็จหลีกไป
               กุลธิดานั้นทำบุญตลอดอายุ เวลาสิ้นอายุบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ในสุคติภูมิทั้งหลายนั่นเองตลอด ๑ พุทธันดร ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามกัสสปะ บังเกิดในตระกูลคฤหบดี พอรู้เดียงสาก็เกิดความสังเวชในสังสารวัฏ จึงบรรพชาอุปสมบทในพระศาสนา บวชเป็นภิกษุณีอยู่สองหมื่นปี ตายทั้งที่เป็นปุถุชนบังเกิดในสวรรค์ เสวยสมบัติในสวรรค์ตลอด ๑ พุทธันดรบังเกิดในตระกูลกษัตริย์มหาศาล กรุงเวสาลี ในพุทธุปปาทกาลนี้ คนทั้งหลายเรียกเธอว่า เถริกา เพราะมีรูปร่างล่ำสัน.
               เธอเจริญวัย บิดามารดาให้แก่ขัตติยกุมารผู้มีชาติเสมอกันโดยตระกูลและประเทศเป็นต้น เธอบูชาสามีเหมือนเทวดาอยู่ ได้ศรัทธาในพระศาสนาคราวพระศาสดาเสด็จกรุงเวสาลี ต่อมาเธอได้ฟังธรรมในสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เกิดชอบใจบรรพชา บอกแก่สามีว่าจักบวช สามีไม่อนุญาต แต่เพราะเธอสร้างบุญบารมีมา เธอพิจารณาธรรมตามที่ได้ฟัง กำหนดรูปธรรมและอรูปธรรมประกอบวิปัสสนาอยู่เนืองๆ.
               อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อเธอหุงหาอาหารอยู่ในครัวใหญ่ เปลวไฟใหญ่ได้ตั้งขึ้น เปลวไฟนั้นทำให้ภาชนะทั้งสิ้นเกิดเสียงเปรี๊ยะๆ เธอเห็นดังนั้นจึงยึดข้อนั้นแหละเป็นอารมณ์ ใคร่ครวญความไม่เที่ยงที่ปรากฏขึ้นอย่างดียิ่ง จากนั้นได้ยกความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นในครัวนั้น เจริญวิปัสสนา ขวนขวายโดยลำดับ ได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผลตามลำดับแห่งมรรค.
               ตั้งแต่นั้นมา เธอไม่ใช้เสื้อผ้าที่สวยงามหรือเครื่องประดับ. เมื่อสามีถามว่า ที่รัก เหตุไรเดี๋ยวนี้เธอจึงไม่ใช้เสื้อผ้าที่สวยงามหรือเครื่องประดับเหมือนเมื่อก่อน. นางจึงบอกว่า ตนไม่ควรอยู่เป็นคฤหัสถ์ แล้วขออนุญาตบวช สามีนำเธอไปสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมีด้วยบริวารใหญ่ กล่าวว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า โปรดบวชให้นางนี้เถิด เหมือนวิสาขอุบาสกนำนางธรรมทินนาไปฉะนั้น.
               ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีให้นางบรรพชาอุปสมบทแล้ว นำไปวิหารแสดงแก่พระศาสดา เมื่อทำอารมณ์ที่เห็นตามปกตินั่นเองให้แจ่มแจ้งแก่นาง ตรัสพระคาถานี้ว่า
                                   ดูก่อนเถรี เธอจงเอาท่อนผ้าทำจีวรนุ่งห่มแล้ว
                         พักผ่อนให้สบายเถิด เพราะราคะของเธอสงบแล้ว
                         เหมือนผักดองแห้งอยู่ในหม้อ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขํ แสดงภาวนปุงสกะ.
               บทว่า สุปาหิ เป็นคำสั่ง.
               บทว่า เถริเก เป็นคำเรียก.
               บทว่า กตฺวา โจเฬน ปารุตา เป็นคำประกอบด้วยความมักน้อย.
               บทว่า อุปสนฺโต หิ เต ราโค เป็นคำประกาศผลการปฏิบัติ.
               บทว่า สุกฺขฑากํ ว เป็นคำแสดงความไม่มีสาระแห่งกิเลสที่พึงให้สงบ.
               บทว่า กุมฺภิยํ เป็นคำแสดงความไม่เที่ยงคือว่างเปล่าของหม้อที่ใส่ผักดองนั้น.
               อนึ่ง บทว่า สุขํ นี้ เป็นชื่อของสิ่งที่ปรารถนา ความว่า มีสุขปราศจากทุกข์.
               ก็บทว่า สุปาหิ นี้ เป็นคำแสดงการผ่อนอิริยาบถสี่ ความว่า เพราะฉะนั้น ท่านจงสำเร็จอิริยาบถทั้งสี่ตามสบายทีเดียว คือจงอยู่อย่างสบาย.
               บทว่า เถริเก นี้เป็นบทประกาศชื่อของพระเถรีนั้นก็จริง แต่ก็มีความว่า ถึงความเป็นผู้มั่นในพระศาสนาที่มั่น เพราะภาวะที่รู้ตามเนื้อความได้เป็นส่วนมาก คือประกอบด้วยธรรมมีศีลเป็นต้นอันมั่น.
               บทว่า กตฺวา โจเฬน ปารุตา ความว่า จงเอาท่อนผ้าบังสุกุลทำจีวรปกปิดสรีระ คือนุ่งและห่มผ้านั้น.
               หิศัพท์ในบทว่า อุปสนฺโต หิ เต ราโค มีเนื้อความว่า เหตุ.
               อธิบายว่า เพราะกามราคะที่เกิดในสันดานของท่านสงบแล้ว คือถูกเผาด้วยไฟคืออนาคามิมรรคญาณ บัดนี้ท่านจงเผาราคะที่ยังเหลืออยู่นั้นด้วยไฟคือมรรคญาณอันเลิศ พักผ่อนให้สบายเถิด.
               บทว่า สุกฺขฑากํ ว กุมฺภิยํ ความว่า ย่อมสงบเหมือนผักดองเล็กน้อยในภาชนะร้อนนั้น เขาเคี่ยวด้วยเปลวไฟแรงร้อนแห้งไป.
               อีกอย่างหนึ่ง เหมือนเมื่อเอาผักดองเจือน้ำขึ้นตั้งเคี่ยวบนเตา เมื่อน้ำยังมีอยู่ ผักดองนั้นย่อมเดือดพล่าน แต่เมื่อหมดน้ำย่อมสงบนิ่งฉันใด กามราคะในสันดานของท่านสงบแล้ว ท่านจงทำกิเลสแม้ที่เหลืออยู่ให้สงบแล้ว พักผ่อนให้สบายเถิด ฉันนั้น.
               พระเถรีบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในเวลาจบคาถา เพราะอินทรีย์แก่กล้าและเพราะพระศาสดาเทศนาไพเราะ
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า
               เราสร้างมณฑปถวายพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ และได้ถวายพระสถูปอันบวรแด่พระพุทธเจ้าผู้เผ่าพันธุ์มนุษย์ เราไปในที่ใดๆ เป็นชนบทก็ตาม นิคมและราชธานีก็ตาม ย่อมมีคนบูชาในที่นั้นๆ ทุกแห่ง นี้เป็นผลของการทำบุญ.
               เราเผากิเลสแล้ว ภพทั้งหมดเราถอนได้แล้ว เราตัดเครื่องผูกพัน เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ดังช้างพังตัดเชือกแล้ว การมาเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐของเรา เป็นการมาดีแล้วหนอ เราได้บรรลุวิชชาสามตามลำดับ เราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
               คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทาสี่ วิโมกข์ทั้งแปดและอภิญญาหก เราทำให้แจ้งแล้ว เราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.
               ครั้นได้บรรลุพระอรหัตแล้ว พระเถรีเมื่อเปล่งอุทานได้ภาษิตคาถานั้นทีเดียว เหตุนั้น คาถานี้จึงได้เป็นคาถาของพระเถรีนั้น.
               ด้วยคาถาที่พระเถรีกล่าวในที่นั้น เป็นอันกำหนดราคะได้อย่างไม่เหลือ เพราะบรรลุความสงบนั้นได้ด้วยมรรคอันเลิศ. และที่กล่าวถึงความสงบกิเลสทั้งหมดในที่นี้ ก็ด้วยความสงบราคะนั่นเอง ฉะนั้นพึงเห็นข้อนั้น เพราะกิเลสธรรมทั้งหมดสงบได้ เพราะตั้งอยู่ร่วมกัน.
               สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า
                         โมหะใดเกิดร่วมกับอุทธัจจะและวิจิกิจฉา
               อันเรารู้แล้ว โมหะนั้นก็รวมกันกับราคะ เพราะ
               ตั้งอยู่ร่วมกันโดยการละ.
               เหมือนอย่างว่า ความสงบแห่งสังกิเลสทั้งปวง ท่านกล่าวไว้ในที่นี้ฉันใด แม้ในที่ทุกแห่งท่านก็กล่าวความสงบแห่งสังกิเลสเหล่านั้นฉันนั้น ฉะนั้นพึงทราบโดยที่สงบกิเลสได้สำเร็จในตอนต้น ด้วยตทังคปหานะละด้วยองค์นั้นๆ ในขณะแห่งสมถะและวิปัสสนาด้วยวิกขัมภนปหานะละด้วยข่มไว้ ในขณะแห่งมรรคด้วยสมุจเฉทปหานะละด้วยถอนขึ้น ในขณะแห่งผลด้วยปฏิปัสสัทธิปหานะละด้วยสงบระงับ ความสำเร็จแห่งปหานะทั้งสี่ พึงทราบด้วยความสงบนั้น.
               บรรดาปหานะทั้งสี่นั้น ความสำเร็จแห่งสีลสัมปทา ท่านแสดงด้วยตทังคปหานะ ความสำเร็จแห่งสมาธิสัมปทา ท่านแสดงด้วยวิกขัมภนปหานะ ความสำเร็จแห่งปัญญาสัมปทาท่านแสดงด้วยปหานะนอกนี้ โดยความสำเร็จคือบรรลุด้วยปหานะ.
               พระโยคาวจรยังการบรรลุสัจฉิกิริยา และการบรรลุปริญญาให้สำเร็จ เหมือนยังการบรรลุภาวนาให้สำเร็จนั่นเอง เพราะไม่มีสิ่งนั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีแล บัณฑิตพึงทราบว่า สิกขา ๓ ท่านประกาศด้วยความสำเร็จคือการบรรลุ ๔ ความงาม ๓ อย่างท่านประกาศด้วยการปฏิบัติ วิสุทธิ ๗ ที่บริบูรณ์ท่านประกาศด้วยคาถานี้.
               พระเถรีองค์หนึ่งไม่มีใครรู้จัก คือไม่ปรากฏชื่อและโคตรเป็นต้น.
               อธิบายว่า ภิกษุณีผู้เป็นเถรีถึงพร้อมด้วยลักษณะองค์หนึ่งได้ภาษิตคาถานี้.

               จบอรรถกถาอัญญตราเถรีคาถาที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา เอกกนิบาต ๑. เถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 401อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 402อ่านอรรถกถา 26 / 403อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8882&Z=8889
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :