ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 277อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 287อ่านอรรถกถา 20 / 297อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์
ปริสวรรคที่ ๕

               อรรถกถาปริสวรรคที่ ๕               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               วรรคที่ ๕ สูตรที่ ๑ [ข้อ ๒๘๗] มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อุตฺตานา ได้แก่ เปิดเผย ไม่ปกปิด.
               บทว่า คมฺภีรา ได้แก่ เร้นลับ ปกปิด.
               บทว่า อุทฺธตา ได้แก่ ประกอบด้วยความฟุ้งเฟ้อ.
               บทว่า อนฺนฬา ได้แก่ ถือดี. อธิบายว่า มีมานะเปล่าๆ ปลี้ๆ ที่ตั้งขึ้น.
               บทว่า จปลา ความว่า ประกอบด้วยความซุกซนมีตกแต่งจีวรเป็นต้น.
               บทว่า มุขรา ได้แก่ ปากจัด วาจาหยาบ.
               บทว่า วิกิณฺณวาจา ได้แก่ พูดไม่สำรวม พูดคำที่ไร้ประโยชน์ได้ทั้งวัน.
               บทว่า มุฏฺฐสฺสตี ได้แก่ ปล่อยสติ.
               บทว่า อสมฺปชานา ได้แก่ ไร้ปัญญา.
               บทว่า อสมาหิตา ได้แก่ ไม่ได้แม้เพียงความที่จิตมีอารมณ์เดียว.
               บทว่า ปากตินฺทฺริยา ความว่า ประกอบด้วยอินทรีย์ที่ตั้งอยู่ตามปกติ เปิดเผย ไม่รักษา (ไม่สำรวม).
               ฝ่ายขาว พึงทราบตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ [ข้อ ๒๘๘] มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ภณฺฑนชาตา ความว่า เบื้องต้นของการทะเลาะ ท่านเรียกว่าแตกร้าว. การแตกร้าวนั้นเกิดแล้วแก่ภิกษุเหล่านั้น ดังนั้นจึงชื่อว่าเกิดแตกร้าว.
               อนึ่ง ได้แก่การทะเลาะที่เกิดขึ้น โดยกล่าวคำเป็นต้นว่า พวกเราจักให้ลงอาชญา จักให้จองจำพวกท่าน. นัยฝ่ายคฤหัสถ์ พึงทราบเท่านี้ก่อน. ส่วนพวกบรรพชิตที่กล่าววาจาถึงการล่วงอาบัติ ชื่อว่าเกิดทะเลาะกัน.
               บทว่า วิวาทาปนฺนา ได้แก่ ถึงวาทะที่ขัดแย้งกัน.
               บทว่า มุขสตฺตีหิ วิตุทนฺนา ความว่า วาจาเป็นทุภาษิตท่านเรียกว่าหอกคือปาก เพราะอรรถว่าตัดคุณความดีทั้งหลาย ทิ่มคือแทงกันด้วยวาจาเหล่านั้น.
               บทว่า สมคฺคา ความว่า ประกอบด้วยความเป็นผู้พร้อมเพรียงกันด้วยการกระทำสิ่งเหล่านี้ คือ งานเดียวกัน อุเทศเดียวกัน มีการศึกษาเสมอกัน.
               บทว่า ปิยจกฺขูนิ ได้แก่ ด้วยจักษุที่แสดงเมตตา หวังดีกัน.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ [ข้อ ๒๘๙] มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อคฺควตี ได้แก่ มีบุคคลสูงสุด หรือประกอบด้วยการปฏิบัติอย่างเลิศคือสูงสุด. บริษัทตรงข้ามจากบริษัทที่มีคนเลิศนั้น. ชีวิตที่ไม่มีคนเลิศ.
               บทว่า พาหุลฺลิกา ได้แก่ ผู้ปฏิบัติด้วยความมักมากด้วยปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น. บริษัทชื่อว่า สาถิลิกา เพราะอรรถว่าถือศาสนาย่อหย่อน.
               นิวรณ์ ๕ เรียกว่า โอกฺกมน ในคำว่า โอกฺกมเน ปุพฺพงฺคมา นี้ด้วยอรรถว่า ดำเนินต่ำลง. อธิบายว่า ภิกษุเถระเหล่านั้นมุ่งหน้าด้วยทำนิวรณ์ ๕ ให้เต็ม.
               บทว่า ปวิเวเก นิกฺขิตฺตธุรา ความว่า เป็นผู้ทอดธุระในวิเวก ๓ อย่าง.
               บทว่า น วิริยํ อารภนฺติ ความว่า ไม่ทำความเพียรทั้ง ๒ อย่าง.
               บทว่า อปฺปตฺตสฺส ปตฺติยา ความว่า เพื่อต้องการบรรลุคุณวิเศษคือฌานวิปัสสนามรรคและผลที่ตนยังไม่ได้บรรลุมาก่อน.
               สองบทนอกนี้ อนธิคตสฺส อธิคมาย อสจฺฉิกตสฺส สจฺฉิกิริยาย เป็นไวพจน์ของบท (อปฺปตฺตสฺส ปตฺติยา) นั้นเอง.
               บทว่า ปจฺฉิมา ชนตา ได้แก่ ชนผู้เป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก.
               บทว่า ทิฏฺฐานุคตึ อาปชฺชติ ความว่า เมื่อกระทำตามข้อที่อุปัชฌาย์อาจารย์กระทำแล้ว ชื่อว่าประพฤติตามอาจาระของท่านเหล่านั้นที่ตนเห็นแล้ว.
               คำที่เหลือ พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ในสูตรที่ ๔ [ข้อ ๒๙๐] มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อริยา ได้แก่ อริยสาวกบริษัท.
               บทว่า อนริยา ได้แก่ ปุถุชนบริษัท.
               บทว่า อิทํ ทุกฺขนฺติ ยถาภูตํ นปฺปชานนฺติ ความว่า เว้นตัณหา เบญจขันธ์ที่เป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่าทุกข์. ไม่รู้ทุกข์เพียงเท่านี้ตามสภาวะที่เป็นจริงว่า ทุกข์นอกจากนี้ไม่มี.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้
               ก็ในบทที่เหลือมีอธิบายว่า
               ตัณหามีในก่อนซึ่งทำทุกข์นั้นให้ตั้งขึ้น ชื่อว่าทุกขสมุทัย ความสิ้นไปอย่างเด็ดขาด คือไม่เกิดขึ้นอีกแห่งตัณหานั้นนั่นแลหรือแห่งสัจจะทั้งสองนั้น ชื่อว่าทุกขนิโรธ. อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ชื่อว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
               ในสูตรนี้ ตรัสมรรค ๔ และผล ๔ ด้วยสัจจะ ๔ ด้วยประการฉะนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕               
               ในสูตรที่ ๕ [ข้อ ๒๙๑] มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปริสกสโฏ ได้แก่ บริษัทกาก บริษัทหยากเยื่อ. อธิบายว่า บริษัทไม่มีประโยชน์.
               บทว่า ปริสมณฺโฑ ได้แก่ บริษัทผ่องใส. อธิบายว่า บริษัทผู้มีประโยชน์.
               บทว่า ฉนฺทาคตึ คจฺฉนฺติ ความว่า ลุอคติเพราะความพอใจ. อธิบายว่า ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้แหละ.
               ก็การลุอคติ ๔ เหล่านี้จะมีขึ้นในการแบ่งสิ่งของและในสถานที่วินิจฉัยอธิกรณ์.
               ใน ๒ อย่างนั้น จะกล่าวในการแบ่งสิ่งของก่อน เมื่อสิ่งของไม่เป็นที่ชอบใจถึงแก่พวกภิกษุที่เป็นภาระของตน ในฐานะที่ตนต้องเลี้ยงดู เปลี่ยนสิ่งของนั้น ให้สิ่งของที่ชอบใจ ชื่อว่าลุฉันทาคติ. แต่เมื่อสิ่งของเป็นที่ชอบใจถึงแก่พวกภิกษุที่มิได้เป็นภาระของตน เปลี่ยนสิ่งของนั้นเสีย ให้สิ่งของไม่เป็นที่ชอบใจไป ชื่อว่าลุโทสาคติ. เมื่อไม่รู้วัตถุคือสิ่งของที่ควรจะแบ่งและหลักเกณฑ์ ชื่อว่าลุโมหาคติ. เปลี่ยนให้สิ่งของที่ชอบใจแก่คนปากจัดหรือคนอาศัยพระราชาเป็นต้น. เพราะกลัวว่า เมื่อเราให้สิ่งของไม่เป็นที่ชอบใจ คนพวกนี้จะพึงทำความพินาศให้ ชื่อว่าลุภยาคติ.
               แต่ผู้ใดไม่ดำเนินอย่างนี้ เป็นตราชูของคนทั้งปวง วางตนเป็นกลาง มีความพอดี สิ่งใดถึงแก่ผู้ใดก็ให้สิ่งนั้นแหละแก่ผู้นั้น ผู้นี้ชื่อว่าไม่ลุอคติ ๔ อย่าง.
               ส่วนในสถานวินิจฉัยอธิกรณ์ พึงทราบดังนี้.
               กล่าวครุกาบัติของภิกษุผู้เป็นภาระของตน ระบุว่าเป็นลหุกาบัติ ชื่อว่าลุฉันทาคติ. กล่าวว่า ลหุกาบัติของภิกษุพวกอื่น ระบุว่าเป็นครุกาบัติ ชื่อว่าลุโทสาคติ. ไม่รู้การออกจากอาบัติและกองอาบัติ ชื่อว่าลุโมหาคติ. กล่าวอาบัติหนักจริงๆ ของภิกษุปากจัด หรือภิกษุที่พระราชาทั้งหลายบูชา ระบุว่าเป็นอาบัติเบา เพราะกลัวว่า เมื่อเรากล่าวอาบัติ ระบุว่าเป็นอาบัติหนัก ภิกษุนี้จะพึงทำความพินาศให้ ชื่อว่าลุภยาคติ.
               แต่ผู้ใดกล่าวตามเป็นจริงทุกอย่างของคนทั้งปวง ชื่อว่าไม่ลุอคติทั้ง ๔ อย่างแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๕               

               อรรถกถาสูตรที่ ๖               
               ในสูตรที่ ๖ [ข้อ ๒๙๒] มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า โอกฺกาจิตวินีตา ได้แก่ ฝึกสอนยาก.
               บทว่า โน ปฏิปุจฺฉาวินีตา ได้แก่ ไม่เป็นผู้รับฝึกสอนโดยสอบถาม.
               บทว่า คมฺภีรา ได้แก่ ลึกโดยบาลี เช่นจุลลเวทัลลสูตร.
               บทว่า คมฺภีรตฺถา ได้แก่ ลึกโดยอรรถ เช่นมหาเวทัลลสูตร.
               บทว่า โลกุตฺตรา ได้แก่ แสดงอรรถเป็นโลกุตระ.
               บทว่า สุญฺญตปฏิสํยุตฺตา ได้แก่ ประกาศเพียงที่เป็นสุญญตธรรม ๗ เท่านั้น เช่นอสังขตสังยุต.
               บทว่า น อญฺญาจิตฺตํ อุปฏฺฐเปนฺติ ได้แก่ ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ คือหลับเสียบ้าง ส่งใจไปที่อื่นเสียบ้าง.
               บทว่า อุคฺคเหตพฺพํ ปริยาปุณิตพฺพํ ได้แก่ ที่จะพึงถือเอาด้วย ที่จะพึงเล่าเรียนด้วย.
               บทว่า กวิกตา ได้แก่ ที่กวีแต่ง.
               บทว่า กาเวยฺยา นอกนี้เป็นไวพจน์ของบทว่า กวิกตา นั้นเอง.
               บทว่า จิตฺตกฺขรา แปลว่า มีอักษรวิจิตร.
               บทว่า จิตฺตพฺยญฺชนา นอกนี้ เป็นไวพจน์ของบทว่า จิตฺตกฺขรา นั้นเหมือนกัน.
               บทว่า พาหิรกา ได้แก่ เป็นสุตตันตะนอกพระศาสนา.
               บทว่า สาวกภาสิตา ได้แก่ ที่พวกสาวกของพาหิรกศาสดาเหล่านั้นกล่าวไว้.
               บทว่า สุสฺสูสนฺติ ความว่า มีใจแช่มชื่นตั้งใจฟังอย่างดี เพราะมีอักษรวิจิตร และสมบูรณ์ด้วยบท.
               บทว่า น เจว อญฺญมญฺญํ ปฏิปุจฺฉนฺติ ความว่า มิได้ถามเนื้อความ อนุสนธิ หรือเบื้องต้นเบื้องปลายกันและกัน.
               บทว่า น ปฏิวิจรนฺติ ความว่า มิได้เที่ยวไปไต่ถาม.
               บทว่า อิทํ กถํ ความว่า พยัญชนะนี้ พึงเข้าใจอย่างไร คือพึงเข้าใจว่าอย่างไร.
               บทว่า อิมสฺส กฺวตฺโถ ความว่า ภาษิตนี้มีเนื้อความอย่างไร มีอนุสนธิอย่างไร มีเบื้องต้นและเบื้องปลายอย่างไร.
               บทว่า อวิวฏํ ได้แก่ ที่ยังปกปิด.
               บทว่า น วิวรนฺติ ได้แก่ ไม่เปิดเผย.
               บทว่า อนุตฺตานีกตํ ได้แก่ ที่ไม่ปรากฏ.
               บทว่า น อุตฺตานีกโรนฺติ ความว่า มิได้ทำให้ปรากฏ.
               บทว่า กงฺขาฏฺฐานีเยสุ ได้แก่ อันเป็นเหตุแห่งความสงสัย.
               ฝ่ายขาวก็พึงทราบตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๖               

               อรรถกถาสูตรที่ ๗               
               ในสูตรที่ ๗ [ข้อ ๒๙๓] มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อามิสครุ ได้แก่ หนักในปัจจัย ๔ คือเป็นบริษัทที่ถือโลกุตรธรรมเป็นของทรามดำรงอยู่.
               บทว่า สทฺธมฺมครุ ได้แก่ เป็นบริษัทที่ยกโลกุตรธรรม ๙ เป็นที่เคารพ ถือปัจจัย ๔ เป็นของทราม ดำรงอยู่.
               บทว่า อุภโตภาควิมุตฺโต ความว่า เป็นผู้หลุดพ้นโดยส่วนทั้งสอง.
               บทว่า ปญฺญาวิมุตฺโต ได้แก่ เป็นผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา คือเป็นพระขีณาสพประเภทสุกขวิปัสสก.
               บทว่า กายสกฺขี ได้แก่ เป็นผู้ถูกต้องฌานด้วยนามกาย ภายหลังทำนิโรธคือนิพพานให้แจ้งดำรงอยู่.
               บทว่า ทิฏฺฐิปฺปตฺโต แปลว่า เป็นผู้ถึงที่สุดแห่งความเห็น. ทั้ง ๒ พวกเหล่านี้ย่อมได้ในฐานะ ๔.
               บทว่า สทฺธาวิมุตฺโต ได้แก่ ชื่อว่าสัทธาวิมุตติ เพราะเชื่อจนหลุดพ้น. แม้พวกนี้ก็ย่อมได้ในฐานะ ๖. ชื่อว่าธัมมานุสารี เพราะตามระลึกถึงธรรม. ชื่อว่าสัทธานุสารี เพราะตามระลึกถึงศรัทธา. แม้ ๒ พวกเหล่านี้ก็เป็นผู้พร้อมเพรียงกันด้วยปฐมมรรค.
               บทว่า กลฺยาณธมฺโม แปลว่า เป็นผู้มีธรรมงาม.
               บทว่า ทุสฺสีโล ปาปธมฺโม แปลว่า เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก เพราะเหตุไรจึงถือข้อนี้. เพราะพวกเขาสำคัญว่า เมื่อคนมีศีลทั้งหมดเสมือนคนเดียวกัน ความเคารพอย่างมีกำลัง ในคนผู้มีศีล ก็จะไม่มี แต่เมื่อมีบางพวกเป็นคนทุศีล ความเคารพมีกำลัง จึงมีเหนือพวกคนมีศีล จึงถืออย่างนี้.
               บทว่า เต เตเนว ลาภํ ลภนฺติ ความว่า ภิกษุเหล่านั้นกล่าวสรรเสริญภิกษุบางพวก ติภิกษุบางพวก ย่อมได้ปัจจัย ๔.
               บทว่า คธิตา ได้แก่ เป็นผู้ละโมบเพราะตัณหา.
               บทว่า มุจฺฉิตา ได้แก่ เป็นผู้สยบเพราะอำนาจตัณหา.
               บทว่า อชฺโฌสนฺนา ได้แก่ เป็นผู้อันความอยากท่วมทับกลืนกินสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว.
               บทว่า อนาทีนวทสฺสาวิโน ได้แก่ ไม่เห็นโทษในการบริโภคโดยไม่พิจารณา.
               บทว่า อนิสฺสรณปญฺญา ได้แก่ เว้นจากปัญญาเครื่องสลัดออก ที่ฉุดคร่าฉันทราคะในปัจจัย ๔ คือไม่รู้ว่าเนื้อความนี้เป็นอย่างนี้.
               บทว่า ปริภุญฺชนฺติ ได้แก่ เป็นผู้มีฉันทราคะบริโภค.
               ในบทว่า อุภโตภาควิมุตฺโต เป็นต้นในธรรมฝ่ายขาว มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               พระอริยบุคคล ๗ จำพวก มีอธิบายสังเขปดังนี้.
               ภิกษุรูปหนึ่งยึดมั่นทางปัญญาธุระ ทำสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด บรรลุโสดาปัตติมรรค เธอย่อมชื่อว่าธัมมานุสารี ในขณะนั้น ชื่อว่ากายสักขี ในฐานะ ๖ มีโสดาปัตติผลเป็นต้น. ชื่อว่าอุภโตภาควิมุต ในขณะบรรลุอรหัตผล.
               อธิบายว่า เป็นผู้หลุดพ้น ๒ ครั้ง หรือหลุดพ้นทั้ง ๒ ส่วน คือโดยวิขัมภนวิมุตติด้วยสมาบัติทั้งหลาย โดยสมุจเฉทวิมุตติด้วยมรรค. อีกรูปหนึ่งยึดมั่นทางปัญญาธุระ ไม่อาจจะทำสมาบัติให้บังเกิดได้ เป็นสุกขวิปัสสกเท่านั้น บรรลุโสดาปัตติมรรค เธอย่อมชื่อว่าธัมมานุสารี ในขณะนั้น ชื่อว่าทิฏฐิปัตตะ ถึงที่สุดแห่งความเห็น ในฐานะ ๖ มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ชื่อว่าปัญญาวิมุตติ ในขณะบรรลุอรหัตผล.
               อีกรูปหนึ่งยึดมั่นทางสัทธาธุระ ทำสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดแล้วบรรลุโสดาปัตติผล เธอย่อมชื่อว่าสัทธานุสารี ในขณะนั้น ชื่อว่ากายสักขี ในฐานะ ๖ มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ชื่อว่าอุภโตภาควิมุต ในขณะบรรลุอรหัตผล.
               อีกรูปหนึ่งยึดมั่นทางสัทธาธุระ ไม่อาจจะทำสมาบัติให้บังเกิดได้ เป็นสุกขวิปัสสกเท่านั้น บรรลุโสดาปัตติมรรค เธอย่อมชื่อว่าสัทธานุสารี ในขณะนั้น ชื่อว่าสัทธาวิมุต ในฐานะ ๖ มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ชื่อว่าปัญญาวิมุต ในขณะบรรลุอรหัตผล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๗               

               อรรถกถาสูตรที่ ๘               
               ในสูตรที่ ๘ [ข้อ ๒๙๔] มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า วิสมา ได้แก่ ชื่อว่าไม่เรียบร้อย เพราะอรรถว่าพลั้งพลาด
               บทว่า สมา ได้แก่ ชื่อว่าเรียบร้อย เพราะอรรถว่าไม่พลั้งพลาด.
               บทว่า อธมฺมกมฺมานิ ได้แก่ กรรมนอกธรรม.
               บทว่า อวินยกมฺมานิ ได้แก่ กรรมนอกวินัย.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๘               

               อรรถกถาสูตรที่ ๙               
               ในสูตรที่ ๙ [ข้อ ๒๙๕] มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อธมฺมิกา แปลว่า ปราศจากธรรม.
               บทว่า ธมฺมิกา แปลว่า ประกอบด้วยธรรม.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               ในสูตรที่ ๑๐ [ข้อ ๒๙๖] มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อธิกรณํ ได้แก่ อธิกรณ์ ๔ อย่างมีวิวาทาธิกรณ์เป็นต้น.
               บทว่า อาทิยนฺติ แปลว่า ถือเอา.
               บทว่า สญฺญาเปนฺติ แปลว่า ให้รู้กัน.
               บทว่า น จ สญฺญตฺตึ อุปคจฺฉนฺติ ความว่า ไม่ประชุมแม้เพื่อประกาศให้รู้กัน.
               บทว่า น จ นิชฺฌาเปนฺติ ได้แก่ ไม่ให้เพ่งโทษกัน.
               บทว่า น จ นิชฺฌตฺตึ อุปคจฺฉนฺติ ความว่า ไม่ประชุมเพื่อให้เพ่งโทษกันและกัน.
               บทว่า อสญฺญตฺติพลา ความว่า ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่า อสญฺญตฺติพลา เพราะมีการไม่ตกลงกันเป็นกำลัง.
               บทว่า อปฺปฏินิสฺสคฺคมนฺติโน ความว่า ภิกษุเหล่าใดมีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าอธิกรณ์ที่พวกเราถือ จักเป็นธรรมไซร้ พวกเราจักถือ ถ้าไม่เป็นธรรมไซร้พวกเราจักวางมือ ดังนี้ ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่ามีการไม่คิดกันสละคืน. แต่ภิกษุเหล่านี้ไม่คิดกันอย่างนั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่าไม่มีการคิดกันสละคืน.
               บทว่า ถามสา ปรามสา อภินิวิสฺส ความว่า ยึดมั่นโดยกำลังทิฏฐิและโดยการลูบคลำทิฏฐิ.
               บทว่า อิทเมว สจฺจํ ความว่า คำของพวกเรานี้เท่านั้น จริง.
               บทว่า โมฆมญฺญํ ความว่า คำของพวกที่เหลือเป็นโมฆะ คือเปล่า.
               ฝ่ายขาวมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               จบปริสวรรคที่ ๕               
               จบปฐมปัณณาสก์               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ปริสวรรคที่ ๕ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 277อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 287อ่านอรรถกถา 20 / 297อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1841&Z=1990
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=1186
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=1186
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :