ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 267อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 277อ่านอรรถกถา 20 / 287อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์
สมจิตตวรรคที่ ๔

               สมจิตตวรรคที่ ๔               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               สมจิตตวรรค สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อสปฺปุริสภูมึ ได้แก่ ฐานะที่ดำรงอยู่ของพวกอสัตบุรุษ. แม้ในภูมิของสัตบุรุษก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า อกตญฺญู ได้แก่ ไม่รู้บุญคุณที่ผู้อื่นกระทำแก่ตน.
               บทว่า อกตเวที ได้แก่ ไม่รู้บุญคุณที่ผู้อื่นกระทำแก่ตนโดยทำให้ปรากฏ.
               บทว่า อุปญฺญาตํ แปลว่า ยกย่อง ชมเชยสรรเสริญ.
               บทว่า ยทิทํ แปลว่า นี้ใด (หมายความว่า คือ).
               บทว่า อกตญฺญุตา อกตเวทิตา ได้แก่ ความไม่รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำ และความไม่รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำโดยทำให้ปรากฏ (ไม่ตอบแทนคุณเขา).
               บทว่า เกวลา แปลว่า ทั้งสิ้น.
               แม้ในธรรมฝ่ายขาว ก็พึงทราบเนื้อความตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า มาตุ จ ปิตุ จ ได้แก่ มารดาผู้บังเกิดเกล้า ๑ บิดาผู้บังเกิดเกล้า ๑.
               บทว่า เอเกน ภิกฺขเว อํเสน มาตรํ ปริหเรยฺย ความว่า บุตรพึงปรนนิบัติมารดาแบกไว้บนจะงอยบ่าข้างหนึ่ง.
               บทว่า เอเกน อํเสน ปิตรํ ปริหเรยฺย ความว่า บุตรพึงปรนนิบัติบิดาแบกไว้บนจะงอยบ่าข้างหนึ่ง.
               บทว่า วสฺสสตายุโก วสฺสสตาชีวี ความว่า มีอายุถึง ๑๐๐ ปี ทรงชีพอยู่ ๑๐๐ ปี. มีคำอธิบายว่า ถ้าบุตรคิดว่าจักตอบแทนคุณบิดามารดา กระวีกระวาดให้มารดานั่งบนจะงอยบ่าข้างขวา ให้บิดานั่งบนจะงอยบ่าข้างซ้าย มีอายุถึง ๑๐๐ ปี ทรงชีพแบกอยู่ ๑๐๐ ปี.
               บทว่า โส จ เนสํ อุจฺฉาทนปริมทฺทนนฺหาปนสมฺพาหเนน ความว่า บุตรนั้นแลพึงบำรุงบิดามารดาผู้นั่งอยู่บนจะงอยบ่านั่นเอง ด้วยการอบกลิ่นให้ตัวหอม เพื่อบรรเทากลิ่นเหม็น ด้วยการนวดมือเท้า เพื่อบรรเทาเมื่อยขบ เวลาหนาวให้อาบน้ำอุ่น เวลาร้อนให้อาบน้ำเย็น ด้วยการดัดคือ ดึงมือและเท้าเป็นต้น.
               บทว่า เต จ ตตฺเถว ความว่า บิดามารดาทั้งสองก็นั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่บนนั้นแหละ คือบนจะงอยบ่าทั้งสองของบุตรนั้น.
               บทว่า น เตฺวว ภิกฺขเว ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยอาการปรนนิบัติถึงเพียงนี้ จะเป็นอันบุตรนั้นได้ทำคุณหรือได้ตอบแทนคุณแก่บิดามารดาแล้ว หามิได้เลย.
               บทว่า อิสฺสราธิปจฺเจ รชฺเช พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทีเดียว.
               บทว่า อาปาทกา แปลว่า เป็นผู้ให้เติบโต เป็นผู้ดูแล. เพราะบุตรทั้งหลาย บิดามารดาทำให้เติบโตและดูแลแล้ว.
               บทว่า โปสกา ได้แก่ เป็นผู้เลี้ยงดูโดยให้มือเท้าเติบโต ให้ดื่มโลหิตในหทัย. เพราะบิดามารดาเลี้ยงบุตรอย่างดี ประคบประหงมด้วยข้าวน้ำเป็นต้น.
               บทว่า อิมสฺส โลกสฺส ทสฺเสตาโร ความว่า ถ้าในวันที่บุตรเกิด บิดามารดาจะจับเท้าบุตรเหวี่ยงไปในป่าหรือในเหว บุตรก็จะไม่ได้เห็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ในโลกนี้ แต่เพราะท่านไม่ทำอย่างนี้ ฟูมฟักเลี้ยงดู บุตรจึงเห็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ในโลกนี้ เพราะอาศัยบิดามารดา ฉะนั้น บิดามารดาจึงชื่อว่าเป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร.
               บทว่า สมาทเปติ ได้แก่ ให้เชื่อถือ.
               ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ผสมกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ.
               ภิกษุเช่นพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ พึงทราบว่าชื่อว่ายังบิดามารดาให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมเหล่านั้น.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า พราหมณ์นั้นทราบมาว่า พระสมณโคดมตรัสตอบคำที่คนถาม พระองค์ไม่ทรงเบื่อหน่ายคำถาม จำเราจักแต่งปัญหาชนิดมีเงื่อนงำ จึงบริโภคโภชนะอันประณีตแล้วปิดประตูห้อง นั่งเริ่มคิด (แต่งปัญหา).
               ลำดับนั้น พราหมณ์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ในที่นี้มีเสียงอึกทึกกึกก้อง จิตไม่สงบ เราจักให้ทำเรือนติดพื้นดิน ให้ทำเรือนติดพื้นดินแล้วเข้าไปในเรือนนั้น คิดว่า เราถูกถามอย่างนี้แล้ว จักตอบอย่างนี้ เขาผูกปัญหาข้อหนึ่ง เมื่อจะวิสัชนาปัญหาข้อหนี่ง ไม่สามารถจะเห็นคำตอบอะไรๆ สิ้นทั้งวัน. เขาคิดอยู่โดยทำนองนี้ล่วงไป ๔ เดือน. พอล่วงไป ๔ เดือน เขาจึงได้พบปัญหา ๒ เงื่อน
               เล่ากันมาว่า พราหมณ์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม ทูลถามว่า พระโคดมผู้เจริญเป็นวาทีอะไร ถ้าพระสมณโคดมกล่าวว่าเราเป็นกิริยวาที เราจักข่มพระสมณโคดมว่า พระองค์สอนให้คนทำชั่วทุกอย่าง ถ้าพระสมณโคดมกล่าวว่าเราเป็นอกิริยวาที เราจักข่มพระสมณโคดมว่า พระองค์สอนไม่ให้คนทำดี. พระสมณโคดมถูกถามปัญหา ๒ เงื่อนแล้ว จักกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เราก็จักชนะ พระสมณโคดมก็จักแพ้ด้วยอาการอย่างนี้
               เขาลุกขึ้นปรบมือออกจากเรือนติดพื้นดิน คิดว่า ผู้ถามปัญหาขนาดนี้ไม่ควรไปคนเดียว จึงให้โฆษณาทั่วเมือง แวดล้อมไปด้วยชาวเมืองทั้งสิ้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.
               บทว่า กึวาที แปลว่า มีลัทธิอะไร.
               ด้วยบทว่า กิมกฺขายติ พราหมณ์ทูลถามว่า พระองค์สอนปฏิปทาแก่สาวกอย่างไร.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พราหมณ์แต่งปัญหาอยู่ ๔ เดือน มาด้วยถือตัวว่า เราเห็นปัญหาที่ทำให้พระสมณโคดมแพ้แล้ว เมื่อจะทรงทำลายปัญหานั้นด้วยบทเดียวเท่านั้น จึงตรัสว่า กิริยวาที จาหํ พฺราหฺมณ อกิริยวาที จ ดังนี้.
               ลำดับนั้น พราหมณ์ถอนมานะของตนได้แล้ว เมื่ออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวเป็นคำต้นว่า ยถากถํ ปน ดังนี้.
               คำที่เหลือในที่นี้ง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทกฺขิเณยฺยา ความว่า ทาน ท่านเรียกว่าทักษิณา.
               ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีถามว่า บุคคลกี่เหล่าที่ควรรับทานนั้น.
               ด้วยบทว่า เสกฺโข นี้ ท่านแสดงพระเสขบุคคล ๗ จำพวก.
               แลในบทนี้ ท่านสงเคราะห์แม้ปุถุชนผู้มีศีล ด้วยพระโสดาบันนั่นแล.
               บทว่า อาหุเนยฺยา ยชมานานํ โหนฺติ ความว่า เป็นผู้ควรแก่ของที่นำมาบูชาของผู้ถวายทาน คือเป็นผู้รับทาน.
               บทว่า เขตฺตํ ได้แก่ เป็นพื้นที่ คือที่ตั้ง. อธิบายว่า เป็นที่งอกงามแห่งบุญ.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ สมจิตตวรรคที่ ๔
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 267อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 277อ่านอรรถกถา 20 / 287อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1617&Z=1840
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=706
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=706
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :