ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 136อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 137อ่านอรรถกถา 26 / 138อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต
ปฐมวรรค ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในเอกกนิบาต วรรคที่ ๑

               ปรมัตถทีปนี               
               อรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถา               
               คันถารัมภกถา               
                                   ข้าพเจ้าขอไหว้พระโลกนาถเจ้าผู้มีพระทัย
                         เปี่ยมล้นไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จถึงฝั่ง
                         แห่งสาครคือไญยธรรมได้แล้ว ทรงแสดงธรรม
                         อันละเอียดลึกล้ำ มีนัยอันวิจิตร.
                                   ข้าพเจ้าขอไหว้พระธรรมอันสูงสุดที่สมเด็จ
                         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบูชาแล้ว ซึ่งเป็นเครื่อง
                         นำผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะออกไปจากโลก.
                                   ข้าพเจ้าขอไหว้พระอริยสงฆ์ผู้สมบูรณ์ด้วย
                         คุณมีศีลเป็นต้น สถิตมั่นอยู่ในมรรคและผล เป็น
                         เนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม.
                                   ด้วยเดชานุภาพแห่งบุญที่เกิดจากการไหว้
                         พระรัตนตรัย ดังได้พรรณนามานี้ ขอข้าพเจ้าจง
                         ปลอดจากอันตรายในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ.
                                   คาถาเหล่านั้นใดที่ปราศจากอามิส อันพระ
                         เถระทั้งหลายผู้เสร็จกิจแล้ว ผู้คงที่มีพระสุภูติเถระ
                         เป็นต้นและพระเถรีทั้งหลายภาษิตแล้ว และคาถา
                         เหล่าใด ที่ลึกล้ำละเอียดอ่อน สดับแล้วโดยวิธี มี
                         อุทานเป็นต้น ปฏิสังยุตด้วยสุญญตธรรม ประกาศ
                         ธรรมของพระอริยเจ้า พระธรรมสังคาหกาจารย์
                         ทั้งหลาย ผู้คงที่ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่รวบรวม
                         คาถาเหล่านั้นไว้ ในคัมภีร์ขุททกนิกาย โดยเรียก
                         ชื่อว่า เถรคาถา และเถรีคาถา.
                                   อันที่จริง การแต่งอรรถกถาพรรณนาความ
                         ลำดับบทที่มีอรรถอันลึกซึ้งที่ข้าพเจ้าทำ มิใช่ของ
                         ที่ทำได้ง่ายเลย เพราะเป็นอรรถที่จะพึงหยั่งถึงได้
                         ก็ด้วยคัมภีรญาณ แต่เพราะอรรถกถาจะช่วยทรง
                         ศาสนาของพระศาสดาไว้ได้ทั้งวินิจฉัยของบรรดา
                         บุรพาจารย์ ผู้เปรียบปานด้วยราชสีห์ ก็จะยังคง
                         ดำรงอยู่ด้วย ฉะนั้น
                                   ข้าพเจ้าจึงจักขอแต่งอรรถกถา "เถรคาถา"
                         และ "เถรีคาถา" เต็มกำลังความสามารถโดยจะยึด
                         วินิจฉัยของบรรดาบุรพาจารย์นั้นเป็นหลัก ถือ
                         นิกาย ๕ เป็นเกณฑ์ อิงอาศัยนัยจากโบราณอรรถ
                         กถา แม้จะเป็นเพียงคำบอกกล่าว ที่ได้อาศัยอ้างอิง
                         กันมา แต่ก็บริสุทธิ์ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน เป็น
                         การวินิจฉัยที่ละเอียดของบรรดาบุรพาจารย์คณะ
                         มหาวิหาร และข้อความของคาถาเหล่าใด เว้นอนุ
                         ปุพพิกถาเสียแล้วรู้ได้ยาก ข้าพเจ้าจะนำอนุปุพพิ
                         กถานั้นของคาถาเหล่านั้นมาแสดงให้แจ่มแจ้ง ทั้ง
                         จะแสดงข้อวินิจฉัยอีกด้วย.
                                   สาธุชนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายได้โปรดตั้ง
                         ใจสดับการพรรณนาความแห่งอรรถกถาเถรคาถา
                         และเถรีคาถานั้นซึ่งจะจำแนกต่อไปของข้าพเจ้าผู้
                         หวังให้พระสัทธรรมดำรงมั่นอยู่ได้นานต่อไปเทอญ.
               -----------------------------------------------------               

               อารัมภกถาวรรณนา               
               ก็เถรคาถาและเถรีคาถา แต่ละคาถาเป็นอย่างไร? และมีประวัติเป็นมาอย่างไร?
               ถึงความข้อนี้ ท่านจะกล่าวไว้ในคาถาทั้งหลายแล้วก็จริง แต่เถรคาถาที่พระสุภูติเถระเป็นต้น กล่าวแล้วในคาถานั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวซ้ำอีกเพื่อทำข้อความให้ปรากฎ.
               ก็พระเถระเหล่านั้นพิจารณาเห็นสุขอันเกิดแต่มรรคผลตามที่ตนบรรลุแล้ว ได้กล่าวคาถาบางอย่างไว้ ด้วยสามารถแห่งอุทาน ได้กล่าวคาถาบางอย่างด้วยสามารถแห่งการพิจารณาธรรมเป็นเครื่องอยู่คือสมาบัติของตน ได้กล่าวคาถาบางอย่างไว้ด้วยสามารถแห่งคำถาม ได้กล่าวคาถาบางอย่างไว้ด้วยสามารถ (ชี้ให้เห็น) ข้อที่คำสอนเป็นนิยยานิกธรรม.
               ในเวลาทำสังคายนา พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายร้อยกรองคาถาทั้งหมดเหล่านั้นไว้ เป็นหมวดเดียวกัน (โดยให้ชื่อ) ว่า "เถรคาถา". ส่วนเถรีคาถา ท่านแสดงไว้เฉพาะพระเถรีทั้งหลาย.
               ก็ในบรรดาปิฎกทั้ง ๓ คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก คาถาเหล่านั้น นับเนื่องในสุตตันตปิฎก. ในบรรดานิกายทั้ง ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย (และ) ขุททกนิกาย คาถาเหล่านั้นนับเนื่องในขุททกนิกาย. ในบรรดาสัตถุศาสน์ ๙ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ สงเคราะห์เข้าเป็น "คาถา"
               ก็ในบรรดาธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ที่พระอานนทเถระผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริกปฏิญาณไว้อย่างนี้ว่า
                         ธรรมเหล่าใดที่เป็นไปแก่ข้าพเจ้า ธรรมเหล่านั้น
                         ข้าพเจ้าเรียนเอาจากพระพุทธเจ้า ๘๒,๐๐๐ จาก
                         ภิกษุรูปอื่น ๒,๐๐๐ รวมเป็น ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์
                         ดังนี้
               ก็สงเคราะห์เข้าในธรรมขันธ์จำนวนเล็กน้อย.
               ในบรรดาเถรคาถา และเถรีคาถาเหล่านั้น เถรคาถาจะว่าโดยนิบาตก่อน เอกนิบาตจนถึงจุททสนิบาต โดยนับเกิน ๑ คาถาขึ้นไปรวมเป็นจุททสนิบาต และนิบาต ๗ เหล่านี้ คือ โสฬสนิบาต วีสตินิบาต ติงสนิบาต จัตตาฬีสนิบาต ปัญญาสนิบาต สัฏฐินิบาต (และ) สัตตตินิบาต รวมเป็น ๒๑ นิบาต.
               ชื่อว่านิบาต เพราะอรรถว่าตั้งไว้ วางไว้. ชื่อว่าเอกนิบาต เพราะเป็นที่ตั้งไว้วางไว้ ซึ่งคาถานิบาตละหนึ่งคาถา.
               แม้ในนิบาตที่เหลือก็พึงทราบความโดยนัยนี้.
               ในบรรดานิบาตเหล่านั้น เอกนิบาตมี ๑๒ วรรค. ในวรรคหนึ่งๆ แบ่งออกเป็นวรรคละ ๑๐ จึงมีพระเถระ ๑๒๐ รูป คาถาก็มีเท่านั้นเหมือนกัน
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         ในแต่ละนิบาต พระเถระ ๑๒๐ รูปผู้เสร็จกิจแล้ว
                         หาอาสวะมิได้ พร้อมด้วยพระธรรมสังคาหกาจารย์
                         ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายร้อยกรองไว้ดีแล้ว
                         ดังนี้.
               ในทุกนิบาต มีพระเถระ ๔๙ รูป มีคาถา ๙๘ คาถา.
               ในติกนิบาต มีพระเถระ ๑๖ รูป มีคาถา ๔๘ คาถา.
               ในจตุกนิบาต มีพระเถระ ๑๓ รูป มีคาถา ๕๒ คาถา.
               ในปัญจกนิบาต มีพระเถระ ๑๒ รูป มีคาถา ๖๐ คาถา.
               ในฉักกนิบาต มีพระเถระ ๑๔ รูป มีคาถา ๘๔ คาถา.
               ในสัตตกนิบาต มีพระเถระ ๕ รูป มีคาถา ๓๕ คาถา.
               ในอัฏฐกนิบาต มีพระเถระ ๓ รูป มีคาถา ๒๔ คาถา.
               ในนวกนิบาต มีพระเถระ ๑ รูป มีคาถา ๙ คาถา.
               ในทสกนิบาต มีพระเถระ ๗ รูป มีคาถา ๗๐ คาถา.
               ในเอกาทสกนิบาต มีพระเถระ ๑ รูป มีคาถา ๑๑ คาถา.
               ในทวาทสกนิบาต มีพระเถระ ๒ รูป มีคาถา ๒๔ คาถา.
               ในเตรสกนิบาต มีพระเถระ ๑ รูป มีคาถา ๑๓ คาถา.
               ในจุททสกนิบาต มีพระเถระ ๒ รูป มีคาถา ๒๘ คาถา.
               ปัณณรสกนิบาต ไม่มี.
               ในโสฬสกนิบาต มีพระเถระ ๒ รูป มีคาถา ๓๒ คาถา.
               ในวีสตินิบาต มีพระเถระ ๑๐ รูป มีคาถา ๒๔๕ คาถา.
               ในติงสนิบาต มีพระเถระ ๓ รูป มีคาถา ๑๐๕ คาถา.
               ในจัตตาลีสนิบาต มีพระเถระ ๑ รูป มีคาถา ๔๒ คาถา.
               ในปัญญาสนิบาต มีพระเถระ ๑ รูป มีคาถา ๕๕ คาถา.
               ในสัฏฐิกนิบาต มีพระเถระ ๑ รูป มีคาถา ๖๘ คาถา.
               แม้ในสัตตตินิบาต(มหานิบาต) มีพระเถระ ๑ รูป มีคาถา ๗๑ คาถา.
               ก็เมื่อประมวลแล้ว มีพระเถระ ๒๖๔ รูป มีคาถา ๑,๓๖๐ คาถาฉะนี้แล
               และแม้ข้อนี้ก็มีวจนะประพันธ์คาถาที่ท่านกล่าวรับรองไว้ว่า
                         พระธรรมสังคาหกาจารย์ประกาศไว้ว่า มีคาถา
                         ๑,๓๖๐ คาถา มีพระเถระ ๒๖๔ รูปดังนี้.
               ส่วนเถรีคาถาสงเคราะห์เข้าในโสฬสนิบาต คือ นิบาต ๙ นิบาต ได้แก่ เอกนิบาตจนถึงนวกนิบาต โดยเพิ่มขึ้นนิบาตละ ๑ คาถา และเอกาทสกนิบาต ทวาทสกนิบาต โสฬสกนิบาต วีสตินิบาต ติงสตินิบาต จัตตาลีสนิบาต มหานิบาต.
                         ในเอกนิบาต มีพระเถรี ๑๘ รูป มีคาถา ๑๘ คาถาเท่ากัน.
                         ในทุกนิบาต มีพระเถรี ๑๐ รูป มีคาถา ๒๐ คาถา.
                         ในติกนิบาต มีพระเถรี ๘ รูป มีคาถา ๒๔ คาถา.
                         ในจตุกนิบาต มีพระเถรี ๑ รูป มีคาถา ๔ คาถา.
                         ในปัญจกนิบาต มีพระเถรี ๑๒ รูป มีคาถา ๖๐ คาถา.
                         ในฉักกนิบาต มีพระเถรี ๘ รูป มีคาถา ๔๘ คาถา.
                         ในสัตตกนิบาต มีพระเถรี ๓ รูป มีคาถา ๒๑ คาถา.
               ตั้งแต่อัฏฐกนิบาตไปจนถึงโสฬสกนิบาต มีพระเถรีนิบาตละ ๑ รูป คาถาก็มีจำนวนเท่ากับนิบาตนั้นๆ.
                         ในวีสตินิบาต มีพระเถรี ๕ รูป มีคาถา ๑๑๘ คาถา.
                         ในติงสนิบาต มีพระเถรี ๑ รูป มีคาถา ๓๔ คาถา.
                         ในจัตตาลีสนิบาต มีพระเถรี ๑ รูป มีคาถา ๔๘ คาถา.
                         แม้ในมหานิบาต ก็มีพระเถรี ๑ รูป มีคาถา ๗๕ คาถา.
               ในเถรคาถาและเถรีคาถานี้ พึงทราบจำนวนแห่งนิบาต คาถาวรรคและคาถาทั้งหลาย ดังพรรณนามานี้.

               จบอารัมภกถาวรรณนา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต ปฐมวรรค ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในเอกกนิบาต วรรคที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 136อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 137อ่านอรรถกถา 26 / 138อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4962&Z=4973
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :