ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
มูลปริยายสูตร ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง

หน้าต่างที่ ๓ / ๕.

               ปหานะ ๕               
               อนึ่ง การละองค์นั้นๆ ย่อมมีด้วยวิปัสสนาญาณนั้นๆ เพราะเป็นปฏิปักษ์ในวิปัสสนาญาณมีนามรูปปริเฉทญาณเป็นต้น ดุจการกำจัดความมืด ย่อมมีได้เพราะแสงสว่างแห่งประทีปฉะนั้น.
               คือ ละสักกายทิฏฐิ ด้วยการกำหนดนามรูป, ละทิฏฐิที่ไม่มีเหตุและมีเหตุไม่เสมอกัน ด้วยการกำหนดปัจจัย, ละความสงสัยด้วยการข้ามความสงสัย อันเป็นส่วนภายหลังแห่งการกำหนดปัจจัยนั้นนั่นเอง, ละความยึดถือว่าเราของเรา ด้วยการพิจารณากลาปะ (กลุ่ม, กอง), ละสัญญาในธรรมที่ไม่เป็นมรรคว่าเป็นมรรคด้วยการกำหนดมรรคและอมรรค, ละอุจเฉททิฏฐิด้วยการเห็นความเกิดขึ้น, ละสัสสตทิฏฐิด้วยการพิจารณาเห็นความเสื่อม, ละความสำคัญว่าไม่น่ากลัวในสิ่งที่น่ากลัวด้วยการพิจารณาเห็นภัย, ละความสำคัญว่าชอบใจ (ยินดี) ด้วยการพิจารณาเห็นโทษ, ละอภิรติสัญญา (ความสำคัญว่าน่ายินดียิ่ง) ด้วยนิพพิทานุปัสสนา, ละความเป็นผู้ไม่อยากจะหลุดพ้นด้วยญาณคือความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไป, ละการไม่เพ่งด้วยอุเบกขาญาณ, ละปฏิโลมในธรรมฐิติและในพระนิพพานด้วยอนุโลม, ละความยึดนิมิตในสังขารด้วยโคตรภู อันนี้ชื่อว่าตทังคปหานะ.
               อนึ่ง การละนีวรณธรรมเป็นต้นนั้นๆ ด้วยสมาธิแยกออกเป็นอุปจารสมาธิ เพราะห้ามความเป็นไป (แห่งนีวรณ์) ดุจการแหวกสาหร่ายบนผิวน้ำ โดยใช้หม้อแหวกฉะนั้น อันนี้ชื่อว่าวิกขัมภนปหานะ.
               ส่วนการละกองกิเลสในสันดานของตน อันนับเนื่องในสมุทัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เพื่อละทิฏฐิทั้งหลายโดยที่กองกิเลสนั้นกลับเป็นไปไม่ได้อีกอย่างเด็ดขาดแห่งพระโยคาวจรผู้ชื่อว่ามีมรรคนั้น เพราะเหตุที่เจริญอริยมรรค ๔ ได้แล้ว อันนี้ชื่อว่าสมุจเฉทปหานะ.
               อนึ่ง ข้อที่กิเลสทั้งหลายสงบระงับไปในขณะแห่งผล อันนี้ชื่อว่าปฏิปัสสัทธิปหานะ.
               พระนิพพานที่ชื่อว่าละเครื่องปรุงแต่งทั้งปวงได้ เพราะสลัดเครื่องปรุงแต่งทั้งปวงแล้ว อันนี้ชื่อว่านิสสรณปหานะ.
               อนึ่ง เพราะเหตุที่การละทั้งหมดนั้น ชื่อว่าปหานะ โดยอรรถว่าสละ. ชื่อว่าวินัย โดยอรรถว่ากำจัด ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ปหานวินัย.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะการละกิเลสนั้นด้วย เพราะทำให้เกิดมีการกำจัด (กิเลส) นั้นๆ ด้วยการละทั้งหมดนั้น ท่านเรียกว่า ปหานวินัย.
               แม้ปหานวินัย พึงทราบว่า แยกออกเป็น ๕ ประการด้วยประการฉะนี้.
               วินัยนี้โดยย่อมี ๒ และโดยแยกแยะมี ๑๐ ดังพรรณนามาฉะนี้ เพราะเหตุที่ปุถุชนผู้มิได้สดับนั้น ไม่มีวินัยทั้ง ๒ อย่างนั้น ฉะนั้น ปุถุชนนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า อวินีตะ (ผู้ไม่มีวินัย) เพราะขาดสังวร และเพราะยังละปหาตัพพธรรมไม่ได้.
               ในข้อว่า สปฺปุริสานํ อทสฺสาวี (ไม่เห็นสัตบุรุษ) สปฺปุริสธมฺมสฺส อโกวิโท (ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ) สปฺปุริสธมฺเม อวินีโต (ไม่ถูกแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ) นี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ข้อนี้ โดยความหมายไม่แตกต่างกันเลย.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               พระอริยะก็คือสัตบุรุษ สัตบุรุษก็คือพระอริยะ ธรรมของพระอริยะก็คือธรรมของสัตบุรุษ ธรรมของสัตบุรุษก็คือธรรมของพระอริยะ วินัยของพระอริยะก็คือวินัยของสัตบุรุษ วินัยของสัตบุรุษก็คือวินัยของพระอริยะ.
               ศัพท์ว่า อริเย หรือ สปฺปุริเส ก็ดี อริยธมฺเม หรือ สปฺปุริสธมฺเม ก็ดี อริยวินเย หรือ สปฺปุริสวิเย ก็ดี (ทั้งหมด) นั้นเป็นอันเดียวกัน มีเนื้อความอย่างเดียวกัน เสมอกัน มีค่าเท่ากัน กำเนิดเดียวกันทั้งนั้น.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจักแสดงสัพพธัมมมูลปริยายสูตรแก่พวกเธอ แต่ไม่ทรงแสดงสูตรนั้น กลับทรงชี้แสดงถึงปุถุชนอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ไม่ได้สดับ ไม่เห็นพระอริยะทั้งหลาย ดังนี้.
               ตอบว่า เพื่อจะทำให้แจ้งซึ่งเนื้อความนั้นโดยธรรมเทศนาอันเป็นบุคคลาธิษฐาน ดังนี้.

               เทศนา ๔               
               จริงอยู่ การเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันดับแรกมี ๔ ประการด้วยอำนาจธรรมและบุคคลนั่นแล คือธรรมเทศนาที่ยกพระธรรมเป็นที่ตั้ง (ธัมมาธิษฐาน), บุคคลเทศนาที่ยกพระธรรมเป็นที่ตั้ง (ธัมมาธิษฐาน), บุคคลเทศนาที่ยกบุคคลเป็นที่ตั้ง (บุคคลาธิษฐาน) และพระธรรมเทศนายกบุคคลเป็นที่ตั้ง (บุคคลาธิษฐาน).
               บรรดาเทศนา ๔ ประการนั้น เทศนาแบบนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้, เวทนา ๓ อะไรบ้าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวทนาทั้ง ๓ เหล่านี้แล.
               พึงทราบว่า ชื่อว่าธรรมเทศนาที่เป็นธัมมาธิษฐาน.
               เทศนาแบบนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษนี้มีธาตุ ๖ มีผัสสายตนะ ๖ มีมโนปวิจาร ๑๘ มีอธิษฐานธรรม ๔
               พึงทราบว่า ชื่อว่าบุคคลเทศนาที่เป็นธัมมาธิษฐาน.
               เทศนาแบบนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษบุคคล ๓ พวกเหล่านี้ มีอยู่ในโลก ๓ จำพวกเหล่าไหนบ้าง? คือบอด, มีจักษุข้างเดียว และจักษุ ๒ ข้าง ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลบอดเป็นไฉน?
               พึงทราบว่า ชื่อว่าบุคคลเทศนาที่เป็นบุคคลาธิษฐาน.
               เทศนาแบบนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภัยในทุคติเป็นไฉน?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า กายทุจริต แลมีวิบากอันลามก อภิสัมปรายภพ ฯลฯ ย่อมบริหารตนอันสะอาด
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภัยในทุคติ.
               พึงทราบว่า ชื่อว่าธรรมเทศนาที่เป็นบุคคลาธิษฐาน.
               พึงทราบอรรถาธิบายว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านี้นั้นเพื่อจะทรงแสดงปุถุชน ขยายเนื้อความแห่งเทศนาที่เป็นบุคคลาธิษฐานให้ชัด จึงทรงแสดงชี้ถึงปุถุชนอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้มิได้สดับ มิได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย เพราะเหตุที่ปุถุชนมิได้กำหนดรู้ขันธ์ และความสำคัญที่เป็นมูลรากของธรรมทั้งปวงที่ทรงประสงค์เอาในที่นี้ ก็มีความไม่กำหนดรู้เป็นมูลราก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงปุถุชนอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความสำคัญในวัตถุทั้งหลายมีปฐวี (แผ่นดิน) เป็นต้น อันให้เกิดธรรมที่นับเนื่องในสักกายทิฏฐิทั้งหมดของปุถุชนนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ปฐวึ ปฐวิโต ดังนี้.

               ปฐวี ๔ อย่าง               
               ในคำว่า ปฐวึ ปฐวิโต นั้นพึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               ปฐวีมี ๔ อย่าง คือ ลักขณปฐวี ๑ สสัมภารปฐวี ๑ อารัมมณปฐวี ๑ และสัมมติปฐวี ๑.
               ในปฐวี ๔ อย่างนั้น ปฐวีธาตุที่ท่านกล่าวไว้ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ก็ปฐวีธาตุภายในเป็นไฉน? ได้แก่สิ่งที่แข้นแข็ง (เป็นลักษณะ) เฉพาะตนอยู่ในตัวมันเอง ชื่อว่าลักขณปฐวี.
               ปฐวีธาตุที่ท่านกล่าวไว้ในประโยคเป็นต้นว่า ภิกษุขุดเองก็ดี ให้คนอื่นขุดก็ดีซึ่งแผ่นดิน ดังนี้ ชื่อว่าสสัมภารปฐวี. อนึ่ง ปฐวีธาตุ คือโกฏฐาสะ (ส่วน) ๒๐ มีผมเป็นต้น และวัตถุภายนอกมีเหล็กและโลหะเป็นต้น พร้อมทั้งคุณสมบัติมีสีเป็นต้น รวมเรียกว่าสสัมภารปฐวี.
               ส่วนปฐวีธาตุ มาในประโยคเป็นต้นว่า คนหนึ่งรู้ชัดปฐวีกสิณ เรียกว่าอารัมมณปฐวี. บางท่านเรียกว่านิมิตตปฐวี.
               ปฐวีธาตุที่ว่า บุคคลได้ฌานมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ เกิดในเทวโลก ย่อมได้นามว่า ปฐวีเทวดา ด้วยอำนาจปฐวีกสิณเป็นเหตุให้มา (เกิด) นี้ พึงทราบว่า สัมมติปฐวี.
               ในอธิการนี้ ย่อมได้ปฐวีแม้ทั้งหมดนั้น. ปุถุชนนี้ย่อมหมายรู้ปฐวีอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาปฐวีเหล่านั้นโดยเป็นปฐวี ย่อมหมายรู้ว่าเป็นปฐวี ย่อมรู้โดยส่วนแห่งปฐวี ครั้นถือเอาตามโวหารโลกแล้ว ย่อมหมายเอาด้วยสัญญาวิปัลลาสว่า เป็นปฐวี เมื่อปล่อยวางส่วนแห่งปฐวีไม่ได้อย่างนี้แหละ ย่อมหมายรู้เอาส่วนแห่งปฐวีนั่นโดยนัยเป็นต้นว่า สัตว์หรือว่าของสัตว์. เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ควรกล่าวไว้ว่า เอวํ สญฺชานาติ เพราะว่าปุถุชนเป็นเหมือนคนบ้า เขาย่อมยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง เหตุอันต่างด้วยความเป็นผู้ไม่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นต้นนั่นแหละ จัดเป็นตัวการในการกำหนดหมายนี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสว่า อปริญฺญาตํ ตสฺส ข้างหน้าก็เป็นอันตรัสไว้แล้ว.
               บทว่า ปฐวึ ปฐวิโต สญฺญตฺวา ความว่า ปุถุชนนั้นกำหนดหมายแผ่นดินนั้นด้วยสัญญาที่วิปริตอย่างนี้แล้ว ต่อมาย่อมสำคัญ คือกำหนดให้ต่างออกไป ได้แก่ยึดถือโดยประการต่างๆ คือโดยประการอื่นด้วยกิเลสเครื่องเนิ่นช้า คือตัณหามานะและทิฏฐิที่มีกำลัง ซึ่งท่านกล่าวไว้ด้วยนาม (รวม) ว่ามัญญนาในที่นี้ ตามพระบาลีว่า ก็ส่วนแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า มีสัญญาเป็นต้นเหตุ ดังนี้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปฐวึ มญฺญติ ดังนี้.
               ก็เพื่อจะทรงแสดงความสำคัญเหล่านั้นของเขาผู้สำคัญอยู่เช่นนี้โดยนัยอันพิสดาร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสปฐวีในภายใน ๒๐ ประเภทโดยนัยเป็นต้นว่า เกสา โลมา.
               ตรัสปฐวีในคัมภีร์วิภังค์อย่างนี้ว่า บรรดาปฐวีธาตุ ๒ อย่างนั้น ปฐวีธาตุภายนอกเป็นไฉน? คือ วัตถุภายนอกที่แข้นแข็งหยาบกระด้าง ไม่มีใจครอง เช่นเหล็ก โลหะ ดีบุกขาว ดีบุกดำ แร่เงิน มุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงินตรา ทองรูปพรรณ แก้วแดง (ทับทิม) เพชรตาแมว หญ้า ท่อนไม้ ก้อนกรวด ทราย กระเบื้อง แผ่นดิน หิน ภูเขา,
               และตรัสนิมิตแผ่นดินในวัตถุอารมณ์ภายใน ท่านหมายเอาปฐวีนั้นๆ กล่าวการประกอบความนี้ไว้.
               บทว่า ปฐวึ มญฺญติ ความว่า ปุถุชนย่อมสำคัญว่าเราเป็นดิน ว่าดินเป็นของเรา ว่าคนอื่นเป็นดิน ว่าดินของคนอื่น ดังนี้ ด้วยความสำคัญ ๓ อย่าง.
               อีกอย่างหนึ่ง ย่อมสำคัญปฐวี (แผ่นดิน) ภายในด้วยความสำคัญ ด้วยอำนาจตัณหา มานะและทิฏฐิ.
               สำคัญอย่างไร?
               จริงอยู่ ปุถุชนนี้ยังฉันทราคะให้เกิดในผมเป็นต้น คือยินดีเพลิดเพลิน พร่ำเพ้อ หลงใหล ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็หรือวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง, ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวีภายในด้วยความสำคัญอันเกิดจากอำนาจแห่งตัณหาอย่างนี้.
               ก็หรือว่า เกิดความทะยานอยากในผมเป็นต้นนั้น โดยนัยเป็นต้นว่า ผมของเราพึงเป็นเช่นนี้ตลอดไป ขอขนของเราพึงเป็นเช่นนี้ตลอดไป ก็หรือว่า ตั้งจิตไว้เพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้โดยนัยเป็นต้น ด้วยศีลหรือพรหมจรรย์อันนี้ เราจักมีผมดำสนิทอ่อนนุ่ม ดังนี้. ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวี (แผ่นดิน) ภายใน ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจตัณหา แม้ดังอธิบายมานี้.
               อนึ่ง ปุถุชนอาศัยสมบัติ (ความถึงพร้อม) หรือวิบัติของผมเป็นต้นแห่งตน แล้วยังมานะให้เกิดขึ้นว่า เราดีกว่า เราเสมอกัน หรือว่าเราเลวกว่า ดังกล่าวมานี้ ชื่อว่า สำคัญปฐวี (แผ่นดิน) ภายในด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจมานะ.
               อนึ่ง ย่อมยึดมั่นผมว่าเป็น ชีวะ โดยนัยที่มาแล้วว่า ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ดังนี้. (แม้) ในขนเป็นต้นก็นัยนี้. ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวี (แผ่นดิน) ภายในด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจทิฏฐิดังกล่าวมา.
               อีกอย่างหนึ่ง ปุถุชนย่อมยึดมั่นซึ่งปฐวีอันต่างด้วยผมเป็นต้น โดยนัยอันเป็นข้าศึกต่อพฤติกรรมนี้ว่า ดูก่อนอาวุโส ก็ปฐวีธาตุภายในอันใดแล และปฐวีธาตุภายนอกอันใด ก็ปฐวีธาตุ (ทั้ง ๒) นั้น ชื่อว่าปฐวีธาตุเหมือนกัน อันนี้นั่นไม่ใช่ของเราว่า ของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา ชื่อว่าย่อมสำคัญปฐวีภายในด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจทิฏฐิแม้อย่างนี้.
               ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวีภายในด้วยความสำคัญ ๓ อย่าง ดังพรรณนามานี้ก่อน. พึงทราบว่า ย่อมสำคัญปฐวีภายนอกเหมือนอย่างปฐวีภายใน.
               อย่างไร?
               จริงอยู่ ปุถุชนนี้ยังฉันทราคะให้เกิดขึ้นในเหล็กและโลหะเป็นต้น เพลิดเพลิน พร่ำเพ้อ หลงใหล เหล็กและโลหะเป็นต้น ย่อมหวงแหนรักษา คุ้มครอง เหล็กเป็นต้นไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เหล็กของเรา โลหะของเรา ชื่อว่าย่อมสำคัญปฐวีภายนอก ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจตัณหาด้วยประการฉะนี้.
               ก็หรือว่าปุถุชนย่อมทะยานอยากในปฐวีภายนอกนี้ว่า ขอเหล็กและโลหะเป็นต้นของเรา พึงมีอยู่อย่างนี้ตลอดไป หรือตั้งจิตไว้ เพื่อจะได้สิ่งที่ยังไม่ได้ว่า ด้วยศีลหรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นผู้มีอุปกรณ์ มีเหล็กและโลหะเป็นต้นที่ถึงพร้อมแล้วอย่างนี้. ปุถุชน ชื่อว่าย่อมสำคัญปฐวีภายนอก ด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจตัณหาแม้ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ปุถุชนอาศัยสมบัติหรือวิบัติแห่งเหล็กและโลหะเป็นต้นของตนแล้ว เกิดมานะขึ้นว่า ด้วยอุปกรณ์นี้ เราจึงดีกว่าเขา เสมอเขาหรือเลวกว่าเขา. ปุถุชน ชื่อว่าย่อมสำคัญปฐวีภายนอกด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจมานะอย่างนี้.
               ก็ปุถุชนเป็นผู้มีความสำคัญในเหล็กว่าชีวะ ย่อมยึดมั่นว่านี้เป็นชีวะ. นัยในโลหะเป็นต้นก็มีนัยนี้. ปุถุชนชื่อว่าย่อมสำคัญปฐวีภายนอก ด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจทิฏฐิด้วยประการฉะนี้.
               อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้พิจารณาเห็นปฐวีกสิณโดยเป็นอัตตา คือว่าย่อมยึดมั่นนิมิตปฐวีว่า อัตตา โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทานั่นแลว่า ปุถุชนย่อมพิจารณาเห็นเนื้อความทั้ง ๒ คือ ปฐวีกสิณและองคาพยพว่า ปฐวีกสิณอันใด เราก็อันนั้น เราอันใด ปฐวีกสิณก็อันนั้น ดังนี้ ชื่อว่าย่อมสำคัญปฐวีภายนอก ด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจทิฏฐิด้วยประการฉะนี้.
               ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวีแม้ภายนอกด้วยความสำคัญ ๓ อย่างดังอธิบายมานี้.
               ในคำว่า ปฐวึ มญฺญติ นี้ พึงทราบความสำคัญหมายทั้ง ๓ ดังพรรณนามานี้ก่อน.
               ต่อแต่นี้ไปข้าพเจ้าจักกล่าวแต่โดยย่อเท่านั้น.
               คำว่า ปฐวิยา นี้ในคำว่า ปฐวิยา มญฺญติ นี้เป็นสัตตมีวิภัตติ. เพราะฉะนั้น ในคำนี้มีอธิบายดังนี้ว่า ปุถุชนย่อมสำคัญว่า เรามีอยู่ในปฐวี, ย่อมสำคัญว่า ความกังวลผูกพันของเรามีอยู่ในปฐวี, ย่อมสำคัญว่า บุคคลอื่นมีอยู่ในปฐวี, ย่อมสำคัญว่า ความกังวลผูกพันของบุคคลอื่นในปฐวีมีอยู่ ดังนี้
               อีกอย่างหนึ่ง นัยแห่งเนื้อความของสัตตมีวิภัตตินั้น ที่ใดที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ปุถุชนย่อมพิจารณาเห็นอัตตาในรูปอย่างไร? คือปุถุชนบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอัตตา เขาย่อมพิจารณาเห็นอัตตาในรูปอย่างนี้ว่า ก็นี้แหละเป็นอัตตาของเรา อัตตาของเรานี้นั้นแลมีอยู่ในรูปนี้ ดังนี้.
               โดยนัยนั้นนั่นแล ปุถุชนจึงถือเอาเวทนาธรรมเป็นต้น.
               ต่อแต่นี้ก็กำหนดเอาปฐวีชนิดใดชนิดหนึ่งในบรรดาปฐวีทั้งภายในและภายนอก โดยความเป็นโอกาสแห่งอัตตานั้น สำคัญอยู่ว่า ก็อัตตาของเรานี้นั้นแลมีอยู่ในปฐวีนี้ ดังนี้ ชื่อว่าย่อมสำคัญในปฐวี.
               นี้ชื่อว่าความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิของปุถุชนนี้.
               ก็เมื่อปุถุชนนั้นยังความสิเนหาในอัตตา และมานะ อันมีอัตตาเป็นที่ตั้งให้เกิดขึ้นในรูปนั้นนั่นแล พึงทราบว่า เป็นความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาและมานะ.
               แต่ในกาลใด ปุถุชนย่อมสำคัญโดยนัยนั้นนั่นแลว่า ก็อัตตาของคนอื่นนั้นนั่นแล มีอยู่ในปฐวี ในกาลนั้น ความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจแห่งทิฏฐินั่นแล ย่อมถูก. ส่วนความสำคัญแม้นอกจากนี้ ท่านก็ปรารถนา (เอาเหมือนกัน).
               ก็คำว่า ปฐวิโต ในคำว่า ปฐวิโต มญฺญติ เป็นปัญจมีวิภัตติ.
               เพราะฉะนั้น ปุถุชน เมื่อสำคัญการเกิดขึ้น หรือการจากไปจากปฐวีมีประเภทตามที่กล่าวแล้วแห่งตนหรือแห่งบุคคลอื่น พร้อมทั้งทรัพย์ศฤงคาร หรือสำคัญว่า อัตตาอื่นจากปฐวี พึงทราบว่า ชื่อว่าสำคัญจากปฐวี. นี้เป็นความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิของปุถุชนนั้น.
               ก็เมื่อปุถุชนนั้นยังความสิเนหาและมานะให้เกิดในวัตถุที่สำคัญกัน ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจทิฏฐินั้นนั่นแล พึงทราบว่า เป็นความสำคัญด้วยอำนาจตัณหาและมานะ. อาจารย์พวกอื่นกล่าวไว้ว่า ปุถุชนเจริญปฐวีกสิณอันเป็นปริตตารมณ์ และต่อจากนั้น ยึดเอาอัตตาอันไม่มีประมาณอื่นแล้วสำคัญอยู่ว่า อัตตาของเรา (มี) แม้ในภายนอกจากปฐวี ดังนี้ ชื่อว่าย่อมสำคัญจากปฐวี.
               ก็ความสำคัญอันหนึ่งที่เป็นไปโดยนัยนี้ว่า ปุถุชนย่อมยึดถือมหาปฐวีอย่างเดียว.
               ก็ในคำนี้ว่า ปฐวึ เมติ มญฺญติ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ก็ความสำคัญที่เป็นไปโดยนัยนี้ว่า ย่อมหวงแหนมหาปฐวีด้วยอำนาจตัณหาถ่ายเดียว พึงทราบว่า ได้แก่ความสำคัญด้วยอำนาจตัณหาอย่างหนึ่งเหมือนกัน. ก็ความสำคัญด้วยอำนาจตัณหานี้นั้น ควรประกอบเข้าในปฐวีทั้งภายในและภายนอกแม้ทั้งหมดมีประเภทตามที่กล่าวไว้แล้ว อย่างนี้ว่า ผมของเรา ขนของเรา เหล็กของเรา ดังนี้.
               บทว่า ปฐวึ อภินนฺทติ ความว่า ปุถุชนย่อมเพลิดเพลิน. อธิบายว่า ยินดี ติดใจปฐวี มีประการตามที่กล่าวแล้วนั่นแลด้วยกิเลสมีตัณหาเป็นต้น.
               หากมีคำถามว่า เมื่อใจความนี้สำเร็จแล้ว ด้วย ๒ บทนี้นั่นแลว่า ปฐวึ มญฺญติ เพราะเหตุไรจึงกล่าวไว้อย่างนี้.
               ตอบว่า คำนั้น ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายไม่ได้เก็บมาวิจารณ์ ก็มตินี้เป็นส่วนตัวของเรา จากลีลาการแสดง หรือจากการเห็นโทษเพราะท่านถึงพร้อมด้วยลีลาแห่งการแสดงอันวิจิตรด้วยนัยต่างๆ เพราะแทงตลอดธรรมธาตุอันใด ธรรมธาตุอันนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแทงตลอดด้วยดีแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านครั้นแสดงความเกิดขึ้นแห่งกิเลสด้วยอำนาจความสำคัญในเบื้องต้นแล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงด้วยอำนาจความยินดีเป็นต้น จึงกล่าวคำนี้ไว้เพราะลีลาแห่งการแสดงบ้าง.
               อีกอย่างหนึ่ง ปุถุชนใดสำคัญปฐวี สำคัญในปฐวี สำคัญจากปฐวี สำคัญว่าปฐวีของเรา ปุถุชนนี้ เพราะเหตุที่ตนไม่อาจจะละตัณหา หรือทิฎฐิที่อาศัยปฐวีได้ ฉะนั้น จึงยินดีปฐวีโดยส่วนเดียว.
               อนึ่ง ปุถุชนใดยินดีปฐวี ปุถุชนนั้นย่อมยินดีทุกข์ และทุกข์เป็นโทษ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ แม้เพราะการเห็นโทษ.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวว่า ผู้ใดยินดีปฐวีธาตุ ผู้นั้นยินดีทุกข์ ผู้ใดยินดีทุกข์ ผู้นั้นย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสความสำคัญและความยินดีอันมีปฐวีเป็นที่ตั้งอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงนำเหตุที่เป็นเหตุสำคัญ และยินดีของปุถุชนนั้น จึงตรัสว่า เรากล่าวว่า ข้อนั้นเป็นเหตุแห่งอะไร, ความไม่รู้รอบเป็นเหตุแห่งข้อนั้น ดังนี้.
               ข้อนั้น มีเนื้อความดังต่อไปนี้
               ถ้าว่ามีคำถามสอดเข้ามาว่า ปุถุชนนั้นย่อมสำคัญปฐวีนั้น เพราะเหตุอะไร คือว่า เพราะเหตุไรจึงสำคัญยินดีปฐวีนั้น ดังนี้ไซร้.
               ตอบว่า (เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า) เราตถาคตกล่าวว่า ข้อนั้นอันปุถุชนนั้นมิได้กำหนดรู้แล้ว. มีอธิบายว่า เพราะเหตุที่ข้อนั้น อันปุถุชนนั้นมิได้กำหนดรู้แล้ว.
               จริงอยู่ ปุถุชนใดย่อมกำหนดรู้ปฐวี ปุถุชนนั้นย่อมกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา และปหานปริญญา.
               ในปริญญา ๓ อย่างนั้น ญาตปริญญาเป็นไฉน? คือปุถุชนย่อมรู้ปฐวีธาตุว่า ปฐวีธาตุนี้เป็นไปในภายใน ปฐวีธาตุนี้เป็นไปในภายนอก นี้เป็นลักษณะของปฐวีธาตุนั้น เหล่านี้เป็นกิจ เป็นปัจจุปัฏฐาน และเป็นปทัฏฐานของปฐวีธาตุนั้น ดังกล่าวมานี้ เรียกว่าญาตปริญญา.
               ตีรณปริญญาเป็นไฉน? คือปุถุชนพิจารณาปฐวีธาตุ กระทำให้เป็นสิ่งที่ตนรู้แล้วอย่างนี้ ด้วยอาการ ๔๐ ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรคเป็นต้น ดังกล่าวมานี้ เรียกว่าตีรณปริญญา.
               ปหานปริญญาเป็นไฉน? คือบุคคลพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละฉันทราคะในปฐวีธาตุด้วยอรหัตตมรรค ดังกล่าวมานี้ เรียกว่าปหานปริญญา.
               อีกอย่างหนึ่ง การกำหนดนามและรูป ชื่อว่าญาตปริญญา. การกำหนดรู้มีการพิจารณากลาปะเป็นเบื้องต้น และอนุโลมญาณเป็นที่สุด ชื่อว่าตีรณปริญญา. ญาณในอริยมรรค ชื่อว่าปหานปริญญา.
               ปุถุชนใดย่อมกำหนดรู้ปฐวี ปุถุชนนั้นย่อมกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้. ก็ปริญญาเหล่านั้นไม่มีแก่ปุถุชนนั้น เพราะฉะนั้น ปุถุชน ชื่อว่าย่อมสำคัญ ย่อมยินดีปฐวี เพราะไม่กำหนดรู้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ไม่ได้สดับ ฯลฯ ย่อมสำคัญปฐวี ย่อมสำคัญในปฐวี ย่อมสำคัญจากปฐวี ย่อมสำคัญว่า ปฐวีของเรา ชื่อว่าย่อมยินดีปฐวี ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เราตถาคตกล่าวว่า (เพราะ) ข้อนั้นอันปุถุชนนั้นมิได้กำหนดรู้แล้ว.
               จบปฐวีวาร               
               ---------------------------------------------               

               แม้ในข้อนี้ว่า อาปํ อาปโต พึงทราบอาโป ๔ อย่างคือ ลักษณอาโป สสัมภารอาโป อารัมมณอาโป และสมมติอาโป.
               บรรดาอาโป ๔ อย่างนั้น อาโปที่กล่าวไว้ในประโยคเป็นต้นว่า บรรดาอาโปธาตุ ๒ อย่างเหล่านั้น อาโปธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นไฉน? ได้แก่ สิ่งที่เอิบอาบ ซึมซาบ เชื่อมประสาน (เป็นลักษณะ) เฉพาะตนอยู่ภายในตัวเอง คืออาโปธาตุที่มีใจครองในภายในรูป ชื่อว่าลักษณอาโป.
               อาโปกล่าวไว้ในประโยคเป็นต้นว่า บุคคลเรียนเอาอาโปกสิณ ย่อมถือเอานิมิตในอาโป ดังนี้ ชื่อว่าสสัมภารอาโป.
               คำที่เหลือทั้งหมดเช่นเดียวกับที่ท่านกล่าวไว้ในปฐวี (แผ่นดิน) นั้นแล.
               แต่เมื่อว่าโดยนัยแห่งการประกอบความล้วนๆ อาโปธาตุที่เป็นไปในภายใน ๑๒ อย่างที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยว่า ดี เสมหะ ดังนี้เป็นต้น พึงทราบว่า อาโปธาตุภายใน และอาโปธาตุที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
               บรรดาอาโปธาตุ ๒ อย่าง อาโปธาตุที่เป็นไปในภายนอกเป็นไฉน? คือสิ่งที่เอิบอาบ ซึมซาบ เชื่อมประสาน อยู่ภายนอก ได้แก่ความเอิบอาบสิ่งที่ถึงความเอิบอาบ อาโปธาตุที่ไม่มีใจครองภายนอกรูป คือรสเกิดจากรากเหง้า รสเกิดจากลำต้น รสเกิดจากเปลือก รสเกิดจากใบ รสเกิดจากดอก รสเกิดจากผล นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง นํ้าอ้อย นํ้าที่แผ่นดินหรือนํ้าในอากาศ พึงทราบว่า อาโปธาตุภายนอก.
               และอาโปนั้นชื่อว่านิมิตอาโปในหมวด ๓ แห่งอัชฌัตตารมณ์.
               ในบทว่า เตชํ เตชโต นี้ พึงทราบความพิสดารโดยนัยที่กล่าวแล้ว แม้ในวาระแห่งเตโชนั่นแล.
               แต่ในข้อนี้ เมื่อว่าโดยนัยแห่งการขยายความ เตโชธาตุ ๔ อย่าง ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า เตโชธาตุที่เป็นเหตุให้ร่างกายอบอุ่น ทรุดโทรม กระวนกระวาย และที่เป็นเหตุเผาอาหารให้ย่อย พึงทราบว่า เตโชธาตุภายใน.
               และเตโชธาตุที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
               บรรดาเตโชธาตุ ๒ อย่างนั้น เตโชธาตุที่เป็นไปในภายนอกเป็นไฉน? คือ สิ่งที่ร้อน อบอุ่นในภายนอก คือเตโชธาตุที่ไม่มีใจครองในภายนอก ได้แก่ไฟเกิดจากไม้ ไฟเกิดจากสะเก็ดไม้ ไฟเกิดจากหญ้า ไฟเกิดจากขี้วัว ไฟเกิดจากแกลบ ไฟเกิดจากกองขยะ ไฟเกิดจากเชื้อ ความร้อนเกิดจากไฟ ความร้อนเกิดจากแสงพระอาทิตย์ ความร้อนเกิดจากการทับถมแห่งท่อนไม้ ความร้อนเกิดจากการทับถมแห่งหญ้า ความร้อนเกิดจากการทับถมแห่งข้าวเปลือก ความร้อนเกิดจากการทับถมแห่งสิ่งของ ดังนี้ พึงทราบว่า เตโชธาตุภายนอก.
               ก็ในนัยแห่งการอธิบายความแม้แห่งวาระนี้ว่า วายํ วายโต มีอธิบายดังต่อไปนี้
               วาโยธาตุที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมที่แผ่ไปซ่านไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมมีพิษดุจศาสตรา ลมมีพิษดุจคมมีด ลมมีพิษดุจก้านบัว ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า พึงทราบว่า วาโยธาตุภายใน.
               และลมที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
               บรรดาวาโยธาตุ ๒ อย่างนั้น วาโยธาตุในภายนอกเป็นไฉน? คือสิ่งที่กระพือพัดเคลื่อนไหวในภายนอก ได้แก่ วาโยธาตุภายนอกของรูปไม่มีใจครอง คือลมทิศตะวันออก ลมทิศตะวันตก ลมทิศเหนือ ลมทิศใต้ ลมฝุ่น ลมไม่มีฝุ่น ลมหนาว ลมร้อน ลมอ่อน ลมแรง ลมหัวด้วน ลมที่เกิดจากนกบิน ลมที่เกิดจากครุฑบิน ลมงวง ลมเกิดจากการพัดวี พึงทราบว่า วาโยธาตุภายนอก.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               หารนัยที่ชื่อว่า ลักษณะนี้ใด (ที่มีมา) ในเนตติปกรณ์อย่างนี้ว่า เมื่อกล่าวถึงธรรมอย่างหนึ่งแล้ว ด้วยธรรมอย่างหนึ่งนั้น ก็เป็นอันกล่าวถึงธรรมทุกอย่างที่มีลักษณะอย่างเดียวกันด้วยลักษณะหารนัย ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ดังนี้ เป็นอันท่านกล่าวไว้ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ด้วยอำนาจแห่งหารนัยนั้น เพราะเหตุที่เมื่อถือเอามหาภูตรูปทั้ง ๔ ก็ย่อมเป็นอันถือเอาอุปาทายรูปไว้ด้วย เพราะอุปาทายรูปไม่ล่วงพ้นลักษณะรูปไปได้ มหาภูตรูปและอุปาทายรูปอันใดอันนั้นเป็นรูปขันธ์ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมสำคัญปฐวี อาโป เตโช วาโย ก็ย่อมเป็นอันตรัสว่า เขาย่อมพิจารณาเห็นรูปว่าเป็นอัตตาด้วย.
               เมื่อตรัสว่า ปุถุชนย่อมสําคัญในปฐวี อาโป เตโช วาโย ย่อมเป็นอันตรัสว่า ย่อมพิจารณาเห็นอัตตาในรูป ดังนี้. เมื่อตรัสว่า ย่อมสำคัญจากปฐวี อาโป เตโช วาโย ย่อมเป็นอันตรัสว่า ย่อมพิจารณาเห็นอัตตาอันมีรูป และรูปในอัตตา เพราะสำเร็จความว่า อัตตาเป็นอื่นจากรูป ดังนี้.
               พึงทราบความสำคัญด้วยอำนาจแห่งสักกายทิฏฐิอันมีรูปเป็นที่ตั้ง ๔ ประการเหล่านี้ ดังกล่าวมานี้.
               ในข้อนี้พึงทราบความแตกต่างกันแม้นี้ว่า
               บรรดาทิฏฐิ ๔ ประการนั้น เป็นอุจเฉททิฏฐิ ๑ เป็นสัสสตทิฏฐิ ๓ ดังนั้น ทิฏฐิจึงมี ๒ อย่าง. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสความสำคัญซึ่งมีสังขารเป็นที่ตั้ง โดยมีรูปเป็นประธานอย่างนี้แล้ว บัดนี้ สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดถูกบัญญัติขึ้น เพราะอาศัยสังขารทั้งหลาย เพราะเหตุที่ปุถุชนกระทำความสำคัญแม้ในสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ฉะนั้น เมื่อชี้แสดงสัตว์เหล่านั้นอยู่ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ชื่อว่าย่อมสำคัญภูตทั้งหลายโดยความเป็นภูต ดังนี้.

               ความหมายของ ภูต ศัพท์               
               ในข้อนั้น ภูตศัพท์ ใช้ในอรรถเป็นต้นว่า ขันธ์ ๕, อมนุษย์, ธาตุ, มีอยู่, พระขีณาสพ, สัตว์ และต้นไม้.
               จริงอยู่ ภูตศัพท์นี้ใช้ในอรรถว่า ขันธ์ ๕ ดังในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาดูว่า นี้เป็นภูต.
               ใช้ในอรรถว่า อมนุษย์ ดังในประโยคนี้ว่า ภูตทั้งหลายเหล่าใดมาประชุมพร้อมกันแล้วในที่นี้ ดังนี้.
               ใช้ในอรรถว่า ธาตุ ๔ ดังในประโยคนี้ว่า ดูก่อนภิกษุ มหาภูตรูป ๔ แลเป็นเหตุ... ดังนี้.
               ใช้ในอรรถว่า มีอยู่ ดังในประโยคเป็นต้นว่า เป็นปาจิตตีย์ในเพราะภูต ดังนี้.
               ใช้ในอรรถว่า พระขีณาสพ ดังในประโยคนี้ว่า ก็ภูตใดเป็นผู้กินกาละ ดังนี้
               ใช้ในอรรถว่า สัตว์ ดังในประโยคนี้ว่า ภูตทั้งหลายทั้งปวงแลจักทิ้งร่างกายไว้ในโลก ดังนี้
               ใช้ในอรรถเป็นต้นว่า ต้นไม้ ในประโยคนี้ว่า ภูตคามปาตพฺยตาย (พรากภูตคาม) ดังนี้.
               แต่ในที่นี้ ภูตศัพท์นี้ ย่อมใช้ในสัตว์ทั้งหลาย.
               ก็แล ภูตศัพท์จะเป็นไปโดยไม่แตกต่างกันเลยก็หามิได้ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายตํ่ากว่าชั้นจาตุมมหาราช ท่านประสงค์เอาว่า ภูต ในที่นี้ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภูเต ภูตโต สญฺชานาติ เป็นต้นมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               ความสำคัญด้วยอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิ               
               ก็ในคำเป็นต้นว่า ภูเต มญฺญติ พึงประกอบความสําคัญแม้ ๓ อย่าง.
               อย่างไร? จริงอยู่ ปุถุชนนี้ยึดเอาภูตทั้งหลายว่า งาม มีความสุขโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วว่า เขาเห็นคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ผู้เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ดังนี้ ย่อมกำหนัด คือย่อมกำหนัดภูตเหล่านั้นแม้เพราะเห็น และย่อมกำหนัดแม้เพราะได้ยิน ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ถูกต้องและได้ทราบ ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาดังพรรณนามาฉะนี้.
               ย่อมตั้งจิตไว้เพื่อได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้โดยนัยเป็นต้นว่า ทำไฉนหนอ เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งขัตติยมหาศาลทั้งหลาย. ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหา แม้ด้วยประการฉะนี้.
               แต่เพราะอาศัยสมบัติและวิบัติของตนและของภูตทั้งหลาย ปุถุชนย่อมถือตัวว่าดีกว่าเขา ปุถุชนย่อมสำคัญภูตชนิดใดชนิดหนึ่งในภูตทั้งหลายว่า เลวกว่าตน หรือย่อมสําคัญตนว่าเลวกว่าภูตชนิดใดชนิดหนึ่ง ย่อมสำคัญภูตชนิดใดชนิดหนึ่งว่าดีกว่าตน (หรือย่อมสำคัญตนว่าดีกว่าภูตชนิดใดชนิดหนึ่ง) ย่อมสำคัญตนว่าเสมอกันกับภูต หรือย่อมสำคัญภูตว่าเสมอกันกับตน.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               บุคคลบางคนในโลกนี้ เมื่อก่อนถือว่าตนเสมอกันกับคนอื่น โดยชาติ ฯลฯ หรือโดยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ครั้นต่อมากลับสำคัญตนว่าดีกว่าเขา กลับสำคัญคนอื่นว่าเลวกว่าตน มานะเห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า มานาติมานะ.
               ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งมานะ ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ปุถุชนสำคัญอยู่ว่า ก็ภูตทั้งหลายเที่ยง ยั่งยืน แน่นอน มีธรรมดาไม่แปรปรวน หรือว่า สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผู้น้อมไปสู่ภาวะการประสบโชคร้าย โชคดี ย่อมเสวยสุขทุกข์ในอภิชาติ ๖ ชาตินั้นแล ชื่อว่าย่อมสำคัญด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ.
               ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญ ๓ อย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายอย่างไร? คือ หวังความเกิดขึ้นแห่งตน หรือการเกิดความสุขแก่ตนในภูตทั้งหลายเหล่านั้นๆ ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาดังพรรณนามานี้ก่อน. หรือเมื่อความหวังความเกิดขึ้นในภูตทั้งหลาย จึงให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม, ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหา แม้ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ปุถุชนยึดเอาภูตทั้งหลายโดยการถือเอารวมกัน ย่อมสำคัญภูตทั้งหลายบางพวกในบรรดาภูตเหล่านั้นว่าดีกว่า หรือว่าสำคัญสัตว์บางพวกว่าเสมอกัน หรือเลวกว่า. ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งมานะด้วยประการดังกล่าวมานี้.
               อนึ่ง ปุถุชนย่อมสำคัญภูตบางพวกว่าเที่ยง ยั่งยืน ย่อมสำคัญภูตบางพวกว่าไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน หรือย่อมสำคัญว่า แม้เราย่อมเป็นภูตประเภทหนึ่งในบรรดาภูตทั้งหลาย ดังนี้ ชื่อว่าย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ ด้วยประการฉะนี้แล.
               ก็ในคำนี้ว่า ภูตโต มญฺญติ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ปุถุชนเมื่อสำคัญความเกิดขึ้นแห่งตนหรือบุคคลอื่น พร้อมทั้งทรัพย์ศฤงคารจากภูตชนิดใดชนิดหนึ่ง พึงทราบว่า ย่อมสำคัญจากภูตดังนี้. นี้เป็นความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิของปุถุชนนั้น. ก็เมื่อปุถุชนนั้นยังความสิเนหาและมานะให้เกิดขึ้นในวัตถุที่สำคัญหมาย ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐินั้นนั่นแล พึงทราบว่า เป็นความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาและมานะด้วย.
               ก็ในข้อว่า ภูเต เมติ มญฺญติ นี้ ย่อมได้ความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาอันหนึ่งแล. ก็ความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหานี้นั้น พึงทราบว่าย่อมเป็นไปโดยความยึดถือว่าเป็นของเรา โดยนัยเป็นต้นว่า บุตรของเรา ธิดาของเรา แพะและแกะของเรา ไก่และสุกรของเรา ช้าง โค กระต่ายและแมวของเรา ดังนี้.
               คำว่า ภูเต อภินนฺทติ มีนัยดังกล่าวแล้วอย่างนี้นั่นแล.
               ก็ในข้อว่า อปริญฺญาติ ตสฺส นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               การบัญญัติภูตทั้งหลาย เพราะอาศัยสังขารเหล่าใด เพราะไม่กำหนดรู้สังขารเหล่านั้น ภูตทั้งหลายพึงทราบว่า ย่อมเป็นอันปุถุชนไม่กำหนดรู้ดังนี้. ส่วนการประกอบความ (ส่องความ) พึงทำไว้โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               เทพ ๓               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแสดงที่ตั้งแห่งความสำคัญด้วยอำนาจแห่งสังขาร และด้วยอำนาจแห่งสัตว์โดยย่ออย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงที่ตั้งนั้นแม้โดยพิสดารโดยประเภทเป็นต้นว่า ภูมิพิเศษ จึงตรัสคำมีอาทิว่า เทเว เทวโต ดังนี้.
               ในคำนั้นมีรูปวิเคราะห์ดังนี้
               ที่ชื่อว่าเทพ เพราะอรรถว่าย่อมเล่น. อธิบายว่า สนุกสนาน และรุ่งเรืองด้วยกามคุณ ๕ หรือด้วยฤทธิ์ของตน.
               เทพเหล่านั้นมี ๓ จำพวก คือ สมมติเทพ อุปปัตติเทพ และวิสุทธิเทพ.
               พระราชา พระมเหสี และพระราชกุมาร ชื่อว่าสมมติเทพ. เทพที่สูงกว่านั้น เริ่มตั้งแต่เทพชั้นจาตุมมหาราช ชื่อว่าอุปปัตติเทพ. พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่าวิสุทธิเทพ.
               แต่ในที่นี้พึงเห็นว่า ท่านประสงค์เอาอุปปัตติเทพ.
               ก็อุปปัตติเทพเหล่านั้น จะเห็นว่าไม่แตกต่างกันก็หามิได้ คือเว้นมารพร้อมบริษัทในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตตีเสีย เทวดาชั้นกามาวจร ๖ ชั้นที่เหลือ ท่านประสงค์เอาว่า เทพ ในที่นี้. การพรรณนาเนื้อความทั้งหมดในข้อนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในภูตวาระนั่นแล.

               ท้าวปชาบดีคือพญามาร               
               ก็ในบทว่า ปชาปติ นี้ มาร พึงทราบว่า ปชาบดี. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า คำว่า ปชาปติ นี้เป็นชื่อของท้าวมหาราชเป็นต้นผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาเหล่านั้นๆ. คำนั้นท่านปฎิเสธไว้ในมหาอรรถกถาว่า ไม่ถูก เพราะว่า มหาราชเป็นต้นเหล่านั้น ท่านถือเอาด้วย เทว ศัพท์นั่นเอง ส่วนพญามารนั่นแล ท่านประสงค์เอาว่า ปชาบดี ในที่นี้ โดยความเป็นใหญ่กว่า ปชา กล่าวคือหมู่สัตว์.
               ถามว่า พญามารนั้นย่อมอยู่ ณ ที่ไหน?
               ตอบว่า ย่อมอยู่ในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตตี.
               จริงอยู่ พญามารวสวัตตีครองราชย์อยู่ในเทวโลกนั้น. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พญามารประทับครองความยิ่งใหญ่ในบริษัทของตน ณ ส่วนหนึ่ง (ของเทวโลกนั้น) ดุจราชโอรสของพระราชาผู้เรืองนาม ประทับอยู่ ณ ปลายแดนราชอาณาจักรฉะนั้น. ก็ในข้อนี้ พึงทราบว่า ท่านจัดเอาบริษัทมารเข้าไว้ด้วย มาร ศัพท์นั่นเอง.
               ส่วนในข้อนี้ ในนัยแห่งการขยายความมีอธิบายดังนี้.
               ปุถุชนได้เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี ซึ่งปชาบดีผู้มีผิวพรรณงาม มีอายุยืน มีความสุขมาก ย่อมใฝ่ฝันราชสมบัติด้วยอำนาจแห่งตัณหา. ก็หรือว่า แม้ตั้งใจไว้เพื่อจะได้ในสิ่งที่ตนยังไม่ได้โดยนัยเป็นต้นว่า ทำไฉนหนอ เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งปชาบดี ชื่อว่าย่อมสำคัญปชาบดีด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหา.
               แต่เมื่อปุถุชนถึงความเป็นปชาบดีแล้ว ยังมานะให้เกิดขึ้นว่า เราย่อมเป็นใหญ่ เป็นอธิบดีกว่าปชาทั้งหลาย พึงทราบว่า ชื่อว่าย่อมสำคัญปชาบดีด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งมานะ.
               แต่เมื่อปุถุชนสำคัญอยู่ว่า ปชาบดีเที่ยง ยั่งยืน หรือขาดสูญพินาศ หรือว่าไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร น้อมไปสู่ความประสบโชคดี โชคร้าย ย่อมเสวยสุขทุกข์ในอภิชาติ ๖ ชาตินั่นแล พึงทราบว่า ชื่อว่าย่อมสำคัญปชาบดีด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ.
               แต่ในคำว่า ในปชาบดี นี้ ความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิชนิดหนึ่งนั่นแล ย่อมถูก. พึงทราบความเป็นไปแห่งความสำคัญนั้นอย่างนี้. บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมสำคัญว่า ธรรมเหล่าใดมีอยู่ในปชาบดี ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเที่ยง ยั่งยืน แน่นอน ไม่มีการแปรผันเป็นธรรมดา.
               อีกอย่างหนึ่ง ย่อมสำคัญว่า บาปย่อมไม่มีในปชาบดี กรรมอันลามกทั้งหลายย่อมหาไม่ได้ในปชาบดีนั้น.
               ในคำว่า ปชาปติโต นี้ ย่อมได้ความสำคัญแม้ทั้ง ๓.
               อย่างไร?
               คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมสำคัญข้อที่ตนหรือคนอื่น พร้อมทั้งทรัพย์ศฤงคารเกิดขึ้น หรือจากไปจากปชาบดี นี้เรียกว่าความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิของบุคคลนั้น.
               ก็เมื่อบุคคลนั้นยังความเสน่หาและมานะให้เกิดขึ้นในวัตถุที่สำคัญ ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐินั้นนั่นแล พึงทราบว่า เป็นความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาและมานะ.
               ก็ในบทว่า ปชาปตึ เม นี้ ย่อมได้ความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาชนิดหนึ่งนั่นแล. และความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหานี้นั้น พึงทราบว่า ย่อมเป็นไปแก่บุคคลผู้ยึดถือว่าของเรา โดยนัยเป็นต้นว่า ปชาบดีเป็นครูของเรา เป็นนายของเรา ดังนี้.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               ความหมายของพรหม               
               ในบทนี้ว่า พฺรหฺมํ พฺรหฺมโต มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ชื่อว่า พรหม เพราะอรรถว่าเจริญแล้วด้วยคุณวิเศษนั้นๆ.
               อีกอย่างหนึ่งท้าวมหาพรหมก็ดี พระตถาคตก็ดี พราหมณ์ก็ดี มารดาบิดาก็ดี สิ่งที่ประเสริฐที่สุดก็ดี ท่านก็เรียกว่า พรหม.
               จริงอยู่ ท้าวมหาพรหม ท่านเรียกว่า พรหม (ดัง) ในประโยคเป็นต้นว่า พรหม ๑,๐๐๐ ๒,๐๐๐.
               พระตถาคต ท่านก็เรียกว่าพรหม (ดัง) ในประโยคนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหมนี้ เป็นชื่อของพระตถาคตนั่นแล.
               พราหมณ์ ท่านเรียกว่า พรหม (ดัง) ในประโยคนี้ว่า
                         พระพุทธเจ้า ผู้บรรเทาความมืด ผู้มีพระจักษุรอบคอบ
                         ผู้ถึงที่สุดแห่งโลก ผู้ก้าวล่วงภพทั้งปวง ผู้ไม่มีอาสวะ
                         ผู้ละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ผู้กล่าวสัจจะ ผู้อันพรหม
                         บำเรอแล้ว ดังนี้.
               มารดาบิดา ท่านเรียกว่า พรหม (ดัง) ในประโยคนี้ว่า มารดาบิดา ท่านเรียกว่าพรหม, มารดาบิดา ท่านเรียกว่าบุพพาจารย์. สิ่งที่ประเสริฐที่สุด ท่านเรียกว่าพรหม (ดัง) ในประโยคนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ายังจักรอันประเสริฐให้เป็นไป ดังนี้.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาพรหมที่เกิดขึ้นต้นกัลป. อนึ่ง แม้พรหมปุโรหิตและพรหมปาริสัชชะ พึงทราบว่า ท่านถือเอาด้วยพรหมศัพท์นั้นนั่นแล. แต่การพรรณนาเนื้อความในข้อนี้ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในปชาบดีวาระนั่นแล.

               อธิบายอาภัสสรพรหม               
               ในวาระว่าด้วยอาภัสสรพรหม พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               รัศมีแผ่ซ่านออกจากร่างกายของพรหมเหล่านั้นเหมือนกับขาดตกไป คล้ายเปลวไฟขาดตกไปจากคบเพลิงฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พรหมเหล่านั้นจึงชื่อว่าอาภัสสรา. ด้วยการกำหนดอาภัสสรพรหมเหล่านั้น (เป็นเกณฑ์) จึงเป็นอันท่านกำหนดเอาภูมิของทุติยฌานแม้ทั้งหมดด้วย. ก็พรหมที่สถิตอยู่ในชั้นเดียวกันแม้ทั้งหมดนั่นแล พึงทราบว่า (ได้แก่) ปริตตาภาพรหม อัปปมาณาภาพรหม (และ) อาภัสสรพรหม.

               อธิบายสุภกิณหพรหม               
               ในวาระว่าด้วยสุภกิณหพรหม พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               พรหมที่ชื่อว่า สุภกิณหา เพราะหมายความว่า แพรวพราวไปด้วยสีที่สวยงามคือด้วยรัศมีกายอันโสภา จึงสง่างามดังทองแท่ง เปล่งแสงประกายอันเขาเก็บไว้ในหีบทองแท่งทึบ. ด้วยการกำหนดเอาสุภกิณหพรหมเหล่านั้น (เป็นเกณฑ์) เป็นอันท่านกำหนดเอาภูมิของตติยฌานแม้ทั้งหมดด้วย. ก็พรหมที่สถิตอยู่ในชั้นเดียวกันแม้ทั้งหมดนั่นแล พึงทราบว่า (ได้แก่) ปริตตสุภพรหม อัปปมาณสุภพรหม สุภกิณหพรหม.

               อธิบายเวหัปผลพรหม               
               ในวาระว่าด้วยเวหัปผลพรหม พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               พรหมที่ชื่อว่า เวหัปผลา เพราะหมายความว่ามีผลอันไพบูลย์ ท่านกล่าวว่าได้แก่พรหมชั้นจตุตถฌาน. ส่วนการอธิบายขยายความประกอบในวาระทั้ง ๓ นี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในภูตวาระนั่นแล.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค มูลปริยายสูตร ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1&Z=237
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :