ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 355อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 356อ่านอรรถกถา 26 / 357อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ฉักกนิบาต
๑๐. สุมนเถรคาถา

               อรรถกถาสุมนเถรคาถาที่ ๑๐               
               คาถาของท่านพระสุมนเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ยทา นโว ปพฺพชิโต.
               เรื่องนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี บังเกิดในตระกูลของนายมาลาการ รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่งได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี มีใจเลื่อมใสได้บูชาด้วยดอกมะลิ.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้ถือปฏิสนธิในเรือนของอุบาสกคนหนึ่ง และอุบาสกผู้นั้นได้เป็นอุปัฏฐากของท่านพระอนุรุทธเถระ ก็ในกาลก่อนแต่นั้น พวกเด็กของเขาพอเกิดก็ตายไป ด้วยเหตุนั้น เขาจึงเกิดความคิดขึ้นว่า บัดนี้ ถ้าเราจักได้บุตรชายคนเดียว จักให้บวชในสำนักของพระผู้เป็นเจ้าอนุรุทธเถระ.
               ก็เด็กในครรภ์นั้น พอล่วงไปได้ ๑๐ เดือนก็เกิด เป็นเด็กไม่ป่วยไข้ เจริญเติบโตมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๗ ขวบ บิดาให้เขาบวชในสำนักของพระเถระ. ครั้นบวชแล้วแต่นั้น เพราะเป็นผู้มีญาณแก่กล้า ท่านจึงบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักเป็นผู้มีอภิญญา ๖.
               เมื่อจะบำรุงพระเถระคิดว่าจักตักน้ำดื่ม จึงได้ถือหม้อน้ำไปยังสระอโนดาตด้วยฤทธิ์.
               ลำดับนั้น นาคราชตัวหนึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ เมื่อจะปิดสระอโนดาตจึงเอาขนดวง ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่ไว้เบื้องบน ไม่ให้โอกาสท่านสุมนะตักน้ำ. ท่านสุมนะแปลงรูปเป็นครุฑ ชนะนาคราชนั้น แล้วจึงตักน้ำเหาะมุ่งไปยังที่อยู่ของพระเถระ.
               พระศาสดาประทับนั่งอยู่ในพระเชตวัน ทรงเห็นพระสุมนะนั้นไปโดยประการอย่างนั้น จึงตรัสเรียกพระธรรมเสนาบดีมาแล้ว ได้ตรัสคุณของเธอด้วยคาถา ๖ คาถาโดยนัยมีอาทิว่า สารีบุตร เธอจงดูกุมารผู้นี้.
               ลำดับนั้น พระสุมนเถระได้กล่าวคาถา ๖ คาถา ด้วยการพยากรณ์พระอรหัตผลว่า
                         เมื่อครั้งเราบวชใหม่ มีอายุได้ ๗ ปีโดยกำเนิด ได้ชนะ
               พระยานาคผู้มีมหิทธิฤทธิ์ด้วยฤทธิ์ ได้ตักน้ำจากสระใหญ่ชื่อ
               ว่าอโนดาต มาถวายพระอุปัชฌาย์.
                         ลำดับนั้น พระศาสดาได้ทอดพระเนตรเห็นเราแล้วตรัส
               ว่า ดูก่อนสารีบุตร เธอจงดูกุมารผู้ถือหม้อน้ำมานี้ มีจิตตั้งมั่น
               ดีแล้วในภายใน. สามเณรนี้มีวัตรน่าเลื่อมใส มีอิริยาบถงดงาม
               เป็นศิษย์ของพระอนุรุทธะ แกล้วกล้าด้วยฤทธิ์ เป็นผู้อันพระ
               อนุรุทธะผู้เป็นบุรุษอาชาไนยฝึกให้รู้ได้รวดเร็ว ผู้อันพระอนุรุทธะ
               ผู้เป็นคนดี ฝึกให้ดีแล้ว เป็นผู้อันพระอนุรุทธะผู้ทำกิจเสร็จแล้ว
               แนะนำแล้ว ให้ศึกษาแล้ว สุมนสามเณรนั้นได้บรรลุสันติธรรมอัน
               ยอดเยี่ยม ทำให้แจ้งธรรมอันไม่กำเริบแล้ว ปรารถนาอยู่ว่า ใครๆ
               อย่าพึงรู้จักเรา.

               บรรดาคาถาเหล่านั้น คาถา ๒ คาถาข้างต้น พระสุมนเถระนั่นแลกล่าวไว้อีก ๔ คาถา พระศาสดาเมื่อทรงเห็นดังนั้นจึงตรัสไว้. พระสุมนเถระรวมคาถาทั้งหมดนั้นเข้าไว้แห่งเดียวกัน แล้วได้กล่าวเนื่องด้วยการพยากรณ์พระอรหัตผลในชั้นหลัง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปนฺนคินฺทํ แปลว่า พระยานาค.
               บทว่า ตโต ได้แก่ ในกาลนั้น.
               อธิบายว่า ในคราวที่เรายังบวชใหม่ มีอายุได้ ๗ ปีโดยกำเนิด ได้ชนะพระยานาคผู้มีฤทธิ์มากด้วยพลังแห่งฤทธิ์ นำน้ำจากสระอโนดาตมาถวายพระอุปัชฌาย์.
               พระเถระ เมื่อจะแสดงพระดำรัสที่พระศาสดาของเราตรัสเจาะจงเรา จึงกล่าวคำอาทิว่า ดูก่อนสารีบุตร เธอจงดูกุมารนี้ ดังนี้.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ สุสมาหิตํ ความว่า ผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้วด้วยสมาธิอันสัมปยุตด้วยพระอรหัตผลอันเป็นอารมณ์ภายใน.
               บทว่า ปาสาทิเกน วตฺเตน ได้แก่ ด้วยอาจารวัตรอันนำความเลื่อมใสมาให้แก่ผู้เห็นอยู่.
               คำว่า ปาสาทิเกน วตฺเตน นี้เป็นตติยาวิภัติใช้ในอรรถแห่งกรณะ แปลว่า ด้วย.
               บทว่า กลฺยาณอิริยาปโถ แปลว่า ผู้มีอิริยาบถเรียบร้อย.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปาสาทิเกน วตฺเตน นี้เป็นตติยาวิภัติใช้ในลักษณะอิตถัมภูตะ แปลว่า มี. ความเป็นสมณะ ชื่อว่าสามัณยะ. อธิบายว่า สามัญญะ. ชื่อว่าสามเณร ได้แก่สมณุทเทส เพราะไปคือเป็นไปเพื่อสามัญญะความเป็นสมณะนั้น.
               บทว่า อิทฺธิยา จ วิสารโท ได้แก่ เป็นผู้ฉลาดคือฉลาดดีแม้ในฤทธิ์.
               บทว่า อาชานีเยน ได้แก่ บุรุษอาชาไนย.
               อธิบายว่า ผู้อันพระอนุรุทธะผู้กระทำกิจเสร็จแล้ว ผู้ชื่อว่าคนดี เพราะทำประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่นให้สำเร็จ กระทำคือฝึกให้เป็นคนดี คือให้สำเร็จประโยชน์ทั้งสอง.
               อีกอย่างหนึ่ง ทำคือฝึกให้เป็นผู้รู้รวดเร็วด้วยดี แนะนำแล้วด้วยวิชชาอันเลิศ ให้ศึกษาแล้วด้วยการให้บรรลุความเป็นพระอเสกขะ.
               สุมนสามเณรนั้นได้รับความสงบอย่างยิ่งคือพระนิพพาน บรรลุแล้วด้วยการบรรลุพระอรหัตมรรค กระทำให้แจ้งคือทำให้ประจักษ์แก่ตน ซึ่งความเป็นธรรมอันไม่กำเริบ ได้แก่พระอรหัตผล เพราะเป็นผู้ถึงความมักน้อยอย่างยิ่งยวดจึงปรารถนา คือหวังอยู่ว่า อย่าพึงรู้เรา คือแม้ใครๆ ก็อย่าพึงรู้จักเราว่า ผู้นี้มีอาสวะสิ้นแล้ว หรือว่ามีอภิญญา ๖ ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาสุมนเถรคาถาที่ ๑๐               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ฉักกนิบาต ๑๐. สุมนเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 355อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 356อ่านอรรถกถา 26 / 357อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6631&Z=6642
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=2785
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=2785
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :