ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 301อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 312อ่านอรรถกถา 12 / 329อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค
ปาสราสิสูตร อุปมากองบ่วงดักสัตว์

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               บทว่า อุฏฺเฐหิ พรหมทูลวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จจาริกแสดงธรรม.
               ในคำว่า วีร เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่าวีระ เพราะทรงมีความเพียร. ชื่อว่าผู้ชนะสงคราม เพราะทรงชำนะเทวปุตตมาร มัจจุมารและกิเลสมาร ผู้เป็นดังนายกองเกวียน เพราะเป็นผู้สามารถในอันนำหมู่เวไนยสัตว์ ให้ข้ามชาติกันดารเป็นต้น พึงทราบว่า ผู้ไม่เป็นหนี้ เพราะไม่มีหนี้ คือกามฉันท์.
               บทว่า อชฺเฌสนํ แปลว่า ทูลวอน.
               บทว่า พุทฺธจกฺขุนา ได้แก่ รู้อินทรีย์ของสัตว์อ่อนแก่ และรู้อัธยาศัยและกิเลส ก็คำว่าพุทธจักษุเป็นชื่อของญาณ ๒ เหล่านี้ สมันตจักษุเป็นชื่อของสัพพัญญุตญาณ ธรรมจักษุเป็นชื่อของมรรคญาณ ๓.
               ในคำว่า อปฺปรชกฺเข เป็นต้น กิเลสธุลีมีราคะเป็นต้นในปัญญาจักษุของสัตว์เหล่าใดมีน้อย โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าอัปปรชักขะ. สัตว์เหล่าใดมีกิเลสธุลีนั้นมาก สัตว์เหล่านั้นชื่อว่ามหารชักขะ สัตว์เหล่าใดมีอินทรีย์คือศรัทธาเป็นต้นกล้า สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าติกขินทริยะ. สัตว์เหล่าใดมีอินทรีย์เหล่านั้นอ่อน สัตว์เหล่านั้นชื่อว่ามุทินทริยะ. สัตว์เหล่าใดมีอาการคือศรัทธาเป็นต้นเหล่านั้นดี สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าสวาการะ. สัตว์เหล่าใดกำหนดรู้เหตุที่ตรัส สามารถรู้ได้ง่าย สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าสุวิญญายะ. สัตว์เหล่าใดเห็นปรโลกและโทษโดยเป็นภัย สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นภัย.
               ก็ในที่นั้นมีบาลีดังต่อไปนี้
               บุคคลผู้มีศรัทธา ชื่อว่ามีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุน้อย บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ชื่อว่าผู้มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุมาก. ผู้ปรารภความเพียร ชื่อว่าอัปปรชักขะ ผู้เกียจคร้าน ชื่อว่ามหารชักขะ. ผู้มีสติมั่นคง ชื่อว่าอัปปรชักขะ ผู้มีสติหลงลืม ชื่อว่ามหารชักขะ. ผู้มีจิตตั้งมั่น ชื่อว่าอัปปรชักขะ ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ชื่อว่ามหารชักขะ. ผู้มีปัญญา ชื่อว่าอัปปรชักขะ ผู้มีปัญญาทราม ชื่อว่ามหารชักขะ. บุคคลผู้มีศรัทธาอย่างนั้น ชื่อว่ามีอินทรีย์กล้า ฯลฯ บุคคลผู้ปัญญา ชื่อว่าผู้เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นภัย บุคคลผู้มีปัญญาทราม ชื่อว่าไม่เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นภัย.
               บทว่า โลโก ได้แก่ โลกคือขันธ์ โลกคือธาตุ โลกคืออายตนะ โลกคือสัมปัตติภพ โลกคือสัมปัตติสมภพ โลกคือวิปัตติภพ โลกคือวิปัตติสมภพ. โลก ๑ คือสัตว์ทั้งปวง ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร. โลก ๒ คือนามและรูป. โลก ๓ คือเวทนา ๓ โลก ๔ คืออาหาร ๔ โลก ๕ คืออุปาทานขันธ์ ๕ โลก ๖ คืออายตนะภายใน ๖ โลก ๗ คือวิญญาณฐิติ ๗ โลก ๘ คือโลกธรรม ๘ โลก ๙ คือสัตตาวาส ๙ โลก ๑๐ คือ อายตนะ ๑๐ โลก ๑๒ คืออายตนะ ๑๒ โลก ๑๘ คือธาตุ ๑๘.
               บทว่า วชฺชํ ความว่า กิเลสทั้งปวงจัดเป็นโทษ ทุจริตทั้งปวงจัดเป็นโทษ อภิสังขารทั้งปวงจัดเป็นโทษ กรรมอันเป็นเหตุนำสัตว์ไปสู่ภพทั้งปวงจัดเป็นโทษ ความสำคัญในโลกนี้และในโทษนี้ว่าเป็นภัยอย่างแรงกล้าปรากฏแล้ว เหมือนเพชฌฆาตเงื้อดาบ.
               พระตถาคตย่อมรู้เห็น รู้ทั่ว รู้ตลอดอินทรีย์ ๕ เหล่านี้ ด้วยอาการ ๕๐ เหล่านี้ ชื่อว่าอินทริยปโรปริยัตติญาณของพระตถาคต.
               บทว่า อุปฺปลิยํ แปลว่า ในป่าอุบล. แม้ในคำนอกนี้ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อนฺโต นิมุคฺคโปสี ได้แก่ ดอกอุบลที่อยู่ใต้น้ำที่ธรรมชาติเลี้ยงไว้.
               บทว่า อุทกํ อจฺจุคฺคมฺม ติฏฺฐนฺติ ได้แก่ โผล่น้ำตั้งอยู่.
               ในดอกอุบลเหล่านี้เหล่าใดขึ้นพ้นน้ำรออยู่ เหล่านั้นคอยรับสัมผัสแสงอาทิตย์จะบานในวันนี้ เหล่าใดตั้งอยู่เสมอน้ำ เหล่านั้นก็จะบานในวันพรุ่งนี้ เหล่าใดจมอยู่ใต้น้ำ จมอยู่ในน้ำธรรมชาติเลี้ยงไว้ เหล่านั้นก็จะบานในวันที่ ๓. ส่วนดอกอุบลที่อยู่ในสระเป็นต้น แม้เหล่าอื่นอยู่ใต้น้ำยังมีอยู่ เหล่าใดจักไม่บานเหล่านั้นก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้นท่านแสดงไว้ ยังไม่ขึ้นสู่บาลี ก็พึงแสดง.
               เหมือนอย่างว่า ดอกไม้ ๔ อย่างเหล่านั้นฉันใด
               บุคคล ๔ จำพวก คือ อุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ในบุคคล ๔ เหล่านั้น บุคคลใดตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลายกหัวข้อธรรม บุคคลนี้ท่านเรียกว่า อุคฆฏิตัญญู. บุคคลใดตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกอรรถแห่งภาษิตสังเขปได้โดยพิสดาร บุคคลนี้ท่านเรียกว่า วิปัจจิตัญญู. บุคคลใดใส่ใจโดยแยบคายทั้งโดยอุเทศทั้งโดยปริปุจฉา ซ่องเสพคบหาเข้าใกล้กัลยาณมิตร จึงตรัสรู้ธรรมบุคคลนี้ท่านเรียกว่า เนยยะ. บุคคลใดฟังมากก็ดี กล่าวมากก็ดี ทรงจำมากก็ดี สอนมากก็ดี ก็ยังไม่ตรัสรู้ธรรมในชาตินั้น บุคคลนี้ท่านเรียกว่า ปทปรมะ.
               บรรดาบุคคลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุซึ่งเป็นเสมือนดงบัวเป็นต้น ก็ได้ทรงเห็นว่าอุคฆฏิตัญญู เปรียบเหมือนดอกไม้บานในวันนี้ วิปัจจิตัญญูเปรียบดอกไม้บานในวันพรุ่งนี้ เนยยะเปรียบเหมือนดอกไม้บานในวันที่ ๓ ปทปรมะเปรียบเหมือนดอกไม้ที่เป็นภักษาของปลาและเต่า.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงเห็น ก็ทรงเห็นโดยอาการทุกอย่างอย่างนี้ว่า สัตว์มีประมาณเท่านี้มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุน้อย เหล่านี้มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุมาก บรรดาสัตว์เหล่านั้น เหล่านี้เป็นอุคฆฏิตัญญู ดังนี้เป็นต้น.
               พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมให้สำเร็จประโยชน์ในอัตตภาพนี้เท่านั้นแก่บุคคล ๓ ประเภท ในจำนวนบุคคลเหล่านั้น ปทปรมะมีวาสนาเพื่อประโยชน์ในอนาคตกาล.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระธรรมเทศนาจะนำประโยชน์มาให้แก่บุคคล ๔ ประเภท จึงทรงทำให้เกิดพระพุทธประสงค์ที่จะทรงแสดงธรรม จึงทรงจำแนกเหล่าสัตว์ใน ๓ ภพทั้งหมด อีกสองคือภัพพบุคคลและอภัพพบุคคล.
               ท่านหมายเอาสัตว์เหล่าใด จึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า เหล่าสัตว์ผู้ประกอบด้วยการห้ามกรรมห้ามวิบาก ห้ามกิเลส ไม่มีศรัทธา ตัดไม่ขาด ไม่มีปัญญา ไม่ควรก้าวลงสู่ความชอบในกุศลธรรมแน่นอน สัตว์เหล่านี้นั้นจัดเป็นอภัพพะ. เหล่าสัตว์ผู้เป็นภัพพะเหล่านั้นเป็นไฉน คือเหล่าสัตว์ผู้ไม่ประกอบด้วยการห้ามกรรมห้ามวิบาก ห้ามกิเลส ฯลฯ สัตว์เหล่านี้นั้นจัดเป็นภัพพะ.
               ในสัตว์สองประเภทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละอภัพพบุคคลทั้งหมด ทรงกำหนดถือเอาด้วยพระญาณ เฉพาะภัพพบุคคลเท่านั้น ทรงจำแนกออกเป็น ๖ ส่วน คือ เหล่านี้มีราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต ศรัทธาจริตและพุทธิจริต.
               ครั้นจำแนกอย่างนี้แล้ว ก็ทรงพระดำริจักทรงแสดงธรรมโปรด.
               บทว่า ปจฺจภาสึ แปลว่า ตรัสเฉพาะ.
               บทว่า อปารุตา แปลว่า เปิด.
               บทว่า อมตสฺส ทฺวารา ได้แก่ อริยมรรค.
               จริงอยู่ อริยมรรคนั้นเป็นประตูแห่งพระนิพพาน กล่าวคืออมตะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า อริยมรรคนั้นเราเปิดตั้งไว้แล้ว.
               บทว่า ปมุญฺจนฺตุ สทฺธํ ได้แก่ ขอสรรพสัตว์จงปล่อย จงหลั่งศรัทธาของตน. ในสองบทหลังมีความดังนี้ว่า แม้เราเข้าใจว่าจะลำบากทางกายและวาจา จึงไม่กล่าวธรรมสูงสุดอันประณีตนี้ ที่คล่องแคล่ว แม้ที่เป็นไปด้วยดีของตน แต่มาบัดนี้ ขอชนทั้งปวงจงน้อมนำภาชนะคือศรัทธาเข้ามา เราจะทำความดำริของสัตว์เหล่านั้นให้เต็ม.
               บทว่า ตสฺส มยฺหํ ภิกฺขเว เอตทโหสิ ความว่า เราได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ความวิตกอันเกี่ยวด้วยการแสดงธรรมนี้เกิดขึ้นแล้ว.
               ถามว่า ก็ความวิตกนี้เกิดขึ้นเมื่อไร.
               ตอบว่า เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าสัปดาห์ที่ ๘.
               ในข้อนั้นจะกล่าวลำดับความดังนี้
               ดังได้สดับมา ในวันมหาภิเนษกรมณ์ พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นเรือนสนมกำนัลเปิดก็สลดพระทัย จึงตรัสเรียกนายฉันนะมาสั่งว่า นำม้ากัณฐกะมาซิ มีนายฉันนะเป็นสหาย เสด็จขึ้นทรงหลังพญาม้าออกจากพระนคร ทรงแสดงเจติยสถานที่ให้ม้ากัณฐกะกลับ ทรงละราชสมบัติ ทรงผนวชใกล้ฝั่งแม่น้ำอโนมานที เสด็จจาริกไปตามลำดับเที่ยวแสวงหาอาหารในกรุงราชคฤห์
               ประทับนั่ง ณ ปัณฑวบรรพต ถูกพระเจ้าพิมพิสารตรัสถามถึงนามและโคตร ตรัสขอให้ทรงรับราชสมบัติ แต่ทูลว่า อย่าเลยมหาบพิตร อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ อาตมภาพละราชสมบัติ มาประกอบความเพียร เพื่อต้องการเกื้อกูลแก่โลก ออกบวชด้วยหมายจักเป็นพระพุทธเจ้าตัดความหมุนเวียนในโลก ทรงรับปฏิญาณของพระเจ้าพิมพิสารที่ว่า ถ้าอย่างนั้น พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว โปรดเสด็จมาแคว้นหม่อมฉันก่อนดังนี้
               แล้วเสด็จเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบสรามบุตร เมื่อไม่พบสาระแห่งธรรมเทศนาของดาบสทั้ง ๒ นั้น จึงหลีกออกไปบำเพ็ญทุกกรกิริยาถึง ๖ ปีที่อุรุเวลา เมื่อไม่อาจแทงตลอดอมตธรรม ทำพระกายให้เอิบอิ่มด้วยการเสวยอาหารหยาบๆ.
               ครั้งนั้น ธิดากุฏุมพีชื่อว่าสุชาดา ในอุรุเวลคาม ตั้งความปรารถนา ณ ต้นนิโครธต้นหนึ่งว่า ถ้าเราแต่งงานกับคนมีชาติเสมอกัน ได้บุตรชายท้องแรก จักกระทำการบวงสรวง. นางสำเร็จความปรารถนานั้นแล้ว. วันวิสาขปุรณมี นางตระเตรียมข้าวมธุปายาสอย่างดีเวลาใกล้รุ่งราตรี ด้วยหมายจะทำการบวงสรวงแต่เช้าตรู่. เมื่อกำลังหุงข้าวมธุปายาสอยู่นั้น ฟองข้าวมธุปายาสฟองใหญ่ๆ ผุดขึ้นวนเวียนไปทางขวา. แม้ส่วนที่ถูกสัมผัสอย่างหนึ่ง ก็ไม่กระเด็นออกไปข้างนอก.
               ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร. ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ถือพระขรรค์อารักขา. ท้าวสักกะรวบรวมไม้แห้ง (ฟืน) มาติดไฟ. เทวดาใน ๔ ทวีป ก็รวบรวมโอชะมาใส่ลงในมธุปายาสนั้น.
               พระโพธิสัตว์คอยเวลาภิกษาจารเสด็จไปแต่เช้าตรู่ ประทับนั่ง ณ โคนไม้. แม่นมมาเพื่อแผ้วถางโคนไม้ บอกแก่นางสุชาดาว่า เทวดามานั่งอยู่โคนไม้แล้ว. นางสุชาดาประดับเครื่องประดับทั้งปวงแล้ว บรรจงจัดข้าวมธุปายาสใส่ลงในถาดทองมีค่า ๑๐๐,๐๐๐ ปิดด้วยถาดทองอีกถาดหนึ่ง แล้วยกขึ้นเดินไป เห็นพระมหาบุรุษ จึงวางไว้ในมือพร้อมกับถาดนั่นแหละ ไหว้แล้วกล่าวว่า มโนรถของดิฉันสำเร็จแล้วฉันใด ขอมโนรถแม้ของท่านก็จงสำเร็จฉันนั้นเทอญ แล้วก็กลับไป.
               พระโพธิสัตว์เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้ววางถาดทองไว้ริมฝั่งลงสรงน้ำเสด็จขึ้นแล้ว ทรงปั้นข้าวมธุปายาสจำนวน ๔๙ ก้อน เสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ทรงเสี่ยงทายว่า ถ้าเราจะเป็นพระพุทธเจ้าวันนี้ ขอถาดจงลอยทวนกระแสน้ำ ดังนี้แล้ว ทรงเหวี่ยงถาดไป. ถาดก็ลอยทวนกระแสน้ำแล้วหยุดหน่อยหนึ่ง เข้าไปสู่ภพของท้าวกาฬนาคราช วางทับถาดของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์.
               พระมหาสัตว์ประทับพักกลางวัน ณ แนวป่า ตกเวลาเย็นทรงรับหญ้า ๘ กำที่โสตถิยพราหมณ์ถวาย แล้วเสด็จขึ้นสู่โพธิมัณฑสถาน ประทับยืน ณ ส่วนทิศใต้. ประเทศนั้นได้ไหว เหมือนหยาดน้ำในใบปทุม. พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ตรงนี้ไม่อาจทรงคุณของเราได้ ก็เสด็จไปส่วนทิศตะวันตก แม้ที่นั้นก็ไหวเหมือนอย่างนั้น. ได้เสด็จไปส่วนทิศเหนือ แม้ที่นั้นก็ไหวเหมือนกัน จึงเสด็จไปส่วนทิศตะวันออก ณ ที่นั้นฐานที่ทำเป็นบัลลังก์ไม่ไหวเลยเหมือนเสาหลักที่ปักไว้ดีแล้ว.
               พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ที่นี้เป็นสถานที่รื้อบัญชรกิเลสของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงจับยอดหญ้าเหล่านั้นเขย่า ยอดหญ้าเหล่านั้นก็ได้เป็นเหมือนช่างจิตรกรรม วาดด้วยปลายนุ่น. พระโพธิสัตว์ทรงเข้าประชิดต้นโพธิ ทรงอธิษฐานความเพียรมีองค์ ๔ ว่าจักไม่ทรงทำลายบัลลังก์นี้ แล้วประทับนั่งขัดสมาธิ.
               ทันใดนั้นเอง มารเนรมิตแขน ๑,๐๐๐ ขึ้น ช้างชื่อคิริเมขละสูง ๑๕๐ โยชน์ พาพลมาร ๙ โยชน์ มองดูครึ่งดวงตา เข้าประชิดประหนึ่งภูเขา. พระมหาสัตว์ทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า เรากำลังบำเพ็ญบารมี ๑๐ ไม่มีสมณะพราหมณ์เทวดามารหรือพรหมเป็นพยาน แต่ในอัตตภาพที่เป็นพระเวสสันดร มหาปฐพีได้เป็นพยานของเราใน ๗ ฐานะ แม้บัดนี้ มหาปฐพีที่ไม่มีใจ และอุปมาด้วยท่อนไม้ ก็เป็นสักขีพยาน.
               ทันทีนั่นเอง มหาปฐพีก็เปล่งเสียงร้อง ร้อยครั้งพันครั้ง เหมือนกังสดาลที่ถูกตีด้วยท่อนเหล็ก แล้วกลิ้งม้วนเอาพลมารไปกองไว้ที่ขอบปากจักรวาล. เมื่อดวงอาทิตย์ดำรงอยู่นั่นแล พระมหาสัตว์ก็ทรงกำจัดพลมารได้ ทรงชำระปุพเพนิวาสญาณในปฐมยาม ทิพย์จักษุญาณในมัชฌิมยาม ทรงหยั่งญาณลงในปฏิจจสมุปบาทในปัจฉิมยาม ทรงพิจารณาวัฏฏะและวิวัฏฏะ เวลารุ่งอรุณก็เป็นพระพุทธเจ้า ทรงดำริว่า เราทำความพยายามเพื่อบัลลังก์นี้มาตลอดหลายแสนโกฏิกัลป์ ดังนี้แล้ว ประทับนั่งขัดสมาธิท่าเดียวตลอดสัปดาห์.
               ต่อมาเทวดาบางเหล่าเกิดสงสัยว่า ยังมีธรรมที่ทำความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่อีกหรือ.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาบัติในวันที่ ๘ ทรงทราบความสงสัยของเหล่าเทวดา จึงเสด็จเหาะแสดงยมกปาฏิหาริย์เพื่อกำจัดความสงสัย ครั้นทรงกำจัดความสงสัยของเทวดาเหล่านั้นแล้ว ประทับยืนที่ส่วนทิศเหนือเยื้องทิศตะวันออกจากบัลลังก์หน่อยหนึ่ง ทรงสำรวจสถานที่บรรลุผลแห่งพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาตลอด ๔ อสงไขยกำไรแสนกัปป์ พระบัลลังก์และโพธิพฤกษ์ด้วยดวงพระเนตรที่ไม่กระพริบ ล่วงไปสัปดาห์หนึ่ง. สถานที่นั้นชื่อว่า อนิมมิสเจดีย์.
               ต่อมาเสด็จจงกรม ณ รตนจงกรมที่ต่อจากทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ในระหว่างพระบัลลังก์และสถานที่ประทับยืน ล่วงไปสัปดาห์หนึ่ง. สถานที่นั้นชื่อว่า รตนจงกรมเจดีย์.
               ต่อนั้น เหล่าเทวดาในส่วนทิศตะวันตก เนรมิตเรือนทำด้วยแก้วไว้. ประทับนั่งขัดสมาธิ ณ เรือนนั้น ทรงเฟ้นอภิธรรมปิฎก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมันตปัฏฐานอนันตนัยในอภิธรรมนั้น ล่วงไปสัปดาห์หนึ่ง. สถานที่นั้น ชื่อว่ารัตนฆรเจดีย์. ณ ที่ใกล้โพธิมัณฑสถานนั่นเอง ล่วงไป ๔ สัปดาห์ด้วยอาการอย่างนี้ ในสัปดาห์ที่ ๕ เสด็จออกจากโคนโพธิพฤกษ์ เสด็จเข้าไปยังอชปาลนิโครธ. ทรงเฟ้นธรรมแม้ในที่นั้น ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่. เมื่อทรงเฟ้นธรรมก็ทรงพิจารณาเพียงนัยแห่งอภิธรรมในธรรมนั้น คือคัมภีร์แรกชื่อธัมมสังคณีปกรณ์ ต่อนั้นก็วิภังคปกรณ์ ธาตุกถาปกรณ์ บุคคลบัญญัติปกรณ์ กถาวัตถุปกรณ์ ยมกปกรณ์ ต่อนั้น มหาปกรณ์ชื่อปัฏฐาน.
               เมื่อจิตของพระองค์หยั่งลงในปัฏฐานอันละเอียดสุขุมในพระอภิธรรมนั้น ปีติก็เกิดขึ้น. เมื่อปีติเกิดขึ้นพระโลหิตก็ใส เมื่อพระโลหิตใส พระฉวีก็สดใส เมื่อพระฉวีสดใส พระรัศมีขนาดเท่าเรือนยอดเป็นต้นก็ผุดขึ้นจากพระกายส่วนหน้า แล่นไปตลอดอนันตจักรวาล ทางทิศตะวันออก เหมือนโขลงพญาฉัททันต์แล่นไปในอากาศ. พระรัศมีผุดขึ้นจากพระกายส่วนพระปฤษฏางค์ ก็แล่นไปทางทิศตะวันตก ผุดขึ้นจากปลายพระอังสาเบื้องขวา ก็แล่นไปทางทิศใต้ ผุดขึ้นจากปลายพระอังสาเบื้องซ้าย แล่นไปตลอดอนันตจักรวาลทางทิศเหนือ. พระรัศมีมีวรรณะดังหน่อแก้วประพาฬก็ออกจากพื้นพระบาททะลุมหาปฐพี แหวกน้ำเป็นสองส่วน ทำลายกองลม แล่นไปตลอดอชฏากาส เกลียวพระรัศมีสีเขียว เหมือนพวงแก้วมณีหมุนเป็นเกลียวผุดขึ้นจากพระเศียร ทะลุเทวโลก ๖ ชั้น เลยพรหมโลก ๙ ชั้น แล่นไปตลอดอชฎากาส วันนั้น เหล่าสัตว์ไม่มีประมาณในจักรวาลที่หาประมาณมิได้ ก็พากันมีวรรณะดังทองไปหมด. ก็แลวันนั้น พระรัศมีเหล่านั้นที่สร้านออกจากพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ยังดำเนินไปอยู่ตลอดอนันตโลกธาตุ แม้กระทั่งทุกวันนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นประทับนั่ง ณ อชปาลนิโครธ ล่วงไปสัปดาห์หนึ่งด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ต่อแต่นั้น ก็ประทับนั่ง ณ มุจจลินท์ อีกสัปดาห์หนึ่ง. พอพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นประทับนั่งเท่านั้น มหาเมฆซึ่งมิใช่ฤดูกาล ก็เกิดตกทำให้ห้องสกลจักรวาลเต็มเปี่ยมไป.
               เล่าว่า มหาเมฆเช่นนั้นตกในกาลทั้งสองเท่านั้น คือเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระพุทธเจ้าอุบัติ มหาเมฆนั้นเกิดในพุทธกาลนี้.
               ก็เมื่อมหาเมฆนั้นเกิดขึ้นแล้ว พญานาค ชื่อมุจจลินท์ ก็ดำริว่า เมฆนี้เกิดขึ้นเมื่อพระศาสดาเสด็จเข้ามายังภพเรา พระองค์ควรจะได้อาคารบังฝน. พญานาคนั้นยังดำริว่า ถึงจะสามารถเนรมิตปราสาทเป็นรัตนะ ๗ ประการ เมื่อทำอย่างนั้นแล้ว ก็จักไม่มีผลใหญ่ จำเราจักทำความขวนขวายด้วยการถวายแด่พระทศพล แล้วจึงขยายอัตตภาพให้ใหญ่ เอาขนดล้อมรอบพระศาสดาไว้ ๗ ชั้น กั้นพังพานไว้ข้างบน. โอกาสภายในขนด เบื้องล่างมีขนาดเท่าโลหะปราสาท.
               พญานาคมีอัธยาศัยน้อมไปว่า พระศาสดาจักประทับอยู่ตามอิริยาบถที่ทรงต้องการ. เพราะฉะนั้นจึงล้อมโอกาสที่ใหญ่ไว้อย่างนี้. ตกแต่งรัตนบัลลังก์ไว้ตรงกลาง มีเพดานผ้ามีพวงของหอม พวงดอกไม้พรั่งพร้อมวิจิตรด้วยดาวทองอยู่เบื้องบน. ประทีปน้ำมันหอมสว่างทั้ง ๔ มุม ตั้งกล่องจันทน์เปิดไว้ ๔ ทิศ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ มุจจลินท์นั้นล่วงไปสัปดาห์หนึ่งด้วยอาการอย่างนั้น ต่อแต่นั้น ประทับนั่ง ณ ราชายตนพฤกษ์อีกสัปดาห์หนึ่ง. สัปดาห์ที่ ๘ ต่อจากราชายตนพฤกษ์ ทรงเคี้ยวไม้สีฟันและสมอยาที่ท้าวสักกะจอมเทพนำมาถวาย ทรงบ้วนพระโอฐแล้ว เมื่อท้าวจตุโลกบาลน้อมบาตรศิลามีค่าพิเศษถวาย ก็เสวยบิณฑบาตของตปุสสะและภัลลิกะสองพาณิชแล้วเสด็จกลับมาประทับนั่ง ณ อชปาลนิโครธอีก ทรงเกิดปริวิตกนี้ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ทรงเคยปริวิตกกันมาแล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺฑิโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต.
               บทว่า พยตฺโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความฉลาด.
               บทว่า เมธาวี ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยปัญญาขั้นมูลฐาน.
               บทว่า อปฺปรชกฺชชาติโก คือ สัตว์บริสุทธิ์หมดกิเลส เหตุข่มไว้ได้ด้วยสมาบัติ.
               บทว่า อาชานิสฺสติ คือ กำหนดรู้ แทงตลอด.
               บทว่า ญาณญฺจ ปน เม ได้แก่ พระสัพพัญญุตญาณเกิดขึ้นแม้แก่เรา.
               นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตกลงพระทัยตามถ้อยคำที่เทวดาทูลเท่านั้น ทรงตรวจดูด้วยพระองค์เอง ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ก็ทรงทราบว่า อาฬารดาบสกาลามบุตรทำกาละ (มรณภาพ) ได้ ๗ วัน นับแต่วันนี้ บังเกิดในอากิญจัญญายตนภพแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงข้อนั้น จึงตรัสว่า ญาณญฺจ ปน เม ทสฺสนํ อุทปาทิ ดังนี้.
               บทว่า มหาชานิโย คือ ชื่อว่ามหาชานิยะ เพราะมีความเสื่อมใหญ่ เหตุเป็นผู้เสื่อมจากมรรคผล ที่พึงบรรลุระหว่าง ๗ วัน. อาฬารดาบส กาสามโคตรนั้นก็ไม่มีโสตประสาทที่จะฟังธรรมแม้ที่พระองค์เสด็จไปแสดงโปรด เพราะท่านบังเกิดในอขณะ (อสมัย เวลาที่ยังไม่ควรจะตรัสรู้) แม้บทที่จะชักมาเป็นฐานแห่งพระธรรมเทศนานี้ก็ไม่มี ด้วยเหตุนี้ จึงทรงแสดงว่า มหาชานิโย ชาโต เกิดเสื่อมใหญ่ ดังนี้.
               บทว่า อภิโทสกาลกโต คือ กระทำกาละเสียแล้วเมื่อเที่ยงคืน.
               บทว่า ญาณญฺจ ปน เม ได้แก่ พระสัพพัญญุตญาณก็เกิดขึ้นแล้วแม้แก่เรา.
               นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงตกลงพระทัยตามคำของเทวดา ทรงตรวจดูด้วยพระสัพพัญญุญาณ ก็ทรงเห็นว่า อุททกดาบส รามบุตร กระทำกาละเสียเมื่อเที่ยงคืนวานนี้ บังเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภพ. เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนี้.
               คำที่เหลือก็เหมือนนัยแรกนั่นแหละ.
               บทว่า พหุการา แปลว่า มีอุปการะมาก.
               บทว่า ปธานปหิตตฺตํ อุปฏฺฐหึสุ ความว่า เหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์บำรุงเราผู้ตั้งความมุ่งมาดเพื่อทำความเพียร ด้วยการปัดกวาดบริเวณที่อยู่ ด้วยถือบาตรจีวรติดตามไป และด้วยการให้น้ำบ้วนปากไม้สีฟันเป็นต้น.
               ก็ใครที่ชื่อปัญจวัคคีย์นั้น.
               คือพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทำนายพระสุบิน และทำนายพระลักษณะในเวลาที่พระโพธิสัตว์เกิด ตามคาถาประพันธ์ว่า
                                   ราโม ธโช ลกฺขโณ โชติมนฺตี
                                   ยญฺโญ สุโภโช สุยาโม สุทตฺโต
                                   เอเต ตทา อฏฺฐ อเหสุ พฺราหฺมณา
                                   ฉฬงฺควา มนฺต วิยากรึสุ

                         ครั้งนั้น ได้มีพราหมณ์ ๘ คนเหล่านี้
                         คือ รามะ ธชะ ลักษณะ โชติมันติ ยัญญะ
                         สุโภชะ สุยามะ สุทัตตะ ใช้ฉฬังควมนต์
                         พยากรณ์ (พระลักษณะ).

               บรรดาพราหมณ์ ๘ คนนั้น ๓ คนพยากรณ์เป็น ๒ คติว่า ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้อยู่ครองเรือน ก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ออกบวชก็จะเป็นพระพุทธเจ้า. พราหมณ์ ๕ คนพยากรณ์คติเดียวว่า ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้จะไม่ครองเรือน จะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียว.
               บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น ๓ คนแรก ถือตามบทมนต์. ส่วน ๕ คนนี้ ก้าวล่วงบทมนต์. พวกเขาจึงสละของรางวัลเต็มภาชนะที่ตนได้มาแก่เหล่าญาติ หมดความสงสัยว่า พระมหาบุรุษนี้จักไม่อยู่ครองเรือน จักเป็นพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว จึงบวชเป็นสมณะอุทิศพระโพธิสัตว์.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พวกที่บวชเป็นบุตรของพราหมณ์เหล่านี้ดังนี้ก็มี.
               คำนั้นอรรถกถาค้าน.
               เล่ากันว่า พราหมณ์ ๕ คนนั้น เวลายังหนุ่มรู้มนต์มาก เพราะฉะนั้น พราหมณ์เหล่านั้นจึงอยู่ในฐานะอาจารย์. ภายหลัง พราหมณ์เหล่านั้นคิดกันว่า พวกเราไม่อาจตัดคนที่เป็นบุตรภรรยา บวชได้ จึงบวชเสียในเวลาที่ยังเป็นหนุ่มทีเดียว ใช้สอยเสนาสนะที่น่ารื่นรมย์เที่ยวกันไป. แต่ต่อๆ มา ถามกันว่า ผู้เจริญ พระมหาบุรุษออกบวชแล้วหรือ. ผู้คนทั้งหลายกล่าวว่า พวกท่านจักพบพระมหาบุรุษได้ที่ไหน ท่านเสวยสมบัติอย่างกะเทวดา ท่ามกลางนางรำ ๓ ประเภทบนปราสาท ๓ ฤดู. พราหมณ์ทั้ง ๕ คน คิดว่า ญาณของพระมหาบุรุษยังไม่แก่กล้า แล้วพากันขวนขวายน้อยอยู่.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก พระองค์จะทรงแสดงธรรมแก่เหล่าคนที่มีอุปการะเท่านั้น ไม่ทรงแสดงธรรมแก่พวกคนที่ไม่มีอุปการะหรือ.
               ตอบว่า มิใช่ไม่ทรงแสดงธรรม ความจริง พระองค์ทรงตรวจดูอาฬารดาบสกาลามโคตรและอุททกดาบสรามบุตร โดยการสั่งสมบารมี. แต่เว้นท่านพระอัญญาโกณฑัญญะเสีย ก็ไม่มีผู้สามารถกระทำให้แจ้งธรรมได้ก่อน ในพุทธเขตนี้.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะท่านพระอัญญาโกณฑัญญะมีอุปนิสสัย ๓ อย่าง.
               เล่ากันว่า ในชาติก่อนมีพี่น้องสองคน ในเวลาทำบุญ ผู้พี่คิดจะถวายทานข้าวอย่างเลิศ ๙ ครั้ง ในฤดูข้าวฤดูหนึ่ง. เขาก็ถวายทานเมล็ดข้าวอย่างเลิศในเวลาหว่าน เวลาข้าวตั้งท้องก็ปรึกษากับผู้น้องว่า น้องเอ๋ย เวลาข้าวตั้งท้องพี่จะผ่าท้องข้าวถวายทาน. ผู้น้องบอกว่า พี่ต้องการจะทำข้าวอ่อนให้เสียหรือ.
               ผู้พี่รู้ว่า น้องไม่ยินยอม ก็แบ่งนากัน ผ่าท้องข้าวจากนาส่วนของตน คั้นน้ำนมปรุงกับเนยใสและน้ำอ้อย ถวายทาน. เวลาเป็นข้าวเม่าก็ให้ทำข้าวเม่าอย่างเลิศถวายทาน เวลาเก็บเกี่ยวก็ให้ทำข้าวที่เก็บเกี่ยวอย่างเลิศถวายทาน เวลาทำคะเน็ดก็ให้ทำข้าวคะเน็ดอย่างเลิศถวายทาน เวลาทำกำเป็นต้นก็ให้ถวายทานอันเลิศ เวลาทำกำทานอันเลิศเวลาขนข้าวเข้าลาน ทานอันเลิศเวลานวด ทานอันเลิศเวลาข้าวเข้ายุ้ง ถวายทานอันเลิศ ๙ ครั้งในฤดูข้าวฤดูหนึ่ง ดังกล่าวมานี้.
               ส่วนผู้น้องของเขา หมดฤดูข้าวแล้วจึงถวายทาน.
               ทั้งสองคนนั้น ผู้พี่ก็คือท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้น้องก็คือสุภัททปริพาชก.
               เว้นพระเถระเสียก็ไม่มีคนอื่นๆ ที่จะสามารถทำให้แจ้งธรรมได้ก่อนเพราะท่านถวายทานอันเลิศ ๙ ครั้งในฤดูข้าวฤดูเดียว.
               ก็คำว่า พหุการา โข เม ปญฺจวคฺคิยา นี้ ตรัสโดยเพียงทรงระลึกถึงอุปการะเท่านั้น.
               บทว่า อิสิปตเน มิคทาเย ความว่า นัยว่า ณ ประเทศที่นั้น เมื่อยังไม่เกิดพุทธุปบาทกาล พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ยับยั้งอยู่ด้วยนิโรธสมาบัติตลอดสัปดาห์ ณ คันธมาทนบรรพต ออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว เคี้ยวไม้ชำระฟันชื่อนาคลดา บ้วนปากที่สระอโนดาดถือบาตรจีวรเหาะไปแล้ว ลงห่มจีวรในที่นั้นแล้วเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนคร ฉันเสร็จแล้วถึงเวลาก็เหาะจากที่นั้นไป. ดังนั้นฤษีทั้งหลายลงและเข้าไปในที่นั้น เหตุนั้น ที่นั้นจึงนับว่า อิสิปตน. ส่วนที่เรียกว่า มิคทายะ เพราะให้อภัยแก่เนื้อทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า อิสิปตเน มิคทาเย.
               บทว่า อนฺตรา จ คยํ อนุตรา จ โพธึ ได้แก่ ในสถานระหว่าง ๓ คาวุต ในช่วงของตำบลคยาและโพธิพฤกษ์. ตั้งแต่โพธิมัณฑสถานถึงตำบลคยา ๓ คาวุต กรุงพาราณสี ๑๘ โยชน์.
               อุปกาชีวกได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าระหว่างโพธิสถานและตำบลคยา. แต่เพราะประกอบด้วยอันตราศัพท์ ท่านจึงทำเป็นทุติยาวิภัติ. แต่ในที่นี้นักอักษรศาสตร์ประกอบอันตราศัพท์อย่างเดียวเท่านั้นว่า อนฺตรา คามญฺจ นทิญฺจ ยาติ ไประหว่างบ้านและแม่น้ำ อันตราศัพท์นั้นก็ประกอบแม้ด้วยบทที่ ๒ เมื่อไม่ประกอบ ก็ไม่ถึงทุติยาวิภัติ แต่ในที่นี้ ท่านประกอบแล้วจึงได้กล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อทฺธานมคฺคปฏิปนฺนํ ความว่า เดินทางที่นับว่าไกล. อธิบายว่า เดินทางยาว.
               จริงอยู่ สมัยที่เดินทางไกลแม้กึ่งโยชน์ ก็ชื่อว่าทางไกล เพราะพระบาลีในวิภังค์เป็นต้นว่า พึงฉันเสียด้วยคิดจะเดินทางกึ่งโยชน์. ตั้งแต่โพธิมัณฑสถานถึงตำบลคยา ทาง ๓ คาวุต.
               บทว่า สพฺพาภิภู ได้แก่ ครอบงำทางที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมดตั้งอยู่.
               บทว่า สพฺพวิทู ความว่า ได้รู้ ได้แก่ตรัสรู้ทั่วถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ ทั้งหมด.
               บทว่า สพฺเพสุ ธมฺเมสุ อนูปลิตฺโต ได้แก่ ไม่ติดอยู่เพราะสิ้นกิเลสในธรรมอันไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด.
               บทว่า สพฺพญฺชโห ได้แก่ ละธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมดตั้งอยู่.
               บทว่า ตณฺหกฺขเย วิมุตฺโต ได้แก่ พ้นจากอารมณ์ในพระนิพพาน เป็นที่สิ้นตัณหา.
               บทว่า สยํ อภิญฺญาย ได้แก่ รู้ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ ทั้งหมดด้วยตนเอง
               บทว่า กมุทฺทิเสยฺยํ ความว่า เราจะพึงยกใครอื่นว่า ผู้นี้เป็นอาจารย์ของเรา.
               บทว่า น เม อาจริโย อตฺถิ ความว่า เราไม่มีอาจารย์ในโลกุตตรธรรม.
               บทว่า นตฺถิ เม ปฏิปุคฺคโล ความว่า ไม่มีบุคคลที่จะเทียบเรา.
               บทว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ได้แก่ ตรัสรู้เองซึ่งสัจจะ ๔ โดยชอบ โดยเหตุ โดยนัยทีเดียว.
               ่บทว่า สีติภูโต ชื่อว่า เป็นผู้เย็นเพราะดับไฟคือกิเลสหมดสิ้น ชื่อว่าดับ เพราะกิเลสทั้งหลายดับไป.
               บทว่า กาสีนํ ปุรํ ได้แก่ นครในแคว้นกาสี.
               บทว่า อาหญฺญึ อมตทุนฺทุภึ ความว่า เดินทางหมายจะตีอมตเภรี เพื่อให้สัตว์ได้ดวงตาเห็นธรรม.
               บทว่า อรหสิ อนนฺตชิโน ได้แก่ ท่านควรจะเป็นอนันตชินหรือ.
               บทว่า หุเวยฺยาวุโส ความว่า อุปกาชีวกกล่าวว่า ผู้มีอายุ จะพึงมีชื่ออย่างนั้นหรือ.
               บทว่า ปกฺกามิ ได้แก่ ได้ไปยังชนบท ชื่อว่าวังกหาร.


               เรื่องอุปกาชีวก               
               ในชนบทนั้น อุปกาชีวกอาศัยหมู่บ้านพรานล่าเนื้ออยู่ หัวหน้าพรานบำรุงเขาไว้. ในชนบทนั้นมีชาวประมงดุร้าย ให้เขาอยู่ด้วยภาชนะใบเดียว. พรานล่าเนื้อจะไปล่าเนื้อในที่ไกล จึงสั่งธิดาชื่อ นาวา ว่าอย่าประมาทในพระอรหันต์ของพวกเรา แล้วไปกับเหล่าบุตรผู้เป็นพี่ๆ.
               ก็ธิดาของพรานนั้นมีรูปโฉมน่าชม สมบูรณ์ด้วยส่วนสัด.
               วันรุ่งขึ้น อุปกะมาเรือนพบหญิงรุ่นนั้น เข้ามาเลี้ยงดูทำการปรนนิบัติทุกอย่าง เกิดรักอย่างแรง ไม่อาจแม้แต่จะกิน ถือภาชนะอาหารไปที่อยู่ วางอาหารไว้ข้างหนึ่ง คิดว่า ถ้าเราได้แม่นาวา จึงจะมีชีวิต ถ้าไม่ได้ก็จะตายเสีย แล้วนอนอดอาหาร.
               วันที่ ๗ นายพรานกลับมา ถามเรื่องอุปกะกับธิดา. ธิดาบอกว่า เขามาวันเดียวเท่านั้น แล้วไม่เคยมาอีกจ๊ะ. โดยชุดที่มาจากป่านั่นแหละ. นายพรานบอกธิดาว่า พ่อจักเข้าไปถามเขาเอง แล้วไปทันที จับเท้าถามว่า ท่านเจ้าข้า ไม่สบายเป็นอะไรไป.
               อุปกะถอนใจ กลิ้งเกลือกไป.
               นายพรานกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า บอกสิ ข้าอาจทำได้ก็จักทำทุกอย่าง.
               อุปกะจึงบอกว่า ถ้าเราได้แม่นาวา ก็จะมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ได้ก็จะตายในที่นี่แหละประเสริฐกว่า.
               นายพรานถามว่า ท่านเจ้าข้า ท่านรู้ศิลปะอะไรบ้างละ.
               อุปกะตอบว่า เราไม่รู้เลย.
               นายพรานกล่าวว่า เมื่อไม่รู้ศิลปะอะไรๆ จะอยู่ครองเรือนได้หรือ. อุปกะนั้นจึงกล่าวว่า เราไม่รู้ศิลปะจริงๆ แต่เราจักเป็นคนแบกเนื้อของท่านมาขายได้นะ. นายพรานคิดว่า เขาชอบกิจการนี่ของเรา จึงให้ผ้านุ่งผืนหนึ่ง นำไปเรือนมอบธิดาให้.
               อาศัยการสมสู่ของคนทั้งสองนั้น ก็เกิดบุตรขึ้นมาคนหนึ่ง. ทั้งสองสามีภรรยาจึงตั้งชื่อบุตรว่า สุภัททะ. เวลาบุตรร้องนางจะพูดว่า เจ้าลูกคนแบกเนื้อ เจ้าลูกพรานเนื้อ อย่าร้องดังนี้เป็นต้น เย้ยหยันอุปกะ ด้วยเพลงกล่อมลูก.
               อุปกะกล่าวว่า แม่งาม เจ้าเข้าใจว่าข้าไม่มีที่พึงอยู่หรือ ข้ามีสหายคนหนึ่ง ชื่ออนันตชินะ ข้าจะไปยังสำนักเขา.
               นางนาวารู้ว่า สามีอึดอัดใจด้วยอาการอย่างนี้ จึงกล่าวบ่อยๆ.
               วันหนึ่ง อุปกะนั้นไม่บอกกล่าวก็มุ่งหน้าไปยังมัชฌิมประเทศ.
               ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ทรงสั่งภิกษุทั้งหลายไว้ก่อนว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมาถามหาอนันตชินะ พวกท่านจงชี้แจงแก่เขา.
               แม้ชีวกก็ถามเรื่อยๆ ไปว่า อนันตชินะอยู่ไหน มาถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ ยืนอยู่กลางพระวิหาร ถามว่า อนันตชินะอยู่ไหน. ภิกษุทั้งหลายก็พาเขาไปยังสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               อุปกะนั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจำข้าได้ไหม. ตรัสว่า เออ อุปกะจำได้ซิ ก็ท่านอยู่ไหนละ. ทูลว่า วังกหารชนบท เจ้าข้า. ตรัสว่า อุปกะ ท่านแก่แล้วนะ บวชได้หรือ. ทูลว่า พอจะบวชได้เจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าให้บวชประทานกรรมฐานแก่เขา. อุปกะนั้นกระทำกิจในกรรมฐาน ตั้งอยู่ในอนาคามิผล กระทำกาละแล้ว บังเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา แล้วบรรลุพระอรหัตในขณะที่เกิดนั่นเอง.
               จริงอยู่ ชน ๗ คน พอเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา ก็บรรลุพระอรหัต. ในจำนวน ๗ คนนั้น อุปกะก็เป็นคนหนึ่ง.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า
                         ภิกษุ ๗ รูปพ้นแล้ว สิ้นราคะโทสะแล้ว ข้ามกิเลส
                         ที่ซ่านไปในโลก เข้าถึงสุทธาวาสพรหมชั้นอวิหา
                         คือคน ๓ คน ได้แก่ อุปกะ ปลคัณฑะ ปุกกุสาติ ๔
                         คนคือ ภัททิยะ ขัณฑเทวะ พาหุทัตติ และปิงคิยะ
                         ทั้ง ๗ คนนั้น ละกายมนุษย์แล้ว เข้าถึงกายทิพย์.
               บทว่า สณฺฐเปสุํ ได้แก่ กระทำกติกา. บทว่า พาหุลฺลิโก ได้แก่ ปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ความมักมากในจีวรเป็นต้น.
               บทว่า ปธานวิพฺภนฺโต ได้แก่ พรากเสื่อมจากความเพียร.
               บทว่า อาวตฺโต พาหุลฺลาย ได้แก่ เวียนมาเพื่อต้องการจีวรเป็นต้นมากๆ.
               บทว่า อปิจ โข อาสนํ ฐเปตพฺพํ ความว่า ปัญจวัคคีย์กล่าวว่า พึงวางเพียงอาสนะไว้สำหรับท่านผู้เกิดในตระกูลสูง.
               บทว่า นาสกฺขึสุ ความว่า ปัญจวัคคีย์ถูกอานุภาพอำนาจของพระพุทธเจ้าครอบงำไว้ จึงตั้งอยู่ในกติกาของตนไม่ได้.
               บทว่า นาเมน จ อาวุโส วาเทน จ สมุทาจรนฺติ ความว่า เรียกว่า โคตมะ เรียกว่า อาวุโส.
               อธิบายว่า กล่าวคำเห็นปานนี้ว่า อาวุโสโคดม เวลาที่ท่านบำเพ็ญเพียร ณ อุรุเวลา พวกเราช่วยกันถือบาตรจีวรเที่ยวไป ถวายน้ำบ้วนโอษฐ์และไม้ชำระฟัน กวาดบริเวณที่อยู่ ภายหลังใครทำวัตรปฏิบัติแก่ท่าน ครั้นพวกเราหนีไปแล้ว ท่านไม่คิดบ้างหรือ.
               บทว่า อิริยาย ได้แก่ ด้วยการดำเนินไปที่ทำได้ยาก. บทว่า ปฏิปทาย ได้แก่ ด้วยการปฏิบัติที่ทำได้ยาก. บทว่า ทุกฺกรการิกาย ได้แก่ ด้วยการกระทำที่ทำได้ยาก มีทำอาหารด้วยถั่วเขียวถั่วพูฟายมือหนึ่ง หรือกึ่งฟายมือเป็นต้น.
               บทว่า อภิชานาถ เม โน ได้แก่ พวกท่านเคยรู้ถึงคำที่เรากล่าวนี้หรือ.
               บทว่า เอวรูปํ จ ภาสิตเมตํ ความว่า การเปล่งถ้อยคำเห็นปานนี้.
               อธิบายว่า ผู้มีอายุ เรามากลางคืนหรือกลางวันเพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์ท่าน อย่าวิตกไปเลยในการบำเพ็ญเพียร ณ อุรุเวลา โอภาสหรือนิมิตปรากฏแก่เราอยู่ เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวคำบางคำเห็นปานนี้. พวกใครได้สติด้วยพระดำรัสบทเดียวเท่านั้น เกิดความเคารพเชื่อว่า เอาเถิด ท่านผู้นี้เป็นพระพุทธเจ้าแน่แล้ว แล้วกล่าวว่า โน เหตํ ภนฺเต คำนั้นไม่เคยได้ฟังพระเจ้าข้า.
               บทว่า อสกฺขึ โข อนหํ ภิกฺขเว ปญฺจวคฺคิเย ภิกฺขู สญฺญาเปตุํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราสามารถทำให้ภิกษุปัญจวัคคีย์รู้ว่าเราเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์. ก็ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาในวันอุโบสถ ทรงทำให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้รู้ความที่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตรทำพระโกณฑัญญะให้เป็นกายสักขี. เวลาจบพระสูตร พระเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ. พระอาทิตย์ยังไม่ทันอัสดงคตเทศนาจบลงแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าจำพรรษาในป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั่นเอง.
               คำว่า เทฺวปิสุทํ ภิกฺขเว ภิกฺขู โอวทามิ เป็นต้น ตรัสเพื่อแสดงการไม่เสด็จเข้าบ้าน แม้เพื่อบิณฑบาต ตั้งแต่วันปาฏิบทแรมค่ำหนึ่ง. เพื่อจะทรงชำระมลทินที่เกิดขึ้นในพระกรรมฐานของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ประทับอยู่ภายในพระวิหารเท่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นได้ไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลถามถึงมลทินของพระกรรมฐานที่เกิดขึ้นๆ. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังที่ที่ภิกษุเหล่านั้นนั่ง ทรงบรรเทามลทิน.
               ลำดับนั้น บรรดาภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำภัตรออกไป อย่างนี้ โอวาทอยู่ พระวัปปเถระได้เป็นพระโสดาบันในวันปาฏิบท. แรม ๒ ค่ำพระภัททิยะ แรม ๓ ค่ำพระมหานามะ แรม ๔ ค่ำพระอัสสชิ.
               ในวันแรม ๕ ค่ำของปักษ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าให้พระปัญจวัคคีย์เหล่านั้นทั้งหมดประชุมรวมกันตรัสอนัตตลักขณสูตร. เวลาจบพระสูตร ภิกษุทั้งหมดตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อถโข ภิกฺขเว ปญฺจวคฺคิยา ภิกฺขู ฯเปฯ อนุตฺตรํ โยคกฺเขมํ นิพฺพานํ อชฺฌคมํสุ ดังนี้.
               บทว่า นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกถามรรคใดไว้ก่อน เมื่อทรงแสดงอนุสนธิเป็นอันเดียวกันดังนี้ว่า แม้พวกเธอก็ขึ้นสู่ทางของเราและของปัญจวัคคีย์ การแสวงหาของพวกเธอ ชื่อว่าอริยปริเยสนา ดังนี้ จึงทรงนำกถามรรคเพียงเท่านั้น.
               บัดนี้ ก็เพราะเหตุที่การแสวงหากามคุณ ๕ เป็นอนริยปริเยนาของคฤหัสถ์ทั้งหลาย เป็นอนริยปริเยสนา แม้ของเหล่าบรรพชิตผู้ไม่พิจารณาบริโภคปัจจัย ๔ ด้วยโดยอำนาจกามคุณ ๕ ฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงข้อนั้น จึงตรัสว่า ปญฺจิเม ภิกฺขเว กามคุณา เป็นต้น.
               ในกามคุณ ๕ เหล่านั้น กามคุณ ๔ มีรูปที่พึงรู้ด้วยจักษุเป็นต้น ย่อมได้ในปัจจัย ๔ มีบาตรและจีวรเป็นต้นที่ได้มาใหม่. ส่วนรสในกามคุณนั้น ก็คือรสในการบริโภค กามคุณแม้ทั้ง ๕ ย่อมได้ในบิณฑบาตและเภสัชที่พอใจ. กามคุณ ๔ ย่อมได้ในเสนาสนบริขารเหมือนในจีวร. ส่วนรสในเสนาสนบริขารแม้นั้น ก็คือรสในการบริโภคนั่นเอง.
               เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มว่า เย หิ เกจิ ภิกฺขเว ดังนี้.
               เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงกามคุณ ๕ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อต้องการจะปฏิเสธพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชื่อว่าอนริปริเยนา ตั้งแต่บวช จะเป็นอริยปริเยนาของบรรพชิตได้ที่ไหน จึงทรงเริ่มเทศนานี้ เพื่อแสดงว่า การบริโภคด้วยการไม่พิจารณาในปัจจัย ๔ เป็นอนริยปริเยสนาแม้ของบรรพชิต.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คธิตา ได้แก่ กำหนัดด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจตัณหา.
               บทว่า มุจฺฉิตา ได้แก่ สยบด้วยความสยบด้วยอำนาจตัณหา.
               บทว่า อชฺฌาปนฺนา ได้แก่ ถูกตัณหาครอบงำแล้ว.
               บทว่า อนาทีนวทสฺสาวิโน ได้แก่ ไม่เห็นโทษ.
               ปัจจเวกขณญาณ ท่านเรียกว่านิสสรณะ ในคำว่า อนิสฺสรณปฺปญฺญา เว้นปัจจเวกขณญาณนั้น.
               บัดนี้ เมื่อทรงแสดงอุปมาที่จะสาธกเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว เป็นอาทิ. พึงทราบข้อเปรียบเทียบในคำนั้นดังนี้.
               ความว่า สมณพราหมณ์เหมือนเนื้อในป่า ปัจจัย ๔ เหมือนบ่วงที่พรานดักไว้ในป่า เวลาที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่พิจารณาบริโภคปัจจัย ๔ เหมือนเวลาที่พรานนั้นดักบ่วงแล้วนอน เวลาที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายถูกมารกระทำตามชอบใจตกไปสู่อำนาจมาร เหมือนเวลาที่เมื่อพรานมา เนื้อไปไม่ได้ตามชอบใจ.
               อนึ่ง การพิจารณาในปัจจัย ๔ แล้วบริโภคของสมณพราหมณ์ พึงเห็นเหมือนเวลาที่เนื้อยังไม่ติดบ่วงนอนทับบ่วงเสีย การไม่ตกไปสู่อำนาจมารของสมณพราหมณ์ พึงทราบเหมือนเมื่อพรานมา เนื้อก็ไปได้ตามชอบใจ.
               บทว่า วิสฎฺโฐ ได้แก่ ปลอดความกลัว ปลอดความระแวง.
               บทที่เหลือในที่ทุกแห่งมีความง่ายทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาปาสราสิสูตร ที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค ปาสราสิสูตร อุปมากองบ่วงดักสัตว์ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 301อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 312อ่านอรรถกถา 12 / 329อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=5384&Z=5762
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=1831
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=1831
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :