ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 14 / 28อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทหวรรค
เทวทหสูตร

               อรรถกถามัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์               
               อรรถกถาเทวทหวรรค               
               อรรถกถาเทวหสูตรที่ ๑               
               เทวทหสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :-
               พึงทราบวินิจฉัยในเทวทหสูตรนั้นดังต่อไปนี้.
               พระราชาทั้งหลาย เขาเรียกว่าเทวะ ในบทว่า เทวทหํ นาม นี้. ก็ในนิคมนั้น พวกเจ้าศากยะมีสระโบกขรณีอันเป็นมงคลน่าเลื่อมใส พรั่งพร้อมด้วยการอารักขา. สระนั้นเขาเรียกว่าเทวทหะ เพราะเป็นสระของเจ้าทั้งหลาย. อาศัยสระเทวทหะนั้น แม้นิคมนั้นก็เรียกว่าเทวทหะเหมือนกัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยนิคมนั้น ประทับอยู่ในลุมพินีวัน.
               บทว่า ทั้งหมดนั้นเพราะเหตุที่ทำไว้ในปางก่อน ความว่า เพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นปัจจัย.
               ด้วยคำนี้ทรงแสดงว่า พวกนิครนถ์ก็ปฏิเสธการเสวยกรรม และการเสวยการกระทำ ย่อมรับการเสวยวิบากอย่างเดียวเท่านั้น.
               ด้วยคำว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้ ดังนี้ ทรงกำหนดแสดงพระดำรัสที่ตรัสไม่ได้กำหนดไว้แต่ก่อน.
               บทว่า เราทั้งหลายได้มีแล้ว ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พวกนิครนถ์เหล่านั้นไม่รู้เลย ทรงประสงค์จะตรัสบอกคำสอนอันเป็นโทษล้วนๆ จึงตรัสคำนี้. เพราะชนเหล่าใดไม่รู้ว่าเราทั้งหลายได้มีมาแล้ว ชนเหล่านั้นจะรู้ว่าทำกรรมไว้แล้ว หรือไม่ได้ทำไว้แล้วได้อย่างไร. แม้ในคำถามที่สูงๆ ขึ้นไป ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เอวํ สนฺเต ในจูฬทุกขักขันธสูตร ความว่า เมื่อคำของนิครนถ์ผู้ใหญ่ เป็นสัจจริงมีอยู่. แต่ในที่นี้ความว่า เมื่อพวกท่านไม่รู้ฐานะมีประมาณเท่านี้มีอยู่.
               บทว่า น กลฺลํ แปลว่า ไม่ควร.
               บทว่า คาฬฺหูปเลปเนน แปลว่า ที่อาบยาพิษไว้มาก คืออาบด้วยยาพิษบ่อยๆ แต่ไม่ใช่เหมือนทาด้วยแป้งเปียก.
               บทว่า เอสนิยา ได้แก่ ชิ้นเครื่องมือทำแผลของศัลยแพทย์ จนชิ้นที่สุดหัว.
               บทว่า เอเสยฺย ความว่า พึงพิจารณาว่า (แผล) ลึกหรือตื้น.
               บทว่า อคทงฺคารํ ได้แก่ ผงสมอ หรือมะขามป้อมเผาไฟ.
               บทว่า โอทเหยฺย แปลว่า พึงใส่เข้าไป.
               คำว่า อโรโค เป็นต้น ตรัสไว้แล้วในมาคัณฑิยสูตรนั่นแล.
               ในคำว่า เอวเมว โข นี้ เปรียบเทียบข้ออุปมา ดังนี้
               เหมือนอย่างว่า เวลาที่นิครนถ์เหล่านี้รู้ว่า เราได้มีแล้วในปางก่อนหรือหาไม่ เราได้ทำบาปกรรมไว้หรือไม่ได้ทำ หรือเราทำบาปเห็นปานนี้ไว้แล้ว ก็เหมือนเวลาที่เวทนาในเวลาที่ลูกศรแทง ปรากฏแก่คนที่ลูกศรแทงฉะนั้น เวลาที่รู้ว่าทุกข์มีประมาณเท่านี้ของเรา ไม่มีแล้ว เมื่อทุกข์ประมาณเท่านี้ไม่มีแล้ว ทุกข์ทั้งหมดก็จักชื่อว่าตั้งอยู่ ในความบริสุทธิ์ ก็เหมือนเวลาที่เวทนาปรากฏในกาล ๔ ครั้ง มีกาลชำแหละปากแผลเป็นต้น ฉะนั้น. เวลาที่จะรู้การละอกุศลธรรม ทำกุศลธรรมให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็เหมือนเวลาที่รู้ความผาสุขในเวลาต่อมาภายหลัง ฉะนั้น. ในเรื่องนี้ ทรงแสดงข้อความ ๓ ข้อ ด้วยอุปมาข้อเดียว (และ) แสดงข้อความเรื่องเดียวด้วยอุปมา ๔ ข้อ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็พวกนิครนถ์เหล่านี้ไม่รู้ความแม้แต่ข้อเดียว จากข้อความที่กล่าวนั้น. เชื่อเรื่องนั้นทั้งหมดด้วยเพียงคำของนิครนถ์ผู้ใหญ่อย่างเดียว เหมือนคนไม่ถูกลูกศรเลย เพราะลูกศรพลาดไป ก็สำคัญว่า เราถูกศรแทงโดยเพียงคำของข้าศึกที่พูดว่า ท่านถูกลูกศรแทงแล้ว ประสบทุกข์อยู่ฉะนั้น ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข่มด้วยการเปรียบเทียบด้วยลูกศรอย่างนี้ ก็ไม่อาจโต้ตอบ ใส่วาทะเข้าในสมองของนิครนถ์ผู้ใหญ่กล่าวคำว่า ท่านนิครนถ์ ดังนี้เป็นต้น เหมือนสุนัขที่อ่อนแอลุกขึ้นไล่เนื้อให้วิ่งไปตรงหน้าเจ้าของ แล้วตนเองก็หมดแรงไล่ฉะนั้น.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงข่มนิครนถ์ศิษย์เหล่านั้นพร้อมทั้งอาจารย์ จึงตรัสว่า ธรรม ๕ ประการนี้แล ดังนี้เป็นต้น
               บทว่า ตตฺรายสฺมนฺตานํ ได้แก่ ธรรม ๕ ประการ เหล่านั้น ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย. ด้วยคำว่า กา อตีตํเส สตฺถริ สทฺธา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า จะเชื่อถืออะไรในศาสดาผู้มีวาทะอันเป็นส่วนอดีต. คือความเชื่อถือในนิครนถ์ผู้ใหญ่ในของพวกท่าน ผู้ซึ่งเชื่อวาทะอันเป็นส่วนอดีตนั้น เป็นไฉน. มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ มีผล ไม่มีผล อย่างไร.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สหธมฺมิกํ แปลว่า มีเหตุ คือมีการณ์.
               บทว่า วาทปฺปฏิหารํ ได้แก่ วาทะที่สะท้อนมา (โต้ตอบ) ด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้ ทรงแสดงวาทะที่ตัดความเชื่อของนิครนถ์เหล่านั้นว่า พวกท่านจงเอาความเชื่อออกไปให้หมด ความเชื่อนี้อ่อน.
               บทว่า อวิชฺชา อญญาณา ได้แก่ เพราะอวิชชา เพราะไม่รู้.
               บทว่า สมฺโมหา แปลว่า เพราะงมงาย.
               บทว่า วิปจฺเจถ ได้แก่ เชื่อโดยวิปริต. อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ถือเอาคลาดเคลื่อน.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺมเวทนียํ ความว่า ให้วิบากในอัตภาพนี้ทีเดียว.
               บทว่า อุปกฺกเมน แปลว่า ด้วยความพยายาม.
               บทว่า ปธาเนน แปลว่า ด้วยความเพียร.
               บทว่า สมฺปรายเวทนียํ ความว่า ให้วิบากในอัตภาพที่ ๒ หรือที่ ๓.
               บทว่า สุขเวทนียํ ความว่า กุศลกรรมที่ให้วิบากอันเป็นอิฎฐารมณ์ที่ตรงกันข้าม (อกุศลกรรม) ให้ผลเป็นทุกข์.
               บทว่า ปริปกฺกเวทนียํ ความว่า ให้ผลในอัตภาพที่สุกงอมแล้ว คือสำเร็จแล้ว.
               บทว่า ปริปกฺกเวทนียํ นี้ เป็นชื่อของกรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน.
               บทว่า อปริปกฺกเวทนียํ ได้แก่ ให้ผลในอัตภาพที่ยังไม่สุกงอม.
               บทว่า อปริปกฺกเวทนียํ นี้เป็นชื่อของกรรมที่ให้ผลในภายหน้า.
               แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ ใจความที่แปลกกันในเรื่องนี้ มีดังต่อไปนี้
               กรรมใดที่ทำไว้ในตอนปฐมวัย ให้วิบากในปฐมวัย มัชฌิมวัยหรือปัจฉิมวัย ที่กระทำไว้ในตอนมัชฌิมวัย ให้วิบากในมัชฌิมวัยหรือปัจฉิมวัย ที่ทำไว้ในตอนปัจฉิมวัย ให้วิบากในปัจฉิมวัยนั้นเลย กรรมนั้นชื่อว่าให้ผลในปัจจุบัน.
               ส่วนกรรมใดที่ให้วิบากภายใน ๗ วัน กรรมนั้นชื่อว่าให้ผลเสร็จแล้ว. กรรมที่ให้ผลเสร็จแล้วนั้น เป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล.
               ในเรื่องกรรมที่ให้ผลภายใน ๗ วัน นั้นมีเรื่องราวดังต่อไปนี้ :-

               ทิฏฐิธรรมเวทนียกรรม               
               ได้ยินว่า คนเข็ญใจชื่อปุณณะ อาศัยท่านสุมนเศรษฐีอยู่ในเมืองราชคฤห์. วันหนึ่งเขาโฆษณาการเล่นนักขัตฤกษ์ในเมือง ท่านเศรษฐีจึงกล่าวกะนายปุณณะนั้นว่า ถ้าวันนี้ เจ้าจะไถนา จะได้โค ๒ ตัวกับไถ (ใหม่) ๑ คัน เจ้าจะเล่นนักขัตฤกษ์ หรือจะไถนา. นักขัตฤกษ์จะมีประโยชน์อะไรแก่ผม ผมจักไถนา. ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงเลือกเอาโคตัวที่ต้องการเอาไปไถนา.
               เขาไปไถนา. ในวันนั้น พระสารีบุตรเถระออกจากนิโรธสมาบัติ รำพึงว่า เราจะสงเคราะห์ใคร เห็นนายปุณณะ จึงถือบาตรจีวรไปยังที่ที่เขาไถนา. นายปุณณะวางไถถวายไม้ชำระฟัน แล้วถวายน้ำบ้วนปากแก่พระเถระ. พระเถระปฏิบัติสรีระแล้ว นั่งในที่ไม่ไกลเขาซึ่งกำลังทำงาน คอยการนำภัตตาหารมา. ทันทีนั้นท่านเห็นภรรยาของเขากำลังนำอาหารมา จึงได้แสดงตน (ให้เห็น) ในระหว่างทางทันที.
               นางจึงเอาอาหารที่นำมาให้สามี ใส่ลงในบาตรของพระเถระแล้ว กลับไปปรุงอาหารใหม่ ต่อเวลาสายจึงได้ไปถึง. นายปุณณะไถนาคราวแรกแล้วนั่งลง. ฝ่ายภรรยาถืออาหารมาแล้วกล่าวว่า นายจ๋า ฉันนำอาหารมาให้ท่านแต่เช้าตรู่ แต่ในระหว่างทางฉันเห็นพระสารีบุตร จึงถวายอาหารนั้นแก่ท่าน แล้วไปหุงต้มอาหารชุดใหม่มา จึงสาย โกรธไหมนาย. นายปุณณะพูดว่า แม่มหาจำเริญ เธอทำดีแล้ว ตอนเช้าตรู่ ฉันก็ได้ถวายไม้ชำระฟันและน้ำบ้วนปากแก่พระเถระ. แม้บิณฑบาต พระเถระนี้ก็ได้ฉัน เพราะการถวายทานของเรา วันนี้เรามีส่วนแห่งสมณธรรมที่พระเถระบำเพ็ญแล้ว ดังนี้ ได้ทำจิตให้เลื่อมใส. สถานที่ที่เขาไถครั้งแรก ก็กลายเป็นทองคำ เขาบริโภคแล้วแลดูสถานที่ที่ไถไว้ เห็นโชติช่วง จึงลุกขึ้นเอาไม้เท้าเคาะดูรู้ว่าเป็นทองคำสีสุกปลั่ง คิดว่าเรายังไม่ได้ทูลพระราชาให้ทรงทราบแล้ว ไม่อาจจะใช้สอย จึงไปกราบทูลพระราชา.
               พระราชารับสั่งให้เอาเกวียนบรรทุกทองคำทั้งหมดนั้นมากองที่พระลานหลวง แล้วตรัสถามว่า ในพระนครนี้ใครมีทองประมาณเท่านี้บ้าง. และเมื่ออำมาตย์กราบทูลว่า ของใครๆ ไม่มี จึงประทานตำแหน่งเศรษฐีแก่นายปุณณะนั้น. เขาจึงมีชื่อว่า ปุณณะเศรษฐี.
               อีกเรื่องหนึ่ง ในพระนครราชคฤห์นั้นนั่นแหละ มีคนเข็ญใจคนหนึ่ง ชื่อว่ากาฬวฬิยะ ภรรยาของเขาหุงข้าวยาคูกับผักดอง. พระมหากัสสปเถระออกจากนิโรธสมาบัติแล้วรำพึงว่า เราจะทำการสงเคราะห์ใคร เห็นภรรยาของนายกาฬวฬิยะ จึงได้ไปยืนที่ประตูบ้าน นางรับบาตรใส่ข้าวยาคูทั้งหมดลงในบาตรนั้นแล้ว ถวายพระเถระ. พระเถระไปยังวิหารแล้วน้อมถวายแด่พระศาสดา. พระศาสดาทรงรับเอาแต่พอเป็นยาปนมัตต์สำหรับพระองค์. ข้าวยาคูที่เหลือเพียงพอสำหรับพระภิกษุ ๕๐๐ รูป. แม้นายกาฬวฬิยะก็ได้ตำแหน่งจูฬกเศรษฐี. พระมหากัสสปทูลถามวิบากของนายกาฬวฬิยะกะพระศาสดา. พระศาสดาตรัสว่า ในวันที่ ๗ แต่วันนี้ไป เขาจักได้ฉัตรเศรษฐี. นายกาฬวฬิยะฟังพระดำรัสนั้นแล้วไปบอกภรรยา.
               ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเลียบพระนครได้ทอดพระเนตรเห็นบุรุษนั่งอยู่บนหลาวสำหรับประหารชีวิต นอกพระนคร. บุรุษเห็นพระราชาจึงตะโกนทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้โปรดส่งอาหารที่พระองค์เสวย มาให้ข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่าจะส่งมาให้ ครั้นพวกวิเสทเตรียมพระกระยาหารตอนเย็น จึงระลึกขึ้นได้ ตรัสว่า พวกเจ้าจงหาคนที่สามารถนำอาหารนี้ไป (ให้เขา). พวกราชบุรุษเอาห่อทรัพย์พันหนึ่งเที่ยว (ป่าวร้องหาผู้สามารถ) ในพระนคร. ครั้งที่ ๓ ภรรยาของนายกาฬวฬิยะได้รับเอา (ห่อทรัพย์พันหนึ่งไป) พวกราชบุรุษได้กราบทูลเบิกตัวนางแด่พระราชา. นางปลอมตัวเป็นชาย ผูกสอดอาวุธ ๕ ประการ ถือถาดอาหารออกจากพระนครไป. ยักษ์ชื่อทีฆตาละสิงอยู่ที่ต้นตาลนอกพระนคร เห็นนางเดินไปตามโคนไม้จึงกล่าวว่า หยุด หยุด เจ้าเป็นอาหารของเรา. เราไม่ได้เป็นอาหารของท่าน เราเป็นราชทูต. จะไปไหน? ไปสำนักของบุรุษที่นั่งอยู่บนหลาวสำหรับประหารชีวิต. เจ้าสามารถนำข่าวของเราไปสักข่าวหนึ่งได้ไหม? ได้. ยักษ์กล่าวว่า เจ้าพึงบอกดังนี้ว่า นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ ผู้เป็นภริยาของทีฆตาลยักษ์คลอดบุตรเป็นชาย ที่โคนตาลต้นนี้ มีขุมทรัพย์อยู่ ๗ ขุม เจ้าจงถือเอาขุมทรัพย์นั้นไป. นางได้ไปป่าวร้องว่า นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ ผู้เป็นภริยาของทีฆตาลยักษ์ คลอดบุตรเป็นชาย.
               สุมนเทพนั่งอยู่ในยักขสมาคมได้ยินจึงกล่าวว่า มนุษย์คนหนึ่งนำข่าวอันน่ายินดีของพวกเรามาป่าวร้อง พวกท่านจงไปเรียกเขามา ได้ฟังข่าวนั้นแล้ว เลื่อมใสจึงกล่าวว่า ขุมทรัพย์ในปริมณฑลแห่งร่มเงาของต้นไม้นี้แผ่ไปถึงเราให้เจ้า. บุรุษผู้นั่งบนหลาวสำหรับประหารชีวิต บริโภคอาหารแล้ว ถึงเวลา (นางเอาผ้ามา) เช็ดหน้า ก็รู้ว่าเป็นสัมผัสของหญิง จึงกัดมวยผม นางจึงเอาดาบตัดมวยผมของตน แล้วกลับไปยังสำนักของพระราชาทันที. พระราชาตรัสว่า ภาวะที่บุรุษคนนั้นได้บริโภคอาหารแล้ว จะรู้ได้อย่างไร? นางทูลว่า รู้ได้ด้วยเครื่องหมายของมวยผม (ที่ถูกตัดไป) แล้วกราบทูลพระราชาให้ขนทรัพย์นั้นมา. พระราชาตรัสถามว่า ชื่อว่าทรัพย์มีประมาณเท่านี้ของคนอื่น มีไหม. ตอบว่า ไม่มี พระเจ้าข้า. พระราชาจึงทรงตั้งสามีของนางให้เป็นธนเศรษฐีในพระนครนั้น.
               แม้เรื่องของพระนางมัลลิกาเทวีก็ควร (นำมา) กล่าว. เรื่องตามที่เล่ามานี้เริ่มด้วย เรื่องที่เกี่ยวกับกุศลกรรม ก่อน.
               ส่วนนันทมาณพปฏิบัติผิดต่อพระอุบลวัณณาเถรี. เมื่อเขาลุกขึ้นจากเตียงแล้วออกไป แผ่นดินใหญ่ได้สูบเขาลงสู่มหานรก ณ ที่ตรงนั้นเอง.
               แม้นายโคฆาตก์ชื่อนันทะ ทำการฆ่าโคอยู่ถึง ๕๐ ปี วันหนึ่ง เขาไม่ได้เนื้อในเวลาบริโภคอาหาร จึงตัดลิ้นโคทั้งเป็นตัวหนึ่งให้ปิ้งที่ถ่านไฟแล้ว เริ่มลงมือเคี้ยวกิน.
               ทีนั้น ลิ้นของเขาขาดตรงโคนตกลงในภาชนะอาหารทันที เขาร้อง (ดังเสียงโค) ตายไปเกิดในนรก.
               แม้นันทยักษ์เหาะไปกับยักษ์ตนอื่น เห็นพระสารีบุตรเถระมีผมที่ปลงไว้ใหม่ๆ นั่งอยู่กลางแจ้ง ในเวลากลางคืน ใคร่จะตีศีรษะ จึงบอกแก่ยักษ์ที่มาด้วยกัน แม้จะถูกยักษ์นั้นห้ามปรามก็ตีจนได้ พลางร้องว่า ร้อนๆ แล้วก็จมลงในแผ่นดินตรงที่นั้นเอง เกิดในมหานรก.
               เรื่องดังกล่าวมานี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอกุศลกรรม.
               ก็กรรมที่บุคคลกระทำแล้ว ชั้นที่สุดแม้ในเวลาใกล้จะตายให้ผลในภพอื่นได้ ทั้งหมดนั้นชื่อว่ากรรมที่ให้ผลในภพต่อไป. ในเรื่องวิบากของกรรมนั้น วิบากอันใดของฌานที่ไม่เสื่อม วิบากอันนั้นท่านกล่าวว่าวิบากที่เกิดแล้ว ในที่นี้. ท่านไม่ได้วิจารณ์ไว้ว่า กรรมที่เป็นต้นเค้ามูลของวิบากนั้น ไม่ให้ผลในปัจจุบัน ไม่ให้ผลในสัมปรายภพ. ท่านไม่วิจารณ์ไว้ก็จริง แต่ถึงกระนั้นพึงทราบว่า กรรมนั้นให้ผลในสัมปรายภพแน่นอน. วิบากคือผลสมาบัติอันใดในลำดับแห่งการเกิดของปฐมมรรคเป็นต้น วิบากคือผลสมาบัติอันนั้น ท่านกล่าวว่า เป็นคุณความดีอันเกิดขึ้นแล้ว ในที่นี้. ท่านกล่าวไว้อย่างนั้นก็จริง แต่ถึงกระนั้น มรรคกรรม พึงทราบว่าให้ผลเสร็จสิ้นไปแล้ว เพราะมรรคเจตนาเท่านั้น ให้ผลเร็วกว่าเขาทั้งหมด เพราะเป็นผลในลำดับติดต่อกันไปแล.
               บทว่า พหุเวทนียํ คือ เข้าถึงสัญญภพ.
               บทว่า อปฺปเวทนียํ คือ เข้าถึงอสัญญภพ.
               บทว่า สเวทนียํ คือ กรรมที่มีผล.
               บทว่า อเวทนียํ คือ กรรมที่ไม่มีผล.
               บทว่า เอวํ สนฺเต ความว่า เมื่อกรรมที่ให้ผลในปัจจุบันเป็นต้นเหล่านี้ ไม่ได้เหตุแห่งความเป็นกรรมที่ให้ผลในสัมปรายภพเป็นต้น ด้วยความพยายามมีอยู่.
               บทว่า อผโล คือ ไร้ผล ไร้ประโยชน์ ด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ความพากเพียรในศาสนาที่ไม่เป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ไม่มีผล แล้วทรงแสดงถึงวาทะอันเป็นเครื่องตัดความเพียร (ที่ไร้ผล).
               บทว่า สหธมฺมิกา วาทานุวาทา ได้แก่ วาทะของนิครนถ์อาจารย์ วาทะของนิครนถ์ศิษย์ที่มีเหตุกล่าวไว้.
               บทว่า คารยฺหฏฺฐานํ อาคจฺฉนฺติ ได้แก่ มาถึงเหตุที่วิญญูชนทั้งหลายจะพึงติเตียน.
               ปาฐะว่า วาทานุปฺปตฺตา คารยฺหฏฺฐานา ดังนี้ก็มี. ใจความของปาฐะนั้นว่า วาทะของเหล่านิครนถ์ที่เป็นเหตุเพราะเหตุที่ผู้อื่นกล่าว ทำวาทะที่ตามมาถึงเหือดแห้งไป ย่อมมาถึงฐานะที่น่าตำหนิ มีเป็นผู้ทำกรรมชั่วเป็นต้น.
               บทว่า สงฺคติภาวเหตุ ได้แก่ เพราะเหตุแห่งศุภเคราะห์. บทว่า อภิชาติเหตุ ได้แก่ เหตุแห่งอภิชาติ ๖. บทว่า ปาปสงฺคติกา ได้แก่ ผู้มีบาปเคราะห์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงว่า ความพยายามของพวกนิครนถ์เป็นการไร้ผลอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะทรงแสดงความว่า ความพยายามและความเพียรในศาสนาอันเป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ มีผล จึงตรัสว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนทฺธภูตํ คือ อันทุกข์ไม่ครอบงำ. อัตภาพของมนุษย์ ท่านเรียกชื่อว่าอันทุกข์ไม่ทับถม. อธิบายว่า ทุกข์ย่อมไม่ทับถม คือไม่ครอบงำอัตภาพนั้น. บุคคลประกอบอัตภาพแม้นั้น ในการกระทำกิจที่ทำได้ยากมีประการต่างๆ ชื่อว่าเอาทุกข์ทับถม. ส่วนคนเหล่าใดบวชในพระศาสนาแล้ว อยู่ป่าหรืออยู่โคนไม้เป็นต้นก็ตามที คนเหล่านั้นได้ชื่อว่าไม่เอาทุกข์ทับถม เพราะว่าความเพียรในพระศาสนาอันเป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ ชื่อว่าเป็นสัมมาวายามะ ความพยายามชอบ.
               ฝ่ายพระเถระกล่าวว่า บุคคลใดเกิดในตระกูลที่ยิ่งใหญ่ พอมีอายุครบ ๗ ขวบ คนใช้ประดับตกแต่งร่างกายให้นั่งบนตักของบิดา เมื่อพระสงฆ์นั่งฉันภัตตาหารเสร็จแล้วกล่าวอนุโมทนา ครั้นท่านแสดงสมบัติทั้ง ๓ (คือมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ) แล้วประกอบอริยสัจ ๔ เขาบรรลุพระอรหัต.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ถูกบิดามารดาถามว่า จักบวชไหม. ลูกกล่าวว่า จักบวช. บิดามารดาจึงให้อาบน้ำตบแต่งร่างกายนำไปยังวิหาร นั่งรับตจปัญจกกรรมฐาน เมื่อเขากำลังโกนผม ก็บรรลุพระอรหัต ในขณะที่จรดปลายมีดโกนนั่นแล ก็หรือว่า ยังเป็นผู้บวชใหม่ มีศีรษะทาน้ำมันผสมมโนศิลา วันรุ่งขึ้น ฉันภัตตาหารที่บิดามารดาส่งไปให้ นั่งอยู่ในวิหารนั่นแหละ บรรลุพระอรหัต ผู้นี้ไม่ชื่อว่าเอาทุกข์ทับถมตน.
               แต่ผู้นี้เป็นผู้ชื่อว่ามีสักการะอย่างสูง. ผู้ใดเกิดในท้องของนางทาสี ประดับประดาชั้นที่สุดแม้แต่แหวนเงิน ไล้ทาด้วยเพียงท่อนผ้าและข้าวฟ่าง ถูกนำไปโดยพูดว่า จงให้เขาบวช ได้บรรลุพระอรหัตในขณะจรดปลายมีดโกน หรือในวันรุ่งขึ้น แม้ผู้นี้ ก็ไม่ชื่อว่าเอาทุกข์ทับถมตนที่ยังไม่ถูกทับถม.
               สุขอันเกิดแต่ปัจจัย ๔ ที่เกิดจากสงฆ์ หรือคณะ ชื่อว่าสุขอันชอบธรรม.
               บทว่า อนธิมุจฺฉิโต ได้แก่ ผู้ไม่หมกมุ่นด้วยความหมกมุ่น คือตัณหา. คือไม่พึงทำความอยากได้ในสุขนั้น ด้วยความหวังว่า เราจะไม่สละสุขอันชอบธรรม.
               จริงอยู่ ภิกษุกำหนดเอาสลากภัตหรือวัสสาวาสิกภัตอันเกิดจากสงฆ์ว่า นี้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งแล้วบริโภคอยู่ในระหว่างพวกภิกษุ ในท่ามกลางสงฆ์ ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยศีล สมาธิ วิปัสสนา มรรคและผล อุปมาเหมือนดอกบัวเจริญงอกงามอยู่ในระหว่างใบฉะนั้น.
               บทว่า อิมสฺส ได้แก่ เป็นมูลแห่งขันธ์ห้าอันเป็นปัจจุบัน.
               บทว่า ทุกฺขนิทานสฺส ได้แก่ ตัณหา. จริงอยู่ ตัณหานั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ คือเบญจขันธ์.
               บทว่า สงฺขารํ ปทหโต คือ กระทำความเพียรในการประกอบกิจ.
               บทว่า วิราโค โหติ ได้แก่ ย่อมมีการคลายกิเลสด้วยมรรค. ท่านอธิบายว่า เราคลายเหตุแห่งทุกข์นี้ ด้วยการเริ่มตั้งความเพียร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ด้วยบทว่า เอวํ ปชานาติ นี้. ตรัสอาการที่เป็นกลางๆ แห่งความเพียรในการประกอบกิจนั้นด้วยทุติยวาร.
               ในคำว่า โส ยสฺส หิ ขฺวาสฺส นี้ มีความย่อดังต่อไปนี้.
               บุคคลใด ย่อมคลี่คลายเหตุแห่งความทุกข์ด้วยการเริ่มตั้งความเพียร บุคคลนั้นย่อมเริ่มตั้งความเพียรในเหตุแห่งทุกข์นั้น ย่อมเริ่มตั้งความเพียรด้วยความเพียรในมรรค. ส่วนบุคคลใดเจริญอุเบกขาโดยเป็นอัชฌุเบกขา ย่อมคลี่คลายเหตุแห่งทุกข์ได้ บุคคลนั้นย่อมเจริญอุเบกขา ในเหตุแห่งทุกข์นั้น ย่อมเจริญด้วยมรรคภาวนา.
               บทว่า ตสฺส ได้แก่ บุคคลนั้น.
               บทว่า ปฏิพทธฺจิตฺโต ได้แก่ มีจิตผูกพันด้วยฉันทราคะ. บทว่า ติพฺพจฺฉนฺโท ได้แก่ มีฉันทะหนา.
               บทว่า ติพฺพาเปกฺโข ได้แก่ มีความปรารถนาหนาแน่น. บทว่า สนฺติฏฺฐนตึ คือ ยืนอยู่ด้วยกัน.
               บทว่า สญฺชคฺฆนฺตึ คือ หัวเราะใหญ่. บทว่า สํหสนฺตึ คือ ทำการยิ้มแย้ม.
               ในคำว่า เอวเมว โข ภิกฺขเว นี้ จะกล่าวให้แจ่มแจ้งด้วยข้ออุปมาดังต่อไปนี้
               เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้หนึ่งมีความกำหนัดต่อหญิงผู้หนึ่ง ให้ของกิน เครื่องนุ่งห่ม พวงมาลัยและเครื่องประดับเป็นต้น แล้วอยู่ครองเรือนกัน. นางประพฤตินอกใจเขาคบหาชายอื่น.
               เขาคิดว่า เราคงไม่ให้ของขวัญอันเหมาะสมแก่นางเป็นแน่ (นางจึงมีชู้) จึงเพิ่มของขวัญให้. นางยิ่งประพฤตินอกใจหนักยิ่งขึ้น.
               เขาคิดว่า นางนี่แม้เราให้ของขวัญ ก็ยังประพฤตินอกใจอยู่นั่นแหละ ขืนอยู่ครองเรือนกันก็จะก่อกรรมทำเข็ญให้ เราจะไล่นางไปเสีย ดังนี้ จึงด่าเสียจนหนำใจ ท่ามกลางประชุมชน แล้วปล่อยไปด้วยการกล่าวห้ามว่า อย่าเข้ามาบ้านข้าอีกต่อไป.
               นางไม่อาจทำความสนิทสนมกับเขาไม่ว่าด้วยอุบายไรๆ จึงเที่ยวไปกับพวกนักฟ้อนรำเป็นต้น. เพราะได้เห็นหญิงนั้น เขาไม่เกิดความเสียใจเลย แต่กลับเกิดความดีใจ.
               พึงทราบความในข้อเปรียบเทียบนั้น.
               ความอาลัยในอัตภาพของภิกษุนี้ พึงเห็นเหมือนเวลาที่ชายเกิดกำหนัดในหญิง. เวลาที่ประคับประคองอัตภาพ พึงเหมือนเวลาที่ชายให้ของกินและเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น แล้วอยู่ครองเรือนกัน. ความที่อัตภาพอันภิกษุรักษาอยู่นั่นแหละ เกิดอาพาธด้วยโรคดีกำเริบเป็นต้น พึงเห็นเหมือนเวลาที่หญิงนั้นประพฤตินอกใจ. เวลาที่กำหนดไว้ว่า โรคเมื่อไม่ได้ยาจึงเป็นอย่างนี้ จึงประกอบยา พึงเห็นเหมือนชายกำหนดได้ว่า (หญิงนี้) ไม่ได้ของขวัญอันคู่ควรแก่ตน จึงประพฤตินอกใจ จึงเพิ่มของขวัญให้. ความที่เมื่อโรคอย่างหนึ่งมีดีกำเริบเป็นต้น ที่ภิกษุประกอบยารักษาอยู่กลับมีอาพาธด้วยโรคอย่างอื่นกำเริบขึ้น พึงเห็นเหมือนเมื่อชายเพิ่มของขวัญให้หญิงนั้น ก็ยังประพฤตินอกใจอีก. การถึงความหมดอาลัยในอัตภาพนั้นว่า เดี๋ยวนี้ เราไม่ได้เป็นทาส ไม่ได้เป็นกรรมกรของเจ้า เราเที่ยวบำรุงเจ้าถ่ายเดียว ในสังสารอันหาเบื้องต้นมิได้ เราไม่ต้องการอะไรจากเจ้า เจ้าจงขาดสูญไป หรือแตกทำลายไปก็ตามดังนี้ แล้วกระทำความเพียรให้มั่น ถอนกิเลสด้วยมรรค พึงเห็นเหมือนการที่ชายด่าหญิงเสียจนหนำใจในท่ามกลางประชุมชน แล้วฉุดคร่าออกจากเรือน.
               เพราะเห็นหญิงนั้นเที่ยวฟ้อนรำกับพวกนักฟ้อนรำเป็นต้น ความเสียใจย่อมไม่เกิดแก่ชายนั้น มีแต่ความดีใจอย่างเดียวเกิดขึ้นฉันใด
               ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรลุพระอรหัตแล้ว ความเสียใจย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะได้เห็นอัตภาพมีความป่วยไข้ด้วยโรคดีกำเริบเป็นต้น เกิดความดีใจอย่างเดียวว่า เราจักพ้นจากทุกข์อันเกิดแต่การฆ่า การจองจำและการบริหารขันธ์.
               ก็อุปมานี้พึงทราบว่า ยกมาเพื่อทำเนื้อความนี้ให้ชัดแจ้งว่า ชายย่อมละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจต่อหญิง เพราะรู้ว่าความเสียใจย่อมเกิดแก่ผู้มีจิตปฏิพันธ์ เมื่อไม่มีจิตปฏิพันธ์ ความเสียใจนั้นก็ไม่มี ดังนี้ฉันใด ภิกษุนี้รู้ว่า เมื่อเราเริ่มตั้งความเพียรหรืออบรมอุเบกขาอยู่ ย่อมละเหตุแห่งทุกข์ได้ ไม่ใช่ละได้โดยประการอื่น ดังนี้ แล้วทำการเริ่มตั้งความเพียรและอบรมอุเบกขาทั้งสองอย่างนั้นให้สมบูรณ์ ย่อมละเหตุแห่งทุกข์ (คือตัณหา) ได้ ฉันนั้น.
               บทว่า ยถาสุขํ โข เม วิหรโต ความว่า อยู่ตามความสุขที่เราต้องการจะอยู่.
               บทว่า ปทหนฺตสฺส ได้แก่ ส่งไป.
               ก็ในคำว่า ยถาสุขํ โข เม วิหรโต นี้ ภิกษุใดมีการปฏิบัติสะดวก (แต่) ไม่เป็นที่สบาย ภิกษุนั้นครองจีวรเนื้อละเอียด อยู่ในเสนาสนะอันน่าเลื่อมใส จิตย่อมฟุ้งซ่าน. ภิกษุใดมีการปฏิบัติลำบาก (แต่) เป็นที่สบาย ภิกษุนั้นครองจีวรเนื้อหยาบทั้งขาดทั้งวิ่นอยู่ป่าช้าและโคนไม้เป็นต้น จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ทรงหมายเอาภิกษุนั้น จึงตรัสคำนี้.
               ในคำว่า เอวเมว โข นี้ เทียบเคียงข้ออุปมา ดังต่อไปนี้.
               ท่านผู้ประกอบความเพียรซึ่งกลัวต่อชาติ ชราและมรณะ พึงเห็นเหมือนช่างศร จิตอันคดโกงพึงเห็นเหมือนลูกศรอันคดโค้งและงอ ความเพียรทางกายและทางจิต พึงเห็นเหมือนดุ้นฟืนสองดุ้น. ศรัทธา พึงเห็นเหมือนยางน้ำข้าวของช่างศรผู้ดัดลูกศรให้ตรง. โลกุตรมรรค พึงเห็นเหมือนท่อนไม้สำหรับดัด.
               การที่ภิกษุเอาศรัทธาชโลมจิตที่คดโกงและงอแล้วย่าง ด้วยความเพียรทางกายและทางจิต ทำให้ตรงด้วยโลกุตรมรรค พึงเห็นเหมือนช่างศรเอายางน้ำข้าวชโลมลูกศรที่คดโค้งงอแล้วย่างในฟืน แล้วดัดให้ตรงด้วยไม้สำหรับดัด. การเสวยสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติ ของภิกษุผู้ประกอบความเพียรนี้ แทงหมู่กิเลสด้วยจิตทำให้ตรงอย่างนั้น มีกำลังชั้นเยี่ยมด้วยนิโรธ (อยู่) ในเสนาสนะอันน่าเลื่อมใส พึงเห็นเหมือนช่างศรนั่นแลยิงข้าศึกด้วยลูกศรที่ดัดให้ตรงอย่างนั้นแล้วได้เสวยสมบัติในที่นี้ เพื่อจะตรัสข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้ปฏิบัติสะดวกและรู้เร็ว กับภิกษุผู้ปฏิบัติลำบากแต่รู้เร็ว ที่ยังไม่ได้ตรัส สำหรับภิกษุสองพวกนอกนี้ พระตถาคตจึงทรงเริ่มเทศนากัณฑ์นี้.
               เมื่อตรัสข้อปฏิบัติทั้งสองเหล่านี้ (คือ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา และทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา) แม้ข้อปฏิบัตินอกนี้ (คือ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา และสุขาปฏิปทาทันธาภิญญา) ก็เป็นอันตรัสไว้ด้วย.
               ส่วนอาคมนียปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่ควรบรรลุ มิได้ตรัสไว้. เพื่อตรัสอาคมนียปฏิปทานั้น จึงทรงเริ่มเทศนากัณฑ์นี้. อีกอย่างหนึ่ง ข้อปฏิบัติแม้เป็นสหาคมนียะ ข้อปฏิบัติที่ควรบรรลุพร้อมกัน ก็ตรัสไว้แล้วเหมือนกัน. แต่เพื่อทรงแสดงพุทธุปปาทกาล สมัยอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า สมัยหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้ทรงแสดงไว้ แล้วทรงแสดงว่าเราจักเปลี่ยนแปลงเทศนาว่าด้วยเนกขัมมะ การออกไป (จากกาม) แก่กุลบุตรผู้หนึ่ง ด้วยพระอรหัต ดังนี้ จึงทรงเริ่มเทศนากัณฑ์นี้.
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่งง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาเทวทหสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทหวรรค เทวทหสูตร จบ.
อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 14 / 28อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=1&Z=511
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :