ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 267อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 277อ่านอรรถกถา 20 / 287อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์
สมจิตตวรรคที่ ๔

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               อรรถกถาสูตรที่ ๖               
               ในสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปรณายํ วิหรติ๑- ความว่า เมืองมีชื่อว่าปรณา ท่านพระมหากัจจานะเข้าไปอาศัยเมืองนั้นอยู่.
____________________________
๑- บาลีเป็น วรณาย วิหรติ.

               บทว่า กามราควินิเวสวินิพนฺธปลิเคธปริยุฏฺฐานชฺโฌสานเหตุ ความว่า เพราะเวียนเข้าไปหากามราคะ เป็นเหตุ ตกอยู่ในอำนาจกามราคะเป็นเหตุ มีความกำหนิดยินดีในกามราคะเป็นเหตุ เพราะกามราคะกลุ้มรุมอยู่เป็นเหตุ และท่วมทับอยู่เพราะกามราคะเป็นเหตุ. มีคำอธิบายดังนี้ เพราะกามราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ นั้นยึดไว้เป็นต้นเป็นเหตุ เพราะถูกกามราคะพัวพัน ผูกพันไว้เพราะละโมบ คือตะกรามเพราะกามราคะนั้นแหละ ซึ่งเป็นเหมือนหล่มใหญ่ เพราะกลุ้มรุมอยู่เพราะกามราคะนั้นแหละ คือถูกกามราคะจับไว้ และเพราะจดจ่อเพราะกามราคะ คือถูกกามราคะกลืนสำเร็จเสร็จสิ้นยึดไว้.
               แม้ในบทว่า ทิฏฺฐิราค เป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               แต่ในบทว่า ทิฏฺฐิราโค นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ได้แก่ราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยทิฏฐิ ๖๒.
               บทว่า ปุรตฺถิเมสุ ชนปเทสุ ความว่า จากที่ที่พระเถระอยู่ไปทางทิศตะวันออก มีสาวัตถีชนบท. พระเถระเมื่อนั่งก็นั่งหันหน้าไปทางทิศนั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อุทานํ อุทาเนสิ แปลว่า เปล่งอุทาน.
               เหมือนอย่างว่า น้ำมันไม่อาจขังเครื่องตวงได้ไหลล้นไป เขาเรียกว่าล้นเหลือ และน้ำที่ไม่อาจขังเหมืองน้ำได้ไหลล้นไปนั้น เขาเรียกว่าน้ำหลากฉันใด คำที่เกิดแต่ปีติก็ฉันนั้นเหมือนกัน ขังหทัยไม่ได้ คือเก็บไว้ข้างในไม่อยู่ ก็ล้นออกข้างนอกนั้น ท่านเรียกว่าอุทาน.
               อธิบายว่า พราหมณ์อารามทัณฑะเปล่งคำที่เกิดแต่ปีติเห็นปานนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๖               

               อรรถกถาสูตรที่ ๗               
               ในสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า คุนฺทาวเน ได้แก่ ณ ป่าซึ่งมีชื่ออย่างนี้.
               บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า กัณฑรายนพราหมณ์ได้ทราบข่าวเล่ากันมาว่า พระมหากัจจานะเถระเห็นคนคราวพ่อของตนก็ตาม คราวปู่ก็ตาม คราวทวดก็ตาม ไม่กราบไหว้ไม่ลุกต้อนรับ ไม่เชื้อเชิญให้นั่งดังนี้ คิดว่า ไม่มีใครสามารถแก้เรื่องเพียงเท่านี้ให้สำเร็จได้ เราจักเข้าไปข่มท่าน ดังนี้ รับประทานอาหารเช้าแล้ว เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่.
               บทว่า ชิณฺเณ ได้แก่ ผู้คร่ำคร่า เพราะชรา.
               บทว่า วุฑฺเฒ ได้แก่ ผู้เจริญโดยวัย.
               บทว่า มหลฺลเก ได้แก่ ผู้แก่โดยชาติ (เกิดมานาน).
               บทว่า อทฺธคเต ได้แก่ ผู้ผ่านเวลายาวนาน.
               บทว่า วโยอนุปฺปตฺเต ได้แก่ ผู้อยู่ถึงปัจฉิมวัย.
               บทว่า ตยิทํ โภ กจฺจาน ตเถว ความว่า ท่านกัจจานะผู้เจริญ ข้อใดที่พวกข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างชัดเจน ข้อนั้นก็สมกับเรื่องที่ข้าพเจ้าได้เห็นนี้ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น.
               คำว่า น หิ ภวํ กจฺจาโน พฺราหฺมเณ นี้ กัณฑรายนพราหมณ์กล่าวหมายถึงตนเอง.
               นัยว่า ข้อนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า ท่านกัจจานะผู้เจริญเห็นพวกเราผู้เป็นคนแก่ขนาดนี้ ก็ไม่มีแม้เพียงการกราบไหว้ แม้เพียงการลุกต้อนรับ แม้เพียงการเชื้อเชิญให้ที่นั่ง.
               บทว่า น สมฺปนฺนเมว แปลว่า ไม่เหมาะเลย คือไม่สมควรทีเดียว.
               พระเถระฟังคำของพราหมณ์แล้ว คิดว่าพราหมณ์นี้ไม่รู้จักคนแก่ ไม่รู้จักเด็ก จำเราจักบอกคนแก่และเด็กแก่เขาดังนี้ เมื่อจะขยายเทศนาจึงกล่าวคำว่า อตฺถิ พฺราหฺ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชานตา ได้แก่ ผู้รู้นัยทั้งปวง.
               บทว่า ปสฺสตา ได้แก่ ผู้เห็นนัยนั้นนั่นแหละ เหมือนเห็นผลมะขามป้อมที่วางไว้ในมือ.
               บทว่า วุฑฺฒภูมิ ได้แก่ เหตุที่ทำให้เป็นคนแก่.
               บทว่า ทหรภูมิ ได้แก่ เหตุที่ทำให้เป็นเด็ก.
               บทว่า อสีติโก ได้แก่ มีวัย ๘๐ ปี.
               บทว่า กาเม ปริภุญฺชติ ความว่า ยังต้องการบริโภคกามทั้ง ๒ คือ วัตถุกามและกิเลสกาม.
               บทว่า กามมชฺฌาวสติ ความว่า ยังอยู่คือครองกามทั้ง ๒ อย่างเหมือนเจ้าของเรือนอยู่ครองเรือน.
               บทว่า กามปริเยสนาย อุสฺสุโก ความว่า ยังขวนขวายเพื่อแสวงหากามทั้ง ๒ อย่าง.
               บทว่า โส พาโล น เถโรเตฺวว สงฺขํ คจฺฉติ ความว่า บุคคลนั้นไม่นับว่าเป็นเถระ นับว่าเป็นเด็ก คือคนปัญญาอ่อนโดยแท้
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า
                         น เตน จ เถโร โหติ    เยนสฺส ปลิตํ สิโร
                         ปริปกฺโก วโย ตสฺส     โมฆชิณฺโณติ วุจฺจติ
                         บุคคลจะเป็นเถระ เพราะเหตุที่มีผมหงอกบน
                         ศีรษะก็หามิได้ ผู้นั้นมีวัยหง่อมแล้ว เรียกว่า
                         คนแก่เปล่า.

               บทว่า ทหโร แปลว่า เด็กรุ่น.
               บทว่า ยุวา ได้แก่ ประกอบด้วยความเป็นหนุ่ม.
               บทว่า สุสูกาฬเกโส แปลว่า มีผมดำสนิท.
               บทว่า ภเทฺรน โยพฺพเนน สมนฺนาคโต ความว่า บุคคลชื่อว่าเป็นคนหนุ่ม เพราะประกอบด้วยความเป็นหนุ่มใด ท่านแสดงความเป็นหนุ่มนั้นว่า ภทฺรก กำลังเจริญ.
               บทว่า ปฐเมน วยสา ความว่า อายุ ๓๓ ปี ชื่อว่าปฐมวัย ประกอบด้วยปฐมวัยนั้น.
               บทว่า ปณฺฑิโต เถโรเตฺวว สงฺขํ คจฺฉติ ความว่า บุคคลนั้น คือเห็นปานนี้ นับว่าเป็นบัณฑิตด้วย เป็นเถระด้วยแล.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า
                         ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ    อหึสา สํยโม ทโม
                         สเว วนฺตมโล ธีโร          โส เถโรติ ปวุจฺจติ
                         ผู้ใดมีสัจจะ เที่ยงธรรม ไม่เบียดเบียน สำรวม
                         ฝึกฝน ผู้นั้นแหละเป็นผู้คายกิเลสดุจธุลีแล้ว
                         เป็นปราชญ์ เราเรียกว่าเถระ.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๗               

               อรรถกถาสูตรที่ ๘               
               ในสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า โจรา พลวนฺโต โหนฺติ ความว่า พวกโจรพรักพร้อมด้วยพรรคพวก พรักพร้อมด้วยบริวาร พรักพร้อมด้วยสถานที่อยู่ พรักพร้อมด้วยพาหนะ.
               บทว่า ราชาโน ตสฺมึสมเย ทุพฺพลา โหนฺติ ความว่า ในสมัยนั้น ฝ่ายเจ้าทั้งหลายเป็นฝ่ายอ่อนกำลัง เพราะไม่มีสมบัติเหล่านั้น.
               บทว่า อติยาตุํ ความว่า เพื่อเที่ยวตรวจตราชนบทภายนอกแล้วประสงค์จะเข้าพระนครในขณะที่ต้องการ.
               บทว่า นิยฺยาตุํ ความว่า ไม่มีความผาสุก ที่จะเสด็จออกไปไม่ว่าในปฐมยาม มัชฌิมยามหรือปัจฉิมยาม ด้วยมีพระดำรัสว่า พวกโจรปล้นย่ำยีชนบทจำจักป้องกันพวกมัน. จำเดิมแต่นั้น พวกโจรเที่ยวตีแย่งชิงผู้คน.
               บทว่า ปจฺจนฺติเม วา ชนปเท อนุสญฺญาตุํ ความว่า แม้จะปกครองชนบทชายแดนเพื่อสร้างบ้านที่อยู่ สร้างสะพาน ขุดสระโบกขรณีและสร้างศาลาเป็นต้น ก็ไม่สะดวก.
               บทว่า พฺราหฺมณคหปติกานํ ได้แก่ พวกพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายที่อยู่ภายในพระนคร.
               บทว่า พาหิรานิ วา กมฺมนฺตานิ ได้แก่ งานสวนงานนานอกบ้าน.
               บทว่า ปาปภิกฺขู พลวนฺโต โหนฺติ ความว่า พวกภิกษุชั่วเป็นฝ่ายมีกำลัง พรั่งพร้อมด้วยอุปัฏฐากชายหญิงเป็นอันมาก และได้พึ่งพิงพระราชาและราชมหาอำมาตย์.
               บทว่า เปสลา ภิกฺขู ตสฺมึ สมเย ทุพฺพลา โหนฺติ ความว่า ในสมัยนั้น พวกภิกษุที่มีศีลเป็นที่รัก (เรียบร้อย) เป็นผู้อ่อนกำลัง เพราะไม่มีสมบัติเหล่านั้น.
               บทว่า ตุณฺหีภูตา ตุณฺหีภูตา สงฺฆมชฺเฌ สงฺกสายนฺติ ความว่า เป็นผู้เงียบเสียงนั่งในท่ามกลางสงฆ์ ไม่อาจเงยหน้าอ้าปากกล่าวอะไรๆ แม้แต่คำเดียว นั่งประหนึ่งซบเซาอยู่.
               บทว่า ตยิทํ ได้แก่ เหตุนั่นนั้น.
               ในฝ่ายขาวก็พึงทราบตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๘               

               อรรถกถาสูตรที่ ๙               
               ในสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า มิจฺฉาปฏิปตฺตาธิกรณเหตุ ความว่า เพราะกระทำคือปฏิบัติข้อปฏิบัติผิดเป็นเหตุ.
               บทว่า ญายํ ธมฺมํ กุสลํ ได้แก่ มรรคพร้อมทั้งวิปัสสนา.
               ด้วยว่าบุคคลเห็นปานนี้ย่อมไม่อาจทำมรรคพร้อมทั้งวิปัสสนาให้สำเร็จ คือให้ถึงพร้อมได้. ในฝ่ายขาวก็พึงทราบตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               ในสูตรนี้ ตรัสมรรคพร้อมวิปัสสนา
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               ในสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทุคฺคหิเตหิ ได้แก่ ที่ถือมาผิดระเบียบ.
               บทว่า พฺยญฺชนปฏิรูปเกหิ ได้แก่ ที่มีพยัญชนะงดงาม คือที่ได้มาด้วยมีอักขระวิจิตร.
               บทว่า อตฺถญฺจ ธมฺมญฺจ ปฏิวาหนฺติ ความว่า ย่อมค้านทั้งอรรถกถาและบาลีแห่งสุตตันตะทั้งหลายที่ถือมาถูก.
               ภิกษุเหล่านั้นแสดงทั้งอรรถทั้งบาลีของสุตตันตะที่ตนถือมาผิด ยิ่งยวดกว่า.
               ฝ่ายขาวก็พึงทราบตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               ในสูตรนี้ ตรัสทั้งความเจริญและความเสื่อมแห่งพระศาสนาแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               จบสมจิตตวรรคที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ สมจิตตวรรคที่ ๔ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 267อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 277อ่านอรรถกถา 20 / 287อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1617&Z=1840
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=706
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=706
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :