ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 223อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 224อ่านอรรถกถา 23 / 225อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ สีหนาทวรรคที่ ๒
๑๐. เวลามสูตร

               อรรถกถาเวลามสูตรที่ ๑๐               
               เวลามสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อปิ นุ เต คหปติ กุเล ทานํ ทิยฺยติ ความว่า นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสถามถึงทานที่ท่านถวายแก่ภิกษุสงฆ์
               แท้จริง ในเรือนของเศรษฐียังให้ทานอันประณีตเป็นประจำแก่ภิกษุสงฆ์ พระศาสดาจะไม่ทรงรู้ถึงข้อนั้น ก็หามิได้ ส่วนทานที่ให้แก่โลกิยมหาชน ทานนั้นเศร้าหมอง เศรษฐีไม่เอิบอิ่มใจ จึงตรัสถามทานนั้น.
               บทว่า กาณาชกํ ความว่า ข้าวสารปนกับรำ คือหุงแล้วด้วยข้าวสารกากนิกหนึ่งปนกับรำ.
               บทว่า พิลงฺคทุติยํ คือ มีน้ำผักดองเป็นที่สอง.
               บทว่า อสกฺกจฺจํ เทติ ได้แก่ จะให้ไม่ทำการเคารพ.
               บทว่า อปจิตฺตึ กตฺวา เทติ ความว่า ให้โดยไม่นับถือ คือโดยไม่เคารพในทักขิไณยบุคคล.
               บทว่า อสหตฺถา เทติ ความว่า ไม่ให้ด้วยมือของตน ให้ด้วยมือของคนอื่น. อธิบายว่า ย่อมกระทำเพียงสั่งเท่านั้นเอง.
               บทว่า อปวิฏฺฐํ เทติ ความว่า ย่อมไม่ให้ติดต่อกัน คือให้เป็นเหมือนคนใคร่จะทิ้งเสีย เหมือนคนจับเหี้ยใส่ในจอมปลวก เหมือนเครื่องเซ่นของนักเลงเหล้าประจำปีฉะนั้น.
               บทว่า ทานมทาสิฏฺฐิโก เทติ ความว่า ไม่เชื่อกรรมและผลให้ทาน.
               บทว่า ยตฺถ ยตฺถ ได้แก่ บรรดากุลสัมปทานทั้งสาม ในตระกูลใดๆ.
               ในบทเป็นต้นว่า น อุฬาราย ภตฺตโภคาย มีวินิจฉัยดังนี้
               เมื่อเขาน้อมโภชนะแห่งข้าวสาลีหอมซึ่งมีรสอร่อยต่างๆ เข้าไปแล้ว เขาจะไม่น้อมจิตไป (เพื่อจะบริโภค) ยังกล่าวว่า ท่านจงนำไปเถิด นั่นโรคกำเริบดังนี้ ชอบบริโภคข้าวปนรำกับผักดอง เหมือนอมตะ.
               เมื่อเขาน้อมผ้าอย่างดีมีผ้ากาสีเป็นต้นเข้าไปแล้ว ก็กล่าวว่า ท่านจงนำไปเถิด ผ้าเหล่านี้ ย่อมไม่สามารถแม้ปิดบังได้ ย่อมไม่ติดอยู่แม้ที่ร่างกายของบุคคลผู้นุ่งอยู่ดังนี้ ชอบนุ่งผ้าเนื้อหยาบเช่นกับเปลือกของมะพร้าวทำเป็นผ้าด้วยคิดว่า ผู้นุ่งผ้าเหล่านี้ย่อมรู้สึกกว่านุ่งห่มแล้ว ผ้าเหล่านั้นย่อมปกปิดแม้สิ่งที่ควรปกปิดดังนี้.
               เมื่อเขาน้อมยานช้าง ยานม้า ยานรถหรือวอทองเป็นต้น เข้าไปให้ก็กล่าวว่า ท่านจงนำไปเถิด ยานเหล่านั้น ใครๆ ไม่อาจเพื่อจะนั่งเป็นสุขในยานนี้ได้ ดังนี้ เมื่อเขาน้อมรถเก่าคร่ำคร่าเข้าไปให้ก็กล่าวว่า รถนี้เป็นรถไม่กระเทือน ในรถนี้นั่งได้เป็นสุขดังนี้ ย่อมยินดีรถนั้น.
               บทว่า น อุฬาเรสุ ปญฺจสุ กามคุเณสุ ความว่า เขาได้เห็นหญิงทั้งหลายเป็นผู้มีรูปซึ่งประดับตกแต่ง แล้วคิดว่าเห็นจะเป็นนางยักษิณี นางยักษิณีเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่จะกิน ประโยชน์อะไรด้วยหญิงทั้งหลายเหล่านั้นดังนี้ ย่อมให้เวลาล่วงไปตามความผาสุก.
               บทว่า น สุสฺสูสนฺติ ความว่า บริวารชนทั้งหลายย่อมไม่ปรารถนาเพื่อจะฟัง. อธิบายว่า ย่อมไม่เชื่อดังนี้ก็มี.
               บทว่า น โสตํ โอทหนฺติ ความว่า ย่อมไม่เงี่ยโสตประสาทลงเพื่อฟังคำที่เขากล่าวแล้ว.
               บทเป็นต้นว่า สกฺกจฺจํ พึงทราบโดยปริยายตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า เวลาโม ความว่า เป็นนามที่ได้แล้วอย่างนี้ เพราะประกอบด้วยคุณทั้งหลายอันยิ่งใหญ่ล่วงเขตแดน ชาติ โคตร รูป โภคะ ศรัทธาและปัญญาเป็นต้น.
               ในบทว่า โส เอวรูปํ ทานมทาสิ มหาทานํ นี้มีอนุปุพพิกถาดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า ในอดีต เวลามพราหมณ์นั้นได้ถือปฏิสนธิแล้วในเรือนของปุโรหิต (พราหมณ์ที่ปรึกษาในทางขนบธรรมเนียมประเพณี) กรุงพาราณสี. พวกญาติได้ตั้งชื่อให้เขาว่า เวลามกุมาร.
               เวลามกุมารนั้นได้ไปแล้วยังตักกสิลา เพื่อเรียนศิลปะกับราชกุมารกรุงพาราณสี ในเวลาอายุ ๑๖ ปี. คนแม้ทั้งสองนั้นปรารถนาแล้วซึ่งศิลปะในสำนักของอาจารย์ทิสาปาโมกข์. พวกเขาปรารถนาแล้วฉันใด ส่วนราชกุมารแปดหมื่นสี่พันคนแม้เหล่าอื่นในชมพูทวีป ก็ปรารถนาแล้วฉันนั้น.
               พระโพธิสัตว์ ว่าที่ตำแหน่งที่ตนได้รับก็เป็นอาจารย์คนหลัง จึงให้กุมารแปดหมื่นสี่พันศึกษาอยู่ ตนเองเรียนศิลปะ ๓ ปีจบ ซึ่งเขาเรียนกัน ๑๖ ปี. อาจารย์รู้ว่าศิลปะของเวลามกุมารคล่องแคล่วแล้ว จึงกล่าวว่า ดูก่อนลูกทั้งหลาย เวลามะย่อมรู้ศิลปะทั้งหมดที่เราได้รู้แล้ว พวกเจ้าทุกคนพร้อมใจกันไป เรียนศิลปะในสำนักของเวลามะ ดังนี้จึงมอบกุมารแปดหมื่นสี่พันคนให้แก่พระโพธิสัตว์.
               พระโพธิสัตว์ไหว้อาจารย์แล้ว เป็นผู้มีกุมารแปดหมื่นสี่พันแวดล้อมออกไปแล้ว ถึงเมืองซึ่งอยู่ใกล้แห่งหนึ่ง จึงให้ราชกุมารผู้เป็นเจ้าของเมืองนั้นเรียน เมื่อเขาชำนาญในศิลปะแล้ว จึงให้เขากลับไปอยู่ในเมืองนั้นแหละ. พระโพธิสัตว์ไปยังเมืองแปดหมื่นสี่พันเมืองโดยอุบายนั้นแล้ว ให้ฝึกศิลปะของราชกุมารแปดหมื่นสี่พันคนชำนาญแล้ว จึงให้ราชกุมารนั้นๆ กลับไปอยู่ในเมืองนั้นๆ แล้วก็พาเอาราชกุมารกรุงพาราณสีกลับมายังกรุงพาราณสี.
               คนทั้งหลายในกรุงพาราณสีนั้น จึงได้อภิเษกราชกุมารกรุงพาราณสีผู้เรียนจบศิลปะแล้วไว้ในราชสมบัติ ได้ให้ตำแหน่งปุโรหิตแก่เวลามะ. ราชกุมารแปดหมื่นสี่พันแม้เหล่านั้น ได้อภิเษกแล้วในราชสมบัติทั้งหลายของตน ก็ยังพากันมาบำรุงพระเจ้ากรุงพาราณสีทุกปี. พระราชกุมารเหล่านั้นเฝ้าพระราชาแล้ว ได้ไปยังสำนักของเวลามะ กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ เมื่อข้าพเจ้าทั้งหลายดำรงอยู่แล้วในราชสมบัติ ท่านประสงค์ด้วยสิ่งใด พึงบอกแล้วก็พากันไป.
               เมื่อราชกุมารเหล่านั้นพาเอาเกวียน รถ แม่โค โคผู้ ไก่และสุกรเป็นต้น ในเวลาไปและเวลามา ชนบทก็ถูกเบียดเบียนอย่างหนัก. มหาชนประชุมพร้อมกันแล้ว เรียกร้องอยู่ที่พระลานหลวง.
               พระราชารับสั่งให้เรียกเวลามะมาแล้ว ตรัสว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ชนบทถูกเบียดเบียน พระราชาทั้งหลายย่อมกระทำการปล้นใหญ่ ในเวลาไปและเวลามา คนทั้งหลายย่อมไม่สามารถเพื่อจะดำรงอยู่สงบได้ ท่านทำอุบายอย่างหนึ่งเพื่อให้ชนบทสงบจากความเบียดเบียนดังนี้.
               เวลามะกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชศิละ ข้าพระองค์จักทำอุบาย พระองค์มีความต้องการด้วยชนบทมีประมาณเท่าใด พระองค์ทรงกำหนดซึ่งชนบทนั้นแล้วถือเอา. พระราชาได้ทรงกระทำอย่างนั้นแล้ว. เวลามะเที่ยวตรวจดูในชนบทของพระราชาแปดหมื่นสี่พันแล้ว จึงให้รวมเข้ามาอยู่ในชนบทของพระราชา เหมือนรวบรวมซี่ล้อไว้ที่ดุมล้อฉะนั้น.
               จำเดิมแต่นั้น พระราชาทั้งหลายเหล่านั้นเสด็จมาก็ดี เสด็จไปก็ดี ย่อมท่องเที่ยวไปตามชนบทของพระองค์ๆ เท่านั้น ไม่ทรงทำการปล้นด้วยทรงดำริว่าชนบทของเราทั้งหลายดังนี้ ไม่ทรงเบียดเบียนแม้ชนบทของพระราชาด้วยความเคารพต่อพระราชา. ชนบททั้งหลายก็สงบเงียบไม่มีเสียงขอร้อง.
               พระราชาทั้งปวงทรงร่าเริงยินดี ทรงปวารณาว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ท่านต้องการด้วยสิ่งใด ท่านจงบอกสิ่งนั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายดังนี้.
               เวลามะสนานศีรษะแล้ว ให้เปิดประตูห้องเต็มด้วยรัตนะ ๗ ในนิเวศน์ของตน ตรวจดูทรัพย์ที่เก็บไว้ถึง ๗ ชั่วแห่งตระกูล พิจารณาแล้วซึ่งความเจริญและความเสื่อม คิดว่าเราควรให้ทานให้กระฉ่อนไปทั่วทั้งชมพูทวีปดังนี้แล้ว ได้กราบทูลแด่พระราชา ให้สร้างเตาแถวไว้ประมาณ ๑๒ โยชน์ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา ให้สร้างเรือนคลังใหญ่ไว้แล้วเพื่อต้องการเก็บเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำมัน งาและข้าวสารเป็นต้นในที่นั้นๆ ได้จัดคนทั้งหลายไว้ว่า ในที่นั้นๆ ใช้คนประมาณเท่านี้ๆ ช่วยจัดแจงของอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าพวกมนุษย์จะพึงได้มีอยู่ แม้เมื่อของอย่างหนึ่งไม่มีจากของนั้น ท่านทั้งหลายพึงบอกแก่เราดังนี้ จึงให้คนตีกลองเดินไปในเมืองว่า ขอชนทั้งหลายจงบริโภคทานของเวลามพราหมณ์ เริ่มแต่วันโน้นดังนี้.
               เมื่อบุคคลผู้จัดการท่านบอกว่า โรงทานสำเร็จแล้ว นุ่งผ้าราคาหนึ่งพัน ผ้าเฉวียงบ่ามีราคาห้าร้อยแต่งแล้วด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง ใส่น้ำซึ่งมีสีแก้วผลึกให้เต็มสุวรรณภิงคาร (เต้าน้ำทอง) แล้วเพื่อทดลองทานทำสัจจกิริยาว่า ถ้าในโลกนี้ยังมีทักขิเณยบุคคลผู้สมควรรับทานนี้ ขอน้ำนี้ไหลออกแล้วจงซึมแผ่นดิน ถ้าไม่มีจงตั้งอยู่อย่างนี้ ได้เอียงปากสุวรรณภิงคารลงแล้ว. น้ำได้เป็นแล้วเหมือนกับธมกรกถูกอุดไว้แล้ว.
               พระโพธิสัตว์มิได้เดือดร้อนว่า โอท่านผู้เจริญ ชมพูทวีปว่างเปล่า ย่อมไม่มีแม้บุคคลคนเดียวที่ควรรับทักณิณาดังนี้ คิดแล้วว่า ถ้าทักขิณาจักบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ขอน้ำไหลออกแล้วจงซึมแผ่นดินไปดังนี้. น้ำคล้ายสีแก้วผลึกไหลออกแล้ว ซึมแผ่นดินไปแล้ว.
               คราวนี้ เขาไปแล้วยังโรงทานด้วยคิดว่าจักให้ทาน ตรวจดูทานแล้ว ใช้ให้คนให้ข้าวต้มในเวลาข้าวต้ม ให้ของเคี้ยวในเวลาของเคี้ยว ให้อาหารในเวลาอาหารแล้ว. พระโพธิสัตว์ได้ให้ทานทุกๆ วันโดยทำนองนี้นั่นแล.
               ก็แลในโรงทานนี้ไม่มีคำที่จะพึงพูดว่า ชื่อสิ่งนี้มี ชื่อสิ่งนี้ไม่มี. ทานนี้จักไม่จบด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ดังนั้นจึงให้นำทองแดงออกไปทำถาดทองแล้ว ส่งข่าวสาส์นไปแก่พระราชา ๘๔,๐๐๐ ถาดเป็นต้น. พระราชาทั้งหลายทรงดำริว่า เราทั้งหลายอันอาจารย์ได้อนุเคราะห์มานานแล้วดังนี้ จึงเมื่อให้ทานอยู่นั่นล่วงไปแล้ว ๗ ปี ๗ เดือน.
               ต่อมา พราหมณ์คิดว่าเราจักแบ่งเงินออกให้ทานดังนี้แล้ว จึงให้จัดทานเตรียมไว้ในโอกาสอันสำคัญ ครั้นเตรียมเสร็จแล้วได้ให้แล้วจากปลายถึงถาดทอง ๘๔,๐๐๐ ถาดเป็นเบื้องต้น.
               ในบทนั้น บทว่า รูปิยปูรานิ ได้แก่ เต็มด้วยถาดเงิน ภาชนะเงินและมาสกเงิน.
               ก็ถาดทั้งหลาย ใครๆ ไม่ควรกำหนดว่าเล็ก ถาด ๔ ใบตั้งอยู่แล้วในภูมิภาคกำหนดได้หนึ่งกรีส. พุ่มถาดเป็นรัตนะแท้. ตั้งแต่ขอบปากเป็นรัตนะ ๘.
               รถม้าอาชาไนยซึ่งประกอบไว้พร้อมแล้วเพื่อขอบปากถาด ย่อมวิ่งวนไปรอบ. ได้ให้ถาด ๘๔,๐๐๐ ถาดอย่างนี้ว่า เมื่อให้ตามปกติจัดปฏิคคาหกไว้เป็นหมู่ๆ มีท้ายสุดอยู่ข้างนอก ใส่ในถาดเสร็จแล้ว ยกส่งให้ต่อกันไปปลายแถว.
               แม้ในบทเป็นต้นว่า รูปิยปาติ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็แม้ในบทนี้ บทว่า สุวณฺณปูรานิ ได้แก่ เต็มด้วยถาดทองภาชนะทองและมาสกทอง.
               บทว่า หิรญฺญปูรานิ ได้แก่ เต็มด้วยรัตนะ ๗ อย่าง.
               บทว่า โสวณฺณาลงฺการานิ ได้แก่ เครื่องประดับเป็นทอง.
               บทว่า กํสุปธารณานิ ได้แก่ ภาชนะทำด้วยเงินรับน้ำนม.
               ส่วนเขาทั้งหลายของแม่โคนมทั้งหลายเหล่านั้น ได้สวมแล้วปลอกทอง ที่คอได้ประดับซึ่งพวงมะลิ ที่เท้าทั้ง ๔ ได้ประดับซึ่งเครื่องประดับเท้า ที่หลังคลุมด้วยผ้าเนื้อดีอย่างประเสริฐ ที่คอผูกระฆังทอง.
               บทว่า วตฺถโกฏิสหสฺสานิ ได้แก่ ผ้า ๒๐ คู่ ชาวโลกเรียกเอกโกฏิ แต่ในที่นี้ ผ้า ๒๐ เรียกว่าเอกโกฏิ.
               ในบทเป็นต้นว่า โขมสุขุมานํ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้.
               บรรดาผ้าเปลือกไม้เป็นต้น ผ้าใดๆ เป็นผ้ามีเนื้อละเอียด ได้ให้แล้วซึ่งผ้านั้นๆ เท่านั้น. ส่วนทานเหล่าใดที่เห็นแล้วว่า มิใช่ทานคืออิตถีทาน (การให้สตรีเป็นทาน) อุสภทาน (การให้โคอุสภะเป็นทาน) มัชชทาน (การให้น้ำเมาเป็นทาน) สมัชชทาน (การให้การเล่นมหรสพเป็นทาน).
               เวลามะนี้ได้ให้ทานแม้เหล่านั้น เพื่อเป็นบริวารเพื่อตัดคำพูดว่า ชื่อว่าสิ่งนี้ ในเหตุแห่งทานของเวลามะย่อมไม่มี.
               บทว่า นชฺโช มญฺเญ วิสฺสนฺทนฺติ ได้แก่ ย่อมไหลไปเหมือนแม่น้ำ.
               พระศาสดาตรัสทานของเวลามะด้วยเหตุประมาณเท่านี้แล้ว ตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี คนอื่นมิได้ให้แล้วซึ่งมหาทานนั้น เราได้ให้แล้ว ก็เราแม้เมื่อให้ทานเห็นปานนั้น หาได้บุคคลผู้สมควรเพื่อจะรับไม่ ท่านได้ให้ทานเมื่อพระพุทธเจ้าผู้เช่นเราปรากฏอยู่ในโลก เพราะเหตุไรจึงคิดเล่าดังนี้ เมื่อทรงเทศนาออกให้กว้างแก่เศรษฐี จึงได้ตรัสคำเป็นต้นว่า สิยา โข ปน โต ดังนี้.
               ถามว่า ก็รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณเหล่าใด ได้มีแล้วในกาลนั้น รูปเป็นต้นเหล่านั้นดับแล้วมิใช่หรือ เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สมัยนั้น เราเป็นพราหมณ์ชื่อเวลามะดังนี้.
               ตอบว่า เพราะตัดประเพณีไม่ขาด. ด้วยว่ารูปเป็นต้นเหล่านั้น เมื่อดับ ให้ปัจจัยแก่ธรรมมีเวทนาเป็นต้นเหล่านี้แล้วจึงดับ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้หมายถึงประเพณี (คือธรรม) ที่สืบต่อกันไม่ขาด.
               บทว่า น ตํ โกจิ ทกฺขิณํ โสเธติ ความว่า ไม่มีใครๆ พึงกล่าวว่าใครเป็นสมณะหรือพราหมณ์ เทวดาหรือมาร ลุกขึ้นแล้ว ย่อมชำระทักษิณาให้บริสุทธิ์.
               ก็โดยสูงสุด พระพุทธเจ้าพึงชำระทักษิณานั้นให้บริสุทธิ์.
               บทว่า ทิฏฺฐสมฺปนฺนํ ได้แก่ ทานผู้เป็นโสดาบันถึงพร้อมทัสสนะ (โสดาปัตติมรรค).
               บทว่า อิทํ ตโต มหปฺผลตรํ ความว่า ทานที่ให้แล้วแก่ท่านผู้เป็นโสดาบันนี้ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลบริจาคเงินและทองประมาณเท่านี้ให้แล้วแก่โลกียมหาชนสิ้น ๗ ปี ๗ เดือน.
               ก็ในบทนี้ว่า โย จ สตํ ทิฏฺฐสมฺปนฺนานํ ความว่า พึงทราบการนับโสดาบันถึงท่านผู้เป็นโสดาบันเกินร้อยไปคนหนึ่ง ด้วยอำนาจท่านผู้เป็นสกทาคามีคนหนึ่ง. โดยอุบายนี้ พึงทราบการนับบุคคลถึงจะคูณด้วยร้อยโดยลำดับที่บนแล้วในหนหลังในวาระทั้งปวง.
               ในบทว่า พุทฺธปฺปมุขํ นี้ สงฆ์ทำพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระสังฆเถระนั่งแล้ว พึงทราบว่า สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ดังนี้.
               ในบทนี้ว่า จาตุทฺทิสํ สงฺฆํ อุทฺทิสฺส ความว่า เจดีย์ย่อมประดิษฐานอยู่ การฟังธรรมพวกเขาย่อมกระทำกันในที่ซึ่งมีวิหารที่บุคคลสร้างถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ ภิกษุทั้งหลายมาจากทิศทั้ง ๔ และจากทิศน้อยแล้ว ไม่ต้องถูกถาม ล้างเท้าแล้วเอากุญแจเปิดประตู ทำความสะอาดเสนาสนะเสร็จอยู่แล้ว ย่อมได้ซึ่งความผาสุก.
               วิหารนั้น โดยที่สุดแม้เป็นบรรณศาลาที่เกิดแก่ตน อยู่ใน ๔ ทิศ เขาก็เรียกว่าวิหารที่บุคคลสร้างถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ เหมือนกัน.
               ในบทนี้ว่า สรณํ คจฺเฉยฺย ท่านหมายถึงสรณะอันไม่ทันกลับมาแล้วโดยมรรค. ส่วนอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ชื่อสรณคมน์ เพราะมอบตนให้แล้ว. ท่านอธิบายว่า มีผลมากกว่าทานนั้น.
               บทว่า สิกฺขาปทํ สมาทิเยยฺย ได้แก่ พึงรับเบญจศีล.
               แม้ศีล ท่านกล่าวหมายเอาศีลอันไม่หันกลับเท่านั้น ซึ่งมาแล้วในมรรค. ส่วนอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ชื่อว่าศีล เพราะตนให้อภัยทานแล้วแก่สัตว์ทั้งปวง. ท่านอธิบายว่า มีผลมากกว่าสรณคมน์นั้น.
               บทว่า คนฺธูหนมตฺตํ ได้แก่ เป็นเพียงดำริในของหอม คือเป็นเพียงเอานิ้วทั้งสองจับก้อนข้าวหอมเข้ามาสูดดม. ส่วนอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวพระบาลีว่า โคโทหนมตฺตํ๑- แล้วจึงได้กล่าวความหมายว่า เพียงน้ำนมหยาดเดียวของแม่โคนม.
____________________________
๑- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๓๘๓

               บทว่า เมตฺตจิตฺตํ ได้แก่ จิตที่แผ่ตามไปเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง. แต่จิตนั้น ท่านถือเอาแล้วด้วยอำนาจอัปปนาเท่านั้น.
               บทว่า อนิจฺจสญฺญํ ได้แก่ วิปัสสนาที่มีกำลังถึงที่สุดโดยความเป็นอนันตรปัจจัยแก่มรรค.
               ส่วนบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้นเหล่านี้ พึงทราบโดยอุปมาอย่างนี้.
               ก็แม้ถ้าว่า เขาทำชมพูทวีปให้เป็นพื้นเสมอกัน เช่นกับหน้ากลองปูลาดบัลลังก์ตั้งแต่ต้นแล้ว พึงให้พระอริยบุคคลนั่ง ณ ที่นั้นมีโสดาบันบุคคล ๑๐ แถว, สกทาคามีบุคคล ๕ แถว, อนาคามีบุคคลสองแถวครึ่ง, พระขีณาสพหนึ่งแถวครึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าพึงมีหนึ่งแถว.
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ทานที่บุคคลถวายจำเพาะแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีผลมากกว่าทานที่ถวายแล้วแก่ชนประมาณเท่านี้.
               ส่วนทานนอกนี้
                         คือ วิหารทาน บิณฑบาต สิกขา การเจริญเมตตา
                         ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของท่านผู้พิจารณาโดยความสิ้นไป
.
               ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ในสมัยจะปรินิพพานว่า๒- การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นการบูชาสูงสุด.
               บทที่เหลือในบททั้งปวงมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๒- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๒๙

               จบอรรถกถาเวลามสูตรที่ ๑๐               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. วุฏฐสูตร
                         ๒. สอุปาทิเสสสูตร
                         ๓. โกฏฐิตสูตร
                         ๔. สมิทธิสูตร
                         ๕. คัณฑสูตร
                         ๖. สัญญาสูตร
                         ๗. กุลสูตร
                         ๘. สัตตสูตร
                         ๙. เทวตาสูตร
                         ๑๐. เวลามสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ สีหนาทวรรคที่ ๒ ๑๐. เวลามสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 223อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 224อ่านอรรถกถา 23 / 225อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=8336&Z=8416
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=6671
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=6671
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :